เหตุผลพระราชกฤษฎีกา ยุบเลิกกฟผ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดย คณิน บุญสุวรรณ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2548 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอันส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประโยชน์ได้เสียของประชาชนอย่างลึกซึ้ง รวม 2 ฉบับ พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 23 มิถุนายน 2548 ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา พูดง่ายๆ คือ ประกาศปุ๊บก็ใช้ปั๊บเลยทีเดียว ผลบังคับแบบเฉียบพลันทันใด ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 คือ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ เป็นอันยกเลิก นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นมา พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 5 ฉบับ ซึ่ง ณ วันนี้ ได้กลายเป็น "อดีต" ไปแล้วโดยสมบูรณ์ ได้แก่ พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535 ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่ยังพูดปาวๆ แบบไม่อายฟ้าดินว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่แล้วละก้อ ใครคนนั้นถือว่า "พูดความจริงครึ่งเดียว" แต่ "พูดโกหกเต็มคำ" ที่ว่าพูดความจริงครึ่งเดียว คือ ขณะนี้กระทรวงการคลังอาจจะถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ยอมพูด คือ "ไม่ช้าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ก็ต้องขายหมด" ส่วนที่ว่า "โกหกเต็มคำ" นั้น คือ ที่บอกว่าบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ เพราะในความเป็นจริงนั้น การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น ถือเป็น "นิติฆาตกรรม" ซึ่งลบล้างและยุติความเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ในฐานะเป็น "หน่วยงานของรัฐ" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งถือกำเนิดและดำเนินกิจการมาตลอด 37 ปี ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว การที่องค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันต่อสู้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้สั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนำไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น จุดสำคัญ อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของภาคประชาชนในครั้งนี้อยู่ที่บทบัญญัติมาตรา 11(2) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า "ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี" เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย รวมทั้งระบบกฎหมายไทย ที่ราษฎรธรรมดาๆ สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ออกมาใช้บังคับโดยอาศัยเพียงแค่อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่งได้ เพราะก่อนหน้านั้น "ไม่ว่าผู้ใดจะได้รับความเดือดร้อนแค่ไหน จากผลการบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกา" ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปร้องขอให้ศาลหรือองค์กรใดๆ ยกเลิก "กฎ" นั้นได้ อย่างดีก็เพียงแค่ไปฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อขอความคุ้มครองเป็นรายๆ ไปเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น ศาลยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอน "กฎ" หรือ "พระราชกฤษฎีกา" นั้นได้ โดยปกติ การออกพระราชกฤษฎีกาก็จะเป็นการออกมาเพื่อรองรับพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยศักดิ์ทางกฎหมายแล้ว ต้องถือว่าพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ เหตุผลก็คือ พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร แต่พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ออกโดย "คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา" ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และด้วยเหตุนี้ ถ้ารัฐบาลใดเห็นว่าสมควรยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับใด สิ่งที่จะต้องทำ และทำจนเป็นประเพณีในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การเสนอเป็น "ร่างพระราชบัญญัติ" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จะมียกเว้นก็แต่เฉพาะในยุคเผด็จการทหารเท่านั้น ที่ออกประกาศคณะปฏิวัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติกันเป็นว่าเล่น แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ในยุคปฏิรูปการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก กลับมาทุบโต๊ะออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติเสียเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นเสมือนฟ้าฟาดลงมากลางใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า คือ การออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวดเดียว 5 ฉบับ ภายในวันเดียว คือ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 และพร้อมกันนั้น ก็ทำการแปลงสมบัติชาติซึ่งอยู่คู่คนไทย และคนไทยเป็นเจ้าของมาตลอด 37 ปีเต็ม ให้กลายไปเป็นทรัพย์สินของเอกชนและนายทุนชาวต่างชาติอย่างเป็นการถาวร และนี่คือเหตุผลหลักที่ราษฎรธรรมดาๆ ที่รักชาติรักแผ่นดินและหวงแหนสมบัติชาติ จะสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้ เพื่อให้ กฟผ.