ประวัติ "สุนทรภู่" (๑)

คนกุลา

ประวัติ “สุนทรภู่”
เรียบเรียงใน วันสุนทรภู่
วันที่  ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม  หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือบางท่านก็ว่าเป็น “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้จึงขอถือโอกาส ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้น
วัยเด็ก (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๔๙) แรกเกิด - อายุ ๒๐ ปี
พระสุนทรโวหาร (ภู่) มีนามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) บิดาของท่านเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง  เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาสองโมงเช้า ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน)  เชื่อว่า สุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าจากกัน ฝ่ายบิดากลับไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ส่วนมารดา ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล(เจ้าครอกทองอยู่)  พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา มารดาท่านได้แต่งงานมีสามีใหม่ และมีบุตรกับสามีใหม่ ๒ คน เป็นหญิง ชื่อฉิมและนิ่ม ตัวสุนทรภู่เองเมื่อสุนทรภู่โตพอสมควร มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน ครั้นมีความรู้ดีเเล้ว มารดานำไปฝากถวายตัว เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ตั้งแต่ยังเด็ก
          "สุนทรภู่" ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน สุนทรภู่รับราชการไม่ก้าวหน้านัก เพราะติดนิสัยรักกาพย์กลอน  ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี
สุนทร ภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สันทัดทั้งสักวาและเพลงยาว เมื่อรุ่นหนุ่ม เกิดรักใคร่ชอบพอ กับนางข้าหลวง ในวังหลัง ชื่อแม่จัน ครั้นความทราบถึง กรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็กริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และจันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน
       	เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา เพราะเป็นประเพณีแต่โบราณ ที่จะมีการ ปล่อยนักโทษ เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลแด่ พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ชั้นสูงเมื่อเสด็จสวรรคต หรือทิวงคตแล้ว แม้จะพ้นโทษ สุนทรภู่และจันก็ยังมิอาจสมหวังในรัก สุนทรภู่ถูกใช้ไปชลบุรี ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองแกลงว่า
"จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย     แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา"
แต่ เจ้านายท่านใด้ใช้ไป และไปธุระเรื่องใดไม่ปรากฎ อย่างไรก็ดี สุนทรภู่ได้เดินทางเลยไปถึงบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง เพื่อไปพบบิดาที่จากกันกว่า ๒๐ ปี ช่วงนั้นสุนทรภู่เกิดล้มเจ็บหนักเกือบถึงชีวิต กว่าจะกลับมากรุงเทพฯ ก็ล่วงถึงเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๓๔๙
   
