โรคติดเว็บ กับทฤษฎี Tri-E (Entertainment, Escapism and E-Mail Addiction) โดย..ช่อชงโค @โลกไซเบอร์เปรียบไปแล้วไม่ต่างกับมหาจักรวาลพิภพที่มนุษย์พากันหลงใหลแหวกว่ายออกไปอย่างไร้พรมแดน มีนักวิเคราะห์ทางสาขาข้อมูลอีเลคทรอนิค ได้สร้างทฤษฎี Triple E (EEE) อันหมายถึงสาเหตุสำคัญ 3 ข้อ ที่นำให้คนเราต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.) Entertainment 2.) Escapism 3.) E-Mail Addiction. กล่าวโดยสรุปคือ ๑.)ความบันเทิง ทั้งในการค้นคว้าข้อมูลในประเด็นที่สนใจทุกศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาหาความรู้ต่างๆ การหาความเพลิดเพลินจากการสนทนาผ่านจอ หรือการสร้าง Blog (Online Journals) ทุกอย่างที่เป็นสิ่งสันทนาการ ที่ปัจเจกบุคคลสามารถแสวงหาและสร้างได้ในการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ท โดยไม่ต้อง พบกันในชีวิตประจำวัน ๒.) การหลบเลี่ยงจากโลกของความเป็นจริง ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะสั้น-ยาว แล้วแต่ความพอใจและโอกาสที่หาได้ ซึ่งการหลบเลี่ยงนี้ เพื่อลืมช่วงเวลาที่มีปัญหา หรือ หยุดเวลาที่ต้อง พบปะผู้คนรอบตนเพื่ออยู่กับความเป็นส่วนบุคคล ๓.) สภาวะติดสารอีเลคทรอนิค..ประเด็นนี้นักวิชาการด้านสถิติเกี่ยวกับการสำรวจปริมาณผู้เข้ามาเล่นเน็ทพบว่า อัตราเฉลี่ยในการเปิดอ่านอีเมล์คือห้าครั้งต่อวัน..เรียกว่าต้องเปิดอ่านกันเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ หรือมากกว่านั้นก็มี การติดอีเมล์นี้ เป็นเรื่องปกติที่ผู้ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ต้องยอมรับ ว่ามีใจจดจ่อกับการตอบและรับสารทางจอ อย่างไรก็ตาม การสร้างมุมส่วนตัวอยู่ในโลกไซเบอร์ลำพัง ทำให้หลายคนลืมภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว จึงมีผู้จัดโปรแกรมเพื่อแก้ไข โรคติดเว็บ เรียกว่า 12 Way-Program of Recovery from Website Addicts. ขอนำมาแปล เป็นข้อๆเพื่อท่องจำและพยายามปฏิบัติดังนี้ค่ะ ๑.) ฉันจะดื่มกาแฟ และอ่านหนังสือพิมพ์ ตอนเช้า ก่อนที่จะเปิดคอม. ๒.) ฉันจะรับประทานอาหารเช้าบนโต๊ะใช้ส้อมช้อนและจานให้เรียบร้อย ไม่ใช่มือหนึ่งถือแซนวิชแต่อีกมือหนึ่งพิมพ์ ๓.) ฉันจะแต่งตัวก่อนเที่ยง ไม่ลืมเวลาอาหารกลางวัน ๔.) ฉันจะทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า และจัดเตรียมอาหารค่ำ ไม่ใช่อาหารกล่องหรือจานด่วน ด้วยความเร่งรีบที่จะมาอยู่หน้าจอ ๕.) ฉันจะเขียนจดหมายด้วยลายมือไปถึงเพื่อนๆ ๖.) ฉันจะโทรศัพท์รับฟังเสียงคนที่ไม่ได้พูดคุยกันนานมากแล้ว ให้เขาได้ยินเสียงหัวเราะของฉันเหมือนอย่างแต่ก่อน ๗.) ฉันจะอ่านหนังสือเล่ม และออกไปศูนย์หนังสือเพื่อเลือกเรื่องน่าสนใจ เล่มใหม่ๆมาเข้าห้องสมุด ไม่ใช่แผ่นพิมพ์จากเครื่องคอม. ๘.) ฉันจะหันไปฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนรอบข้าง ดูสิว่าใครยังประสงค์ให้ทำกิจกรรมอะไรกับเขาอยู่ ๙.) ฉันจะไม่ใช้ช่วงเวลาที่โทรทัศน์ฉายรายการโฆษณาต่างๆเข้ามาเปิดอ่านจดหมายอีเมล์ หรือตอบกระดานสนทนาใด ๑๐.) ฉันจะออกจากบ้านไปยังสถานที่สวยงามในธรรมชาติ อาทิตย์ละอย่างน้อยหนึ่งหรือสองครั้ง เพื่อเห็นเดือนตะวัน ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่นึกจินตนาการผ่านรูปภาพจากจออินเตอร์เน็ท ๑๑.) ฉันจะไม่ลืมไปธนาคารเพื่อสำรวจบัญชี ไม่ใช่ฝากถอนจากเว็บ จนเห็นแต่ตัวเลขไม่ได้แตะต้องธนบัตรมาเป็นเวลานาน ๑๒.) ฉันจะพักผ่อนนอนหลับเป็นสุข ในยามค่ำคืน และให้จอภาพปิดลง เป็นฝ่ายรอฉันในวันพรุ่งนี้..ไม่ใช่ดึงดูดช่วงเวลาในชีวิตของฉันไปตลอดรัตติกาล. @ ค่ะ อ่านทบทวน ทฤษฎีทริปเปิ้ล 3Eหลายๆรอบก็ได้นะคะ เพื่อรักษาสมดุลย์ระหว่างการสร้างความบันเทิงใจ กับการใช้ชีวิตในโลกของความเป็นจริง ..รักษาสุขภาพกายและใจ มิให้เป็นโรคติดเว็บเรื้อรัง จนอาจลืมว่ามนุษย์ได้คิดสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้งานในการติดต่อสื่อสาร แต่ไม่ใช่สร้างไว้ดูดกลืนจิตใจไปทั้งหมดจนเป็นหุ่นหน้าจอ @ นอกจากนี้ วิวาทกรรมออนไลน์ หรือสงครามอักษรอีเลคทรอนิค ยังส่งผลกระทบให้ผู้รับสารเกิดความเครียด แทนที่จะเข้ามาหาความรื่นรมย์ในโลกไซเบอร์ กลับมาสร้างศัตรูคู่เขม่น ทั้งๆที่ประมาณร้อยละแปดสิบไม่เคยรู้จักกัน ความขัดแย้งอันเกิดจากความคิดเห็นมุมมองไม่สามารถประสานกันได้ ทำให้หุ่นหน้าจอสวมบททหารกลางสมรภูมิ ลานโลกที่เปิดให้แสวงหามิตรภาพ กลับแปรเป็นลานประหัตประหารเชือดเฉือนอารมณ์กันไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว ตามความคิดเห็นของ Blogger-Group หรือกลุ่มผู้เข้ามาเขียนบันทึกเรื่องราวประจำวันในบอร์ดสาธารณะ ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการปะทะคารมกับผู้คนหลากหลายประเภท และมิใช่น้อยจงใจที่จะยั่วโทสะกัน ดังนั้นผู้ทำงานผ่านสารอีเลคทรอนิคต้องกำหนดให้สภาวะอารมณ์ มั่นคงและรู้เท่าทันเจตนารมณ์ของผู้ที่มาติดต่อ จึงขออนุญาตให้คำแนะนำ ว่าไม่ควรจริงจังกับการโต้ตอบในกระดานสนทนา..(แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่จริงใจ) เพียงแต่ไม่เก็บนำเรื่องราวเล็กๆน้อยๆไปคิดมาก หรือหมกมุ่นกับการหักล้างทางความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางจุดแค่คำๆเดียวก็อาจจะ ทำให้คนจำนวนมาก กลายเป็นเหยื่อของสงครามเว็บไซต์ และเมื่อ ผนวกกับการที่มีใจจดจ่อกับการตอบรับสารทางจอ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า๓รอบ เราจึงพบว่า มีกลุ่มคนที่หาความสุขไม่พบ หรือหมดความสุขไปเลยก็มี เพราะการต่อสู้กับลายลักษณ์ที่ไม่ทราบว่ามาจากที่ใดแน่ ยิ่งการขุดค้นเจาะหาแหล่งที่มาของฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเท่ากับเพิ่มความสำคัญให้กับวิวาทกรรมไร้แก่นสารบนลานต่อสู้ยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวที่จะหาข้อยุติในประเด็นเหล่านี้ การเลือกรับสารที่เป็นประโยชน์ต่อจิตใจจึงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล สำหรับผู้ใช้งานเครื่องสมองกลเป็นกิจวัตร จึงต้องเรียนรู้กฎระเบียบ และสร้างวินัยให้แก่ตนเองด้วย มิฉะนั้น Entertainment may turn out to be Extermination ความเพลิดเพลินอาจกลายเป็นการทำลายล้างถอนรากโคน. ช่อชงโค. (๒๙ มิ.ย. ๔๘) นำบทความนี้มาลง หวังว่าคงพบวิธีผ่อนคลายและเครียดน้อยลง นะคะ
29 มิถุนายน 2548 12:56 น. - comment id 11179
ด้วยการที่คลุกคลีกับหน้าจอเหลี่ยมมานาน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเปลี่ยนเป็นแบบที่เรียกว่าพกพาไปได้ แต่ก็ยังรู้สึกเบื่อหน่ายบ้างในบางครั้ง ที่จะต้องกดปุ่ม start .. ดูราวกับจำเป็นเสียเหลือเกิน ที่ชีวิตประจำวันของเราต้องผูกพันกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะด้วยหน้าที่การงานหรืองานอดิเรกผ่อนอารมณ์ก็ตาม ผลที่ได้ก็คือ ได้รู้ ได้เห็น ได้อ่าน ในสิ่งที่ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากอ่าน .. การเสพย์ที่เลือกเฉพาะกิจไม่ได้เช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ค่อย ๆ ชาชิน และเริ่มรู้สึกตัวว่า อะไรกันหนอ วุ่นวายกันเสียจริง ลำพังแค่เรื่องราวภายนอกที่ลมหายใจเข้าออกจมูกอยู่ บางเรื่องก็สาหัสพออยู่แล้ว ยังจะมาอะไรกันหนักหนาที่จอเหลี่ยมนี้อีก บ่อยครั้งเข้า ก็เริ่มมีคาถาสำหรับตนเอง .. ใจไม่นิ่งพอ ก็อย่าเปิดเครื่อง .. เลิกสนใจสิ่งที่ควรสนใจ ตรงนี้หมายถึงหลายๆอย่างที่ประดังมา เลือกที่จะทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี่ที่ไม่มีหัวใจนี้ ตอนนี้หลายคนอาจคิดว่า ฉันไม่ได้เล่นเน็ตสอง-สาม วัน ฉันจะลงแดงตายอยู่แล้ว ต้องเปิด ต้องเล่น ต้องคุย ... ความจริงแล้ว ที่ ๆ มีมีคอมพิวเตอร์เลย อาจเป็นที่ ที่เราพอใจมากกว่านั้น เพียงแต่ลองดูหรือยัง
29 มิถุนายน 2548 20:56 น. - comment id 11181
ต้องเปิดทุกวันค่ะ ด้วยหน้าที่การงานที่รับผิดชอบอยู่ ถ้าไม่ใช่เครื่องตัวเองก็ต้องดูแลระบบที่ทำงาน..อิอิ พูดเหมือนใหญ่โต..มีไม่กี่สายหรอกค่ะ..ต้องแก้ปัญหา เล็กๆ น้อยๆ เช่น User โวยวาย จอไม่ติด (ไม่ยอมเสียบปลั๊ก แหม! ทำไปได้) อะไรทำนองนี้ค่ะ เบื่อไหม....กับหน้าจอเหลี่ยมๆ นี้ ถ้ามีดีไซน์เป็นจอกลมๆ คงตลกดีค่ะ.. ..
30 มิถุนายน 2548 08:19 น. - comment id 11183
ีนักวิเคราะห์ของทางการแพทย์สาขาpsychiatry เรียกภาวะนี้ว่า\"Weboholic \"ซึ่งถือเป็นผู้ป่วย กลุ่ม psychopath ซึ่งจำเป็นจะต้องรักษาด้วย ขบวนการ psychoanalysis ผสมผสาน กับ psychotherapeutics........พึงระวัง๚ะ๛ size>
1 กรกฎาคม 2548 11:47 น. - comment id 11194
เมื่อคืนเข้าดูรายการที่ต่างประเทศ ค่ารักษาอาการติดเว็บนี้คิดวันละประมาณ สองพันบาท นับเป็นอาการที่วัยรุ่นวัยกลางคนวัยดึก ทั้งหลายกำลังเป็นอยู่น่าที่คุณช่อชงโคแล ท่านโรเบิร์ต จะช่วยกันดูแลหาทางแก้ไข ให้ได้นะคะ เป็นบทความที่ดีมีสาระ ทำให้ติดเพิ่มขึ้นอีกนิดค่ะ ทิกิ
3 กรกฎาคม 2548 00:22 น. - comment id 11202
เห็นด้วยอย่างยิ่ง จำได้ว่าบางคราวมีความจำเป็นที่ต้องหายไปนานๆจากเจ้ากล่องสี่เหลี่ยมเจอสิ่งแวดล้อมข้างนอกบ้างก็รู้สึกว่าไม่ถึงกับดิ้นทุรนทุราย ^_^ พอก็เพลิดเพลินจำเริญใจดีกว่าเนอะขอรับ เข้ามาบ้านอันเป็นที่รักหลังนี้ก่อนพอเป็นกษัย เหมือนกับ มาทักทายปราศรัย แลมายลสวนดอกไม้สักอึดใจก่อนนา