ราชิกาฉันท์ เป็นฉันท์ ที่ผมและคุณราชิกาพยายาม พัฒนาขึ้น โดยนำ เอา กาพย์ราชิกา ๗ มาประพันธ์ โดยใช้การ บังคับ ครุ ลหุ เข้าไป โดย ศึกษารายละเอียดและวิเคราะห์ ฉันท์ หลายๆประเภท ประกอบ วัตถุประสงค์ในการพัฒนา ราชิกาฉันท์ขึ้น เพราะในความรู้สึกของเรา ฉันท์นั้นเป็น บทกวีที่ประพันธ์ยาก เพราะมีทั้งสัมผัส ทั้งมีการบังคับ คำ ครุ ลหุ เนื่องจากราชิกาฉันท์ มีคำน้อยคำ ทำให้การประพันธ์ ฉันท์ ทำได้ง่าย ขึ้น อันจะสามารถทำให้ผู้สนใจ ค่อยๆพัฒนาไปประพันธ์ ฉันท์ที่ยากๆ ขึ้นต่อๆไป การประพันธ์ ฉันท์ นั้น จากประสบการของผม พบว่าทำให้ผู้ประพันธ์ เรียนรู้ภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องคำ ครุ เรื่อง สระเสียงยาว (ทีฆสระ)เรื่องสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา เรื่องพยางค์ที่มีตัว สะกดทั้งสิ้น และคำลหุ ได้เข้าใจคำ หรือพยางค์ที่มีเสียงเบา เข้าใจ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) เสียงของพยางค์ที่ ไม่มีตัวสะกด ราชิกาฉันท์ มีลักษณะและจำนวนคำเหมือนกับกาพย์ราชิกา ๗ แต่ต่าง กันเพียงที่ว่าราชิกาฉันท์นี้มีข้อบังคับ ครุและลหุ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ๑. คณะและพยางค์ ฉันท์บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรควรรคต้นมี ๓ คำ วรรค ท้ายมี ๔ คำ รวมบาทละ ๗ คำ จึงเขียน ๗ ไว้ท้ายชื่อฉันท์ ๒. สัมผัส สัมผัสระหว่างวรรค มีสัมผัส ๒ คู่ คือ คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับ คำที่สองของวรรคหลัง แทน ด้วย (ค)-(ค) ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง คำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สาม แทนด้วย((ค)) - ((ค)) ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง สัมผัสระหว่างบท มี ๑ คู่ คือ คำสุดท้ายของแต่ละบท สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สองของ บทที่ตามมา แทนด้วย (((ค)))-(((ค)))ในแผนภาพ โครงสร้างด้านล่าง สรุปว่าสัมผัสใน ๑ บท มีสัมผัส ๒ คู่ สังเกตจากแผนผังและตัวอย่าง (คำสัมผัสในที่นี้คือสัมผัสสระ ) สัมผัสบังคับดูได้จากแผนตาม เครื่องหมาย() หรือ(()) บอกสัมผัส ส่วน คำครุ คำลหุ บังคับครุ ลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผน และตาม ตัวอย่าง แผนผังโครงสร้าง ราชิกาฉันท์ ๗ ค ล (ค) ล ค ล ((ค)) ค ล ((ค)) ล ค ล (((ค))) ค ล ค ล ค ล (((ค))) ค เท่ากับ คำครุ ล เท่ากับ คำลหุ ตัวอย่างบทประพันธ์ ราชิกาฉันท์ ๗ **คราคิดถึง** ๐ โรยละออง มิหมองเสมือน ราวจะเตือน ลุเดือนผ่านกาล ๐ ลอยละลิ่ว ผิปลิวประสาน ล่วงพิมาน สิผ่านดวงใจ ๐ ครวญตลอด จะกอดไฉน หวานละไมย ฤทัยสองเรา ๐ คิดคนึง ประหนึ่งเพราะเหงา ดุจจะเนาว์ สิเฝ้าครวญคำ ๐ หวังเฉลย บเอ่ยถลำ จริงนะคำ ยะย้ำใจปอง ๐ ยามปะหน้า ฤ คราสนอง คอยประคอง ตระกองเคียงเชย ...... การอ่านราชิกาฉันท์ สามารถอ่านในทำนอง เสนาะได้ดังนี้ ๐ โรย/ละออง มิหมอง/เสมือน ราว/จะเตือน ลุเดือน/ผ่านกาล ๐ ลอย/ละลิ่ว ผิปลิว/ประสาน พัด/มิพาน สิผ่าน/ดวงใจ หมายเหตุ: ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) และสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ที่ ไม่มีตัวสะกด ............ แหล่งอ้างอิง http://guru.sanook.com/enc_photo.php?pic http://www.kruwallapa.com/unit4/unit40104.html www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-51/orapin-3.ppt http://www.st.ac.th/bhatips/chan_poem.html ........... คนกุลา (เรียบเรียง) ในเหมันต์
1 มกราคม 2553 19:38 น. - comment id 26743
เราเจตนา จะพัฒนาราชิกาฉันท์ ๗ ขึ้นเพื่อนำเสนอ ต่อแวดวงร้อยกรอง หากมีข้อวิพากษ์ วิจารณ์ หรือข้อเสนอแนะประการใดก็เชิญ นะครับ เราจะมีความยินดีเป็นอย่างมาก
1 มกราคม 2553 20:12 น. - comment id 26744
ต้องขออภัย ขอปรับแก้ แผนผังนิดหน่อย ดัง โครงสร้างด้านล่าง นี้ นะครับ ค ล (ค) ล ค ล ((ค)) ค ล ((ค)) ล ค ค (((ค))) ค ล ค ล ค ล (((ค))) ดังตัวอย่าง ด้านล่าง ๐ โรยละออง มิหมองเสมือน ราวจะเตือน ลุเดือนผ่านกาล ๐ ลอยละลิ่ว ผิปลิวประสาน ล่วงพิมาน สิผ่านดวงใจ และขอแก้ คำว่าละไมย เป็น ละไม ด้วยนะครับ ขออภัยในความผิดพลาดด้วยนะครับ
1 มกราคม 2553 22:21 น. - comment id 26745
ชื่นชมและยินดีด้วยค่ะ
2 มกราคม 2553 20:10 น. - comment id 26756
วารดิถี วจีประสาน เทพประทาน ณ.กาลอวยชัย วอนรตี ฤดีไฉน ขอไผท สิได้ยืนยง สิ่งสนอง จะปองประสงค์ ดั่งอนงค์ ธ. คงด้วยใจ ฟ้าสว่าง กระจ่างละไม ดุจหทัย มิไกลจากจร วับวะวาว นะดาวสิถอน ห่วงนิวรณ์ ผิรอนแรมรา ร้อยบุหรง ผจงบุหงา ทักษิณา พระมาคุ้มครอง * งามพิลาส ละปราศมิหมอง ตรึกและตรอง ธ.ปองสมจินต์....ฯ ลองหัดแต่งดูค่ะ..ยากพอสมควร...คงต้องฝึกอีกนานเหมือนกันค่ะ..แวะมาแจมนะคะ..
3 มกราคม 2553 17:37 น. - comment id 26766
เข้าใจว่าเป็นฉันท์ประดิษฐ์เอง... ดีครับที่มีความกล้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันท์เป็นฉันทลักษณ์ที่เปิดกว้าง..ให้เราคิด อ่านสร้างรูปแบบของตัวเองได้ สดายุตาฉันท์ ๑๓ 00100 11101012 00102 11101013 ๐ พากย์โหมชโลมหาว ตบะระราวจะร้าวจะรอน ส่ำศัพทะนับสอน ผิวะจะซ้อนจะสูงลุเศียร ๐ โหมโรงจะโยงเรื่อง รหัสะเนื่องก็แนบและเนียน เห็นหื่นก็คลื่นเหียน บ่ละกระเหี้ยนกระหือกระหาย ๐ ฉาบต้องและกลองตี ละคระนี้สิมีเพราะนาย ชวนชมระดมฉาย นรกะคล้ายจะคล่ำจะคลา ๐ หัวโขนกระโจนครอบ ศิระระยอบก็ยากจะยา เอื้อนปากสำรากปรา- กฎะกถาสะท้อนสะท้าน ๐ โอษฐ์ป้องฉลองปรีดิ์ เสนาะกระนี้จะนับก็นาน กล่อมวันและกลั่นหวาน วจนะหว่านถวัลย์ถวิล ๐ เพียรผุดวิภุชพจน์ ประณิธิบทระบอบระบิล แต่งสร้อยจะพลอยศิลป์ พิศะก็สิ้นเขษมพิสัย ๐ ความหนอบ่พอนำ ทิฐิก็พร่ำพิรี้พิไร สังคม ฤ สมใคร มุหะไถลทะลักทะลาย ๐ ยอพร่ำและย้ำเพรื่อ ประพฤติเหลือจะกลบจะกลาย โสมมจะสมหมาย ขณะละอายจะแอบจะอำ ๐ เลือกควายจะร้ายคน ประทุษะตนจะตรากจะตรำ ควรแล้จะแก้ลำ พละกระหน่ำกระหนาบปณาม
4 มกราคม 2553 21:12 น. - comment id 26797
คุณตุ้ม ครับ สำหรับราชิกาฉันท์ ๗ บทนี้เพราะมาก ครับ ขอตอบด้วย ราชิกาฉันท์ ๗ กลับคืน ดังนี้ นะครับ ๐ ดาวประดับ ระยับระยิบ พราวกระพริบ ละลิบแดนสรวง ๐ ปานพิมาน สถาน ธ ปวง เกินละล่วง ทลวงแดนใจ ๐ หมายจะกล่อม สิหลอมหทัย จารนัย มิใคร่หมดจินต์ ๐ หวังนะว่า สุดาถวิล หวังยุพิน จะยินพี่เปรย ๐ ปานฉะนี้ วจีที่เผย หาละเลย เฉลยตอบนวล ๐ แล้วไฉน ฤทัยสงวน เหมือนชนวน สิชวนให้ตรม คุณตุ้ม ครับ พยายามรักษาสุขภาพให้ดีนะครับ ทราบว่างานหนัก ขอให้หนักแน่นและ ความเข้มแข็งไว้นะครับ แสนคำนึง
4 มกราคม 2553 21:16 น. - comment id 26798
ขอบคุณ ครับคุณสดายุ ผมก็คิดเช่นนั้น แหละจึงกล้าพัฒนาขึ้น อันที่จริงผมพัฒนามาจากบทขับหนังตะลุงทางภาคใต้ นะครับ มาจัดระบบฉันทลักษณ์ เป็นกาพย์ราชิกา ๗ และมาใส่ ครุ ลหุ ให้เป็นฉันท์ หากมีอะไรแนะนำ ก็เชิญนะครับ เพื่อการ พัฒนาและเรียนรู้ และต้องขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับ สดายุตาฉันท์ ๑๓ ที่นำมาแจม ในโอกาสต่อไป ผมจะได้ฝึกหัด แต่งบ้าง นะครับ
29 มิถุนายน 2554 02:08 น. - comment id 33822
หลังจากที่ได้ นำหลักเกณฑ์ที่วางไว้ไป แต่งแล้วพบว่า เพื่อให้เข้าแบบตำรับ ฉันท์โบราณ และเกิดการจดจำง่าย ผมขอปรับผัง ราชิกาฉันท์ เจ็ด จาก เดิม ค ล (ค) ล ค ล ((ค)) ค ล ((ค)) ล ค ค (((ค))) ค ล ค ล ค ล (((ค))) เป็น แผนผังโครงสร้าง ใหม่ ดังนี้ ค ล (ค) ล ค ล ((ค)) ค ล ((ค)) ล ค ล (((ค))) ค ล ค ล ค ล (((ค))) นะครับ
29 มิถุนายน 2554 02:22 น. - comment id 33823
**คราคิดถึง** ฉบับปรับเปลี่ยน ๐ โรยละออง มิหมองเสมือน ราวจะเตือน ลุเดือนละกาล ๐ ลอยละลิ่ว ผิปลิวประสาน ล่วงพิมาน สิผ่านฤทัย ๐ ครวญตลอด จะกอดไฉน หวานละไมย หทัยมิเบา ๐ คิดคนึง ประหนึ่งเพราะเหงา ดุจจะเนาว์ สิเย้านะคำ ๐ หวังเฉลย บเอ่ยถลำ เป็นประจำ ยะย้ำริปอง ๐ ยามปะหน้า ฤ คราสนอง คอยประคอง ตระกองสุดา ...... การอ่านราชิกาฉันท์ สามารถอ่านในทำนอง เสนาะได้ดังนี้ ๐ โรย/ละออง มิหมอง/เสมือน ราว/จะเตือน ลุเดือน/ละกาล ๐ ลอย/ละลิ่ว ผิปลิว/ประสาน พัด/มิพาน สิผ่าน/ฤทัย