แม่พระวนศาสตร์ ป้าเล็ก เจือจานอาหารนิสิตขัดสน (ไทยโพสต์) "ใครไม่มีเงินซื้อข้าว มากินฟรี" อุดมการณ์ประจำร้านข้าวแกงใจบุญในรั้วคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ แม่ค้าใจดีเผยให้ทุนอาหารแก่นิสิตยากจน โดยไม่หวังผลตอบแทน ทำมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีเรื่องราวน่าประทับใจเกิดขึ้นภายในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน ท่ามกลางสังคมที่ผู้คนแห้งแล้งน้ำใจลงทุกวัน หากในมุมหนึ่งของสังคมไทยยังมีแม่ค้าข้าวแกงที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อนิสิตนักศึกษา โดยในแต่ละปีการศึกษาแม่ค้ารายนี้จะรับอุปการะผู้เรียนที่มีฐานะยากจนหลายคน ได้กินอาหารฟรีไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา และยินดีที่เป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แม่ค้าใจบุญคนนี้มีชื่อว่า นางศรีสอาด หนูใจคง หรือป้าเล็ก วัย 73 ปี เจ้าของร้าน "กาสะลอง" โรงอาหารคณะวนศาสตร์ มก. เล่าให้ฟังว่า เริ่มเข้ามาขายข้าวแกงที่คณะวนศาสตร์เมื่อ 40 ปีก่อน เพราะสามีเป็นข้าราชการอยู่ที่นี่ โดยตั้งเต็นท์ขายข้าวแกงเพียงร้านเดียว ช่วงนั้นนิสิตมีจำนวนน้อยและเป็นผู้ชายทั้งหมด ซึ่งต้องไปฝึกภาคปฏิบัติในป่า ตนต้องเดินทางไปทำอาหารให้พวกเขากินในป่าด้วย ทำให้รับรู้ถึงสภาพชีวิตและฐานะความเป็นอยู่ของเด็กแต่ละคน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราเป็นเหมือนโรงครัวของนิสิตนักศึกษา หากคนใดไม่มีเงินซื้อข้าว ก็จะให้กินฟรี บางคนไม่กล้าบอกว่ายากจน ก็จะมีรุ่นพี่พามาหาเราเช่นกัน "เด็กหลายคนไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ก็ยังเกรงใจป้า ไม่กล้าเข้ามากิน ป้าก็เลยไปคุยกับอาจารย์ให้คัดเลือกเด็กที่ยากจนและมีความประพฤติดี เข้ามารับทุนอาหารฟรีตลอดจนจบปริญญาตรี รุ่นละ 15 คน แต่ที่จริงก็มีจำนวนมากกว่านั้น เด็กบางคนไม่อยากบอกอาจารย์ แต่มากินข้าวฟรีเป็นบางมื้อก็มี หลายคนยังมาช่วยป้าขายข้าว ตักข้าว ตักน้ำให้ลูกค้า โดยที่ป้าไม่ได้บอกให้ช่วย เพราะสิ่งที่เราทำนั้นไม่ได้หวังผลตอบแทน หากแต่เป็นความอิ่มอกอิ่มใจส่วนตัวที่ได้เห็นเด็กอิ่มท้องก็มีความสุขแล้ว" ป้าเล็กเผย ป้าเล็กบอกอีกว่า ให้ทุนอาหารแก่นิสิตวนศาสตร์มานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ไม่เคยนับปริมาณคนว่ามีเท่าไหร่ คนที่เรียนจบแล้วก็ออกไปทำงานตามวิชาความรู้ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีทั้งอาจารย์และข้าราชการในกรมป่าไม้ หากพวกเขามีเวลาว่างก็จะกลับมากินข้าวที่ร้านป้า และช่วยเหลือกันบ้างพอสมควร วันรับปริญญาของทุกปีก็จะมีบัณฑิตชักชวนป้าไปถ่ายรูปฉลองความสำเร็จอย่างเป็นกันเอง ทั้งนี้ ลูก ๆ ของป้าก็สนับสนุนในสิ่งที่เราทำและเป็นแบบอย่างของครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องการให้โดยไม่คิดถึงผลตอบแทน และไม่คิดเรื่องขาดทุนแต่อย่างใด สำหรับกิจวัตรประจำวัน ป้าเล็กตื่นนอนเวลา 01.00 น. แล้วไปจ่ายตลาด และมาถึงร้านประมาณ 03.00 น. เพื่อเตรียมทำกับข้าววันละประมาณกว่า 10 อย่าง เปิดร้านตอน 07.00 น. ขายจนถึง 13.00 น. ก็ปิดร้านและเก็บกวาดร้านให้สะอาดเรียบร้อย ก่อนจะกลับบ้านและเข้านอนราว 22.00 น. "ทุกวันนี้ไม่เคยรู้สึกเหนื่อย แม้จะมีอายุมาก แต่ป้าก็ไม่มีโรคประจำตัว เพราะสบายใจและภูมิใจในสิ่งที่ทำ วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่เคยหยุดเลย ปิดร้านเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ ขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็ก ๆ ไปออกภาคสนามในต่างจังหวัด ป้าก็ยังทำน้ำพริกเผาขวดใหญ่ๆ ให้ไปกินด้วย มีคนถามว่าป้ารวยหรือเปล่าที่ทำแบบนี้ได้ ป้าบอกเลยว่าไม่รวย แต่มีความตั้งใจกับสองมือที่อยากจะเป็นผู้ให้เป็นสมบัติส่วนตัว" ป้าเล็กกล่าว ด้านอาจารย์ปิยวัฒน์ ดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า สมัยที่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ก็เคยมากินข้าวฟรีที่ร้านป้าเล็ก และมีความรู้สึกผูกพันกันมาก เพราะป้าเล็กมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้อื่น แม้สังคมทุกวันนี้จะเห็นแก่ตัวมากขึ้น มักคิดถึงตัวเองก่อนผู้อื่น แต่ป้าเล็กกลับคิดถึงสังคมส่วนรวม ตนคิดว่าการเป็นผู้ให้ของป้าเล็กทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น
29 เมษายน 2553 15:55 น. - comment id 29599
ขอยกย่องน้ำใจ ป้าเล็กครับ แม้ไม่ใด้จบจาก มก. เป็นเรื่องที่ควรเผยให้สังคมรับรู้ครับ นี่แหละ น้ำใจคน ที่เรียกว่า คนไทย
29 เมษายน 2553 21:59 น. - comment id 29663
30 เมษายน 2553 17:36 น. - comment id 29690
ฟังแต่ข่าวความขัดแย้ง นานๆทีได้ฟังเรื่องราวดีๆที่น่าประทับใจ ถ้าประเทศเรามีคนอย่างป้าเล็กมากๆคงดีนะ
5 พฤษภาคม 2553 21:45 น. - comment id 29771
6 พฤษภาคม 2553 23:51 น. - comment id 29790
จำไม่ได้และว่าเคยไปกินของแกป่าว....