กระทู้นี้ตั้งขึ้นมาด้วยความอยากทราบจริงๆครับ หนังสือกวีนิพนธ์ซีไรท์นั้นมีหลายเล่ม แต่หากถามใจผมให้เลือกเล่มโปรดมา ๕ เล่มแล้วหละก็ เล่มที่ผมเลือกมีดังนี้ นาฏกรรมบนลานกว้าง ของ ท่านคมทวน คันธนู ผมเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเหตุสำคัญที่ว่า กวีท่านใช้ฉันทลักษณ์หลากหลาย มีการประสมประสานร้อยกรองของหลวง กับร้อยกรองของราษฎร์อย่างกลมกลืน (ท่านผู้อ่านสามารถพบกลอนเพลงพื้นบ้านต่างๆในบทกวีหลายบท) อีกข้อซึ่งผมชื่นชมก็คือ ความอหังการ์กล้าแกร่ง จนบางบทดูจะเป็นกล้ากลั่นเสียด้วย (ดูบทกวีชุด รุ้งเจ็ดสีเป็นตัวอย่าง)คำแต่ละคำทรงพลังหนักหน่วง แสดงถึงอุดมการณ์อันมั่นคงยิ่งของกวี เพียงความเคลื่อนไหว ถือเป็นอีกเล่มซึ่งวิเศษยิ่ง เล่มนี้ต่างจากนาฏกรรมฯ ตรงที่ แม้กวีมีจุดประสงค์จะใช้ผลงานเป็นอาวุธต่อสู้เผด็จการเหมือนกัน แต่ลีลา น้ำเสียง ของท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ละเมียดกว่า แข็งแกร่ง ทว่าไม่ถึงแข็งกร้าว ยิ่งกว่านั้น ในด้านพัฒนาการกลอน ผู้อ่านจะพบลักษณะกลอนเสภาซึ่งเน้นสัมผัสอักษรตรงจังหวะตกกระทบ ต่างจากกลอนในหนังสือคำหยาด ซึ่งเดินท่วงทำนองกลอนท่านสุนทรภู่โดยใกล้ชิด กลอนเยี่ยงนี้เหมาะจะใช้เป็น กลองรบ อย่างยิ่ง เพราะฟังน้ำเสียงหนักแน่นจริงจังขึงขังดีนัก ใบไม้ที่หายไป ต้องขอคารวะและทึ่งกับความสามารถของท่านจิรนันท์ พิตปรีชาไม่รู้วาย ท่านเขียนกลอนได้พลิ้ว ในขณะเดียวกันก็ทรงพลัง การจัดคำในวรรคประณีตบรรจง กระทบใจทุกคำ เป็นคำง่ายๆ อ่านเข้าใจทันที แม้กลอนที่เดินสัมผัสในเยี่ยงคติท่านสุนทรภู่ ท่านก็หยิบมาร่ายเพลงศึกได้อย่างคล่องแคล่ว ม้าก้านกล้วย นับว่าเป็นบทกวีสะท้อนวิถีชีวิตของชาวชนบทที่ชัดเจนที่สุด คำของท่านไพวรินทร์ ขาวงาม ง่าย ทว่ากินใจ บางช่วงประชดประชันถึงใจเหลือเกิน เป็นการประชดแบบเสียดสีระคนขมขื่นซึ่งผู้อ่านจับอารมณ์ได้ และกวีสามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ด้วย ผมไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองเป็นคนเมือง หาก รู้สึกว่า ผมเป็นคนชนบทซึ่งประสบชะตากรรมในเมืองใหญ่โดยแท้ ปณิธานกวี ผมยอมรับตรงๆครับ ว่าตีความอภิปรัชญาในเล่มนี้อย่างยากลำบาก (ก็อย่างว่า ผมมันปัญญาน้อยอยู่แล้ว) แต่ยิ่งตีความยาก ก็ยิ่งบูชาท่านผู้นิพนธ์ เสน่ห์อีกประการหนึ่งของท่านอังคาร กัลป์ยาณพงศ์ คือลีลาโคลง โคลงของท่านมิใช่เดินตามขนบนิราศนรินทร์ หากแต่ยึดถือขนบกวีสมัยอยุธยา น่าสังเกตตรงที่ ท่านอังคารมักจะใช้คำเอกจริงโทจริงเสียเป็นส่วนมาก (ข้อยกเว้นต่างๆ เช่น ใช้คำตายแทนคำเอกได้ฯลฯ ท่านจะใช้น้อย) ทำให้ระลอกคลื่นเสียงสูงต่ำดีหนักหนา ที่กล่าวมาคือหนังสือกวีนิพนธ์ซีไรท์ห้าเล่มที่ผมบูชาครับ เพื่อนๆเล่าครับ มีความคิดเห็นอย่างไร ผมอยากรู้จังเลย
5 สิงหาคม 2550 13:41 น. - comment id 9254
ดีครับวรรณกรรมแสดงถึงอารมณ์ของสังคมที่แสดงออกมาในกาลนั้นๆ ชอบไม่ชอบในดุลพินิจเราควรอ่านอย่างมีความเป็นกลาง
22 พฤษภาคม 2549 10:02 น. - comment id 14380
ขอเลือก 5 เล่มด้วยเช่นกันนะคะ 1. มือนั้นสีขาว ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เนื่องจากท่วงทำนองได้จังหวะ ในลักษณะของการหลุดจากกรอบฉันทลักษณ์ และเนื้อหาคมคาย 2. ปณิธานกวี ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นบทกวีแนวขนบ แต่ไม่ติดกรอบของขนบ มีอิสระลื่นไหลในระหว่างวรรค ระหว่างบรรทัด 3. เพียงความเคลื่อนไหว ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นกวีนิพนธ์ที่ดิฉันอ่านไม่เคยเบื่อเลย ภาพพจน์ในนั้นชัดเจนเหลือเกิน 4. ม้าก้านกล้วย ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม สะท้อนวิถีชีวิตดีเหลือเกิน ทำให้ได้ความรู้ด้วย และชอบในท่วงทำนองอีกเช่นกัน อ่านแล้วได้จังหวะและสะท้อนอารมณ์ ความคิด ได้ดี 5. ใบไม้ที่หายไป ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ท่วงทำนองที่หวานไหว ในเนื้อหาเชิงการเมือง และได้จังหวะดนตรีที่ผ่อนคลายดี แต่ดิฉันกลับไม่ชอบงานของ คมทวน คันธนู สินะคะ ... (หมายถึง งานกวีนิพนธ์รางวัลซีไรท์) เพราะว่า ดิฉันไม่ชอบท่วงทำนองและเนื้อหาค่ะ รู้สึกว่า รสนิยมการเสพงานศิลปะของดิฉันคงไม่ใช่แนวทางนั้น บางคนอาจจะไม่ชอบรับประทานทานอาหารบางอย่าง แม้ว่าอาหารนั้นจะดี อร่อย รสชาติกลมกล่อม (เมื่อสัมผัสกับปลายลิ้นคนอื่น) ก็ตาม นะคะ งานศิลปะก็คงไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานกวีนิพนธ์ที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทางใจ : )
22 พฤษภาคม 2549 12:29 น. - comment id 14381
ไม่เรียงตามลำดับความชอบนะครับ 1. ใบไม้ที่หายไป -จิระนันท์ พิตรปรีชา ลีลากลอนนี่เหนือชั้นจริง ผู้เขียนดูเข้มแข็งและอ่อนโยนอยู่ในที -นึกถึงคำว่า ดอกไม้เหล็ก 2. เพียงความเคลื่อนไหว -เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แสดงชั้นเชิงความคิดของผู้เขียนได้สุดยอดมาก เป็นกวีนิพนธ์ที่นักเรียนนักศึกษาทุกคนจำเป็นต้องอ่าน 3. ปณิธานกวี -อังคาร กัลลยาณพงศ์ งานของท่านอังคาร ต้องเรียกว่าสะท้านใจ และสะเทือนสำนึก \"อนัตตาประหารอัตตาตาย\" 4. แม่น้ำรำลึก -เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นเล่มล่าที่ได้อ่าน เป็นเรื่องราวที่มีแต่ความคิดถึง และเงียบเหงา เหมือนสายน้ำที่เซาะซอนถึงความรู้สึกภายใน ม้าก้านกล้วยผมก็ชอบ แต่ถ้าไพวรินทร์ ผมชอบ \"ฤดีกาล\" มากที่สุด นาฏกรรมบนลานกว้าง ผมก็ชอบคุณคมทวนใช้ภาษาได้ตรง มีจังหวะจะโคน อ่านแล้วฮึกเหิม แต่ผมอ่านฉันทลักษณ์ยากๆไม่ค่อยแตกเท่าไหร่ --ขอแอบบ่นเล็กน้อย หนังสือ นาฏกรรมฯ ฉบับปกเขียว มีหัวควายแห้ง พิมพ์ผิดเยอะมาก อ่านแล้วเสียอารมณ์!!
22 พฤษภาคม 2549 16:50 น. - comment id 14386
ขออนุญาตให้ตราชูถามสักนิดครับ นาฏกรรมบนลานกว้างฉบับปกเขียวนี่ ใช่สำนักพิมพ์มิ่งขวัญ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือเปล่าครับ ถ้าใช่หละก็ ตราชูซื้อมาด้วย พิมพ์ผิดเยอะอย่างนี้ ผมถือว่า สำนักพิมพ์ไม่ให้ความสำคัญกับงานอันทรงคุณค่านี้เท่าที่ควรนะครับ
22 พฤษภาคม 2549 18:42 น. - comment id 14387
ซอยเดียวกัน ชอบที่สุด อมตะ ไม่ชอบที่สุด ส่วนที่เอ่ยชื่อกันมา เฉย ๆ อ่านงานสักเรื่อง อย่าซีเรียสเลยนะ เจอทฤษฎีมาเยอะมาก เอาเป็นว่า งานชิ้นไหน อ่านแล้วเป็นสุข ทิ้งอะไรไว้ให้คิดนิดหน่อย ก็ชิ้นนั้นละ อ่านเรื่องราวของน้องตราชูมาตลอดนะ เล่าให้ฟัง วันที่เป็นนักศึกษาปีหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ยุพิน ตาบอด พี่จูงเธออยู่ พาไปเข้าห้องเรียนหนึ่งปีเต็ม เพื่อนจะต้องพยายามมากกว่าคนตาดีหลายเท่าจริง ๆ แต่พี่เองก็ต้องอดทนมากเหมือนกัน ชื่นชมนะ ที่มีมานะ แต่ดูเหมือนว่าจะเครียดไปไม๊น้อง ทำใจสบาย ๆ อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ การอ่านวรรณกรรมที่เครียดเกินไปก็ไม่ทำให้ใจเป็นสุขหรอกนะ แม้จะชอบมันก็เถอะ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
22 พฤษภาคม 2549 18:47 น. - comment id 14388
อืมม ขอโทษด้วยนะ พูดถึงกวีนิพนธ์เหรอ คือ ถ้าจะชอบสักคนที่เขียน คงเป็นสุจิตต์ วงศ์เทศ กับ ขรรค์ชัย บุญปาน แล้วก็บางบทของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไม่รู้ซิ จำไม่ได้น่ะ แก่แล้ว
22 พฤษภาคม 2549 23:06 น. - comment id 14390
สงสัยอัลมิตราจะมาผิดงาน กวีนิพนธ์ที่ใคร ๆ พูดถึง ก็มีเก็บอยู่ในตู้หนังสือ อ่านผ่านตาบ้างแต่น้อยนักจะหยิบอ่านรอบสอง ช่างแตกต่างกับคนที่แสดงความคิดเห็นข้างต้น อัลมิตรากลับชอบอ่านหนังสือเด็กมากกว่า เช่นความสุขของกะทิ บางทีก็แนวแฟนตาซี ผจญภัยไปเลยค่ะ ไม่ได้มาป่วนนะ .. ก็อยากแสดงความเห็นบ้างนี่นา
22 พฤษภาคม 2549 23:07 น. - comment id 14391
เอ .. พี่พระจันทร์เศร้า คราวนั้นที่อัลมิตราให้กวีนิพนธ์ไป เพียงความเคลื่อนไหวหรือคำหยาด คะ .. จำไม่ได้แล้วแฮะว่าหยิบเล่มไหนให้ไป
23 พฤษภาคม 2549 05:19 น. - comment id 14392
คำหยาดว่ะ เจ้าอิม สงกะสัยมีเยอะจัด แบ่ง ๆ มาบ้างก็ได้นะ
23 พฤษภาคม 2549 12:59 น. - comment id 14394
ตอบตามกระทู้..เท่าที่อ่านมา..ชอบเพียงความเคลื่อนไหวค่ะ.. ตอบตามจริง...ที่ชอบน่าจะเป็นขายหัวเราะ กับมหาสนุกน่ะ ชอบหนูหิ่น กับ สามก๊ก ค่ะ..(หมูนินจา เขียนสามก๊กได้สนุกดี ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ตัวละครเยอะ แต่เขาเขียนให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ ..) ชอบลายเส้นด้วย ภาษาก็เข้าใจง่ายดี..อ่านแล้วไม่มีพิษมีภัย.. ..
24 พฤษภาคม 2549 23:27 น. - comment id 14404
ชอบใบไม้ที่หายไป ของจิระนันท์ค่ะ และแวะมาบอกว่า ที่กระบี่ หาดูหนังสือกลอนต้นอ้อที่คุณถามถึง ไม่มีนะคะ
26 พฤษภาคม 2549 23:02 น. - comment id 14420
สำหรับผมนะครับ..... เป็นเล่มเดียวในดวงใจ (เพราะว่าเป็นเล่มเดียวที่ผมเคยอ่าน) นั่นคือ \"ใบไม้ที่หายไป\" ของจีระนันท์ พิตรปรีชาครับ
27 พฤษภาคม 2549 08:14 น. - comment id 14421
ใบไม้ที่หายไป จิระนันท์ พิตรปรีชา
5 มกราคม 2551 02:33 น. - comment id 20109
ชอบใบไม้ที่หายไปค่ะ เพราะชอบ feminine อยู่แล้ว
18 มกราคม 2554 07:55 น. - comment id 33111
แรคำ ประโดยคำ ค่ะ .... งานเค้าดีจริง!
21 ธันวาคม 2554 09:20 น. - comment id 36676
คำพูน บุญทวี ลูกอีสาน ให้ความรู้สึกสำนึกรักบ้านเกิด และรู้ซึ้งถึงคำว่า เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง
21 ธันวาคม 2554 09:23 น. - comment id 36677
ชอบเก็บเอาบทกลอนของ คมทวน คันธนู ไปให้กำลังใจเพื่อน ๆ ไม่มีใครไม่เคยไม่ผิดพลาด ไม่มีใครไม่เคยขลาดมาแต่ต้น เมื่อมีเมฆย่อมมีความมืดมน หลังพายุผ่านพ้นจึงสร่างซา (ไม่แน่ใจว่าจำมาถูกหรือเปล่านะคะ)