When love is not right, why do they kill ? สังคมโศกสลดกับข่าวอาชญากรรมคดีสังหารโหดหลายรายในช่วงนี้ อยากจะข้ามผ่านไปในความรู้สึกของคนในวงการสื่อมวลชนที่แท้จริง คงไม่มีใครอยากยินยลเรื่องราวที่น่าหดหู่อยู่อย่างนั้นทุกวี่วัน แต่พฤติกรรมซ้ำซากเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายฝ่ายต่างระดมความคิดหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในการก่อคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีที่เกิดจากความรักความหึงหวง ความหุนหันพลันแล่นของผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เป็นสาเหตุสำคัญของคดีพิศวาสฆาตกรรมที่สะเทือนขวัญหลายราย เพราะอะไรคนเราต้องสังหารกันด้วยเรื่องของความรักที่ไม่ลงตัว ความปรารถนาอันแรงกล้าทางกามารมณ์ที่ปะทุควบคู่กับความขาดสติ สองสิ่งนี้ผลักดันให้บุคคลที่ไม่ยับยั้งชั่งใจกลับกลายเป็นอาชญากรได้ในพริบตา ในประเด็นนี้มีการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปที่พื้นฐานของจิตใจแต่ละบุคคล ว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร หรือเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมแบบไหน ส่วนใหญ่พบว่าคดีอาชญากรรมรุนแรง เป็นผลพวงของการขาดพัฒนาการในการส่งเสริมมโนธรรมตั้งแต่ช่วงวัยเยาว์ หมายถึงผู้ใหญ่ที่เคยเป็น เด็กมีปัญหาทางครอบครัว กลุ่มหนึ่งจะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์บกพร่อง และมีการก่อพฤติกรรมที่ส่อให้เห็น Inner Child ที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของเขา ซึ่งอาจเป็นในระดับลึก จิตใต้สำนึกผลักดันให้ก่อพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นระยะๆแล้วแต่สิ่งที่มากระทบต่อจิตใจ กลุ่มนักวิชาการลงความเห็นว่า การรักษาสุขภาพจิตและการอบรมเยาวชนให้เป็น คนมีพื้นฐานจิตใจที่ดีแต่เนิ่นๆจะช่วยคลี่คลายปัญหาลงได้ ก่อนที่เขาจะฝังใจในความเชื่อที่ผิดและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องการจะแก้แค้นสังคมเพื่อชดเชยสิ่งที่เขาขาดไปในชีวิต คือความรักและความอบอุ่น ซึ่งเปรียบเสมือนอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจอันโอชะ หากในชีวิตของคนๆหนึ่งไม่เคยได้ลิ้มรสของสิ่งที่พิเศษนี้ เขาก็จะแสวงหาไม่สิ้นสุด เมื่อไม่ได้พบหรือไม่อาจสมหวังได้ ก็จะเกิดความทับถมทางอารมณ์ เป็นเหตุให้มีความพยาบาทชิงชังสูง ซ่อนเร้นและเสแสร้งเพื่อ วางทางไปสู่การสังหาร หรือในช่วงที่ยังสังหารไม่ได้ก็จะก่อพฤติกรรมรบกวนความสงบสุขของผู้อื่น เพราะตนเองเป็นทุกข์จึงระบายกับสังคม @ นักวิชาการด้านวิจัยการศึกษาเยาวชน ดร . อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หัวหน้าโครงการ Child Watch ในสำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย) กล่าวว่า สื่อมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่สร้างบริโภคนิยมทางความคิดที่ผิดทาง เช่นการสร้างเกมความรุนแรงวิวัฒนาการของสื่อที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย ก็นำมาซึ่งสื่อไม่ดีทั้งซีดี วีซีดี หนังสือโป๊ หนังสือการ์ตูนลามก และรายการทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สุด จากผลวิจัยในต่างประเทศระบุว่า 30% ของคนที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกได้รับแรงกระตุ้นจากสื่อ ซึ่งเด็กจะเริ่มสัมผัสสื่อลามกเหล่านี้ได้ตั้งแต่ช่วง ป .2- ป .3 และในช่วง ป .6 จะเป็นเวลาที่หมกมุ่นกับสื่อลามกมากที่สุด เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรเปิดใจคุยเรื่องเพศศึกษากับเด็กตั้งแต่ชั้นประถม อย่าคิดแต่จะปล่อยให้ครูสอน เพราะครูก็พูดได้ไม่เต็มปากเหมือนกัน ในที่สุดลูกก็จะเรียนรู้ตามยถากรรม เราต้องสอนให้รู้ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ความเถื่อนดิบแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และไม่ใช่คุยกันแต่เรื่องเครื่องเพศ เรื่องเพศทางจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ดร . อมรวิชช์ ได้ให้ขั้นตอนการเลี้ยงลูกไว้ว่า 1. พ่อแม่ต้องสร้างขีด ความสามารถในการเป็นเพื่อน ในฐานะของพ่อแม่ไม่ใช่ว่าจะมีคำตอบให้ลูกได้ทุกเรื่อง บางครั้งเราต้องไปด้วยกันกับลูก และทำให้ลูกรู้สึกว่าคุยกับเราได้ทุกเรื่อง 2. ให้ลูกมีเวลาเล่นอย่างเด็กบ้าง อย่างกวดขันให้เรียนอย่างเดียว 3. ให้ลูกเลือกอนาคตเอง แต่สิ่งหลักคือต้องให้ลูกมีความสุขกับการให้ ให้ด้วยน้ำใจไม่หวังสิ่งตอบแทน และสิ่งสำคัญคือ 4. อยากให้ลูกเป็นอย่างไรคุณต้องเป็นต้นแบบนำ ทำความเข้าใจ สักนิดแล้วจะรู้ว่าการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะวัยรุ่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเลย ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใจสู้ซะอย่าง ความหวังของชาติและตระกูลอยู่ที่มือคุณ (วารสารเผยแพร่ อิทธิพลสื่อกับเยาวชน) @ จากการเน้นย้ำของนักวิชาการว่าด้วยอิทธิพลของสื่อต่อเยาวชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระวังกลุ่มสื่อลามก ในขณะเดียวกันส่งเสริมกลุ่มสื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการศึกษาของเยาวชน ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป อนึ่ง การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาควบคู่กับจริยธรรม เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากในโลกยุคใหม่ที่คนรุ่นใหม่เติบโตท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมผสม ยากที่จะควบคุมระบบความนึกคิดได้ และกระบวนการรณรงค์ต่อสู้เพื่อส่งเสริมจริยศาสตร์ยังไม่อาจทัดทานกระแสกิเลสและอบายมุขต่างๆ จึงไม่สามารถครอบคลุมช่องว่างระหว่างความเชื่อถือของผู้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีกับกลุ่มผู้ขาดแนวทางในการดำเนินชีวิตตามครรลองของศีลธรรมจรรยา ความขัดแย้งและความแตกต่างระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีพื้นฐานทางจิตใจคนละระดับนั้นเป็นบ่อเกิดของปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ในเรื่องนี้กลุ่มผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงต่างลงความเห็นว่า ความเป็นไปได้ของการพัฒนาสังคมและคุณภาพบุคคลากร ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต้องมีความเชื่อในสัจจธรรมและผลของกรรมดีและกรรมชั่วเป็นพื้นฐานระดับหนึ่งก่อน ต่อมาอาศัยการเรียนรู้และแก้ไขไม่กระทำในสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม พยายามสร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นคุณประโยชน์ กระทำตนเป็นคนว่านอนสอนง่ายตามพระพุทธพจน์ให้ลดมิจฉาทิฏฐิ มอบความรักความเมตตาให้คนทั่วไปและช่วยกันอบรมสั่งสอนเยาวชนให้เข้าใจบาปบุญคุณโทษ ดำเนินตามแบบอย่างของสมาชิกที่ดีของสังคม เพียงเท่านี้เราก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เมื่อทุกคนทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ และข้อสำคัญให้ความสำคัญกับการทำงานที่มิใช่เพียงเพื่อยังชีพ แต่ส่งเสริมคุณธรรม ช่วยกันให้อาหารทางใจแก่บุตรหลานให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการสะสมอารมณ์ก้าวร้าวหรือชิงชังสังคม และช่วยกันเน้นย้ำการสร้างสำนึกในเรื่องควบคุมกามารมณ์มิให้เกินขอบเขต ไม่มัวเมาสื่อลามกออนไลน์ที่นำเสนอการกระตุ้นความต้องการที่เกินขีดความเหมาะสม ในประการหลังนี้ จะช่วยลดพฤติกรรมนอกรีตนอกรอย และหลีกเลี่ยงจากคดีพิศวาฆาตกรรมหรือการสังหารโหดที่น่าสลดใจลงไปได้ด้วย ทุกวันนี้มีภัยร้ายรอบตัวเรา และภัยในจิตที่เราอาจสร้างขึ้นเองด้วยความไม่รู้เท่าทัน ทุกคนต้องรักษาขัดเกลาใจตนเอง ทำลาย Inner Child ที่ยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เลี้ยงดูเด็กคนนั้นในใจของตนให้เป็นเด็กดี เพื่อสร้างความดีต่อไปอย่างผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะบริบูรณ์ Be calm and take time to teach your inner child to continue living in peace. ช่อชงโค
13 กันยายน 2548 11:26 น. - comment id 11940
สิ่งที่คุณช่อฯ เขียนมาทั้งหมดนั่นแหละ คือเหตุผล แต่ลุงว่า มีอีกหนึ่งเหตุ นั่นคือ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงวิธีของการทำลายชฃีวิต จากภาพยนต์เสียเป็นส่วนมาก บวกกับการคิดอะไรสั้น ๆ ของสังคมยุคนี้ คุณสังเกตเห็นไหม ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ คิดแก้ปัญหากันแบบ too short vision หรือแทบจะเรียกว่า non-vuision ....
13 กันยายน 2548 11:30 น. - comment id 11941
แก้คำผิด คำสุดท้าย non-visio
13 กันยายน 2548 13:37 น. - comment id 11948
บางคนรักเพื่อต้องการชดเชย.. เมื่อไม่สมรัก สมหวัง จึงทำลายสิ่งนั้น ค่ะ
13 กันยายน 2548 20:11 น. - comment id 11958
หนูว่าอยู่กับพื้นฐานครอบครัวค่ะ ถ้าครอบครัวอบอุ่น เข้าใจกัน เขาน่าจะนึกถึงพ่อ แม่ ครอบครัวบ้าง อย่างยังเยาว์ที่ชอบเหงาๆ (ในกลอน) หนักๆ นี่ อยู่ได้เพราะครอบครัวค่ะ มองเห็นความรักความหวังดีของครอบครัว ทำให้มีกำลังใจ แล้วก็รอคอยวันที่จะได้กลับไปหาเขา (ในอีกไม่กี่เดือนนี้แล้ว)
14 กันยายน 2548 10:21 น. - comment id 11977
บางคนฆ่าเพราะว่ายึดติดก็มีค่ะ เช่นคิดว่าคนนี้เป็นของเรา...เมื่อตนเองไม่สมหวังก็ฆ่าทิ้ง กลัวว่าเขาจะไปรักคนอื่น ทั้งที่ไม่เคยพิจารณาตนเองเลยว่า ทำไมเขาจึงไม่สนใจตนเอง กลับเพ่งโทษผู้อื่นแทน.. กุ้งก็ไม่ค่อยรู้อะไรมากหรอกค่ะ แต่เชื่อเรื่องบาปกรรมที่จะส่งผลไป อย่างไม่จบสิ้นค่ะ... ..
14 กันยายน 2548 12:51 น. - comment id 11981
คนเรามันก็มีหลากหลายอารมณ์ ที่สร้างสมอยู่ไว้ในดวงจิต ทางเดียวที่เราจะพิชิต คือการปิดกั้นใจจากความไม่ดี
9 พฤศจิกายน 2550 17:06 น. - comment id 19472