ขณะจักรวาลเริงระบำเบื้องหน้า ด้วยท่วงทำนองเนิบช้า งดงาม เกรี้ยวกราดและดุดัน บางขณะนิ่งงันแต่เคลื่อนไหว บางขณะไร้ตัวตนแต่มีอยู่ ทว่าท่วงท่าธรรมชาติเหล่านี้ร่ายรำสู่ความว่างเปล่า และเหมือนรอให้ผู้คนสัมผัสเพื่อตื่นรู้ เรากลับกักขังจักวาลไว้ในตัวตนด้วยแรงอยากอย่างโง่เขลา ตรงกันข้าม เราหลงทึกทักไปอีกว่า “ จักวาลหมุนรอบตัวเรา และเราคือศูนย์กลางของจักวาล ”
ณ ตีนดอยหลวง กลุ่มมะขามป้อม เชียงดาว ฉันได้เรียนรู้จากผู้คนเพิ่มเติมว่า ในท่ามกลางกระแสสังคมนิยมวัตถุและหลงใหลตัวตน ยังมีกลุ่มคนเฝ้าสังเกต “จักรวาล” ในมุมที่ต่างออกไปอย่างตั้งใจ เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ เป็นเพียงมนุษย์สามัญที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราว เปิดเผยความลับแห่งจักรวาล ความลับแห่งธรรมชาติมนุษย์ผ่านกระบวนการไทเก็ก และละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากฟังเพียงผิวเผินอาจเกิดคำถามขึ้นในความคิดว่า ศิลปะสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของธรรมชาติจักรวาลได้อย่างไร ไทเก็ก คือวิชามวยไทเก็กเป็นวิชาการต่อสู้เชิงรับ โดยถือความว่างเป็นสุดยอดสรรพสิ่ง มีอานุภาพหาประมาณมิได้ ไม่ว่าด้านจิตใจ ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก หรือการงานใดๆ แต่น้อยนักที่มีผู้รู้จักความว่าง และอานุภาพความว่างอย่างถ่องแท้ ความว่างและความนิ่งแท้จริงคือสามัญลักษณะที่พึงเข้าถึง ว่างกับนิ่ง เหมือนไร้พลัง เหมือนไร้การเคลื่อนไหว แท้กลับเปี่ยมด้วยพลัง เปี่ยมด้วยการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง ครูบอกพวกเราว่าเราทุกคนมีพลัง “ชี่” ในตัว “ชี่” หรือ “ลมปราณ” เราสามารถปรับดุลยภาพของหยินหยางในร่างกายโดยใช้ชี่ได้ ทำให้อวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานเป็นธรรมชาติ ซึ่งหากฝึกฝนจนใช้ชี่อย่างชำนาญแล้ว เราสามารถใช้ “เสิ้น” หรือการเชื่อมโยงเจตนาเรากับพลังแห่งจักวาลได้ และจุดสูงสุดคือการเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ว่างเปล่าไร้ตัวตน ซึ่งครูเรียกว่า “คง” พวกเราได้ฝึกใช้พลังจากจักรวาลอย่างสนุกสนาน เช่น ผลักร่าง ยกตัว เดินสู่จุดหมาย ต่อสู้โดยไม่ต่อสู้ฯลฯ โดยไม่ลืมปล่อยให้ลมปราณจมลงสู่ตันเถียน ครูเรียกอาการเช่นนี้ว่าการ “ตั้งแกน” ส่วนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงครูสอนให้เราเรียนรู้ธรรมชาติของอารมณ์ และความคิดมนุษย์ รวมทั้งการใช้ร่างกายและจิตวิญญาณเปิดรับสัมผัสธรรมชาติรอบตัว เสมือนว่าเราคือธรรมชาติและธรรมชาติคือเรา พูดให้ถูกต้องก็คือ เสมือนว่าเราคือจักรวาลและจักวาลคือเรา และสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นออกมาอย่างอิสระตามความเป็นไปของมันด้วยท่วงท่าแห่งสุนทรียะ แน่นอนว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือครูสอนให้ฉันและทุกคนลดตัวตนลงมาเป็นสิ่งที่ต้อยต่ำกว่า “มนุษย์” บ้างแสดงเป็นก้อนหิน, บ้างเป็นใบไม้, บ้างเป็นลูกบอล กระทั่งบางคนเป็นรองเท้า ตอกย้ำสำนึกภายในแท้จริงอีกว่า เราเป็นทุกสิ่ง และทุกสิ่งเป็นเรา พลันให้นึกถึงบทกวีที่ฉันคิดคำนึงขึ้น “จักรวาลในหนึ่งอะตอม” “ มีดาวดวงหนึ่ง ที่ซึ่งทุกอย่าง เกิดจากความว่าง ก่อร่างสร้างไว้ กำเนิดทุกสิ่ง เป็นจริงเคลื่อนไหว ร้อยรัดกวัดไกว น้ำ-ไฟ-ดิน-ลม อะตอมหลอมตัว แผ่ทั่วสะสม บนโลกใบกลม จึงบ่มเรื่องราว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในดินมีดาว พันธุ์เผ่าเดียวกัน เราเกิดจากดิน หินเกิดจากฉัน สรรพสิ่งสัมพันธ์ ผลักดันผันแปร แล้วจะทำลาย สายรักของแม่ สายรกของแก สายใยของกัน เกิดจากความว่าง ตายต่างวางขันธ์ เนิ่นนานนิรันดร์ พลันสู่ความว่าง ”
ครูทั้งสองคนต่างใช้ศิลปะที่เคี่ยวกรำมา ถ่ายทอด ส่งผ่าน ให้พวกเราได้เรียนรู้ หยุดดูตัวเอง ฝึกสังเกตโลกและจักวาล ไม่ตัดสิน ไม่ให้คุณค่า โดยตั้งแกน และเปิดรับ สะท้อน และสื่อสารออกไปอย่างมีพลัง และใช้พลังนี้เปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ไม่เข้าร่องเข้ารอย ให้คืนสู่วิถีธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นเพราะเราต่างรู้ดีแก่ใจว่า บัดนี้โลกของเราถูกเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหนักเหลือเกิน เพียงเพื่อนำมาระงับอารมณ์ความอยากอันไม่จบสิ้นของมนุษย์ และไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่ได้รับประโยชน์จากการผลาญทรัพยากรเหล่านั้น มีผู้คนมากมายที่อดยาก และอาศัยอยู่อย่างทุกข์ทรมาน แต่ในแง่ผลกระทบความสั่นคลอนและความมั่นคงด้านธรรมชาติ กลุ่มคนเหล่านี้กลับต้องเผชิญความเสี่ยงได้รับผลนั้น มากกว่ากลุ่มคนที่เผาผลาญโลกใบนี้เสียอีก สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใช่ เป็นเพราะเราลืมหยุดดูตัวเอง เราหลงลืมโลกและจักวาล หลงลืมว่าแท้จริงแล้วเราเกิดจากความว่างเปล่า...
ขณะจักรวาลเริงระบำเบื้องหน้า ด้วยท่วงทำนองเนิบช้า งดงาม เกรี้ยวกราดและดุดัน บางขณะนิ่งงันแต่เคลื่อนไหว บางขณะไร้ตัวตนแต่มีอยู่ ทว่าท่วงท่าธรรมชาติเหล่านี้ร่ายรำสู่ความว่างเปล่า และเหมือนรอให้ผู้คนสัมผัสเพื่อตื่นรู้ เรากลับกักขังจักวาลไว้ในตัวตนด้วยแรงอยากอย่างโง่เขลา ตรงกันข้าม เราหลงทึกทักไปอีกว่า “ จักวาลหมุนรอบตัวเรา และเราคือศูนย์กลางของจักวาล ” ๏
ประภัสสุทธ พงสา 28 / 11 / 57