พรหมกุมาร
ปติ ตันขุนทด
***พรหมกุมาร***
ครั้นพรหมกุมารเจริญวัย มีชนมายุได้ ๗ ขวบ ก็มีน้ำใจองอาจกล้าหาญ ชอบเครื่องสรรพยุทธ์และวิชาการยุทธ์ทั้งปวง ครั้นชนมายุได้ ๑๓ ขวบ มหาศักราชล่วงได้ ๒๙๓ ปี ดับไซ้ คือปีมะเส็ง เดือน ๙ คือเดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ วันอังคาร ยามกลางคืนค่อนแจ้ง พรหมกุมารทรงสุบินนิมิตฝันเห็นเทพดาลงมาหา แล้วบอกว่า ถ้าเจ้าอยากได้ช้างมงคลตัวประเสริฐ รุ่งเช้าวันนี้ จงตัดขอไม้ไม้ไร่ถือไป และจงไปล้างหน้าที่แม่น้ำของ เจ้าจักได้เห็นช้างเผือกล่องน้ามาสามตัว
ถ้าจับได้ตัวที่หนึ่งจะได้ปราบทวีปทั้งสี่
ถ้าจับได้ตัวที่สองจะได้ปราบชมพูทวีปแต่ทวีปเดียว
ถ้าจับได้ตัวที่สามจะได้ปราบแคว้นล้านนาไทย ประเทศขอมดำทั้งมวล
เทพดาบอกความแล้วก็กลับไป พรหมกุมารสะดุ้งตื่นก็พอรุ่งแจ้ง จำความฝันนันได้แม่นยำ จึงเรียกเด็กบริวาร ๕๐ คนมาสั่งให้ไปตัดไม้ไร่ได้แล้วก็พากันไปสู่ท่าน้ำ ณ ฝั่งแม่น้ำขละนที คือแม่น้ำของ(โขง) สรงแล้วก็รอคอยอยู่ประมาณครู่หนึ่ง ก็เห็นงูตัวหนึ่งสีเหลืองเลื่อมเป็นมันยับ ใหญ่ยาวยิ่งนัก เลื้อยล่องน้ำมาใกล้ฝั่งแม่น้ำของที่พรหมกุมารกับเด็กบริวารอยู่ พรหมกุมารและบริวารก็พากันหวั่นไหวตกใจกลัว มิจลงไปใกล้กรายได้ ครั้นงูใหญ่นั้นล่องเลยไปได้ประมาณยามหนึ่ง ก็ได้เห็นงูอีกตัวหนึ่ง ใหญ่เท่าลำตาล เลื้อยล่องลงมาอีก พรหมกุมารและบริวารก็มิอาจที่จะทำประการใด พากันนิ่งดูอยู่ งูนั้นก็ล่องเลยไป
สักครู่หนึ่งก็เห็นงูใหญ่เท่าลำตาล ล่องน้ำมาอีกตัวหนึ่ง ครั้นพรหมกุมารได้เห็นงูครบ ๓ ตัวดังนั้น จึงมาระลึกถึงความฝันอันเทพดามาบอกว่า จะมีช้างประเสริฐ ๓ ตัวล่องแม่น้ำของงมา ครั้นมาดูก็ไม่เห็นช้าง ได้เห็นแต่งูใหญ่ถึง ๓ ตัว ดังนี้ ชะรอยว่าช้างนั้นจะเป็นงูนี้เอง
เมื่อดำริเห็นเป็นแม่นมั่นเช่นนั้นแล้ว จึงสั่งบริวารทั้งหลายว่า เราจงช่วยกันจับงูตัวนี้ให้จงได้ จะเป็นตายร้ายดีประการใดก็ตามทีเถิด แล้วก็พากันลงไปเตรียมคอยจับงูอยู่ริมกระแสน้ำ
พองูนั้นลอยมาใกล้เจ้าพรหมกุมารกับเด็กบริวาร ก็เอาขอไม้ไร่เข้าเกาะเกี่ยวจับงูนั้นได้ งูนั้นก็กลับหายกลายเป็นช้างเผือกบริสุทธิ์ผุโผ่องพ่วงพีงาม พรหมกุมารก็มีน้ำใจชื่นชมยินดี ขึ้นขี่เหนือคอช้างนั้น เอาไม้ไร่เกาะเกี่ยวขับไสให้ขึ้นจากน้ำ ช้างนั้นก็มิได้ขึ้น ลอยเล่นน้ำทวนไปมาอยู่
พรหมกุมารจึงใช้เด็กบริวารไปทูล่ความแก่บิดาให้ทรงทราบ พระองค์พังคราชจึงปรึกษาโหราจารย์ โหรแนะนำให้เอาทองคำหนักพันหนึ่ง (คือชั่งหนึ่ง) ตีเป็นพาง คือกระดึงไปตีนำหน้าพระยาช้าง ๆ จึงจะขึ้นจากน้ำได้ พระบิดาก็ให้ทำตามคำโหราจารย์ แล้วเจ้าทุกขิตะกุมารผู้เป็นเชษฐาเจ้าพรหมกุมาร นำกระดึงทองคำไปตามหาพรหมกุมาร ครั้นถึงจึงตีกระดึงทองนั้น พระยาช้างได้ยินเสียงกระดึงจึงขึ้นจากน้ำโดยปกติ ที่ ๆ ช้างลอยน้ำอยู่นั้นจึงมีชื่อปรากฏว่า ตำบลควานทวน ส่วนพระยาช้างนั้นจึงมีนามว่า ช้างพางคำ (คือกระดึงทองคำ)
*****
พงศาวดารโยนก บริเฉท ๕ ว่าด้วยขอมและไทย