กลับมาเป็นสมบัติของชาติอย่างเดิม ข้อกล่าวหา ก็คือ เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อประเพณีอันดีงามของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่สำคัญ เป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและของประชาชน พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ออกกฎหมายเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับคำแนะนำและยินยอมจากรัฐสภาตามกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 92 มาตรา 221 และมาตรา 230 วรรคสอง และยังขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2548 นั้น สมควรจะถูกเพิกถอน เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารทำการถ่ายโอนหรือแปลงสภาพ "ทรัพย์สินและกิจการของรัฐ" หรือที่เรียกกันว่า "สมบัติชาติ" ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน ไปเป็นทรัพย์สินและกิจการของเอกชน ซึ่งเป็น "สมบัติส่วนตัว" ของผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในจำนวนผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้น มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ในขณะที่ยังบังคับให้ประชาชนทั้ปงระเทศต้องแบกรับภาระ "หนี้" ของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) นั้นต่อไป โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน "หนี้" ดังกล่าว ถึงแม้จะแปลงสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็ตาม นอกจากนั้น การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ยังมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 87 ที่บัญญัติว่า "รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม และกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค" อีกด้วย เพราะพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเปิดโอกาสให้เอกชนซึ่งรวมทั้งนายทุนต่างชาติ เข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการ หรือถึงขั้นผูกขาดด้วย การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ซึ่งในเบื้องต้นศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว ให้ระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อแปลงสภาพองค์กรนี้ตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จากนี้คงขอบารมีและความยุติธรรมอันสูงส่งของศาลปกครองสูงสุด จงเป็นที่พึ่งแก่ปวงประชาราษฎรผู้รักชาติ รักแผ่นดิน รักความเป็นไทย รวมทั้งลูกหลานไทยตาดำๆ ด้วยเถิด
22 พฤศจิกายน 2548 09:03 น. - comment id 12724
22 พฤศจิกายน 2548 12:59 น. - comment id 12725
ขอบคุณค่ะที่นำความรู้มาแบ่งปันให้ทราบ
22 พฤศจิกายน 2548 13:27 น. - comment id 12726
22 พฤศจิกายน 2548 14:56 น. - comment id 12727
ที่เห็นหมู่นี้สื่อกระจายอ้อนวอนขอให้ทราบ ว่าจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพิ่มหุ้น กฟผ หรืออะไรก็ตามที่เรียกกัน ก็ควรจะ หาวิธีอื่นเช่น ออกพันธบัตรใหม่ หรือ ตราสารการเงินใดๆให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย แล้วรณรงค์อ้อนวอนดังที่ เป็นอยู่ คนไทยจะไม่เสียความรู้สึก หรือแม้นว่าจะออกล็อตเตอรี่ขุดเหมือน ยุคหนึ่งที่กองสลากออกให้โรงพยาบาล ภูมิพล คนไทยก็จะไม่เสียใจเสียความรู้สึก เฉกเช่นที่กระทำอยู่ ขอขอบคุณที่คุณเวทย์ช่วยเสริมน้ำหนัก ด้าน พระราชกฤษฎีกา และ พระราชบัญญัติ แจกแจงมาอย่างละเอียดเห็นภาพชัดเจน หวังว่า คงไม่มีใครมาสั่งลบกระทู้นี้นะคะ ขอร้อง เพื่อชาติค่ะ
26 พฤศจิกายน 2548 16:16 น. - comment id 12762
ลุงเวทย์ครับ สมมุติว่า ผมเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ถูกกฏหมายหรือพระราชกิจฎีกา เวณคืนที่ดิน ไปสร้างเขื่อน สร้างแนวเสาสายไฟฟ้าเกือบค่อนประเทศ สามารถจะฟ้องเรียกคืนได้หรือไม่ เพราะ วัตถุประสงค์ให้เวณคืนเพื่อเป็นของรัฐ แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่ยินยอมได้หรือไม่ครับ
27 พฤศจิกายน 2548 08:09 น. - comment id 12766
มันกลับไปเป็นของรัฐตั้งแต่ถูกเวนคืน ยังไม่นับที่ว่างเปล่าของรัฐอีกมากมายมหาศาล แล้วรัฐ(บาล)ก็เอาไปขาย อ้างว่าไม่มีเงิน แต่ผุดอภิมหาโปรเจ็คได้