30 มิถุนายน 2552 07:20 น.
ตราชู
กึ่งศก
ครุ่นหวาม ครั่นคร้ามหวั่น
เมื่อวันวันหมุนเวียนไว
สิ่งเลวซึ่งเหลวไหล
ไม่ลบเลือน ไม่เลื่อนลา
สังเกตการณ์เศรษฐกิจ
ขุกเข็ญคิดขัดข้องคา
เทียวหมุนกู้ทุนมา
หนุนหนี้ใหม่นอกในหมอง
ภาพรวมพรรคร่วมรัฐฯ
ต่างจ้องกัดกันก่ายกอง
เมามายมาดหมายมอง
ปองปราโมทย์ประโยชน์มี
ไฟใต้ยังไฟติด
พร่าชีวิตผลาญชีวี
ซ้ำพบซากศพผี
เปี่ยมโศกพูนไป่สูญพาล
เสื้อแดงสาดแสงเดือด
ก็เงื้อเงือดง่วนกับงาน-
เรียกคนร้อนรนขาน
แค้นเหลือค้าง...ขอล้างคืน
กึ่งศกยังกกเศร้า
ทรวงเหมือนเป้าซ้อมแม่นปืน
ขื่นขมถูกข่มขืน
สุดไสขับสิ่งคับขัน
กรมซึ้งแล้วกึ่งศก
มันต่ำตก เมืองตีบตัน
เวิ้งว้าง โหวงว่างวัน
เกิดวับหวำ...โอ้กรรมเวร!
(๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒)
22 มิถุนายน 2552 07:45 น.
ตราชู
คารวาลัย น้อมไหว้ครู
(ผมเขียนงานชิ้นนี้ โดยได้แรงบันดาลใจจากบทกวี กรับไม้ลา ของ ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ คอลัมน์ ข้างคลองคันนายาว ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ครับผม)
ร่ำร้อยกรองร้องกล่าว เกรียวกราวกรับ
ได้ซึมซับซาบซ่านประสานประสม
สร้อยเสภาอ่าพรายระบายพรม
ยังห้อมห่มหอมใจอยู่ไม่จาง
ใครจักแจ้งแจรงรู้อย่าง ครูแจ้ง
ผู้แจกแจงศิลป์เจิดประเสริฐกระจ่าง
ใครจักวางทางปูปานครูวาง
คิดถึงปางพ่อครูเคยอยู่ประจำ
ขยับกรับศัพท์ซาลีลากลับ
เลือนกังวานขานรับเคยขับร่ำ
ชลนัยน์ไหลล้นราวฝนพรำ
หัวอกคร่ำครวญคราไห้หาครู
ทุกวันนี้มีแต่เพลงละเลงพล่าม
มันดิบห่ามใจหายระคายหู
แข่งขันโจษโฆษณากันน่าดู
มันพร่ำพรูกลบเสน่ห์เพลงเสภา
พ่อครูขวัญครรไลล่วงไปแล้ว
น้อมใจแผ้วพร้อมธูป เทียน บุปผา
กราบเคารพนบครูขานบูชา
ร่วมวันทา ท่านครูแจ้ง คล้ายสีทอง
(๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒)
หมายเหตุ:
ในวันที่ ท่านครูแจ้ง คล้ายสีทอง จากไปนั้น ผมยังไม่สร่างจากไข้หวัดเท่าใดนักครับ จึงมิได้ติดตามข่าวสาร มารู้เรื่องก็ต่อเมื่อวันศุกร์ที่แล้วนี่เอง ยังไม่เชื่อว่าเป็นความจริง คิดว่าครูท่านเพียงแต่ป่วย ต่อเมื่ออ่านบทกวี กรับไม้ลา ของ ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ ข้างคลองคันนายาว หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ฉบับเมื่อวาน จึงแน่ใจ และรู้สึกใจหายอย่างยิ่งครับผม
9 มิถุนายน 2552 10:57 น.
ตราชู
บุญรำบาย
อัล-กุรอาน อ่านก้อง...............กำจร
ทราบซับศัพท์สารสอน...............สั่งสิ้น
อัลลอฮฺ ไป่ทรงหลอน................เฉลยอรรถ
ใครเล่า ใครพลิกลิ้น...............พล่อยล้วนแถลงความ
อิสลาม สันติแล้...............เลิศเลอ
ถือมั่นทางธรรม์เสมอ...............หมดถ้วน
ใครเอย นั่นใครเออ...............อุตริ
กลเลศกาลีล้วน...............เหล่าร้ายระคายหมอง
ลำยองมัสยิดย้อม-...............เลือดยล
เขาเข่นชีวิตคน...............ฆาตกลิ้ง
เลือดฟูมเล่ห์ฝอยฝน...............ละเลงฝาก
ปืนถ่อยปราดยิงทิ้ง...............ยั่วท้าทายธรรม์
อัล-กุรอาน อ่านก้อง...............กำจาย
ขอเบิกบุญรำบาย...............โบกต้อน
ภัยลามพล่านเพลิงหลาย...............ผันหลีก
ขอยุคสุขคืนย้อน...............เยี่ยงครั้งเขษมสมัย
แด่เหตุการณ์โศกนาฏกรรม คนร้ายบุกยิงประชาชน ณ มัสยิดอัลพุร์กอน หมู่ที่ ๑ ต. จวบ อ. เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส ครับผม
(๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒)
4 มิถุนายน 2552 16:18 น.
ตราชู
รถเมล์เสวนา
กลอนเพลงฮินเลเล
บางเอยบางกอก
เมืองหลวงเมืองหลอกโลเล
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
โตผิด เติมผิด
เห็นมีแต่พิษทั้งเพ
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
จราจรจลาจล
เดือดร้อนวกวนจำเจ
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
รถติดจนมึน
บางคนก็ขึ้นรถเมล์
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
รถเมล์ของเรา
หลายคันมันเก่าโปเก
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
ครวญแต่ ขาดทุน
เหวย ใครเล่าถุนถ่ายเท
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
ขึ้นค่าโดยสาร
ขึ้นมาตั้งนานนมเน
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
รถเอ็นจีวี
เห็นเค้าวันนี้ปรวนเปร
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
ทำเพื่อประชาชน
หรือใครเล่นกลเกเร
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
โกยทรัพย์สรรพเสร็จ
แล้วมาหมกเม็ดกันประเด
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
กรุงเอยกรุงเทพฯ
กำลังอักเสบซวนเซ
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
พวกเราชาวประชา
คงสิ้นหรรษาฮาเฮ
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
บางกอกกลอกกลับ
เฮ้ย มีแต่สับปะรังเค!
(ฮินเลเล ฮินเลเล)
(๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒)
หมายเหตุ:
เพลงฮินเลเล ผมเคยได้ยิน ท่านอาจารย์สุจริต เพียรชอบ ผู้ทรงคุณวุฒิวิชาภาษาไทย ท่านกล่าวไว้ในรายการที่ท่านจัดให้แก่สถานีวิทยุศึกษาเมื่อหลายปีก่อนแล้วครับ ภายหลังมาค้นคว้าข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็พบว่า เพลงพื้นบ้านชนิดนี้ นิยมร้องเล่นกันในจังหวัดพิษณุโลก มีพ่อเพลง แม่เพลง และลูกคู่ วิธีการร้อง ก็คือร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง ส่วนฉันทลักษณ์ กำหนดเป็นกลอนหัวเดียว บังคับลงสระเอเสมอ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องจบหนึ่งบาท (คือลงคำท้ายด้วยคำที่มีเสียงสระ เอ) ลูกคู่ก็จะร้องรับ ฮินเลเล ฮินเลเล ร้องกันไปจนกว่าจะหมดมุก ผมเห็นว่าคำ รถเมล์ ก็เป็นคำอันมีเสียงสระเอ จึงถือโอกาสนำเพลงพื้นบ้านชนิดนี้มาใช้ เพื่อความสนุกสนาน แหละเพื่อสืบสานฉันทลักษณ์ราษฎร์อีกสถานหนึ่ง ท่านที่สนใจเรื่องเพลงฮินเลเล สามารถเข้าไปยังเว็ปไซต์
http://www.aksorn.com/webguide/webguide_detail.php?content_id=1120
หรือเว็ปไซต์อื่นๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมตามแต่อัธยาศัยของท่านครับผม