21 สิงหาคม 2549 12:55 น.
ตราชู
รักแท้
(แรงบันดาลใจจากบทกวี เรียงสร้อยร้อยสรวง ในหนังสือ เรียงถ้อยขึ้นร้อยถัก ของ ท่านคมทวน คันธนู)
วิชชุมมาลาฉันท์ ๘
ร่วมถักรักแท้ มอบแด่มิตรดื่น
เจ็บไข้ใจขื่น จางไข้ใจคอ
สาดแรงแสงรุ่ง สายรุ้งสานรอ
ราวสร้อยร้อยศอ ซึ้งสรรพซับทรวง
รักท่วมรวมท้น มวลชนมีโชค
คลายสุมคลุมโศก ร้ายโลกรรรลวง
รักพร้อยร้อยพริ้ง งามยิ่งเงินยวง
ย้อมไล้ ใหญ่หลวง โลกย้ำลำยอง
สงครามทรามคร่า- ชีวาชีพวาย
ม้วยหลากมากหลาย ศพก่ายซากกอง
ร้อนสู่รู้สึก เมื่อตรึกหมั่นตรอง
ดลม่านดาลหมอง เดือดไหม้ได้มา
ทอรักถักหรู พราวพรูพร้อมพรั่ง
คือวามความหวัง เวี่ยยังวิญญาณ์
รักสื่อฤาสิ้นธุ์ ถั่งรินธารา
ซ่านภพสบผา- สุกพึงซึ้งพูน
ร่วมถักรักแท้ มอบแด่มิตรดื่น
ภูมิแผนแผ่นพื้น คงคืนค้ำคูณ
สุขอวยสวยเอื้อ ต่างเกื้อต่างกูล
ลบโศกโลกสูญ สิ้นเศร้าเซาซม
--------------------------------------------------
21 สิงหาคม 2549 08:31 น.
ตราชู
โกลาหล
ทุกข์น่วมน้ำท่วมเหนือ
หมองเศร้าเหลือไม่ซาลง
ร่ำสินธุ์รินรินสรง
น้ำตาซาบเติมอาบโซม
ภาคใต้เพียบภัยต่อ
น้ำเลือดหล่อหลั่งไหลโลม
โหดหืนยังหื่นโหม
จองเวรให้อย่างใจหิน
ภาคกลางก็พอกัน
โรมรุมรันน้ำลายริน
พวกชังหมายพังชินฯ
พุ่งโผนชนด้วยพลชัง
ชอบชินฯ ก็ฉินท์เฉือน
ก็ลั่นเลื่อนด้วยกำลัง
หลากหลามยกความหลัง
มาพล่ามแล้วไม่แผ่วเลย
ถิ่นฐานสะท้านสะทก
หนักอึ้งอกหนออกเอย
ไทยโอ้ พุทโธ่เอ๋ย
ถึงทุกข์อับท่าวทับเอน
สุดปรับให้สับเปลี่ยน
เป็นกงเวียน เป็นกรรมเวร
ทุกข์ใจจนไทยเจน
ถมในถิ่นธานินทร์ไทย
๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
19 สิงหาคม 2549 11:54 น.
ตราชู
ค้นฟ้าคว้าดาว
ค้นฟ้าคว้าฝัน
เป็นร้อยเป็นพัน
เป็นหมื่นมากมาย
เป็นแสนเป็นล้าน
สำราญเรียงราย
ยุ่งยิ่งหญิงชาย
ยื้อแย่งอยากชิง
ดาวร้องดาวรื่น
ดาวเต้นดาวตื่น
ดาวโลดโดดติง
ดาวเฉิดดาวช่วง
ดาวลวงดาวจริง
ดาวสู่ดาวสิง
ดาวสุกดาวทราม
แล้วดาวดวงไหน
คือดาวน้ำใจ
แจ่มใสแสงวาม
ดาวเหนือเด่นนำ
ทอย้ำทุกยาม
เพื่อเขตเพื่อคาม
เพื่อค้ำเผ่าคน
ไยไม่คิดหา
ปวงดาวบรรดา
เมตตาบันดล
ดาวซึ่งซึ้งศานติ์
เจือจานคนจน
ใช่ดาวร้อนรน
เป็นดาวร่ำรวย
ดาวใดไหนหนอ
พร้อมขานเพลงคลอ
ขับร่ำอำนวย
ร้องเพลงผู้ยาก
อดอยากรรรทวย
ใช่พร้องร้องอวย
เพื่อโอ่ตัวเอง
ค้นดาวคว้าฟ้า
มองหายมองหา
ชีวาหวั่นเกรง
ค้นฟ้าคว้าดาว
ดูเปล่าวังเวง
เยียบย้ำยำเยง
โศกย้ำย่ำยี
(เขียนปี พ.ศ. 2548)
17 สิงหาคม 2549 08:37 น.
ตราชู
เพื่อนๆทุกท่านครับ ผมรู้ครับ ว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ สำหรับงานเขียนชิ้นต่อไปนี้ ผมอาจถูกก่นด่าว่าประณาม อาจถูกสาปแช่งทว่า. ผมขอยืนยันตรงนี้เลยว่า ตราชูไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลยสักนิดครับ ทุกอย่างที่เขียน ปรารถนาให้สังคมรับรู้บ้าง ผมสังเกตวงการเพลงสตริงบ้านเรา พบเพลงรัก รัก รัก เสียมาก วนเวียนอยู่กับ ฉันรักเธอ เธอรักฉัน ฉันอกหัก เธออกหัก จนถึงขนาด สื่อเค้าไปในทาง อยากให้เธอ (ผู้มีเจ้าของอยู่แล้ว) มาเป็นของฉันเสียเลย ฟังแล้วอดหดหู่ไม่ได้จริงๆครับ
ร่านเพลงรัก
(แรงบันดาลใจจากบทกวี คือศิลปินโซ ในหนังสือ เรียงถ้อยขึ้นร้อยถัก ของ ท่านคมทวน คันธนู)
อินทรธนูฉันท์ ๑๒ (ฉันทลักษณ์ซึ่งท่านคมทวน คันธนู เป็นผู้คิดขึ้น)
ฟังเพลงประเลงและพร้อง
ร่ำร้องสราญภิรมย์
รักซ่านประสานประสม
สื่อรักประจักษ์ระเริง
รักเหิมก็เติมกระหาย
กำจายกระเจิดกระเจิง
พาลิ่วจะปลิวเถลิง
โลดรักกระอักอุรา
รักรนปะปนกะร้าง
เสริมสร้างกระแสมิซา
อกหักเพราะรักก็หา
คู่ใหม่หทัยละเมอ
เพลงรักตระหนักก็รู้
โจมจู่ประจำเจอะเจอ
สำนานสนานเสนอ
สืบเนื่องประเนืองซิ่หนอ
คนค้าประดาน่ะคุ้น
เสพภุญช์กะโกยซะพอ
เพลงเนาพะเน้าพะนอ
เป็นนิตย์สนิทภินนท์
รักบ้าแน่ะบ่าระบาด
เกลื่อนกลาดพิเรนทร์พิกล
งมงายฉงายฉงน
งุนงงผิว์หลงก็งวย
เพลานิด, พินิจเถอะหนา
เพลงบ้าตะบักตะบวย
ขอสารสราญแหละสวย
สื่อเพลงเลบงเพราะพราย
เพลงธรรมประจำสถิต
ดับฤทธิ์ทุรนทุราย
ดับเฮี้ยนกระเหี้ยนกระหาย
ดับโหมคระโครมกระหือ
เพลงสรรค์ภินันทะสม
สังคมสลวยก็คือ
รักบ่มนิยมระบือ
ใช่แต่จะแส่ ณ ตน
ฟังเพลงประเลงและพร้อง
ยกย่องผิว์ยินผิว์ยล
เพลงซึ่งคะนึงนุสนธิ์
ศีลธรรมประจำฤทัย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
------------------------------------------------
15 สิงหาคม 2549 14:30 น.
ตราชู
ประชาชนต้องมาก่อน
ถึงท่านผู้โปรยพรสุนทรพจน์
ที่ปรากฏถ้อยคำท่านร่ำไข
ผมกังขา ขอถามถึงความใน
ยังสงสัยสับสนสิ่งปนเป
ประชาชนต้องมาก่อน เมื่อตอนประกาศ
ท่านวางมาดมากมีส่งศรีเสน่ห์
กลัวเป็นแต่แค่โม้ แค่โมเม
เกรงแต่เล่ห์ละเลงลงให้หลงลม
ประชาชนต้องมาก่อน กลับย้อนคิด
เคยพลั้งทิศถอยหลังล่วงทางหล่ม
หลงเชื่อเขาเช้าค่ำเชื่อคำคม
หน่อยก็ตรมน้ำตาชีวาตรอม
ประชาชนต้องมาก่อน เหมือนกลอนกล่าว
เคยพูนผ่าวพิษไข้ เคยไผ่ผอม
ถูกย่ำยีขยี้ขยำต้องจำยอม
จนเลือดย้อมย้ำย้ำ ต้องจำยล
ประชาชนต้องมาก่อน เมื่อย้อนกลับ
คำนึงนับคำนวนแน่มาแต่ต้น
ใครมาก่อนบรรดาประชาชน?
ใครมาก่นกล่าวระบายน้ำลายพรู?
ประชาชนต้องมาก่อน กำจรก้อง
เสียงลือนั้นสนั่นซ้องในสองหู
ประชาชนต้องมาก่อน เมื่อย้อนดู
แท้ พวกกูมาก่อนประชาชน!
๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