วัยฉกรรจ์ (พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙) อายุ ๒๑ - ๓๐ ปี
หลังจากกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์เล็ก ของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง  ในช่วงนี้ สุนทรภู่ก็สมหวังในรัก ได้แม่จันเป็นภรรยา สุนทรภู่คงเป็นคนเจ้าชู้ แต่งงานได้ไม่นาน ก็เกิดระหองระแหงกับแม่จัน ยังไม่ทันคืนดี สุนทรภู่ก็ต้อง ตามเสด็จพระองค์เจ้า ปฐมวงศ์ ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี  ในการเดินทางคราวนี้ สุนทรภู่ได้แต่งนิราศ เรื่องที่สองขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๓ ปี พ.ศ.๒๓๕๐
สุนทรภู่มี บุตรกับแม่จัน ๑ คน ชื่อหนูพัด แต่ชีวิตครอบครัวก็ยังไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดแม่จันก็ร้างลาไป พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอก ทองอยู่) ได้รับอุปการะหนูพัดไว้ ชีวิตของท่านสุนทรภู่ช่วงนี้คงโศกเศร้ามิใช่น้อย
ประวัติ ชีวิตของสุนทรภู่สุนทรภู่ก่อนรับราชการ  ไม่ชัดแจ้ง แต่เชื่อว่าท่าน หนีความเศร้าออกไป เพชรบุรี ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาคในพระราชวังหลัง ดังความตอนหนึ่งในนิราศ เมืองเพชร ที่ท่านย้อนรำลึกความหลัง สมัยหนุ่ม ว่า
"ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุญนาค   เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล     มาทำไร่ทำนา ท่านการุญ"
นักเลงกลอนอย่างท่านสุนทรภู่ ทำไร่ทำนาอยู่นานก็ชักเบื่อ ด้วยเลือดนัก กลอนทำให้ท่านกลับเข้ามากรุงเทพฯ หากินทางรับจ้างแต่งเพลงยาว บอกบทสักวา จนถึงบอก บทละคร นอก บางทีนิทานเรื่องแรกของ ท่านคงจะแต่งขึ้นในช่วงนี้ การที่เกิดมีนิทานเรื่องใหม่ๆ ทำให้เป็นที่สนใจมาก เพราะ สมัยนั้นมีแต่กลอนนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไม่กี่เรื่อง  แสดง ซ้ำไปซ้ำมาจนคนอ่าน คนดูรู้เรื่องตลอดหมดแล้ว นิทานของ ท่านทำให้นายบุญยัง เจ้าของคณะละครนอกชื่อดัง ในสมัยนั้นมาติดต่อว่าจ้างสุนทรภู่ ท่านจึงได้ร่วมคณะละคร เป็นทั้งคนแต่งบทและบอกบทเดินทางเร่ร่อนไปกับคณะละครไปทั่ว จนกระทั่งได้เข้ามา รับราชการครั้งแรก
รับราชการครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๗) อายุ ๓๐ - ๓๘ ปี
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ พุทธเลิศ หล้านภาลัย สุนทรภู่ได้เข้ามารับราชการ  ในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  อาจจะมาจากมูลเหตูที่  รัชกาลที่ ๒  ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของ พระองค์ ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์  คราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า
"๏ รถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ"
ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งต่อว่า
"นทีตีฟองนองระลอก กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"
กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก นับแต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ “ขุนสุนทรโวหาร” พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เป็นนิจ
แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น 
          ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไมนานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ”
ออกบวช (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๘๕) อายุ ๓๘ - ๕๖ ปี
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิต ได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษา ในราชสำนักก็หมดวาสนาไปด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึง เหตุที่สุนทรภู่ ไม่กล้า รับราชการต่อใน แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดังนี้ "เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ บทละคร เรื่องอิเหนา ทรงแต่งตอนนางบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าว ดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่ง "เมื่อทรงแต่งแล้ว ถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งวานสุนทรภู่ ตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรง ปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งว่า " 'น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว' "สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น " 'น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว' "โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อ ขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไปไว้ติหักหน้ากลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้ง หนึ่ง "อีกครั้งหนึ่ง รับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอน ท้าว สามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า " 'จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้ว สมมาด ปรารถนา' " ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า 'ลูกปรารถนาอะไร' พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องแก้ว่า " 'จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา' "ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ... " จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอ พระราชหฤทัย ประกอบกับความอาลัยเสียใจหนักหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ
สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่ง ของนิราศภูเขาทอง ว่า
"จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"
เมื่อ บวชแล้ว ท่านได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่นเมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ
ในชั้นต้น  พระสุนทรภู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณ ราชวรารามหรือวัดแจ้ง ปี พ.ศ.๒๓๗๒เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้า ปิ๋ว พระโอรสองค์กลางและองค์น้อยให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ การมีศิษย์ชั้นเจ้าฟ้าเช่นนี้จึงทำให้พระสุนทรภ ู่สุข สบาย ขึ้นพระสุนทรภู่อยู่วัดอรุณฯ ราว ๒ ปี จึงข้ามฟากมาจำพรรษาอยู่ท ี่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เล่ากันถึงสาเหตุที่พระสุนทรภู่ย้ายวัดมา ก็เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงชัก ชวนให้มาอยู่ด้วยกัน สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์หนึ่ง เชื่อว่าคงจะทรงคุ้นเคย กับสุนทรภู่ในฐานะที่เป็นกวีด้วยกัน โดยเฉพาะสมัยที่สุนทรภู่เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒ ชีพจรลงเท้า สุนทรภู่อีกครั้งเมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะไปค้นหา ทำให้เกิดนิราศ วัดเจ้าฟ้า และนิราศสุพรรณปี พ.ศ.๒๓๘๓ สุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านอยู่ที่นี่ได้ ๓ พรรษา คืนหนึ่งเกิดฝันร้าย ว่าชะตาขาด จะถึงแก่ชีวิต จึงได้แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราว ในชีวิตของท่านอีก เป็นอันมาก จากนั้นจึงลาสิกขาบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ เพื่อเตรียมตัวจะตาย
รับราชการครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๙๘) อายุ ๕๖ - ๖๙ ปี
เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรง พระยศเป็นสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตา อุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่อง สิงหไตรภพถวายกรมหมื่น อัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ.๒๓๙๔  
แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก ๒ เรื่องคือนิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะที่ท่านมีอายุ ได้ ๖๕ ปีแล้ว สุนทรภู่รับราชการต่อมาได้ ๔ ปีท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี ปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๖๙ ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่"
สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่าง ไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"
ด้วยจิตคารวะ
คน  กุลา 
เรียบเรียง				
comments powered by Disqus
  • ราชิกา

    1 กรกฎาคม 2554 18:01 น. - comment id 33880

    พึ่งมีเวลาว่างได้เข้ามาค่ะ...อ่านประวัติสุนทรภู่แล้ว...ได้สาระมากมาย...ขอบคุณที่กรุณาเรียบเรียงนะคะ....ได้ประโยชน์แก่ผู้อ่านมากค่ะ......ขออนุญาตนำไปสอนน้องๆในชมรมวรรณศิลป์นะคะ....ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ...
    
    36.gif16.gif36.gif
  • คน กุลา

    3 กรกฎาคม 2554 13:21 น. - comment id 33973

    ขอบคุณสำหรับกำลังใจ และยินดี ครับ ที่งานที่เรียบเรียงมา มีประโยชน์ ยินให้นำไปเผยแพร่
    ต่อๆไป ครับ
    
    แสนคำนึง
    
    36.gif1.gif16.gif36.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน