14 กุมภาพันธ์ 2553 20:58 น.

คืนสู่เส้นทางสายไหม (Return to the Silk Road)

ลำน้ำน่าน

เสียงพิณเซนไหวครวญหวนตามลม
จากลึกหล่มหมื่นเขาเทาท้องฟ้า
มาสถิตอยู่นานนับกัปเวลา
ท่ามมรรคาซ่อนเซาะเราะภูดิน

พลิ้วพลิ้วไปลมเหลืองทะเลแล้ง
ทุกหนแห่งฝุ่นฝ้ายสลายหิน
พุทธอุบัติเหนือเหวเปลวมลทิน
ธรรมยังรินรุ่งเรืองอยู่ลึกลับ

จากเส้นทางสายไหมไกลลึกเร้น
สู่เนินเย็นหนาวเยือกเทือกเขาหลับ
โอเอซิสพักแรงแอ่งน้ำซับ
เมื่อพุทธะจรจับผืนดินตาย

ตามทางทองเหมยไหมทบอดีต
ขึงพิณกรีดเสียงสะท้อนก้องความหมาย
ไหมจากฟ้าพลิ้วไสวใยเรียงราย
แม้นย่างกลายผ่านทางเวิ้งว้างคน

จากดินแดนแห่งสายน้ำภาวนา
สายคงคาจากสรวงร่วงสายฝน
ชาติกำเนิดชมพูคู่สกล
ไหลมาสู่มณฑลโพ้นอัลไต

เป็นหิมะดะไลในโลกลึก
ตกผลึกความว่างกลางสงไขย
เหมือนหยาดหยกบริสุทธ์พุทธละไม
เหมือนกลิ่นไอฟากฟ้าสุขาวดี

ขจรขจายสู่แหล่งแห่งความตาย
แหล่งความพ่ายสยบหลบเร้นหนี
ก้าวสู่กลางกาฬมืดของโกบี
เพียงศากยมุณีที่ศรัทธา

เพื่อพุทธะยึดไว้ใจลามะ
โลกุตระสว่างแหล่งแสวงหา
เพื่อนิพพานสูงสุดพุทธาดา
กลางลำเค็ญลาสาขังวิญญาณ

คือดอกพลัมบานไหวในปลายหนาว
แล้วโรยกราวพบพื้นคืนสังขาร
กลีบเหลืองหม่นดลจิตมหายาน
ยามเบ่งบานพรมผลิหิมะโปรย

เซนดนดรีบรรเลงเพลงความว่าง
อยู่ท่ามกลางเพลงทิวอันหิวโหย
คือมนต์สวดแว่วบอกดอกไม้โรย
กลิ่นอวลโชยพัดกลบซบแนวเนิน

แตรภูเขาเป่าก้องร้องมนต์ร่ำ
สื่อเสียงเพลงลำนำคำสรรเสริญ
พุทธทิเบตเผยกว้างพลางเชื้อเชิญ
ให้มนุษย์ก้าวเดินเพลินนิพพาน

จิตวิญญาณพลิ้วไหวดุจหิมะ
โลกายะกฎธรรมนำสังขาร
คือกฎจริงอิงโลกมหายาน
ทอดทางฌานไหมวิสุทธิ์วิมุติพ้น

-----------------------------------------
เทียนหอมสีฝาดหม่นๆ ถูกจุดขึ้นกลางค่ำคืนนี้
เปิดเพลงบรรเลง มนตราแห่งอวโลกิเตศวร 
บทสวดทิเบต พาหัวใจให้พลิ้วไหวไปสู่ดินแดนแห่ง
พุทธมหายานนิกาย ที่ดวงใจดวงนี้เคยได้ไปเยือน
ขุนเขาหิมะมังกรหยกมาแล้วในอดีต
ดินแดนแห่งเนินผา ขุนเขา สายน้ำภาวนา
ทะเลทราย และจิตวิญญาณ

พุทธศาสนานิกายมหายาน
เดินทางผ่านเส้นทางอันทุรกันดารอย่างยิ่งยวด
นาม เส้นทางสายไหม 
เส้นทางสายจิตวิญญาณเชื่อมโรมันสู่จีน
เส้นทางที่เชื่อมแผ่นดินตะวันตก
กับดินแดนตะวันออกเป็นหนึ่งเดียว

จากใจกลางทวีปผ่านที่ราบสูง ทะเลทราย 
เทือกเขาหิมะ และสายน้ำแห่งการภาวนา
อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายาน
ได้แผ่เข้าปกคลุมดินแดนแถบนี้
ที่ได้ชื่อว่า หลังคาโลก ในทิเบต จีน 
มองโกเลีย เวียดนาม และญี่ปุ่น

ลามะเป็นผลิตผลและหลักฐานความเจริญ
รุ่งเรืองสุดขีดของพุทธศาสนา 
พระผู้มุ่งแสวงหานิพพานและความหลุดพ้น
ท่ามภูมิประเทศแร้นแค้น  ประหวัดถึง เณรน้อยซุงไซ
จากหนังสือเล่มงามของ *จอร์จ เครน* นาม อัฐิอาจารย์ 
ปาฏิหาริย์แห่งความกตัญญู พระที่ต้องดิ้นรนหลบรี้
ออกจากมองโกเลียในช่วงจีนปฏิวัติวัฒนธรรม
และ นักเขียนท่านหนึ่งกล่าวถึง นิยาย กามนิต วาสิฏฐี 
จุดที่สองคู่รักนัดไปพบกันหลังความตาย
คือดินแดนสุขาวดีก็อยู่ในความเชื่อนิกายมหายาน

หมู่บ้านเล็กๆ เชิงเขาหิมะมังกรหยก
ที่ได้ไปเยือนสะท้อนปรัชญางามง่ายแห่งเซน
ยามเช้าที่อากาศเย็นแห้งๆ 
และลมเหลืองจากทะเลทรายโกบียังพัดอู้
แต่กระนั้นดอกพลัมและแอ็ปเปิ้ลก็ยังคงผลิดอก 
ทิ้งกลีบดอกโปรยไปสู่ความว่างเปล่าเดียวดายในสายลม
เป็นความงดงามนิรันดร์ในดินแดนมหายาน.....

หยุดพักความเหนื่อยล้า เอนกายลงฟังเสียงหัวใจเต้น 
จิตนภาพลึกล้ำ รำลึกถึงคราวแบกเป้เดียวดาย
อยู่บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ นาม *ยู่หลง* 
แหละสายหมอกไหมสวยสดราวสวรรค์บนดิน
ในยามได้ดื่มด่ำกับ *แชงกรีล่า* สวรรค์บนดิน 
อีกสายน้ำที่กระโจนลงอย่างเกรี้ยวกราด 
ณ หุบเขาโตรกเสือกระโจน 

แหละอีกหลายความทรงจำ
ในยามได้เดินอยู่เหนือคันนาข้าวสาลีในอินเดีย
ประหวัดถึงวัจนภาษาทองจาก **กามนิตวาสิฏฐี** 
กล่าวไว้สงบงามในขณะที่พระพุทธเจ้า
เสด็จกลับเบญจคิรีนคร...

**ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคิรีนครคือราชคฤห์ 
เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวารแดดในยามเย็นกำลังอ่อนลง
สู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตร 
แลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา
ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี 
เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว
ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทอง
ไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่วๆ เรี่ยๆ รายลงจดขอบฟ้า 

ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่มๆ 
เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว 
ก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง
อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุงรวมทั้งทวารบถ
ทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้ง
ดั่งว่านิรมิตไว้มีสุมทุมพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด
ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสง
ปานจะฉาบเอาไว้ เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ 
มีบุษยราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน
แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น 

พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ 
พลางรอพระบาทยุคลหยุดเสด็จพระดำเนิน 
มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์
ในภูมิภาพที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน 
เช่น เขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสิคิลิและคิชฌกูฏ 
ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น 

ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน 
ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น 
ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว 
แสวงหาพระอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบถ
อยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏ
เข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน**

แม่น้ำไหลริน 
มาจากหิมาลัย
ส่งเสียงพึมพำ
มาจากเนินเขาหมื่นแห่ง
จากทางช้างเผือก

ชื่นชมฟากฟ้า
จำกัดวิสัยทัศน์ไว้
ไม่สนใจ
ความอัปลักษณ์ของผู้ใด

กระทั่งแม่น้ำ
ฝั่งที่เป็นเนินทราย
ทับถม.....

ยึดพุทธะไว้ในใจ
ละวางความโศกและมายาภาพ
(ซุงไซ)

ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์
วันตรุษจีนที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๑๕๕๓


				
12 กุมภาพันธ์ 2553 18:36 น.

สุขใจในจาตุมหาราชิกาภูมิ (The Endless Heaven)

ลำน้ำน่าน

สุขใจในจาตุมหาราชิกาภูมิ
ปฐมบทจาตุมหาราชิกา  (กาพย์ฉบัง ๑๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเป็นผู้ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่นำมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำหยาบ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่มีจิตคิดปองร้าย มีความเห็นชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เชิญมาประดิษฐานไว้ ฯ
  **ภูมิวิลาสินี** โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)


สี่พันหกร้อยโยชน์ยล
เทวะมณฑล
ยอดยุคนธรพิมาน
				
แสงสรวงสวรรค์บันดาล
เกล็ดดาวพราวลาน
ภพภูมิเทพยดา 

หอมมรรคผลอภิญญา
ไอทิพย์ทิพา
อัปสรว่อนฟ้ารื่นรมย์

รอเฝ้ามหาอินทร์พรหม		
รับพรนิยม
ประกอบแก้วเจ็ดประการ

อร่ามเหลืองเมืองโอฬาร
จาตุทวาร
กำแพงกั้นใสใยยอง

สี่เทพนครครอบครอง
เรือนแก้วเรือนทอง
เหลื่อมลอยลับสลับกัน

ประตูแก้ววิลาวัณย์
วิเศษทองพรรณ
ประเสริฐสุดในดินแดน

ซุ้มปราสาทวาดเมืองแมน
ม่านบานแผ่แพน
ใต้ร่มฉัตรแก้วแพรวพลอย

กลางนครไอเมฆลอย
ห่มคลอหอคอย
ยอดปราสาทแก้วอรุณ

คือวิมานกามคุณ
เสวยผลบุญ
ของเหล่าเทพยาดา

เบื้องต่ำเท้ามรคา
ทองทาบฉาบทา
ทอดอร่ามตามทางเดิน

เหล่าเทวดาเพลิดเพลิน
ทอดนำดำเนิน
นวลนุ่มเนื้อเจือแพรพรม

เท้าเทวาวางย่างจม
เจิมเต็มทิพย์ลม
ไร้ร่องรอยเทวดา

สระหนึ่งไม้ดอกดาษดา
สระน้ำแก้วตา
สระแก้วโบกขรณี

เหล่าปทุมชาติวารี	
ทิพย์กลิ่นอินทรีย์
ละอองสรวงปวงสุคันธ์

พฤกษชาติดาดาษพันธุ์
สลับสีสัน
พรรณรายพรายธารครอง

ผลไม้ใหญ่น้อยเนืองนอง
ดอกผลทิพย์ทอง
แท้รสเลิศล้ำโอชา

ไร้เขตกัปกัลป์เวลา	
สุขทุกเทวา
ทวยเทพมหาอภิรมย์


ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)
"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณ ยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป แล้วเขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ชั้น จาตุมหาราช

"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ นั้น ได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็น อดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาโดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรระณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐิพพทิพย์

จาตุโลกบาลทั้งสี่แห่งจาตุมหาราชิกา

สี่เมืองใหญ่วโรดม		
ยิ่งยศต่างพรหม
ปกครองผองเทพแต่บรรพ์

นครหนึ่งยลคนธรรพ์
ดนตรีสรวลสรรค์
ท้าวธตรัฏฐะบูรพา

ร่ายรำฟ้อนอ้อนลีลา
ชุมนุมเทวา 
กลอนกล่อมเพลงพิณรินใจ

หนึ่งเทพบุตรงามใน
พรเทพปางใด
ปัญจสิขรคนธรรพ์

กุศลก่อนเบื้องเนื่องบรรพ์
ศิลป์พิณจำนรรจ์
น้อมเกิดภูมิราชิกา

เทพบุตรสุดโสภา
จอมเทพเมตตา
เหนือธรรพ์ชั้นฟ้าถิ่นใด

ร่อนลงนิมิตบันได
ดื่มด่ำอำไพ
เพลงพิณเพราะโกกิลา

ร่ายเสียงเยี่ยงสกุณา
ลิ้นทิพย์มนตรา
เยื้องกรายนำหน้าพระอินทร์

เข้าเฝ้าองค์เอกภูมินทร์
ร่ายธรรมย้ำยิน
แต่องค์พุทธบิดา

นครทิศทักษิณา
กุมภัณฑ์พารา
ท้าววิรุฬหกาครอง

ไกรอิทธิฤทธิ์ช่ำชอง
คุมยักษ์กระบอง 
ยักษ์ทาสจงรักภักดี

อีกปวงเทพไท้ฤทธี
อุบัติมากมี 
ใต้แสนยามหาวิรุฬฯ

หนึ่งนครเทพการุณย์
สวรรค์สมดุล 
ด้วยปวงสมุนนาคา

ท้าววิรูปักษ์ราชา
องค์เจษฎา 
รักษาประจิมพิมาน

ฤทธิ์นาคีบริวาร
ทิพย์จิตวิญญาณ 
นฤมิตกายได้ไว

มนุษย์อมนุษย์ใน
รูปลักษณ์อำไพ 
เที่ยวท่องสมุทรธารา

เนรมิตเทวดา
เยี่ยมเยือนนภา 
เสพสุขกามาพจร

ยามนาคพ่นพิษขจร
เนื้อหนังขาดรอน 
ชีพม้วยมรณ์ในพริบตา

วรรณะสูงส่งนาคา
สั่งสมบุญญา 
เกิดภพภูมิใดไม่กลาย

หนึ่งนครสวรรค์ปลาย
ครองยักษ์เหล่าร้าย 
ท้ายแว่นแคว้นแดนอุดร

องค์เวสสุวรรณบวร
ฤทธาขจร 
คุ้มยักษ์ภักตะสันดาน

อานิสงส์บริบาล
ก่อนจุติกาล 
สั่งสมบุญบารมี

กายสุกปลั่งดั่งสุรีย์	
รุ่งรัศมี 
ระย้าระยับเมืองแมน

ทานสูตร
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)
"ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวัง ให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการ สั่งสมทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้ เสวยผลแห่งทานนี้ เขาผู้นั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง ความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช"

ปัจฉิมบทจาตุมหาราชิกา

ท้าวจตุมหาแถน
สี่ทิศชิดแดน
พ้นด่านทวีปมนุษย์

เหล่าเทวาบริสุทธิ์
อัปสรนงนุช
เริงสุขไพศาลถาวร

ปราสาทสถานอัมพร
กามาวจร
ใต้บวรจตุโลกบาล

ปาริชาตบานตระการ
ทิพย์ไต้วิมาน
มวลละอองล่องสะท้อน

รูปอินทรีย์มิอาวรณ์
อายุฤารอน
ใต้ร่มมหาราชิกา

ภุมมัฏฐเทวดา
กรรมดีมีมา
สถิตสถานแผ่นดิน

ปวงพฤกษ์ไม้พรายถิ่น
เทพองค์ทรงยิน
รุกขัฏฐะเทวดา

ทิพย์พิมานเมขลา	
ไอศูรย์เมฆา
อากาสัฏฐะเทพองค์

สุดยอดโยชน์โขดเขาดง
สิเนรุลง
ลาดจรดจดตอนกลาง

ทั่วพื้นภพจบสรรพางค์
เทวาอำพราง
ศานติสุขราชิกา


(อังคุตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๒๐๕ หน้า ๔๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)
      ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! สัตว์ที่จุติจาก มนุษย์ ไปแล้ว จะกลับมา เกิดเป็นมนุษย์อีก มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว ไปเกิดในนรก ไปเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ไปเกิดในเปรตวิสัย มีประมาณมากกว่า โดยแท้

      สัตว์ที่จุติจาก มนุษย์ ไปแล้ว ไปเกิดเป็นเทพยดา มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว ไปเกิดในนรก ไปเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ไปเกิดในเปรตวิสัย มีประมาณมากกว่า โดยแท้

      สัตว์ที่จุติจาก เทพยดา ไปแล้ว จักกลับไปเกิด เป็นเทพยดาอีก มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจาก เทพยดาไปแล้ว ไปเกิดในนรก ไปเกิดในกำเนิด เดียรัจฉาน ไปเกิดในเปรตวิสัย มีประมาณมากกว่า โดยแท้

      สัตว์ที่จุติจาก เทพยดา แล้ว จักได้มาเกิดเป็น มนุษย์ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากเทพยดาแล้ว ไปเกิดในนรก ไปเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ไปเกิดในเปรตวิสัย มีประมาณมากกว่า โดยแท้

      สัตว์ที่จุติจากกำเนิดเดียรัจฉานแล้ว ไปเกิดเป็น เทพยดา มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากกำเนิด เดียรัจฉานแล้ว ไปเกิดในนรก กลับเกิดในกำเนิด เดียรัจฉาน ไปเกิดในเปรตวิสัย มีประมาณมากกว่า โดยแท้

ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์
วันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๑๔๔๒



				
12 กุมภาพันธ์ 2553 01:24 น.

เสียงครวญจากที่ราบสูง (Summer Hill Inspiration)

ลำน้ำน่าน

สิ้นฤดูคืนคราวหนาวจรผ่าน
แดงดอกจานตูมเต้ายามเช้าใหม่
ลมหนาวเอยโบกพลัดไปแหล่งใด
จึงทิ้งใจลอมฟางไว้กลางลาน

เหลืองระยับรวงทองต้องคมเคียว
หอมข้าวเหนียวนึ่งใหม่ไอหอมหวาน
จิตวิญญาณบ้านทุ่งจรุงบาน
ต่อตำนานมนต์เพลงบรรเลงแล้ว

ที่ราบสูงยูงยางสล้างใบ
แล้งลมแล้งโบกไกวบ่วงใบแผ่ว
หล่นลาร่วงถมกว้างเต็มทางแนว
รอพลัดแคล้วอัตคัตมิหยัดยืน

ร่วมรับขวัญท้องทุ่งข้าวหุงใหม่
ก่อฟืนไฟควันล่องท่องนาผืน
โห่ลมว่าวหนาวเอยเชยกลับคืน
มาพัดครืนเกลียวฟางอย่าร้างลับ

เก็บเกี่ยวฝันต้นฤดูสู่ทุ่งท้อง
ยามดุเหว่าเร่าร้องพร้องเดือนดับ
ปลุกวิถีนานเนิ่นเกินนึกนับ
อยู่คว้าจับมีดเคียวเกี่ยวลูกรวง

มนต์พนาคืนค่ำยังล้ำลึก
หว่านผลึกจรดแหล่งสะแบงหลวง
เกลี่ยเกลียวอาบโนนเนินดั่งเงินยวง
เขียวสุดท้ายรอร่วงอยู่ลิบทิศ

เพลงสงฟางลับลานซ่านหัวอก
นานเสียงนกร้องครวญรัญจวนจิต
รวงข้าวหักหลงยุ้งทุ่งชีวิต
ว่ายวิกฤตทนสู้อยู่เดียวดาย

ลมว่าวเอยอย่าช้าพามนต์ทุ่ง
ไปจรุงร่ำรินกลิ่นความหมาย
ผู้อกสั่นพรั่นพรึงถึงความตาย
จงโอบกายผ่อนหนักอย่าชักช้า

สิ้นฤดูอีกคราวเหน็บหนาวผ่าน
คูนตระการม่อนมอรอเรียกหา
สาวดอกเสี้ยวดอกจานจะบานมา
ประดับค่าครองคู่อยู่อาจิณ

แดดแสงสวยสะท้อนอ้อนซังข้าว
เถิดหนุ่มสาวที่ราบสูงมุ่งคืนถิ่น
ฝากเสียงครวญมนตราพนาดิน
ว่าหนาวสิ้นฤดูลับ...ให้กลับมา!

------------------------------
หยิบหนังสือเล่มงามของนักเขียนในดวงใจ 
นาม *ไพทูรย์  ธัญญา* เจ้าของรางวัลซีไรท์  
บรรยายฉากภาพแห่งท้องทุ่งนา
ในห้วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยวไว้ฉากหนึ่ง
งดงามจับหัวใจว่า...

ลมหนาวเริ่มจะจรจางแล้ว 
ฟ้าต้นเดือนสามผ่องแผ้วเขยิบสูงเป็นสีคราม 
ทุกสิ่งทุกอย่าง ช่างสวยงามและดูดีไปหมด 

ไม่ว่ายุคใด มนต์เสน่ห์ท้องทุ่งไม่เคยจรจางไปจากใจ
งามเสน่ห์ที่ใช้จิตวิญญาณเพ่งมองจึงจะเห็นงามนั้น
คราวได้นั่งรถไฟไปอุลบราชธานี 
ในยามที่เห็นตอซังดั่งคนรออยู่รายริมทาง

เมื่ออรุณแรกสาดส่องมา  
นำความบรรเจิดใจและแรงบันดาลใจกลับมาสู่
แม้นในบางงามนั้นมีกองฟืนและลอมฟางเดียวดาย
หากแต่ราวแฝงฝังความหมายอันยิ่งใหญ่ ในชีวิต
และจิตวิญญาณของผู้คนบนผืนแผ่นดิน ที่ราบสูง 

ด้วยศรัทธาและเห็นคุณค่าแห่งวิถีชีวิตอันงดงามนี้
รังสรรค์งานหวังเกิดแรงใจให้ผู้คนบนถิ่นที่ราบสูง
ไม่สละที่ทาง  หันมาพลิกผืนแผ่นดินให้งดงาม
ด้วยรวงทองอีกครั้งและอีกครั้ง

สะแบงหลวงต้นใหญ่ทิ้งใบหล่นลาแล้งอยู่กราวเกรียว 
ต้านลมต้านฝน บ่งถึงจิตวิญญาณเข้มแข็งของผู้คนที่นี้ 
รอเวลาผลิใบเขียวระยับ
ในยามที่เย็นฝนมาเยือนฤดูหน้า...

เสียงกระซิบจากริ้วลมหนาวสุดท้ายบอกข่าว...
คูนอีสานที่ใจดวงนี้รอคอยนั้นบานสะพรั่งพรึบแล้ว
ดอกจาน ดอกไม้ในอุดมคติก็พากันผลิบาน
ประดับทุ่งตามวิถี นาทีนี้จึงทำให้แสนจะคิดถึง ..... 

ตราบใดที่ดอกคูนยังตระการ  
และดอกจานพากันบานออนซอนรับทุกแล้งฤดู
ตราบนั้นจงเชื่อมั่นว่า *ทุกชีวิตจะไม่อับจนหนทาง*

ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓
บ้านดอกฝ้าย  เชียงคาน เมืองเลย


				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลำน้ำน่าน
Lovings  ลำน้ำน่าน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลำน้ำน่าน
Lovings  ลำน้ำน่าน เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟลำน้ำน่าน
Lovings  ลำน้ำน่าน เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงลำน้ำน่าน