28 ธันวาคม 2548 19:29 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
เป็นลูกคน แต่ดื่มดิน กลิ่นนมสัตว์
ดูเขินขัด สัตว์ให้นม บ่มสังขาร์
คนแท้แท้ แม่คือโค จนโตมา
เพราะมารดา ผู้เฝ้าบ่ม คือนมโค
แม้หยดหนึ่ง น้ำนมแม่ แลในอก
มิต้องตก ให้ลูกยา น่าโมโห
จากทารก จนใหญ่กล้า มาเติบโต
น้ำนมโค ช่วยลำเลียง หล่อเลี้ยงกาย
สัมผัสไอ อุ่นจากอก มิตกต้อง
เมื่อลูกร้อง เอาขวดยัด ก็ปัดหาย
ที่ลูกร้อง หาใช่หิว จนกิ่วกาย
แต่มุ่งหมาย ให้กายแม่ มิแปรปรวน
เมื่อลูกซน วิ่งนี่โน่น ชนนี่นั่น
จงอดกลั้น ให้ตรองตรึก แล้วนึกหวน
เลือดครึ่งหนึ่ง ในกายลูก ล้วนถูกตรวน
ให้แปรปรวน ด้วยชนชั้น สันดานโค
จึงไม่แปลก ที่ลูกซน จนเหมือนสัตว์
เกินจำกัด จนเคืองใจ ให้โมโห
อย่าโทษลูก ที่ดื้อซน จนเกินโต
โทษนมโค ที่ลูกกิน ในอินทรีย์
ลูกเติบใหญ่ ให้แทนบุญ คุณพ่อแม่
ลูกชายแท้ บวชแทนคุณ หนุนศักดิ์ศรี
ว่าบวชแทน ค่าน้ำนม บ่มความดี
ที่แม่นี้ ใช้เลี้ยงเจ้า แต่เก่ากาล
บุญการห่ม ร่มกา- สาพัสตร์
คงส่งไป ให้แก่สัตว์ เดรัจฉาน
ควรแล้วฤา บวชให้แม่ มาแต่นาน
เปลี่ยนชื่องาน บวชแทนบุญ คุณแห่งโค
วิจิตรวาทะลักษณ์ (นฤมิตรเทวากร)
วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2548
เวลา 19.32 น.
20 พฤศจิกายน 2548 14:18 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
จากท้องทุ่ง สู่สถาน การศึกษา
จากบ้านป่า มาสู่เมือง อันเรืองใส
จากตะเกียง สู่ไฟฟ้า พาล่อใจ
จากเมืองไกล สู่เมืองกรุง สูงเงินตรา
มาพักหอ กับเพื่อนก่อน ตอนเรียนเริ่ม
เมื่อรักเสริม เพิ่มความใคร่ เริ่มใฝ่หา
ย้ายมาอยู่ กับแฟนใหม่ ไกลหูตา
แชร์ค่าห้อง น้ำไฟฟ้า มาด้วยกัน
ขอเงินพ่อ ขอตังค์แม่ ร่วมแชร์รัก
ด้วยไร้หลัก รักเดียงสา ตรึงตราฝัน
เมื่อพลั้งพลาด ขาดสิ่งของ ใช้ป้องกัน
ก็ตั้งครรภ์ มารหัวขน คนในตัว
โทรขอเงิน พ่อแม่บ้าง อ้างเรียนเพิ่ม
เมื่อปิดเทอม เอาออกเซ่น ไม่เห็นหัว
ให้หมอเอา ลูกนอกคอก ออกจากตัว
เอาลูกชั่ว ออกมาผ่าน ประจานตน
เมื่อท้องอีก เอาออกอีก หลีกไม่ได้
ช่างปะไร อยากเกิดมา ข้าไม่สน
เมื่อข้ายัง ไม่พร้อมถือ หรือจะทน
มารหัวขน ไม่เหลือไว้ ให้ประจาน
ควรแล้วหรือ เอาเด็กน้อย ด้อยเดียงสา
มาเดิมพัน อย่างไร้ค่า น่าสงสาร
เมื่อพ่อแม่ อ้างไม่ผิด คิดเดิมพัน
แล้วเด็กมัน ผิดอะไร ถึงตายฟรี
วิจิตรวาทะลักษณ์(นฤมิตรเทวากร)
วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2548
เวลา 14.16 น.
