13 พฤศจิกายน 2553 11:10 น.

ศิษย์ก้นกุฏิ......

คีตากะ

guanyin.jpg      พระผู้เป็นเจ้ามักจัดการให้ผมมาพบกับบุคคลที่คาดไม่ถึงเสมอ แม้ยามปกติผมจะเป็นคนเก็บตัวไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่ก็ไม่วายต้องเผชิญกับบุคคลที่แปลกพิสดารหลายต่อหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางคนก็มาเป็นเพื่อน บางคนก็มาเป็นญาติ บางคนก็มาเป็นครู บางคนก็มาเป็นคนรัก...ฯลฯ เวลา ณ ขณะนั้นอาจไม่กี่นาที กี่ชั่วโมง กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ตามแต่โอกาสจะพาไป ล้วนเป็นการจัดการของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ เหตุก็เพื่อให้ดวงจิตเกิดการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่จำเป็นต่อการรู้แจ้ง การรู้จักตัวตนที่แท้จริง หรือรู้จักพระเจ้าภายใน ถ้าหากเราปราศจากตัวตนแล้ว การพบพานบุคคลเหล่านี้ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ที่เรียกว่าเป็นอสังขตธรรม ธรรมอันปราศจากการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย ปปัญจธรรม คือ ธรรมอันก่อให้เกิดความเนิ่นช้า เสียเวลาต่อการรู้แจ้งนั้น ประกอบด้วย ตัณหา มานะ ทิฐิ หรือก็คือตัวกู ของกู นั่นเอง ที่คอยปิดกั้นตัวเรา ทำให้มองไม่เห็นธรรมชาติที่แท้จริง นักบวชก็คิดว่า“ฉันเป็นนักบวช” ฆารวาสก็คิดว่า“ฉันเป็นปุถุชน” เมื่อการระบุรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ภาระกิจมากมายล้วนก่อเกิดขึ้นตามมา พระก็ต้องศึกษาธรรม นำมาเทศนาสั่งสอนประชาชน ปุถุชน ก็ต้องศึกษาเล่าเรียน เพียรทำอาชีพการงาน ก่อร่างสร้างครอบครัว ทั้งที่หน้าที่สำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียวคือ การจดจำให้ได้ว่าเราเป็นพุทธะ เราเป็นพระเจ้า  มีข้อโต้แย้งถกเถียงกันมากในเรื่องคำจำกัดความ แม้พุทธศาสนาจะมุ่งเน้นอนัตตา หรือสุญตา แต่คำว่าพระเจ้ามักจะถูกระบุให้เป็นอัตตา ซึ่งไม่เป็นความจริง ที่ถูกแล้วควรหมายถึงทั้งอัตตาและอนัตตา กล่าวคือเป็นคำเดียวกันกับอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ย่อมเป็นแหล่งก่อกำเนิดสรรพสิ่งทั้งที่เป็นอัตตา อนัตตา สุญตา ครอบคลุมถึง “ทุกสิ่งที่ดำรงอยู่ และทุกสิ่งที่ไม่ได้ดำรงอยู่” ก็ถ้ามันเป็นสิ่งที่ใหญ่ยิ่งอย่างแท้จริง จะมีอะไรที่ไม่อยู่ในมันหล่ะ ท่านพุทธทาสเป็นผู้แตกฉานในธรรมมากที่สุดท่านหนึ่ง ท่านล้วนเข้าใจโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม พยายามที่จะนำธรรมะมาสั่งสอนให้แก่ผู้สนใจศึกษาตามแต่จะเข้าใจได้ นับเป็นการปฏิวัติวงการพระพุทธศาสนาของประเทศเลยที่เดียว อันเป็นการทำให้ความทุกข์มากมายเบาบางลงไปอีกด้วย 
       หลวงพี่บุญสมก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เคยเดินตามคำสอนของท่านพุทธทาสมายาวนาน หลวงพี่เป็นชาวอยุธยา บวชเรียนมานานหลายสิบปี จบนักธรรมเอก มีความแตกฉานในหลักธรรมมากมาย ญาติโยมให้ความเคารพนับถือ และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาส วัดของหลวงพี่ตั้งอยู่เกาะกลางแม่น้ำป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงไม่อาจรอดพ้นอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาปีนี้ด้วย น้ำท่วมวัดของหลวงพี่สูงมากกว่า ๑ เมตร หน้าวัดของหลวงพี่มีรูปปั้นของหลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศประดิษฐานอยู่ บางส่วนจมอยู่ในน้ำ ผมยังจำได้ที่ครั้งหนึ่งเคยติดตามหลวงพี่ไปเที่ยวที่วัด เรานั่งรถตู้สายกรุงเทพ-อยุธยา ไปลงตลาดในอำเภอเมือง ก่อนจะโดยสารเรือข้ามฟากไปยังวัดที่อยู่เกาะกลางแม่น้ำป่าสัก เมื่อถึงฝั่ง เราต้องเดินด้วยเท้าต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง สิ่งแรกที่พบคือเมรเผาศพตั้งตระหง่านต้อนรับผู้มาเยือน ถัดไปขวามือเป็นโบสถ์ขนาดใหญ่ยกพื้นสูงขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร ถัดไปซ้ายมือเป็นศาลาการเปรียญสำหรับญาติโยมมาทำบุญและทำกิจของสงฆ์ ส่วนขวามือเป็นกุฎิที่อยู่ของคณะสงฆ์โดยจัดอย่างเป็นสัดเป็นส่วน ห้องของหลวงพี่แทบจะว่างเปล่า ยังดีที่มีทีวีแก้คลายเหงาอยู่เครื่องหนึ่ง ผมจึงไม่ค่อยเหงามากนักเวลามาอาศัยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพี่ระยะหนึ่ง ต่างกันตรงที่ลูกศิษย์วัดจะต้องช่วยพระถือปิ่นโตเดินตามหลังพระเวลาบิณฑบาตตอนเช้าตรู่ แต่ผมเป็นคนนอนตื่นสาย ตื่นขึ้นมาไม่เคยทันหลวงพี่ออกบิณฑบาตซักวัน อีกอย่างหลวงพี่ก็คงมีลูกศิษย์วัดทำหน้าที่นี้ประจำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ผมเสนอหน้า ผมก็เลยหลับสบายอย่างมีความสุข ผมไม่เคยกินข้าวก้นบาตพระมาก่อน ครั้งนั้นแหละจึงได้ลิ้มลองเป็นครั้งแรกในชีวิต นับเป็นประสบการณ์ที่วิเศษสุด อาหารเจที่ชาวบ้านใส่บาตให้หลวงพี่มานั้น อร่อยเป็นที่สุด หลวงพี่เป็นพระภิกษุรูปเดียวของวัดแห่งนี้ที่ฉันอาหารเจบริสุทธิ์เท่านั้น ญาติโยมย่านนั้นต่างรู้กันดี เวลาใส่บาตจึงไม่เคยมีใครใส่อาหารประเภทเนื้อสัตว์มาเลย หลวงพี่บุญสมนับเป็นแบบอย่างของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบดำเนินรอยตามพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
       ความที่เป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน ได้รับการประทับจิตจากท่านอาจารย์เหมือนกัน ผมกับหลวงพี่จึงสนิมสนมกันมากเป็นพิเศษ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาเรามักจะพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์อยู่เสมอๆ บางเวลาก็บ่อย บางเวลาก็ห่างเหินไปนานๆครั้งและเคยมีพบปะกันบ้างเป็นครั้งคราว ล่าสุดหลวงพี่ก็โทรศัพท์มารายงานข่าวสภาพน้ำท่วมบริเวณวัดของแกที่อยุธยา หลวงพี่บอกว่าน้ำเพิ่งจะลด ขณะน้ำท่วมสามารถโดยสารเรือจากท่าเรือในเขตอำเภอเมืองมาถึงหน้าห้องกุฏิของหลวงพี่ได้เลย ไม่ต้องเดินให้เหนื่อย เราก็พากันหัวเราะ หลวงพี่บอกว่าการอยู่ในสภาพยากลำบากทำให้มีสติเจริญในธรรม เกิดจิตบำเพ็ญได้ง่าย ต่างกับอยู่อย่างสะดวกสบายก็มักหลงลืมสัจธรรมไปเช่นกัน การบำเพ็ญจึงไม่ก้าวหน้า ชักช้าอยู่กับเรื่องราวไร้สาระมากมาย แต่ความถือทิฐิที่ชอบสอนพระของผมก็ตอบไปแบบไม่ทันได้คิดว่า “อาจารย์จะอยากให้เราอยู่ด้วยความยากลำบากหรือ? ผมรักที่จะอยู่อย่างสงบสุข มีความสุขกับชีวิตมากกว่า ความทุกข์ทั้งหลายเป็นตัวเราแส่หาเรื่องเอาเองทั้งนั้นแหละ” ผมพูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยอยู่อย่างยากลำบากมาก่อน แต่รู้ว่าความทุกข์แม้จะปลุกจิตบำเพ็ญก็จริง แต่ความทุกข์ทำให้ยากแก่การสงบจิตสงบใจเข้าสู่ภายในได้ ความเครียดวิตกกังวลมากส่งผลเสียต่อปัญญาอย่างมาก ต่างกับความผ่อนคลายสบายๆ ปัญญาย่อมแจ่มชัด สมาธิจะมาโดยธรรมชาติหากเรามีจิตใจที่เป็นปกติสุข การติดต่อกับพระเจ้าภายในก็ง่ายกว่ากันมาก เมื่อเราสามารถติดต่อกับพระเจ้าภายในได้แล้ว ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการคลี่คลายโดยอัตโนมัติ ปาฏิหาริย์ทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยตัวเราก็รู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไรดี การอยู่ในภาวะอย่างนี้มีความสุขมากเพราะเราจะรู้สึกเป็นอิสระไม่ต้องแบกภาระอะไรเลยในโลกนี้ ทุกอย่างพระเจ้าล้วนเป็นผู้จัดการ “จงวางใจในพระเจ้า”  ยิ่งเราดิ้นรนไปกับโลกภายนอกมากเท่าไร เราก็มีความทุกข์กับมันมากเท่านั้น เราวิพากษ์วิจารย์คนอื่นจนเหนื่อยล้า และไม่เกิดประโยชน์อันใด เราเอาเวลานั้นมาดิ้นรนเพื่อการแสวงหาพระเจ้าภายในจะประเสริฐกว่า คุ้มค่ามากกว่าสำหรับเวลาชีวิตอันน้อยนิดของเรา แม้เวลาที่ผมล้มป่วยอาการหนักสาหัสอยู่นั้น ผมก็จะไม่ขอพระเจ้าให้หายจากการเจ็บป่วย เพราะมันทำให้ผมเข้าใจคนที่กำลังเจ็บป่วยมากขึ้นว่าเขารู้สึกอย่างไร ด้วยความสงบระงับผมล้มป่วยด้วยความสงบสุขและพร้อมที่จะตายอย่างมีสติ......
       หลวงพี่เคยเล่าว่า เพื่อนคนหนึ่งของหลวงพี่สามารถระลึกชาติได้ ชายคนนี้นับถือหลวงพี่มาก กำลังศึกษาธรรมะอยู่กับหลวงพี่ในปัจจุบัน หลวงพี่เคยให้เขาดูอดีตชาติให้ ในช่วงหนึ่งที่หลวงพี่ไม่ค่อยสบายใจในฐานะความเป็นนักบวชของตัวเองนัก หลวงพี่เกิดคำถามว่า ”เวรกรรมอะไรหนอทำให้ต้องเกิดมาบวชตลอดชีวิต?” ชายคนนั้นได้ดูอดีตชาติให้หลวงพี่แล้วบอกว่า ชาติที่ผ่านมาหลวงพี่เคยเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยพระนเรศรวร หลวงพี่เกิดเป็นนางหน้าห้องของพระองค์ ในเวลาต่อมาได้บวชเป็นแม่ชีเพื่อปฏิบัติธรรม และก่อนจะตายเคยตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้ว่า “ไม่ว่าจะเกิดกี่ชาติก็ขอออกบวชทุกภพทุกชาติไป” ทำให้ชาติปัจจุบันหลวงพี่จึงไม่อาจหนีคำอธิษฐานนี้ได้พ้น ทั้งที่หลวงพี่เคยลาสิกขาบทสึกออกไป แต่ในที่สุดก็มีเหตุให้ต้องกลับมาบวชใหม่ นั่นเป็นครั้งหนึ่งครั้งเดียวในชีวิตของหลวงพี่ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับสิ่งที่อาจารย์เคยสอนพวกเราว่าอย่าตั้งอธิฐานปณิธานอะไรผูกมัดตัวเอง นั่นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะปณิธานในอดีตทำให้ปัจจุบันมีพระโพธิสัตว์หลายองค์ที่บรรลุมรรคผลแล้วแต่ไม่สามารถสำเร็จเป็นอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ ล้วนถูกผูกมัดด้วยปณิธานของตัวเอง เช่น พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ขณะบำเพ็ญท่านสามารถมองเห็นสัตว์นรกได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส จึงบังเกิดเมตตาจิต ท่านจึงตั้งสัตย์ปณิธานว่า “หากนรกไม่ว่าง จะไม่ไปนิพพาน”  ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันท่านยังคงอยู่ในนรกเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ เพราะอย่างไรเสียนรกไม่เคยว่างเว้น ท่านสำเร็จระดับพระโพธิสัตว์ พระอมิตาภพุทธเจ้าก่อนจะสำเร็จเป็นพุทธะก็ตั้ง ๔๘ ปณิธานช่วยสรรพสัตว์ ทำให้ท่านยังคงอยู่แดนปัจฉิมทุกๆ ชาติและสำเร็จระดับชั้นพุทธะเท่านั้น พวกท่านทั้งสองไม่สามารถเป็น “อนุตตรสัมมาสัมโพธิ”   กวนอิมโพธิสัตว์ก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ”สรรพสัตว์ร้องขออะไร ก็จะให้สิ่งนั้น” แม้ว่าสรรพสัตว์จะขอแต่งงาน ขอบุตรธิดา ขอเรื่องราวไร้สาระมากมาย ท่านก็จะต้องให้ถ้าสรรพสัตว์นั้นขอด้วยความจริงใจและสามารถสื่อถึงท่านได้ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยุ่งยากมากในการตั้งสัตย์ปฏิญาณใดใด ซึ่งล้วนแล้วแต่ผูกมัดตัวเองแทบทั้งสิ้น
        อาจด้วยเพราะการได้เคยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ามาแล้วหลายพระองค์ ทำให้ชาตินี้หลวงพี่ได้พบกับอาจารย์ที่เป็นพุทธะที่มีชีวิต โอกาสอันหายากยิ่งนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายล้านชาติเท่านั้น เสมือนนิทานเรื่องหนึ่งที่มีเต่าทะเลตัวหนึ่งในรอบหนึ่งร้อยปีมันจะว่ายน้ำมาจากทิศเหนือจรดทิศใต้ของฝั่งคาบสมุทร และขณะเดียวกันก็มีไม้กระดานแผ่นหนึ่งมีรูอยู่ตรงกลางขนาดเท่ากับหัวเต่าพอดิบพอดี ไม้กระดานแผ่นนี้ครั้งหนึ่งในรอบร้อยปีเช่นกัน มันจะลอยน้ำจากฝั่งทะเลทิศตะวันตกไปจรดฝั่งทะเลทิศตะวันออก โอกาสที่เต่าตัวนั้นกับไม้กระดานแผ่นนั้นจะมาบรรจบพบกันพอดิบพอดีในรอบหนึ่งร้อยปีซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันไหน ยิ่งกว่านั้นหัวของเต่าจะไปโผล่ตรงเข้ากับรู้กลางแผ่นไม้นั้นพอดิบพอดีอีกด้วย นั่นย่อมเป็นโอกาสอันหายากยิ่งจริงๆ เป็นการเปรียบเปรยคนๆหนึ่งจะได้พบกับพุทธะและปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อันเป็นเหตุให้สามารถหลุดพ้นได้เพียงในชาติเดียว กว่าที่หลวงพี่จะหลุดพ้นจากอดีตเก่าๆ มาได้ ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรทีเดียว ปัจจุบันหลวงพี่ไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ภายนอกอีก จะเป็นพระหรือฆารวาสก็ไม่มีความแตกต่างกัน ขอเพียงรู้จักด้วยจิตด้วยใจของตัวเองอย่างแท้จริงว่าตัวเองเป็นใคร และไม่ไถลออกไปจากหนทางแห่งการบำเพ็ญอันถูกต้องชัดเจนตราบจนชีวิตจะหาไม่ก็เพียงพอ.......




สมาคมนานาชาติอนุตราจารย์ชิงไห่
ศูนย์กรุงเทพ
537/191-192 ซอยสาธุประดิษฐ์ 37 ถนนสาธุประดิษฐ์
แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
โทรศัพท์ 02-682-0015   โทรสาร 02-682-0014
รถเมล์ที่ผ่านหน้าซอย สาย 35, 62, สองแถวแดง สาย 1279 (วัดดอกไม้)
				
11 พฤศจิกายน 2553 07:06 น.

การรู้จัก ความเมตตาของพระเจ้า คือ เส้นทางสวรรค์ ของ ชีวิต....

คีตากะ

mt.jpgการรู้จัก ความเมตตาของพระเจ้า 
คือ เส้นทางสวรรค์ ของ ชีวิต


ปราศรัยโดยท่านอนุตราจารย์ชิงไห่ 
อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ 9 พฤษภาคม 2542 (ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ) วิดีโอเทป #647







มีสองทางที่เราสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ ทางหนึ่งเป็น เส้นทางปกติ คือเรายอมรับทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นกับเราว่าเป็นชะตากรรมของเรา แต่มีอีกทางหนึ่งคือการรู้ความเมตตาของพระเจ้า ด้วยเส้นทางนี้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น ราบรื่นมากขึ้น และสันติสุขมากขึ้น 

ผู้คนส่วนมากในโลกเลือกที่จะอยู่ในเส้นทางแรก เพราะเราไม่รู้ถึงเส้นทางที่สอง เราอยากรู้จักเส้นทางที่สอง แต่เวลาส่วนมากเราถูกซ่อนไว้ แม้ว่ามันจะง่าย ง่ายมาก เหมือนการนำบางสิ่งออกจากกระเป๋าของเรา เพียงแต่เราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้นส่วนใหญ่เราอยู่กับชีวิตที่ไม่น่าพึงพอใจ และเวลาส่วนมากจะหมดหวังและไม่มีความสุข แต่ในทันทีที่เรารู้จักความเมตตาของพระเจ้า ชีวิตก็เริ่มต้นเปลี่ยนแปลง ชีวิตเริ่มเป็นไปตามที่มันควรเป็น ชีวิตเริ่มเป็นเหมือนสวรรค์ 

เส้นทางที่สองจะนำเราไปสู่ทางที่มีความสุข มันจะนำสวรรค์มาให้เราและนำสันติสุขมาให้เรา ทั้งภายในและภายนอก วิธีการติดต่อกับความเมตตาของพระเจ้านี้เรียกว่าหนทางแห่งการรู้แจ้ง หนทางของพระเยซู หนทางของพระพุทธเจ้า และหนทางของโมฮัมหมัด มันเป็นหนทางของมหาอาจารย์ จากอดีต มาสู่ปัจจุบัน และไปถึงอนาคต 

ถ้าเราถูกถ่ายทอดพลังพระเจ้านี้ หรือเรามีพลังนี้กลับมาใหม่ภายในตัวเราอีกครั้งหนึ่ง แล้วเราก็สามารถมีประสบการณ์ด้านสวรรค์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ เราสามารถมีพลังรักษาโรค เรายังสามารถมีพระพรจากพระเจ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราสามารถแบ่งปันให้แก่คนอื่น ๆ ได้ เราสามารถประสบผลสำเร็จในชีวิตด้านจิตวิญญาณได้ดีเช่นเดียวกับชีวิตด้าน วัตถุ ในเวลาเดียวกัน เราสามารถมีความสุขกับทั้งสวรรค์และโลกในเวลาเดียวกัน เพราะว่าพวกเราส่วนใหญ่มีความสุขแต่ในทางโลกและไม่รู้ว่ามีอีกโลกหนึ่งดำรง อยู่ ซึ่งก็คือสวรรค์ 

เราเคยได้ยินว่าสวรรค์มีอยู่และเราสามารถเห็นมันได้หลังจากเราตายไป แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เราสามารถเห็นมันได้เดี๋ยวนี้ เราสามารถเห็นได้สองวิธี วิธีที่หนึ่งค่อนข้างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น หลังจากการถ่ายทอดเราจะมีความสุขมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น มีการตอบสนองที่เร็วขึ้น มีความอดทนมากขึ้น มีความรักมากขึ้น และประสบความสำเร็จในหลาย ๆ อย่าง และบางครั้งเราสามารถเห็นอนาคตและอดีตได้ เรารู้วิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันของเรา ฯลฯ และผู้คนที่อยู่รอบข้างเรา ครอบครัว และเพื่อน ๆ ของเราก็กลายเป็นดีขึ้น ๆ เช่นกัน นี่คือวิธีที่เห็นได้ชัดในความเมตตาของพระเจ้า 

แต่มีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้เราสามารถเห็นสวรรค์ได้อย่างแท้จริง ด้วยดวงตาสวรรค์ของเรา นั่นคือการพูดที่แท้จริง เราสามารถเข้าไปสวรรค์เหมือนเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง เราเข้าไปที่นั่นไม่ใช่โดยร่างกายเนื้อ แต่โดยร่างของจิตวิญญาณ แล้วเราก็สามารถกลับเข้ามาในร่างกายเนื้อของเราได้อีก และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่อไปได้ และไม่มีใครระแวงสงสัยว่าเราเป็นนักบุญ นั่นปลอดภัยจากปัญหาทุก ๆ อย่าง! ผู้คนไม่แห่กันมาที่บ้านของเราและกราบไหว้บูชาฝุ่นที่เท้าของเรา และทำให้บ้านของเราต้องกลายเป็นโรงแรม 'ทุนหายกำไรหด'

มีวิธีหนึ่งที่สามารถเข้า สู่สภาวะของการอยู่ในสวรรค์ ในขณะที่เราทำงานอยู่บนโลก มีวิธีที่ทำได้ เพราะสวรรค์มีอยู่ภายในตัวเราแล้ว สวรรค์มีอยู่ตลอดเวลา เราไม่จำเป็นต้องร้องขอสวรรค์ เราไม่จำเป็นต้องทรมานตนเพื่อสวรรค์ เราไม่จำเป็นต้องภาวนาตลอดวันเพื่อสวรรค์ เราเพียงแต่ต้องรู้ว่าเราจะได้มันกลับมาอีกจากที่ใด เพราะเราเป็นลูกของพระเจ้า เราไม่จำเป็นต้องร้องขอสิ่งใด เราเป็นเจ้าชาย และเจ้าหญิงแห่งสวรรค์! ดังนั้นวิธีเดียวในการแก้ปัญหานี้ก็คือเธอต้องรู้แจ้ง (เสียงปรบมือ)





สมาคมนานาชาติอนุตราจารย์ชิงไห่
ศูนย์กรุงเทพ
537/191-192 ซอยสาธุประดิษฐ์ 37 ถนนสาธุประดิษฐ์
แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
โทรศัพท์ 02-682-0015   โทรสาร 02-682-0014
รถเมล์ที่ผ่านหน้าซอย สาย 35, 62, สองแถวแดง สาย 1279 (วัดดอกไม้)
				
5 พฤศจิกายน 2553 03:15 น.

พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่....

คีตากะ

144.jpgพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่? พุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก บางกลุ่มก็เชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่เสวยเนื้อสัตว์ บางกลุ่มก็ว่าพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ เพื่อให้เข้าถึงความถูกต้องสาธุชนควรใช้จิตสำนึกที่เที่ยงธรรม มาพิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ ข้อคิดที่น่าพิจารณาก็คือ

1. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เป็นผู้มีพระเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหหลายในโลกอย่างหาประมาณมิได้ ทรงสอนพุทธบริษัทของพระองค์ไม่ให้ฆ่าสัตว์ แม้แต่สัตว์ที่เล็กที่สุดต่ำต้อยที่สุด ศีลข้อที่ 1 ว่าด้วยการไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ทั้งที่มนุษย์จะกระทำต่อมนุษย์หรือมนุษย์กระทำต่อสัตว์ก็อยู่ในข้อเดียวกัน ถ้าคำว่า อย่าฆ่าสัตว์ ไม่ได้หมายความถึงอย่าเสพเนื้อสัตว์ ด้วย ศีลข้อที่ 1 ก็ไร้ค่าหมดความหมายไปสิ้น เพราะจะมีการกินเนื้อสัตว์ไม่ได้เลยถ้าไม่มีการฆ่าสัตว์เสียก่อนการกินเนื้อสัตว์ทำให้เกิดการฆ่า ถ้าหยุดกินก็คือ หยุดฆ่าด้วย แต่เพราะคนทั้งหลายแยกการกินและการฆ่าออกจากกัน สัตว์จึงถูกฆ่าอยู่ร่ำไปไม่สิ้นสุด การกินสัตว์กับการฆ่าสัตว์ย่อมเกี่ยวข้องเป็นเหตุและผลคู่กัน เราไม่สามารถจะแยกการกินออกจากการฆ่าได้พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บัญญัติศีล ไม่ให้ฆ่า แล้วพระองค์จะมากินเสียเองดูกระไรอยู่

2 . ชาติภูมิ กำเนิดของพระพุทธเจ้าเป็นชาวฮินดูอยู่ในวรรณะสูงแม้แต่ชาวฮินดูธรรมดาก็ไม่ เสพเนื้อสัตว์มาตั้งแต่พุทธกาลหลายพันปีมาแล้วจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และบรรดาศากยวงค์อันเป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้าปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ล้วนเป็นผู้ไม่เสพเนื้อสัตว์ ต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ในศากยวงค์ไม่เคยปรากฏว่า มีการเสพเนื้อสัตว์”

3 . พระพุทธเจ้ามีพระจริยาวัตรงดงามทรงฉันโดยอาการสำรวม อาหารผักผลไม้ย่อมสะดวกต่อการขบฉันเป็นอันมาก เนื้อสัตว์ที่คนเราธรรมดากินมีทั้งก้าง กระดูก หนัง ลำบากต่อการกินต้องฉีกดึงแทะกัด ล้วนเป็นอาการกินที่ไม่สำรวม ไม่น่าดูเลย กริยาอย่างนี้ย่อมไม่พบในองค์พระบรมศาสดาเป็นแน่ 

4 . ขณะที่ทรงเสด็จออกบวชจนกระทั้งตรัสรู้และออกจาริกเทศนาตลอดพระชนม์ชีพพระพุทธเจ้าใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ในป่า อาหารที่เป็นธรรมชาติที่สุดก็คืออาหารจำพวกพืชผักผลไม้ สามารถหาได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองสะดวกต่อการจัดหามาบริโภค เหมาะแก่การดำรงตนเป็นผู้เลี้ยงง่าย อันหมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่แท้จริง

5 . น่าคิดว่านายจุนทะเองก็เป็นแขกฮินดู ซึ่งตามธรรมดาชาวฮินดูจะไม่กินเนื้อสัตว์กันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล นายจุนทะจะเอาเนื้อหมูมาถวายพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ? -หมายเหตุ “พระมหาเถระอัมริตนันทะ ผู้มีชื่อเสียงแห่งประเทศเนปาล ซึ่งเป็นบุตรหลานในตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจาก ศากยวงศ์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ยืนยันให้โลกรู้ว่า นับตั้งแต่โบราณกาลมาตราบจนถึงทุกวันนี้ ในราชวงศ์ของท่านนั้นไม่เคยมีใครเสพเนื้อสัตว์เลยพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็มิได้เสพเนื้อสัตว์เช่นกัน ใน ลังกาวตารสูตร และพระสูตรอื่น ๆอีกมาก ได้จารึกพระวจนะของพระพุทธองค์มีบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าพระองค์มิได้เสวยเนื้อสัตว์ใดๆ และทรงสรรเสริญคุณของการงดเสพเนื้อสัตว์

จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 900 มีการเขียนเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงโดยชนรุ่นหลังว่า พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ คงเป็นเพราะอยากกินเนื้อสัตว์เสียเอง จึงถือโอกาสอ้างพระนามของพระบรมศาสดาเสียเลย เวรกรรมจริงๆ กรรมหนักมากเสียด้วย !

พระพุทธเจ้าได้ทรงเสวย"เนื้อสุกร"ที่นายจุนนำมาถวาย มิใช่หรือ ?

ในพระพุทธประวัติของไทยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเสวยเนื้อสุกรที่นายจุนทะนำมาปรุงถวาย แล้วประชวรจนกระทั้งปรินิพพานในวันนั้นมิใช่หรือ ? พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้แปลศัพท์คำว่า สุกรมัทวะ ว่า เนื้อสุกรอ่อน ซึ่งเป็นการแปลที่ผิดพลาดอย่างมาก จนกระทั้งถึงปี พ.ศ. 2526 ได้แก้ไขแปลใหม่ให้ถูกต้องว่า เห็ดอ่อนที่สุกรชอบ สุกรมัทวะ เป็นชื่อของเห็ดสนิดหนึ่งแปลตามศัพท์หมายถึงเห็นอ่อนที่หมูชอบ เหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะ เห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ใต้ผิวดิน เป็นเห็ดที่หมูชอบมันจะใช้จมูกดมหาแล้วคุ้ยขึ้นมารับประทาน เห็ดนี้ขณะยังอ่อนๆ มีรสชาติดีพิเศษ เป็นของหายากแต่ข้อเสีย ก็คือ จะทีเปาะที่เป็นพิษอยู่ด้วย หากปลอกไม่ดีเมื่อเวลานำไปปรุงก็จะทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ง่าย

สุกรมัทวะ ที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้านั้น เป็นอาหารที่มีของผสมคือ โอทนะ แล้วปรุงด้วยเบญจโครส ได้แก่ นมโค 5 อย่างคือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น นมเปรี้ยว ถือเป็นอาหารที่มีรสดีประณีต แต่ค่อนข้างจะย่อยยาก ไม่เหมาะกับคนชราเพราะทำให้ธาตุผิดปกติได้ง่าย

แม้อาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะนำมาถวายพระบรมศาสดานั้นเป็นพิษ แต่พระองค์ก็ทรงรับประเคนทั้งนี้เพราะทรงล่วงรู้ด้วยพระญาณว่าเป็นด้วยเศษหนี้กรรมในอดีตชาติของพระองค์เอง พระองค์จึงไม่ให้พระภิกษุอื่นฉัน โดยมีพระดำรัสสั่งให้นายจุนทะนำส่วนที่เหลือไปฝังดินเสีย เมื่อได้ทรงเสวยเข้าไปแล้วไม่นานพระธาตุก็ย่อยยับเกิดโลหิตปักขันทิกโรค (โรคท้องร่วงอย่างแรงจนมีโลหิตออกมาด้วย) และทรงปรินิพพานในเวลาต่อมา

จากพุทธประวัติข้างต้นมีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อคิดว่า “พระอาการประชวรของพระพุทธเจ้า หลังจากที่ทรงเสวย “สุกรมัทวะ” แล้ว เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันที ซึ่งเป็นอาการของการรับประทานอาหารที่มีพิษจำพวกเห็ด เนื้อหมูที่เป็นพิษทำให้เกิดอาการดังกล่าวนั้นไม่มี หากนายจุนทะปรุงอาหารด้วยเนื้อหมูอย่างที่เข้าใจกัน แล้วเนื้อหมูนั้นมีเชื้อโรค กว่าที่โรคจากการกินเนื้อหมูติดเชื้อจะปรากฎก็ต้องใช้เวลาหลายวันเป็นอันไม่ตรงกับพระอาการของพระพุทธองค์”

ชาวพุทธบางคนเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหมูในอาหารมื้อสุดท้ายแล้วตัวเองกลับไม่กินเนื้อสัตว์เลยเมื่อสอบถามกันดูก็ได้คำตอบว่า “เนื้อหมูนี่ ขนาดพระพุทธเจ้ากินแล้วยังตาย ช่างน่ากลัวเสียจริง ฉะนั้นไม่ว่าเนื้ออะไรเราก็ไม่น่าเสี่ยงกินเข้าไป” อย่างนี้ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ที่มีรากบุญกุศลเดิมที่บำเพ็ญมาดีจึงสามารถเอาคำพูดที่ผิดพลาดของคนอื่นมาเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

เนื้อที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ถือว่าเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์ มิใช่หรือ ?

เนื้อที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ถือว่าเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้กินได้มิใช่หรือ?

เนื้อที่ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจเลยว่าเขาฆ่าเพื่อเจาะจงมาให้ตนกินนั้นในโลกนี้เนื้อสัตว์ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงมีอยู่หรือ?

เนื้อที่ตนซื้อมาใครกล้าพูดได้ว่าตนไม่รู้ไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อเจาะจงมาขาย ทุกคนย่อมต้องรู้ต้องเห็นด้วยสามัญสำนึกกว่า เขาฆ่ามาเพื่อเจาะจงให้คนซื้อกินไม่ใช่ต้องไปเห็นด้วย “ตา” ว่าเขากำลังฆ่าอยู่ มีใครบ้างไม่ได้ยินที่เขาเจาะจงถามว่า “ต้องการกินเนื้อไหม กินเนื้ออะไร” ไม่ใช่หมายถึงให้เราต้องไปได้ยินเสียงสัตว์ที่ถูกฆ่าต่อหน้า ในเมื่อทั้งเห็นทั้งได้ยินว่าเขาฆ่าเจาะจงมาให้คนซื้อกินเท่านั้น หากรู้เช่นนี้แล้วไม่รังเกียจจะกินก็กินไปได้เลย บาปก็บาปไปเลย คงมีแต่คนหูหนวกตาบอดเป็นใบ้สติวิปลาสเท่านั้น จึงจะกินเนื้อได้โดยไม่เห็นไม่ได้ยินไม่รังเกียจไม่เจาะจงใดๆทั้งสิ้น เนื้อที่บริสุทธิ์ที่คนกินไป แล้วไม่บาป พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าคือ “เนื้อบัง สกุล” หมายถึงเนื้อของสัตว์ที่ตายเอง ชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจว่าเนื้อที่ขายในตลาดเป็นเนื้อบัง สกุลเพราะ “ตายแล้ว” ซื้อมากินไม่ผิดจึงควรทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า เนื้อสัตว์ที่ขายในตลาดทุกชิ้นไม่ใช่เนื้อบังสกุลอย่างที่เข้าใจ

เนื้อในตลาดเป็นเนื้อที่ “ตายแล้ว” ก็จริงแต่ไม่ใช่ “ตายเอง” เป็นเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายทั้งหมด สมัย นี้ถ้ารู้ว่าสัตว์ตายเองไม่มีใครกล้าซื้อมากินเพราะกลัวติดโรคมีคำกล่าว อรรถาธิบายเกี่ยวกับเนื้อบังสกุลอันถือว่าเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์สำหรับคนที่ จะกินว่า “ผู้ที่กินเนื้อของสัตว์ที่ตายเอง ก็ให้รู้สึกเหมือนดั่งกินเนื้อของลูกตนเองที่ตายลงในทะเล ทราย” ก็คือหากเราต้องไปหลงทางในทะเลทรายตกอยู่ในสถานะการณ์ที่ไม่มีทางเลือกอื่นใด ไม่มีอะไรที่พอจะกินได้แล้ว จึงต้องจำใจกินเนื้อลูกของตนที่ตายไปก่อนเพื่อประทังชีวิตให้รอดไปได้เท่านั้นผู้กินเนื้อบังสกุลก็ควรรู้สึกอย่างนี้

ไม่มีเขียนไว้ที่ไหนเลยว่าถ้าตกอยู่ในถานการณ์จำเป็นดังกล่าวให้ฆ่าลูกคนกินได้โดยไม่บาปเหมือนกับฆ่าสัตว์กิน หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่คำสอนสำหรับชาวพุทธแน่ต้องเป็นคำสอนของลัทธิมารลัทธิอุบาทว์ไปแล้ว ในคัมภีร์เก่าแก่ที่มีอยู่ทุกศาสนาในโลกเล่าว่า สมัยดึกดำบรรพ์ตั้งแต่แรกเริ่มที่มีมนุษย์เกิดขึ้น เวลานั้นมนุษย์กินเนื้อสัตว์ที่ตายลงเอง นานๆเข้าก็ติดใจในรสชาดก็เลยฆ่ากิน คงขี้เกียจรอให้ตายเองถึงได้มีคำพูดติดปากว่า “บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน” คือร่วมมือร่วมใจสมรู้ร่วมคิดกันทั้งฆ่าทั้งกิน ผลกรรมก็แบ่งกันคนละเท่าๆกันก็ยุติธรรมดี ที่ทุกวันนี้คนจำนวนมากต้องตายเพราะโรคต่าง ๆ มากมาย ลองพิจารณาดูเถิด ว่ามีสิ่งใดเป็นสิ่งร่วมอยู่ในสาเหตุนั้น

ทำไมพระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติข้อห้ามสำหรับภิกษุตามที่พระเทวทัตทูลขอ 5 ข้อ

ทำไมพระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติข้อห้ามสำหรับภิกษุตามที่พระเทวทัตทูลขอ 5 ข้อ ? ข้อบัญญัติทั้ง 5 ข้อที่พระเทวทัตทูลขอให้พระองค์บัญญัติให้ภิกษุต้องทำ ไม่ทำไม่ได้นั้นคือ

1. ภิกษุทั้งหลายจักต้องอยู่ในป่าตลอดชีวิต จะอาศัยในเขตแดนบ้านไม่ได้

2.ภิกษุทั้งหลายจักต้องเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิตจะยินดีรับนิมนต์ไปฉันในเรือนไม่ได้

3. ภิกษุทั้งหลายจักต้องนุ่งห่มแต่ผ้าบังสกุลตลอดชีวิตจะรับผ้าจีวรจากผู้นำมาถวายไม่ได้

4. ภิกษุทั้งหลายจักต้องอยู่โคนไม้ตลอดชีวิตจะเข้าอาศัยที่มุงบังไม่ได้

5. ภิกษุทั้งหลายจักต้องไม่กินเนื้อกินปลาตลอดชีวิตผู้ที่กินมีความผิด
เหตุผลที่พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติตามที่ขอก็เพราะ

ข้อที่ (1.) พระสงฆ์สาวกต้องอยู่แต่ในป่าตลอดชีวิตย่อมขัดกับจุดประสงค์ของการออกบวชเพราะถ้าหากพระสงฆ์อยู่แต่ในป่าเข้ามาในเขตบ้านไม่ได้ พระสงฆ์สาวกจะเผยแผ่พระธรรมให้แก่มหาชนทั้งหลายที่ยังตกอยู่ในทะเลทุกข์ได้อย่างไร

ข้อที่ (2.) พระสงฆ์สาวกต้องเที่ยวบิฯฑบาตตลอดชีวิต จะรับนิมนต์ไปฉันในบ้านเรือนไม่ได้ ข้อนี้หากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตตามข้อ 1 แล้ว คือให้พระอยู่แต่ในป่า จะหาคนมาถวายบิณฑบาตได้อย่างไร ผู้ที่จะถวายอาหารก็ต้องเข้าไปในป่าย่อมทำให้เกิดความยากลำบาก ในบางคราวที่ชาวบ้านต้องการทำกุศลถวายทานฟังธรรมในบ้านเรือนตน หากพระไม่รับนิมนต์แล้วเขาจะสร้างบุญกุศลได้อย่างไร คำขอนี้ ถ้าพระองค์ทรงบัญญัติแล้วก็หมายถึง ไม่ให้พระสงฆ์เข้าไปในเมือง ถึงพระสงฆ์จะมีอยู่ก็มารับนิมนต์ในบ้านเรือนไม่ได้ เพราะพากันเข้าป่าไปหมด

ข้อที่ (3) พระสงฆ์สาวกต้องนุ่งห่มผ้าบังสกุลตลอดชีวิตห้ามรับผ้าที่ชาวบ้านถวาย ข้อนี้หากพระมีจำนวนน้อยๆ ก็อาจพอแสวงหาผ้าตามป่าช้าหรือกองขยะได้ แต่ ด้วยพระพุทธองค์ทรงล่วงรู้ว่าต่อไปภายหน้าจะมีบรรดากุลบุตรทั้งหลายเข้ามา บวชในพระพุทธศาสนามากมายแล้วจะหาผ้าบังสกุลให้ครบทุกรูปได้อย่างไร

ข้อที่ (4) พระสงฆ์สาวกต้องอยู่แต่โคนไม้ตลอดชีวิต จะเข้าสู่ที่มุงไม่ได้ ข้อนี้ขัดกับภูมิอากาศหากเป็นฤดูแล้งก็พออยู่ได้แต่ในฤดูฝนจะทำอย่างไร พระสงฆ์คงต้องตากแดดตากฝนอยู่ตลอดชีวิตยังไม่ทันจะสำเร็จธรรมใดๆก็ป่วยตายเสียก่อน ซึ่งเป็นหนท่งที่ไม่ถูกต้องในฤดูที่ผลไม้สุกใบไม้ร่วงหล่นต้องทับถมเป็นปุ๋ยตามโคนต้น พระจะอาศัยอยู่กับเศษใบไม้ผลไม่ที่ล่วงหล่นและเน่าเปื่อยส่งกลิ่น ย่อมไม่เป็นที่สะดวกแก่การปฏิบัติธรรม

ข้อที่ (5) ถือเป็นข้อกังวลสงสัยอย่างมากของชาวพุทธ ก็คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ “ห้าม” พระสงฆ์สาวกไม่ให้ฉันปลาและเนื้อเพราะเหตุอะไร ในข้อนี้อรรถจารย์ได้อธิบายว่าพระบรมศาสดาทรงเป็นพระสัตตัญญูมีพระญาณล่วงรุ้ทุกสิ่งพระองค์ย่อมต้องรู้ว่า อีกนับเป็นพันปีในกาลข้างหน้าพระพุทธศาสนาจะแผ่กระจายไปทั้วโลกหากพระพุทธองค์ทรงบัญญัติ “ห้าม” กุลบุตร ผู้ที่จะเข้ามาสู่ศาสนาของพระองค์ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เสียจั้งแต่ทีแรกโดย ยังไม่ทันได้รู้ถึงหลักธรรมอันถูกต้องก็คงไม่มีใครจะก้าวเข้ามาศึกษาอันเป็น การปิดกั้นหนทางของกุลบุตรผู้ม่วิสัยอันจะฝึกตนให้ดีได้

เวไนยสัตว์ก็คือ ผู้ที่ยัง “หลง” อยู่ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเขายังมีปัญญาไม่มากพอที่จะพาตัวเองออกมาจากความผิดกลับไปสู่ความถูกต้องได้อย่างแท้จริงนั่นเอง เวไนยสัตว์ทั้งหลายยังต้องแสวงหาความ “รู้แจ้ง” เพื่อพัฒนาจิตญาณของตนให้สูงขึ้นไป คนตาบอดที่ต่อมาสามารถมองเห็นแสงสว่างได้แล้วเท่านั้น จึงจะรู้ว่า ชีวิตที่ต้องจมอยู่ในความมืดมน มันช่างน่ากลัวและทุกข์ยากเพียงไร

หากเป็นบุญวาระโชคดี คนที่ยังหลงได้พบผู้มีปัญญาช่วยชี้แนะอบรมจนเกิดความสว่างสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างความดีความชั่ว ความผิดความถูกได้แล้ว เมื่อนั้นเขาก็จะเป็น “ผู้รู้แจ้ง” สามารถเดินไปบนหนทางแห่งความถูกต้องดีงาม ด้วยเหตุและผลที่ตนค้นพบแล้วด้วยคนเองอย่างไม่ผันแปร ดังอธิบายมาข้างต้นก็ย่อมจะเห็นว่าคำขอทั้ง 5 ข้อของพระเทวทัตเป็นไปด้วยอกุศลเจตนา ที่มุ่งหวังจะทำลายพุทธจักรให้สะดุดหยุดลง ปิดกั้นขัดขวางเวไนยสัตว์มิให้มีโอกาสเข้าถึงพุทธธรรมได้นั่นเอง

จากการที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราไม่ทรงบัญญัติข้อ “ห้ามกินเนื้อสัตว์” นั้นเพื่อเป็นช่องทางให้มนุษย์รู้จักใช้วิจารณญาณอำเภอใจได้เลือกกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่แล้วมนุษย์ทั้งหลายก็อาศัยช่องทางที่เปิดไว้น้อยนิดนี้ พากันกระโดดเข้าไปขยายช่องทางนั้นให้กว้างออกไปจนโตเต็มความพอใจในทางที่ผิดของตน อกุศลเจตนาของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุดได้ เขาจะถือเอาความผ่อนผันของพระศาสดาไปใช้โดยไม่มีจำกัดขีดขั้นต่างยกเอาพุทธานุญาติขึ้นบังหน้าแล้วระเริงกันไปโดยไม่มีการเหนี่ยวรั้ง ในข้อที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์ในข้อนี้คนธรรมดาผู้ไม่ใส่ใจพิจารณาด้วยสติปัญญา ก็พากันพูดว่า “ก็เมื่อพระภิกษุสงฆ์ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้นำของเราบริโภคเนื้อสัตว์เหตุไรเราจะเอาอย่างไม่ได้ เรากินเนื้อสัตว์กันเถิด” คารมเหตุผลนั้นถูกแต่ความหมายสุดท้ายนั้น ผิด

ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทรงสั่ง "ห้าม" กินเนื้อสัตว์ โดยตรงเล่า ???

สำหรับพระบรมศาสดาแล้วพระองค์ไม่เคยใช้คำว่า “ห้าม” เลยในคำเทศนาสั่งสอนทั้งหลาย แม้ในคราวที่ทรงสรุปหลักธรรมอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาคือพึงละเว้นความชั่วทั้งปวง พยายามทำแต่ความดี และทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส พระองค์ทรงตรัสให้ “พึง” ละเว้น หมายถึงความชั่วทั้งหลายชาวพุทธควรเว้นไปเสียที่ละได้ก็ควรละเสีย เหตุไฉนไม่ทรงตรัส “ห้าม” ไม่ให้คนทำชั่ว ใน โลกนี้มีใครสั่งห้ามคนไม่ให้ทำชั่วได้ทั้งนี้เพราะคนเป็นสัตว์โลกที่มีสมอง มีอำเภอใจที่เลือกเองระหว่างความดีและความชั่วแต่น่าเสียดายที่คนจะเลือก อยู่ฝ่าชั่วเสมอ พระบรมศาสดาผู้ยอดยิ่งทุกพระองค์ที่มาจุติในโลกนี้ หากสามารถ สั่งห้าม มนุษย์ทั้งหลายไม่ให้ทำความชั่วได้ ในโลกนี้ยังจะมีคนทำความชั่วอยู่อีกหรือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่ทรงอาจสั่ง ห้าม ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ในเรื่องของการทำความดีและทำใจให้บริสุทธิ์ พระองค์ให้ทุกคนพยายามทำให้มากให้บ่อยที่สุด ใครเล่าจะออกคำสั่งให้เขาทำดีได้ ใครจะสั่งให้คนเป็นคนดีได้ ใครจะสั่งให้ทุกคนบริสุทธิ์ได้ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับตัวของแต่ละคนเอง ที่จะกระทำออกมาด้วย ใจที่รู้แจ้งในเหตุและผล โดยตัวของตัวเองแล้วเท่านั้น พระองค์ทรงตรัสว่า “เราเป็นแต่เพียงผู้บอกให้เวไนยสัตว์ได้รู้ถึงความถูกต้องดีงาม แต่เราไม่สามารถบังคับให้เขาเชื่อ” พระองค์ทรงเรียกให้ทุกคนเข้ามาฟังคำของพระองค์ดูก่อน เชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความศรัทธาเชื่อมั่นจะต้องเกิดมาจากจิตใจจากมโนธรรมสำนึกที่อยู่ลึกภายในตัวของเขาเอง

พืชผักทั้งหลายก็เป็นของมีชีวิต กินแล้วมิเป็นบาปด้วยหรือ?

พืชผักเป็นสิ่งมีชีวิตก็จริงอยู่แต่มีองค์ประกอบชีวิตที่ต่างไปจากมนุษย์และสัตว์ กล่าวคือ มนุษย์มีองค์ประกอบของชีวิต 3 ส่วนคือ

1. จิตญาณแห่งความรู้เหตุและผล คือ วิจารณญาณ

2. จิตญาณแห่งการต่อสู้ดิ้นรนหนีภัย คือ สัญชาติญาณ

3. พลังแห่งการเจริญเติบโต คือ พลังชีวิต สัตว์ทั้งหลายมีองค์ประกอบของชีวิต 2 ส่วนคือ

3.1 จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ดิ้นรน หลบหลีกหนีภัย คือ สัญชาติญาณ
3.2 พลังแห่งการเจริญเติบโต คือ พลังชีวิต

แต่พืชมีองค์ประกอบของชีวิตเพียงหนึ่งส่วนคือ พืชจะมีพลังชีวิต คือ พลังแห่งการเจริญเติบโตเท่านั้น ไม่มีเวทนาความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่มีสัญญาหรือความจำได้หมายรู้ การกินพืชผักผลไม้จึงไม่มีเหตุปัจจัยก่อให้เกิดบาปเวร การกินพืชผักผลไม้ไม่เป็นการทำลายล้างโดยธรรมชาติพืชผักผลไม้จะหมุนเวียนผลิดอกออกผลให้ทุกชีวิตได้อาศัยรับประทานอยู่ตลอด 
แม้ไม่มีผู้ใดเก็บมารับประทานผลก็จะหลุดล่วงตกหล่นกลับเป็นปุ๋ยบำรุงต้นต่อไป พืชผักผลไม้อาศัยการกินของมนุษย์และสัตว์เพื่อช่วยขยายพันธุ์ ยิ่งบริโภคก็ยิ่งแพร่พันธ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ธรรมชาติสร้างให้ต้นไม้ไม่โต้ตอบไม่ทำร้ายใครไม่วิ่งหนี แต่มีพลังชีวิตสูงเป็นพิเศษสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเพื่อการดำรงอยู่

ดังนั้นพืชผักผลไม้จึงเป็นอาหารที่ธรรมชาติมอบให้แก่ทุกชีวิตบนโลก พืชพรรณไม้ทั้งหลายก็เฉกเช่นเดียวกันกับธรรมที่ให้ความสุขใจและความร่มเย็นแก่ชีวิตโดยแท้
				
ไม่มีข้อความส่งถึงคีตากะ