มาใช้อารมณ์กันเถอะ
เวทย์
ผมได้อ่านบทความของ โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ในมติชน
เห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดลอกมาให้อ่านกัน
..........................................................................
ความเข้าใจเรื่องของอารมณ์เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญมากและมีผลต่อการนำมาปฏิบัติในชีวิตจริงๆ และมีผลต่อวิถีชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนในแต่ละขณะเวลาหนึ่งจะต้องมีอารมณ์กันทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บทความในวันนี้เขียนชื่อไม่ผิดครับ "มาใช้อารมณ์กันเถอะ" ไอเดียเรื่องนี้มาจากคุณณัฐฬส วังวิญญู ที่พูดขึ้นมาครั้งหนึ่งในวงสุนทรียสนทนาที่พวกเราทำกันอย่างสม่ำเสมอที่เชียงราย คุณณัฐฬสบอกว่า "พวกเราควรจะต้องพูดคุยกันด้วยอารมณ์ให้มากๆ" คำว่า "อารมณ์" ในความหมายของณัฐฬสนั้นเป็นกลางๆ คือเขาไม่ได้มองคำว่า "อารมณ์" เป็นเรื่องที่ไม่ดีไปเสียหมด ในความหมายนี้ณัฐฬสต้องการให้ผู้เข้าร่วมวงสุนทรียสนทนาใช้อารมณ์ด้านบวกของตัวเองใส่เข้ามาในการพูดคุยด้วย ไม่ใช่พยายามใส่แต่ความคิดความเห็นซึ่งจะทำให้วงสนทนาขาดความสมดุลในมิติของอารมณ์ไป เป็นมิติของคนที่ใช้สมองมากกว่าใช้หัวใจ
อย่างไรก็ตามคำว่า "ใช้อารมณ์" ได้ถูก "ตีความหมาย" ไปใน "ทางลบ" ตั้งแต่ต้น ถ้าใครพูดว่า "ใช้อารมณ์" ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง เป็นพวกที่ไม่รู้จักอดกลั้นอดทน เป็นพวกมุทะลุดุดัน แต่นั่นก็เป็นเพียง "ความหมายหนึ่ง" หากว่าเราจะมอง "ความหมายของอารมณ์" ในอีกความหมายหนึ่งแบบเดียวกันกับที่คุณณัฐฬสได้ลองโยนประเด็นเข้ามาในวงสนทนาก็จะพบว่า "อารมณ์" นั้นเป็นไปได้ทั้งบวกทั้งลบ เป็นไปได้ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เราอาจจะยังไม่ควรด่วนตัดสินให้เป็นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
คุณเดวิด สปิลเลน ที่ร่วมโครงการจิตวิวัฒน์ด้วยกันได้ส่งหนังสือเล่มใหม่มาให้ผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ชื่อว่า "Consciousness & Healing" ตีพิมพ์ในปี 2005 นี้เอง โดยสถาบัน IONS (Institute Of Noetic Sciences) ในสหรัฐอเมริกา เป็นหนังสือเล่มหนาเกือบหกร้อยหน้าแถมตัวอักษรยังเล็กนิดเดียวอีก เป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขชั้นนำจำนวนมากกว่า 50 ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "สุขภาพแบบใหม่" ซึ่งให้ความสำคัญกับ "เรื่องของอารมณ์"
ใน DVD ที่แถมมากับหนังสือเล่มนี้มีคุณหมอผู้หญิงท่านหนึ่งเป็นกุมารแพทย์ เธอสารภาพว่าเธอจะต้องแอบร้องไห้ทุกครั้งที่คนไข้ของเธอเสียชีวิต ในตอนแรกเธอคิดว่าเรื่องนี้เป็น "ความด้อย" ของเธอที่เธอมักจะ "ใช้อารมณ์" ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับว่าเธอจะ "ไม่สามารถควบคุมอารมณ์" ของตัวเธอเองได้และดูจะไม่เป็น "มืออาชีพ" เลย แต่หลังจากที่เธอได้ลองศึกษาเรื่องอารมณ์อย่างจริงจัง เธอพบว่าถ้าเธอสามารถ "เปลี่ยนพลังงาน" ด้านลบคือความเศร้าเหล่านั้นให้เป็นพลังงานด้านบวกได้ เธออาจจะกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ "การใช้อารมณ์" แบบนั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายทางวิชาชีพใดๆ เลย ในทางตรงกันข้าม "การเข้าถึงอารมณ์" ที่อ่อนไหวแบบนี้กลับจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่นับวันจะเสื่อมสลายลงไปนั้น ได้รับการแก้ไขเยียวยาและ "เกิดความรู้สึกที่ดีๆ" เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากยิ่งขึ้น
เมื่อหลายปีก่อนในเว็บไซต์ทางการแพทย์แห่งหนึ่ง ผมเคยเข้าไปร่วมแจมในกระทู้หนึ่งซึ่งเรื่องราวที่พูดคุยกันในกระทู้นั้นมีประเด็นว่า "ในกรณีที่มีทางเลือกในการรักษาคนไข้หลายๆ ทางแพทย์จะมีวิธีการ "ตัดสินใจ" เลือกวิธีการรักษาอย่างไร?" เช่นสมมุติว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่ต้องผ่าตัดดี ควรจะให้ยารักษาหรือควรจะใช้รังสีรักษาดี อะไรทำนองนี้เป็นต้น
ในตอนนั้นผมเข้าไปร่วมแจมในกระทู้นี้และผมเขียนลงไปในเว็บบอร์ดว่า สำหรับผมแล้วผมชอบวิธีการที่อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมว่าน่าจะลองคิดว่าคนไข้ที่เรากำลังรักษาอยู่นั้นเป็นญาติเรา เป็นพ่อเป็นแม่เราหรือเป็นพี่เป็นน้องของเราแล้วเราจะรู้เองว่าเราควรจะเลือกวิธีการรักษาแบบใดให้กับคนไข้รายนี้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการ "ใช้อารมณ์" และ "ความรู้สึก" เพื่อ "สร้างสายใยแห่งความผูกพัน" ระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้เป็นอย่างดี
ปรากฏว่าได้มีแพทย์หลายท่านไม่เห็นด้วย เขียนติดในเว็บบอร์ดบอกว่าวิธีการของผมประมาณว่า "ไม่เป็นมืออาชีพ" แพทย์ก็ส่วนแพทย์ คนไข้ก็ส่วนคนไข้ เราจะต้องรักษาสถานภาพไม่เกี่ยวกัน ถ้าเรานำความคิดว่าคนไข้มาเป็นญาติเรา อาจจะส่งผลทำให้เรา Bias ต่อวิธีการรักษาได้ เช่นแทนที่จะใช้วิธีการผ่าตัดก็กลับมาใช้วิธีการให้ยาหรือในทางกลับกันเป็นต้น
ผมคงจะไม่ได้บอกว่าแนวคิดแบบใดจะถูกต้อง หรือจะมาเขียนเพื่อจะเอาดีหรือเอาชั่วใส่ตัวหรือใส่คนอื่นๆ นะครับ เพียงแต่อยากจะเล่าเรื่องแบบนี้ไว้เพื่อยกเป็นตัวอย่างให้เห็นตามสมมติฐานที่ว่า การปฏิบัติของคนเรานั้นเกิดจากมุมมองหลักระหว่างวิทยาศาสตร์เก่าที่แยกส่วนกับวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มองเห็นความเชื่อมโยงนั้นจะส่งผลต่อการกระทำที่แตกต่างกันไปได้จริงๆ
ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งยังใช้วิทยาศาสตร์แบบเก่าเป็นกรอบคิด) นอกจากจะสอนให้เรา "ไม่ใช้อารมณ์" ซึ่งจะทำให้มนุษย์กลายเป็นหุ่นยนต์ไปทุกทีแล้ว เรายังจะถูกสอนให้แยกอารมณ์และความรู้สึกออกไปจากงานอีกด้วย ในเรื่องหนึ่งวิธีคิดหรือกรอบคิดแบบนี้ก็ได้กลายไปเป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนถึงไปหลายตอนแล้วประมาณว่าเวลาทำงานก็ทำงานอย่าเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาในที่ทำงาน เวลาพักผ่อนก็พักผ่อนห้ามทำงานห้ามคุยเรื่องงานเด็ดขาด จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ "ในระบบวิชาชีพเฉพาะต่างๆ" ที่ไม่เพียงเฉพาะแพทย์เท่านั้นที่เกิดเรื่องทำนองนี้ แต่เกิดขึ้นกับทุกวิชาชีพ ในบริษัทส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้พนักงานพูดเรื่องส่วนตัว ไม่ให้พนักงานแสดงอารมณ์ส่วนตัวในเวลางาน เพราะถือว่าเวลางานก็ทำงานเรื่องส่วนตัวเก็บเอาไปที่บ้าน อะไรทำนองนั้น
ในความเป็นจริงเราก็จะพบว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วในเวลาทำงานเราไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกไปจากเรื่องงานได้เลย
ความเข้าใจผิดด้วยมุมมองหลักที่แยกส่วนแบบวิทยาศาสตร์เก่านี้ ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีแค่ "การฝึกนำอารมณ์มาใช้" กันให้มากๆ ขึ้นเหมือนกับที่คุณณัฐฬส วังวิญญู ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ อาจจะสามารถช่วยให้เกิดความสมดุลของสมองกับหัวใจขึ้นมาได้บ้างหรืออาจจะสามารถช่วยคลี่คลายความไม่ลงรอยความไม่เข้าอกเข้าใจกันอันนำไปสู่ความสุขและศานติในสังคมได้บ้างหรือไม่
.........................................................................
น่าจะลองใช้มุมมองของสหวิทยาการประยุกต์มาใช้กับการเขียนด้วยได้