20 พฤศจิกายน 2548 14:14 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
เมื่อเหมันต์ ผันผ่าน สู่ชานทุ่ง
ข้าวเรียวรุ้ง ก็สุกเหลือง เรืองสลอน
กระทบแรง แสงสุรีย์ ทิวากร
ส่องสะท้อน เป็นสีทอง ผ่องอำไพ
ละลู่ลม พรมพัด สะบัดข้าว
ก็โน้มน้าว อ่อนเอน เป็นคลื่นใกล้
สะบัดพริ้ว ละลิ่วงาม ไปตามใบ
เมื่อต้องแสง ยิ่งอำไพ วิไลวรรณ
ดั่งภูษา ผ้ามัดไหม ลายรวงข้าว
ที่ลมหนาว พาพัดไป ปูไว้นั่น
วิจิตรจ้า กว่าผ้าใด ในโลกัน
โอ้แพรพรรณ แห่งท้องนา ช่างน่าชม
ฤาทวยเทพ ทำภูษา หล่นมานี่
ผ้าผืนนี้ จงโสภา ค่าสูงสม
ขอเทพไท้ อย่าเก็บคืน ผ้าผืนพรม
ให้ข้าชม ผ้าภูษา พระเทวี
ฤานี่คือ การรังสรรค์ อันประหลาด
ธรรมชาติ รังสรรค์ค่า ผ้าผืนนี้
เป็นอาภรณ์ แห่งท้องนา ทั่วธานี
ห่มปฐพี ให้เรืองรอง ดั่งทองปน
เมื่อเหมันต์ ผันผ่าน สู่ชานทุ่ง
ข้าวเรียวรุ้ง ก็สุกทอง ทุกห้องหน
โอ้งามใด ไหนจะงาม สมคำคน
เท่าได้ยล ภูษาทอง แห่งท้องนา
วิจิตรวาทะลักษณ์(นฤมิตรเทวากร)
วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2548
เวลา 14.12 น.
20 พฤศจิกายน 2548 14:10 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
ต้นไม้ใหญ่ อาศัยดิน กินแร่ธาตุ
จึงประกาศ ความยิ่งใหญ่ ให้คนเห็น
สรรพสัตว์ อาศัยดิน ถิ่นจำเป็น
จึงดำรง คงให้เห็น เป็นตัวตน
หมู่เมฆา อาศัยดิน กินไอน้ำ
จึงเลิศล้ำ เป็นเมฆคล้อย ลอยเวหน
บุปผาลัย อาศัยดิน ถิ่นเกิดตน
จึงก่อก้าน ตระหง่านผล บนแผ่นดิน
มวลมนุษย์ อาศัยดิน ถิ่นกำเนิด
จึงก่อเกิด วัฒนธรรม นำศักดิ์ศิลป์
เกิดวิถี ประชาอยู่ คู่แผ่นดิน
หาอยู่กิน จนเติบใหญ่ ได้เป็นคน
ต้นไม้ใหญ่ รู้คุณดิน ถิ่นอาศัย
ทิ้งเงาใบ ให้ร่มดิน ทุกถิ่นหน
สรรพสัตว์ รู้คุณดิน ถิ่นเกิดตน
ทิ้งมูลผล ให้ตกคู่ สู่แผ่นดิน
หมู่เมฆา รู้คุณดิน ถิ่นเลิศล้ำ
ให้ฝนฉ่ำ ลงโลกหล้า ธาราสินธุ์
บุปผาลัย สำนึกแทน คุณแผ่นดิน
จึงเบ่งบาน ประดับถิ่น แผ่นดินตน
แต่มนุษย์ ลืมคุณดิน ถิ่นอาศัย
แผ่นดินไทย ให้เมตตา มากี่หน
บรรพบุรุษ เจ้าอยู่นี่ กี่ชั่วคน
เจ้าเติบตน บนถิ่นนี้ มิใช่ฤา
เจ้าตอบแทน คุณแผ่นดิน ถิ่นอาศัย
ด้วยวิธี ฆ่าคนไทย ใช่แล้วหรือ
ศาสตราวุธ ที่เคียงคู่ อยู่ในมือ
นั่นนะหรือ คือตอบแทน แผ่นดินไทย
เดรัจฉาน ยังตอบแทน แผ่นดินเกิด
สัตว์ประเสริฐ อย่างพวกท่าน นั้นทำไหม
เอาแต่สร้าง ความร่มเย็น ให้เป็นไฟ
อายบ้างไหม เดรัจฉาน มันรู้คุณ
วิจิตรวาทะลักษณ์(นฤมิตรเทวากร)
วันอาทอตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2548
เวลา 14.06
17 กันยายน 2548 22:48 น.
