15 ตุลาคม 2553 15:49 น.
ฟ้าฟื้า ธรรมชาติ
คือเสียงเอิ้นสั่ง คือสามัญปลายฤดู
ฝนฮวยหนองคลองนาฟ้าสะอื้น
ห้วยลานหินดินชื้นน้ำรื่นไหล
ข้าวโอบกอก่อรวงโน้มหน่วงไกว
สุดนาไกลเขตข้างหว่างตำบล
เปียกลมหอบดอกน้ำฉ่ำอีกรอบ
ข้าวลู่หมอบยืนได้ไกวอีกหน
เขียดได้น้ำเริ่งร่าโดดมาปน
ปลาอดทนเบียดบืนขึ้นคันนา
โคกจอมปลวกดินตั้งทางฝั่งโน้น
ป่าเห็ดโคนจูมใหม่ดอกใหญ่หนา
เก็บเห็ดอ่อนช้อนวางหลังใบคา
ใส่ตะกร้าอิ่มหนึ่งจึงจากไป
ยามไซปลาลอบวางข้างหนองน้ำ
ปลาดุกดำดิ้นโผนจนไซไหว
เปิดย่ามเก่าสะพายหลังก็วางไว้
เลือกปลาใหญ่หากเล็กนักปล่อยกลับคืน
เบียดน้ำค้างเปียกพุงสะดุ้งโหยง
คันนาโคลงเขียดผวาปลาเต้นตื่น
อ่อนแล้วหนอดินนากว่าตนยืน
คงฉ่ำชื้นฝนสุดท้ายจะคล้ายโคลน
ยกรวงข้าวขวางทางให้ตั้งยืน
หนักรวงชื้นน้ำค้างหนึ่งยังดึงโหน
ค่อยเลาะเลียบเหยียบย่างข้างข้างโพน
ฝากรอยเท้าปูดโปนไว้โพนดิน
เสียงน้ำนาโตนตกซกซกไหล
สาดเสไปเลียบเลาะเซาะกรวดหิน
นกกระยางยืนทุ่งมุ่งจากบิน
จ่อจิกกินปลาเขียดเคียงข้างกัน
คือสามัญฝนสุดท้ายปลายฤดู
คือสามัญฝันรู้อยู่เคียงขวัญ
มาปูทางทุ่งทองของทุกวัน
รอเหมันต์แล้งหลงสู่ดงดอน
เอิ้นฟ้าร้องคำสุดท้ายอ้ายลาแล้ว
หนอนาแนวข้าวจ๋าขอลาก่อน
ให้ตะเกียงไต้ตั้งวางคบคอน
จุดไฟฟอนไล่หนาวอีกยาวไกล
วันสุดท้ายปลายแล้งแจ้งคิมหันต์
จะพบกันอีกครั้งนามฝนใหม่
หากคิมหันต์บอกลานาตอนใด
จะหอบให้ฝนสวยมาฮวยนา
__________________
ในวันที่ฝนพรำๆ ตกทั้งวัน
ชาวอีสานจะเรียกว่า ฝนฮินหรือฝนฮวย
วัฏจักรของสายฝนนั้น
มาตั้งแต่เม็ดกล้าที่ยังเป็นเม็ดข้าว
สู่การเติบต้นกกกอ และอุ้มท้องออกรวง
ในเวลาเดียวกัน
ฝนไม่เพียงแต่นำการเติบโตของข้าว
แต่ฝนยังนำสิ่งมีชีวิตหลายพันธุ์มาด้วย
ไม่ว่าจะเป็นปลา กบ เขียด กุ้ง หอย
เห็ดนานาชนิด หน่อไม้ และสิ่งอื่น
มาให้เด็กๆชาวชนบท ได้รู้ปรับรู้เปลี่ยน
และเรียนรู้วิถีชีวิตในการอยู่กินกับฤดูฝน
ท้ายที่สุดแล้วสัจธรรมของธรรมชาติ
ได้ชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งล้วนมีการเกิด
การอยู่อย่างนั้น และดับสิ้นไป
สำหรับฤดูฝนเองก็เป็นเช่นกัน
เมื่อวาระแห่งเหมันตฤดูมาถึง
รอยต่อของสองฤดูอันงดงาม
ก็ถึงเวลาแสดงความสามัญได้อย่างเต็มที่
ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใด
ในช่วงเวลานั้น การเล่นล้อ
ระหว่างปลากับเบ็ด เห็ดกับโพนปลวก
กบกับเขียด คันนากับหลุมรอยเท้า
ก็ได้มีให้เห็นตลอดช่วงฤดูฝน
ราวกับว่าธรรมชาติได้ให้รางวัลกับชาวนา
ที่ล้าอ่อนจากการสืบสาวข้าวงาม
ด้วยการเล่นล้อของสิ่งเหล้านั้น
ในความสามัญ ในปลายฤดูฝนเช่นนี้
ผู้เทียวทาง ผู้เป็นไทในท้องนา
และผู้เสาะแสวงสายฝน
จะได้รับฟังเสียงฟ้าร้องก้องดัง
หรีดหริ่งคร่ำครวญ
เสียงกบเขียดระงมทุ่ง และเสียงฝนฮวย
แต่รุ้งสางจวบจนฟ้าสนธยา
ในช่วงของวันหนึ่ง
ผิวเผินก็คือเสียงของสัตว์และธรรมชาติ
แต่สำหรับชาวชนบทอย่างเราแล้ว
มันคือเสียงเอิ้นสั่งลากันนั่นเอง
ฟ้าฟื้น ธรรมชาติ
วันเอิ้นสั่งลา ปลายฤดูฝนสู่ต้นฤดูหนาว