5 กันยายน 2552 09:20 น.

คุณธรรม สำหรับผู้นำ

ลุงเอง

คุณธรรม สำหรับผู้นำ

ประเทศชาติบ้านเมืองที่มีแต่ความสงบ ประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุขได้นั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งมาจากการมีผู้นำที่ดี มีคุณธรรม มีความคิดก้าวหน้า ฉลาด สามารถในการจัดกิจการงานต่างๆ ของชาติบ้านเมือง ทำให้ชาติบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองรุดหน้าเท่าเทียมนานาประเทศ ดังภาษิตที่ว่า "ผู้นำดี เป็นศรีแก่ชาติ ผู้นำเฉลียวฉลาด ประเทศชาติรุ่งเรือง"

คุณธรรมสำหรับผู้นำ จะนำคุณธรรมของคนที่เป็นผู้นำ 8 ประการมากล่าว เพื่อให้คนที่เป็นผู้นำและคนที่ต้องการจะเป็นผู้นำได้นำไปศึกษาและนำไป ประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่ตนต่อไป

ประการที่ 1 ความอดทน หมายถึง การห้ามจิตใจ เมื่อได้พบกับเหตุการณ์อันจะก่อให้เกิดเรื่องหรือแสดงกิริยาที่ไม่ดีออกมา ต้องมีความอดทน ไม่หุนหันพลันแล่น เช่น อดทนต่อความยากลำบากในขณะที่ทำการงาน ไม่เห็นแก่ความหนาว ความร้อน เช้าสายบ่ายค่ำ อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ทุรนทุรายจนเกินไป และอดทนต่อความเจ็บใจในเมื่อคนอื่นทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่ตน ไม่ด่วนโกรธ

ประการที่ 2 ความเป็นนักสู้ หมายถึง เป็นผู้มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ หนักเอาเบาสู้ มุ่งความสำเร็จกิจการงานเป็นที่ตั้ง ไม่หลงคำยอ ไม่ท้อคำติ มุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆปฏิบัติงานทุกอย่างให้บรรลุเป้าหมาย

ประการที่ 3 ความเป็นผู้ตื่น หมายถึง เป็นคนตื่นตัว ว่องไวต่อปัญหาตลอดเวลา มีความคิดก้าวหน้า ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดยืดหยุ่น รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถที่จะนำความคิดออกมาใช้ให้ทันต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เฉพาะหน้า

ประการที่ 4 ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง มีความวิริยะอุตสาหะ มีความจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นทาสของความเกียจคร้าน มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

ประการที่ 5 เมตตากรุณา หมายถึง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล โอบอ้อมอารีในลักษณะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชาคุณความดี แล้วแต่เวลา สถานที่ และบุคคล มีความรักและความหวังดีเป็นที่ตั้ง

ประการที่ 6 ความยุติธรรม หมายถึง มีความเที่ยงธรรม เสมอภาคในคนทุกประเภท ไม่แบ่งแยกพวกเขาพวกเรา ไม่มีอคติ คือ ความลำเอียง ซึ่งความลำเอียงนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 อย่าง คือ ลำเอียงเพราะความรัก ลำเอียงเพราะความโกรธ ลำเอียงเพราะความกลัว และลำเอียงเพราะความหลง การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งก็พิจารณาจากความรู้ ความสามารถและคุณธรรมความดี ผู้นำที่ปฏิบัติได้ดังนี้ย่อมเป็นที่รักของหมู่ชน ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมความดี มาเป็นบริวารอยู่เสมอ

ประการที่ 7 การหมั่นตรวจตรากิจการงาน หมายถึง การสอดส่องดูแลการงานอยู่เสมอ เมื่อพบข้อบกพร่องก็รีบแก้ไข อย่าปล่อยไว้จะลำบากในการแก้ไข และต้องตรวจตราดูลำดับความสำคัญของงานว่า งานไหนควรทำก่อนหลัง ถ้างานไหนสำคัญก็ควรทำงานนั้นก่อน งานไหนควรทำเอง งานไหนควรแบ่งมอบหมายให้คนอื่นรับผิดชอบ รวมทั้งต้องรู้จักแบ่งงานให้ถูกกับคนด้วย คนที่มีความรู้ ถนัดสามารถในเรื่องไหน ก็มอบหมายเรื่องนั้นให้ทำ

ประการที่ 8 ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง มีความซื่อตรง มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำจึงมีความสำคัญ เพราะเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นด้วย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ ถ้าประพฤติไม่เป็นธรรม คนทั้งหมดทำตามอย่าง ประเทศชาติจึงเดือดร้อน แต่ถ้าประพฤติเป็นธรรม คนทั้งหมดจะประพฤติตามอย่างบ้าง ประเทศชาติจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเสมือนกับฝูงโคที่กำลังข้ามฟาก ถ้าโคจ่าฝูงนำไปคด โคทั้งหมดเดินคดเคี้ยวตาม หากโคจ่าฝูงนำไปตรง โคทั้งหมดก็ไปตรง ฉะนั้น"				
4 กันยายน 2552 17:06 น.

ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ๒

ลุงเอง

๒ ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน 

ธรรมะ สำหรับ ฆราวาส
     ต่อไปนี้ ก็มีข้อที่จะต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคำว่า “ธมฺม”หรือ “ธรรมะ” นี้ต่อไปอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า ธรรมนี้มี ๒ ประเภท : ประเภทหนึ่งเป็นตัวหลัก ที่เราจะต้องปฏิบัติโดยตรง; เป็นวัตถุประสงค์เป็นความมุ่งหมายอย่างนั้นๆ โดยเฉพาะ. ประเภทที่สอง เป็นธรรมะในลักษณะที่เป็นเหมือนเครื่องมือ ที่ช่วยให้เราปฏิบัติ ตามที่เราต้องการนั้นได้สำเร็จ. ธรรมะทำหน้าที่ต่างกันอยู่อย่างนี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าที่เรารู้ว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรแล้ว ก็จริง; แต่ว่า เราบังคับตัวเองไม่ได้.ตามปรกติทั่วๆ ไปนั้น คนเราบังคับตัวเองไม่ได้; เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีธรรมะที่จะใช้บังคับตัวเองให้ได้ เพื่อปฏิบัติตามที่เราต้องการให้ได้ อีกทีหนึ่ง. กล่าวโดยตรงก็คือว่า เราบังคับจิตของเราไม่ได้; คือมิติหลักเช่นว่า จะเลิกสูบบุหรี่ เลิกกินเหล้า; นี่เป็นหลัก ที่จะต้องปฏิบัติ. แต่ทีนี้เราบังคับตัวเองไม่ได้ ทั้งที่รู้อยู่ก็บังคับไม่ได้; ฉะนั้นจะต้องมีธรรมะอะไรอีกประเภทหนึ่ง ที่ช่วยให้บังคับตัวเองได้.
     นี่โดยส่วนใหญ่ก็แบ่งธรรมะออกเป็น ๒ ประเภทอย่างนี้แล้วก็มีส่วนประกอบอย่างที่เป็นส่วนย่อยๆ ลงไปอีก ตามที่มันจำเป็นเพราะฉะนั้นเรื่องที่เราจะต้องรู้ก็คือ ธรรมะที่เราจะต้องปฏิบัตินั้น อย่างไร? ธรรมะที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราปฏิบัติได้ตามนั้นอย่างไร? ถ้าในเรื่องชั้นสูงก็มีธรรมะ ที่ช่วยให้จิตสงบเสียก่อน เช่นเป็นสมาธิ เป็นต้น แล้วจึงเอาไปใช้ปฏิบัติ เพื่อให้รู้ส่วนที่จะต้องรู้จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน.
     คุณพอจะสังเกตเห็นได้เองว่า การที่ไม่ประสบความสำเร็จของเราในเวลานี้โดยทั่วๆ ไป ก็ดูจะอยู่ที่ เราไม่สามารถบังคับตัวเอง ให้ทำตามที่เรารู้อยู่ว่าจะต้องทำ. เช่นรู้ว่า ขี้เกียจไม่ดี เราก็ยังบังคับไม่ได้มันก็ยังขี้เกียจอยู่; ก็แปลว่า มันขาดธรรมะประเภทหลัง ประเภทที่เป็นเครื่องมือ . โดยเฉพาะสำหรับฆราวาส ซึ่งมีเรื่องยั่วยวนมาก มันก็ยิ่งลำบากที่จะบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะทำ; เพราะฉะนั้นขอให้สนใจให้มาก ในธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือด้วย อีกอย่างหนึ่ง
ฆราวาสธรรม
     ในที่นี้ เราจะพูดถึงตัวธรรมะที่จะต้องปฏิบัติก่อน แล้วจะพูดธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ทีหลัง. สำหรับฆราวาสก็แปลว่าผู้ครองเรือน คฤหัสถ์ก็แปลว่าผู้ที่อยู่ที่บ้านเรือน.ก็มีเรื่องที่เขาบัญญัติไว้เฉพาะ เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” . แต่ขอเตือนว่า อย่าลืมว่าแม้เป็นเรื่องฆราวาสธรรมมันก็มีความมุ่งหมายที่จะไปให้ถึงที่สุด ของธรรมทั้งหมดอยู่นั่นเอง; ดังที่เราได้พูดกันเมื่อวานนี้ ฆราวาสก็เป็นเพียงขั้นหนึ่งในทุกขั้น ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถึง คือเป็นพรหมจารี แล้วเป็นคฤหัสถ์ แล้วเป็นวนปรัสถ์แล้วก็เป็นสันยาสีถ้าเป็นฆราวาสหรือเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ได้ก็หมายความว่า สอบไล่ในชั้นมัธยมศึกษาตก; แม้ว่าจะผ่านขั้นพรหมจารี ที่เป็นขั้นประถมศึกษามาได้ ก็มาตกที่ขั้นนี้; ดังนั้น จะต้องทำให้ดีที่สุดด้วยเหมือนกัน จึงจะผ่านไปถึงขั้นสุดท้า พอเรามองในลักษณะ อย่างนี้ก็จะพบว่า ฆราวาสธรรม เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่จะไปนิพพาน.
     ฟังดูแล้วก็น่าขัน หรือมันขัดแย้งกันกับที่เขาพูดๆ กันอยู่ ว่าฆราวาสไปทางหนึ่ง จะไปมรรค ผล นิพพาน ก็ต้องไปอีกทางหนึ่ง;แล้วผมก็มาบอกว่าเป็นสายเดียวกัน เป็นเพียงลำดับขั้นของกัน. ฟัง แล้วก็ขอให้เอาไปคิดดู; และอยากจะพูดว่า ถ้าเป็นฆราวาสให้ดีไม่ได้ก็ไปนิพพานไม่ได้ . และในการศึกษาในขั้นคฤหัสถ์นั่นเอง เป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้เรามีเรื่อง มีความรู้จะไปนิพพานได้. เพราะว่าในชีวิตของคฤหัสถ์นี้ มันมีอะไรมาก ล้วนแต่เป็นอย่างชนิดที่เรียกว่ารุนแรงหรือโชกโชน หรืออะไรทำนองนั้น มากพอที่จะให้รู้ว่าชีวิตนี้น่าเสน่หาหรือน่าเบื่อหน่าย. ถ้าปล่อยไปตามธรรมดามันจะเป็นอย่างไร? เราต้องจัดการกับมันอย่างไร? มันต้องทำให้ถูกต้อง ตั้งแต่ในขั้นเริ่มต้นที่สุดเลย เหมือนเราจะต้องเรียนให้ดีตั้งแต่ขั้น ก ข ,ก กา จึงจะเรียนในขั้นต่อ ๆ ไปได้ดี
ข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาส
     ในที่นี้เราจะพูดถึงตัว ฆราวาสธรรม โดยตรง แม้อย่างนั้นก็ยังอยากจะแบ่งออกเป็นขั้น ๆ อีกเหมือนกัน ขั้นต่ำ ๆ อย่างหนึ่ง ขั้นกลาง ๆ ขั้นสูง ๆ สูงสุดอีกอย่างหนึ่ง
      คำสั่งสอนเกี่ยวกับฆราวาสที่เป็นขั้นต้นขั้นต่ำ นี้ มันเป็นเรื่องทำมาหากิน เรื่องสังคม. นี่ก็แปลว่าในหลักพุทธศาสนา ก็ยอมรับเรื่องทำมาหากินและเรื่องสังคมจะต้องทำให้ดีให้ถูก. เรื่องทำมาหากินเช่นทิฏฐธัมมิกประโยชน์ :- มีความพากเพียร แสวงหาทรัพย์ - มีความสามารถในการรักษาทรพัย์ -สามารถในการใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้องและในการครองชีวิตที่พอดี - แล้วก็มีมิตรสหายที่ดี. รายละเอียดของเรื่องเหล่านี้คุณจะหาอ่านได้จากหนังสือประเภทนั้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาพูดกันให้เสียเวลาซึ่งมันมีอยู่น้อย.
     ข้อต้นเป็นผู้ที่ไม่เหลวไหลในก ารแสวงหาทรัพย์ พูดรวม ๆ กันเป็นเรื่องเดียวก็ว่า ความสำเร็จในการแสวงหาทรัพย์นี้ ก็คือ ทำให้มีทรัพย์ ทำให้มีเกียรติ ทำให้มีเพื่อน เขาให้หัวข้อไว้ ๓ หัวข้อว่า ทรัพย์ เกียรติ เพื่อนที่ดี. ถ้าใครทำได้ครบทั้งสามนี้ก็เรียกว่า คนนั้นก้าวหน้าสอบไล่ได้ขั้นนี้ คุณอย่าทำเล่นกับ ๓ คำนี้ คือทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง แล้วก็เพื่อนหรือสังคมที่ดี มีพร้อมหรือยัง ลองไปสังเกตดูเอง อยากจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คำสอนประเภทนี้มันมีมาแล้วก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำไป หรือก่อนพระพุทธเจ้าก็มีการสอนที่คล้ายกัน หรือลงรอยกันไปได้; หรือแม้แต่ในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ ศาสนาก็มีสอน แล้วมันก็ลงรอยกันได้. คุณไปศึกษา แล้วเปรียบเทียบดูตอนนี้. อย่าได้ทะนงตัวไปด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่า พุทธศาสนาของเราไม่เหมือนใคร ดีกว่าใครไปเสียหมด. ส่วนที่มันเหมือนกันทุกๆ ศาสนานั้นก็มี ส่วนที่ผิดกันนั้นก็มี. แต่มันก็ไม่ได้ผิดกันมากมายนักจนถึงกับว่า หันหลังให้กัน มันก็ไปในสายเดียวกัน มุ่งหมายอย่างเดียวกันอยู่ทั้งนั้น. โดยหลักใหญ่แล้ว ทุกศาสนาต้องการจะกำจัดความ ทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัว อย่างนี้ทุกศาสนาขอให้ไปสังเกตด้วย.
     ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ทั้งโดยส่วนตัวบุคคลและโดยส่วนสังคม เพราะะนั้นคำสอนในขั้นต้นๆเกี่ยวกับความเป็นฆราวาสนี้ก็ไม่ต่างกันเลย จะเหมือนกันทุกศาสนาด้วยซ้ำไป เพียงแต่คำพูดหรือตัวหนังสือมันต่างกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่ของสำคัญ
     ทีนี้ อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "สังคม" คือต้องขจัดปัญหาส่วนตัวของเรา เรื่องทรัพย์สมบัติอะไรเหล่านี้เสียทีหนึ่ง แล้วก็ยังต้องขจัดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสังคม ปัญหาเกี่ยวกับสังคม พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสวางเป็นหลักไว้เรียกว่า ทิศหก.
      “ทิศหก” นั้นมิได้หมายถึงทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศหนือ ทิศใต้ ไม่ได้หมายถึงตัวทิศทำนองนั้น แต่หมายถึงบุคคลประเภทหนึ่งๆ ที่ควรจะเอามาเปรียบกันกับทิศต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราแล้วท่านก็ตรัสไปตามความเหมาะสมว่า ทิศเบื้องหน้า-ทิศเบื้องหลังคู่หนึ่ง ทิศเบื้องขวา-ทิศเบื้องซ้าย อีกคู่หนึ่ง แล้วก็ทิศเบื้องบน-ทิศเบื้องล่าง อีกคู่หนื่ง เป็น ๖ ทิศ พูดอย่างวัตถุ อย่างวิทยาศาสตร์ก็พูดได้ว่า มันเป็น radiation รอบตัว เหมือนกับรัศมีของดวงไฟนั้นมันมีรอบตัว. ข้างหน้าครึ่งหนึ่ง ข้างหลังครึ่งหนึ่ง ข้างซ้ายครึ่งหนึ่งข้างขวาครึ่งหนึ่ง ก็รอบแล้ว ข้างบนครึ่งหนึ่ง ข้างล่างครึ่งหนึ่ง ก็รอบหมดเลย ถ้าเป็นการทำถูกในทิศทั้งหก ก็แปลว่าเราทำถูกหมดรอบด้าน นั่นเอง .
      ทิศเบื้องหน้ าคู่กับทิศเบื้องหลัง ก็จำไว้ง่ายๆ ว่าได้แก่ บิดามารดาอยู่ข้างหน้า บุตรภรรยาอยู่ข้างหลัง; ก็ต้องประพฤติถูกต่อบิดามารดา ประพฤติถูกต่อบุตรภรรยา เป็นต้น อย่าได้จำกัดแต่เพียงว่าบิดามารดา ควรต้องเอาญาติผู้ใหญ่ทั้งหมด พี่ ป้า น้า อา ลุง ตาอะไรก็ตาม จะต้องอยู่ข้างหน้า ต้องนึกถึงก่อน. บุตรภรรยาอยู่ข้างหลังก็จะต้องปฏิบัติต่อ ให้ถูกต้องด้วยเหมือนกัน.
      ทิศเบื้องขวา เบื้องซ้าย. เบื้องขวาเขาถือว่าเป็นสำคัญกว่าหรือมีเกียรติกว่าเบื้องซ้าย ก็เลยเอาพวกครูบาอาจารย์ไว้ขวามือ เอาเพื่อนฝูง มิตรสหายไว้ทางซ้ายมือ. ทำไมเอาครูกับเพื่อนพาไว้คู่กัน? ก็เพราะว่ามันคล้ายกันมาก ครูบาอาจารย์ช่วยเราในทางฝ่ายวิญญาณเพื่อนช่วยเราในทางฝ่ายวัตถุ. คุณต้องมองดูให้เห็นในข้อนี้ : เพื่อนนั้นคือ ผู้ช่วยทางวัตถุ แต่ครูบาอาจารย์เป็นผู้ช่วยในทางฝ่ายวิญญาณฝ่ายลึก ฝ่ายจิตใจ มันก็เป็นเพื่อนในฝ่ายวิญญาณ. มิตรสหายธรรมดาก็เป็นเพื่อนช่วยทางเรื่องฝ่ายวัตถุ จะช่วยด้วยแรง ด้วยเงิน ด้วยของต่างๆ ก็เลยเป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายร่างกาย เอาความหมายนี้เป็นสำคัญ. ถ้าเพื่อนของเราคนใดคนหนึ่งเกิดช่วยเราในทางฝ่ายวิญญาณขึ้นมา เราต้องจัดเขาไว้ในฝ่ายครูบาอาจารย์; พร้อมกันนั้นเขาก็เป็นเพื่อนในฝ่ายวัตถุร่างกายด้วย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนทางฝ่ายวิญญาณด้วย. เพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนธรรมดาของเรานี้ ถ้าเขาสามารถที่จะตักเตือนฯเรา คุ้มครองเราในเรื่องความดีความชั่ว บุญ บาป อย่างนี้ต้องจัดให้เขาเป็นอาจารย์ด้วย อีกส่วนหนึ่ง คือเป็นเพื่อนผู้ที่ช่วยในฝ่ายวิญญาณ. แต่ถ้ามันแยกทำหน้าที่กันเด็ดขาด ครูบาอาจารย์ก็อยู่ข้างขวา เพื่อนธรรมดาล้วนๆ ก็ อยู่ข้างช้าย.
     ถัดไป คือ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้อง บนนั้นคือ สมณะหรือผู้มีคุณธรรมสูงกว่าระดับธรรมดาสามัญ. ส่วนข้างล่างนั้นคือบ่าวไพร่ กรรมกรหรือพวกที่ด้อยกว่าเรา เบื้องบนที่พูดว่าสมณะ หรือสมณพราหมณ์ พระเจ้า พระสงฆ์ เป็นต้น นี้เขาไม่ได้เพ่งเล็งไปในทางเป็นครูบาอาจารย์; ครูบาอาจารย์อยู่ข้างขวาแล้ว. สมณพราหมณ์ อะไรพวกนี้ ยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ คือเป็นปูชนียบุคคลของส่วนรวม หรือของโลก. แม้เขาจะสอนอะไรแก่เราโดยตรงเหมือนครูบาอาจารย์ เพียงแต่เขามีชีวิตอยู่ในโลกเฉยๆ เราก็ยังต้องบูชาต้องเอาใจใส่ ต้องรับรู้อย่างเช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ นี้ แม้ว่าท่านจะไม่เคยเกี่ยวข้องกับเราเลย อยู่กันคนละยุคคนละสมัย อย่างนี้เราก็ยังต้องรับรู้ ต้อง
     ใจความสำคัญเรื่องนี้มันอยู่อย่างหนึ่งคือว่า การสอนชนิดที่ไม่ต้องพูดไม่ต้องสอนมันก็มีอยู่ เพียงแต่เขามีอยู่เป็นหลักในโลกนี้มีอยู่เป็นหลักสำหรับการที่จะประพฤติ ปฏิบัติตาม. คือเขาถือว่า เพียงแต่ได้เห็นพระอรหันต์เท่านั้น ก็เป็นการดีอย่างยิ่งเสียแล้ว แม้ไม่ได้พูดจาอะไรกันเลย นี่เขาเรียกว่าเป็นปูนียบุคคลประเภทหนึ่ง จัดไว้ข้างบน เบื้องสูง ตรงกันข้ามกับเบื้องต่ำ คือคนที่ด้อยกว่าเราในทางคุณสมบัติต่างๆ เช่น พวกลูกจ้าง พวกบ่าวไพร่ กรรมกร; พวกคนที่จนกว่า ด้อยกว่า อะไรอย่างนี้ เอาไว้ข้างล่าง.
     คุณควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าว่า "ทิศทั้งหก" นี้ให้ถูกต้องเป็นบทเรียนบทใหม่ของฆราวาส; เพราะว่าถ้าทำผิดในหกทิศนี้แล้วอื่นๆ ก็จะพลอยล้มละลายด้วย คือเรื่องการหาทรัพย์สมบัติ การหาเกียรติยศชื่อเสียง การมีเพื่อนฝูงที่ดี ก็พลอยล้มละลายไปด้วย.เพราะฉะนั้น เรารู้เรื่องทิศหก แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้พอก็พอแล้วจะรวบเอาธรรมะหมวดอื่น เข้าไว้ได้หมด ผมจึงขอแนะธรรมะหมวดนี้คือเรื่องทิศหก. ก็ไปหารายละเอียดอ่านเอาเองจากหนังสือประเภทนั้นเช่น หนังสือนวโกวาท เป็นต้น. ในที่นี้บอกแต่ความหมายที่เป็นใจความสำคัญของคำนั้นๆ รวมเรียกด้วยคำเพียงสั้นๆ ว่า "ปัญหาทางสังคม ”
     คุณไปเทียบกันดูว่า ปัญหาทางสังคม ตามที่คุณเข้าใจ มันเข้ากันกับ ปัญหาทางสังคม ที่มีอยู่ในพุทธศาสนาหรือไม่? การเล่าเรียนการสั่งสอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อพูดกันถึงปัญหาสังคม เขาหมายถึงอะไร คุณก็รู้; แต่เมื่อพูดทางหลักพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาสังคมเขาหมายถึงอย่างนี้. สังคมเบื้องหน้า-สังคมเบื้องหลัง สังคมเบื้องขวา-สังคมเบื้องซ้าย สังคมเบื้องบน-สังคมเบื้องล่าง. อะไรดีกว่าเราแล้ว ก็สงเคราะห์เข้าไว้เป็นเบื้องบน มีคุณธรรมหรืออะไรที่ดีกว่าเรา สูงกว่าเรา สงเคราะไว้เบื้องบน ต้องสงเคราะห์เจ้านายไว้เบื้องบนด้วย. สงเคราะห์ที่ต่ำกว่าเราไว้เบื้องล่าง. เอาผู้ที่ให้กำเนิดเรามามีหน้าที่ผูกพันที่เราจะต้องทดแทน สนองคุณ บุญคุณ นี้ไว้ข้างหน้า;คือบิดามารดาต้องนึกถึงก่อน ก็เพราะว่ามีบุญคุณ มีพระเดชพระคุณที่ผูกพันก่อนบุคคลใด เราต้องนึกถึงก่อน.
     เพราะฉนั้นการที่วางหลักเรื่องทิศหกนี้ มันก็มีเหตุผล หรือมีความหมาย หรือมีเทคนิคอยู่ในตัว; ก็ขอให้สนใจให้ดีๆ จะได้แก้ปัญหาทางสังคมได้หมดสิ้น. และความเป็นฆราวาสตามเรื่องราวของฆราวาสนั้น ก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง. นี่ผมเรียกมันว่าฆราวาสธรรมขั้นต่ำๆ ยังมีธรรมะอีกหลายหมวดหรือหลายสิบหมวดก็ได้ แจกเป็นฝอยละเอียดออกไป หรือว่า จัดกันอย่างนั้นทีอย่างนี้ที แต่แล้วในที่สุดมันก็มาสำคัญอยู่ตรงที่ ปฏิบัติเรื่องทิศทั้งหกนี้ให้ถูกต้อง แล้วธรรมะหมวดอื่นๆ จะง่ายดาย หรือพลอยถูกต้องไปโดยอัตโนมัติ. ขอให้สนใจ เรื่องทิศหกเป็นพิเศษ.
     ทีนี้ก็มาถึง ฆราวาสธรรม ที่เป็นขั้นสูงไปกว่านั้น ซึ่งจะเรียกว่าขั้นกลางๆ หรือขั้นสูงสุด. ในสองขั้นนี้จะขอพูดในคราวเดียวกันเสียดีกว่า ว่าขั้นสูงสุดนั้นมันก็สูงถึงเรื่อง มรรค ผล นิพพาน ด้วยเหมือนกัน; ลดต่ำกว่านั้นลงมาก็เป็นขั้นกลางๆ; คือมีฆราวาสกลุ่มหนึ่งไปเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้า ขอให้ช่วยบอกธรรมะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกฆราวาสที่ครองเรือน ที่แออัดอยู่ด้วยบุตรภรรยาพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ธรรมะที่เนื่องด้วยสุญญตา เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ ฆราวาสตลอดกาลนาน. เรื่องสุญญตาคือเรื่องไม่มีตัวตนเรื่องว่างจากตัวตน; ฆราวาสพวกนั้นเขาก็ว่า มันสูงเกินไปสำหรับพวกเขา. พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ลดลงมา เหลือธรรมะ ๔ ข้อคือ :-มี ศรัทธามั่นคงในพระพุทธ ,ศรัทธามั่นคงในพระธรรม, ศรัทธามั่นคงในพระสงฆ์ ,แล้วก็มีศีลชนิดที่ดี จนเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าสี่ข้อนี้ฆราวาสเหล่านั้นเขาก็ทูลขึ้นว่า นี่คือสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้ว. พระพุทธเจ้าก็ตรัสอนุโมทนาว่า ก็ดีอยู่แล้ว. คุณลองพิจารณาเรื่องนี้ดู ว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ชัดเจนอยู่อย่างนี้ ว่ามันเป็นอย่างไร.
     พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรื่องสุญญตา เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน. ถ้าเขาว่ามันสูงเกินไป ก็ลดลงเหลือ ๔ เรื่องที่เรียวว่า "ปุญญาภิสันทะ”. ปุญญาภิสันทะ แปลว่า ท่อธารเป็นทีไหลออกแห่งบุญ บางทีก็เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ - คือองค์ปฏิบัติที่จะช่วยให้เป็นโสดาบัน. ข้อปฏิบัติ ๔ อย่างนี้ มีชื่อ ๒ อย่างคืออย่าหนึ่งเป็นท่อธารที่ไหลออกแห่งบุญ อย่างหนึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งความเป็นโสดาบัน. ระดับข้อปฏิบัติขั้นนี้ผมเอามาไว้ตรงกลางๆ ระดับกลางๆ; แล้วจัดระดับสูงสุดได้แก่เรื่องสุญญตา.
      ข้อปฏิบัติที่เป็นระดับกลางๆ สำหรับผู้เป็นฆราวาส ก็ คือธรรมะ ๔ ข้อนี้เรียกว่า "พุทธอเวจจัปปสัทธา” ความเชื่อที่แน่นแฟ้นไม่หวั่นไหวคลอนแคลนในพระพุทธเจ้า. ธัมมอเวจจัปปสัทธา ความเชื่อที่ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระธรรม. สังฆอเวจจัปปสัทธา คือความเชื่อที่ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระสงฆ์. แล้วก็มีอริยกันตศีลคือศีลชนิดที่รักษาได้ดี จนเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า; นี่เป็นที่ไหลออกแห่งบุญเรื่อยไป จนกระทั่งสูงขึ้นไป กระทั่งพร้อมที่จะเป็นพระโสดาบัน คือผู้ที่แรกถึงกระแสแห่งนิพพาน. ถ้าสูงไปกว่านั้นก็เป็นเรื่องบรรลุ มรรค ผล นิพพาน. เราอยู่ตรงกลางก็หมายความว่ารู้จักพระพุทธเจ้าดี พระธรรมดี พระสงฆ์ดี จนแน่นแฟ้น มีศรัทธา มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสแน่นแฟ้น ไม่อาจจะทำชั่วทำผิดอะไรได้เพราะมีความเชื่อไม่ง่อนแงน คลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์; แล้วก็พิสูจน์อยู่ด้วยการปฎิบัติ ที่ปฏิบัติอยู่ เป็นอริยกันตศีลศีลบริสุทธิ์ไม่มีที่ติ ตัวเองก็ติตัวเองไม่ได้ คนอื่นมาดูแล้วก็ติไม่ได้นี่เรียกว่าอริยกันตศีล.
