2 ธันวาคม 2545 08:41 น.
ม้าก้านกล้วย
ค่ำแล้ว นางไพรของพี่เอย
เชิญเจ้าเคียงครองเขนยข้างข้างพี่
หลับตาเถิดหนาเจ้าคนดี
พี่นี้จะกล่อมไกวให้เจ้านอน
โน่นแน่ะเขียวแขกเต้าเข้ารังแล้ว
นั่นแน่ะแก้วกกชู้ดูเหนื่อยอ่อน
ทั้งไก่ป่ากาดงลงจับคอน
ยังนิ่งนอนหลับไหลให้คลายล้า
เจ้าเองก็เหน็ดเหนื่อยมิใช่หรือ
ด้วยสองมือตรากตรำระกำกล้า
มิแม้พร่ำบ่นพ่ายคลายศรัทธา
ด้วยหมายว่าจะมั่งคั่งดั่งใจคิด
ยามงานนั้นแม้หนักสักเพียงไหน
ยามพักใจจงหลับไหลให้สนิท
เพื่อตื่นมาโต้ชะตาพาชีวิต
ด้วยลิขิต ด้วยสองเรา เข้าใจกัน
จะกล่อมขลุ่ยเชิญขวัญเจ้าเข้านิทรา
จงหลับตาเชิญขวัญเจ้าเข้าสู่ฝัน
จะคลอขลุ่ยล้อสกาวดาวนับพัน
เพื่อให้วันพรุ่งพร่างสว่างไสว
เพื่อเราสองหาญกล้าเพื่อฝ่าฟัน
เพื่อเรานั้นคงมั่นในวันใหม่
เพื่อพร้อมพาย่างเท้าให้ก้าวไกล
เพื่อเคียงข้างอย่างใจจะให้เป็น
(ม้าก้านกล้วย)
2 ธันวาคม 2545 08:27 น.
ม้าก้านกล้วย
โอ้เจ้ากาเหว่าเอย กระไรเลย
เจ้าไม่เคยกกไข่
จากอุทรมารดา แต่เดิมมา
ไม่รู้ว่า เป็นใคร
เจ้าเป็นสาวสวยงาม ขนดำ
เจ้าจะทำ ฉันใด
เจ้ากรีดกรายยั่วยวน ชักชวน
ล้วนเสน่ห์ หลงไหล
ปฏิพัทธ์จัดจ้าน หยาบกร้าน
รานราคะ ลุกไหม้
ปฏิวาตพัดพา เจ้ามา
วัฏจักรหมุนเปลี่ยน เวียนใหม่
เจ้าเป็นแม่กาเหว่า อุ้มครรภ์
มิรู้จะหัน หาใคร
เอ๋ย เจ้ากาเหว่าเอย มิรู้จะหัน หาใคร
จึงลอบลง รังกา เขี่ยไข่กาทิ้งไป
แล้วลอบลงรังกา ไข่ลูกยาเอาไว้
เอ๋ย เจ้ากาเหว่าเอย มิรู้จะหัน หาใคร
(ม้าก้านกล้วย)
กลอนราชเกริง นี้ มีบันทึกไว้ว่า เล่นมาแต่ อาณาจักร เชี๊ยะโท้ว - ตั้ม หม่า หลิง (น่าจะเป็น ศรีโพธิ ตามพรลิงค์ ประมาณ พุทธศักราช 1100 - 1600 ) ซึ่ง บันทึกจีนกล่าวว่า การละเล่น หลัก กัง หรือ เล่า- เก็ง จะเป็นการร้องเพลงที่มี การซ้ำเสียงท้าย ให้ใช้สระสะกดเดียวกันทั้งเพลง ปัจจุบัน ยังมีเล่นกันอยู่ ประปราย ส่วนมากใช้ในเพลงดอกสร้อย เพลงปรบไก่ และที่ นิยมมาก ก็คือ เพลงลิเก
จะขอยกตัวอย่างกลอนราชเกริง ที่ทุกคนต้องร้อง อ๋อ เพราะ เชื่อว่า ทุกคนต้องเคยเล่น
ก็ เพลงมะลิลา ยังไงล่ะ ที่ร้องว่า ลา มะลิ ลา ขึ้นต้น อะไรก็ได้ ขอให้ลงท้ายด้วยสระ อา
หาก ร้องกลอนราชเกริงในวงมโหรี จะเรียกว่า หน้าพาทย์ ราชเกริง แต่ ถ้าเล่นโดด ๆ หรือเล่นแบบกลอนสด มักนิยมเรียกว่า เล่าเกริง( เล่าเก็ง ?)