15 มิถุนายน 2549 07:09 น.
ตราชู
เพื่อนๆทุกท่านครับ บทนี้ต้องเรียกว่า ความจริงบวกจินตนาการ กล่าวคือ ในวันที่๑๒ มิถุนา ช่วงพลบค่ำ ผมนั่งดูทีวีกับครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถไปดูกระบวนเรือพระราชพิธีได้ด้วยตนเอง
ขณะฟังเสียงเห่เรือเพลินอยู่นั้น ทุกคนทางบ้านต่างก็ออกอุทาน ตะลึงในความงาม ยามเมื่ออาทิศอัสดงลงลับฟ้า แสงพระสุริยาสาดต้องผืนน้ำ ส่องสะท้อนประกายทองแห่งพระปรางค์,
และรังสีแห่งโบษฐ์วิหารวัดพระแก้ว ชั่งเป็นภาพวิจิตรบรรจงเหลือเกิน
ตกกลางคืน ผมอดใจไม่ไหว วาดภาพในสมองให้วุ่นวายไปหมด แล้วจดทีละวรรค ทีละตอน เขียนไปเขียนมา ก็ออกมาเป็นร้อยกรองบทนี้ครับ เพื่อนๆที่โชคดีกว่าผม กรุณาเข้ามาเสริมภาพความฝันของผม
ให้กลายเป็นความจริงด้วยครับ นึกว่าเมตตาคนตาบอดคนหนึ่ง ให้ได้เห็นภาพใกล้เคียงความจริงที่สุดก็แล้วกันครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ
มหามหุสสวกรรมแห่งลำน้ำเจ้าพระยา
โคลง ๔ สุภาพ
ภาณุมาลาแหล่งด้าว อัสดง
ลอยลับเจียนดับลง เลื่อนโล้
รางรางพร่างพิศวง สวรรค์เสก
เลือนลบยามพลบโพล้ ผ่านเพล้เพลา
ธารวารีรี่ริ้ว รินไหล
หลากหลั่งถั่งชลาลัย แหล่งน้ำ
ยลระยับวับแวมไว ตะวันตก
ตกสู่สินธูซ้ำ สาดเรื้องรังฉาย
พรายพรายพราวพระแก้ว ผกายเรือง
มรกฎงดงามเนือง ขณะนั้น
อาวาสน์อาจเพียงเมือง พิมานหมู่
คลาค่อยลอยสฤษดิ์ดั้น ด่วนด้นดลดิน
ผินแลเลื่อมเลื่อมเที้ยน เทพสถาน
ปรางค์มาศราชเอาฬาร อวดหล้า
มณเฑียรท่านเทียรกาญจน์ เถกิงก่อง
วามจับวับวับจ้า วิจิตรแจ้งใจชน
ยามยล ยลยิ่งย้ำ ยืนยัน
บุญแผ่แต่เพรงบรรพ์ บ่มสร้าง
จึงไทยเจิดไผทขวัญ แคว้นถิ่น
เกินเอ่ย เกินเฉลยอ้าง อวดโอ้โอ่สยาม
สัทธราฉันท์ ๒๑
เมืองเอยเมืองไทยอุไรทาม กษณะทศนะยาม
งามสิแสนงาม สง่ายง
มิ่งแมนมาลอยคละคล้อยลง พิภพปฐวิมง-
คลภินนท์คง ณ นาคร
วังวัดวาววามวิรามวร รตนรุจขจร
กอปรประภากร ประภัสสร์กาญจน์
ฉ่ำรื่นชื่นล้ำลุสำราญ นธิสลิลสะคราญ
เจ้าพระยา ขาน พระคงคา
ยินสำเนียงมี่ระรี่มา มธุสรสวนา
เพลินเจริญพา ภิรมย์กรรณ
เห่เรือแห่งหล้าวิลาวัณย์ พินิจวิธอนันต์
พายยะย้ายผัน สะพรั่งเคียง
สำนานขานศัพท์สดับเสียง พิเราะพจนะก็เพียง
พิณระรินเรียง ระเรื่อยโรย
ถ้อยเอมเปรมปรุงจรุงโปรย คละมรุตขณะโชย
เรือละลำโพย เผยอพาย
ต่างฉันต่างเฉิดประเสริฐฉาย รุจิระกระจะกระจาย
อ่าโพยมอาย อร่ามเรือง
นี่แลคือ ไทย พิไลเมือง วฒนบุรประเทือง
นาคเรศเนือง ก็นับถือ
เลื่องหล้าแหล่ล้วนประมวลลือ กฤตยยศระบือ
นี่แหละนี่คือ อมรคาม
ควรคำนึงตรึกระลึกตาม บุรพคตินิยาม
เทิดทะนงนาม ถนัด ไทย
ชาตินี้, ชาติหน้า, ฤชาติไหน ผิวเสาะธรณิใด
เปรียบประเทียบไป ก็ไป่มี
เอกอำไพรูพระบูรี ดิลกชคมณี
ศรีพิเศษศรี พิสุทธิ์ธรรม
ทำเนียมทำนุกประยุกต์นำ สถิตจิระประจำ
ก่อกุศลกรรม เกษมทรง
เพื่อไทยเป็นไทยและตรัยรงค์ ปรมธวชธง
โบก ณ โลกหลง ตะลึงแล
เพื่อเปรมสุขปรีดิ์มิมีแปร ประดุจสุริยะแข
ดาลชวาลแด นิรันดร
(๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙)
_______________________________
2 มิถุนายน 2549 13:04 น.
ตราชู
๖๐ ปีทรงครองราชย์ อาศิรวาทบรมราชา
โคลง ๔ ดั้นบาทกุญชร
รังรองรัตน์รุ่งทั้ง ถิ่นไทย
ไทยถิ่นพสุธาธร ที่ตั้ง
ตั้งที่ปฐพีไพ- โรจน์แผ่
แผ่โรจน์รามอะเคื้อครั้ง ใคร่ยล
ยลใคร่ครวญแน่แล้ว เลื่องลือ
ลือเลื่องดำเลิงผล เพียบหล้า
หล้าเพียบเทียบนับถือ ประเทศมิ่ง
มิ่งประเทศธราฟุ้งฟ้า เฟื่องไกร
ไกรเฟื่องเนืองสิ่งชี้ เชิดชเยนทร์
ชเยนทร์เชิดองค์ทรงชัย โชติด้าว
ด้าวโชติโสตถิ์เฉิดฉเมนทร์ หมู่สถิต
สถิตหมู่ชนโน้มน้าว เนื่องนันต์
นันต์เนื่องอกนิษฐ์แผ้ว ผ่องภูว์
ภูว์ผ่องไพสิฐสรรพ์ สิ่งถ้วน
ถ้วนสิ่งซึ่งตราตรู ตรัสแต่ง
แต่งตรัสตรึงหล้าล้วน เลิศสถาน
ฉันท์ ๑๙ สลับ
บันโดยเดชอธิบุญอดุลยมหิบาล
เหลือนับประทับนาน ภินนท์
ภินนท์สำนึงธานีสุรภพพิมล
ดื่นธราดล ธเรศแดน
แดนดินดั่งมรุเมืองเมลืองอมรแมน
ผาสุกสนุกแสน สบาย
สบายด้วยบุญญาองค์บพิตรขจาย
เช่นรวีฉาย ชวาลวาม
วามวาวแวววรรัศมิ์นิพัทธ์รุจิระราม
แสงทองสิส่องทาม เสถียร
เสถียรองค์ไท้ธาดาอดิศวรเพียร
ทำนุจำเนียร พระนาคร
นาครจึ่งกระจะแจ้งแจรงคุณขจร
โลกชวนชุลีกร กิดา
กิดาการเกริกกำธรอธิปติจุฑา
ธานิภารา ดิเรกเริง
เริงหกสิบวสะไท้ธไกรฐิติเถลิง
ราชย์ธรรม์ธบรรเทิง ทวี
ทวีพรพราวเพริศพร้อมศุภนฤบดี
นันทธานี นิรันดร์กาล
กาลทรงเป็นปิยราษฎร์นิวาสน์บุรอุฬาร
ราษฎร์สุนทร์วิบุลย์ศานติ์ ประสงค์
ประสงค์ใดได้ดั่งราชหฤทยประจง
เจตน์พระจำนง นิรันดร์เทอญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ประพันธ์ถวาย เนื่องในมหามงคลวโรกาส ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปีนี้ พระพุทธเจ้าข้า
หมายเหตุ
ฉันท์ ๑๙ สลับนี้ ใช้สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ แต่งสลับกับเมฆวิปผุชชิตาฉันท์ ซึ่งเป็นฉันท์ ๓ วรรค กำหนด ๑๙ คำ ด้วยกันทั้งสองชนิด
________________________________________
อธิบายคำในร้อยกรอง
พสุธาธร หมายถึง แผ่นดิน
ดำเลิง คำนี้ แผลงจากคำ เถลิง หากเป็นคำกริยาแปลว่า ขึ้น, ครอบครอง หากเป็นคำวิเศษณ์แปลว่า เจริญ
ราม, อะเคื้อ สองคำนี้มีความหมายว่า งดงาม
ธรา หมายถึง แผ่นดิน
ชเยนทร์ หมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ (ชย สนธิ กับ อินทร แล้วแผลงสระ อิ ของคำหลังให้เป็นสระ เอ)
ฉเมนทร์ หมายถึง แผ่นดิน
นันท์ หมายถึง ความรื่นเริง ความสนุกสนาน ความชื่นชมยินดี
อกนิษฐ์ หากใช้เป็นคำนาม หมายถึง สวรรค์ชั้นพรหมชั้นสูงสุด หากใช้เป็นวิเศษณ์แปลว่า สูงที่สุด เลิศที่สุด ในที่นี้ใช้เป็นวิเศษณ์
ภูว์ หมายถึง แผ่นดิน
ตรัส หากเป็นคำกริยา ใช้เป็นราชาศัพท์ แปลว่า พูด หากใช้เป็นวิเศษณ์ หมายถึง กระจ่าง แจ้ง ในที่นี้ ใช้เป็นวิเศษณ์
มหิบาล หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน
ภินนท์ ตัดมาจากคำเต็มๆว่า อภินนท์ หมายถึง รื่นเริงยิ่ง ยินดียิ่ง
สำนึง หมายถึง อาศัยอยู่
ธเรศ, ธราดล สองคำนี้ หมายถึง แผ่นดิน
มรุ, อมร สองคำนี้หมายถึง เทวดา
ชวาล ถ้าใช้เป็นคำนาม หมายถึง ประทีป โคมไฟ ใช้เป็นวิเศษณ์หมายถึง รุ่งเรือง สว่างไสว
นิพัทธ์ หมายถึง เนืองๆ เกี่ยวเนื่องกัน
ธาดา หมายถึง พระพรหม
ทำนุ หมายถึง บำรุงรักษา
จำเนียร หมายถึง ยืนนาน เนิ่นนาน
กิดาการ หมายถึง คำเล่าลือ เสียงสรรเสริญ
กำธร หมายถึง กึกก้อง สนั่นหวั่นไหว
อธิปติ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ (คำนี้เราเคยคุ้นเมื่อเขียนในรูป อธิบดี นั่นเอง)
จุฑา หมายถึง ปิ่น ใช้เป็นนัยเปรียบเทียบว่า สูงที่สุด
วสะ หมายถึง ปี
ฐิติ หมายถึง ตั้งอยู่
นฤบดี หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน
สุนทร์ คำนี้ก็คือคำว่า สุนทร นั่นเอง หมายถึง ดีงาม
วิบุลย์ หมายถึง เต็มเปี่ยม
_________________________________