     ถ้าคุณเป็นฆราวาสก็ดูให้ดี ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า มีศรัทธาไม่คลอนแคลน ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์. เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าน่าระแวงหรือน่าอ้นตราย ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มันยังคลอนแคลน; แม้เขาจะประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ เป็นอะไรอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รับศีลรับสรณาคมน์อยู่ทุกวัน มันก็รับแต่ปากพอจะได้อะไรที่ถูกอกถูกใจหน่อย ก็ทิ้งสรณาคมน์ ไปเอาสิ่งนั้นก็ได้หมายความว่าไปทำชั่วต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้. นี้เรียกว่า ยังไม่แน่นแฟ้น ยังง่อนแง่นคลอนแคลน. มันต้องเป็นถึงขนาดที่ว่า ยอมตายได้ ไม่ยอมเสียข้อปฏิบัติ หรือธรรมะไป จึงจะเรียกว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน. เดี๋ยวนี้มีอะไรมาจ้าง มายั่ว มาล่อสักหน่อยก็ทิ้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปเอาทั้งนั้นแล้วที่นี่ว่าคนหนุ่มสาวคนเฒ่าคนแก่ ก็ยังเป็นอยู่อย่างนี้. ไปดูให้ดี มันก็มีอริยกันตศีลได้ศีลก็ด่างพร้อยลุ่มๆ ดอนๆ
      ฆราวาสธรรมที่เป็นระดับกลาง ก็คือแน่นแฟ้น มั่นคง ในพระรัตนตรัย แล้วก็มีการปฏิบัติตัวอยู่ในลักษณะว่า ตัวเองก็ติเตียนตัวเองไม่ได้ ไหว้ตัวเองได้ เคาพตัวเองได้. เขาเป็นผู้ที่บำเพ็ญบุญอยู่อย่างสูงสุด แล้วก็มีความก้าวหน้าเรื่อยไป พร้อมที่จะเป็นพระโสดาบัน นี้ผมเรียกว่าฆราวาสธรรมระดับกลาง.
      ฆราวาสธรรมที่เป็นระดับสูง คือ สุญญะตัปปะฏิสังยุตตา -ธรรมะที่เนื่องเฉพาะด้วย สุญญตา. สุญญตา แปลว่า ความว่าง;มันมีเรื่องมาก ไว้พูดกันโดยละเอียดอีกที. คราวนี้จะบอกให้รู้ว่าสุญญตาคือความว่างในจิตใจ ที่ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเรา คือของเรา. ความรู้สึกประเภท egoism นี้คือความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน” ที่มันเนื่องอยู่กับตัวตนนี้ ก็เรียกว่า ของตน. จะเป็นฆราวาส หรือ เป็นบรรชิตก็ตาม มีความทุกข์อย่างลึกซึ้งอยู่ ก็ด้วยอำนาจตัวตนหรือของตน นี้ทั้งนั้น. เพราะฉะนั้นฆราวาสก็ทุกข์มากอยู่ด้วยเรื่องตัวตนของตน จึงเป็นการสมควรที่จะต้องบรรเทาเสียบ้าง
     พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เรื่องสุญญตานี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน. ท่านเสนออย่างนี้ชาวบ้านกลุ่มนั้นไม่เอา ว่าสูงเกินไป; แต่พอบอกให้ลดลงไปกว่านั้น ก็ปฏิบัติอยู่แล้วอย่างนั้นกันไม่มีทางไปไหน นอกจากจะต้องปฏิบัติเรื่องสุญญตาต่อไปเท่านั้น; ถ้าไปทางอื่นมันก็ไม่มี
     เดี๋ยวนี้มาเข้าใจกันเสียว่า เรื่องนี้สูงเกินไปไม่ต้องเอามาสอนฆราวาส; ผมก็เคยถูกห้าม. ผู้หลักผู้ใหญ่เคยห้ามว่า อย่าเอาเรื่องอนัตตา สุญญตามาสอนชาวบ้าน มันสูงเกินไป; บางคนก็เยาะเย้ยถากถางว่า ผมเอาเรื่องที่สูงเกินไปมาสอนชาวบ้าน - เช่นเรื่องจิตว่าง ก็ถูกล้อบ้าง ถูกด่าบ้าง. แต่ผมก็พยายามทำให้ดีที่สุด ให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านแนะไว้ ว่าฆราวาสว็ควรจะมีความรู้เรื่องสุญญตาหรือเรื่องจิตว่างนี้ตามสมควรฆราวาส ควรจะรู้ มันจะได้บรรเทำความทุกข์ยากลำบาก ทางจิต ทางใจ. เพราะว่ามีความจริง หรือข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า คนเรามีความทุกข์อย่างร้ายแรงเนื่องมาจากความดี, ยึดมั่นถือมั่น ในความดี. อย่างคุณสอบไล่ตก มีความรู้สึกเป็นทุกข์มาก นี่ก็เพราะเรายึดมั่นในเรื่องจะสอบไล่ได้ หรือความดี.หรือว่าไม่ได้อะไรตามที่หวังไว้ในทางฝ่ายดี ฝ่ายสูงแล้ว ก็ต้องเสียใจเป็นทุกข์. บางคนไปทำลายตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายก็มี. เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เรื่องอื่นมันช่วยไม่ได้ นอกจากความรู้เรื่องสุญญตาจึงจะช่วยได้.
สุญญตาสำหรับลุนิพพาน
     สุญญ ตา จะช่วยเด็ก ไม่ให้เด็กๆ ต้องร้องไห้ เมื่อสอบไล่ตกช่วยผู้ใหญ่ไม่ให้ร้องไห้เมื่อผิดหวังในเรื่องที่หวังไว้มากๆ. พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นอย่างนี้จึงได้ยกเรื่องสุญญตาขึ้นมา ว่าเป็นเรื่องเกื้อกูลแก่ฆราวาสตลอดกาลนาน. เราค่อยไปศึกษาเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตากันอีกทีหนึ่ง โดยละเอียด. เดี๋ยวนี้เพียงยกมาให้เห็นว่ามันเป็นลำดับกันอยู่อย่างไร จะได้ครบชุด. ฆราวาสธรรมอย่างต่ำ สรุปไว้ถึงเรื่องทิศหก ปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับสังคม. สูงขึ้นไปก็เรื่องปุญญา-ภิสันทะ โสตาปัตตยังคะ. สูงสุดก็คือเรื่ องสุญญตา. นี้เป็น ฆราวาสธรรม
     เรื่องสุญญตา เป็นเรื่องบรรลุ มรรค ผล นิพพานโดยตรง.คนพวกหนึ่งก็จะคัดค้านว่า ไม่ใช่เรื่องของฆราวาส; ผมก็มีที่อ้างในพุทธภาษิต ในพระไตรปิฎกมีชัดอยู่อย่างนั้น. คุณจะถือเอาหรือไม่ถือเอาก็ไปคิดดู. ถ้าอ้างหลักพระพุทธภาษิต มันก็มีอยู่พระไตรปิฎกอย่างนั้นแหละ. ทีนี้ถ้าเอาเหตุผลส่วนตัวกัน ก็ไปคิดดูซิ. เมื่อฆราวาสร้อนเป็นไฟอยู่ก็ต้องมีน้ำมาดับไฟ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่า เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น; เพราะฉะนั้น ฆราวาสก็จะต้องมีความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าสุญญตา; แล้วก็มีจิตว่างชนิดนี้อยู่พอสมควรกับความเป็นฆราวาส ก็จะเป็นฆราวาสที่ไม่มีความทุกข์ และน่าบูชา เป็นฆราวาสที่ดีที่สุด น่าบูชา .
     ขอให้เอาไปนืกด้วยเหตุผลของตนเองอีกทีหนึ่ง คือในพระบาลีที่อ้างไว้ก็มี เหตุผลก็เห็นอยู่ว่าจริงอย่างนั้น ก็ถือปฏิบัติได้. แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เอาเหตุผลของตัว อย่าไปเชื่อว่ามีอยู่ในบาลี เพราะใครเขียนเดิมเข้าไปเมื่อไรก็ได้; ขอให้ใช้ความเห็นอย่างแจ่มแจ้งของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินใจ
     วันนี้เราพูดกันถึงตัวฆราวาสธรรมโดยหัวข้อใหญ่ๆ ฆราวาสธรรมชั้นต่ำๆ - กลางๆ -สูงๆ มีอยู่เป็น ๓ ชั้น สามระดับ อย่างนี้ ก็หมดเวลาที่เราจะพูดกันได้ในวันนี้. ขอให้ถือเอาไว้ เป็นหัวข้อที่จะพูดในรายละเอียดเฉพาะเรื่องๆ ต่อไปในวันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องสุญญตา. ทีนี้เหลืออยู่เรื่องธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องมือ ที่จะทำให้ปฏิบัติลุถึงจุดมุ่งหมายนี้มันอีกพวกหนึ่งเขาเรียกว่า "ฆราวาสธรรม"โดยตรงเหมือนกัน. มีธรรมอยู่ ๔ข้อเรียกว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ๔ อย่างนี้ก็เอาไว้พูดในวันต่อไป.				
4 กันยายน 2552 17:00 น.

ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน

ลุงเอง

ผู้ครองเรือน
๑. ความเป็นผู้ครองเรือน
     สำหรับพวกเราได้ล่วงมาถึงเวลา ๒๐.๓๐ น.แล้ว เวลา ที่จะได้พูดกันต่อไป คือ ทำความเข้าใจในเบื้องต้นทั่วๆ ไป. ในครั้งนี้ก็จะขอโอกาสกล่าวในลักษณะ ที่เป็นอารัมภกถา เพื่อให้เข้าใจเรื่องทั่วไปโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจะได้กล่าวถึงด้วยหัวข้อว่า “ความเป็นฆราวาส”.
     ปัญหาที่พวกคุณเขียนส่งมา ล้วนแต่เป็นเรื่องสำหรับฆราวาสหรือคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักความหมายของคำว่า “คฤหัสถ์” หรือ “ฆราวาส” นี้. สำหรับคำว่า “ฆราวาส” หรือ “คฤหัสถ์” นี้ก็ดูเหมือนจะเข้าใจผิดกันอยู่บ้างบางอย่าง : โดยทั่วไปมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามจากเรื่องธรรมะ หรือศาสนา หรือเหมาเอาว่าเป็นเพศที่ยังต่ำทรามเกินไปจาก ธรรมะ หรือศาสนา; ถ้าเคยเข้าใจอย่างนี้ก็ควรเข้าใจกันเสียใหม่
เกิดมาเพื่อมีธรรม
     ในครั้งที่แล้วมา เราได้พูดกันจนเป็นที่เข้าใจว่า เกิดมานี้ เกิดมาเพื่อมีธรรมะ เพราะว่าเราเกิดมาจากพระธรรม พระธรรมสร้างเรามา.ความมุ่งหมายของพระธรรมก็คือ เพื่อให้เรามีธรรมะ; เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับลักษณะนี้ ว่าการเกิดมานี้ ไม่มีอะไรอื่นดีไปกว่า ที่เกิดมาเพื่อมีธรรมะ. ทีนี้ เมื่อเกิดมา ไม่มีใครเป็นพระ เป็นนักบวช มาแต่ในท้อง มันต้องเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่เรื่อยๆ มาในลักษณะที่เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นฆราวาส; บางคนก็เป็นอย่างนั้นไปจนตาย ไม่เคยบวชเป็นพระแล้วจะเอาเวลาไหนมาเป็นเวลาสาหรับที่จะมีธรรมะ ถ้าไม่เอาเวลาที่เป็นฆราวาส หรือเป็นคฤหัสถ์นั่นเอง.
     เราจะเห็นได้ว่า พอเกิดมา แล้วก็เติบโตเรื่อยไป จนกระทั่งตายทั้งหมดนั้นเป็นเวลาที่จะต้องมีธรรมะ ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ; ฉะนั้นเราจึงเกิดมาในลักษณะสำหรับจะเข้าโรงเรียนศึกษาธรรมะ จะเรียกว่า เข้าโรงเรียนของพระธรรมก็ได้. เข้าโรงเรียนของพระเจ้าก็ได้. คุณต้องเข้าใจความข้อนี้ให้ดีๆ ว่าแม้เราจะไม่มีโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย อย่างที่เขามีๆ กันอยู่เดี๋ยวนี้ ชีวิตนี้ก็เป็นการเข้าโรงเรียนอยู่ในตัวมันเอง. ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคนป่าสมัยหิน ก็ไม่มีทางที่จะเป็นบรรพบุรุษ ของพวกเราได้ คนป่าสมัยหินคุณก็รู้ดีอยู่ว่า เป็นอย่างไร ทำไมจึงคลอดลูกออกมาเป็นพวกเราได้; เพราะว่าชีวิตมันเป็นโรงเรียนเป็นบทเรียน เป็นการสอบไล่อยู่ในตัวเสร็จ. มนุษย์เพิ่งรู้จักตั้งโรงเรียนแบบที่มีกันอยู่ ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง; แต่แล้วก็ไม่รู้อะไรมาก หรือไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ เช่นไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม? เป็นต้น.
การเป็นฆราวาสคือการเข้าโรงเรียนชีวิต
     ผมอยากจะให้ทุกคนถือว่า แม้ความเป็นฆราวาสนี้ ก็เป็นการเข้าโรงเรียนของพระเจ้า ซึ่งไม่ต้องมีตึกเรียน มีอาจารย์ มีชั่วโมงเรียนเหมือนกับที่คุณเรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย. มันเป็นการเรียนอยู่ในตัวชีวิต คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน มันเป็นการสอนอย่างดีที่สุด คือรู้จริง แจ่มแจ้งจริง ไม่เหมือนกับเรียนหนังสือ หนังสือ นั้นมันเป็นการเรียนชนิดที่ท่องจำ หรือฝากความเข้าใจไว้กับเหตุผล เป็นทำสของความจำ เป็นทำสของเหตุผล อย่างที่เราเป็นๆกันอยู่.
     ถ้าเรียนจากชีวิตจริงๆ แล้ว มันไม่เกี่ยวกันเลย เช่นคุณทำมีดบาดมือมันสอนอะไรให้บ้าง ไม่เกี่ยวกับความจำ ไม่เกี่ยวกับเหตุผล มันเจ็บอย่างไรก็รู้ดี ต้องระมัดระวังอย่างไรก็รู้ดี. หรือเราทำผิดในเรื่องที่ใหญ่โตกว่านั้น กี่อย่างๆ ดีชั่วอย่างไร เราก็รู้ดี. ขอให้มองเห็นว่า นี่เป็นการศึกษาที่แท้จริง. ตอนนี้ มันก็เป็นการเรียนธรรมะจากพระธรรมหรือจากธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาแตกดับของสังขาร.ความเป็นฆราวาสก็มีความหมายเป็นการศึกษา ธรรมะอยู่ในตัว; เมื่อเราเกิดมา จึงเกิดมาเพื่อเรียนธรรมะไปจนตลอดชีวิต.
ธรรมะ คือ หน้าที่
     ค่าว่า “ธรรมะ” ก็เกิดเป็นคำที่มีความหมาย หรือมีความสำคัญขึ้นมาสาหรับเราจะต้องรู้. ผมอยากจะบอกว่า คุณจะต้องจำคำว่า “ธรรมะ” นี้ไว้ให้ดีๆ. “ธรรมะ” คำนี้ถ้าเป็นภาษาทั่วไปหมายถึง “หน้าที่” ถ้าคุณไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็จงได้ยินเสียเดี๋ยวนี้ว่า คำว่าธรรม แปลว่าหน้าที่ ที่ต้องปฎิบัติ. คุณลองนึกดูซิว่า คำว่า “ธรรมะ” จะเกิดขึ้นมาในโลก ในภาษาพูดของมนุษย์ได้อย่างไร? มนุษย์ในสมัยหินมันก็ไม่มีคำๆนี้ใช้; แล้วมนุษย์ต่อมาเจริญ เจริญจนรู้จักคำพูดคำนี้ใช้ขึ้นมา เขาเล็งถึงอะไร? คำพูดคำนี้เกิดขึ้นที่ริมฝีปากมนุษย์ พูดกันเป็นครั้งแรก มันเล็งถึง หน้าที่ ที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ มันเลยกลายเป็นของดีที่สุดไปเลย เพราะไม่ทำ ไม่ได้ ต้องทำ คำว่า “ธรรมะ” จึงแปลว่า “หน้าที่”.ส่วนที่เรามาแปลกันว่า คำสั่งสอน หรืออะไรออกไปนี้ มันเป็นเรื่องทีหลัง; สั่งสอนเรื่องอะไร? ก็สั่งสอนเรื่องหน้าที่. ถ้าว่าธรรมในฐานะที่เป็น มรรค ผล นิพพาน มันก็คือผลของหน้าที่; เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวกับหน้าที่ของมนุษย์. มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ ทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ดี นับตั้งแต่หน้าที่ชั้นต่ำๆ ธรรมดาสามัญที่สุด เช่นจะกินข้าว อาบน้ำ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อะไรก็ตาม เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ และต้องทำให้ดี.
     ทีนี้ เราก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติ คือหาเลี้ยงชีวิต ซึ่งต้องทำให้ถูกต้อง. ถ้าจะต้องมีคู่ครอง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ตามปกติหรือสัตว์ตามปกติ มันก็ต้องทำให้ถูกต้อง. มีครอบครัวขึ้นมา ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ล้วนแต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้อง สูงขึ้นไป-สูงขึ้นไป จนกระทั่งทางจิตใจ ก็ต้องทำจิตทำใจ ให้ถูกต้อง กระทั่งว่าจะตายไป ก็ให้มันตายอย่างถูกต้อง. ทั้งหมดนี้มันอยู่ในคำๆ เดียวว่า“หน้าที่” เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ธมฺม” ในภาษาสันสกฤตว่า “ธรฺม”ภาษาไทยว่า “ธรรม”. เมื่อรู้ว่า ธรรม คือหน้าที่อย่างนี้แล้ว มันก็ง่ายเข้าที่จะรู้ว่า ฆราวาสนั้นมีหน้าที่อย่างไร?
อาศรม ๔ : ระยะของชีวิต
     เรามองกันทีเดียวให้ครอบคลุมหมดไปเสียเลยดีกว่า โดยถือตามหลักที่เขากล่าวไว้มาแต่บรมโบราณ. ในประเทศอินเดีย เป็นต้นตอของวัฒนธรรมสายนี้ ซึ่งไทยเรากลับเอามานี้ เขาถือกันว่ามนุษย์ที่ฉลาดที่สุดคนแรกๆของโลกคือ พระมนู ได้กล่าวหลัก อาศรม ๔ไว้ อาศรม ๔ คือ ความเป็นพรหมจารี ความเป็นคฤหัสถ์ ความเป็นวนปรัสถ์ ความเป็นสันยาสี.
      อาศรมที่ ๑ ความเป็นพรหมจารี คีอเด็ก ๆรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ยังไม่ครองเรือน ที่ยังไม่มีสามีภรรยา เขาเรียก “พรหมจารี” ตั้งแต่เกิดมา จนถึงวาระสุดท้ายของการที่เป็นโสด เรียกว่า พรหมจารี
      อาศรมที่ ๒ ถัดจากพรหมจารีก็มีสามีภรรยา ครองเรือนก็เรียกว่า คฤหัสถ์ หรือ ฆราวาส
      อาศรมที่ ๓ คฤหัสถ์ผู้มีสติปัญญา ต่อมารู้สึกเบื่อ รู้สึกเอือมระอาต่อความซ้ำชากของความเป็นคฤหัสถ์ จึงหลีกออกไปสู่ที่สงัด บำเพ็ญตนเป็นนักบวช คือไม่ยุ่งเรื่องเหย้าเรือนอีกต่อไป เรียกว่า วนปรัสถ์ แปลว่า อยู่ป่า คืออยู่ในที่สงบสงัด
      อาศรมที่ ๔ เมื่อพอใจในความเป็นอย่างนั้นแล้ว ในที่สุดก็ออกเที่ยวสั่งสอน ท่องเที่ยวไปในหมู่มนุษย์อีก แต่ไม่ใช่ไปอย่างผู้ครองเรือน ไม่ใช่สึกไปครองเรือนเหมือนพวกเราสมัยนี้ เขาเที่ยวสั่งสอนประชาชน เรียกว่า สันยาสี หรือ สันยาส คือผู้ที่ท่องปะปนไปในหมู่ประชาชน
     ลองพิจารณาดูเถิดว่า ชีวิตนี้ถ้าสมบูรณ์แบบจริงๆ แล้ว ก็แบ่งเป็น ๔ ระยะ : ระยะพรหมจารี ระยะคฤหัสถ์ ระยะวนปรัสถ์ ระยะสันยาสี เดี๋ยวนี้คุณทุกองค์นี้ ก็เป็นผู้ที่อยู่ในอาศรมพรหมจารี หมายความว่าจะต้องศึกษาและจะต้องประพฤติปฏิบัติระเบียบวินัยต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดที่สุด เขาเรียกว่าพรหมจารี เป็นสังคม ๆ หนึ่ง หรือว่าเป็นขั้นตอนชนิดหนึ่ง ลักษณะหนึ่งของชีวิตในชั้นนี้ ระหว่างที่เป็นคนโสดอย่างนี้ ถ้าเรียกให้ถูกเขาไม่เรียกว่าคฤหัสถ์หรือฆราวาส เขาเรียกว่า พรหมจารี ฟังดูก็น่าฟัง; แต่แล้วเราก็มักจะเรียกพวกเราว่า ฆราวาส หรือ คฤหัสถ์ไปเสีย. อย่างพวกคุณอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ก็จัดตัวเองเป็นฆราวาส หรือเป็นคฤหัสถ์; ที่แท้ยังไม่ใช่.
     ฆราวาส หรือคฤหัสถ์ หมายถึงผู้ที่ครองเรือน คือมีครอบครัวส่วนเรายังเป็นพรหมจารี ยังไม่ถึงขั้นนั้น. ถ้าเราเข้าใจผิด เราก็คงไปทำอะไรผิดๆเข้าแล้ว; ฉะนั้นรู้เสียใหม่จะได้ไม่ ประมาท จะได้สำรวมระวัง ให้มีลักษณะของความเป็นพรหมจารี. และขอให้รู้เสียด้วยว่าคำว่า “พรหมจารี” ในที่นี้มีความหมายไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปเขาพูดกัน. คนที่มีการศึกษาแคบๆ น้อยๆ ก็เข้าใจว่า พรหมจารีหมายถึงผู้หญิงในระดับที่ยังไม่มีครอบครัว ยังประพฤติอะไรเคร่งครัดอย่างใดอย่างหนึ่งตามขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ที่จริงคำนี้ไม่ได้หมายความอย่างนั้น หมายทั้งหญิง ทั้งชาย ตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นเด็กจนกระทั่งเป็นหนุ่มสาว
      “พรหมจารี” แปลว่าประพฤติอย่างพรหม คือไม่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามหรือคู่ครอง ต้องทำตัวเป็นผู้สำรวมรระวังอย่างดี ในการที่จะไม่ไปข้องแวะกับเพศตรงกันข้าม เพื่อจะได้มีการศึกษาที่แท้จริงที่บริสุทธิ์สะอาด หรือเต็มที่นั่นเอง เขาจึงมีระเบียบให้ประพฤติอย่างพรหม อย่าไปเกี่ยวข้องเรื่องเพศตรงกันข้าม เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ไม่รู้จักตัวเอง ทำตัวเป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก ไปเกี่ยวข้องเรื่องเพศตั้งแต่เล็กนี่คือ คนที่ไม่รู้จักตัวเอง ว่าอยู่ในอาศรมชื่ออะไร ไม่รู้ว่าอยู่ในอาศรมพรหมจารี.
     ครั้นเมื่อเลื่อนชั้นขึ้นไปชั้นหนึ่ง ก็ถึงอาศรม “คฤหัสถ์” คือมีครอบครัวครองเรือน หน้าที่การงานมันก็เปลี่ยนไป; เช่นการศึกษาก็สิ้นสุดลง อย่างที่คนหนุ่มคนสาวจะต้องเรียน มันเปลี่ยนไปมีการงานทำหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนไม่ใช่หน้าที่ศึกษาอย่าง นักเรียนแล้ว กลายเป็นหน้าที่ คือการงานอย่าง พ่อบ้านแม่เรือน มันต่างกันลิบ ฉะนั้นเขาจึงแยกเป็นอาศรมอีกอันหนึ่ง เรียกว่าคฤหัสถ์ ทำหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนไปกระทั่งมีบุตรมีหลานออกมา เป็นเรื่องที่หนักที่สุดในชีวิตของคนเรา.
     ทีนี้เมื่อได้ทำไปๆ มันก็สอนให้เอง จนรู้สึกเบื่อขึ้นมาเองได้คือมองเห็นว่าอย่างนี้มันเป็นการทรมาน เราไม่ควรจะเป็นอย่างนี้จนกระทั่งวันตาย ควรจะได้รับการพักผ่อน หรือได้อะไรที่ดีกว่านี้ฉะนั้นจึงเปลี่ยนระบบของชีวิตไปเป็นผู้อยู่ในที่ วิเวกทางกาย วิเวกทางจิต; ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่ที่บ้าน เขาก็เปลี่ยนลักษณะการเป็นอยู่ ชนิดที่ไม่สูสีกับชาวบ้าน หรือไม่สูสีกับใคร หลีกไปหามุมสงบตามริมรั้วบ้าน กอไผ่กอกล้วยอะไรก็ได้ หรือจะไปอยู่ป่าหิมพานต์เลยก็ได้ ตามใจไม่มีใครว่า แต่การงานมันเปลี่ยนไปหมด. ส่วนใหญ่ไปอยู่เพื่อทบทวนรำพึงถึงเรื่องชีวิตจิตใจเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องกิเลสเรื่องความทุกข์. เขามานั่งดูชีวิตนั่งค้นหาความจริงของชีวิตในส่วนลึกเรื่อยๆ ไปจนได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ หรือได้นึกสิ่งที่ไม่เคยนึก.
     คุณลองคิดดูเถิดว่า เรื่อง data หรือ meterial สำหรับเอามาคิดมานึกนี้จะเอามาจากไหน? มันก็ต้องเอามาจากสิ่งที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่แรกเกิดมา จนเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นพ่อบ้าน แม่เรือน จนมีลูกมีหลาน. รายละเอียดต่างๆ มันก็อยู่ในเรื่องที่ได้ผ่านมาแล้วในชีวิตมันจึงเอามาคิดได้อย่างถูกต้อง; รู้ความจริงของชีวิต รู้ความลับของชีวิต รู้เรื่องที่มนุษย์ควรจะทำอย่างไร? ควรจะได้อะไร? ควรจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไหน? คนสูงอายุปูนนี้บางคนจึงมีความสว่างไสวในเรื่องของชีวิต ยิ่งกว่าพวกพรหมจารี หรือพวกคฤหัสถ์. เพื่อความสะดวก จึงมีการออกบวช ไปเสียจากบ้านจากเรือน ไปอยู่อย่างนักบวชไปครองชีวิตแบบนักบวช มันสะดวกที่จะคิดพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกกันว่า ทำสมณธรรม ทำกัมมัฏฐาน ทำวิปัสสนา อะไรก็ตามเรื่องของนักบวช หรือ “วนปรัสถ์” มันเป็นอย่างนี้.
     เดี๋ยวนี้ เราโดยเฉพาะพวกคุณหนุ่มๆ กระโดดข้ามมาเป็นวนปรัสถ์ มันก็ยากที่จะให้มีความรู้สึก ความเข้าใจ อย่างที่เขาเป็นกันมาตามลำดับ คือเป็นพรหมจารี เป็นคฤหัสถ์ แล้วจึงมาเป็นวนปรัสถ์มันก็มีทางจะเป็นไปได้เหมือนกัน ถ้าสติปัญญามีมากพอ ออกบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม ยังเล็กนี้ ก็ทำได้. แต่ไม่สะดวก ไม่ดีเท่า ไม่จริงเท่าคนที่ได้ผ่านชีวิตมาตามลำดับ. ฉะนี้แหละ พระหนุ่มๆ บวชเข้าแล้ว มันจึงกระสับกระส่าย เพราะมีอะไรที่ยังอยากลองอยากรู้ รบกวนความสงสัยอยู่มาก; จึงมักจะต้องสึกออกไปมีบุตรภรรยา มีอะไรกันไปตามเรื่อง จึงสู้พวกที่ผ่านมาอย่างถูกต้อง ตามลำดับ ตามหน้าที่ของธรรมะนี้ไม่ได้
     ครั้นเป็นวนปรัสภ์จนเป็นที่พอใจแล้ว หรือว่าถึงที่สุดของการค้นคว้าเรื่องนี้แล้ว แต่ชีวิตยังมีอยู่ ยังไม่ตาย ก็คิดถึงผู้อื่น; เพราะตัวเองมันหมดเรื่องก็เลยนึกถึงผู้อื่น ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น. เราใช้สำนวนพูดว่า “แจกของส่องตะเกียง” “แจกของ” ก็คือเที่ยวทำประโยชน์ให้เขา. “ส่องตะเกียง” คือทำความรู้ ความสว่างให้เขา จนกว่าจะแตกดับลงไป.
     คุณลองคิดดูว่า มันสมบูรณ์ หรือไม่สมบูรณ์ และมันต่างกันอย่างเปรียบกันไม่ได้. พรหมจารีไปอย่างหนึ่ง คฤหัสถ์ไปอย่างหนึ่ง วนปรัสถ์ก็ไปอย่างหนึ่ง สันยาสีก็ไปอีกอย่างหนึ่ง; นั่นคือชีวิตที่สมบูรณ์ แบ่งออกเป็น ๔ ตอน. ทุกคนอาจจะทำได้ เว้นไว้แต่จะโง่มากเกินไป หรือมีอะไรมาทำให้โง่มากเกินไป จึงไม่ผ่านไปได้ถึงตอนที่ ๔โง่เกินไปก็ไปติดจมอยู่ในเรื่องยั่วยวน ไม่สามารถจะผ่านอาศรมเหล่านี้ไปตามลำดับๆ ได้. น่าสงสารในข้อที่ว่า เกิดมาทีหนึ่ง ก็ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ หรือไม่ไปจนถึงจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต ที่พระธรรมได้กำหนดไว้.
      อย่าลืมว่า เราเคยพูดมาแล้ว ในข้อที่ว่า เกิดมาเพื่อมีธรรมะ เพื่อประพฤติธรรม; เพราะว่าพระธรรมบันดาลให้เราเกิดมา. มีธรรมะในที่นี้หมายความว่า มีถึงจุดปลายทางขั้นสุดท้าย.มีธรรมะอย่างพรหมจารี มีธรรมะอย่างคฤหัสถ์ มีธรรมะอย่างวนปรัสถ์มีธรรมะอย่างสันยาสี ก็สูงสุด; มนุษย์ได้เพียงเท่านั้น. ทีนี้พวกคุณเรียนจนสำเร็จไปทำราชการ หรือทางานอะไรก็ตาม มีทรัพย์สมบัติมีเกียรติยศชื่อเสียง มีครอบครัว อะไรๆ ที่ต้องการก็พอจะมีได้; แต่แล้วจะไปถึงวนปรัสถ์ได้หรือไม่นั้น ก็ลองคาดคะเนดูเอาเอง. แล้วจะมีใจกว้างพอ มีเมตตากรุณามากพอ ที่จะเป็นสันยาสี เที่ยวแจกของส่องตะเกียงได้หรือไม่ ก็ลองคิดดู.
     ที่จริง เป็นสิ่งที่คนเราทำได้ เช่นเราทำการงานมา จนอายุพอสมควรแล้ว อย่างที่เขาเรียกว่าเกษียณอายุแล้ว เงินบำนาญบำเหน็จก็มีพอเลี้ยงชีวิต; ถ้าต้องการชีวิตวนปรัสถ์ ก็หลบไปอยู่ตามมุมบ้าน ที่กอไผ่ กอกล้วย รำพึงถึงชีวิตในด้านในได้. แต่เดี๋ยวนี้พวกเกษียณพวกกินบำนาญ เหล่านั้น ยังไปเที่ยวไนท์คลับ ยังไปเที่ยวอะไรอยู่เหมือนเด็กๆ ไม่ถือเอาโอกาสนี้สำหรับบำเพ็ญชีวิตวนปรัสถ์; มันก็เลยไม่ต้องพูดถึงสันยาสี. เพราะไม่มีความรู้ความสว่างอย่างแท้จริง อย่างแจ่มแจ้งในเรื่องของชีวิต แล้วจะเอาอะไรไปสอนใครจะเอาแสงตะเกียงที่ไหนมาส่องให้คนอื่น. แล้วคุณก็ดูซิ ในประเทศไทยเรามีใครบำเพ็ญชีวิตครบริบูรณ์ทั้ง ๔ อาศรมนี้บ้าง; เราเองกำลังเป็นอย่างไรก็ลองวาด ๆ ไว้ดู ทำนายล่วงหน้าไว้ดูก็ได้.				
4 กันยายน 2552 16:57 น.

มนุษย์เกิดมาทำไม?

ลุงเอง

มนุษย์เกิดมาทำไม?
      หลายคนสงสัยและถามว่า ทำไมงานบุญทางพุทธศาสนา ขณะที่พระสงฆ์ให้ศีล ชาวพุทธจึงไม่ให้ความสนใจการรับศีล ทำไมรับศีลแล้วยังคงตั้งวงดื่มเหล้า? ทำไมทำบุญจึงต้องฆ่าวัว ควาย หมู เป็ด ไก่? ทำไมชาวพุทธจึงต้องเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สิน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น โป้ปดมดเท็จไม่ซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน? ทำไม? ......และทำไม......?
       สังคมในปัจจุบัน เป็นผลจากการพัฒนาของสังคมโลก โดยเริ่มพัฒนาการจากยุคสังคมเกษตรกรรมปฏิวัติสู่ยุคอุตสาหกรรม ยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า (เริ่มบริโภคนิยม) ยุคโลกาภิวัตน์ จนถึงยุคปัจจุบัน “ยุคข้อมูลข่าวสารหรือไร้พรมแดน” (บริโภคนิยมสุดโต่ง) สังคมโลกแสวงหาความสุขความสะดวกสบายจากการบริโภควัตถุนิยมแบบสุดๆ แสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย (โลภะ) แสวงหาและแย่งชิงอำนาจโดยการเบียดเบียน (โทสะ) และเผาผลาญ และเสพ ทำลายอย่างลุ่มหลง (โมหะ) เวียนวนอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญและความสุข ปฏิเสธความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “โลกธรรม ๘ ประการ” คือ ธรรมะคู่โลก ถึงจะปฏิเสธอย่างไร สังคมโลกก็ดิ้นรนวิ่งหนีความทุกข์ไปไม่พ้น เพราะทุกสิ่งล้วนตกอยู่ในกฏแห่งสามัญญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงทำให้สังคมมนุษย์ปัจจุบันประสบความทุกข์ทั้งกายและใจมากกว่าสมัยโบราณ (ยุคเกษตรกรรม) นั่นเพราะเหตุอันเกิดปัญหาที่เนื่องมาจากการพัฒนา ดังคำกล่าวที่ว่า“พัฒนาใดๆ ก็ติด ถ้าจิตไม่พัฒนา” ยิ่งมีความเจริญทางวัตถุมากเท่าไรความเสื่อมถอยทางจิตใจก็ยิ่งทวีมากยิ่ง ขึ้นเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมากมายหลายรูปแบบ นับวันแต่จะทวีความรุนแรง ทารุณ โหดร้ายมากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จบ จึงน่าเป็นห่วงว่าสังคมโลกจะถึง “ยุคเสื่อมถอยทำลายล้าง” ละหรือ?
       ถ้าหากว่าสังคมโลกกำลังจะถึงยุคเสื่อมถอยทำลายล้างดังกล่าวจริงมนุษย์ก็เกิด มาเพื่อพบกับความทุกข์ แล้วมนุษย์เราจะอยู่กันได้อย่างไร?
       แต่ถ้าหากท่านยังไม่อยากให้ถึงยุคดังกล่าว ท่านควรจะต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่อย่างมีความสุข และความสุขที่ว่านี้ต้องเป็นความสุขที่แท้จริงด้วย ดังนั้นคำถามที่ว่ามนุษย์เกิดมาทำไม? หากต้องการทราบโปรดติดตามพลิกอ่านบทความต่อไปก็คงจะทราบคำตอบได้โดยไม่ยาก				
3 กันยายน 2552 18:19 น.

ความหมายของสีประจำวัน

ลุงเอง

ความหมายของสีประจำวัน


ที่มาว่าทำไมวันจันทร์ต้องสีเหลือง อังคารสีชมพู พุธสีเขียว พฤหัสบดีสีส้ม ศุกร์สีฟ้า เสาร์สีม่วง จากการสืบค้นดูแล้วไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้กำหนดสีประจำวันเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เรามีคำอธิบายเกี่ยวกับสีประจำวันในแต่ละวันว่ามีความหมายอย่างไรบ้างมาฝาก ดังนี้

วันอาทิตย์- สีแดง

สีแดงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง สุขภาพ และแรงปรารถนา เชื่อว่าสีแดงจะมีพลังอำนาจสูงสุดเมื่ออยู่คู่กับคนที่เกิดวันอาทิตย์ สีแดง อาจหมายถึงโชคดีสำหรับคนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ คู่แต่งงานและความอายุยืน ในด้านสุขภาพสีแดงยังช่วยในการไหลเวียนโลหิตเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ยืนยาวนานอีกด้วย

วันจันทร์-สีเหลือง

สีเหลืองมักถูกอ้างถึงความเจิดจ้า ความสว่างไสว ความเชื่อใจ พระอาทิตย์รังสีสีเหลืองที่ให้ชีวิตแก่สิ่งมีชีวิต สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่และชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยความสว่างไสว สีเหลืองยังช่วยชำระจิตใจที่ยังช่วยให้ตัดสินใจได้ดีที่สุดสำหรับเรื่องธุรกิจและชีวิตที่นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์

วันอังคาร-สีชมพู

สีชมพูทำให้แรงปรารถนาของสีแดงอ่อนโยนลงกลายเป็นสีแดงอันอ่อนละมุน สีชมพูช่วยหัวใจในตัดสินใจได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรักเพราะสีชมพูหมายถึงความรักที่คงทนและไร้เงื่อนไข รวมถึงมิตรภาพ ในเรื่องสุขภาพสีชมพูสร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพกายและใจ

วันพุธ-สีเขียว

สีเขียวเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและสะท้อนพลังอันมีชีวิตชีวาของชีวิต ทำให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโต เชื่อกันว่าสีเขียวมีคุณลักษณะอันเป็นประโยชน์หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ช่วยให้ตาผ่อนคลาย เพิ่มพูนความฉลาดและกล้าหาญและช่วยป้องกันจากโรคร้าย และนำพาสู่ชีวิตอมตะ สีเขียวจะมีพลังสูงสุดเมื่อคู่กับคนที่เกิดวันพุธ

วันพฤหัสบดี-ส ีส้ม

สีส้มเป็นสีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่เกิดวันพฤหัสบดี สีส้มแสดงถึงความหวังและความอิ่มเอิบ ช่วยเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นสถานที่อันชวนหลงใหลสำหรับการอาศัยอยู่ ช่วยส่งเสริมและนำมาซึ่งความหวังแก่ผู้คนที่โชคร้ายในชีวิต นอกจากนั้นยังเชื่อว่าสีส้มช่วยเผยความรู้สึกที่เก็บไว้ซึ่งเป็นการดีเมื่อได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ในด้านสุขภาพ สีเขียวช่วยป้องกันการติดต่อจากเชื้อโรคและทำให้สุขภาพดี

วันศุกร์-สีฟ้า

สีฟ้าแสดงถึงสันติภาพ ความสงบและความฝัน ช่วยให้การแต่งงานราบรื่นและยืนยาว ซึ่งจะทรงพลังที่สุดเมื่ออยู่กับคนที่เกิดวันศุกร์ สำหรับคนที่ทำธุรกิจ สีฟ้าช่วยยุติการทะเลาะเบาะแว้ง สร้างหุ้นส่วนใหม่และช่วยให้มีความกล้าในการทำสิ่งที่ยากลำบาก ช่วยรักษาอาการขี้เกียจและเสริมสร้างพลังทางใจด้วย

วันเสาร์-สีม่วง

สีม่วงเป็นการผสมผสานระหว่างแรงปรารถนาของสีแดงและความสงบเงียบของสีฟ้า สีม่วงเป็นที่รู้จักสำหรับความลึกลับ ความรุ่งโรจน์ สีม่วงเป็นสีที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่เคร่งเครียดและบ้างานเพราะช่วยในการควบคุมอารมณ์ ผ่อนคลายจิตใจและปลดปล่อยจากภาระผูกพันเนื่องจากการวิตกกับชีวิต จากหลายความเชื่อ สีนี้เหมาะสำหรับคนที่เกิดวันเสาร์				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงเอง
Lovings  ลุงเอง เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงเอง
Lovings  ลุงเอง เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลุงเอง
Lovings  ลุงเอง เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลุงเอง