ตราชูนำกลอนมาลงที่นี่ด้วยวิธีใด?

ตราชู

คราวนี้ก็ขออนุญาตเล่าว่า ผมเขียนกลอน และนำกลอนมาลงที่เวปไซต์ได้อย่างไรครับ ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า คนตาบอดกับคนสายตาปกตินั้น แท้จริงเราไม่ได้อยู่ไกลกันเลย
	เริ่มต้นจากการรับรู้อรรถรสบทกลอนก่อนนะครับ ดังได้กล่าวมาแล้วในกระทู้ก่อนหน้านี้ ผมอ่านหนังสือ (จะพูดให้ถูกก็คือ ฟัง) จากห้องสมุดคนตาบอด ๒ แห่งครับ คือ ห้องสมุดคอลฟิลด์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ อ. ปากเกร็ด นนทบุรี อยากยืมเรื่องไหน โทรศัพท์ไปขอแล้วเขาก็จะส่งมาทางไปรษณีย์ครับ แห่งที่สองคือ ห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติ ตั้งอยู่ ณ อาคารชั้น ๒ ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยครับ ที่นี่มีบริการทำสำเนาแถบเสียง สำเนาแผ่นซีดีให้ด้วยครับ
	ผมเนี่ยทำสำเนาเป็นว่าเล่นเลย หนังสือกวีนิพนธ์ซึ่งห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติมีให้บริการ ผมจะต้องเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวให้ได้ เสียค่าสำเนา ๕๐ บาท ต่อ ๑ แผ่นครับ คุ้มจริงๆ ได้มานั่งฟัง นอนฟัง ฟังแล้วฟังอีก นี่คือข้อเฉลยว่า คนตาบอดรับรู้รสจากวรรณกรรมได้อย่างไร พวกเราทำเช่นนี้ทุกคนครับ
	ส่วนที่ว่า คุณน้าท่านอ่านให้ฟังนั้น ท่านจะใช้วิธีอ่านวันละบทสองบทครับ พอผมถูกใจบทไหนก็จะอ้อนท่าน น้า บอกผมจดด้วยครับ แล้วท่านก็จะบอกจด แถมสะกดคำที่ผมสงสัยให้ด้วย พอจดเป็นอักษรเบรลล์แล้ว ก็สนุกซีครับ ผมมีสมุดจดบทกวีซึ่งจะวางไว้ใกล้ที่นอนเป็นประจำ ผมเรียกว่า สมุดข้างหมอน ครับ อ่านเช้าอ่านเย็น อ่านก่อนนอนทุกคืน เรียกได้ว่า คืนไหนไม่ได้อ่านบทกวี ก็หงุดหงิดเป็นบ้าเลยครับ
	จากการทั้งอ่านทั้งฟัง ก็ทำให้ผมจับจังหวะของการวางคำในฉันทลักษณ์แต่ละประเภทได้ ทำนองเดียวกับเพื่อนๆผมที่เป็นนักดนตรี สามารถจำวิธีเล่นเพลงต่างๆ และนำไปเล่นได้ชนิดเหมือนต้นฉบับ นั่นแหละครับ ขอยืนยันว่า กวีนิพนธ์เป็นศาสตร์แห่งการฟัง และทุกคน สามารถเขียนบทร้อยกรองได้ครับ
	อีกประการหนึ่ง ภาษาไทยเราเป็นภาษาดนตรีอยู่ด้วย ฉะนั้น การหัดผันเสียง เล่นกับระดับเสียงสูง ต่ำ หรือเล่นกับเสียง หนัก เบา จะว่าไปก็เหมือนเรานั่งแกะลีลาของดนตรีนั่นเอง ถ้าท่านสังเกตร้อยกรองของผม ท่านจะพบว่า ผมให้ความสำคัญกับแบบแผนมาก เพราะฟังด้วยหูแล้ว เห็นว่า โบราณาจารย์ท่านวางระดับเสียงขึ้น ลง ของแต่ละวรรคได้เหมาะสมยิ่ง  พอไต่ระดับเสียงในหูจนชิน เราเขียนผิดหรือไม่ ใช้วิธีฮำทำนองในใจดูก็รู้ได้แล้วครับ หรือจะอ่านทำนองเสนาะหลังเขียนเสร็จก็ได้เช่นกัน
	ทีนี้มาถึงวิธีพิมพ์ลงเวปบ้างนะครับ เวลาผมเขียนร้อยกรองทุกครั้ง จะเขียนด้วยเสลด (slade) อันเป็นเครื่องมือเขียนอักษรเบรลล์ เสียก่อน จากนั้นก็ลงมือพิมพ์ การพิมพ์ดีดของคนตาบอดเรา ใช้วิธีท่องจำแป้นทุกแถวให้ได้ครับ แล้วก้าวนิ้วขึ้นลงจนไม่ติดขัด (ข้อนี้มิใช่เรืองแปลกเลย พวกเราได้เรียนวิชาพิมพ์ดีดสัมผัสมาตั้งแต่มัธยมต้นแล้วครับ) สำหรับคอมพิวเตอร์ เรามีโปรแกรมสังเคราะเสียงช่วย ถ้ากดตัวอักษรตัวไหน มันก็จะเปล่งเสียงออกมาให้เราทราบ เช่นกดตัว ก ลงไป มันก็จะขาน กอ ไก่ ดังนี้เป็นต้น ทำให้เรารู้ได้ว่า พิมพ์ผิดหรือเปล่า ผิดตัวไหนก็กดปุ่ม back space กลับมาลบครับ
โปรดดูรายละเอียดเรื่อง การใช้คอมพิวเตอร์ของคนตาบอดได้ที่
http://psatansat.exteen.com/20060423/entry
 และจาก
http://psatansat.exteen.com/20060430/entry
	เพื่อพิสูจน์อีกครั้งว่า ทุกสิ่งที่ผมเล่าเป็นความจริง ผมขออนุญาตนำ บทความของ คุณปาจารีย์ พวงศรี จากเวปไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาลงไว้เป็นภาคผนวกด้วยครับ
 
เส้นทางพัฒนาสังคมไอที แด่ผู้พิการ ทางสายตา
ไม่มองจึงมองไม่เห็น              แม้เป็นเปลวแดดแผดเปรี้ยง
เอียงลำจึงตั้งลำเอียง  ไม่เที่ยงไม่คงตรงทาง
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ชื่อ สิทธิ์เราเท่าเทียม ที่ลงใน
http://chu21.exteen.com
บล็อก (blog) ส่วนตัวของ ชูพงศ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ กวีผู้พิการทางสายตาที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็น ของเล่น ชิ้นหนึ่งในการผ่อนคลายความเครียด
ชูพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มมีบล็อกของตัวเองตั้งแต่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวชอบบทร้อยกรองและเขียนเล่นมาหลายปีแล้ว และได้เอามาลงไว้ในบล็อกราว 50-60
บท คาดว่าคงมีคนเข้ามาอ่านมาก เพราะเปิดบล็อกได้เดือนกว่าก็มีจำนวนผู้เยี่ยมชมราว 1,000 คน แต่ไม่ค่อยมีคนติชมผลงานหรือแสดงความคิดเห็นเท่าไรนัก ถ้ามีคนเข้ามาอ่านแล้วคอมเมนท์ผมน้อย
ผมก็จะน้อยใจ เพราะผมอยากให้รู้ว่าคนตาบอดคิดอย่างไร เข้ามาดูแล้วคิดเหมือนหรือต่างอย่างไร แลกเปลี่ยนความคิดกัน ผมจะได้นำไปพัฒนาต่อ
บล็อกของกวีผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืดผู้นี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้หลายคนแปลกใจกับการที่คนตาบอดมีเว็บเพจเป็นของตัวเอง แม้ในความจริงแล้วนับเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อความเพลิดเพลิน
หาความรู้ หรือส่งข่าวสาร มาตั้งแต่ยุค DOS แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้ง่ายดายนัก เพราะท่ามกลางสังคมที่มีกฎหมายระบุถึงความเท่าเทียม
และอ้างคำว่า น้ำใจ กันอย่างทั่วหน้านั้น ยังมีประตูที่ปิดล็อกอีกหลายบานขวางกั้นอยู่
ไปรเวท สทานสัตย์ เจ้าหน้าที่โครงการวิทยุบนอินเทอร์เน็ต สถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ซึ่งตาบอดแต่กำเนิดเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนผู้พิการทางสายตาอาจเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ไม่มากนัก
แต่เมื่อมีโปรแกรม Text to Speech ภาษาไทยมาใช้คู่กับโปรแกรม Screen Reader หรือโปรแกรมอ่านหน้าจอของต่างประเทศก็ทำให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
แต่สำหรับปัญหาที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ในทุกวันนี้นั้น นอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์ของโปรแกรมอ่านหน้าจอที่มีราคาแพงแล้ว
เจ้าหน้าที่โครงการวิทยุบนอินเทอร์เน็ต ยังอธิบายว่า  มีสาเหตุมาจากการที่เว็บไซต์ส่วนใหญ่มักมีไม่มีคำอธิบายรูปว่ารูปนั้นคืออะไร หรือบางเว็บใช้แฟลชในการพัฒนา
ซึ่งโปรแกรมอ่านหน้าจอ ไม่สามารถอ่านข้อความจากเว็บประเภทนี้ได้อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ คนตาบอดยังไม่สามารถอ่านข้อมูลในเว็บที่มีการแชตออนไลน์ได้ เนื่องจากมีการรีเฟรชเร็วเกินไป
รวมถึงเว็บที่ไม่มีลักษณะของการช่วยเหลือในการเข้าถึง เช่น ไม่มี link "skip navigation" หรือไม่มี stylesheet สำหรับการเปลี่ยนรูปแบบของหน้า เช่นการปรับสีหรือขยายอักษรให้ใหญ่
สำหรับคนสายตารางเลือน เป็นต้น
ทุกวันนี้ มีเว็บไซต์ประเภทที่ว่าเยอะมาก เหมือนกับคนไทยไม่สนใจว่าจะพัฒนาเว็บอย่างไรให้คนพิการใช้ได้สะดวก เน้นเรื่องความสวยงามกันอย่างเดียว แม้จะมีคู่มือในการทำเว็บให้ได้มาตรฐานก็เป็นภาษาอังกฤษ
แต่ก็มีคนบอกว่าขี้เกียจศึกษา มันยาก ไปรเวท กล่าว
ในส่วนนี้ อาจารย์วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
หรือเนคเทค กล่าวว่า เนคเทคมีความพยายามเผยแพร่และส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐให้มีการสร้าง Web Accessibility คือ เป็นเว็บไซต์ที่สามารถให้บริการข้อมูลข่าวสารที่อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการสามารถใช้บริการได้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว
แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในขณะที่สิงคโปร์ทำเพียง 2 ปี ก็ก้าวหน้าไปกว่า 70% แล้ว
ทั้งนี้ เนคเทคได้พยายามอำนวยความสะดวกโดยแปลหลักและวิธีการสร้าง Web Accessibility จากเอกสารของ World Wide Web Consortium หรือ W3C (
www.w3.org)
มาแสดงไว้ใน
http://astec.nectec.or.th/atc
เพื่อให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ได้ศึกษาและทำความเข้าใจ โดยหลักทั่วไปของการสร้างเว็บให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงได้ก็คือ การทำให้เว็บไซต์ตอบสนองต่อการทำงานของโปรแกรม
Screen Reader ที่อ่านจากซ้ายไปขวานั่นเอง ส่วนกรณีรูปภาพ ที่โปรแกรมอ่านได้เพียงว่าเป็น image w3c ก็มีคำแนะนำให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์เพิ่มคำอธิบายว่าเป็นรูปอะไร
รวมถึงไอคอน และลิงค์ต่างๆ ด้วย ไม่ใช่การใส่ข้อความสั้นๆ เพียง คลิกที่นี่ แต่ควรบอกปลายทางให้ชัดเจนว่าจะลิงค์ไปที่ไหน เป็นต้น และถ้าหากสงสัยว่าเว็บไซต์ของตนเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้หรือไม่ก็สามารถตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือที่ให้บริการฟรีบนอินเทอร์เน็ตได้
เช่น CynthiaSays โดยบริษัท Hisofware, Accessibility Valet โดยบริษัท Web Thing หรือ Bobby โดยบริษัท Watchfire  ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้เว็บไซต์ไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับความสวยงามมากกว่าการเข้าถึงอยู่เช่นเดิม มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลแก่
IT Digest ว่า ทุกวันนี้มีเว็บไซต์ถึงกว่า 90% ที่ไม่เป็นมิตรต่อคนพิการและไม่ได้มาตรฐานสากลของ W3C และโดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าทุกเว็บไซต์ทำตามคำแนะนำเกี่ยวกับการเป็น
Web Accessibility ก็จะสามารถเพิ่มกลุ่มเป้าหมายได้อีกมาก และไม่ได้เป็นอันตรายกับใครเลย ตรงข้ามกับการเขียนเว็บไซต์ที่ใช้เป็น frame ซึ่งง่ายตอนเขียน แต่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ใช้หลายคน
ดังนั้น การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้หรือ Accessible จึงเป็นสิ่งที่งดงามและยังช่วยให้ช่องว่างในการเรียนรู้ลดลงอีกด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 วรรค 3 บัญญัติไว้ว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด
เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะบุคคล ... จะกระทำมิได้" และมาตรา 55 ที่ว่า "บุคคลซึ่งพิการหรือ ทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก
อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ณ วันนี้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างไร จะเห็นผลในทางปฏิบัติหรือไม่ อาจไม่สำคัญไปกว่า น้ำใจ ที่คนไทยอวดอ้างกันมาช้านาน และคำถามก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะแบ่งปันน้ำใจเล็กๆ
น้อยๆ สละเศษเสี้ยวเวลามาศึกษาการสร้างเว็บไซต์เพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อให้เพื่อนร่วมแผ่นดินของเราสามารถเข้าถึงสังคมไอทีได้อย่างเท่าเทียม...
 ปาจารีย์ พวงศรี
http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03a&content=5661
	นี่คือสิ่งที่ผมสามารถตอบได้ในขณะนี้ครับ ส่วนคำถามอื่นๆซึ่งผมอาจยังกล่าวไม่กระจ่างชัด เพื่อนๆถามตราชูได้เลยครับ ขอยืนยันอีกครั้งครับว่า อาชีพใด หรือกิจกรรมใดที่ไม่ต้องใช้สายตาเป็นองค์ประกอบสำคัญ คนตาบอดเราทำได้ทั้งนั้นครับ
ด้วยความเคารพรักเพื่อนๆทุกท่านครับ
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
_________________________________				
comments powered by Disqus
  • พี่พุด ..สาวบ้านนา

    19 พฤษภาคม 2549 09:29 น. - comment id 14341

    1.gif16.gif29.gif
    พี่พุดค่ะ
    เป็นนักอยากจะเขียนเพียรฝันมา
    หลายปีแล้วค่ะ16.gif
    และ
    อาศัยร่มเงาคุณปีกฟ้า(ชื่อเจ้าของเวบค่ะ)
    รจนาบทกวีและความเรียงนับรวมสองนามปากกาเกือบพันเรื่องแล้วค่ะ16.gif
    
    พี่พุด ปิติใจ ชื่นใจ ชื่นชม
    และ
    แสนศรัทธาในความเพียรของน้อง
    เป็นที่สุดเลยค่ะ
    ทุกตัวอักษรที่น้องแนะนำตัวน้อง
    และ
    งานน้องพี่พุดละเมียดอ่านด้วยความ
    ละมุนละม่อมในนวลใจดวงนี้
    ขอพลี
    ความรักอย่างท่วมท้นให้น้องนะคะ
    และ
    จักเป็นกำลังใจเสมอไปค่ะ
    
    พี่พุดรักน้องมากค่ะ
    จากจิตวิญญาณผ่านจิตถึงจิตค่ะคนดี16.gif
    
    และด้วยชื่นชมภาคภูมิใจ
    ให้เราทุกดวงใจ
    ใน
    ร่มรักเรือนไทยเรือนทองแห่งน้องพี่ 
    ได้พลีพร้อม
    มอบดวงดอกไม้
    มาลัยมงคลรับขวัญน้องนะคะ
    
    รู้สึกเป็นเกียรติมากเลยค่ะน้องรัก36.gif
    
    ร้อยมาลัยหอมหอมมารับขวัญ
    พลีกำนัลแด่คนดีผู้หาญกล้า
    เชิญขวัญเชิญร่ายรจนานะน้องยา
    ตราบจนกว่าลมหายใจสิ้น..พลีแด่แผ่นดินแม่มาตุภูมิ...
    
    
    ด้วยรักล้นใจค่ะ
    16.gif36.gif16.gif29.gif
  • Lillypen

    19 พฤษภาคม 2549 11:10 น. - comment id 14346

    ยินดีที่ได้รู้จักจ้ะ(เราก้อเพิ่งมามะนานนี้เองล่ะ) จะคอยติดตามผลงานนะ
    สู้ๆ46.gif41.gif41.gif41.gif
  • ทะเลจรดฟ้า

    19 พฤษภาคม 2549 11:24 น. - comment id 14348

    16.gif16.gif16.gifอ่านบทความแนะนำตัวแล้ว เพิ่งรู้จักคุณตราชูมากขึ้น เพราะปกติได้เข้ามาอ่านแต่บทกลอน และก็รู้สึกชื่นชมในการเขียน ไม่ทราบจริงๆว่าคนที่มองไม่เห็นจะมีความสามารถเพียงนี้ ซึ่งปกติทั่วๆไป หาน้อยนักที่จะรักภาษา และการกวีถิ่นสยามของเรา ในสมัยนี้  ด้วยความรู้สึกจากส่วนลึกในใจค่ะ ซาบซึ้งมากๆจนไม่รู้จะกล่าวเช่นไรดี ในความพยายามของคุณ ถึงแม้มิใช่ญาติหรือคนที่รู้จัก แต่ได้มารับรู้แล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจค่ะ ที่เรามีคนแบบนี้ ในสังคมไทย อยากให้คนที่มีความพร้อมในทุกอย่างของชีวิต ได้หันมามองท่านเหล่านี้บ้าง...นามว่า ฟ้า คนนี้ ขอเป็นกำลังใจให้คุณเสมอนะคะ36.gif36.gif36.gif
  • เพรง.พเยีย

    19 พฤษภาคม 2549 12:31 น. - comment id 14351

    ขอบคุณที่เปิดโลกทัศน์ของคนตาดีๆ ได้รับทราบมากขึ้นนะคะ
    
    1.gif
  • ทางแสงดาว

    19 พฤษภาคม 2549 13:04 น. - comment id 14354

    16.gif  ยินดี ชื่นชม ขอเป็นเพื่อนด้วยคนนะ
    
    ทางแสงดาว   จะติดตามงานเขียนนะ
    
                                     
    
                                            16.gifรักสหาย16.gif
  • ดอกข้าว

    19 พฤษภาคม 2549 15:10 น. - comment id 14355

    คุณจะรู้ยังไงว่าผมเข้ามาเยี่ยมคุณครับ 36.gif
  • ตราชู

    19 พฤษภาคม 2549 16:24 น. - comment id 14357

    อย่างนี้ครับคุณดอกข้าวและทุกท่าน เวลาผมเข้าไปอ่านกระทู้ เวปเขาก็จะรายงานว่ามีคนตอบเรราเท่าไร โดยทำเป็น ลิงค์ให้ ผมก็กดปุ่ม enter เข้าไปยังลิงค์จำนวนผู้ตอบ จากนั้น ก็กดปุ่ม insert+enter มาเรื่อยๆ จนโปรแกรมมันอ่านว่า table end หมายความว่าหมดตารางต่รางๆแล้ว ผมก็กดปุ่มลูกศรล่างเลื่อนลงมาเรื่อยๆ เป็นการเลื่อนเคอเซอร์มาอ่านทีละบันทัดครับ ข้อความใดปรากฏ โปรแกรมเสียงก็จะรายงานเราทุกประโยค ทำให้ผมทราบได้ครับ
  • ห้วงคำนึง

    19 พฤษภาคม 2549 16:52 น. - comment id 14358

    คุณช่างวิเศษเสียจริง
    อัจฉริยะบุคคลโดยแท้
  • ยังเยาว์

    19 พฤษภาคม 2549 17:34 น. - comment id 14359

    ยินดีต้อนรับด้วยความจริงใจค่ะ
    
    36.gif
  • ไรไก่

    19 พฤษภาคม 2549 23:15 น. - comment id 14363

    สิทธิ์การเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
    ยินดีได้รู้จักค่ะ
    1.gif1.gif1.gif
  • มือ ไหม้พาย

    20 พฤษภาคม 2549 11:19 น. - comment id 14371

    ปรบมือให้ดังๆเลยครับ
  • ครูใหญ่

    22 พฤษภาคม 2549 12:52 น. - comment id 14382

    ยอดเยี่ยม
    แต่ว่าเราจะสื่อสารกันได้อย่างไรเนี่ย
  • ชมอักษร .. ไม่ได้ล็อกอินจ้า

    25 พฤษภาคม 2549 09:01 น. - comment id 14405

    ไม่รังเกียจเลยสักนิดจ้ะ 1.gif
    
    แถมยังชื่นชมอีกนะเนี่ย .. 36.gif36.gif
    
    อ่านหนังสือเยอะกว่าคนตาดีอย่างชมอักษรอีกนะคะ .. 
    เหะ ๆ .. เล่นเอาอายเลยค่ะ .. สามารถอ่านเองได้กลับขี้เกียจซะงั้น ..
    
    ขอคารวะให้ค่ะ .. 29.gif
  • ศารทูล

    2 มีนาคม 2550 16:38 น. - comment id 17063

    นับถือมากครับ
    ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตราชูนะครับ
    29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน