วันนี้ ผม อยากรู้และอยากคุยด้วยเรื่องสัมผัสเลือน จึงได้ไป ค้นหาอ่านดูจากผู้รู้หลายท่าน ดังนี้ Yimwhan เขาว่าไว้ดังนี้ ครับว่า เรื่องสัมผัสเลือน เป็นสัมผัสในที่วางไว้ไม่ถูกตำแหน่งที่กำหนด ทำให้เสียงเลือนไปอยู่ตำแหน่งอื่น เช่น 1 2 (3) (4) ((5)) 6 ((7)) 8 ตำแหน่งสัมผัสในจะมีสองคู่ คู่แรกคำที่ 3 และ 4 คู่ที่สองคือคำที่ 5 และ 7 สัมผัสเลือนมักเกิดกับสัมผัสในคู่แรก สัมผัสเลือนเกิดจากคำที่น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ 4 กลับไปอยู่ในคำที่5 (กรณีมีแปดคำ) เสียงที่ลงหนักจะอยู่คำที่สามโดยปกติ เมื่อเป็นสัมผัสเลือนเสียงจะเลื่อนไปในคำที่ 5 แทน เช่น หากพูดไป กลัวใจ นี้คอยเก้อ.....คำว่า ใจ เป็นสัมผัสเลือนมีเสียงเดียวกันกับคำว่า ไป แต่อยู่ผิดตำแหน่งสัมผัส ทำให้เสียงเลื่อนหรือเลือนไป Anna_Hawkins เขียนโดยอ้างจากหนังสือ กลอน และวิธีการเขียนกลอน เขียนโดย ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์) ว่า สัมผัสเลือน หมายถึงสัมผัสที่อยู่ใกล้กันหลายคำ จนทำให้เลอะเลือนไปหมด เช่น โอ้เจ้าพวงบุปผามณฑาทิพย์ สูงลิบลิบเหลือหยิบถึงตะลึงแหงน หรือ แม้เธอเป็นดอกฟ้าน่าถนอม เหล่าชายล้อมอยู่พร้อมพรั่งดังฝูงผึ้ง คำว่า ลิบลิบ กับ หยิบ และ ล้อม กับ พร้อม เป็นสัมผัสรับได้ทั้งนั้น ก็คือทำให้สัมผัส เลือน ไป บางท่านก็ว่า สัมผัสเลือน หมายถึง การสัมผัสคำที่ 3 และ 5 ในวรรครับและส่ง โดย Anna วิจารณ์ต่อประเด็นนี้ว่า ถึงแม้ว่าวรรครับและส่งจะมีสัมผัสรับได้ตั้งแต่คำที่ 1 2 3 4 5 6 แต่สัมผัสจะเพราะที่สุดคือคำที่ 3 หรืออนุโลมว่า 5 แต่กลอนที่ยกตัวอย่างมา วรรคหนึ่งมี 9 คำ หรือท่อนตรงกลางมี 3 คำ เช่นที่ยกตัวอย่างมา สูงลิบลิบ เหลือหยิบถึง ตะลึงแหงน สัมผัสที่ดีสุดจะอยู่ตรงคำที่ 3 การที่ให้คำที่ 5 สัมผัสด้วยจะไม่เพราะ น่าจะให้คำที่ 6 สัมผัส ทีนี้คำที่ 3 และ 5 เกิดมาสัมผัสพร้อมกัน เลยกลายเป็นสับสนแทนว่าตกลงจะอ่านอย่างไร อาจอ่านเพี้ยนเป็นว่า สูงลิบลิบ เหลือหยิบ ถึงตะลึงแหงน ก็ไม่ได้รสกันพอดี สัมผัสเลือนก็เลยไม่พึงปรารถนา Anna ว่าไว้ดังนี้ ส่วน กิตติกานต์ บอกว่าในความเห็น ที่เขียนในสัมผัส ซ้ำ-ซ้อนของผมว่า เธอเคยถูกติงเรื่อง สัมผัสเลือน ว่า>>> สัมผัสเลือน ซึ่งเป็นจังหวะตกของเสียงอ่าน ๓/๒/๓ หรือ ๓ /๓/๓ โดยยกตัวอย่างประกอบว่า ...พักเถิดหนาดวงใจให้หายล้า ค่อยฟันฝ่าโลกกว้างทางฝันใฝ่ มหานทีลึกล้ำหากข้ามไป อาจจมได้/หากไม่/ระวังตน เธอขยายความ ว่า ในบทนี้ วรรคส่ง ที่คำว่า ไม่ จะนับว่าทำให้สัมผัสเลือน เพราะเป็นจังหวะตกของเสียงอ่าน ๓/๒/๓ ส่วน บุญเสริม แก้วพรหม กล่าวว่า สัมผัสเลือน หมายถึง การรับ-ส่งสัมผัสระหว่างวรรคที่ ๑ กับ วรรคที่ ๒ และวรรคที่ ๓ กับ วรรคที่ ๔ กำหนดว่า ให้คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ในวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๔ ใช้คำว่า หรือ เพื่อให้เลือกสัมผัสในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพียงที่เดียว ดังนั้นถ้ารับสัมผัสทั้งในคำที่ ๓ และคำที่ ๕ ไปพร้อมกัน จึงเป็นการสัมผัสเลือน และทำให้กลอน ขาดความไพเราะ เช่น ในคืนที่เจิดแจ้งด้วยแสงดาว นวลสีพราวห้วงหาวราวสวรรค์ คิดถึงคนจากไกลใจผูกพัน เพียงรอวันเธอนั้นผันกลับคืน ข้อบกพร่อง คือ ดาว ส่ง-รับสัมผัสทั้ง พราว และ หาว พัน ส่ง-รับสัมผัสทั้ง วัน และ นั้น จากการศึกษาดู ผมพบว่า สัมผัสเลือน นั้น เป็นสัมผัสที่ไม่เป็นที่นิยม เพราะเมื่อคำสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสนอก ที่รับ-ส่งมา แทนที่จะสัมผัสในคำที่ใน คำที่ 3 หรือ 5 ของวรรค รับ และวรรค ส่ง กลายเป็นสัมผัสในคำอื่นแทนหรือเป็นสัมผัสใน ไม่ตรงตามตำแหน่งที่กำหนด ที่ตำแหน่ง 3 สัมผัส กับ 4 และ 5 สัมผัส กับ 7 ทำให้จังหวะคำ เสียจังหวะไป ทำให้ความไพเราะของกลอนลดลง อีกกรณีหนึ่งนักกลอนบางท่าน แม้แต่ตัวผมเองบางครั้งคำนึงถึงสัมผัสในมากไป จนมีการเขียนซ้ำคำ จนกระทั่งคำซ้ำที่ให้เกิดการสัมผัสนั้น เลือนไปจากตำแหน่ง ที่เหมาะสม เลยกลายเป็นสัมผัสเลือน ที่ขาดความไพเราะไปเสียนี่ ก็ลองออกความเห็นแลกเปลี่ยนกันดูนะครับ คนกุลา ในเหมันต์ ขอขอบคุณ กาลเวลา, บุญสม แก้วพรม, Anna_Hawkins, ช่อประยงค์ (หรือ ประยงค์ อนันทวงศ์), วาสนา บุญสม, ม้าก้านกล้วย และ ครูไท ที่ได้มีการค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ได้ไปสืบค้นเพื่อศึกษากัน
24 พฤศจิกายน 2552 21:42 น. - comment id 26203
มาอ่านศึกษาเพิ่มเติมค่ะ...
25 พฤศจิกายน 2552 11:33 น. - comment id 26208
ขออนุญาต คุณ กิตติกานต์ ในการอ้างอิง ถึง ไว้ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ
25 พฤศจิกายน 2552 11:54 น. - comment id 26210
วิพากษ์ คนกุลา ในเริงสายธาร ว่าด้วยเรื่อง สัมผัสเลือน เริงสายธาร ๐ แว่วคำวอนอ่อนหวานสายธารรัก ใครนะถักทอร้อยสร้อย(๑)สายขวัญ ปานรินธารน้ำใจส่งให้กัน หวังคำมั่นควั่น เกลียวเกี่ยว(๒)เคียงปอง ๐ กล่าวเป็นนัยใบไม้กับสายน้ำ ที่เน้นย้ำความหมายคลาย(๓)หมางหมอง โลมสายธารม่านรักถัก(๔)ไยทอง หวังเพียงครองคู่ข้างไม่ห่างไกล ๐ ใบไม้ปลิวลิ่วคว้างลาร้างต้น ร่อนล่วงหล่นลงผ่านธาร(๕)น้ำไหล สืบเรื่องราวเล่าขานตำนานไพร สะบัดใบลอยลมพรม(๖)นที ๐ ลำนำใจในธารรินสาส์นรัก ชั้นเพิงพักผุดพรายร่าย(๗)วิถี สายธารใดใครเอ่ยเผย(๘)วจี ร้อยวลีกวี จารธาร(๙)เว้าวอน ๐ กรองคำกล่าวเล่าเรื่องเมือง(๑๐)ใบไม้ จากแดนไกลในเขาเนาว์(๑๑)สิงขร โรยลาร่างพร่างใบใน(๑๒)วันจร ลงออดอ้อนแอบว่ายสาย(๑๓)น้ำวน ๐ ระเริงรำฉ่ำใบใน(๑๔)สายน้ำ ล่องผุดดำร่ำระบายอาบสายฝน ควะคว้างควงร่วงพลิ้วปลิว(๑๕)เพียงยล เหมือนต้องมนต์ใบไม้ร่าย(๑๖)ระบำ ๐ ใบไม้เรียมเทียมหมายคล้าย(๑๗)คู่ชื่น มิเป็นอื่นแอบหวามรักงามขำ จะถนอมนวลนางอย่าง(๑๘)เคยทำ ด้วยภักดิ์ย้ำเยี่ยงใบไม้เริงสายธาร..ฯ ๐ แว่วคำวอนร่อนร่ายสาย(๑๙)ธารรัก ใครนะถักทอย้ำคำ(๒๐)แสนหวาน พากษ์ไพเราะเสนาะเสียงสำเนียงกานท์ เห่ขับขานกล่อมหทัยให้(๒๑)อุ่นอิง..ฯ ...... คนกุลา ในวสันต์ หากนำหลักพื้นฐาน ความนิยมว่า สัมผัสใน ควรมี สองคู่ คือ คู่คำที่ ๓ กับคำที่ ๔ และคำที่ ๕ กับคำที่ ๗ หากนำ เอา กลอน เริงสายธาร ของ คนกุลามาศึกษาดูสัมผัสเลือนแล้ว จะพบว่ามีอยู่ถึง ๒๑ จุด และส่วนใหญ่ จะเป็น คำที่ ๕ สัมผัสกับคำที่ ๖ เป็น สำคัญ อันนี้เป็นความเคยชิน หรือ ท่วงทำนองกลอน ของคนกุลาไปแล้ว ซึ่งคงแก้ไขยากมาก หากมาอ่านแล้ว กวี น้อยฯ ยังจะนับถือเป็น อาจารย์อยู่อีกไหม เอ่ย..???
26 พฤศจิกายน 2552 13:00 น. - comment id 26234
วันนี้ ผมไป นั่งทบทวนดู ว่าทำใม สิ่งที่น่าจะเป็นสัมผัสเลือน ของผม ถึงเยอะ คิดว่า เหตุ น่าจะเป็น ดังนี้ ครับ ประเด็นสัมผัสใน ตามมีการวางหลักในการสอนกันโดยทั่วไป โดยยึดตามแนวกวี ในยุคก่อนๆ เช่นกลอนสุนทรภู่ ที่มักนิยม การสัมผัสในโดย ยึด สัมผัส คู่ คำที่ 3 กับคำที่ 4 และ คำสัมผัส ของคู่ คำที่ 5 กับคำที่ 7 ดังผัง 1 2 (3) (4) ((5)) 6 ((7 )) 8 เช่น แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว จากบทเสภาขุนช้าง ขุนแผนของสุนทรภู่ เป็นต้น แต่กวีรุ่นหลัง มากท่าน นิยมใช้สัมผัสใน ทั้งแบบที่กล่าวไปแล้ว และแบบสัมผัส คู่คำที่ 3 และ คำที่ 4 กับ คู่คำที่ 5 และ คำที่ 6 1 2 (3) (4) ((5)) ((6)) 7 8 เช่นตัวอย่าง ควันไฟลอยอ้อยอิ่งทิ้งทิวไม้ เป็นภาพไหวอยู่หว่างกลางความเหงา ฟ้าสีจืดชืดหม่นปนทึมเทา ทาบทิวเขาครึ้มเขียวดูเดียวดาย จากกลอน กลับบ้าน ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กลับมาบ้านวันนี้มีคำถาม ควรถึงยามจะกลับมาหรือหาไม่ บ้านนี้หรือคือบ้านเราเขาหรือใคร แล้วทำไมไม่อบอุ่นกรุ่นด้วยรัก จากเส้นทางสายเก่า ของ ประยอม ซองทอง ดังนั้น การสัมผัสใน ระหว่างคำที่ 5 กับคำที่ 6 ที่นิยมเขียนกันทั่วไป ของกวีในระยะหลังๆ จึงไม่น่าจะเป็นสัมผัสเลือน แต่อย่างใด ครับ
2 ธันวาคม 2552 14:48 น. - comment id 26294
คุณกุลาคะ อ่านแล้วได้ความรู้ดีจัง..ขอบคุณคะ แล้วจะแวะเข้ามาบ่อยๆนะคะ แต่ตรงตอนสุดท้าย ที่ขอบคุณบทความที่อ้างอิง ตรง "บุญสม แก้วพรม" ที่ถูกน่าจะเป็น "บุญเสริม แก้วพรหม" ใช่ไหมคะ ขอบคุณค่ะ
3 ธันวาคม 2552 21:02 น. - comment id 26311
ด้วยความยินดี ครับ และต้องขอบคุณ คุณใบตอง ที่ติงมา ใช่แล้วครับ ที่ถูก คือ "บุญเสริม แก้วพรหม" ครับ ต้องขอ อภัย คุณ บุญเสริม ด้วยนะครับ ที่เขียนชื่อผิดไป ครับ
16 กุมภาพันธ์ 2553 22:09 น. - comment id 27684
อ่านบทความของคุณกุลาแล้ว ได้ความรู้และแนวทางการเขียนดีมากค่ะ ก่อนหน้านี้เคยอ่านผลงานของ คุณรัตนธาดา แก้วพรหม ซึ่งเป็นนักกลอนทางภาคใต้บ่อยๆ คุณกุลาทราบไหมคะว่าเป็นอะไรกับคุณบุญเสริม แก้วพรหม ที่อ้างถึง เพราะช่วงหลังผลงานของคุณรัตนธาดา แก้วพรหม ห่างหายไป อยากทราบ "เรื่องสัมผัสเผลอ" ด้วยค่ะ กรุณาช่วยอธิบายด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
28 พฤศจิกายน 2553 16:34 น. - comment id 32518
เรียน คุณคนกุลา ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งที่นำเรื่องสัผัสเลือนมานำเสมอเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ผมชอบใช้ในบางครั้งเราไร้หรอกว่าผิดตำแหน่งของกลอนสุภาพ ขอให้ได้แต่งเป็นพึงพอใจในความต้องการเรา สอนนักเรียนก็ยากเด็กไม่สนใจบอกว่ายากอย่างเดียว ไม่สนใจงานแต่งนี้เลย