1 ธันวาคม 2561 15:16 น.
คีตากะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับแสดงธรรมโปรดสัตว์อยู่ ณ สวนอัมพปาลีวัน ณ กรุงเวสาลี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๘,๐๐๐ รูป พระโพธิสัตว์(๑)อีก ๓๒,๐๐๐ องค์ ซึ่งแต่ละองค์ล้วนเป็นผู้มีเกียรติคุณอันประชุมชนรู้จักดี ถึงพร้อมแล้วด้วยมหาปรัชญา(๒)และมูลจริยา(๓) มีทาน ศีล ขันติ(๔) วิริยะ(๕) ฌาน(๖) ปัญญา และอุปายะ(๗)พละ(๘) มีความบริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นจากสังโยชนธรรม(๙) เป็นผู้แสดงพระสัทธรรม(๑๐)ต่อสรรพสัตว์ สืบพระพุทธศาสนายุกาลให้ยั่งยืน ฯลฯ พระโพธิสัตว์เหล่านี้ มีอาทิเช่น พระสมาธิอิศวรราชาโพธิสัตว์ พระธรรมอิศวรราชาโพธิสัตว์ พระธรรมลักษณะโพธิสัตว์ พระประภาลักษณะโพธิสัตว์ พระประภาลังการโพธิสัตว์ พระมหาลังการโพธิสัตว์ พระรัตนกูฏโพธิสัตว์ พระรัตนากรโพธิสัตว์ พระปีติอินทรีย์โพธิสัตว์ พระอากาศครรภ์โพธิสัตว์ พระวิทยชาลโพธิสัตว์ พระคันธหัสดินทร์โพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(ปางหนึ่งของเจ้าแม่กวนอิม) พระมหาสถามปราบต์โพธิสัตว์ พระสุวรรณจุฬาโพธิสัตว์ พระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์(พระพุทธเจ้าองค์ต่อไป) และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ผู้ธรรมราชาบุตร(ครูของพระพุทธเจ้าทั้งสิบทิศ) เป็นต้น อนึ่ง ยังมีพระพรหมและทวยเทพ นาค ยักษ์ อสูร ครุฑ กินนร(๑๑) มโหรค(๑๒)อีกจำนวนมาก พร้อมทั้งพุทธบริษัท ๔(๑๓) อีกจำนวนมาก ต่างมาประชุมเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อสดับพระสัทธรรม
ก็โดยสมัยนั้นแล ณ กรุงเวสาลี มีบุตรคฤหบดี(๑๔)ผู้หนึ่งชื่อรัตนกูฏพร้อมกับบุตรคฤหบดีอื่นๆ อีกจำนวน ๕๐๐ คน ต่างถือเอาฉัตร(๑๕)อันประกอบด้วยสัปตรัตนะ(๑๖) ชวนกันมาเฝ้าพระบรมศาสดา อภิวาทน์(๑๗)พระบาททั้ง ๒ ของพระองค์แล้ว ต่างก็น้อมฉัตรเข้าไปถวาย ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร(๑๘)ให้ฉัตรทั้งปวงรวมกันเข้าเป็นฉัตรคันเดียว แลร่มเงาแห่งฉัตรนั้น ก็ปกคลุมไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุ(๑๙) สิ่งต่างๆ มีภูเขา แม่น้ำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ตลอดจนพุทธเกษตร(๒๐)ต่างๆ ซึ่งมีพระพุทธเจ้ากำลังแสดงพระสัทธรรมอยู่ ก็มาปรากฏอยู่ในฉัตรดังกล่าวนั้น ประชุมชนซึ่งมาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น ต่างเพ่งทัศนากำลังแห่งพุทธปาฏิหาริย์ด้วยความเลื่อมใส ต่างยกกรขึ้นวัทนา แลดูซึ่งพระพุทธลักษณะอยู่โดยมิเคลื่อนคลา และบุตรคฤหบดีผู้ชื่อว่ารัตนกูฏได้กล่าวสดุดีกถา(๒๑)ด้วยถ้อยคำอันพรรณนาพระพุทธคุณ(๒๒)อันเป็นอเนก จบลงแล้วจึงทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุตรคฤหบดีทั้ง ๕๐๐ คนนี้ ล้วนตั้งจิตมุ่งต่ออนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ(๒๓)มาแล้ว ต่างปรารถนาใคร่สดับเรื่องวิสุทธิพุทธเกษตร(๒๔) ขอพระองค์ทรงโปรดแสดงจริยา(๒๕)ของปวงพระโพธิสัตว์เพื่อยังวิสุทธิภูมิ(๒๖)ให้สำเร็จเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระราชดำรัสว่า “ดีละ รัตนกูฏ ! ในการที่เธอสามารถถามตถาคต(๒๗)ถึงจริยาอันให้สำเร็จซึ่งพุทธเกษตร เพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เธอพึงสำเหนียก(๒๘)แลมีโยนิโสมนสิการ(๒๙)ให้ดี เราจักแสดงแก่เธอ ณ บัดนี้”
ครั้งนั้นแล รัตนกูฏพร้อมทั้งบุตรคฤหบดีอีก ๕๐๐ คน ต่างก็ตั้งจิตหยั่งลงพร้อมที่จักรับพระสัทธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
“ดูก่อนรัตนกูฏ ในสรรพสัตว์ทั้งปวงนั่นแล ชื่อว่าเป็นวิสุทธิเกษตร(๓๐)แห่งพระโพธิสัตว์ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ? ก็เพราะว่าพระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์(๓๑)โปรดสรรพสัตว์ จึงอาจสามารถให้สำเร็จซึ่งพุทธเกษตรได้ อุปมาดังบุคคลผู้ปรารถนาจักสร้างปราสาทในแผ่นดินที่ว่าง เขาย่อมยังกิจที่ปรารถนาให้สำเร็จได้ แต่ถ้าเขาไม่อาศัยแผ่นดินกลับไปอาศัยอากาศเพื่อสร้างปราสาทไซร้ ย่อมไม่มีหนทางสำเร็จฉันใด พระโพธิสัตว์ก็มีอุปไมยฉันนั้น กล่าวคือในการยังพุทธเกษตรให้สำเร็จบริบูรณ์ ก็เพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์นั่นเอง รัตนกูฏ ! เธอพึงสำเหนียกว่าจิตที่ตั้งไว้ถูกตรงนั่นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ(๓๒) เหล่าสัตว์ซึ่งปราศจากมายาความหลอกลวงย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น จิตที่ลึกซึ้งนั่นแลชื่อว่า วิสุทธิภูมิของโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งสมบูรณ์ด้วยกุศลคุณ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น โพธิจิต(๓๓) นั่นแลชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิเหล่าสัตว์ซึ่งเป็นมหายานิกบุคคล(๓๔) ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น การบำเพ็ญทาน นั่นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งมีจาคธรรม(๓๕)ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิภูมิเกษตรนั้น การรักษาศีล นั่นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งบำเพ็ญกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐(๓๖) ได้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิภูมิเกษตรนั้น ขันติ นั่นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งรุ่งเรืองด้วยทวัตติงสาลังการ(๓๗)ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น วิริยะ นั่นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิเหล่าสัตว์ผู้มีความบากบั่นพากเพียรในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ฌานสมาธิ(๓๘) นั่นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งสำรวมจิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ปัญญา นั่นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งมีอินทรีย์(๓๙)เที่ยงต่อการตรัสรู้ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ฯลฯ”
ตรัสว่า ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์สำเร็จพระโพธิญาณ(๔๐)แล้ว โลกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ย่อมสุขสมบูรณ์ ปราศจากความมัวหมองและเภทภัยกันดารต่างๆ แลสรรพสัตว์ในโลกธาตุนั้น ก็บริบูรณ์ด้วยกุศลคุณต่างๆ เป็นอเนกประการ(๔๑) แล้วตรัสสรุปว่า
“เพราะฉะนั้นแล รัตนกูฏ ! พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาจักบรรลุถึงวิสุทธิเกษตรดังกล่าว ! พึงชำระจิตแห่งตนให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อจิตบริสุทธิ์สะอาดดีแล้ว พุทธเกษตรก็ย่อมบริสุทธิ์สะอาดตามไปด้วย”
ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรเถรเจ้าโดยการบันดาลดลแห่งพุทธานุภาพ(๔๒)ได้บังเกิดปริวิตก(๔๓)อย่างนี้ขึ้นว่า “ถ้าจิตของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์ พุทธเกษตรก็พลอยบริสุทธิ์ด้วยไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้พระผู้มีพระภาคของเรา เมื่อสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จักมีจิตไม่บริสุทธิ์กระมังหนอ พุทธเกษตรของพระองค์จึงไม่สะอาดหมดจดดั่งปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ ?”
พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระดำรัส(๔๔)ว่า
“สารีบุตร ! เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ? บุคคลผู้มีจักษุบอดมองไม่เห็นความสุกสว่างหมดจดแห่งดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นั่นเป็นความผิดของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ฤาหนอ ?”
พระสารีบุตรทูลว่า “หามิได้ข้าแต่พระสุคต(๔๕) เป็นความบกพร่องของบุคคลผู้มีจักษุบอดเอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักมีโทษด้วยก็หาไม่”
ตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้นนะสารีบุตร ! เป็นความผิดของสรรพสัตว์เองที่มองไม่เห็นความบริสุทธิ์สะอาดในโลกธาตุเกษตรแห่งเราตถาคต จักเป็นความผิดของตถาคตด้วยก็หาไม่ สารีบุตรเอย ! โลกธาตุของตถาคตนั้นบริสุทธิ์ แต่เธอมองไม่เห็นเอง”
ก็โดยสมัยนั้นแล ท้าวสนังพรหมกุมาร ได้กล่าวกับพระสารีบุตรว่า
“ขอท่านผู้เจริญอย่าได้ปริวิตก แลกล่าวว่าพุทธเกษตรนี้ไม่บริสุทธิ์เลย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะเรานั้นได้เห็นความบริสุทธิ์หมดจดแห่งพุทธเกษตรของพระศากยมุนีเจ้า เปรียบดุจทิพยมณเฑียร(๔๖)แห่งพระอิศวรเทพ(๔๗)ฉะนั้น”
พระสารีบุตรกล่าวว่า “แต่เราเห็นโลกธาตุนี้ อุดมไปด้วยขุนเขาหุบเหวสูงต่ำ มีขวากหนามอิฐกรวดดินทราย เต็มไปด้วยความโสมมสกปรก”
ท้าวสนังพรหมจึงว่า “จิตของท่านผู้เจริญสูงต่ำไม่สม่ำเสมอเองต่างหากเล่า ท่านผู้เจริญ ! มิได้อาศัยพุทธปัญญา(๔๘)ทัศนาโลกนี้ ฉะนั้นจึงเห็นโลกธาตุนี้ว่าไม่สะอาดหมดจด ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร อันพระโพธิสัตว์ย่อมเห็นสรรพสัตว์โดยความเป็นสมภาพ(๔๙) มีจิตอันลึกซึ้งบริสุทธิ์อาศัยพุทธปัญญาเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้น จึงสามารถทัศนาความบริสุทธิ์ของโลกธาตุนี้ได้”
พระผู้มีพระภาค จึงกดนิ้วพระบาทลง ณ ผืนปฐพี ในทันใดนั้นมหาตรีสหัสสโลกธาตุ ก็มีอันเปลี่ยนแปลง ปรากฏเป็นรัตนอลังการ(๕๐)นับแสนโกฏิ(๕๑)ประดับประดาแล้ว ประชุมชนทั้งปวงพากันอุทานด้วยความมหัศจรรย์ว่า
“สิ่งที่ไม่เคยมีก็มีขึ้นแล้วหนอ” ต่างเห็นตนของตนเองนั่งอยู่บนปทุมรัตน์(๕๒)อันเป็นทิพย์
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร ! เธอจงทัศนาวิสุทธิคุณาลังการ(๕๓)แห่งพุทธเกษตรนี้เถิด”
พระสารีบุตรทูลว่า “อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งซึ่งข้าพระองค์มิเคยได้เห็นมาก่อน มิเคยได้ฟังมาก่อน บัดนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วหนอว่า พุทธเกษตรของพระองค์บริสุทธิ์หมดจดยิ่งนัก”
พระบรมศาสดาตรัสว่า “โลกธาตุของตถาคต ย่อมบริสุทธิ์เป็นปกติอยู่เป็นนิตย์ แต่เพื่อโปรดบรรดาชนผู้มีอินทรีย์ต่ำ ตถาคตจึงสำแดงให้ปรากฏเห็นเป็นไม่บริสุทธิ์ขึ้น เหมือนดังปวงเทพยดาต่างร่วมเสวยสุทธาโภชน์(๕๔)ในทิพยภาชน์(๕๕)อันเดียว ด้วยอำนาจแห่งบุญสมภาร(๕๖)ของแต่ละองค์ไม่เสมอกัน ทิพยโภชน์(๕๗)จึ่งปรากฏหาคล้ายกันไม่ ฉันใดก็ฉันนั้นนะ สารีบุตร ! ถ้าบุคคลมีจิตบริสุทธิ์ไซร้ เขาย่อมเห็นคุณาลังการ(๕๘)แห่งพุทธเกษตรนี้ได้”
ในกาลซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบันดาล สำแดงความบริสุทธิ์แห่งโลกธาตุอยู่นั้น รัตนกูฏพร้อมด้วยบุตรคฤหบดีอีก ๕๐๕ คน ต่างก็บรรลุธรรมกษานติ(๕๙) และมี ๘,๔๐๐ คน ต่างตั้งจิตมุ่งสำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงยังฤทธิ์นั้นให้กลับคืน โลกธาตุจึงปรากฏสภาพของมันดุจเก่า อนึ่ง มีผู้ปรารถนาต่อสาวกภูมิ(๖๐) ๓๒,๐๐๐ คน ทวยเทพและมนุษย์ต่างเห็นชัดว่า สังขาร(๖๑)ทั้งปวง มีความทนอยู่มิได้ ต้องแปรผันไปเป็นธรรมดา ในดวงตามีธุลี(๖๒)อันไปปราศจากแล้วได้ธรรมจักษุ(๖๓)อันบริสุทธิ์ ภิกษุ ๘,๐๐๐ รูป หมดอาสวกิเลส(๖๔)ถึงความหลุดพ้นแล้ว
ในสมัยนั้น ที่กรุงเวสาลี มีคฤหบดีผู้หนึ่ง ชื่อวิมลเกียรติ ณ เบื้องอดีตภาค ท่านได้เคยบูชาสักการะในพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจักประมาณพระองค์มิได้ ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ(๖๕) มีปฏิภาณ(๖๖)อันปราศจากความขัดข้องแลอภิญญา(๖๗) พร้อมทั้งทรงไว้ซึ่งธรรมอรรถ(๖๘) เป็นผู้แกล้วกล้าปราศจากความหวาดกลัว สามารถบำราบ(๖๙)มารภัยให้สยบ อนึ่ง เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคัมภีรธรรม(๗๐) มีปรัชญาอันเป็นคุณชาติ(๗๑)ให้ถึงฝั่งแห่งภพอันดียิ่ง อีกทั้งเป็นผู้รอบรู้ในอุปายโกศล(๗๒)วิธี มีมหาปณิธาน(๗๓)อันสำเร็จแล้ว มีญาณ(๗๔)แทงทะลุในอธิมุตติ(๗๕)แห่งปวงสัตว์ พร้อมทั้งความสามารถในอันจักจำแนกอินทรีย์แก่อ่อนในสัตว์เหล่านั้นอีกด้วย คฤหบดีนั้น เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในพุทธภูมิแต่กาลอันนานมาทีเดียว จิตของท่านบริสุทธิ์สะอาด ดำเนินตามมหายานปฏิปทา(๗๖)โดยไม่แปรผัน กับทั้งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพุทธวัตรสมาจาร(๗๗) มีจิตอันไพศาลดุจมหาสาคร(๗๘) คฤหบดีนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงสดุดีอนุโมทนาสาธุการ(๗๙) เขาเป็นที่เคารพนับถือของพระสาวกทั้งหลาย ตลอดจนทวยเทพทั้งปวง มีท้าวศักรินทร์(๘๐)และท้าวมหาพรหมปชาบดี(๘๑)เป็นอาทิและเนื่องด้วยคฤหบดีนั้นมีความจำนงอันจักโปรดสรรพสัตว์ ท่านจึงสำแดงซึ่งอุปายโกศลวิธีด้วยการเข้ามาตั้งเคหสถาน(๘๒)อาศัย ณ กรุงเวสาลี
ท่านได้บริจาคทรัพย์จำนวนเหลือประมาณ เพื่อประโยชน์แก่ปวงชนทุคตะ(๘๓)เข็ญใจ ท่านแสดงการรักษาศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้ทุศีล(๘๔)จักได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง แสดงความอดกลั้นด้วยขันติคุณ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มักโกรธ แสดงความเป็นผู้มีอุตสาหวิริยะ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีโกสัชชะ(๘๕) แสดงความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในสมาธิฌาน ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีจิตฟุ้งซ่าน และได้ใช้สติปัญญาของท่านสงเคราะห์ชนผู้ปราศจากปัญญาให้มีความรู้แจ้งเห็นจริงด้วย คฤหบดีนั้น แม้จะเป็นอุบาสก(๘๖)ผู้นุ่งขาว แต่ก็ปฏิบัติรักษาวินัยของสมณะ(๘๗) แม้จะเป็นผู้ครองเรือน แต่ก็มีจิตไม่ยึดมั่นในภพทั้ง ๓(๘๘) แม้ท่านจักแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีภริยา(๘๙) แต่ก็รักษาพรหมจรรย์ไว้โดยบริสุทธิ์ แม้จะมีบริวารชน แต่ก็มีจิตยินดีในความสงัดห่างไกลจากบริวารชน แม้ร่างกายของท่านจะประดับด้วยเครื่องรัตนอลังการ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก แต่ภายในจิตของท่านมิได้พอใจผูกพันกับเครื่องประดับเหล่านั้น เพราะท่านมีคุณสมบัติต่างๆ มีปัญญาเป็นต้นเป็นเครื่องประดับใจ และถึงแม้ท่านจะบริโภคอาหารเช่นคนทั้งหลาย แต่อาหารที่แท้จริงของท่านก็คือถือเอารสแห่งปีติ(๙๐)ในฌานเป็นอาหาร และท่านมักจะไปปรากฏตัวในวงการพนัน วงการหมากรุก วงการเสพสุรา วงการละเล่นมหรสพ ตลอดจนกระทั่งสำนักหญิงโสเภณี ก็เพื่ออาศัยสถานที่เหล่านั้นเป็นแหล่งประกาศสัจจธรรม ชี้แจงบาปบุญคุณโทษแก่ชนผู้มัวเมาในอบายมุขทั้งหลาย นอกจากนี้ ท่านยังเที่ยวไปตามสำนักพาหิรลัทธิ(๙๑)ตามสถานสาธารณะต่างๆ ตามถนนหนทาง เพื่อประกาศพระพุทธธรรมให้สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนทั้งวัยเด็กวัยหนุ่มสาววัยชรา และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เกียรติคุณของท่านวิมลเกียรติ จึงแพร่หลายอุโฆษ(๙๒)ไปทั่ว ท่านเป็นที่เคารพยกย่องของกษัตริย์ สมณพราหมณ์ เสนาอำมาตย์ คฤหบดี ประชาชนพลเมืองทุกชั้นทุกวัย นอกจากท่านวิมลเกียรติจะบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่มนุษย์แล้ว ท่านยังบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่ทวยเทพด้วย ท่านเป็นที่เคารพของปวงพรหมเทพ ด้วยท่านแสดงธรรมอันประกอบด้วยโลกุตตรปัญญา(๙๓) ให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของปวงเทพในฉกามาวจร(๙๔)มีท้าววาสวะเป็นต้น ด้วยท่านแสดงธรรมชี้ให้เห็นความเป็นอนิจจัง(๙๕)ของสังขารธรรม(๙๖)ให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของท้าวจตุโลกบาลราชา(๙๗) ด้วยท่านพร่ำสอนธรรมให้ท้าวเธอและบริวารคุ้มครองรักษาโลก อันท่านคฤหบดีวิมลเกียรติสมบูรณ์ด้วยอุปายโกศลจริยา(๙๘) บำเพ็ญคุณานุคุณ(๙๙) หิตประโยชน์(๑๐๐)ในสรรพสัตว์ ด้วยประการฉะนี้แล
สมัยหนึ่ง ท่านวิมลเกียรติสำแดงตนว่าบังเกิดอาพาธ(๑๐๑) ด้วยอุบายนี้ จึงเป็นเหตุให้บรรดาราชา อำมาตย์ สมณพราหมณ์ คฤหบดี และชาวชนเป็นจำนวนหลายพันเป็นอเนก ต่างพากันมาเยี่ยมเยือนถามอาการไข้ถึงคฤหาสน์ ท่านจึงถือโอกาสที่ชนเหล่านี้มาเยี่ยมแสดงธรรมว่า
“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันสรีรกาย(๑๐๒)นี้ไม่แท้เที่ยง ปราศจากความกล้าแข็ง ปราศจากพลัง ปราศจากแก่นสาร เป็นสภาพมีอันเสื่อมโทรมโดยรวดเร็ว ไม่เป็นที่ไว้วางใจได้ สรีรกายนี้เป็นทุกข์ เป็นที่เดือดร้อน เป็นที่ประชุมของโรค ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายดังนี้แล บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่หลงใหลเพลิดเพลิน สรีระนี้อุปมาดังฟองน้ำจักลูบคลำมิได้ สรีระนี้อุปมาดังต่อมน้ำ เพราะไม่สามารถตั้งมั่นได้นาน สรีระนี้อุปมาดังพยับแดด เพราะเกิดมาแต่ตัณหา(๑๐๓) สรีระนี้อุปมาดังต้นกล้วย เพราะปราศจากแก่นสาร สรีระนี้อุปมาดังภาพมายา เพราะเกิดมาแต่ความวิปลาส(๑๐๔) สรีระนี้อุปมาดังความฝัน เพราะเกิดมาแต่ความหลงผิดให้เห็นไป สรีระนี้อุปมาดังเงา เพราะเกิดมาจากกรรมสมุฏฐาน(๑๐๕) สรีระนี้อุปมาดังเสียง เพราะอาศัยประชุมแห่งปัจจัยจึงมีได้ สรีระนี้อุปมาดังก้อนเมฆ เพราะตั้งอยู่ชั่วคราวก็เปลี่ยนแปร สรีระนี้อุปมาดังสายฟ้าแลบ เพราะตั้งอยู่คงทนมิได้ทุกๆ ขณะ ฯลฯ”
ท่านวิมลเกียรติได้กล่าวถึงโทษแห่งสรีระไว้เป็นอเนกประการแล้วจึงกล่าวสรุปว่า
