เพื่อนๆคิดว่า เป็นเพราะอะไรครับ?

ตราชู

เพื่อนๆครับ บทความชิ้นนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งผม และพวกเราอีกหลายๆคนที่นี่ มองว่าใหญ่หลวง ขณะที่คนในสังคมยุคปัจจุบันอีกหลายคน เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องดังกล่าวก็คือ การเสื่อมความนิยมในการอ่านกวีนิพนธ์ของเยาวชนไทยสมัยโลกาภิวัตน์ครับ
	หากตั้งคำถามว่า เหตุใด หนังสือกวีนิพนธ์ขายไม่ค่อยได้ ก็ต้องตอบกันตรงๆว่า คนไม่สนใจอ่าน แหละหากถามต่อไปว่า เหตุใดเล่า คนจึงไม่สนใจ คำตอบคงหลายหลาก ความเห็นคงหลากหลาย สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว ขอโอกาส และขออนุญาตแสดงทัศนะบางประการ เท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดของตนจะพอค้นได้ดังนี้
	หลายๆคน มักลงโทษวัฒนธรรมตะวันตกว่าเป็นจำเลยตัวสำคัญ ในการบ่อนทำลายจิตใจของเยาวชนรุ่นใหม่ให้สึกกร่อน ทว่า สำหรับผม มองว่า วัฒนธรรมตะวันตกเปรียบเสมือนข้าศึก หากเรามีเมืองหน้าด่านอันมั่นคงแข็งแกร่งแล้วไซร้ ก็ยากนักที่ศัตรูจะจู่โจมเข้าถึงใจกลางเมือง พร้อมทั้งกระจายกำลังกันรวดเร็วอย่างนี้ เมืองหน้าด่านซึ่งผมอุปมาถึง คือ ความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็กไทยเรานั่นแหละครับ เข้มแข็งและเข้มข้นในความเป็นไทย ซึ่งนั่น จะต้องเกิดจากการปลูกฝังของผู้ใหญ่ทุกฝ่าย แต่ อนิจจา.......
	ถ้าเรามองเริ่มแรก จากสังคมหน่วยย่อยที่สุด (แต่สำคัญที่สุด) ของมนุษย์ คือ ครอบครัว น่าตกใจและใจหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏว่า สภาพครอบครัวเดี่ยว (ครอบครัวขนาดเล็ก) เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย เราไม่ค่อยได้เห็นครอบครัวขยาย อย่างที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นแล้วในเมืองหลวง ฉะนั้น ความผูกพันใกล้ชิดสนิทสนมจึงลดน้อย การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่แทบไม่มีจังหวะเวลา ลูกหลาน หากจะได้ขึ้นไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัด ไปกราบผู้อาวุโส ก็แต่เฉพาะในเทศกาลสำคัญๆ ซึ่งทำให้ได้อยู่ร่วมกันน้อย โอกาสจะปลูกฝังสั่งสอนจนก่อให้เกิดจิตสำนึกถึงความเป็นชาติ ความเป็นไทย จึงแทบไม่มี หรือไม่มีเอาเสียเลยก็ว่าได้ เท่านั้นยังไม่พอ ข้างฝ่ายพ่อแม่ของเด็กเองก็ต่างคนต่างหางาน หาเงินกันวุ่น ตื่นเช้า กลับดึก เมื่อไม่อาจอยู่เป็นเพื่อนลูกได้ ก็อาศัยเทคโนโลยีเป็นเพื่อนแทน โดยไม่มีเวลาอบรมบ่มเพาะ หรือชี้แนะกำกับ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิสัยเด็ก ซึ่งรักความเพลิดเพลินเป็นสามัญทางอารมณ์อยู่แล้ว จึงถูกชักนำจากสื่อล่อมากมายอย่างง่ายดาย ขอยืนยันอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่า ไม่มีเด็กคนไหนทำอะไรเป็นโดยปราศจากการป้อนของผู้ใหญ่หรอกครับ เมื่อผู้ใหญ่มอบหน้าที่ให้สื่อ (ซึ่งผู้ผลิตรายการก็เป็นผู้ใหญ่) อยู่กับเด็ก แน่นอน เขาย่อมรับทุกอย่างที่สื่อป้อน ในลักษณะของม้าขาดบังเหียน พอคึกเข้าก็ควบตะลุยอย่างเดียว ก็คนกุมบังเหียนไม่อยู่เสียนี่ จะให้ทำอย่างไรได้เล่า
	ทีนี้มาถึงประเด็นเรื่องการศึกษาบ้างครับ ขอสรุปเพียงสั้นๆ (ถ้าจะว่ากันจริงๆ ยาววววววววววววววว ครับ) ตั้งแต่เราปฏิรูปการศึกษามา ดูเหมือนอะไรๆมันพิลึกพิกลเหลือเกิน เฉพาะอย่างยิ่ง วิชาภาษาไทย อันเกี่ยวข้องกับฉันทลักษณ์โดยตรง แม้ว่าจะมีแบบเรียนให้ได้หาความรู้กันก็จริง ทว่าเนื้อหาถูกปรับให้อ่อนลงอย่างมาก สมัยสามสิบปีก่อน คุณน้าท่านเล่าให้ผมฟังเสมอครับ ว่า การเรียนวรรณคดีนั้น อ่านกันเป็นเล่มๆ ถึงจะเป็นฉบับตัดตอน ก็ยังได้อ่านมากกว่าสมัยนี้อยู่ดี มีการท่องบทอาขยานด้วย ท่องเพื่อนำมาสอบ นำมาเขียน จึงไม่แปลกที่เด็กนักเรียนรุ่นก่อน ได้สัมผัสกับงานฉันทลักษณ์จนเจนตา ถึงไม่อยากจำจด ก็ต้องจดจำโดยปริยาย ผู้ใหญ่ที่ท่านเติบโตจากเบ้าหลอมอันงดงาม แม้ท่านจะมิใช่กวีกันทุกคน ทว่าก็สามารถอ่านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ได้คล่อง หันมามองหลักสูตรวิชาภาษาไทยยุคนี้บ้าง บทอาขยานขาดหาย ข้อสอบแบบปรนัยระบาด (เด็กๆเองก็ชอบเสียด้วย) ทุกอย่างถูกจัดเตรียมในแบบ กึ่งสำเร็จรูป) เด็กๆก็เลยไม่ต้องเสาะหาอะไรๆเอง หรือปฏิบัติตามทฤษฎีด้วยตนเอง ซ้ำการเรียนก็เร่งรีบเพื่อให้ทันสอบ จะหาความลึกซึ้งได้ที่ไหน ยังดีอยู่หรอก ที่กระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกหนังสือกวีนิพนธ์หลายเล่ม ให้เด็กได้อ่านเป็น หนังสือนอกเวลา แต่ก็อีกนั่นแหละ หนังสือนอกเวลานั้น บ่งความหมายโดยอ้อมอยู่ว่าครูมีสิทธิ์กำหนดให้นักเรียนอ่าน หรือไม่อ่านเล่มใดเล่มหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า เด็กจะได้อ่านกวีนิพนธ์กันมากน้อยเท่าไร สันนิษฐานว่าคงได้อ่านกันไม่มาก ยกเว้นแต่ผู้สนใจจริงๆ ซึ่งหาอ่านเพิ่มเติมเอาเองภายหลังสายธารฉันทลักษณ์จึงชะงักงัน เพราะผู้จะสืบทอดไม่เต็มใจจะทอดจะสืบช่วง 
	อีกประเด็นหนึ่งก็คือประดาสื่อสารมวลชนทั้งหลาย ที่ตะกุยตะกายตะกระตะกรามสวาปามเงินเป็นหลัก ชูชักวัฒนธรรมไทยเพื่อนำมาขาย แต่มิได้ลงถึงรากเหง้าอันแท้จริง พอมีของใหม่ขายได้ดีกว่า ก็พร้อมโยนของดีๆของเราทิ้งทันที ตัวอย่างเช่น รายการ เรียงร้อยถ้อยไทย ซึ่งเดิม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ก่อนข่าว ๒๐ นาฬิกา อันเป็นช่วงที่เด็กๆและพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถรับชมด้วยกันได้อย่างสะดวกก็ถูกยกเลิกเมื่อมีรายการสอนภาษาอังกฤษเข้ามาแทน เห็นภาษาต่างด้าวต่างแดนสำคัญนักหรืออย่างไร ไอ้พวกไร้สำนึก ไอ้พวกนายทุนเขมือบ (เงิน) ส่วนรายการงามๆอย่าง คุณพระช่วย ก็ถูกย้ายไปในช่วงเวลาที่เด็กๆ (หมายถึงเด็กอันถือเป็นไม้อ่อนทั้งหลายนะครับ) มักจะหลับกันแล้ว อดดูความอลังการของไทยไปเสียนี่ ไม่รู้แบ่งสรรเวลากันอย่างไร วิทยุก็อีก พ่นเพลงที่ไร้ความงามทางการร้อยกรองมากรอกหูผู้ฟังอย่างไม่ขาดสาย แล้วก็อ้างเอาว่า เป็นความต้องการของคนฟัง ปลุกเร้าเข้าไป ทุ่มโฆษณาเข้าไป จนเพลงเหล่านี้แพร่คลุมทั่วสารทิศ เยาวชนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพลงดีๆซึ่งมีความงามงดชดช้อยในการเรียงร้อยลีลา อย่าหวังเลยว่าจะได้เด่นผงาด ถ้าไร้เงินฟาดกบานไอ้พวกงก โลภ จะเห็นได้ว่า คนไทยเองนั่นแหละ ระดมตีเมืองหน้าด่านของเราให้อ่อนกำลังลง พอศัตรูรุก เราก็ด่าศัตรู หรือไม่ก็ลงโทษเด็ก ก็ผู้ใหญ่บางกลุ่มยังดูถูกวัฒนธรรมประจำชาติตน ทุกอย่างมันก็เลยแย่ 	
	ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ มีผลทำให้รากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมเราทั้งระบบโยกคลอน กล่าวเฉพาะร้อยกรอง ในเมื่อเราห่างเหินกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ร้อยกรองอันถือเป็นของโบราณ ในสายตาคนรุ่นใหม่ จึงตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับ สมบัติในพิพิธพัณฑ์นานๆ จึงจะออกมาสำแดงความล้ำค่าสักที จะให้ทำอย่างไรได้เล่า โลกยุคใหม่ การสื่อสารเอาความง่ายเข้าว่า หนังสือที่ดี จึงเป็นหนังสือ กึ่งสำเร็จรูป อ่านปุ๊บ เข้าใจปั๊บ รสชาติทางศิลปะมีหรือไม่ ไม่สนใจแล้ว รากแก้วของเราเริ่มเฉา เพราะพวกผู้ใหญ่บางกลุ่ม สุมๆมายามาย้อมมอมเด็ก เสมือนเป็นใจ เปิดประตูเมืองหน้าด่าน รับข้าศึกให้เข้ามาโจมตีเราทุกวี่ทุกวัน จนเดี๋ยวนี้ ป้องกันลำบากยากเข็ญเหลือเกิน
	นี่เป็นความเห็นของผมเท่านั้นนะครับ อยากขอความกรุณาเพื่อนๆทุกท่าน ช่วยผม แสดงทัศนะเข้ามากันสักหน่อยครับ ผมจะได้มีวิสัยทรรศกว้างไกลกว่านี้ และบางที เราอาจพบลู่ทางในการแก้ปัญหาซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับหนังสือกวีนิพนธ์ไทย รวมถึงอีกหลายๆเรื่องก็ได้นะครับ
ด้วยความเคารพทุกท่านอย่างยิ่งครับ
ตราชู
-----------------------------------------------				
comments powered by Disqus
  • หยาดอรุณ

    20 มิถุนายน 2549 10:30 น. - comment id 14675

    ประเด็นของปัญหาในกระทู้นี้ของ ตราชู ก็คือว่า 
    
    \"เหตุใดกวีนิพนธ์จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม\"
    
    ขออนุญาตตัดประเด็นอื่นๆ ที่ ตราชู วิเคราะห์ทั้งหมดนะคะ เพราะว่าดูเหมือนคิดไปไกลเกินไป
    
    ก่อนอื่น ... ท้าวความนิดนึง
    
    วัฒนธรรมการอ่านของไทยเรา มาจากการ ร้อง และ การรำ ยอมรับได้ไหม?
    
    บทกวีนิพนธ์ของไทยเรา ก็เริ่มมาจาก การร้องการรำ ขับเสภา เห่กล่อม เพลงเรือ ผญา เพลงกล่อมเด็ก ฯลฯ
    
    สมัยก่อน บอกกลอนกันด้วยปาก ....
    
    
    และเพลงสมัยก่อน ก็มีอรรถรสทางภาษาที่สวยงาม .... ตรงนี้ยอมรับได้ไหมคะ?
    
    
    เข้าเรื่องค่ะ ... ทำไมถึงเปลี่ยนแปลงกลายเป็นว่า กวีนิพนธ์กลายเป็น \"ไม้ประดับ\" ของวงวรรณกรรมไทยไปซะแล้ว
    
    
    เนื่องมาจากว่า ... เดี๋ยวนี้คนเริ่มหันมาสนใจ \"จินตนาการใส่ตลับ\" (สำนวน อาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นะคะ)  กระบวนการคิดของเราเปลี่ยนไป เราเริ่มอ่านโดยการใช้ ตา มากกว่าใช้หูฟัง และเสพงานโดยฉาบฉวย ขาดกระบวนการคิดเป็นขั้นตอน และการสืบค้นข้อมูลของเราง่ายมากขึ้น
    
    
    ทำให้กระบวนการคิดของคนเราขาดขั้นตอนและระบบ ทุกอย่างสำเร็จรูปไปหมดเลย
    
    กวีนิพนธ์ไทยก็เลยกลายเป็นว่า เขียนเพื่ออ่าน ไม่ใช่เพื่อรับรสทางวรรณศิลป์
    
    เนื่องจาก ศิลปะ ต้องอาศัยประสาทสัมผัสทุกอย่างในการเสพเลยทีเดียว ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่สำคัญคือ จินตนาการ หรือว่า \"ใจ\" นั่นเอง
    
    อย่างที่เคยไปตอบกระทู้ของ ตราชู ว่า ตราชู เป็นผู้มีจิตใจงดงาม รับสัมผัสได้ด้วยใจ คนที่จะสร้างสรรค์วรรณศิลป์ได้ดีนั้น ต้องมี \"ตาใจ\" ค่ะ ไม่ใช่ \"ตาเนื้อ\"
    
    
    ตรงนี้ ... เป็นสิ่งที่คนสมัยนี้ขาดหายไป
    
    
    แก้ไขอย่างไร?
    
    วิธีแก้ไข ... ในเมื่อสังคมสมัยนี้เป็นสังคมที่ใช้ \"กลไกการตลาด\" เราก็ต้องสร้างตลาดขึ้นมา
    
    
    สร้างกระแส โดยการจับกลุ่มเล็กๆ ผู้สนใจงานวรรณศิลป์จริงๆ จัง มานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยน คบหากัน แล้วก็นำบทกวีมาประกอบเพลง ประสานศิลปะแขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน กลุ่มนี้ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีการพบปะกันสม่ำเสมอและสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา
    
    เขียนงานเพื่อการขับร้อง การเล่นดนตรี และการแสดงละคร กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยได้มากทีเดียว
    
    
    เคยคิดโครงการเล่นๆ ที่ยังไม่มีใครร่วมมือด้วยเท่าไหร่ (เพราะคิดคนเดียว) ก็คือ น่าจะมีกลุ่มคนสักกลุ่มนึง มานั่งอ่านหนังสือกัน เขียนบทกวีกัน เอากีตาร์มาใส่ทำนองในบทกวี แล้วก็เป็นกิจกรรมที่บันทึกไว้ของกลุ่ม มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่ม ใครอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมเล็กๆ น่ารักๆ ตรงนี้ ก็มาได้ 
    
    ในลักษณะเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เป็นทางการ ในช่วงเย็นย่ำสุดสัปดาห์ จุดเทียนมานั่งล้อมวงกันสร้างสรรค์บทกวี บันทึกภาพกิจกรรมไว้ทุกครั้ง แล้วสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ งอกเงยกลายเป็นความงอกงาม เพราะบ่มเพาะความรู้สึกรักในบทกวีขึ้นมาในใจของกลุ่ม
    
    
    ไม่รู้จะเป็นไปได้สักเพียงใดกัน ... แค่ความคิดฝันเล็กๆ แต่ไม่มีกำลังจะทำหรอกค่ะ
    
    
    นี่คือ ความคิดเห็นของพี่นะคะ ... น้องตราชู 
    เชิญแลกเปลี่ยนกันได้ ... ขออภัยที่ไม่ได้วิเคราะห์อะไรในเชิงมหภาคที่ฟังดูเป็นปัญหาใหญ่จนหาทางแก้ไม่ออกแบบน้อง แต่พี่มองที่ต้นของปัญหาว่า จุดหนึ่งย่อมเกิดจาก \"ความสนใจ\" ของคน แล้วจะทำอย่างไรให้คนสนใจ สังคมเดี๋ยวนี้เป็นสังคมการตลาด เราจะปรับการตลาดให้มาเป็นประโยชน์ต่อจุดมุ่งหมายในเชิงอนุรักษ์ของเราได้อย่างไร
    
    นี่เป็นแค่วิธีการมองปัญหาของพี่นะคะ ... บางคนอาจจะคิดได้ดีกว่านี้ค่ะ 
    
    
    ยินดีเข้ามาแลกเปลี่ยนกันค่ะ : )
    
    
    
    
    
    11.gif36.gif
  • ตราชู

    20 มิถุนายน 2549 14:05 น. - comment id 14677

    พี่รุ่งพูดมา ทำให้ผมนึกอะไรเล่นๆได้ สมัยก่อน บรมครูท่านเคยนำโคลงมาใส่ทำนอง สมัยปัจจุบัน นักแต่งเพลงน่าจะทำบ้างนะครับ ฉันท์บางชนิดที่มีลีลาสะบัดระลอกอย่างอีทิสัง ถ้านำมาทำเพลงร็อค ก็คงจะได้ (สำคัญว่า จะถูกผู้ใหญ่บางท่านตำหนิหรือเปล่าเถอะ) กาพย์ยานีนั้น ผมเคยเจอปรากฏแซมๆอยู่ในเพลง ชั่วฟ้าดินสลาย ของคุณพลพล พลกองเส็ง กลอนก็น่าจะมี แต่ผมนึกไม่ออก เห็นด้วยกับพี่รุ่งครับ เพราะอย่างที่ผมเคยเขียนในกระทู้ก่อนว่า ภาษาไทยเราเป็นภาษาดนตรี หากเราจะนำดนตรีมารองรับ ก็น่าจะดึงความสนใจได้ เนื่องจากดนตรี จะทำให้คนฟังผ่อนคลาย แล้วก็ช่วยน้อมนำจินตภาพของเขาให้เด่นขึ้นด้วย ไหนๆก็คุยแล้ว ขออนุญาตถามบ้างครับ มีทานใดเคยไปชมละครเพลงยุคปัจจุบันกันบ้าง ผมอยากทราบว่า เพลงที่แต่งประกอบ ถ้าจะว่าในด้านวรรณศิลป์แล้ว ไพเราะไหมครับ หรือว่าเป็นอย่างขอไปทีเหมือนที่แต่งกันดาษดื่นในปัจจุบัน เหตุที่ถาม เพราะผมไม่เคยไปดูเลยครับ ขอขอบพระคุณในคำตอบครับ
  • ตราชู

    20 มิถุนายน 2549 14:18 น. - comment id 14678

    ขอโทษครับ ผมพิมพ์คำว่า ท่าน พลาดไป ตกไม้เอกครับ
  • แทนคุณแทนไท...

    20 มิถุนายน 2549 16:17 น. - comment id 14680

    "เคยคิดโครงการเล่นๆ ที่ยังไม่มีใครร่วมมือด้วยเท่าไหร่ (เพราะคิดคนเดียว) ก็คือ น่าจะมีกลุ่มคนสักกลุ่มนึง มานั่งอ่านหนังสือกัน เขียนบทกวีกัน เอากีตาร์มาใส่ทำนองในบทกวี แล้วก็เป็นกิจกรรมที่บันทึกไว้ของกลุ่ม มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่ม ใครอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมเล็กๆ น่ารักๆ ตรงนี้ ก็มาได้ 
    
    ในลักษณะเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เป็นทางการ ในช่วงเย็นย่ำสุดสัปดาห์ จุดเทียนมานั่งล้อมวงกันสร้างสรรค์บทกวี บันทึกภาพกิจกรรมไว้ทุกครั้ง แล้วสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ งอกเงยกลายเป็นความงอกงาม เพราะบ่มเพาะความรู้สึกรักในบทกวีขึ้นมาในใจของกลุ่ม\"
    
    มายืนยันครับ กระบวนการและกลุ่มคนแบบนี้ เคยมี และยังมีอยู่...
  • หยาดอรุณ

    20 มิถุนายน 2549 16:49 น. - comment id 14681

    ประเด็นของน้อง ตราชู ขออนุญาตค้างไว้ก่อน
    
    ขอคุยกับคุณแทนฯ หน่อยนะคะ
    
    ถ้ากระบวนการของกลุ่มคนเหล่านี้เคยมี และยังมีอยู่ น่าจะมีการโหมกระแสโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดกันสักหน่อย น่าจะดีนะคะ ... ตามกลไกของสังคมในยุคนี้ค่ะ
    
    
    เดี๋ยวมาคุยด้วยอีกค่ะ : )
    
    
    
    
    11.gif36.gif
  • ลุ่มน้ำ ณ เทือกเขาดงรัก

    20 มิถุนายน 2549 18:50 น. - comment id 14683

    ดีครับ อยากให้พูดกันเหลือเกินในเรื่องนี้ บทกวีทำให้คนจิตใจอ่อนโยน เข้าใจและเข้าถึงสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้งด้วยหัวใจ
     เสริมสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ให้สูงขึ้น (แม้บางครั้งจะดูอ่อนไหวไปบ้างก็ตาม)
     ฉะนั้นเด็กสมัยนี้(ใครไม่เป็นก็ไม่ต้องรับนะครับ)จึงมองโลกอย่างฉาบฉวยผิวเผิน
     ผมทำหนังสืออยู่กับเพื่อนมีเด็กกลุ่มหนึ่งเข้ามาเพิ่มใหม่เพิ่งเข้าปีหนึ่ง มีบางคนไม่รู้จักเขียนบทกวี มีบางคนที่มองเมินมันอย่างไร้ความหมาย และที่แย่กว่านั้นมีบางคนนำเสนอให้ตัดมันออกจากนิตยสาร เพียงเพราะมองว่าเด็กไม่อ่านกันแล้ว
    น่าเห็นใจเด็กเหล่านี้อย่างยิ่ง และเห็นใจตัวเองอย่างยิ่งที่เกิดมาผิดยุค ทำอะไรก็เก่าล้าสมัยไปหมด ไม่ถูกใจวัยโจ๋เขาสักเท่าไหร่10.gif
     ส่วนเรื่องการนั่งสนทนากวี ผมมีโอกาสก็ทำเป็นประจำ
     เอากีต้าร์มาเล่นด้วย แต่ส่วนใหญ่จะมีความสุขมากๆตอนที่คุยกันกลางทุ่งนาใต้แสงจันทร์
    มีกลุ่มเพื่อนที่ยังพอเห็นค่าในบทกวีและดีกรีเหล้ามาร่วมด้วย
    51.gifแต่มันเป็นเพียงแค่วงของคนที่รู้จักมักคุ้นไม่ใช่วงที่เปิด แต่ผมคิดว่ามีหลายคนคิดคล้ายคลึงกัน เราน่าจะมีเวลามาตั้งวงใหม่นะครับ64.gif64.gif
  • ธรรมาภิวัฏ

    20 มิถุนายน 2549 22:13 น. - comment id 14685

    น่าสนใจดีนะครับ..
    ขอเวลาไปนั่งกรองก่อน36.gif
  • ตราชู

    21 มิถุนายน 2549 08:08 น. - comment id 14686

    อีกแนวทางหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหมครับ ถ้าจะนำละครหลังข่าว มาเล่น โดยแทรกบทกวีเข้าไปด้วย ไม่ใช่ถึงขนาดขับเสภาเหมือนเรื่องจักรๆวงศ์ๆก็ได้ เพียงแต่ หาทางให้ตัวละคร มีบทสนธนาซึ่งเกี่ยวข้อง หรือพาดพิงไปถึงบทกวีได้ ผมเคยดูละครเรื่อง ระเบียงรัก ทางช่อง ๓ มีบทสนทนาที่พาดพิงถึงบทกวีในลิลิตตะเลงพ่ายด้วย หรือเรื่องจันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าที่จบไปไม่นานนี้ ก็มีการอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ \"เวนิสวาณิช\" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาผสมผสานด้วย ผมว่าเขาทำดีนะครับ ถ้าละครเรื่องอื่นๆ พยายามหาทางแทรกแซมอย่างนี้ คนก็จะรู้สึกว่า บทกวีเป็นเรื่องใกล้ตัว นานๆไป ก็จะชิน พอชิน คุ้นบ้างแล้ว อาจพัฒนาเป็นความใส่ใจก็ได้นะครับ นี่เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งของตราชูครับ
  • แดดเช้า

    21 มิถุนายน 2549 08:40 น. - comment id 14687

    ความคิดเห็นของ ตราชู ก็ดีนะคะ
    สำคัญที่ สื่อ แล้วค่ะ จะสร้างกระแสทำให้เกิดตลาดกวีนิพนธ์น่ะค่ะ
    
    ประเด็นอยู่ที่ว่า หนังสือกวีนิพนธ์ ขายไม่ได้ นี่สิ ... ยิ่งถ้ามีละคร คนจะหันออกมาเสพงานวรรณกรรมมากขึ้นสักแค่ไหน
    
    
    และเราจะทำสิ่งที่คิดไว้นี้ให้สำเร็จได้อย่างไร ติดต่อกับผู้ทำรายการทีวีหรือ? 
    
    บางครั้ง ... เราก็ได้แต่คิดนะ เรื่องของรายการโทรทัศน์น่ะ เรื่องใหญ่เกินกว่าที่เราจะแก้ปัญหาได้ เราคิดอะไรเล็กๆ ที่พอทำได้ สิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใหญ่ๆ ที่เกินความสามารถของเราอีกนะ : )
    
    
    
    
    
    11.gif36.gif
  • แทนคุณแทนไท

    21 มิถุนายน 2549 10:13 น. - comment id 14689

    "มีกลุ่มเพื่อนที่ยังพอเห็นค่าในบทกวีและดีกรีเหล้ามาร่วมด้วย
    แต่มันเป็นเพียงแค่วงของคนที่รู้จักมักคุ้นไม่ใช่วงที่เปิด แต่ผมคิดว่ามีหลายคนคิดคล้ายคลึงกัน เราน่าจะมีเวลามาตั้งวงใหม่นะครับ\"
    
    แวะมาสำทับให้หนักแน่น
    
    หลายเวลาครับ แต่ที่ผมเคยคุ้นแถบเทือกเขาหลวงนคาศรีธรรมราช...
    
    มีทั้งกลุ่มยุวกวี และกลุ่มนักเขียนที่รวมตัวกันมานาน มีหลายกลุ่มทีเดียว
    
    ด้วยความเชื่อมั่นส่วนตัว บทกวีจะไม่หายไปไหน เพียงแต่ไม่อยู่ในกระแสเท่านั้น แต่ในวิญญาณไทยแล้วจะยังคงมีนิรันดร์
  • กุ้งหนามแดง

    21 มิถุนายน 2549 10:23 น. - comment id 14690

    คิดว่าส่วนหนึ่ง มองว่างานร้อยกรอง เป็นงานที่ยากแก่การเข้าใจ...จึงไม่เป็นที่นิยมค่ะ..
  • แดดเช้า

    21 มิถุนายน 2549 11:11 น. - comment id 14691

    พี่กุ้งหนามแดง .. บอกว่า กวีนิพนธ์ยากแก่การเข้าใจ?
    
    
    แต่มองในมุมมองของเรานะ คิดว่า งานกวีนิพนธ์ก็คืองานศิลปะ โดยส่วนตัวมีความคิดว่า งานศิลปะ คือ การสื่อสาร
    
    ฉะนั้น ... เราต้องสร้างงานศิลปะอย่างตั้งใจ เขียนเพื่อสื่อสารให้คนอ่านอ่านงานเราได้
    
    ถ้างานกวีนิพนธ์ยากแก่การเข้าใจแล้ว แสดงว่า คนสร้างสรรค์งานยังไม่เข้าถึงแก่นของศิลปะ ถ้าเราจะสร้างงานศิลปะเพื่อตัวเราเอง ไม่คิดถึงคนเสพงานเลย เราเขียนเพื่อผ่อนคลาย เขียนจบ ก็ฉีกทิ้งได้ เพราะไม่ต้องให้คนอ่าน
    
    แต่ในความเป็นจริง .. ไม่ใช่อย่างนั้น
    
    เราต้องเขียนเพื่อให้คนเสพอ่านงานเราด้วย เราจึงต้องละเอียดในการสร้างงาน และมีการศึกษางาน มีวิธีคิดที่ดีๆ เพื่อที่จะถ่ายทอดวิธีคิด และโลกภายในของเราสู่โลกภายในของผู้อื่น
    
    
    ในที่สุด ประเด็นนี้ ทำให้เราจึงได้คำตอบว่า ทำอย่างไรให้ กวีนิพนธ์เป็นที่สนใจ ก็คือ การที่คนเขียนงานเขียนงานคุณภาพ เขียนให้ดีๆ เขียนให้คนอ่านสนใจ งานกวีนิพนธ์จึงจะไม่สูญพันธุ์
    
    
    ตราบเท่าที่มีผู้สร้างสรรค์งานดีๆ เพื่อสื่อสารให้กับคนอื่นๆ กวีนิพนธ์ก็จะเจริญก้าวหน้าขึ้นได้ แต่ตราบใดที่ยังคิดแบบเดิมๆ คือ ศิลปินต้องปลีกออกจากสังคม ต้องเขียนตามใจตัวเอง มีอิสระเสรี เขียนสนองกิเลสตัณหา แน่นอน ... กวีนิพนธ์สูญพันธุ์แน่ๆ ไม่มีใครเข้าใจศิลปินได้หรอก หากยังไม่เปิดใจถ่ายทอดตัวตนของตัวเองออกมาสู่ผู้อื่น
    
    
    และก็ ... ถึงขั้นตอนการปฏิบัติแล้ว ศิลปินที่สำคัญตนว่า จะเอิบอิ่มกับความสุขทางปัญญา พูดคุยกันทางปัญญา มีความสุข แต่ปฏิบัติไม่ได้เลย ต้องอาศัยนักธุรกิจดำเนินการกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวง นักธุรกิจปราศจากหัวใจศิลปะ ในที่สุด ศิลปินก็จะกลายเป็นสินค้าของนักธุรกิจต่อไปอีก
    
    แทนที่จะทำให้งานวรรณกรรมเดินหน้า กลับกลายเป็น สินค้า ไปอีกชิ้น ...  กลายเป็นวรรณกรรมกลายพันธุ์ น่าสนุกชะมัดเลยค่ะ
    
    
    ฉะนั้น ... ศิลปินใดที่ต้องการให้งานศิลปะคงอยู่ต่อไป ต้องอาศัยปัญญาถ้วนมองสังคมตามความเป็นจริงด้วย ถ้าจะเอาแต่ตัวเองปลีกวิเวกไปเพียงลำพัง ระวังวันหนึ่งจะสูญพันธุ์ แล้วจะร้องเรียกเอา กวีนิพนธ์ คืนมา ก็ยากเต็มทีแล้ว ....
    
    
    
    โลกของศิลปินที่จมอยู่แต่ในนามธรรม ต้องฝึกวิธีคิดใหม่เพื่อการดำรงอยู่ได้ของงานศิลปะนะคะ
    
    
    ย้ำค่ะ ... งานศิลปะ คือ งานสื่อสาร : )
    
    
    
    
    11.gif36.gif
  • ร้อยแปดพันเก้า

    21 มิถุนายน 2549 11:24 น. - comment id 14692

    ทำไมเราจึงดูงานศิลปะไม่รู้เรื่อง? เมื่อศิลปะมุ่งทำลายตัวเอง 
    
    
    
    ทำไมคนไทยไม่สนใจงานศิลปะ นี่เป็นสิ่งที่ศิลปินหลายๆ คนอยากจะถาม 
    
    อาจจะเป็นเพราะไม่มีใครเคยให้การศึกษาเรื่องศิลปะกับคนไทยมาก่อน หรือคนไทยส่วนใหญ่ยังวุ่นวายเรื่องปากท้องไหนเลยจะมีเวลาหันมาสนใจศิลปะได้ แถมภาครัฐเองก็ไม่เคยใส่ใจที่จะสนใจสนับสนุนงานศิลปะอย่างจริงจัง 
    
    หรือแท้ที่จริงแล้ว ศิลปินนั่นแหละที่ผิด เพราะทำงานศิลปะไม่รู้เรื่อง!!! 
    
    สายัณห์ แดงกลม อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คือคนที่ตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ผ่านการประชุมทางวิชาการของศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธรและเอกสารทางวิชาการเรื่อง เสพศิลป์ และกลืนกินความร่วมสมัย โดยสายัณห์ ตั้งข้อสังเกตถึงความยุ่งยากในการที่ผู้ชมงานจะเข้าถึงศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน ว่าไม่ใช่เฉพาะรูปแบบและความสลับซับซ้อนที่พิลึกพิลั่นจนผู้ชมไม่คุ้ยเคย แต่ยังรวมถึงผลงานที่ผู้ชมคุ้นเคย ใกล้ตัว และสามัญธรรมดา จนเหลือเชื่อว่าจะเป็นงานศิลปะได้ 
    
    เขาให้ความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือศิลปะร่วมสมัยอยู่ในภาวะไร้ผู้ชม ไร้ศิลปิน ไร้งานศิลปะ 
    
    ภาวะ \"ไร้ผู้ชม\" เขาได้ให้ความหมายว่า ศิลปะร่วมสมัยนั้นมีความ \"เป็นอื่น\" ไม่ใกล้ชิดกับสังคม ไวต่อเรื่องรอบๆ ตัวแต่ไม่ไวต่อความรู้สึกของคน ในขณะที่งานบางชิ้นกลับเรียกร้องความคุ้นเคยและต้องการให้ผู้ชมเข้าร่วมจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ หากจะมีก็แต่ผู้มาร่วมงานเปิดนิทรรศการกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับงานสังคมที่ลวงตาว่ามีผู้ให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง 
    
    
    แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นตรงกันข้ามชนิดที่สายัณห์ให้คำจำกัดความว่า \"แร้นแค้นสิ้นดี\" 
    
    ปฏิสัมพันธ์แบบไม่ปะติดปะต่อของผู้ชมกับศิลปินนี้ทำให้เกิดอาการหลักลอย ผู้ชมไม่สามารถตอบได้เมื่อเห็นงานว่าชอบหรือไม่ มีแต่ \"เก็บไว้พิจารณา\" และกลายเป็น \"เชื้อความน่าจะเป็นศิลปะ\" ซึ่งขยายผลแทรกแซงทุกสิ่ง จนสามารถตั้งอะไรเป็นงานศิลปะก็ได้ตามอำเภอใจ 
    
    ส่วนภาวะ \"ไร้งานศิลปะ\" สายัณห์อธิบายว่าในขณะที่สาธารณชนไม่สนใจงานศิลปะ ผลงานบางประเภทก็ต้านการเสพงานแบบเดิมๆ อย่าง Strang Fruit (for David) ของ Zoe Leonard ที่เอาเปลือกผลไม้กระจายกันไปตามพื้นเย็บด้วยด้าย ติดกระดุมและซิป แล้วปล่อยให้เน่าเปื่อยก็เป็นงานศิลปะที่มีตัวตนอยู่แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทำซ้ำหรือเหลือไว้ให้ดูต่อไปได้ ซึ่งขัดกับขนบเดิมซึ่งผู้ชมสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ตลอดเวลา ทำให้เหินห่างกับผู้ชมไปอีก 
    
    นอกจากนี้ ศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันยังตั้งอยู่บนกฎที่สายัณห์ให้คำจำกัดความเป็นภาษาไทยว่า การแหวกและแหกต่อแบบลูกโซ่ (Transgression of transgression) คืองานชิ้นที่มาใหม่พยายามล้มล้างผลงานของผู้มาก่อนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ยังลบร่องรอยการมีอยู่ของตัวเอง จนสุดท้ายก็จะไม่มีผลงานของใครเหลืออยู่เลย 
    
    เมื่อไม่มีผู้ชมและไม่มีหลักฐานการมีอยู่ของผลงาน สิ่งที่ผู้คนเข้าไปเสพก็เหลือเพียงสัญลักษณ์หรือตำนานเพียงเท่านั้น โดยขาดความเข้าใจความหมายที่ถูกทิ้งค้างไว้หรือขาดสาระความหมายอันเข้มข้นที่ควรจะมี 
    
    งานศิลปะเหล่านี้จึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า \"ตายทั้งเป็น\" หรือ \"ไม่ได้ผุดได้เกิด\" และต้องจมหายไปกับการเวลาในที่สุด 
    
    สุดท้ายภาวะ \"ไร้ศิลปิน\" งานร่วมสมัยส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองโดยลดทอนรูปทรงสีสันไว้ให้น้อยที่สุด จนเกิดเป็นงานอย่าง Monochromes (งานที่มีสีเดียว), Abstaction ฯลฯ แต่ก็เกิดการลดทอนฝีมือลงมาจนเหลือถึงขั้นไม่เหลืออะไรให้สัมผัสจับต้องเลย มีเพียงข้อเสนอหรือเจตนารมณ์ดั้งเดิมอยู่แต่สื่อกลางกลับหายไปเหลือเพียงความคิดของบุคคล ขาดน้ำมือ แต่ยังยืนกรานถึงฝีมือ 
    
    ตัวอย่างเช่น งานของ Robert Rauschenberg ที่ได้ขอภาพลายเส้นจาก De Kooning มาลบด้วยยางลบ 20 แท่งเกิดเป็นงานชิ้นใหม่ชื่อ Erased De Kooning Drawing หรือ \"ภาพลายเส้นที่ถูกลบของ De Kooning\" 
    
    สายัณห์บอกว่า ปรากฏการณ์นี้ถึงกับมีเรื่องตลกเล่าเกี่ยวกับแม่บ้านใหม่เข้าไปทำงานในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับฟองน้ำที่ถูกวางอยู่กลางห้อง เพราะเธอไม่รู้ว่ามันเป็นของแม่บ้านลืมไว้หรือมันเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งกันแน่ 
    
    นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ชมปฏิเสธการเสพผลงานด้วยเหตุผลที่ว่าไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปแล้วต้องไปเค้นนัยยะเอาจากรอยขูดขีด 2-3 เส้น เพราะไม่ต้องเป็นศิลปินก็สามารถผลิตงานอย่างที่ว่านี้ออกมาได้ ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร 
    
    นี่เท่ากับงานศิลปะที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้จงใจให้ผู้ชมรู้เรื่อง เพราะบางครั้งงานก็เป็นเรื่องที่เป็นส่วนตัวเกินที่จะจับต้องได้ ทำให้เกิดความรู้สึกเหินห่างกับผู้ชม และเหินห่างออกไปอีกเมื่องานศิลปะจำกัดเวลาให้ผู้ชม ส่งผลให้ยากต่อการเข้าถึงไปอีก นอกจากนี้ บางครั้งก็ตื้นเขินจนไม่ต้องอาศัยศิลปินเป็นผู้นำเสนอก็ได้ 
    
    อย่างไรก็ตาม สายัณห์สรุปว่าศิลปะร่วมสมัยในยุคนี้อยู่ในภาวะการแช่แข็งตัวเองเท่านั้น ซึ่งยังไม่ใช่วาระสุดท้ายของงานศิลปะ เป็นเพียงวงจรหนึ่งที่เข้ามาคั่นระหว่างยุคต่อไป ซึ่งน่าจะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว 
    
    ฉะนั้น ใครที่ดูงานศิลปะไม่รู้เรื่องไม่ต้องตกใจไป เพราะคุณคือคนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ 
    
    
    
    คัดลอกจาก http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01ent07050549&day=2006/05/05
  • ติ๊งต่อง

    21 มิถุนายน 2549 12:38 น. - comment id 14694

    กระทู้นี้เครียดจังเลย น่าจะคิดอะไรคลายเครียดเล่นๆดีกว่านะ  เมื่อเช้าได้กลอนใหม่ขณะเข้าห้องนำ แต่งได้นิดเดียว ใครช่วยแต่งต่อทีนะ  บอกแล้วว่าอย่าซีเรียส เป็นกลอนแบบขำๆ เอาไว้อ่านเวลาอารมณ์เสียน่ะเพื่อนๆ  
          ยามได้ตดสดชื่นระรื่นตูด                     ยามได้สูดกลิ่นตดช่างสดใส
    ยามปวดตดไม่ได้ตดหดฤทัย
    ช่างสุขใจเมื่อได้ตดสดชื่นเอยฯ20.gif65.gif
  • ตราชู

    21 มิถุนายน 2549 12:49 น. - comment id 14695

    ขอบพระคุณทุกท่านครับ ที่ระดมความเห็นเข้ามา มีประเด็นให้ขยายผลอีกแล้วครับ 
    	คุณกุ้งหนามแดงให้ความเห็นว่า กวีนิพนธ์ยากแก่ความเข้าใจ เพราะผู้อ่านต้องอาศัยพื้นฐานทางภาษาเข้ามาช่วย ผมเห็นด้วยครับ แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า สาเหตุที่พื้นฐานทางการสัมผัสรสบทกวีเจือจางลงไป ก็เพราะเราไม่ชินหูกับคำคล้องจอง สัมผัสนอก สัมผัสใน เยี่ยงสมัยก่อนครับ
    	ครั้งโบราณ อย่างที่พี่รุ่งได้กล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมไทยมีพื้นฐานจากการฟัง และสิ่งที่ฟังก็สละสลวย ชาวบ้านเล่นเพลงเกี่ยวข้าว, เพลงปรบไก่, เพลงเทพทอง, จ๊อยซอ, ลำกลอน, ว่าผญา, ร้องโนรา, ร้องเพลงบอกฯลฯ โต้ตอบเป็นของธรรมดาสามัญ ความคุ้นชินเรื่องสัมผัสจึงเจนใจ ถึงขนาดต่อกลอนสดๆยังได้ แม้ในเทศกาลต่างๆ เราก็มีมหรสพให้ฟัง ก็ฟังบทกวีทั้งนั้นแหละครับ กระทั่งในวิถีชีวิตประจำวันซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนา เวลาไปฟังธรรมเทศนาที่วัด หากพระสงฆ์ท่านยังไม่ขึ้นธรรมาสน์ก็จะมีการ สวดโอ้เอ้วิหารราย โดยฆราวาสนั่นแหละ ขึ้นไปสวด เนื้อหาของเรื่องที่สวดล้วนนำมาจากวรรณคดีทั้งสิ้น แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ (ฉบัง, ยานี, สุรางคนาง) ประชาชนก็เลยคุ้นหู อย่าว่าแต่อะไรเลยครับ ขนาดพูดจายังคล้องจอง เช่น 
    	เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า ได้หน้าอย่าลืมหลังเน้อ หรือ เอ็งนี่ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ ระวังจะเตรียมการไว้เก้อนะโว้ย
    	มาเดี๋ยวนี้ เรามีอะไรๆให้ฟังมากเหลือเกิน มิหนำ ปัจจัยอื่นๆอีกหลากหลายประการทำให้คำคล้องจองห่างหูคนไทยยุคไฮเท็คไปเสีย เมื่อไม่คุ้น ก็คิดว่ายาก คล้ายๆกับว่า เราได้ยินบางคนบอก ต้มจืดมะระนี่ขม เราไม่เคยกิน ฟังแต่เขาบอกก็คิดว่า ขม ขม ก็เลยขมอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ เอ๊ะ เขาว่าขม จริงหรือเปล่านะ ลองกินดูซิ ปรากฏว่า มะระไม่ขมสำหรับเรา ภายหลัง เราอาจชอบมะระก็ได้ ใครจะไปรู้
    	นี่ความเห็นผมนะครับ ผิดพลาดอย่างไร โปรดให้อภัยผมด้วยครับ
  • ตราชู

    21 มิถุนายน 2549 12:49 น. - comment id 14696

    ขอบพระคุณทุกท่านครับ ที่ระดมความเห็นเข้ามา มีประเด็นให้ขยายผลอีกแล้วครับ 
    	คุณกุ้งหนามแดงให้ความเห็นว่า กวีนิพนธ์ยากแก่ความเข้าใจ เพราะผู้อ่านต้องอาศัยพื้นฐานทางภาษาเข้ามาช่วย ผมเห็นด้วยครับ แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า สาเหตุที่พื้นฐานทางการสัมผัสรสบทกวีเจือจางลงไป ก็เพราะเราไม่ชินหูกับคำคล้องจอง สัมผัสนอก สัมผัสใน เยี่ยงสมัยก่อนครับ
    	ครั้งโบราณ อย่างที่พี่รุ่งได้กล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมไทยมีพื้นฐานจากการฟัง และสิ่งที่ฟังก็สละสลวย ชาวบ้านเล่นเพลงเกี่ยวข้าว, เพลงปรบไก่, เพลงเทพทอง, จ๊อยซอ, ลำกลอน, ว่าผญา, ร้องโนรา, ร้องเพลงบอกฯลฯ โต้ตอบเป็นของธรรมดาสามัญ ความคุ้นชินเรื่องสัมผัสจึงเจนใจ ถึงขนาดต่อกลอนสดๆยังได้ แม้ในเทศกาลต่างๆ เราก็มีมหรสพให้ฟัง ก็ฟังบทกวีทั้งนั้นแหละครับ กระทั่งในวิถีชีวิตประจำวันซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนา เวลาไปฟังธรรมเทศนาที่วัด หากพระสงฆ์ท่านยังไม่ขึ้นธรรมาสน์ก็จะมีการ สวดโอ้เอ้วิหารราย โดยฆราวาสนั่นแหละ ขึ้นไปสวด เนื้อหาของเรื่องที่สวดล้วนนำมาจากวรรณคดีทั้งสิ้น แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ (ฉบัง, ยานี, สุรางคนาง) ประชาชนก็เลยคุ้นหู อย่าว่าแต่อะไรเลยครับ ขนาดพูดจายังคล้องจอง เช่น 
    	เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า ได้หน้าอย่าลืมหลังเน้อ หรือ เอ็งนี่ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ ระวังจะเตรียมการไว้เก้อนะโว้ย
    	มาเดี๋ยวนี้ เรามีอะไรๆให้ฟังมากเหลือเกิน มิหนำ ปัจจัยอื่นๆอีกหลากหลายประการทำให้คำคล้องจองห่างหูคนไทยยุคไฮเท็คไปเสีย เมื่อไม่คุ้น ก็คิดว่ายาก คล้ายๆกับว่า เราได้ยินบางคนบอก ต้มจืดมะระนี่ขม เราไม่เคยกิน ฟังแต่เขาบอกก็คิดว่า ขม ขม ก็เลยขมอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ เอ๊ะ เขาว่าขม จริงหรือเปล่านะ ลองกินดูซิ ปรากฏว่า มะระไม่ขมสำหรับเรา ภายหลัง เราอาจชอบมะระก็ได้ ใครจะไปรู้
    	นี่ความเห็นผมนะครับ ผิดพลาดอย่างไร โปรดให้อภัยผมด้วยครับ
  • หยาดอรุณ

    21 มิถุนายน 2549 16:07 น. - comment id 14698

    มาตอบต่อ ...
    
    เริ่มจะมีประเด็นที่ขยายกลายเป็นการถกเถียงกันมากขึ้น ... ก็ดี จะได้แตกฉานทางความคิดเห็น และมุมมอง
    
    น้องตราชู พี่รุ่งว่านะ ปรากฏการณ์ที่มีคนมาบ่นว่า ทำไมคนอ่านกวีนิพนธ์กันน้อย คงจะเกิดขึ้นต่อไปอีกนาน
    
    
    หากคนที่เขียนงาน คิดเพียงแต่ว่า ข้าจะเขียนแบบนี้ ข้าจะทำแบบนี้ แล้วโทษคนอ่านว่า คนอ่านไม่สนใจเอง ไม่เข้าใจเอง ไม่สนใจอะไรที่เป็นภูมิปัญญา เป็นสิ่งเก่าๆ โบราณอันทรงคุณค่า
    
    แต่คนเขียนไม่มีการค้นคว้าคิดหารูปแบบที่จะทำให้คนอ่านหันกลับมาสนใจสิ่งที่ตัวเองนำเสนอได้เลย แล้วก็ไปโทษคนอ่าน 
    
    
    ปรากฏการณ์คนอ่านกวีนิพนธ์น้อย ก็คงจะดำเนินต่อไปอีก ... หากมุมมองคนเขียนมองเพียงเรื่องของตัวเอง คุณเป็นคนอ่าน คุณต้องเข้าใจฉัน 
    
    ไม่มีใครเขาจะเข้าใจคนเขียนได้หรอก ถ้าคนเขียนไม่มี \"ฝีมือ\" ในการถ่ายทอด ในการใช้ภาษา ในการใช้เครื่องมือในการสื่อสาร
    
    และไม่มีจิตวิทยาเพียงพอที่จะ \"ชี้นำทางความคิด, ชี้นำทางจิตวิญญาณ\" ให้คนหันมาสนใจงานวรรณกรรมที่มีคุณค่า
    
    ไม่มีความสามารถที่จะดึงดูดใจคนอ่านให้มาเสพงานดีๆ สนใจงานดีๆ ได้ แสดงว่า กวีนิพนธ์ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้วจริงๆ ... เพราะคนเขียนส่วนใหญ่เอาแต่โทษคนอ่าน
    
    
    ถ้าคนเขียน เขียนงานได้ดีจริงๆ มีคุณภาพจริงๆ และมีวิธีที่จะนำพาสังคมได้จริงๆ รับรองได้ว่า กวีนิพนธ์ไม่หายไปไหน มุมมองของคนเขียนกว้างออกไปสู่ความเป็นจริงในปัจจุบัน และคิดค้นพัฒนาตัวเองไป แทนที่จะไปติดความดีงาม คุณค่าในวันเก่าๆ โดยไม่มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย ไม่มีการเรียนรู้ยุคสมัย
    
    ในที่สุด ... นักธุรกิจหัวใส ก็จะหา \"จุดขาย\" จากคุณค่าทางศิลปะ เอามาทำการค้า กวีนิพนธ์ที่มีความบริสุทธิ์ในตัวเอง ที่เกิดจากความคิด ความรู้สึกแท้ๆ ของศิลปิน ก็จะกลายเป็นสินค้า แล้วศิลปินก็จะหลงในตัวตนตัวเองว่า ฉันแน่จริง ที่นักธุรกิจเอางานของฉันไปขาย
    
    เรียบร้อยโรงเรียนจีนค่ะ ...น้องตราชู
    
    
    ศิลปินที่จมอยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเอง ไม่เคยขยายมุมมองให้กว้างเข้าไปสู่ความเป็นจริง ก็กลายเป็นหมูในอวนเรียบร้อย เตรียมแบ่งขายได้ ใครอยากกินพะโล้หมู หมูเนื้อดีนะ เคี่ยวนุ่มๆ ใครอยากกินข้าวขาหมู ก็มีขาย ....
    
    
    เราอยากให้คนหันมาสนใจงานเก่าๆ ที่มีคุณค่า แล้วอนุรักษ์ให้ดีๆ เริ่มจากตัวเองก่อนค่ะ เข้าใจงานเก่า แล้วเข้าใจสังคม เข้าใจความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายเอาไว้ แล้วสร้างตัวตนตัวเองไปให้ถึงจุดนั้น พัฒนาตัวเองเพื่อคนอื่น ... ทำที่ตัวเองให้ดีที่สุด 
    
    
    ถ้าทุกคนตั้งใจทำที่ตัวเองให้ดีที่สุด แล้วถ่ายทอดสิ่งดีงามที่ตัวเองพัฒนาแล้วออกมา คนอื่นก็เดินตาม เราก็เป็น\"ผู้นำ\" กระแสได้ ....
    
    
    เป็น \"ผู้นำ\" ที่นักธุรกิจกลืนกินได้ยาก เพราะมีปัญญาพอจะมองออกความต้องการของนักธุรกิจ เราก็มีอำนาจเหนือกว่าที่จะต่อรองเพื่อช่วยเหลือสังคม
    
    
    มาแสดงความคิดเห็นเพิ่มค่ะ : ) 
    
    
    
    
    
    11.gif36.gif
  • ตราชู

    21 มิถุนายน 2549 16:18 น. - comment id 14699

    ขอขอบพระคุณพี่รุ่งครับที่กรุณาช่วยเสริม ตราชูชอบจริงๆ ได้อ่านมุมมองหลากหลาย ความคิดหลายหลาก แล้วนำแต่ละแง่ แต่ละมุมมาประมวล ประเมิน บางท่านอาจจะว่าเครียดไปหน่อย เอาเป็นว่า กระทู้ต่อไป จะคุยเรื่องเบาๆแล้วครับ แต่สำหรับกระทู้นี้ ก็ยังอยากได้ความเห็นเพิ่มนะครับ ผมพอจะมองเห็นอะไรๆชัดเจนขึ้นแล้วหละครับ ดีใจ ตื้นตันใจจริงๆ ที่เพื่อนๆช่วยกันตอบครับ
  • กรวดสีฟ้า-bluepebble

    21 มิถุนายน 2549 17:30 น. - comment id 14702

    1.gif มาแสดงความเห็นในมุมมองของคนที่จัดได้ว่าเป็นคนทั่วๆไป ไม่ใช่คนที่อยู่ในแวดวงกวีนิพนธ์นะคะ
    (คือแม้จะชอบแต่งกลอน แต่ก็ไม่เก่ง และก็ได้อ่านกวีนิพนธ์สมัยก่อนค่อนข้างน้อยมาก)
    
    เห็นด้วยกับพี่รุ่งในประเด็นที่ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้สร้างผลงานศิลปะเองก็ไม่ได้สร้างงานให้คนทั่วๆไปเข้าถึงได้ งานศิลปะ กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ดังที่เราเคยฟังว่า ต้องไต่กะไดลิง และสมัยนี้ สื่อต่างๆมีมากมายให้เราเลือกเสพ คนเราไม่ค่อยจะหยุดเสียเวลาอยู่กับอะไรที่เข้าใจยาก หรือพยายามทำความเข้าใจกะมัน กลายเป็นความรู้สึกว่ามันเป็นยาขมไป (เหมือนที่น้องตราชูว่า คือได้ยินมาว่าต้มจืดมะระขมเลยไม่ยอมกิน แต่จริงๆอาจจะไม่ขมอย่างนั้น...)
    
    59.gif
    
    แต่ที่จริงนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา เราว่าถ้างานศิลปะมีแรงดึงดูดพอ เข้าใจง่ายพอ และเป็นเรื่องที่สัมผัสได้ คนก็ย่อมจะหันมาสนใจแน่ๆค่ะ 
    
    ขอยกตัวอย่างงานศิลปะจากต่างประเทศนะคะ เราเคยเห็นงานศิลปะจากต่างประเทศมากมาย ซึ่งเขาจัดในสถานที่เฉพาะบ้าง หรือในกลางแจ้งบ้าง จะเห็นได้ว่างานนั้นมีคนสนใจเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะงานมันเข้าใจง่าย คืออาจจะนำเสนอในรูปแบบที่ดูยาก แต่มันมีจุดๆหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจว่า ศิลปินต้องการจะนำเสนออะไร แบบไม่ต้องตีความหรือคิดให้วกวนซับซ้อนวุ่นวายไป 
    
    ยิ่งในสมัยนี้ เราว่าสังคมเราตกผลึกทางความคิดหลายๆอย่าง งานศิลปะมันไม่ใช่อะไรที่จะไม่มีคนเข้าใจ ถ้ามันมีสิ่งที่เขาต้องการนำเสนออย่างชัดเจน 
    
    ซึ่งถ้าจะเป็นไปได้ก็คือต้องให้งานศิลปะนั้นเชื่อมโยงกับความคิดของคนในสังคม ประยุกต์ได้ ถ่ายทอดความเป็นยุคสมัยนั้นได้ บางทีเราอาจจะเชื่อว่าคนสมัยใหม่ไม่ชอบความยุ่งยากซับซ้อนของฉันทลักษณ์ หรือภาษาพูดที่สวยงาม แต่เราว่าไม่จริงนะคะ เราว่ามันเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้สัมผัสกับบทกวีที่มันโดนใจเขามากกว่า ลองคิดง่ายๆ ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาคลั่งใคล้ดนตรีไทย ทั้งๆที่อาจจะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเล่น ไม่เคยสนใจมาเลยก็ได้
    
    46.gif ถ้าจะทำให้บทกวีฮิตได้ ก็ต้องใช้วิธีการเดียวกันค่ะ คือ ผู้นำเสนอจะต้องรู้จริง เข้าถึงศิลปะ และเชื่อมโยงกับยุคสมัยได้ มีสื่อที่ดีทันสมัยในการนำเสนอ 
    
    และที่สำคัญคือความรู้สึกที่ว่า งานศิลปะเป็นของคนทุกคน ไม่ใช่สำหรับความเข้าใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองสูงกว่าผู้อื่น เข้าใจอะไรได้มากกว่าผู้อื่น จนกระทั่งถ่ายทอดแต่สิ่งที่ต้อง \"ไต่กระไดเสพ\" นะคะ
    
    20.gif20.gif
  • กัญจนพร

    21 มิถุนายน 2549 22:14 น. - comment id 14709

    หน้าจะเป็นเพราะสื่อให้ความสำคัญน้อย..ต้องสร้างกระแสให้ได้..คนสมัยนี้ชอบตามกระแส..ไม่ค่อยลึกซึ้งกับอะไรเท่าไร..ถ้าปลูกฝังเข้ามาในบทเรียนมากขึ้นก็คงช่วยได้อีกทาง..หลายวันก่อนดูรายการคุณพระช่วยช่วงคุณพระประชันเขาแข่งกลอนสด..เด็กไทยเก่งๆก็ยังมีนะ..เราก็ช่วยกันสนับสนุน..ใครมีความสามารถก็อย่าเพิ่งท้อถอยนะ..เอาใจช่วย..อีกอย่างหนึ่งถ้าให้มองกวีนิพนธ์เป็นความงามอย่างหนึ่งของภาษา..มันต้องใช้เวลาในการอ่าน..การทำความเข้าใจ..คนสมัยนี้อีกเช่นกันชอบอะไรที่สำเร็จรูปคุณว่ามั้ย..ยกตัวอย่างเพลงสมัยปัจจุบันฟังปุ๊บเข้าใจทันที..แต่คุณอย่าเพิ่งท้อคนที่มองเห็นคุณค่ายังมีอยู่และเขาก็กำลังชื่นชมพวกคุณอยู่เช่นกัน..สู้ๆ..
  • นนทลี

    12 พฤษภาคม 2551 23:20 น. - comment id 20815

    ผ่านมาอ่านค่ะ
    คิดว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคม 
    ไม่ใช่แค่เรื่องคำกลอน บทกวี อะไรเท่านี้หรอกค่ะ
    เปลี่ยนไปทั้งหมด
    เอาแค่เรื่องเดียวนี่ก็ยังเปลี่ยนไปมากขนาดนี้
    
    อะไรๆก็ต้องรวดเร็ว ทำข้อสอบยังต้องทำแบบปรนัย
    เด็กเรียนได้เท่าไหร่ วัดกันที่จำนวนชั้น
    
    ไม่ได้เกิดจากความรู้ความสามารถสั่งสอนกันจริงๆ
    
    สังคมเป็นแบบฉาบฉวยขึ้นไปทุกวันๆ
    พ่อแม่ลูกอยู่ครอบครัวเดียวกันยังแทบไม่มีเวลา
    มาเล่นด้วยกัน มาสอน เล่าเรื่องต่างๆนานาให้ฟัง
    ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า สำหรับสังคมไทย
    ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
    วัฒนธรรมดีๆ โดนวัตถุเข้ามาแทนที่
    แทนที่จะมีความสุขกับอะไรที่พอเพียง
    ก็กลายเป็นดูหนังฟังเพลงตัวใครตัวมัน
    
    จะโทษคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้
    เค้าเกิดมาในสังคมแบบนี้ เค้าก็ต้องอยู่แบบนี้้
    จะรื้อกันจริงๆคงต้องรื้อกันทั้งประเทศ
    คงเป็นไปไม่ได้
    อย่างมากก็คงได้แค่รณรงค์ ส่งเสริม
    
    เสียดายเหมือนกันค่ะ
    ส่วนตัวเป็นคนบ้านนอก ไม่ชอบเมืองกรุงเลย
    เพราะเปลี่ยนไปเยอะ
    บ้านนอก อย่างน้อยก็ยังหลงเหลืออะไรดีๆอยู่บ้าง 10.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน