**กาพย์ฉบัง ๑๖**

คนกุลา

กาพย์ฉบัง เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง จำพวกกาพย์ มักจะ
เขียนรวมอยู่ในหนังสือประเภทคำฉันท์ หรือคำกาพย์ มีลักษณะสั้น
กระชับ จึงมักจะใช้บรรยายความที่มีการเคลื่อนไหว กระชับ ฉับไว
แต่ก็มีบ้าง ที่ใช้กาพย์ฉบับบรรยายถึงความงดงาม นุ่มนวลก็มี
      
       กาพย์ฉบัง 16 นั้น นิยมแต่งกันมากโดยนำไปแต่งบทชมความ
งาม บทไหว้ครู บทสรรเสริญพระพุทธเจ้า (บทสวดมนต์อ่านทำนอง
สรภัญญะ) บทพากย์ต่างๆ เช่น บทพากย์เอราวัณ เป็นต้น 
        นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน  มีการแต่งกาพย์ฉบังในการ
พรรณนาธรรมชาติ ชมสัตว์ ชมสวนหรือแต่งสรรเสริญพระเกียรติก็ได้
        กาพย์ฉบัง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาพย์ฉบัง 16 เนื่องจากมี
จำนวนคำ 16 คำ ในหนึ่งบท บ้างก็เรียกว่า กาพย์ 16 เฉยๆ ก็มี
      ๑. คณะ
      กาพย์ฉบังบทหนึ่ง มีบาทเดียว บาทหนึ่งมี 3 วรรค คือ
วรรคต้น(รับ)   มี    ๖ คำ
วรรคกลาง (รอง) มี    ๔ คำ
วรรคท้าย (ส่ง)  มี    ๖  คำ
บทหนึ่งจึงมีทั้งหมด      ๑๖  คำ
     การวางคณะให้สังเกตจากโครงสร้างแผนผังแผนผัง จะเห็น
บรรทัดที่หนึ่งมีสองวรรค และบรรทัดที่สองมี ๑ วรรค วางเช่นนี้
ต่อไปเรื่อย ๆ 
     ๒. สัมผัส
     กาพย์ฉบังมีลักษณะสัมผัสคล้ายกับกาพย์ยานี ๑๑ เพียงแต่มี 
๓ วรรค การรับส่งสัมผัส เป็นดังนี้
     คำท้ายวรรคต้น สัมผัสคำท้ายวรรคกลาง แทนด้วยอักษร ก.
ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
    คำท้ายของวรรคกลาง อาจส่งสัมผัสสระไปยังคำแรกหรือคำที่สอง 
ของวรรคท้ายก็ได้ แทนด้วยอักษร ก.เช่นเดียวกัน (ดังในแผนภาพ
โครงสร้างด้านล่าง)
    ส่วนสัมผัสระหว่างบท เมื่อแต่งมากกว่า ๑ บทต้องมีสัมผัสสระ
ระหว่างบทคำท้ายวรรคท้าย ส่งสัมผัสไปยังคำท้ายวรรคต้น ของบทต่อไป 
แทนด้วยอักษร ข.(ดังในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง)
     กาพย์ฉบังอาจเขียนร้อยต่อไป ยาวเท่าใดก็ได้ ไม่จำกัด
     แผนภาพโครงสร้างกาพย์ฉบัง ๑๖
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ก        ๐ ๐ ๐ ก 
ก ๐ ๐ ๐ ๐ ข   
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ข       ๐ ๐ ๐ ข 
ข(หรือ)ข ๐ ๐ ๐ ค 
     ๓.ลักษณะอื่นๆ  
     กาพย์ฉบัง ๑๖ นิยมใช้คำเป็นคู่ คือ 
๐๐/๐๐/๐ก     ๐๐/๐ก
ก๐/๐๐/๐ข 
๐๐/๐๐/๐ข     ๐๐/๐ข
ข(หรือ)ข/๐๐/๐ค 
เช่น
กระเทือน / กระทบ / กระแทก     ใช่ตก/ใช่แตก
แต่แทรก/รู้สึก/ในทรวง
(ศิวกานต์ ปทุมสูติ)  
ตัวอย่างของกาพย์ฉบัง ๑๖ จากกาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ 
           
