29 มีนาคม 2548 11:47 น.
สุชาดา โมรา
ชาวบ้านหมู่ที่ ๑๓ ต.บางคู้ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีเวลาว่างชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว แต่ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถทำงานหนักได้จะใช้เวลาว่างทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เช่น การทำขนมไว้รับประทานเองภายในครอบครัวหรือเพื่อจำหน่ายในหมู่บ้าน ซึ่งขนมที่ทำก็เป็นขนมง่าย ๆ สามารถหาวัตถุดิบได้ภายในท้องถิ่น
ขนมไทยในหมู่ ๑๓ ต.บางคู้นั้นมีหลากหลายชนิดทั้งขนมที่มีมาแต่โบราณหรือขนมไทยแบบสมัยปัจจุบัน เช่น ขนมกง ฝอยทอง ทองหยอด เม็ดขนุน ขนมกวน กล้วยบวชชี ตะโก้ ปลากริมไข่เต่า ขนมเปียกปูน ลอดช่อง บัวลอย ครองแครง ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมฟักทอง กล้วยตาก ขนมดอกดิน กระยาสารท ข้าวต้มมัด มันเชื่อ เผือกกวน ถั่วกวน สับปะรดกวน มะม่วงกวน ขนมเทียน ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวเปียก ข้าวเหนียว ขนมปิ้ง ขนมหม้อแกง ขนมเปียกสาคู เป็นต้น
การทำขนมไทยนั้นนอกจากจะทำขึ้นเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวหรือเพื่อจำหน่ายแล้ว การทำขนมไทยตามงานเทศกาลต่าง ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ใน หมู่ ๑๓ ต.บางคู้ยังมีขนมไทยหลงเหลืออยู่อีกมาก งานเทศกาลต่างๆ ที่ชาวบ้านนิยมทำขนมไทยก็เช่น ประเพณีสารทไทยจะทำกระยาสารท วันตรุษจีนทำข้าวเหนียวแดงกับขนมเทียน วันสงกรานต์ทำขนมกวน ขนมปิ้ง ขนมหม้อแกง วันออกพรรษาทำข้าวต้มมัด หรือในงานบุญต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท งานขึ้นบ้านใหม่ ก็จะทำขนมที่มีคำว่า ทอง เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ชีวิตร่ำรวยมีเงินทองใช้คล่องมือ หรือทำขนมไทยตามฤดูกาลเพราะขนมไทยบางชนิดสามารถหาวัตถุดิบได้บางฤดูกาลเท่านั้น เช่น ฤดูร้อนทำมะม่วงกวน กล้วยตาก ขนมฟักทอง ฤดูฝนทำขนมดอกดิน เป็นต้น แต่ขนมไทยบางชนิดสามารถทำได้ตลอดทั้งปี เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมตาล ฯลฯ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน
แม้ว่าในบ้านหมู่ที่ ๑๓ ต.บางคู้จะมีขนมไทยหลายชนิดแต่ในปัจจุบันพบขนมไทยเพียงไม่กี่ชนิดที่ยังคงทำกันอยู่ เช่น ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมฟักทอง ขนมถ้วยฟู เม็ดขนุน และฝอยทอง ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำขนมไทยนี้จะเป็นผู้ที่มีอายุ ๕๐ - ๖๐ ขึ้นไป โดยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากมารดาของตนเองหรือใช้การจดจำจากการเป็นผู้ช่วยในงานต่าง ๆ
สาเหตุที่ขนมไทยในหมู่ ๑๓ ต.บางคู้บางชนิดสูญหายไปนั้นเกิดจากความนิยมรับประทานขนมไทยลดน้อยลงคนรุ่นใหม่นิยมรับประทานขนมสำเร็จรูปที่บรรจุหีบห่อสวยงามมากกว่า และขาดความสนใจที่จะศึกษากรรมวิธีการทำขนมไทย เพราะเห็นว่าขึ้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลามาก วัตถุดิบอย่างบางหายาก ต้องใช้ความชำนาญอย่างสูงจึงจะได้ขนมไทยที่มีรสชาติอร่อยการซื้อรับประทานจะสะดวกกว่า
ความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร หมายถึง ความเชื่อของบุคคลที่เกิดจากการรับรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นจากการับประทานอาหารบางชนิด หรือความเชื่อในผลที่จะเกิดในชาติหน้า
ความเชื่อเกี่ยวขนมไทยในหมู่ ๑๓ ต.บางคู้ มีพียงเล็กน้อยและชาวบ้านก็ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเหตุใดจะต้องทำขนมชนิดนี้ในเทศกาลนั้น สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำจะมาจากการบอกเล่าของบิดามารดาว่าจะต้องทำแต่ไม่ได้บอกถึงความหมายของการทำหรือไม่ทำ เช่น ในงานแต่งงานจะทำข้าวเหนียวแดง ขนมกวน ขนมเปียก เพราะเชื่อว่าจะช่วยว่าให้คู่แต่งงานอยู่กันอย่างเหนียวแน่นปรองดองกัน การใช้ถั่วและงาในขนมขันหมากก็เชื่อว่าเป็นการสอนให้คู่บ่าวสาวรู้จักทำมาหากิน โดยใช้ถั่วและงาเป็นสัญลักษณ์แทนการเพาะปลูก ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่จะใช้ขนมที่มีคำว่า ทอง เพราะเชื่อว่าเป็นการเรียกเงินเรียกทองเข้าบ้าน หรือการไม่นำขนมดิกดินใส่บาตรเพราะเชื่อว่าเกิดมาชาติหน้าจะตัวดำ เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นขนมไทยชนิดไหนจะมีความเชื่อที่ดีหรือไม่ เราเป็นคนไทยเราก็ต้องรักษาของไทยเราไว้เพื่อลูกหลานจะได้มีวัฒนธรรมทางด้านอาหารสืบทอดต่อ ๆ กันไป
29 มีนาคม 2548 11:46 น.
สุชาดา โมรา
บอนเป็นพืชชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Araceae ชอบขึ้นอยู่ริมน้ำรวมกับเป็นกอ ๆ ละ 7 8 ใบ ซึ่งใน ต.บางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี มีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมกับบอน คือ เป็นที่ราบลุ่มบางปีน้ำท่วมถึง ทำให้บอนในบางคู้มีจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำบอนมาประกอบอาหารเป็นแกงบอน แต่บอนเป็นพืชที่มีผลึกของแคลเซียมออกซาเลต ( calcium oxalate )ซึ่งจะให้ลิ้น ทางเดินอาหาร และผิวหนังเกิดอาการระคายเคืองได้ แกงบอนจึงเป็นอาหารที่หารับประทานได้ยาก แต่บอนก็มีดีคือ มีรสสดชื่นเพราะเป็นพืชที่มีน้ำมาก ถ้าจะนำมาประกอบอาหารต้องมีเทคนิคพิเศษเพื่อกำราบ ความคันของบอน และพ่อครัวแม่ครัวก็ต้องมีฝีมือดีด้วย
บอนในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ บอนคันและบอนหวาน ซึ่งมีความคันน้อยกว่า สามารถสังเกตได้จากใบและยาง คือ บอนหวานจะมีใบสีเขียวสดไม่มีนวลเคลือบที่ก้านใบ ยางไม่มีสี ส่วนบอนคัน ใบจะสีเขียวนวล มีนวลเคลือบที่ก้านใบ ยางมีสีเขียวน้ำเงิน บอนทั้งสองชนิดนี้สามารถนำมาทำแกงบอนได้เช่นเดียวกัน แต่ชาวบ้านจะไม่เรียกบอนที่คันว่าบอนคัน จะเรียกว่าบอนหวานหรือนางหวาน ซึ่งเป็นความเชื่อกันว่าจะทำให้บอนไม่คัน
การทำแกงบอนของชาวบางคู้จะเริ่มจากส่วนผสมของพริกแกงซึ่งจะประกอบไปด้วย พริกแห้ง ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนูสด เกลือ รากผักชี ข่า ผิวมะกรูด กะปิ และกระชาย ส่วนประกอบอื่น ๆ ก็มี บอน น้ำเปล่า กะทิ ปลาช่อนย่าง ( เนื้อปลาสามารถใส่ปลาชนิดใดก็ได้ตามความชอบ หรือบางครั้งอาจใส่เนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทนเนื้อปลาก็ได้ ) ใบมะกรูด น้ำปลา น้ำส้มมะขาม น้ำตาล และน้ำปลาร้า ส่วนขั้นตอนของการทำแกงบอน คือ โขลกเครื่องพริกแกงให้ละเอียด ใส่เนื้อปลาช่อนที่รวนกับน้ำปลาร้าลงโขลกรวมกัน ปอกเปลือกบอน หั่นเป็นชิ้นขนาด ๑ ๑/๒ ๒ นิ้ว ต้มในน้ำเดือดให้สุก แล้วตักออกพักไว้ ช่วงที่ปอกเปลือกบอนอยู่ก็ให้ตั้งกะทิให้เดือด แล้วละลายพริกแกงกับกะทิ รอให้เดือดอีกครั้งจึงปรุงรสเปรี้ยว เค็ม หวาน แล้วใส่เนื้อบอนที่ต้มสุก พอน้ำแกงเข้าเนื้อดี บอนเปื่อยแล้ว ใส่ใบมะกรูดฉีกเพื่อเพิ่มความหอมแล้วยกลง
เคล็ดลับการแกงบอนให้อร่อยและไม่คัน ต้องใส่ถุงมือเวลาปอกบอน และจะต้องต้มบอนให้สุกจริง ๆ สุกจนเปื่อย พริกแกงก็ไม่ควรตำละเอียดมาก เพราะเครื่องพริกแกงจะได้มีกลิ่นหอม ซึ่งกลิ่นหอมนี้มาจากเม็ดพริกที่ตำไม่ละเอียดนั่นเองและพริกแกงที่ละเอียดเกินไปจะทำให้น้ำแกงข้นไม่น่ารับประทาน เวลาแกงควรใส่ใบมะกรูดมาก ๆ หรือใส่มะขามเปียก หรือสิ่งที่มีรสเปรี้ยวลงไปเพื่อให้ผลึกแคลเซียมออกซาเลตแตกออก และที่ถือเป็นความเชื่ออีกอย่างในการทำแกงบอนก็คือ ห้ามพูดหรือกล่าวถึงคำว่า คัน เด็ดขาด เพราะเชื่อกันกันว่าจะทำให้แกงบอนคัน
แกงบอนสามารถรับประทานได้ทั้งกับข้าวสวย แกงจืด หรือขนมจีนตามความชอบ
ในบางคู้ นอกจากจะมีแกงบอนอร่อยให้รับประทานแล้ว ยังมีอาหารอร่อยให้รับประทานอีกมาก เช่น แกงขี้เหล็ก ขนมจีนน้ำยา น้ำพริก ขนมจีนซาวน้ำ ฯลฯ หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่คุณขวัญเรือน พงษ์เพ็ง โทรศัพท์ 0-3662-2473
29 มีนาคม 2548 11:37 น.
สุชาดา โมรา
การละเล่นของเด็กในตำบลบางคู้นั้นมีหลายประเภท คือ ประเภทพวกการเล่นทาย กระโดดเชือก ซ่อนหา ไล่จับ คัดออก กระโดดข้าม ตลก ความแม่นยำ หมากเก็บไม้ และประเภทสำหรับเด็ก
การละเล่นที่เด็ก ๆ ในตำบลบางคู้นิยมเล่นก็จะมีจำนวนมากแต่ผู้เขียนจะขอเขียนถึงการละเล่นที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจกันอยู่ในตอนนี้ก็คือ การเล่นซ่อนหา การเล่นรีรีข้าวสาร การเล่นเตยสี การเล่นเตยจังหวัด และการเล่นตี่จับ
ในการละเล่นซ่อนหา รีรีข้าวสาร เตยสี เตยจังหวัดและการเล่นตี่จับมีวิธีการเล่น ดังนี้ คือ การเล่นซ่อนหา จะมีผู้เล่นตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป จะมีผู้เล่นจำนวน 1 คน เป็นคนหาโดยผู้เล่นที่เหลือจะเป็นคนแอบ คนที่เป็นคนหาจะต้องหลับตา ถ้าคนแอบคนใดมาแต้มตัวคนที่เป็นคนหาให้พูดคำว่า ป๊อก ด้วย
การเล่นรีรีข้าวสาร จะมีผู้เล่นจำนวน 6 คนขึ้นไป และจะมีผู้เล่นจำนวน 2 คนที่เอามือประสานกันเป็นประตูโค้งพร้อมกับร้องเพลง รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน พานเอาคนข้างหลังไว้ เมื่อจบผู้เล่นทั้ง 2 ต้องกระตุกมือลงใช้แขนกั้นคนที่กำลังลอดอยู่ระหว่างกลางคนที่ถูกแขนกั้นไว้ ต้องถูกคัดออกจาการเล่นแล้วต้องเป็นประตูแทน
การเล่นเตยสี จะมีผู้เล่นจำนวน 4 คน จะมีผู้เล่น 1 คน เป็นคนกั้นเส้นและเป็นคนทายโดยถ้าหากคนที่กั้นเส้นพูดถึงสีอะไร ในตัวผู้เล่นต้องมีสีนั้น ถ้าคนไหนมีก็ผ่านไปได้แต่ถ้าไม่มีต้องพยายามหาทางผ่านไปให้ได้โดยไม่ให้ถูกแต้ม
การเล่นเตยจังหวัด มีผู้เล่นจำนวน 4 คนขึ้นไป จะมีผู้เล่น 1 คน เป็นคนกั้นเส้นและเป็นคนทายโดยถ้าคนกั้นเส้นพูดตัวอักษรอะไรผู้เล่นก็จะต้องหาจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วยอักษรนั้นให้ได้ แต่ถ้าหาไม่ได้แล้วถูกแต้มก็จะต้องมาเป็นคนกั้นเส้น
การเล่นตี่จับ มีผู้เล่นจำนวน 4 คนขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน โดยจะมีการตั้งชื่อของแต่ละฝ่าย โดยจะยิงฉุบหาผู้ที่แพ้เพื่อที่จะเล่นก่อน ถ้าหากเข้าไปเขตของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ฝ่ายตรงข้ามจับได้โดยที่คนเล่นหมดเสียง ฮือ.. แล้วเอามือปาดคอฝ่ายตรงข้ามที่ตี่เข้ามาซึ่งฝ่ายนั้นก็จะเข้ามาช่วยตัวประกันโดยการตี่มา ถ้าหากหมดเสียงแล้วจับได้ก็ให้มาอยู่ที่ฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน การที่จะช่วยตัวประกันได้จะต้องเข้าไปแตะมือให้ถึงตัวประกัน ตัวประกันจะถูกปล่อย ถ้าหากฝ่ายใดถูกจับเป็นตัวประกันมากที่สุดก็จะเป็นฝ่ายที่แพ้
นอกจากจะมีการละเล่นที่เด็ก ๆ ในตำบลบางคู้เล่นกันประจำแล้ว ก็ยังมีการละเล่นที่เด็ก ๆ จะเล่นเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ก็คือ การวิ่งกระสอบ ปิดตาตีหม้อ เป็นต้น
จากที่ได้ไปสำรวจมาจึงทำให้ทราบว่าเด็ก ๆ ในตำบลบางคู้นั้นยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านอยู่มากไม่ว่าจะเป็น ซ่อนหา รีรีข้าวสาร เตยสี เตยจังหวัด การละเล่นใหม่ ๆ เข้ามา เช่น เกมส์จากคอมพิวเตอร์ รถแข่ง แต่เด็ก ๆ ในตำบลบางคู้ก็ยังไม่ลืมการละเล่นพื้นบ้านที่ได้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
29 มีนาคม 2548 11:35 น.
สุชาดา โมรา
สภาพทั่วไปของหมู่บ้านบางคู้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีแหล่งสาธารณูปโภคที่อุดมสมบูรณ์ แม่น้ำ ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนที่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้อย่างสะดวกสบาย แต่ปัจจุบันกระแสความผันผวนของเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รายได้น้อยกว่ารายจ่าย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้จึงมีอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำอาชีพหลัก คือ การทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ที่ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ผู้คิดริเริ่มคือ คุณดาวเรือง มั่งคั่ง อายุ ๓๙ ปี ได้คิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าว ในช่วงเวลาที่ว่างต้องอยู่บ้านเฝ้าคุณแม่เพราะซึ่งป่วยมานานแล้ว เกิดอาการเครียดเพราะเป็นห่วงมารดาจึงคิดที่จะทำเพื่อให้ผ่อนคลายจากอาการดังกล่าว ช่วงแรกที่ทำยังไม่มีเครื่องมือแต่ก็จินตนาการรูปแบบในการทำและค่อย ๆ สร้างสรรค์งานมีลูกมือคอยช่วยเหลือมาตลอดคือ คุณกัณหา มั่งคั่ง อายุ ๓๗ ปี ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของคุณดาวเรืองนั่นเอง
บ้านคือแหล่งงาน คุณดาวเรืองและคุณกัณหา ได้ใช้พื้นที่ว่างใต้ถุนบ้านเป็นแหล่งในการทำผลิตภัณฑ์บริเวณดังกล่าวจะเต็มไปด้วยกะลามะพร้าว มะพร้าวแห้งและเศษกะลาที่เหลือจากการประดิษฐ์ผลงาน ทั้งสองคนจะช่วยกันประดิษฐ์ผลงานโดยอาศัยความรู้ด้านช่างไม้และการใช้เครื่องมือจากภูมิปัญญาดั้งเดิม นำมาผสมผสานจนเกิดชิ้นงานแบบใหม่ขึ้น
คุณกัณหาเล่าว่า คุณดาวเรืองจะอาศัยทำในช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพราะเมื่อมารดาเสียแล้วคุณดาวเรืองก็จะไปทำงานหลักตามเดิมคือ นักบัญชี แต่ยังคงทำอยู่และสิ่งที่สำคัญที่มีการพัฒนาคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำนั้นต้องมีความแข็งแรง ทนทาน มีคุณภาพและเห็นว่าหากตัดบางส่วนและเสริมส่วนผลิตภัณฑ์น่าจะสวยงามและแข็งแรงทนทานกว่าเดิม จึงตัดสินใจทำจนได้ผลดังคาด ผลิตภัณฑ์ที่ทำส่วนมากจะได้รับการยอมรับและเป็นรู้จัก คือ โคมไฟ นาฬิกา ถาดรองแก้ว ที่วางโทรศัพท์ ออมสินรูปแบบต่าง ๆ สัตว์ที่เอาไว้ตั้งโชว์ มด แมลงมุม เต่า ฯลฯ
มะพร้าวแห้งคือวัตถุดิบที่สำคัญ คุณกัณหาอธิบายว่า การทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นต้องใช้ผลของมะพร้าวแก่ที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ จะไม่ใช้กะลามะพร้าวที่นำเนื้อและน้ำมาใช้ประโยชน์ เพราะกะลามะพร้าวที่ร่วงจากต้นมีคุณสมบัติตรงที่ผลแก่จัดสีของกะลาจะดำ เมื่อนำมาประดิษฐ์แล้วจะช่วยให้เกิดความสวยงาม นอกจากนั้นความแก่ของมะพร้าวจะช่วยให้เนื้อของกะลาอยู่ตัวไม่หดง่ายเหมือนกะลาที่นำมาจากผลมะพร้าวตามปกติ
หากมองอย่างผิวเผินการทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อคุณดาวเรืองทดลองทำให้ดูก็พบว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนไม่น้อย โดยเฉพาะคุณสมบัติก็สำคัญในการทำงานประเภทนี้คือผู้ทำต้องเป็นคนใจเย็นไม่น้อยกว่าการประดิษฐ์ผลงานประเภทอื่นที่ต้องใช้สมาธิเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ที่สำคัญสำหรับงานนี้ก็เป็นเครื่องมือของช่างไม้ทั่วไป เช่น
เครื่องเจียน สว่านไฟฟ้า สว่านมือ เครื่องยิง วงเวียนไม้ เลื่อย มีด บุ้ง ค้อน กระดาษทราย กาว และปากกา ส่วนอุปกรณ์เสริมมี ทินเนอร์ แลกเกอร์สำหรับการเคลือบเงา
คุณดาวเรืองเริ่มลงมือทำด้วยการนำผลมะพร้าวแห้งที่กองไว้มาปลอกเปลือกจนหมดก่อนจะเกลาด้วยมีดโต้ให้เสี้ยนกะลาหลุดออกมากที่สุด จากนั้นจะใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำว่าลูกค้าต้องการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ประเภทใดเพราะมีความหลากหลาย และแต่ละแบบจะมีชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกันโดยใช้กาว จากส่วนประกอบทั้งหมดนั้น คุณกัณหาจะขัดด้วยกระดาษทรายหรือเครื่องเจียนจนเงางามก่อนจะนำมาประกอบเป็นชิ้นงานสมบูรณ์ต่อไป ผลงานที่ได้ในขั้นตอนนี้ นับว่าสวยงามตามธรรมชาติ แต่หากต้องการให้เกิดความสวยงามมากยิ่งขึ้นไป ต้องใช้น้ำมันทาเคลือบผิวอีกขั้นหนึ่ง ทิ้งไว้จนแห้งจะได้ผลงานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้ ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านงานช่างไม้จนได้ชิ้นงานอันทรงคุณค่าในที่สุด
แหล่งจำหน่ายส่วนมากเมื่อทำเสร็จแล้วจะตั้งโชว์ไว้ในตู้กระจกใต้ถุนบ้านเพราะไม่มีเวลานำออกไปจำหน่ายยังสถานที่ต่าง ๆ จะมีลูกค้ามาเที่ยวชมแล้วสนใจก็ซื้อและสั่งทำแล้วมีการบอกต่อ ๆ กันไป ราคาก็จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการทำ ความคิดในการสร้างสรรค์ทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวเกิดจากแรงบันดาลใจและจินตนาการเพื่อที่ต้องการจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อให้ไปอบรมวิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา หมู่บ้าน และมีนักเรียนนักศึกษามาฝึกหัดทำที่บ้านจนถึงแหล่งนับได้ว่าเป็นงานภูมิปัญญาที่ท้องถิ่นให้การขานรับเป็นอย่างดี
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าวนี้ นับเป็นงานที่โดดเด่นอันเกิดจากฝีมือของชาวบ้านที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเป็นผู้นำในด้านการคิดค้นและประดิษฐ์สินค้าชนิดใหม่ออกสู่ตลาด จึงควรยิ่งที่จะได้รับว่าเป็นผลงานทางภูมิปัญญาของชาวบ้านจังหวัดลพบุรี แม้ว่าผลงานจากภูมิปัญญาของทั้งสองจะโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จัก แต่ยังขาดการส่งเสริมในด้านการตลาดหากหน่วยราชการในท้องถิ่นและภาคเอกชนให้การสนับสนุนก็จะเกิดกำลังซื้อและสำนึกเพิ่มขึ้นตาม และยังรวมถึงโอกาสของการสร้างงานแก่ผู้อื่นในท้องถิ่นด้วย
รักเมืองไทย ซื้อของไทย ร่วมใจ ยกย่อง เชิดชู ภูมิปัญญาของท้องถิ่น
29 มีนาคม 2548 11:29 น.
สุชาดา โมรา
ลักษณะของกลองยาวทำด้วยไม้ เช่น ไม้มะม่วง ตอนหน้ามีขนาดใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียวลงแล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพง ซึ่งจะมีหลายขนาด บางขนาดหน้ากลองจะกว้างประมาณ ๒๑ ซม. ยาวตั้งแต่หน้ากลองถึงปลายหางประมาณ ๗๕ ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว ตรงกลางหน้ากลองติดข้าวตะโพนถ่วงเสียง ตัวกลองยาวนั้นมักจะนิยมตบแต่งให้สวยงามด้วยผ้าสีหรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาปกตัวกลอง มีสายสะพายผูกชายหนึ่งที่หูห่วงริมขอบกลอง อีกชายหนึ่งผูกที่หางสำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้มือตี แต่ผู้ที่สามารถเล่นโลดโผนได้ก็จะใช้กำปั้นตี ศอก ถอง โหม่ง เข่า กระทุ้ง ส้นเท้ากระแทก แทนการใช้มือตีธรรมดา
ก่อนเล่นกลองนั้นต้องมีการไหว้ครูด้วย เริ่มจากการเตรียมเครื่องสักการะต่าง ๆ ในการไหว้ครู ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ ธูป ๙ ดอก เทียน บุหรี่ เหล้าที่ยังไม่เปิดฝา และต้องไม่เป็นเหล้าเถื่อนด้วย ค่าไหว้ครู ๑๒ บาท ผู้เล่นกลองยาวจะใส่เสื้อลายดอกสวมกางเกงที่สุภาพ มีจำนวนผู้เล่นประมาณ ๑๐ คน เพลงที่ใช้ในการละเล่นก็เช่น เพลงเซิ้งเพลงม้าย่อง , เพลงรำวง , เพลงสามซ่า
กลองยาวที่ ต. บางคู้ จะนิยมนำมาเล่นในงานที่มีขบวนแห่ เช่น งานบวชนาค แห่เทียนเข้าพรรษา งานทอดกฐิน งานแก้บนต่างๆ เทศกาลตรุษสงกรานต์ และงานปีใหม่ กลองยาววงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวอีกลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมมีฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง เป็นต้น
การเล่นกลองยาวนี้ มักเรียกกันว่า เล่น เถิดเทิง หรือ เทิงบ้อง ที่เรียกเช่นนี้ก็เป็นเพราะเรียกตามเสียงกลองยาวนั่นเอง เพราะเมื่อกลองยาวเริ่มตีเรียกเสียงจังหวะนั้น จะได้ยินเสียงเป็น เถิด เทิงบ้อง- บ้อง-เทิงบ้อง เรื่อยไป
การอนุรักษ์กลองยาวใน ต.บางคู้ นั้นจะทำโดยให้คนรุ่นใหม่สืบทอดการละเล่นกลองยาวต่อไปและให้สมาชิกในคณะกลองยาวนำไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนในหมู่บ้านที่มีความสนใจเกี่ยวกับการละเล่นกลองยาว ทั้งยังเป็นการช่วยลดปัญหาการติดยาของเด็กในชุมชนอีกทางหนึ่ง เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัว และสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ต. บางคู้ ด้วย