วิจิตรวาทะลักษณ์
ผญา
มีแต่สดใสซื่นคืนวันอันแสนม่วน
ต่างกะซวนพี่น้องมาโฮมเต้าแต่งทาน
ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย
กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม
พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน
พ่องกะคอนกะต่าน้อยลงห้วยห่อมนา
เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง
ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า
มีลาบเทาพร้อมกับหมกดักแด้ของดีคั่วกุดจี่
มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน
ความเป็นมา
พุทธกาล ณ นครา พาราณสี
พุทธมุนี เสด็จถิ่น บิณฑบาตรขัณฑ์
สองสามี ภรรยา ผู้จาบัลย์
ตัดฝืนฟัน เลี้ยงชีพมา เป็นอาจิณ
ได้เลื่อมใส ในพระพุทธ ศาสนา
ชวนภรรยา ทำทานภักดิ์ รักษาศีล
อันเหตุด้วย เรายากเข็ญ เป็นอาจิณ
เพราะสิ้นศีล สิ้นทาน แต่นานนม
จึงเข้าป่า เพื่อเก็บผัก หักฝืนขาย
มาใช้จ่าย หม้อข้าวแกง จัดแจงสม
ทั้งกล้วยอ้อย อีกของอื่น น่าชื่นชม
มัดเป็นปม ถวายสลาก ภัตตาทาน
จับสลาก ได้ภิกษุ ผู้พรั่งพร้อม
จึงน้อบน้อม ถวายจัด ภัตตาหาร
เสร็จแล้วริน สินธุ์ประจักษ์ ทักษิโณทาน
อธิษฐาน เมื่อชาติหน้า อย่าจาบัลย์
ครั้นล่วงเลย อายุขัย วายชีวิต
จึงสถิตย์ ดาวดึงส์ ถึงสวรรค์
เสวยสมบัติ อยู่เมืองฟ้า โสภาพรรณ
เพราะบุญปั้น ทานเสริม เพิ่มบุญญา
พิธีกรรม
เมื่อข้างขึ้น สิบห้าค่ำ ยามเดือนสิบ
ลูกหลานหยิบ เอาข่าวสาร ไปบ้านย่า
ย่าก็จัด กล้วยมะพร้าว ให้เรามา
ข้าวตอกแตก ใส่ตะกร้า มาร่วมบุญ
แล้วตระเตรียม ตัดตอง ไว้รองห่อ
ข้าวต้มพอ ห่อเอาไว้ ได้เกื้อหนุน
อีกปลาปิ้ง แจ่วปลาร้า มาร่วมบุญ
ฟักทองอุ่น นึ่งเอาไว้ ใส่น้ำตาล
เอาตองต่อ ห่อข่าวต้ม ประสมข้าว
ทั้งเครื่องคาว ทั้งฟักทอง และของหวาน
ทั้งพริกแห้ง หมากพลู บุหรี่งาน
เอามัดสาน เป็นห่อไว้ ใส่รวมกัน
ครั้นรุ่งสาง ของวันพระ สิบห้าค่ำ
ก็จะนำ ห่อข้าวสาก ที่มากนั้น
ไปแขวนไว้ กำแพงวัด มัดรวมกัน
บ้างมัดมั่น ใต้ต้นไม้ ในวัดมี
แล้วขึ้นสู่ ศาลาวัด จัดอาหาร
ถวายทาน ภิกษุสงฆ์ ส่งศักดิ์ศรี
เสียงลั่นฆ้อง กลองระฆัง กังวาลมี
ให้ภูตผี มารับเอา ข้าวสากไป
หลังจากนั้น ก็จะแย่ง แบ่งข้าวสาก
ที่แขวนฟาก กำแพงวัด และมัดไว้
นำไปวาง ไว้กลางกล้า นาของใคร
ถวายให้ ผีตาแฮก แลกข้าวดี
ความเชื่อ
ในวันขึ้น สิบสี่ค่ำ ตามความเชื่อ
จนถึงเมื่อ สิบห้าค่ำ ยามเดือนนี้
ยมบาล เปิดประตู อเวจี
ให้เหล่าผี ได้คืนกลับ รับผลบุญ
ชาวอิสาน จึงจัดเอา บุญข้าวสาก
ทานบุญจาก ญาตไป ได้เกื้อหนุน
ผู้ล่วงลับ กลับมารอ ขอส่วนบุญ
เป็นแนวหนุน ให้พ้นทุกข์ สู่สุขพลัน
ทั้งเชื่อว่า ในนามี ผีตาแฮก
รักษาแรก ให้ไร่นา เติบกล้านั้น
จึงได้เอา เหล่าข้าวสาก แย่งจากกัน
มาแบ่งปัน ผีตาแฮก แลกความอุดมณ์
วิจิตรวาทะลักษณ์
วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2548
22.56 น.