มะม่วง/พวงพลอง/ช้องนาง             หล่นเกลื่อน/เถื่อนทาง 
กินพลาง/เดินพลาง/หว่างเนิน   
            
เห็นกวาง/ย่างเยื้อง/ชำเลืองเดิน        เหมือนอย่าง/นางเชิญ 
พระแสง/สำอาง/ข้างเคียง   
            
เขาสูง/ฝูงหงส์/ลงเรียง                    เริงร้อง/ซ้องเสียง 
สำเนียง/น่าฟัง/วังเวง    
            
กลางไพร/ไก่ขัน/บรรเลง               ฟังเสียง/เพียงเพลง 
ซอเจ้ง/จำเรียง/เวียงวัง ฯลฯ 
            
หรือ อีกตัวอย่าง ของ  อ.ภาทิพ ศรีสุทธิ์ ที่ว่า
ก ข /ก กา /ว่าเวียน                     หนูน้อย/ค่อยเพียร 
อ่านเขียน/ผสม/กมเกย   
            
ระวังตัว/กลัวคร/ูหนูเอ๋ย                ไม้เรียว/เจียวเหวย 
กูเคย/เข็ดหลาบ/ขวาบเขวียว   
            
หันหวด/ปวดแสบ/แปลบเสียว         หยิกซ้ำ/ซ้ำเขียว 
อย่าเที่ยว/เล่นหลง/จงจำ   
และ 
หม้อแกง/ จัดแบ่ง/ ลงจาน           รสมัน /หอมหวาน 
ท้องพาล/ กู่ร้อง/ จ้องหา
   
เพียงเพื่อ/ ลิ้มรส/ โอชา                เพียงสัก /ครั้งครา 
ก็พา/ ติดพ้อง /ต้องใจ   
  
       กรเพชร แนะนำว่า การแต่งกาพย์ฉบัง ต้องระมัดระวังการหาคำ
มาลงจังหวะ  6/ 4  / 6  ให้ได้  อย่าฉีกคำ   เช่น    
มวลมิตร/บันทึก/เรียนรู้                   เปิดอ่าน/ลองดู   
โลกทัศน์/เปิดกว้าง/ยาวไกล 
       กรเพชร แนะนำว่าไม่ควรแต่งฉีกคำอย่างนี้ เพราะจะไม่ไพเราะ     
อยากทำ/งานวัน/อาทิตย์                  ที่ทำ/งานปิด  
ไม่สา/มารถทำ/งานได้           
         ตัวอย่างกาพย์ฉบัง 16  ที่ไพเราะและมีชื่อเสียง มีดังนี้ 
         บทสวดมนต์สรรเสริญพระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ(อ่าน
ทำนองสรภัญญะ)    
    *บทสรรเสริญพระธรรมคุณ* 
ธรรมะคือคุณากร             ส่วนชอบสาธร      ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์   ส่องสัตว์สันดาน     สว่างกระจ่างใจมล
ธรรมใดนับโดยมรรคผล     เป็นแปดพึงยล       และเก้านับทั้งนฤพาน
สมญาโลกอุดรพิสดาร       อันลึกโอฬาร        พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
อีกธรรมต้นทางครรไล      นามขนานขานไข   ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
คือทางดำเนินดุจครอง      ให้ล่วงลุปอง        ยังโลกอุดรโดยตรง
ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์       นบธรรมจำนง       ด้วยจิตและกายวาจาฯ 
     *บทสรรเสริญพระสังฆคุณ* 
สงฆ์ใดสาวกศาสดา         รับปฏิบัติมา          แต่องค์สมเด็จภควันต์
เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน           ระงับและดับทุกข์ภัย
โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร     ปัญญาผ่องใส       สะอาดและปราศมัวหมอง
เหินห่างทางข้าศึกปอง      บ มิลำพอง          ด้วยกายและวาจาใจ
เป็นเนื้อนาบุญอันไพ-  ศาลแด่โลกัย        และเกิดพิบูลย์พูนผล
สมญาเอารสทศพล          มีคุณอนนต์          อเนกจะนับเหลือตรา
ข้าขอนพหมู่พระศรา-  พกทรงคุณา-  นุคุณประดุจรำพัน
ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์      พระไตรรัตน์อัน      อุดมดิเรกนิรัติศัย
จงช่วยขจัดโพยภัย          อันตรายใดใด        จงดับและกลับเสื่อมสูญ
     *บทพากย์เอราวัณ*
อินทรชิตบิดเบือนกายิน     เหมือนองค์อมรินทร์   ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน   เผือกผ่องผิวพรรณ    สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา       เศียรหนึ่งเจ็ดงา        ดังเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี          สระหนึ่งย่อมมี          เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์   ดอกหนึ่งแบ่งบาน     มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา           เจ็ดองค์โสภา          แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร         อีกเจ็ดเยาวมาลย์      ล้วนรูปนิรมิตมารยา
จับระบำรำร่ายส่ายหา        ชำเลืองหางตา         ทำทีดังเทพอัปสร
มีวิมานแก้วงามบวร           ทุกเกศกุญชร           ดังเวไชยันต์อมรินทร์
เครื่องประดับเก้าแก้วโกมิน  ซองหางกระวิน        สร้อยสายชนักถักทอง
ตาข่ายเพชรรัตน์ร้อยกรอง   ผ้าทิพย์ปกตระพอง   ห้อยพู่ทุกหูคชสาร
โลทันสารถีขุนมาร             เป็นเทพบุตรควาญ   ขับท้ายที่นั่งช้างทรง
บรรดาโยธาจัตุรงค์            เปลี่ยนแปลงกายคง  เป็นเทพไทเทวัญ
ทัพหน้าอารักขไพรสัณฑ์    ทัพหลังสุบรรณ        กินนรนาคนาคา
ปีกซ้ายฤาษิตวิทยา           คนธรรพ์ปีกขวา        ตั้งตามตำรับทัพชัย
ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร      โตมรศรชัย             พระขรรค์คทาถ้วนตน
ลอยฟ้ามาในเวหน            รีบเร่งรี้พล              มาถึงสมรภูมิชัย      
       ดังนี้เป็นต้น         
...............
 
http://gotoknow.org/blog/phetroong/137940 
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.radompon.com/resourcecenter/?q=node/36
http://www.st.ac.th/bhatips/
http://www.kusolsuksa.com/webboard/index.php?topic=451.0
.............
คนกุลา (เรียบเรียง)
ในเหมันต์				
comments powered by Disqus
  • ราชิกา

    23 ธันวาคม 2552 18:07 น. - comment id 26623

    ...มาทบทวนเรื่อง..กาพย์ฉบัง 16...ค่ะ...ได้ความรู้เพิ่มขึ้น..ในฐานะที่เป็น..ประธานชมรมวรรณศิลป์...ขออนุญาติ..นำไปสอนน้องๆ..ในชมรมนะคะ...เพราะการเรียบเรียงข้อมูลและแผนผัง..ค่อนข้างชัดเจน...สื่อได้เข้าใจง่ายค่ะ..ขอบคุณที่นำสิ่งที่มีประโยชน์มาให้ค่ะ...
    
    ..ขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ...
    
    36.gif16.gif36.gif
  • กิ่งโศก

    23 ธันวาคม 2552 21:17 น. - comment id 26632

    ขอบคุณที่นำมาให้ศึกษานะครับ..
  • คนกุลา

    23 ธันวาคม 2552 19:50 น. - comment id 26639

    ดีครับ คุณตุ้ม การทบทวนความรู้พื้นฐาน ทำให้
    หลักของเราแน่นขึ้น  ผมเห็นคุณตุ้ม เขียน
    กาพย์พวกนี้ อยู่บ่อยๆ คงจะได้อ่านอีกนะครับ
    
    รักษาสุขภาพ นะครับ เป็นห่วงครับ
    
    36.gif1.gif16.gif36.gif
    แสนคำนึง
  • คนกุลา

    28 ธันวาคม 2552 09:32 น. - comment id 26679

    ขอแก้ไขความเข้าใจเรื่องสัมผัส ในกาพย์ฉบัง ๑๖ สักนิดหนึ่งนะครับ จากไปค้นคว้าในหลายๆแหล่ง แล้วพบ ว่าความเข้าใจของผมคลาดเคลื่อน อยู่บ้างตรงเรื่องสัมผัส นะครับ อันที่จริงแล้ว ลักษณะสัมผัส อันเป็นการบังคับตามหลักฉันทลักษณ์ ของกาพย์ฉบัง ๑๖ มีเพียงดังนี้ ครับ คือ
    
    สัมผัสระหว่างวรรค ในหนึ่งบทมีคู่สัมผัสเพียงคู่เดียว คือพยางค์สุดท้ายของวรรคที่หนึ่งสัมผัสกับ พยางค์สุดท้ายของวรรคที่ สอง 
    
    ส่วน สัมผัสระหว่างบท
    เมื่อแต่งมากกว่า ๑ บทต้องมีสัมผัสระหว่างบท พยางค์สุดท้ายของบทต้น สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป 
    
    ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ก        ๐ ๐ ๐ ก 
    ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ข   
    ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ข       ๐ ๐ ๐ ข 
    ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ค 
    
    
    ดังนั้นที่ผมเขียนว่า 
    
    คำท้ายของวรรคกลาง อาจส่งสัมผัสสระไปยังคำแรกหรือคำที่สอง 
    
    ของวรรคท้ายก็ได้ นั้นถือว่าเป็นความนิยมของกวีบางท่านเท่านั้น การจะมีหรือไม่มี จึงไม่ถือว่า เป็นการผิดสัมผัส ตามหลักฉันทลักษณ์ แต่อย่างใด หากมีก็อาจทำให้กาพย์ไพเราะขึ้น
    เท่านั้นเอง
    ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ก        ๐ ๐ ๐ ก 
    ก(หรือ) ก ๐ ๐ ข   
    ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ข       ๐ ๐ ๐ ข 
    ข(หรือ)ข ๐ ๐ ๐ ค 
    
    ต้องขออภัย ที่อาจทำให้เกิดวามสับสน ในเรื่องฉันทลักษณ์ ของกาพย์ฉบัง ๑๖ ขึ้น
    
    
    
      1.gif
  • คนกุลา

    28 ธันวาคม 2552 21:17 น. - comment id 26691

    ขอบคุณที่นำมาให้ศึกษานะครับ.. 
    กิ่งโศก 
    
    
    """"""""""""""""""
    ด้วยความยินดี ครับ 
    
    1.gif
  • บีบี้จัง

    18 กันยายน 2553 17:38 น. - comment id 32215

    ดีคะ
  • บอกก้อรู้อ่าดิ 5555+

    25 มกราคม 2556 20:20 น. - comment id 38885

    ดีมากเรยค่ะครูให้มาถอดคำประพันธ์ที่บ้านก้อเรยเปิดดูช่วยได้เยอะเรยค่ะที่หาในเน็ตเพราะว่าขี้เกลียดถอดความเองมันอยากมาก41.gif1.gif6.gif
  • คนที่รั๊คเทอมากที่สุด

    25 มกราคม 2556 20:32 น. - comment id 38886

    ขอบคุณมากๆน่ะค่ะที่ทำให้นู่เข้าจัยกาพ์ต่างๆที่ทำให้นู่อ่านง่ายขึ้นเข้าจัยมากขึ้นทำไปทำมาจากที่นู่ว่ามันอ่านยากพอเราอ่านแระทำความเข้าจัยกะกาพย์ก้อทำให้เราอ่านง่ายขึ้นอ่านคล่องกวาเดิมแระก้อต้องตั้งจัยเรียนมากขึ้น แต่ก้ออาจจะมีแอบหลับในห้องเรียนบ้าง61.gif35.gif6.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน