18 มิถุนายน 2549 09:38 น.

พลานุภาพแห่งกาพย์กลอน

ตราชู

เพื่อนๆทุกท่านครับ ผมนำงานเขียนบทนี้มาลง ถือเป็นการฉลองครบ ๑ เดือนในบ้านกลอนไทยให้กับตัวเองครับ ผมเข้ามาอยู่ที่นี่ วันแรก ๑๗ พ.ค. ถึงวันนี้หนึ่งเดือนพอดี ได้รับมิตรภาพอย่างล้นหลาม ทำให้ชีวิตไม่อ้างว้าง และสำคัญเหนืออื่นใด คือได้เห็นพลังแห่งกาพย์กลอนอันยังยืนยงคงอยู่อย่างทรงศักดิ์ ผมหวังว่า เรือนไทยหลังนี้ จะเป็นแหล่งรินถ้อยร้อยกรองเพื่อสังคม เพื่อธำรงวิถีไทยให้จีรังตลอดไป ชั่วนิรันดรครับ

พลานุภาพแห่งกาพย์กลอน
โคลง ๔ สุภาพ
	คราวใด ภัยแผดด้าว				ภูวดล
ร้อนรุ่มคลุมมวลชน						ชีพช้ำ
อาบเอิบเติบอิทธิพล					พาลแผด
ทนขื่นกลืนโศกกล้ำ						กลบเศร้ากรมศัลย์
	วันวันไหวหวั่นว้าง					ว่างวาย
โรยร่วงรารอนราย						รวดร้าว
ดูเดียวเดี่ยวโดยดาย					แดดับ
ดับดิ่งดาลแดนด้าว						ดุ่มด้นแดนใด
	คาบนั้น ไกรกาพย์แก้ว				กลอนโคลง
ฉันท์เฉิดเจิดจรรโลง					หล่อเลี้ยง
เผยยุค...ผ่านยุคโยง					ยืนหยัด
พ่างเก็จพราวเพชรเกลี้ยง					กลอกกลิ้งผกายฉาน
	คำขานไขขับขึ้น					แข็งขัน
ถางถากเทียวทางธรรม์					เที่ยงแท้
ฟูไฟใฝ่เฟื่องฝัน						ฝังฝาก
ก่อกิจ, ก่อเกียรติแก้					เกี่ยงกู้กาฬกรรม
	ลำนำลำนักเน้น					ลำเนา
พราวพร่างแพรวพรายเพรา					เพริศพร้อย
พูนเหมผ่องพรรเหา						เห็นเผจิด
ล้วนถักลายลักษณ์ถ้อย					ถี่ถ้วนควรแถลง
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
	ยามยากระยำเพราะทุรยุค
ทรทุกข์กระทุ่มแทง
ดาลเดชประดังรณแสดง
ระดะดาสุธาดล
	ใครเย้ยฤหยามเยอะแยะเยาะหยัน
วิถิมรรคะมืดมน
กลอนกาพยก้องกิติถกล
พละกล้าจะท้ากูณฑ์
	ใดเล่าจะเลือนพหลหลาย
ทิศภายพิพัฒน์พูน
สาดส่องผสานประดุจสูรย์
รพิสรรค์พะบรรสาน
	เถิดเพื่อน, ผิว์เผยพจน์มิแผ่ว
พจิแผ้วจะผลาญพาล
มากหมู่เถมินริปุประมาณ
มรณาศอนาถนันต์
	กาพย์กลอนเถกิงถกลแก้ว
กระจะแวว ณ ไกวัล
ชุมโชติประชวมรศมิฉัน
ประลุชัยพิไลชาญ
กาพย์ยานี ๑๑
	กี่ย้ำ กี่ย่ำแย่
กี่บาดแผล กี่บ่วงพราน
กี่คราว กี่กล่าวขาน
กี่ล้านคน กี่ล้นคอย
	ใจเหน็บยังเจ็บหนาว
ถมรวดร้าว ทิ้งร่องรอย
ยังท้อ ยังย่อถอย
ดังหลงเถื่อนลืมเลือนทาง
	รอท่า รอหาทิศ
แต่ทางปิดแทบทุกปาง
คลุมหมอง คลุ้มครองหมาง
จ่อมจมมิดจนจิตมัว
	กาพย์กลอนกำจรกล่น
ชุบชีพชนม์ชื่นชมชัว
ฟอกหล้า ฟอกฟ้าหลัว
ให้วามหาว ให้วาวเห็น
	ทุกคำที่คร่ำเขียน
คือบุญเพียรควรบำเพ็ญ
แลขำ ลาญลำเค็ญ
ไขรักเรื้องโคมเรืองราย



กลอนสุภาพ กลบท สุรางค์ระบำ	
	เพียรเรียงถักรักถ้อยเรียบร้อยถ้วน
เป็นสิ่งมวลส่วนมิตรไพสิฐหมาย
ด้วยวรรณแพรวแววพราววับวาวพราย
เก็บรุ้งสายรายส่องรังรองทรวง
	มากำนัลกันนิตย์ในกิจนี้
ในทุกศรีที่สรรพบรรทับสรวง
ทั้งร้อยดาวราวเด่นไม่เร้นดวง
มาเสริมตวงทรวงแต้มแทรกแซมตาม
 	รินรศจำร่ำเจื้อยรี่เรื่อยแจ้ว
เพลินพากย์แว่วแผ่วหวานพลิ้วผ่านหวาม
เชิญจิตไขว่ใจคว้าวาจาความ
ให้รุ่งวามรามหวังจีรังวาร
	เปรียบคือเทียนเขียนทนเพื่อคนทุกข์
ที่ทนยุคทุกข์ยั่วทึมทั่วย่าน
เนืองสุขนำสำเนียงส่งเสียงนาน
คำไขจารขานจงเคียงคงใจ
	เรียบเรียงค่อยร้อยคำจดร่ำคิด
แด่ผองมิตรพิศมองฟ้าผ่องใหม่
ก็สุขด่ำซ้ำดิ่งเกินสิ่งใด
ซึ้งทรวงในใสนั้นสุขสันต์เนา


หมายเหตุ
กลบทกลอนชื่อ สุรางค์ระบำ นี้ ผมพบตัวอย่างจากบทกวีชื่อ รุ้งรุ่ง ประพันธ์โดย ท่านคมทวน คันธนู จากหนังสือ จตุรงคมาลา จึงลองเขียนดูเพราะใจรักครับ
_____________________________________				
16 มิถุนายน 2549 09:11 น.

กราบเท้าพ่อ

ตราชู

กราบเท้าพ่อ
(แรงบันดาลใจจาก เพลง ลูกดื้อ ประพันธ์โดย ท่านอาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ ขับร้องโดย ท่านอาจารย์ชินกร ไกรลาส)
	กราบเท้าพ่อ พ่อผู้บังเกิดเผ้า
แบกภาระหนักเบาภายในบ้าน
ลูกจำนรรจ์กลั่นกล่าวมากราบกราน
แดสะท้านดาลสะทกด้วยอกสะเทือน
	คำพร้องขานพร่ำคือคำพ่อ
ทุกข์ก่อที่กลุ้มก็กลบเกลื่อน
แต่...คำพ่อรำพึงไม่ถึงเดือน
ลูกก็ล้วนเลยเลื่อนหลงเลือนลืม
	กลับทุ่มเถียงถ้อยถ้อให้พ่อทุกข์
ไม่มีที่จะปลุกให้พ่อปลื้ม
สัญญา, สัญญา คล้ายคำยืม
พูดพร่ำด่ำดื่มได้ครู่เดียว
	ลับหลังพ่อแล้วก็แผล็วโลด
กัดกรามกร้าวโกรธทำกราดเกรี้ยว
สามัคคีเคลื่อนคลาดคลายขาดเกลียว
บ้านเราเปล่าเปลี่ยวเยี่ยงก่อนปาง
	หลายเรื่องหลายราวที่พ่อรับ
หลายสิ่งหลายสรรพที่พ่อสร้าง
หลายท่งหลายเถินพ่อเดินทาง
หลายยากหลายอย่างพ่อยลยิน
	ไยลูกทั้งหลายยังร้ายร้อน
คล้ายลืมคำสอนของพ่อสิ้น
ไยท่วมถั่งท้นด้วยมลทิน
ไยจมอยู่อาจิณมิกลับใจ
	กราบเท้าพ่อ พ่อผู้บังเกิดเผ้า
พ่อยังเหนื่อยนานเนาในเรือนใหญ่เมื่อไรหนอ เรือนเราจึงเรืองไร
เมื่อไรหนอ ลูกได้เป็นคนดี

(๑๕มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙)
____________________________				
15 มิถุนายน 2549 16:54 น.

สายลม แสงแดด ดอกไม้ และสายน้ำ

ตราชู

เพื่อนๆทุกท่านครับ ร้อยกรองบทนี้เกิดจากความซุกซนของผมโดยแท้ คือ ผมเกิดพิสมัยในกลบท กบเต้นสามตอน มานานแล้ว คิดว่าน่าจะเขียนยาก ตัวเองคงทำไม่ได้ ต่อมา ภายหลัง จึงเกิดความอยากลอง ถือเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งครับ ด้นไปเรื่อยๆ โดยมี ท่านคมทวน คันธนู เป็นกวีต้นแบบ และแรงบันดาลใจสำคัญยิ่งเฮ่ออออออออออออ หืดขึ้นคอเลยครับกว่าผมจะทำได้
สายลม แสงแดด ดอกไม้ และสายน้ำ
กลอนกลบท กบเต้นสามตอน

	ลมไหวไหลว่องล่องหวิว
โชยริ้วฉิวร่ำฉ่ำรื่น
สุขยงส่งยิ่งสิงยืน
มาชื่นมื่นชวนมวลเชย
	แดดสวยด้วยซ่านดาลส่อง
เอี่ยมผ่องอ่องพาอ่าเผย
เลอค่าหล้าคำล้ำเคย
ไม่เฉยเมยช้ามาชม
	มาลีมีหลากมากล้วน
เอมชวนอวลชายอายฉม
ชลพรูชูพร่ำฉ่ำพรม
ขาดตรมขมตรึงขึ้งตรอง
	เพ็งอยู่ภูว์ยิ้มพิมพ์ย่าน
พึงมานผ่านหม่นพ้นหมอง
สุขปวงสรวงปันสรรค์ปอง
เฟื่องล่องฟ่องหล้าฟ้าลอย
	คือใจไขจิตคิดแจ้ง
รุ้งแสงแรงสายรายสร้อย
เลิศธรรมล้ำถั่งหลั่งทอย
ทุกข์คล้อยถอยคลายถ่ายคลา
	ทาบส่องถ่องสร้างทางใส
แสงใจใสจ้องส่องจ้า
สีทองส่องทัศน์ศรัทธา
สุขมาสามัญสรรพ์มี
(๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙)
___________________________________________				
15 มิถุนายน 2549 07:09 น.

มหามหุสสวกรรมแห่งลำน้ำเจ้าพระยา

ตราชู

เพื่อนๆทุกท่านครับ บทนี้ต้องเรียกว่า ความจริงบวกจินตนาการ กล่าวคือ ในวันที่๑๒ มิถุนา ช่วงพลบค่ำ ผมนั่งดูทีวีกับครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถไปดูกระบวนเรือพระราชพิธีได้ด้วยตนเอง
ขณะฟังเสียงเห่เรือเพลินอยู่นั้น ทุกคนทางบ้านต่างก็ออกอุทาน ตะลึงในความงาม ยามเมื่ออาทิศอัสดงลงลับฟ้า แสงพระสุริยาสาดต้องผืนน้ำ ส่องสะท้อนประกายทองแห่งพระปรางค์,
และรังสีแห่งโบษฐ์วิหารวัดพระแก้ว ชั่งเป็นภาพวิจิตรบรรจงเหลือเกิน

          ตกกลางคืน ผมอดใจไม่ไหว วาดภาพในสมองให้วุ่นวายไปหมด แล้วจดทีละวรรค ทีละตอน เขียนไปเขียนมา ก็ออกมาเป็นร้อยกรองบทนี้ครับ เพื่อนๆที่โชคดีกว่าผม กรุณาเข้ามาเสริมภาพความฝันของผม
ให้กลายเป็นความจริงด้วยครับ นึกว่าเมตตาคนตาบอดคนหนึ่ง ให้ได้เห็นภาพใกล้เคียงความจริงที่สุดก็แล้วกันครับ ขอกราบขอบพระคุณครับ

มหามหุสสวกรรมแห่งลำน้ำเจ้าพระยา

โคลง ๔ สุภาพ

          ภาณุมาลาแหล่งด้าว                                อัสดง
ลอยลับเจียนดับลง                                                     เลื่อนโล้
รางรางพร่างพิศวง                                                     สวรรค์เสก
เลือนลบยามพลบโพล้                                       ผ่านเพล้เพลา

          ธารวารีรี่ริ้ว                                            รินไหล
หลากหลั่งถั่งชลาลัย                                         แหล่งน้ำ
ยลระยับวับแวมไว                                                      ตะวันตก
ตกสู่สินธูซ้ำ                                                    สาดเรื้องรังฉาย

          พรายพรายพราวพระแก้ว                                    ผกายเรือง
มรกฎงดงามเนือง                                                      ขณะนั้น
อาวาสน์อาจเพียงเมือง                                               พิมานหมู่
คลาค่อยลอยสฤษดิ์ดั้น                                               ด่วนด้นดลดิน

          ผินแลเลื่อมเลื่อมเที้ยน                                      เทพสถาน
ปรางค์มาศราชเอาฬาร                                                อวดหล้า
มณเฑียรท่านเทียรกาญจน์                                           เถกิงก่อง
วามจับวับวับจ้า                                                         วิจิตรแจ้งใจชน

          ยามยล ยลยิ่งย้ำ                                              ยืนยัน
บุญแผ่แต่เพรงบรรพ์                                          บ่มสร้าง
จึงไทยเจิดไผทขวัญ                                         แคว้นถิ่น
เกินเอ่ย เกินเฉลยอ้าง                                        อวดโอ้โอ่สยาม

สัทธราฉันท์ ๒๑

          เมืองเอยเมืองไทยอุไรทาม                                 กษณะทศนะยาม
งามสิแสนงาม                                                 สง่ายง

          มิ่งแมนมาลอยคละคล้อยลง                                พิภพปฐวิมง-
คลภินนท์คง                                                   ณ นาคร

          วังวัดวาววามวิรามวร                               รตนรุจขจร
กอปรประภากร                                                ประภัสสร์กาญจน์

          ฉ่ำรื่นชื่นล้ำลุสำราญ                                นธิสลิลสะคราญ
เจ้าพระยา ขาน                                                       พระคงคา

          ยินสำเนียงมี่ระรี่มา                                            มธุสรสวนา
เพลินเจริญพา                                                 ภิรมย์กรรณ

          เห่เรือแห่งหล้าวิลาวัณย์                                     พินิจวิธอนันต์
พายยะย้ายผัน                                                 สะพรั่งเคียง

          สำนานขานศัพท์สดับเสียง                                  พิเราะพจนะก็เพียง
พิณระรินเรียง                                                  ระเรื่อยโรย

          ถ้อยเอมเปรมปรุงจรุงโปรย                                  คละมรุตขณะโชย
เรือละลำโพย                                                  เผยอพาย

          ต่างฉันต่างเฉิดประเสริฐฉาย                               รุจิระกระจะกระจาย
อ่าโพยมอาย                                                   อร่ามเรือง

          นี่แลคือ ไทย พิไลเมือง                                   วฒนบุรประเทือง
นาคเรศเนือง                                                   ก็นับถือ

          เลื่องหล้าแหล่ล้วนประมวลลือ                    กฤตยยศระบือ
นี่แหละนี่คือ                                                    อมรคาม

          ควรคำนึงตรึกระลึกตาม                                      บุรพคตินิยาม
เทิดทะนงนาม                                                 ถนัด ไทย

          ชาตินี้, ชาติหน้า, ฤชาติไหน                               ผิวเสาะธรณิใด
เปรียบประเทียบไป                                                     ก็ไป่มี

          เอกอำไพรูพระบูรี                                              ดิลกชคมณี
ศรีพิเศษศรี                                                     พิสุทธิ์ธรรม

          ทำเนียมทำนุกประยุกต์นำ                                   สถิตจิระประจำ
ก่อกุศลกรรม                                                   เกษมทรง

          เพื่อไทยเป็นไทยและตรัยรงค์                              ปรมธวชธง
โบก ณ โลกหลง                                                        ตะลึงแล

เพื่อเปรมสุขปรีดิ์มิมีแปร                                     ประดุจสุริยะแข
ดาลชวาลแด                                                   นิรันดร

(๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙)

_______________________________				
2 มิถุนายน 2549 13:04 น.

๖๐ ปีทรงครองราชย์ อาศิรวาทบรมราชา

ตราชู

๖๐ ปีทรงครองราชย์ อาศิรวาทบรมราชา
โคลง ๔ ดั้นบาทกุญชร
	รังรองรัตน์รุ่งทั้ง					ถิ่นไทย
ไทยถิ่นพสุธาธร						ที่ตั้ง
ตั้งที่ปฐพีไพ-							โรจน์แผ่
แผ่โรจน์รามอะเคื้อครั้ง						ใคร่ยล
	ยลใคร่ครวญแน่แล้ว					เลื่องลือ
ลือเลื่องดำเลิงผล						เพียบหล้า
หล้าเพียบเทียบนับถือ						ประเทศมิ่ง
มิ่งประเทศธราฟุ้งฟ้า						เฟื่องไกร
	ไกรเฟื่องเนืองสิ่งชี้					เชิดชเยนทร์
ชเยนทร์เชิดองค์ทรงชัย					โชติด้าว
ด้าวโชติโสตถิ์เฉิดฉเมนทร์					หมู่สถิต
สถิตหมู่ชนโน้มน้าว						เนื่องนันต์
	นันต์เนื่องอกนิษฐ์แผ้ว					ผ่องภูว์
ภูว์ผ่องไพสิฐสรรพ์						สิ่งถ้วน
ถ้วนสิ่งซึ่งตราตรู						ตรัสแต่ง	
แต่งตรัสตรึงหล้าล้วน						เลิศสถาน

ฉันท์ ๑๙ สลับ
	บันโดยเดชอธิบุญอดุลยมหิบาล
เหลือนับประทับนาน						ภินนท์

	ภินนท์สำนึงธานีสุรภพพิมล
ดื่นธราดล							ธเรศแดน
	แดนดินดั่งมรุเมืองเมลืองอมรแมน
ผาสุกสนุกแสน							สบาย
	สบายด้วยบุญญาองค์บพิตรขจาย
เช่นรวีฉาย							ชวาลวาม
	วามวาวแวววรรัศมิ์นิพัทธ์รุจิระราม
แสงทองสิส่องทาม						เสถียร
	เสถียรองค์ไท้ธาดาอดิศวรเพียร
ทำนุจำเนียร							พระนาคร
	นาครจึ่งกระจะแจ้งแจรงคุณขจร
โลกชวนชุลีกร							กิดา
	กิดาการเกริกกำธรอธิปติจุฑา
ธานิภารา							ดิเรกเริง
	เริงหกสิบวสะไท้ธไกรฐิติเถลิง
ราชย์ธรรม์ธบรรเทิง						ทวี
	ทวีพรพราวเพริศพร้อมศุภนฤบดี
นันทธานี							นิรันดร์กาล
	กาลทรงเป็นปิยราษฎร์นิวาสน์บุรอุฬาร
ราษฎร์สุนทร์วิบุลย์ศานติ์					ประสงค์
	ประสงค์ใดได้ดั่งราชหฤทยประจง
เจตน์พระจำนง							นิรันดร์เทอญ


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ประพันธ์ถวาย เนื่องในมหามงคลวโรกาส ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปีนี้ พระพุทธเจ้าข้า

หมายเหตุ
	ฉันท์ ๑๙ สลับนี้ ใช้สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ แต่งสลับกับเมฆวิปผุชชิตาฉันท์ ซึ่งเป็นฉันท์ ๓ วรรค กำหนด ๑๙ คำ ด้วยกันทั้งสองชนิด


________________________________________
อธิบายคำในร้อยกรอง
	พสุธาธร หมายถึง แผ่นดิน
	ดำเลิง คำนี้ แผลงจากคำ เถลิง หากเป็นคำกริยาแปลว่า ขึ้น, ครอบครอง หากเป็นคำวิเศษณ์แปลว่า เจริญ
	ราม, อะเคื้อ สองคำนี้มีความหมายว่า งดงาม
	ธรา หมายถึง แผ่นดิน
	ชเยนทร์ หมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ (ชย สนธิ กับ อินทร แล้วแผลงสระ อิ ของคำหลังให้เป็นสระ เอ)
	ฉเมนทร์ หมายถึง แผ่นดิน
	นันท์ หมายถึง ความรื่นเริง ความสนุกสนาน ความชื่นชมยินดี
	อกนิษฐ์ หากใช้เป็นคำนาม หมายถึง สวรรค์ชั้นพรหมชั้นสูงสุด หากใช้เป็นวิเศษณ์แปลว่า สูงที่สุด เลิศที่สุด ในที่นี้ใช้เป็นวิเศษณ์
	ภูว์ หมายถึง แผ่นดิน
	ตรัส หากเป็นคำกริยา ใช้เป็นราชาศัพท์ แปลว่า พูด หากใช้เป็นวิเศษณ์ หมายถึง กระจ่าง แจ้ง ในที่นี้ ใช้เป็นวิเศษณ์
	มหิบาล หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน
	ภินนท์ ตัดมาจากคำเต็มๆว่า อภินนท์ หมายถึง รื่นเริงยิ่ง ยินดียิ่ง
	สำนึง หมายถึง อาศัยอยู่
	ธเรศ, ธราดล สองคำนี้ หมายถึง แผ่นดิน
	มรุ, อมร สองคำนี้หมายถึง เทวดา
	ชวาล ถ้าใช้เป็นคำนาม หมายถึง ประทีป โคมไฟ ใช้เป็นวิเศษณ์หมายถึง รุ่งเรือง สว่างไสว
	นิพัทธ์ หมายถึง เนืองๆ เกี่ยวเนื่องกัน
	ธาดา หมายถึง พระพรหม
	ทำนุ หมายถึง บำรุงรักษา
	จำเนียร หมายถึง ยืนนาน เนิ่นนาน
	กิดาการ หมายถึง คำเล่าลือ เสียงสรรเสริญ
	กำธร หมายถึง กึกก้อง สนั่นหวั่นไหว
	อธิปติ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ (คำนี้เราเคยคุ้นเมื่อเขียนในรูป อธิบดี นั่นเอง)
	จุฑา หมายถึง ปิ่น ใช้เป็นนัยเปรียบเทียบว่า สูงที่สุด
	วสะ หมายถึง ปี
	ฐิติ หมายถึง ตั้งอยู่
	นฤบดี หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน
	สุนทร์ คำนี้ก็คือคำว่า สุนทร นั่นเอง หมายถึง ดีงาม
	วิบุลย์ หมายถึง เต็มเปี่ยม
_________________________________				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟตราชู
Lovings  ตราชู เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงตราชู