12 สิงหาคม 2554 08:17 น.
คีตากะ
ความอุดมสมบูรณ์ของธรมชาติทำให้เรามีกินมีใช้ มีที่อยู่อาศัย ได้ความอบอุ่น และมีเสื้อผ้าสวมใส่ ดินไม่อาจรองรับเกษตรกรรมหากไม่มีแบคทีเรียช่วยทำให้อินทรีย์สารแตกตัว พืชผลคงแพร่พันธุ์ไม่ได้หากไม่มีผึ้งคอยผสมเกสร อากาศคงไม่อาจสูดดมได้หากพืชและแพลงตอนไม่ดูดคาร์บอนไดออกไซด์ไปสังเคราะห์แสง น้ำคงดื่มไม่ได้หากไม่ผ่านการกรองโดยป่าไม้และป่าชายเลน ยาหลายชนิดที่ช่วยยืดอายุของเราก็พัฒนามาจากสารธรรมชาติของพืชและสัตว์ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายชนิดที่เรายังค้นไม่พบ ชีวิตยังควบคุมวงจรอาหารของโลกด้วย หากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในมหาสมุทรไม่เปลี่ยนคาร์บอนส่วนเกินให้เป็นหินปูนและชอล์กเมื่อหลายล้านปีก่อน โลกที่เราอยู่อาศัยอาจกลายเป็นแบบดาวศุกร์ไปนานแล้ว พื้นที่ผิวน่ากลัวมีอุณหภูมิ ๕๐๐ องศาเซลเซียส ร้อนพอให้ตะกั่วละลาย ทั้งนี้เพราะบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๙๖ เปอร์เซ็นต์
ช่วงระยะเวลา ๕๐ ปีหลังมานี้โลกมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน ทำให้การผลิตทั้งทางด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน เราสามารถผลิตได้ปริมาณที่มากขึ้น ด้วยเวลาที่สั้นลง และต้นทุนต่อหน่วยลดลง ผลิตผลที่มากขึ้นก็เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ในขณะที่ประชากรของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น การผลิตและการลงทุนจึงเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว การมุ่งเน้นผลประโยชน์เป็นหลักทำให้เราละเลยการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ จนทำลายธรรมชาติอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีค่าทางธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ และป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมทั้งตัวเราด้วย ภัยพิบัติทางธรรมชาติเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นจากการปรับตัวของธรรมชาติที่เสียสมดุลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่บ่อยครั้งขึ้น การเกิดสึนามิ หิมะตกหนัก การละลายของธารน้ำแข็งอันเป็นแหล่งน้ำจืดและลดความร้อนให้แก่โลก พายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ตลอดจนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายสายพันธุ์ ฯลฯ
ผลจากการที่เราปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์โลกไม่ว่าจะในยุคไหนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างรุนแรงตามมา จากหลักฐานทางธรณีวิทยาก่อนที่จะมีเผ่าพันธุ์มนุษย์การจะสะสมก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจนถึงขั้นวิกฤติที่สามารถก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้นั้นจะต้องใช้เวลานับล้านๆ ปีซึ่งเกิดขึ้นตามกลไกทางธรรมชาติอย่างช้าๆ เว้นแต่จะมีอุบัติเหตุทางธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างเช่นอุกกาบาตจากห้วงอวกาศพุ่งชนโลก เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของยุคครีเทเชียส-เทอร์เทียรี เมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อน ซึ่งไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเพราะการปลดปล่อยก๊าซมีเทนอย่างฉับพลันจากการถูกพุ่งชนจากอุกกาบาตจากนอกโลกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างเฉียบพลันตามมา แต่ในครั้งอดีตการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตล้วนเกิดมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น และมันก็เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ช่วยให้เกิดวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดของชีวิตจนนำมาสู่ยุคที่มนุษย์ครองโลกในปัจจุบันนั่นเอง ขณะที่ปัจจุบัน สาเหตุของภาวะโลกร้อนล้วนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิง และรวดเร็วกว่ายุคใดๆ ในประวัติศาสตร์ของโลกที่เคยมีมา
การเบียดเบียนสัตว์และพืชทั้งบนบกและในทะเลอย่างเป็นระบบมากจนเกินไปโดยผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมถูกมองว่าเป็นต้นตอหลักของปัญหาภาวะโลกร้อนถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถมองเห็นต้นตอนี้ได้ คนส่วนใหญ่ยังคงโทษการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติหรือปัญหาปลายแถวอย่างขยะ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนในระยะยาว แต่ในระยะเวลาสั้นๆ การทำฟาร์มปศุสัตว์สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าหลายเท่านัก เพราะทุกกระบวนในการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างมากมายมหาศาลแทบทั้งสิ้น เช่น การถางป่าเพื่อใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป การขนส่ง การจัดเก็บ การจัดจำหน่าย ฯลฯ โดยเฉพาะมันเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอายุสั้นที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึงเกือบ ๑๐๐ เท่าในช่วงเวลา ๒๐ ปี นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งผลิตไนตรัสออกไซด์ที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึงเกือบ ๓๐๐ เท่า และยังเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญอีกด้วย
สภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนและคาดการณ์ไม่ได้ผลจากภาวะโลกร้อน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกตามมา การเพราะปลูกที่ต้องคอยพึ่งพาดินฟ้าอากาศและระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพเริ่มมีปัญหา เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไปจนเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ทิศทางและเวลาของการเกิดลมมรสุมผิดแผกไปจากเดิมจนวิปริต นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่มาจากจำนวนและความรุนแรงของพายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในบางช่วงเวลามีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณฝนโดยรวมตลอดทั้งปีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับอดีต ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน บางพื้นที่เกิดดินถล่มสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตร ที่อยู่อาศัย ชีวิตและทรัพย์สินของเกษตรกรมากมายมหาศาลไปทั่วทุกมุมโลก ในขณะที่บางช่วงเวลาหรือบางพื้นที่ก็เกิดภัยแล้งเล่นงานพืชผลทางการเกษตรอย่างหนักจนสุดจะเยียวยา แม่น้ำสายหลักหลายสายของโลกถึงกับแห้งขอดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อการเพาะปลูกเกิดปัญหา ทำให้พืชผลทางการเกษตรเกิดการขาดแคลน ราคาอาหารจึงพุ่งทะยานสูงขึ้นตามกลไกทางการตลาดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ส่งผลกระทบต่อคนระดับรากหญ้าจนถึงชนชั้นกลางที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้เท่าเดิม ประกอบกับโรคระบาดทั้งสายพันธุ์เก่าและใหม่ทั้งในคน พืชและสัตว์ก็เพิ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนสถานพยาบาลต่างๆ ไม่พอจะรองรับกับผู้เจ็บป่วยอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่อากาศมีความอุ่นและชื้นมากขึ้น โดยเฉพาะศัตรูพืชที่จ้องคอยทำลายพืชผลทางการเกษตรอย่างรุนแรงและเรื้อรัง กระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ วนเวียนจนกลายเป็นวัฏจักรที่ยากจะหลุดพ้นจากวงจรอันอุบาทว์นี้
เมื่อเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจนหลงลืมปัจจัยในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานอย่าง อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคให้เพียงพอต่อประชาชนภายในประเทศเสียก่อน ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืน การมุ่งเน้นความมั่งคั่งทางด้านการเงินโดยหวังเงินตราจากต่างประเทศจากการส่งออกโดยไม่พึ่งพาตัวเองเป็นหลักก่อให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจดังที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน เมื่อเงินถูกอ้างอิงกับเงินตราที่เป็นเพียงกระแสเงินที่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนสายน้ำมีค่าเปลี่ยนแปรไปได้ไม่คงที่ (สมัยก่อนเงินใช้อ้างอิงกับทองคำ แต่ภายหลังสหรัฐได้เปลี่ยนมาอ้างอิงกับเงินตราแทน) อย่างเช่นเงินสกุลดอลล่าร์ที่อ่อนค่าลงอย่างหนักเพราะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาต้องถูกลดความน่าเชื่อถือลงจากปัญหาหนี้สินของประเทศที่รุมเร้าอย่างหนัก ทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกที่ถือครองเงินสกุลดอลล่าร์อยู่ทั้งในรูปของเงินสด หุ้นและเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ต่างเทขายออกมาสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหลักทรัพย์ไปทั่วโลกจนมีค่าติดลบลงอย่างมากในรอบหลายปี ความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯรวมทั้งสกุลเงินดอลล่าร์ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในทองคำแทน ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนสร้างสถิติใหม่อย่างน่าตระหนกในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงชั่วข้ามคืน นักวิเคราะห์ฟันธงว่าการที่ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนผิดปกติแบบนี้จะต้องเกิดจากการปั่นราคาของนักลงทุนรายใหญ่อย่างแน่นอน แม้ทองคำจะมีคุณค่าในทางการเงิน แต่ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธก็คือว่ามันยังคงไม่ใช่ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยส่วนใหญ่ ยังคงมีการเปลี่ยนมือซื้อขายกันได้อย่างต่อเนื่อง มีการเก็งกำไร และมีการเปลี่ยนค่าได้ตลอดเวลา นักลงทุนบางรายยังพอใจที่จะถือเงินสดเอาไว้เพื่อความปลอดภัยของตนเองมากกว่า หุ้น ทองคำ ตราสารทางการเงิน และสินทรัพย์อื่นๆ ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินสำหรับนักลงทุน ซึ่งแน่นอนการลงทุนมีผลตอบแทนแต่ก็มีความเสี่ยงตามมาด้วย ดังมีคำกล่าวที่ว่า “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” แต่ไม่ว่าอะไรล้วนแล้วแต่มีด้านที่ดีและไม่ดีควบคู่กันอยู่ที่จะใช้ประโยชน์มันอย่างไร? เพื่อจุดประสงค์อะไร? เพื่อการสร้างสรรค์หรือการทำลาย ซึ่งแน่นอนผู้เลือกนั้นจะต้องเป็นผู้รับผลแห่งการเลือกนั้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถแบกรับภาระนี้แทนได้....
สถานการณ์ความขัดแย้งวุ่นวายต่างๆ ที่กำลังทวีความรุนแรงไปทั่วโลกเวลานี้ หากมองให้ลึกซึ้งจะพบว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุในลำดับต้นๆ เมื่อเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่อาจตอบโจทย์ของการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ได้ การมุ่งเน้นความมั่งคั่งก่อให้เกิดการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตและบริการสินค้าผลิตภัณฑ์ให้สามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่คนจ่ายเงินนั่นคือผู้บริโภคได้เป็นหลัก ทำให้เกิดระบบต่างๆ ทางด้านการบริหาร การผลิต การเงิน และการตลาดขึ้นมากมายจนซับซ้อน เช่น ระบบคุณภาพ ระบบตรวสอบ ระบบการขาย ระบบการสร้างเครือข่าย ระบบบัญชี ฯลฯ แต่เมื่อทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติและมีอยู่อย่างจำกัด อย่างเช่นน้ำมัน เชื้อเพลิง ดิน น้ำ อากาศ และป่า หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่จะต้องป้อนให้แก่โรงงาน เกิดปัญหาขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้หรือบริหารจัดการยากยิ่งขึ้น ผลสืบเนื่องจากภัยพิบัติต่างๆทางธรรมชาติที่ไม่คาดฝัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถี่ขึ้น การลงทุนที่มีความเสี่ยงก็อาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้ในชั่วพริบตา ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้คือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ประกาศว่าหุ้นในกลุ่มธนาคาร พลังงาน และอาหาร ติดอันดับสูงสุดของตาราง นั่นหมายความว่าอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่นหุ้นในกลุ่มธนาคาร นั่นหมายความว่าผลประกอบการของธนาคารนั้นดี สามารถสร้างกำไรอย่างงาม นักลงทุนซื้อเอาไว้เพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นสามารถทำเงินได้หรือถือเอาไว้ในระยะยาวก็มีการจ่ายเงินปันผลที่ดี โดยวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ เข้าประกอบในการพิจารณา สามารถให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นของบริษัทอื่นๆซึ่งจะต้องพิจารณาความเสี่ยงเข้าประกอบกันด้วยเสมอ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งนั่นหมายความประชาชนส่วนใหญ่มีหนี้สินมากขึ้นหรือไม่? หรือประชาชนชอบกู้เพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? หรือธนาคารมีการลงทุนที่ดี?
เมื่อผลตอบแทนลดลงและความเสี่ยงมีมากขึ้น โรงงานก็อาจไม่ลงทุนเพิ่ม มีการปลดคนงาน ลดกำลังการผลิตลง จำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้น ขณะที่สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ก็มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อเป็นลูกจ้างเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งเน้นปัญญาให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ก่อนเป็นลำดับแรก ทำให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการภายในจิตใจยังคงมีได้อย่างไม่สิ้นสุดและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีความคาดหวังสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น สำหรับมนุษยชาติ มีแนวโน้มจะเกิดยุคใหม่ของลัทธิท้องถิ่นนิยมแกมบังคับ เมื่อกระบวนการโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ และผู้คนหวนกลับไปยึดติดกับอัตลักษณ์ของตนอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น ปัจจุบันนี้ระบบเศรษฐกิจของเราเชื่อมโยงกันไปทั่วโลก ปริมาณการค้ามากมายมหาศาลเกิดขึ้น ระหว่างดินแดนที่ห่างไกลกัน ทว่าในอนาคตผู้ที่เคยเป็นลูกค้าตามเมืองแนวชายฝั่งที่ประสบกับภัยพิบัติไม่สามารถจะซื้ออะไรได้อีกต่อไป ในขณะที่ผู้ผลิตในเขตกึ่งร้อนที่ประสบกับความแห้งแล้งก็ไม่มีอะไรจะขายอีกต่อไปเช่นกัน ก่อนสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ตลาดทุนที่ผันผวนและอ่อนไหวจะล่มสลายลงอย่างแน่นอน เงื่อนไขผูกมัดความเป็นเจ้าของระหว่างทุนต่างประเทศและในประเทศจะหมดไป ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในอดีตที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายากลำบากแค่ไหนที่สังคมจะปรับตัวเข้ากับแรงกดดันเช่นนั้นได้ และรวมทั้งความวุ่นวายที่จะตามมาเพราะผู้คนหันไปคลั่งไคล้ปรัชญาทางการเมืองในขณะที่ความไม่มั่นคงทางสังคมสูงขึ้น ความขัดแย้งและสงครามก็จะตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นอกจากฝนฟ้าอากาศที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกแล้ว ความร้อนขึ้นของอากาศยังทำให้พืชผลทางการเกษตรเหี่ยวเฉาและล้มตายได้ง่ายขึ้น บริเวณที่เพาะปลูกไม่ได้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจากการที่ทะเลทรายขยายวงกว้างมากขึ้น หรือดินเสื่อมสภาพลงอย่างหนักจากการใช้สารเคมีในการเกษตรมายาวนาน ปลูกพืชอะไรไม่ขึ้น หรือน้ำเค็มรุกเข้ามาทำลายพื้นที่ทางการเกษตร ทรัพยากรทางธรรมชาติลดน้อยลงในทุกภูมิภาคยกเว้นในเขตละติจูดที่สูงขึ้นไปที่เริ่มกลายเป็นเขตอบอุ่นมากขึ้น การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรโลกก็จะติดตามมา โดยเฉพาะจากเขตร้อนและกึ่งร้อนตามแนวชายฝั่ง แน่นอนว่าไม่มีทางออกไหนเป็นไปได้เลย ถ้าประเทศทางเหนือเหล่านี้ปฏิเสธจะรับผู้อพยพเพิ่ม จีนจะบุกไซบีเรียและสหรัฐบุกแคนาดาเพื่อยึดที่ดินสำหรับอยู่อาศัยซึ่งยังเหลืออยู่ด้วยกำลังทหาร ความขัดแย้งทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างแพร่หลายจึงกลายเป็นผลพลอยได้ซึ่งทำให้บริเวณพื้นผิวโลกที่ถือว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยได้เพิ่มมากขึ้นอีก ดังตัวอย่างล่าสุดที่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับหลายประเทศที่อ้างกรรมสิทธิของตนเหนือบริเวณดังกล่าว เช่น เวียตนาม ฟิลิปินส์ ไต้หวัน ฯลฯ ภายหลังจากที่จีนได้ทำการสำรวจและค้นพบน้ำแข็งติดไฟ (มีเทนไฮเดรต) บริเวณตอนเหนือของทะเลจีนใต้กลางปี ๒๕๕๐ ซึ่งทุ่มความพยายามขุดค้นนานถึง 9 ปี และใช้เม็ดเงิน 500 ล้านหยวน (2,150 ล้านบาท) ทั้งนี้ น้ำแข็งติดไฟเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง สามารถใช้ทดแทนพลังงานอื่นๆ อาทิ ปิโตรเลียม คาร์โบเนียน น้ำแข็งติดไฟนี้ เป็นสารผสมระหว่างแก๊สธรรมชาติและน้ำ มีอยู่บริเวณใต้ทะเลและเขตน้ำค้างแข็ง เกิดจากการที่ก้อนน้ำแข็งฝอยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันสูงของผิวโลกและอุณหภูมิ ที่ต่ำ ได้ตกผลึกเกาะตัวกัน เป็นเครือข่าย และมีช่องว่างให้แก๊สอื่นๆแทรกตัวอยู่ มีลักษณะเป็นก้อนผลึกสีขาว คล้ายหิมะน้ำแข็ง ก้อนสารผสมระหว่างแก็สธรรมชาติกับน้ำขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถปล่อยพลังงานแก๊สธรรมชาติออกมา 164 ลูกบาศก์เมตร จากการสำรวจ จีนมีแหล่งน้ำแข็งติดไฟ 3 แห่งกระจายตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ และทะเลตะวันออกของประเทศ และมีแผนดำเนินการขุดเจาะน้ำแข็งติดไฟระหว่างปี 2010-2015 และจะดำเนินการขุดเจาะเชิงพาณิชย์ในปี 2020 ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่ 4 ตามหลังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ค้นพบขุมพลังงานน้ำแข็งติดไฟนี้....
Be Veg, Go Green 2 Save The Planet
www.suprememastertv.com
www.godsdirectcontact-thai.org