9 กันยายน 2552 09:12 น.
ลุงเอง
วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 ที่กำลังจะมาถึง เกิดกระแสความเชื่อทางโหราศาสตร์" 09-09-09" ถือเป็นวันดีแห่งปี ทำให้มีบรรดาเจ้าของกิจการ และภาคธุรกิจ พากันถือฤกษ์เปิดกิจการ เปิดโครงการใหม่ หรือสำนักงานใหม่
วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 ที่กำลังจะมาถึง เกิดกระแสความเชื่อทางโหราศาสตร์" 09-09-09" ถือเป็นวันดีแห่งปี ทำให้มีบรรดาเจ้าของกิจการ และภาคธุรกิจ พากันถือฤกษ์เปิดกิจการ เปิดโครงการใหม่ หรือสำนักงานใหม่
หมอดู ชื่อดังหลายท่าน ชี้เป็นฤกษ์ "พ่อค้ามหาเศรษฐี" มหัทธโน ...
เมื่อวันก่อนเป็นวัน สารทจีน และเมื่อวันวาน เป็นวัน สารทไทย ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พ่อค้า แม่ค้าในตลาด ต่างก็พากันไปทำบุญที่วัดกัน ...
พูดถึงวันสารทไทยเรา ตรงกับวัน แรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นเทศกาลเดือน 10 ของไทยเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามหลักฐานพบว่ามีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คนไทยเราได้รับเอาประเพณีนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ ตามหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คำว่า สารท เป็นภาษาอินเดีย แปลว่า ฤดู (season) ซึ่งเป็นฤดูที่ต้นไม้เริ่มออกผล ผู้ที่ต้องการให้พืชพันธุ์ของตนเองเจริญงอกงามดี ก็จะนำพืชพันธุ์เหล่านั้นไปถวายสิ่งที่ตนนับถือ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ก็นิยมทำกัน เช่นประเทศจีน รวมถึงประเทศในแถบตอนเหนือของยุโรป บางประเทศก็มีพิธีการในลักษณะนี้ เช่นกั
คนที่มีเชื้อสายจีน จะพากัน กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บรรพบุรุษ ตามความเชื่อของตน และ คนไทยส่วนใหญ่ ก็จะพากันไปทำบุญที่วัด จากนั้นก็จะพากันนำ ผลิตผลอาหาร คาว หวานที่ทำขึ้น ไปมอบ ถวาย วาง ห้อย แขวนไว้ให้กับสิ่งที่ตนเชื่อตามบริเวณไร่ นา ของตน … ทางภาคอีสาน บางพื้นที่ เรียกพิธีนี้ว่า พิธียายข้าวตอก
ความเชื่อ มีอิทธิพลต่อสังคมมนุษย์ มาก
และ ก็ทำให้เกิดความเชื่อว่า หลังเวลา 9 นาฬิกา 9 นาที 9 วินาที ของวันที่ 9 เดือน 9 ปีฝรั่ง ลงท้ายด้วยด้วยเลข 9 ผ่านไป เศรษฐกิจในประเทศไทยเราจะดีขึ้น และมีความเชื่อว่า ประชาชน คนไทยทั่วประเทศจะได้พบพานกับความสุข ความอุดมสมบูรณ์กันถ้วนหน้า ... ขอให้เป็นจริงเถอะ สาธุ
ขออวยพรให้ เพื่อน ๆ ที่เปิดกิจการในวันนี้ เวลานี้ เจริญด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ ด้วยครับ
8 กันยายน 2552 11:23 น.
ลุงเอง
8 กันยายน: วันชาติในอันดอร์รา; วันประกาศเอกราชใน สาธารณรัฐมาซิโดเนีย (พ.ศ. 2534); วันชัยชนะในมอลตา; วันการรู้หนังสือสากล
รูปปั้นเดวิดของมีเกลันเจโล
* พ.ศ. 2047 (ค.ศ. 1504) – รูปปั้นเดวิด (ในภาพ) ประติมากรรมหินอ่อนโดย มีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี เปิดแสดงครั้งแรก ณ ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
* พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) – พายุเฮอร์ริเคน ในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8,000 คน
* พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) - กองทัพนาซีเริ่มต้นการปิดล้อมเลนินกราด ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธการที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์
* พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) - ผู้แทนจาก 48 ชาติร่วมลงนามในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกกับญี่ปุ่น นับเป็นการยุติสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างเป็นทางการ
* พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) – การปฏิวัติอิหร่าน: หลังจากรัฐบาลออกกฎอัยการศึกเพื่อตอบสนองต่อการชุมนุมประท้วง ทหารยิงผู้ชุมนุมประท้วงราว 88 คนในเตหะราน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามวัน
5 กันยายน 2552 09:39 น.
ลุงเอง
ประวัติ คาถาชินบัญชร
คาถา "ชินบัญชร" ของไทย คาถาชินบัญชรเกิดขึ้นในยุคใด ประวัติ คาถาชินบัญชร "คาถาชินบัญชร" มีที่มาอย่างไร เจ้าพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี)ได้เรียบเรียง คาถาชินบัญชรขึ้นเอง หรือได้ต้นฉบับมาจากไหน ลองมาอ่านประวัติคาถาชินบัญชร ว่าเป็นมาอย่างไร
หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ความนิยมศรัทธาในคาถาชินบัญชรเริ่มเผยแผ่ไปทั่วประเทศไทยว่าเป็นพระคาถา ศักดิ์สิทธิ์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรํสี) วันนี้คาถาชินบัญชรกลายเป็นคาถาที่คนหลายอาชีพ หลายวัยท่องบ่นเป็นประจำ วัดต่างๆ จำนวนมากมีคาถาชินบัญชรที่ผู้มีจิตศรัทธาพิมพ์ไว้แจกแก่บุคคลทั่วไป
ชินบัญชรออนไลน์
แม้แต่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อพิมพ์คำว่า "ชินบัญชร" ในกูเกิลจะมี "ชินบัญชร 304,000 ผลการค้นหา ชินบัญชร mp3 54,500 ผลการค้นหา ชินบัญชรย่อ 5,120 ผลการค้นหา ชินบัญชรคาถา 1,770 ผลการค้นหา ชินบัญชร download 68,800 ผลการค้นหา บัญชร mp3 download 15,000 ผลการค้นหา ชินบัญชรดาวน์โหลด 25,800 ผลการค้นหา ชินบัญชร imeem 4,190 ผลการค้นหา ชินบัญชรบทสวด 258,000 ผลการค้นหา"
สารานุกรมออนไลน์อย่างวิกีพีเดีย อธิบายถึงคาถาชินบัญชรว่า "พระคาถาชินบัญชร (ข้อมูล) (อ่านว่า ชินะ- ชินนะบันชอน) เป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 4) บทสวด ชินบัญชรนี้ยังพบในประเทศพม่าและ ศรีลังกาอีกด้วย
การหัดสวด พระคาถาชินบัญชรควรจะเริ่มสวดในวันพฤหัสบดีซึ่งถือเป็นวันครูและให้ เตรียมดอกไม้ 3 สี หรือดอกบัว 9 ดอก หรือดอกมะลิ 1 กำ จุดธูป 3, 5 ถึง 9 ดอก เทียน 2 เล่ม จากนั้นให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยโดยการตั้งนโม 3 จบ ต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้นตั้งจิตนึกถึงสมเด็จโต..."
คาถาชินบัญชร ? คาถาชินบัญชร มีความเป็นมาอย่างไร
นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยตอบคำถามเรื่อง คาถาชินบัญชร ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2530 ในบทความชื่อ "ประวัติคาถาชินบัญชร" โดยคัดย่อจากหนังสือ "ประวัติคาถาชินบัญชร" ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
โดยสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ทรงเขียนคำอธิบายไว้ว่า "คาถาชินบัญชรนี้ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เคยนำมาขอให้แปลเพื่อพิมพ์ในหนังสือประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมฺรํสี) ครั้งหนึ่งเมื่อนานปีมาแล้ว แต่ก็ยังสงสัยในถ้อยคำและประโยคหลายแห่ง เพราะไม่อาจจับความได้ ทั้งเมื่อได้พบหลายฉบับจากหลายสำนักเข้า ก็ได้พบคำที่ผิดเพี้ยนบ้างเกือบทุกฉบับ ไม่อาจตัดสินได้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร ได้เคยนึกสงสัยมานานแล้วว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้เรียบเรียงขึ้นเอง หรือได้ต้นฉบับมาจากไหน
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้นำหนังสือมาเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดเล็กพิมพ์ในประเทศศรีลังกา ชื่อหนังสือ The Mirror of the Dhamma (กระจกธรรม) โดยพระนารทมหาเถระและพระกัสสปเถระ ฉบับที่ได้มานี้พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2504 (ของลังกา ตรงกับ พ.ศ. 2503) ค.ศ.1961เป็นแบบหนังสือคู่มือธรรมที่ใช้สวดและปฏิบัติเป็นประจำได้ เริ่มตั้งแต่ นโม พุทธํ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ คำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คำบูชา คำสมาธิภาวนาต่างๆ บทสวดมี พาหุ ชินบัญชร มงคลสูตร รตนสูตร เป็นต้น ตัวบาลีพิมพ์ด้วยอักษรสีหลและอักษรโรมัน มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ...
เมื่อได้อ่าน ชินบัญชรในหนังสือนี้แล้ว ก็ได้พบคำและประโยคที่เคยสงสัยในฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ซึ่งจับความได้หายข้องใจ จึงได้คิดว่าจะคัดฉบับลังกามาพิมพ์เพื่อผู้ที่ต้องการทราบจะได้อ่านพิจารณา และคิดปรับปรุงฉบับที่สวดกันในเมืองไทย อนุวัตร ฉบับลังกาเฉพาะที่เห็นว่าสมควรจะปรับปรุงด้วย
ชินบัญชรทั้งสองฉบับนี้ เมื่อเทียบกันแล้วก็รู้สึกว่า ต้นฉบับเดิมนั้นเป็นอันเดียวกันแน่ ฉบับ ลังกานั้นมี 22 บท ส่วนฉบับที่สวดกันในเมืองไทย มี 14 บท ก็คือ 14 บทข้างต้นของฉบับลังกานั่นเอง เพราะความเดียวกัน ถ้อยคำก็เป็นอันเดียวกันโดยมาก ส่วนคำอธิษฐานท้ายบทที่ 14 ของฉบับที่สวดกันในเมืองไทย ย่อตัดมาอย่างรวบรัดดีมาก คาถาบทที่ 9 ของฉบับไทย บรรทัดที่ 2 น่าจะเกินไป แต่จะคงไว้ก็ได้ ส่วนคาถาบทที่ 12 และ 13 สับบรรทัดกัน เมื่อแก้ใหม่ตามฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะถูกลำดับดี”
คาถาชินบัญชรที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) ได้ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 นั้น พิมพ์ ทั้งฉบับลังกาและฉบับที่สวดกันในเมืองไทย พร้อมคำแปลของทั้ง 2 ฉบับ จึงนับว่าเป็นการให้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความเป็นมาของคาถาชินบัญชร อันเป็นที่นับถือทั่วไปของคนไทย และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเอาคาถาชินบัญชรฉบับลังกามาพิมพ์เผยแพร่ให้ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเมืองไทย..."
ชินบัญชรไทย - ชินบัญชร(ศรี) ลังกา
นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคมนี้ นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับคาถาชินบัญชรอีกครั้ง ในบทความชื่อ "เล่าเรื่องเมือง (ศรี) ลังกา คาถาชินบัญชรมาจากไหน?" โดยลังกากุมาร-ผู้เขียนชาวไทยที่ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศศรีลังกา โดยระบุว่าคาถานี้มีกำเนิดจากลังกา
การกำเนิดขึ้นของชินบัญชรคาถามี ผลสืบทอดต่อมาจากการสวดปริตต์-การสวดเพื่อดับทุกข์เข็ญของประเทศชาติประชาชน โดยเริ่มครั้งแรกในสมัยอาณาจักรอนุราธปุระตอนกลาง ตรงกับสมัยพระเจ้าอุปติสสะที่ 1 (พ.ศ.908-949) ในสมัยนั้นการสวดปริตต์เป็นที่นิยมแพร่หลาย คณะพระเถระได้แต่งคัมภีร์สำหรับสวดปริตต์โดยรวบรวมพระสูตรจากพระไตรปิฎก ที่เหมาะสมจะเป็นบทสวดเรียกว่า "จตุภาณวารบาลี"
ในยุคอาณาจักรต่อ มาการสวดปริตต์เป็นที่นิยมสูงสุด โดยเฉพาะประเพณีสวดพระปริตต์ตลอดคืนจนถึงเช้า ขณะที่เนื้อหาในพระสูตรจำนวน 22 บท ที่กำหนดไว้ในคัมภีร์คงไม่เพียงพอกับเวลาอันยาวนาน จึงเพิ่มพระสูตรขึ้นให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่สวด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "มหาชินปัญชระ" บทสวดว่าด้วยการเชิญพระพุทธเจ้าทั้งปวงและพระมหาสาวกมาประดิษฐานทั่ว สรรพางค์กาย นิยมสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตราย
ที่มาคาถาชินบัญชร
แต่ก็ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า คาถาชินบัญชรเกิดมีขึ้นยุคใด นักปราชญ์ส่วนใหญ่ต่างมีข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกัน หากแต่ละท่านเห็นสอดคล้องกันว่าคาถาชินบัญชรได้รับคติความเชื่อมาจากลัทธิ มหายานแบบตันตระ ส่วนผู้เขียน (ลังกากุมาร) อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดในบทความค้นคว้าชิ้นนี้ของท่าน
นอกจากจะเปรียบเทียบคาถาชินบัญชรฉบับลังกากับฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต อย่างคำต่อคำ บทต่อบทแล้ว ผู้เขียนยังได้เสนอคาถาจุลชินบัญชรไว้สำหรับผู้สนใจด้วย
ได้รู้จักเข้าใจที่มาที่ไปของ"คาถาชินบัญชร"ในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือและคำถามที่อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านคิดกันต่อว่า เช่นนี้แล้วความนิยมศรัทธาต่อคาถาชินบัญชรของพุทธศาสนิกชนศรีลังกาเหมือน หรือแตกต่างจากพุทธศาสนิกชนไทยอย่างไร คาถาชินบัญชร มีสถานะเป็นพระสูตรประเภทใด เพื่อศาสนกิจใด
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ขอได้โปรดอ่านในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนมีนาคมนี้ เพราะลังกากุมารได้อรรถาธิบายให้เห็นว่า ฤทธานุภาพ และพุทธานุภาพ ของพระคาถาชินบัญชร เป็นไปตามเหตุปัจจัยของสภาพแวดล้อม และคติความเชื่อของสังคมพุทธนั้นๆ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
5 กันยายน 2552 09:28 น.
ลุงเอง
ความหมายของ ความสันโดษ ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความสันโดษ ความยินดีพอใจตามมีตามได้ตามกำลังและความจำเป็นของตน การดำรงชีวิตอยู่ของประชาชนในปัจจุบัน ถูกเหตุปัจจัยต่างๆ หลากหลายมากระทบกระทั่ง เบียดเบียนอยู่ทุกเมื่อ ซึ่งล้วนแต่ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามสมควรแก่อัตภาพที่ควรจะเป็นให้อยู่ดีมีสุขได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่ทุกคนจะต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติของตน เพื่อประคับประคองตนให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง มีความอยู่ดีมีสุขตามสมควร ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม คือ ความสันโดษ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำชาวโลกให้หาความสุขโดยการถือ สันโดษ คำว่า "สันโดษ"ความหมายของสันโดษ แปลว่าความยินดี คือความพอใจ ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยความเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโดยชอบธรรม
ความหมายของสันโดษ คำว่า สันโดษ โดยทั่วไปมี 3 ประการ คือ
1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามได้
2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง
3. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร
ประการ ที่ 1 ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามที่ตนได้มา คือตนได้สิ่งใดมาหรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหนก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้มา ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่ตนจะพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาสิ่งของที่คนอื่นได้ จนเกิดความริษยา
ประการที่ 2 ยถาพลสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยของตน มีความพอใจในการจัดสรรหน้าที่การงาน จัดสรรการศึกษาศิลปวิทยา และจัดสรรคุณธรรมเพื่อปฏิบัติให้สมกับกำลังสติปัญญาของตนเอง เลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดแล้วตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปตามกำลังแต่ละ อย่างด้วยความขยันหมั่นเพียร
ประการที่ 3 ยถาสารุปปสันโดษ หมายถึง ความยินดีตามสมควร หรือยินดีตามที่เหมาะสมกับภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน ไม่นึกคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าเกินฐานะของตนเอง บางครั้งแม้จะได้สิ่งที่เกินฐานะของตนเองมาก็ไม่ลุ่มหลงว่าเป็นสิทธิ์ที่ควร จะได้ กลับเห็นว่าสิ่งที่ได้มานั้นล้ำค่า ควรให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาหรือบริโภคใช้สอยด้วย โดยการทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและแก่สังคมรอบข้าง
จะเห็นว่า ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิต การรับและการได้มาหากไม่มีสติก็อาจลุ่มหลงไปตามอำนาจของโลภะอย่างไม่มีขอบ เขต "ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน" จึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ ถ้าทุกคนต่างมี ความสันโดษ พอใจยินดีใช้สอยวัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างมีสติ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรอง รับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ก็จะสามารถสร้างความอยู่ดีกินดีเป็นเหตุให้เกิดความสุขขึ้นได้
ดังนั้น ความสันโดษ ความยินดีพอใจตามมีตามได้ตามกำลังและความจำเป็นของตน พร้อมทั้งมีขยันหมั่นเพียรหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริตไม่เป็นภัยต่อตนเองหรือ สังคม เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วต้องรู้จักเก็บออมระมัดระวังในการใช้จ่ายไม่ก่อให้ เกิดหนี้สินก็จะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข ความสันโดษ จึงเป็นคุณธรรมที่ทุกคนควรพินิจพิจารณา น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยติดตัวโดยแท้.
5 กันยายน 2552 09:25 น.
ลุงเอง
ความสุข ที่แท้จริง คืออะไร
ความสุข ที่แท้จริง คืออะไรในชีวิต
ความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหา ด้วยวิธีการต่างๆ การแสวงหาความสุขนั้นๆ ก็ย่อมจะพาเอาความทุกข์พ่วงเข้ามาด้วย ทุกคนต้องการ ความสุขไม่ต้องการความทุกข์ แต่อะไรเล่าเป็นความสุขที่แท้จริงของตัวเรา จะเห็นได้ว่าบางคนไป หลงเสพความทุกข์ แต่เข้าใจว่าเป็นความสุข เช่น การกินเหล้า กินเบียร์ สูบบุหรี่ ตลอดจนเครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น โดยหลงไปว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสุข หรือยอดของความสุขไป กว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายแรงเสียแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็มาดับสลายลง กับสิ่งที่ไร้สาระ อย่างน่าเวทนายิ่งนัก
ความสุขโดยพื้นฐาน ได้แก่ความพอใจ แต่ความพอใจนั้น มันจะซ่อนพิษภัยและโรคร้ายต่างๆ ไว้ด้วยหรือไม่ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับระดับของสติและปัญญาในแต่ละคนด้วย
ความสุขที่แท้จริง นั้นย่อมเกิดจากบุญกุศล คือ ความสงบที่เกิดขึ้นในจิตใจ พ้นจากทุกข์โทษความดิ้นรน ไม่มีกระสับกระส่ายเดือดร้อนกระวนกระวาย
บุญกุศล จะเกิดมีขึ้นได้นั้นต้องอาศัยการปฏิบัติบำเพ็ญ หมั่นประกอบให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอตามแนวทางพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญบุญกุศล คุณงามความดี ในทางพระพุทธศาสนาท่านแยกไว้หลายประการ แต่สรุปแล้วมีอยู่ 3 อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา ทาน ได้แก่ การบริจาค แบ่งปันเสียสละ เมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลส คือความโลภให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้ ศีล ได้แก่ การปฏิบัติกาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ในความสงบเรียบร้อย ตามกฎระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และเมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลส คือ ความโกรธให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้
ภาวนา ได้แก่ การทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการเจริญปัญญาหรือจิตใจ พัฒนาจิตใจเพื่อให้เข้าถึงทางแห่งชีวิตตามความเป็นจริง ให้รู้จักการดำเนินชีวิต ตลอดถึงปฏิบัติต่อตนและคนอื่นด้วยความถูกต้อง และเมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลสคือความหลงให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้
ผู้ปรารถนาความสุข เมื่อหมั่นประพฤติปฏิบัติประกอบคุณงามความดี หมั่นบำเพ็ญบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ อานิสงส์ที่ได้รับจากบำเพ็ญบุญกุศลนี้ ย่อมจะเป็นสิ่งที่เป็นมงคล จะช่วยให้ชีวิตประสบแต่ความสุขที่แท้จริงตามลำดับ จนถึงขั้นสูงสุดคือพระนิพพาน
เพราะฉะนั้น จงพากันมุ่งบำเพ็ญคุณงามความดี ตั้งใจประกอบบุญกุศล ซึ่งจะดลบันดาลให้ชีวิตประสบแต่ความสุขความเจริญ อันเป็นความสุขที่แท้จริง ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ธรรมะวันหยุด