ความจริงในคำคม โดย มุกหอม วงษ์เทศ .............................................................................................................. "ข้าพเจ้าสามารถหักห้ามใจในทุกสิ่ง ยกเว้นความเย้ายวนใจ" "Paradox" มักจะเป็นคำที่ใช้ทับศัพท์ แต่ก็มีคำแปลอันเยี่ยมยอดว่า "ความย้อนแย้ง" ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคิดยุ่งเหยิงว่า อะไร "ย้อน" มา "แย้ง" กับอะไร ที่แน่ๆ นั้น Paradox ไม่ใช่ถ้อยคำที่รื่นหูหรือลื่นปาก เพราะโดยรากศัพท์แล้ว Paradox แปลว่า สิ่งที่ไปไกลกว่าความเชื่อปกติของคนส่วนใหญ่ "ชีวิตมีความสำคัญเกินกว่าที่จะไปพูดถึงมันอย่างจริงจัง" "Aphorism" เป็นคำที่นิยามและแปลยาก ถ้า "Maxim" แปลกันว่า คติพจน์ และ "Axiom" แปลกันว่า สัจพจน์ เราก็อาจแปล "Aphorism" ทื่อๆ ได้ว่า "คำคม" (ซึ่งรวมถึงพวกสุภาษิต คำพังเพย คำจำกัดความด้วย) เนื่องจาก Aphorism เป็นคำกล่าวสั้นกระชับที่ "กลั่น" มาจากประสบการณ์ มุมมอง และความคิดต่อสรรพสิ่ง Aphorism จึงมักจะแสดงความหลักแหลมและปฏิภาณของผู้กล่าว ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าแอบกังขาวาทะบางวาทะอยู่เป็นประจำ การปะทะกับวาทะไม่ใช่การวิวาทหรือวิวาทะ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ประสงค์ความอึกทึก และปรารถนาจะกังขาในความสงัด ความน่าสงสัยในคำคมบางคำคือ "ความจริง" ในคำคมนั้นๆ ด้วยธรรมชาติและเจตนาที่จะให้ "คม" นั่นเองที่ทำให้เนื้อหาของ Aphorism ดูจะ "จริง" ไปด้วย ส่วนใหญ่แล้ว การเป็นที่จับใจและติดหูของ Aphorism ก็มักจะอยู่ที่ความบรรเจิดและงามสง่าของถ้อยคำ มากกว่าค่าความจริงของข้อความ Eco แยกความแตกต่างระหว่าง Paradox กับ Aphorism ไว้ว่า ไม่จำเป็นว่า Aphorism จะดูเฉียบแหลมเสมอไป ทั้งยังไม่ได้มุ่งหมายที่จะเสนออะไรที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย Aphorism จึงเป็นข้อความที่ต้องการแสดงความลึกซึ้งและความกระจ่างแจ้งในสิ่งที่เป็นที่เข้าใจรับรู้อย่างผิวเผินกันอยู่แล้ว พูดอีกอย่างได้ว่า Aphorism แสดงความคิดเห็นที่ธรรมดาๆ ด้วยลีลาอันบรรเจิด โดยไม่ได้ทำให้เราเห็นอะไรเพิ่มเติมจากที่เห็นๆ อยู่แล้ว เช่น "แอลกอฮอล์ คือ ของเหลวที่ฆ่าคนเป็นและรักษาคนตาย" "อย่ามองโลกอย่างที่มันเป็น แต่มองอย่างที่มันควรจะเป็น" เมื่อใดที่ Aphorism ขัดแย้งกับความเห็นส่วนใหญ่อย่างรุนแรงจนกระทั่งดูราวกับว่ามันจะกล่าวความเท็จ และต่อเมื่อได้สกัดรูปแบบที่ดูเกินจริงของข้อความออกไปจนพอจะมองเห็นความจริงบางอย่างแล้วนั่นแหละ ความเป็น Paradox จะเผยร่างพรางกายออกมา แล้วเราจะทดสอบความจริง (truth) ของ Aphorism ได้ยังไงล่ะ? Eco เสนอให้เราลองกลับ (reverse) ประโยคดูว่า Aphorism ที่ "คมๆ" นั้น หากถูกกลับความหมายแล้วจะยังฟัง "คม" และ "จริง" เหมือนเดิมไหม ถ้าปรากฏว่าความหมายที่กลับแล้วยังคงจริงอยู่ ก็แสดงว่าความจริงของคำคมนั้น "จริง" เพียงบางส่วนเท่านั้น (พูดแบบนี้ก็ถูก พูดกลับตาลปัตรก็ถูกอีกเหมือนกัน) Aphorism ต่อไปนี้จึงน่าเคลือบแคลง เพราะถึงจะกลับหัวกลับหางข้อความตั้งต้นแล้ว มันก็เป็นความจริงได้พอๆ กัน "ใครๆ ก็สร้างประวัติศาสตร์ได้ เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สามารถเขียนประวัติศาสตร์" เ "ใครๆ ก็เขียนประวัติศาสตร์ได้ เฉพาะคนที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์" "มีผู้หญิงบางคนที่ไม่สวย แต่มีไอแห่งความงาม" เ "มีผู้หญิงบางคนที่สวย แต่ไม่มีไอแห่งความงาม" "ใครที่เห็นความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย คนคนนั้นไม่มีทั้งสองอย่าง" เ "ใครที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย คนคนนั้นไม่มีทั้งสองอย่าง" "ยิ่งเราศึกษาศิลปะมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งใส่ใจธรรมชาติน้อยลงเท่านั้น" เ "ยิ่งเราศึกษาธรรมชาติมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งใส่ใจศิลปะน้อยลงเท่านั้น" "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เ "ความรู้สำคัญกว่าจินตนาการ" "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" เ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่อื่น" Aphorism ที่เมื่อกลับความหมายให้ตรงกันข้ามแล้วยังคงความจริงอยู่ได้ ก็ย่อมแปลว่ามันไม่ได้ใส่ใจความจริงอย่างแท้จริง การที่คำคมอย่างนี้ดูเหมือนจะนำเสนอความจริง เป็นเพราะลีลาภาษาที่ดูสวยงามเฉลียวฉลาดเคลือบเอาไว้ต่างหาก แม้จะดูคลับคล้ายคลับคลาในบางครา Paradox กลับไม่ได้มีอุปนิสัยใจคออย่าง Aphorism ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่าเราไม่สามารถกลับประโยคที่เป็น Paradox เพื่อที่จะทำให้ประโยคนั้นจริงได้ เพราะ Paradox เป็นการพลิกกลับวิธีคิดที่เป็นที่ยอมรับในสังคมแต่แรกอย่างแท้จริงอยู่แล้ว Paradox จึงเป็นวิถีทางตรรกะอันยอกย้อนไปสู่ความจริง ถ้าประโยคแบบ Aphorism ทำให้เรารู้สึกคล้อยตามและแทงใจในวูบแรกที่อ่าน ประโยคแบบ Paradox กลับจะทำให้เรารู้สึกสะดุดชะงัก มึนงง และยากจะเชื่อในทันทีจนต้องคิดกลับไปกลับมาอีกหลายๆ ครั้ง "เพื่อที่จะเป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดที่เธอต้องการก็คือข้อบกพร่องสักอย่างหนึ่ง" "การลงทัณฑ์มีไว้ขู่พวกที่ไม่ต้องการทำบาป" "ฉันฝันถึงความเป็นจริง ช่างโล่งอกเสียนี่กระไรที่ได้ตื่นจากฝัน!" "แม้แต่ในขณะที่เขากำลังอยู่ในความเงียบ ก็ยังมีความผิดพลาดทางไวยากรณ์" "เฉพาะพวกที่ตื้นเขินเท่านั้นที่รู้จักตัวเอง" "ความทึ่มเป็นช่วงวัยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความซีเรียส" ถ้าคำคมไม่ได้คมจริงๆ มันจะยังเป็นคำคมอยู่หรือไม่? วัฒนธรรมของเรารู้จัก-ไม่ต้องทะเยอทะยานไปถึงสันทัด-การตรวจสอบคำคมกันบ้างหรือเปล่า? นอกจากสุภาษิตคำพังเพยเก่าๆ แล้ว เรามีปัญญาและปฏิภาณในการสร้างคำคมใหม่ๆ กันบ้างไหม? หรือว่าส่วนใหญ่ที่พอจะมีกลับมักจะเป็นคำทื่อๆ ที่แสดงหรือตอกย้ำวิธีคิดดาษๆ ที่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ทั้งที่คิดในกรอบและคิดนอกกรอบอยู่แล้ว? หรือถ้าเข้าข่ายเป็นคำคมก็อาจจะคมแบบเฝือๆ หรือเป็นประเภท reverse ได้! บางทีวิถีแห่ง Paradox ที่ลึกล้ำที่สุดวิถีหนึ่งคือวิถีแห่งเต๋า "The words of truths are always paradoxical." - Lao Tzu บางที Paradox ก็เป็นสิ่งสูงส่งจนเจ็บแสบ "Take away paradox from the thinker and you have the professor." -Soren Kierkegaard คำที่คมไม่จริง ต้องเพ่งนานๆ จึงจะเห็น แต่การจะเห็น Paradox ได้ ต้องหลับตา ข้าพเจ้าไม่คิดว่าคำที่เพิ่งกล่าวไปนี้ "คม" แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้มันไม่ "จริง"
23 มกราคม 2549 02:11 น. - comment id 13121
ขอบคุณครับ
23 มกราคม 2549 19:19 น. - comment id 13127
ขอบคุณลุงเวทย์ครับ
23 มกราคม 2549 23:00 น. - comment id 13131
วันก่อนซื้อมีดคมมา เพราะสนใจในของแถม คราวนี้สิ ลำบาก คมเกินเหตุ ในที่สุดก็เก็บไว้ในลิ้นชัก แล้วเอามีดทื่อ ๆ ออกมาใช้อย่างเดิม กลัวบาดนิ้ว อ่ะ
24 มกราคม 2549 11:02 น. - comment id 13134
สงสัยที่บาดเข้า..เนี่ยอาศัยแรงเยอะ ไม่ใช่คมจากวัตถุเป็นแน่แท้.. ไม่ค่อยขยันลับมีด จะไปคมตอนไหนเน๊อ.. ..
24 มกราคม 2549 15:37 น. - comment id 13138
ปูเหลียว เราจะโดนเอ็ดกันสองคน ฐานมาป่วนกระทู้ลุง 555 คมซะไม่มีน่ะ
11 พฤษภาคม 2554 12:45 น. - comment id 33250
ผมเป็นคนกตัญญูรู้คุณ ขยันทำมาหากิน รักเดียวใจเดียว ผมไม่มีนิสัยนักเลงท้าตีท้าต่อยนะ ผมให้อภัยคนเสมอ อย่ามามองผมในแง่ร้ายอย่างนั้น ผมเชื่อว่าผมเป็นคนดีคนหนึ่งเท่าที่สังคมจะยอมรับได้ อ้อผมมีข้อเสียเพียงอย่างเดียวนะ คือผมชอบพูดโกหก