“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายนี้น่าเบื่อหน่ายเห็นปานฉะนี้ เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงยินดีในพระพุทธสรีระ(๑๐๖) ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ? ก็เพราะว่า อันพระพุทธสรีรกายนั้น คือพระธรรมกาย(๑๐๗)นั่นเอง ย่อมเกิดมาจากปัญญาและคุณสมบัติเป็นอันมาก จักประมาณมิได้ เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ(๑๐๘) วิมุตติ(๑๐๙)ญาณทัสสนะ เกิดมาจากเมตตา(๑๑๐) กรุณา(๑๑๑) มุทิตา(๑๑๒) อุเบกขา(๑๑๓) เกิดมาจากทาน ศีล ขันติ โสรัจจะ(๑๑๔) วิริยะ ณาน วิมุตติ สมาธิ พหูสูต(๑๑๕) ปัญญาแลปวงบารมีธรรม(๑๑๖) เกิดมาจากอุปายะ เกิดมาจากฉฬภิญญา(๑๑๗) เตวิชชา(๑๑๘)และโพธิปักขิยธรรม ๓๗(๑๑๙) เกิดมาจากสมถวิปัสสนา(๑๒๐) เกิดมาจากทศพลญาณ(๑๒๑) เกิดมาจากจตุเวสารัชชญาณ(๑๒๒)และอเวณิกธรรม ๑๘(๑๒๓) เกิดมาจากสรรพอกุศลสมุจเฉทธรรม(๑๒๔)และจากสรรพกุศลภาวนาธรรม(๑๒๕) เกิดมาจากภูตตัตตวธรรม(๑๒๖) เกิดมาจากอัปปมาทธรรม(๑๒๗)และวิสุทธิธรรม(๑๒๘)เป็นอเนกอนันต์ดังกล่าวมานี้ ยังพระตถาคตกายให้บังเกิดขึ้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจักได้พระพุทธสรีรกาย และอาจตัดเสียซึ่งพยาธิโรคันตราย(๑๒๙)ของสรรพสัตว์ได้ขาด ผู้นั้นพึงตั้งจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเถิด”
ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีได้แสดงธรรมกถา(๑๓๐)กับบรรดาผู้มาเยี่ยมเยือนไข้ของท่านด้วยประการดังนี้ ยังบุคคลหลายพันเป็นอเนกให้บังเกิดจิตปณิธาน(๑๓๑)ในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยถ้วนหน้าแล
ในสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี บังเกิดความปริวิตกขึ้นว่า เรานอนป่วยอยู่บนเตียงเห็นปานฉะนี้ ไฉนพระผู้มีพระภาคผู้ทรงไว้ซึ่งมหาเมตตาธรรม จึงมิได้ส่งผู้ใดมาเยี่ยมเยือน
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสกับพระสารีบุตรว่า
“ดูก่อนพระสารีบุตร เธอจงไปเยี่ยมเยือนไต่ถามอาการป่วยของวิมลเกียรติคฤหบดีเถิด”
พระสารีบุตรได้กราบทูลสนองพระดำรัสว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์กำลังนั่งคู้สมาธิบัลลังก์(๑๓๒)อยู่ในท่ามกลางวนาสณฑ์(๑๓๓) ครั้งนั้น ท่านวิมลเกียรติได้มาพูดกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้าไม่จำต้องมานั่งอาการอย่างนี้โดยสำคัญว่าเป็นการนั่งสมาธิ อันการนั่งสมาธิที่แท้จริงนั้น คือการไม่ปรากฏกายใจในภพทั้ง ๓ ไม่ต้องออกจากนิโรธสมาบัติ(๑๓๔) แต่ก็สามารถแสดงบรรดาอิริยาบถ(๑๓๕)ให้ปรากฏได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องสละมรรคธรรม(๑๓๖) แต่ก็สามารถทำกิจกรรมของปุถุชนได้ นี้ก็คือการนั่งสมาธิ จิตไม่ยึดติดในภายใน หรือยึดติดในภายนอก นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่มีความหวั่นไหวกำเริบเพราะเหตุแห่งปวงทิฏฐิ(๑๓๗) แลสามารถอบรมในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องตัดกิเลส แต่สามารถเข้านิพพาน(๑๓๘)ได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ถ้าพระคุณเจ้าอาจที่จักนั่งด้วยวิธีอย่างนี้ พระพุทธองค์ย่อมจักรับรอง”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้สดับวาจาดังกล่าวนี้แล้ว ต้องหยุดนิ่งสงบ มิอาจตอบสนองพจน์ไปได้ ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงไม่สมควรเหมาะสมในการไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาจึงดำรัสให้พระโมคคัลลานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระโมคคัลลานะกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์จาริก(๑๓๙)เข้าไปในเมืองเวสาลี ได้แสดงธรรมโปรดพวกคฤหบดีในตรอกแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า”
“ข้าแต่พระคุณเจ้าโมคคัลลานะ การแสดงธรรมโปรดพวกอุบาสกนุ่งขาวเหล่านี้ ไม่ใช่แสดงอย่างวิธีของพระคุณเจ้าอย่างนี้หรอก อันว่าผู้แสดงธรรมนั้นสมควรจักต้องแสดงให้ถูกกับทำนองคลองธรรม ธรรมนั้นไม่มีสัตว์ เพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งสัตว์ ธรรมนั้นไม่มีอาตมัน(๑๔๐) เพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งอาตมัน ธรรมนั้นไม่มีชีวะเพราะพ้นจากชาติมรณะ(๑๔๑) ธรรมนั้นไม่มีบุคคล เพราะขาดจากห้วงแห่งอดีต อนาคต ธรรมนั้นมีสันติ(๑๔๒)เป็นธรรมดา เพราะดับปวงลักษณะเสียได้ ธรรมนั้นห่างไกลจากลักษณะ เพราะปราศจากอารมณ์ ธรรมนั้นไม่มีนามบัญญัติ(๑๔๓) เพราะขาดจากวจนะโวหาร(๑๔๔) ธรรมนั้นไม่มีอะไรจะแสดงได้ เพราะไกลจากความวิตก(๑๔๕)วิจาร(๑๔๖) ธรรมนั้นไม่มีสัณฐานนิมิต(๑๔๗) เพราะว่างเปล่าดุจอากาศ ธรรมนั้นปราศจากปปัญจธรรม(๑๔๘) เพราะมีสุญญตา(๑๔๙)เป็นสภาพ ธรรมนั้นไม่มีมมังการ(๑๕๐) เพราะพ้นจากความยึดถือว่าเป็นของของเรา ธรรมนั้นไม่มีวิกัลปะ(๑๕๑) เพราะไกลจากวิญญาณความรู้ทางอายตนะ(๑๕๒)ทั้งหลาย ธรรมนั้นปราศจากการเปรียบเทียบได้ เพราะพ้นจากความเป็นคู่ ธรรมนั้นไม่สงเคราะห์ว่าเป็นเหตุ เพราะมิได้อยู่ในประชุมของปัจจัย...ฯลฯ.... พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ เมื่อธรรมลักษณะมีสภาพดั่งนี้แล้วจักนำมาแสดงได้อย่างไรเล่า ? อันการแสดงธรรมนั้น เนื้อแท้ไม่มีการกล่าว ไม่มีการแสดง และผู้สดับธรรมเล่า ก็ไม่มีการฟังหรือการได้อะไรไป อุปมาดุจมายาบุรุษแสดงธรรมให้มายาบุรุษอีกผู้หนึ่งฟังฉะนั้น พึงตั้งจิตของตนให้ได้อย่างนี้แล้วพึงแสดงธรรมเถิด พึงแจ่มแจ้งในอินทรีย์แก่อ่อนคมทู่ของสรรพสัตว์ มีญาณทัสสนะ(๑๕๓)อันเชี่ยวชาญ ปราศจากความขัดข้อง ประกอบด้วยมหากรุณาจิต สดุดีลัทธิมหายาน จิตตั้งอยู่ในอนุสรณ์(๑๕๔)ที่จักบูชาพระคุณของพระพุทธองค์ ไม่ละขาดจากพระไตรรัตน์(๑๕๕) ทำได้เช่นนี้ภายหลังจึงแสดงธรรมเถิด”
“เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงธรรมกถาจบลง คฤหบดีจำนวน ๘๐๐ คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ข้าพระองค์ไม่มีปฏิภาณเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระมหากัสสปะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหากัสสปะกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเยี่ยมไข้ของอุบาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เที่ยวจาริกบิณฑบาตตามละแวกบ้านคนยากจน ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ พระคุณแม้มีจิตกอปรด้วยเมตตากรุณา แต่ก็ไม่ปกแผ่ไพศาลเลย ทังนี้เพราะพระคุณละเลยบ้านของคนร่ำรวย มาบิณฑบาตโปรดเฉพาะคนเข็ญใจเท่านั้น ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ขอพระคุณเจ้าจงตั้งอยู่ในสมธรรม(๑๕๖) อันเสมอภาพเสียก่อน จึงค่อยมาจาริกบิณฑบาต เพื่อไม่มีความปรารถนาในอาหารเป็นเหตุ จึงสมควรจาริกบิณฑบาต เพื่อทำลายการประชุมแห่งขันธ์(๑๕๗)เป็นเหตุ จึงสมควรถือเอาก้อนภิกษา(๑๕๘)ไปเพื่อไม่ต้องเสวยภพใหม่อีกเป็นเหตุ จึงสมควรรับบิณฑบาตทานของชาวบ้านได้ พึงมีสุญญตสัญญา(๑๕๙)ในการเข้าไปสู่คามนิคม(๑๖๐)ชนบท รับรูปารมณ์(๑๖๑)ดุจผู้มีจักษุมืด รับสัททารมณ์(๑๖๒)ดุจว่าเสียงดัง รับคันธารมณ์(๑๖๓)ดุจสักว่าเป็นวาโย(๑๖๔) รับรสารมณ์(๑๖๕)ก็ไม่มีวิกัลปะ รับโผฏฐัพพารมณ์(๑๖๖)ดุจได้บรรลุญาณทัสสนะ รู้ธรรมารมณ์(๑๖๗)ทั้งปวงว่าเป็นมายา ปราศจากอัตตภาวะ(๑๖๘) หรือปรภาวะ(๑๖๙) เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมิได้เกิดขึ้นด้วยภาวะของมันเอง ฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่เรียกว่าแตกดับหักสูญไป ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ถ้าพระคุณเจ้าจักสามารถไม่ละมิจฉัตตธรรมทั้ง ๘(๑๗๐) แต่ก็บรรลุเข้าถึงวิโมกข์ ๘(๑๗๑)ได้ อาศัยมิจฉาภาวะ(๑๗๒)เข้ากลมกลืนสัมมาธรรม(๑๗๓)ได้ สามารถนำอาหารมื้อหนึ่งบริจาคในสรรพสัตว์ได้ และนำไปกระทำบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอริยบริษัท(๑๗๔)ทั้งปวงได้ เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว จึงจักสมควรในการขบฉันอาหารบิณฑบาตต่อภายหลัง ผู้ที่กระทำได้โดยประการดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ขบฉันที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความสิ้นไปแห่งกิเลส ชื่อว่ามิได้เข้าสู่สมาธิจิตหรือออกจากสมาธิจิต ไม่มีการยึดมั่นตั้งอยู่ในโลก หรือยึดมั่นตั้งอยู่ในพระนิพพาน ฝ่ายทายกทายิกา(๑๗๕)ผู้บริจาคเล่า ก็ชื่อว่าไม่มีการได้บุญญานิสงส์(๑๗๖)ใหญ่ หรือได้บุญญานิสงส์น้อย ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหายอย่างไร นี้แลชื่อว่าเป็นวิถีแห่งการเข้าสู่พุทธภูมิ โดยไม่อาศัยสาวกภูมิ พระคุณเจ้ากัสสปะ หากพระคุณตั้งอยู่ในธรรมดังพรรณนามาแล้ว ขบฉันอาหารบิณฑบาตนั้นแล จึงจักได้ชื่อว่าเป็นการขบฉันอาหารของชาวบ้านโดยไม่สูญเปล่า”
“ข้าแต่พระสุคต เมื่อข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำดั่งนี้แล้ว เกิดความรู้สึกขึ้นว่า สิ่งที่มิได้มีก็ได้มีขึ้นแล้วหนอ ! ข้าพระองค์มีความรู้สึกเคารพนับถือในปวงพระโพธิสัตว์อย่างยิ่ง อนึ่ง ยังมีปริวิตกว่า คฤหบดีผู้นี้เป็นผู้ครองเรือนแท้ๆ ยังมีปฏิภาณปัญญาโกศล(๑๗๗)เห็นปานฉะนี้ ผู้ที่ได้ฟังธรรมของเขาแล้ว ใครเลยที่จักไม่ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตัวของข้าพระองค์เอง จำเดิมนับแต่นั้นมา ก็ไม่เทศนาสั่งสอนผู้ใดให้ประพฤติสาวกจริยา(๑๗๘) หรือปัจเจกโพธิจริยา(๑๗๙)อีก (คือสอนให้ประพฤติตามพุทธจริยา(๑๘๐)อย่างเดียว) ด้วยเหตุประการดั่งนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมไม่ควรต่อการไปเยี่ยมไข้อุบาสกนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระสุภูติไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระสุภูติกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์ได้เข้าไปบิณฑบาต ณ คฤหาสน์ของอุบาสกนั้น ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามารับเอาบาตรของข้าพระองค์ไปบรรจุภัตตาหารจนเต็มเปี่ยม แล้วก็ปราศรัยกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าสุภูติ ในการขบฉันภัตตาหารนี้ หากพระคุณสามารถแทงทะลุถึงภาวะตามเป็นจริงแห่งธรรมทั้งหลายว่า เป็นสมภาพเสมอกันหมด และสามารถแทงทะลุในธรรมทั้งหลายแต่ละอย่างไซร้ และเที่ยวบิณฑบาตโดยประการดั่งนี้ จึงสมควรที่จักถือเอาภัตตาหาร(๑๘๑)นี้ไปขบฉันได้ พระคุณเจ้าสุภูติ พระคุณมิต้องตัดถอน ราคะ(๑๘๒) โทสะ(๑๘๓) โมหะ(๑๘๔) ให้สมุจเฉท(๑๘๕) แต่ก็ไม่อยู่ร่วมกับกองกิเลสเหล่านี้ ไม่ต้องทำลายสรีรขันธ์(๑๘๖) แต่ก็สามารถเข้าถึงสุญญตาอันเป็นเอกีภาพ(๑๘๗)ได้ อาศัยปัญจานันตริยกรรม(๑๘๘) แต่ก็บรรลุวิมุตติได้ อันที่จริงก็ไม่มีการรอดพ้นและไม่มีการผูกมัดใดๆ ไม่ต้องเห็นแจ้งในจตุราริยสัจ(๑๘๙) และมิได้มีการไม่เห็นแจ้งในจตุราริยสัจ ไม่มีการบรรลุอริยผล(๑๙๐) และมิได้มีการไม่บรรลุอริยะผล ไม่มีปุถุชน และไม่มีการพ้นจากภาวะปุถุชน ไม่มีพระอริยบุคคล(๑๙๑) และมิได้มีอนาริยบุคคล(๑๙๒) ถึงแม้เป็นผู้ยังธรรมทั้งปวงให้สำเร็จเป็นไปอยู่ แต่ก็ไม่มีอุปาทาน(๑๙๓)พ้นจากธรรมเหล่านั้น พระคุณทำได้เช่นนี้ จึงสมควรขบฉันภัตตาหารนี้ ข้าแต่ท่านสุภูติผู้เจริญ พระคุณอย่าไปเฝ้าพระพุทธองค์ อย่าสดับพระสัทธรรม แต่จงถือครูพาหิรลัทธิทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ สัญชัยเวลัฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ และนิครนถ์นาฏบุตรว่าเป็นศาสดา(ชื่อลัทธินอกศาสนา) จงไปบรรพชาในสำนักของครูเหล่านี้ เมื่อครูทั้ง ๖ เขาตกไปสู่อบายภูมิ พระคุณก็ตกตามเขาไปด้วย ทำได้เช่นนี้ จึงสมควรขบฉันภัตตาหารนี้ อนึ่ง ถ้าพระคุณสามารถเข้าถึงมิจฉาทิฏฐิ(๑๙๔)ทั้งปวง อย่าบรรลุถึงฝั่งแห่งภพ ตั้งอยู่ในอัฏฐอันตรายิกธรรม(๑๙๕) อย่าบรรลุถึงความเกษมจากอันตรายดังกล่าวนั้น มีกิเลสเป็นสหธรรม(๑๙๖)อยู่ร่วมกัน ห่างไกลจากวิสุทธิธรรม ตัวของพระคุณไม่ชื่อว่าเป็นบุญเขต(๑๙๗)ของผู้บริจาค ผู้ที่บูชาสักการะทำบุญกับพระคุณ ชื่อว่าเป็นผู้บ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ(๑๙๘) พระคุณจงจูงมือกับบรรดามารทั้งหลาย เป็นสหายร่วมงานกับเหล่ามารนั้น ตัวของพระคุณกับสรรพมารพร้อมทั้งปวงกิเลสไม่มีอะไรแตกต่างกัน มีจิตผูกเวรในสรรพสัตว์ กล่าวจ้วงจาบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กับทั้งทำลายพระธรรม และไม่เข้ากับหมู่สงฆ์ ในที่สุดก็ไม่สำเร็จพระนิพพาน หากพระคุณเป็นได้อย่างนี้ จึงสมควรถือเอาภัตตาหารนี้ไป”
“ข้าแต่พระสุคต สมัยนั้น เมื่อข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำดังกล่าวแล้วก็ให้งงงันไปหมด ไม่เข้าใจว่าเป็นถ้อยคำอะไร ? ไม่ทราบว่าจะโต้ตอบได้อย่างไร ? ข้าพระองค์จึงวางบาตรไว้จะเดินออกจากคฤหาสน์นั้น วิมลเกียรติอุบาสกก็พูดขึ้นว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าสุภูติ พระคุณจงนำเอาบาตรไปเถอะ อย่าได้มีหวั่นกลัวเลย พระคุณจักมีความคิดเห็นเป็นไฉน ? ในกรณีที่พระตถาคตเจ้า ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาล(ฤทธิ์)ให้เกิดมีมายาบุรุษผู้หนึ่งขึ้นมาแล้วพระองค์นำเอาถ้อยคำดังเช่นที่กระผมกล่าวถามพระคุณนั้น ถามมายาบุรุษอันมายาบุรุษนั้นจักบังเกิดความหวั่นกลัวฤาหนอแล ?”
ข้าพระองค์ตอบว่า “หามิได้”
ท่านวิมลเกียรติกล่าว “ธรรมทั้งหลายก็เปรียบดุจมายาลักษณะ พระคุณจึงมิควรมีความหวั่นกลัวอะไร ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายเป็นสักแต่ว่าบัญญัติโวหาร(๑๙๙) ปราศจากสาระที่มีอยู่ด้วยภาวะของมันเอง ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยึดถือในอักขระถ้อยคำ ฉะนั้นจึงปราศจากความหวั่นหวาดใดๆ ด้วยเหตุดังฤา ? ก็เพราะเหตุว่าอักขระถ้อยคำนั้น แท้จริงก็ปราศจากสภาวะ(เป็นสุญญตา) แล้ว นั่นคือ วิมุตติธรรม(๒๐๐) และวิมุตติธรรมนี้เองที่เป็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้น”
“เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมกถานี้จบลง ก็มีเทวบุตร ๒๐๐ องค์ ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระปุณณมันตานีไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระปุณณมันตานีบุตรกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์พักอาศัยในมหาวนาสณฑ์อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ กำลังแสดงธรรมให้บรรดาพวกภิกษุฟัง ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้ปราศรัยกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าปุณณะ ขอพระคุณได้เข้าสมาบัติตรวจดูจิตตัชฒาสัย(๒๐๑)แห่งภิกษุเหล่านี้ก่อนเถิด แล้วจึงค่อยแสดงธรรมโปรดภายหลัง พระคุณโปรดอย่าได้นำโภชนาหารอันหยาบสกปรกใส่ลงไปในรัตนภาชน์(๒๐๒)เลย พระคุณสมควรรู้แจ้งถึงภูมิธรรม(๒๐๓)แห่งจิตของภิกษุเหล่านี้ อย่าได้นำไพฑูรย์(๒๐๔)อันมีค่าไปเสมอกับลูกปัดเลย พระคุณไม่สามารถแทงตลอดในอินทรีย์ของสรรพสัตว์ ก็โปรดอย่าได้ชักจูงให้ภิกษุเหล่านี้ตั้งอยู่ในธรรมฝ่ายหินยาน(๒๐๕)เลย ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ปราศจากบาดแผลในตัวอยู่แล้ว ขอพระคุณอย่าได้ไปทำให้มีขึ้นเลย อนึ่ง ภิกษุเหล่านี้มีความปรารถนาที่จักประพฤติมหามรรคจริยา(๒๐๖) แต่พระคุณกลับไปชี้ให้เดินตามหินมรรคจริยา(๒๐๗) พระคุณอย่าได้นำมหาสมุทรมาบรรจุใส่ไว้ในรอยเท้าโคเลย และอย่าได้นำแสงทิวากร(๒๐๘)มาเสมอเปรียบเทียบกับแสงหิ่งห้อยเลย ข้าแต่ท่านปุณณะผู้เจริญ บรรดาภิกษุทั้งหมดนี้ ได้ตั้งจิตมุ่งต่อมหายานธรรม(๒๐๙)มาแล้วแต่กาลอันยาวนานทีเดียว ครั้นมาในท่ามกลางก็ละลืมมโนปณิธาน(๒๑๐)นั้นเสีย ไฉนพระคุณจึงจักนำหินยานธรรม(๒๑๑)มาแนะนำสั่งสอนเล่า ? กระผมพิจารณาแล้วเห็นว่า อันบุคคลผู้เป็นฝ่ายหินยานมีปัญญาน้อยตื้น อุปมาดังคนมีจักษุบอด ไม่อาจสามารถจักจำแนกอินทรีย์ละเอียดหยาบของสรรพสัตว์ได้”
“เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว วิมลเกียรติอุบาสกก็เข้าสมาบัติ(๒๑๒) บันดาลด้วยฤทธิ์ให้ภิกษุเหล่านั้นบังเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(๒๑๓)ขึ้น ต่างระลึกได้ว่าในอดีตกาล ต่างได้เคยปลูกฝังกุศลมูล(๒๑๔)ในเฉพาะพระพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์มาแล้ว โดยต่างตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในทันใดนั้นภิกษุทั้งหมดเหล่านั้น ก็มีจิตกลับขึ้นไปสู่ภูมิธรรมเดิมนั้นอีกและภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็พากันอภิวาทน์บาทของวิมลเกียนติอุบาสกด้วยเศียรเกล้า ครั้งนั้น วิมลเกียรติอุบาสกได้กล่าวธรรมกถา ยังจิตของภิกษุเหล่านั้นไม่ให้เสื่อมถอยจากพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณวิถีอีกต่อไป ข้าพระองค์มาตรึกว่า พระสาวกซึ่งไม่พิจารณาอินทรีย์ของสัตว์โลก ก็มิสมควรที่จักแสดงพระสัทธรรม เพราะเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่สมควรในการไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีผู้นั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระมหากัจจานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหากัจจานะกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์มาตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระสุคตเจ้าทรงพระสัทธรรมโดยสังเขปนัย(๒๑๕)แก่หมู่ภิกษุสงฆ์ ภายหลังข้าพระองค์ได้ทำหน้าที่อรรถาธิบาย(๒๑๖)ในข้อพระสัทธรรมนั้น อันว่าด้วยเรื่องอนิจจกถา(๒๑๗) ทุกขกถา(๒๑๘) สุญญตกถา(๒๑๙) อนัตตกถา(๒๒๐) นิโรธกถา(๒๒๑) เป็นต้น ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวแก่ข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้ามหากัจจานะ พระคุณโปรดอย่าแสดงภูตสัตยธรรม(๒๒๒)ด้วยจิตจรรยา(๒๒๓)อันเกิดดับนี้เลย พระคุณเจ้ามหากัจจานะ แท้จริงธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีความเกิด ไม่มีความดับเป็นสภาพ นี้คือความหมายแห่งอนิจจตา(๒๒๔) การพิจารณาแทงตลอดในปัญจขันธ์(๒๒๕)ทั้ง ๕ ว่าเป็นสภาพว่างเปล่า ปราศจากสาระบังเกิดขึ้น นี้คือความหมายแห่งทุกขตา(๒๒๖) ธรรมทั้งหลายปราศจากสภาวะในที่สุด นี้คือความหมายแห่งสุญญตา อัตตา(๒๒๗)กับอนัตตา(๒๒๘)มิได้เป็นธรรมแตกต่างกัน นี้คือความหมายแห่งอนัตตา(ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน) ตามธรรมดาธรรมทั้งปวง ก็ไม่มีสภาพอุบัติขึ้น ฉะนั้น จึงไม่มีสภาพดับสลายไป นี้คือความหมายแห่งนิโรธ(๒๒๙)”
“เมื่อคฤหบดีนั้นกล่าวจบลง ภิกษุเหล่านั้น มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ(๒๓๐) เหตุฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเยี่ยมเขา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกา ให้พระอนุรุทธะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหาเถระกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็เป็นผู้ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เดินจงกรมอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น มีพรหมราชองค์หนึ่ง ทราบนามว่าอลังการวิสุทธิพรหม พร้อมด้วยพรหมบริษัทหนึ่งหมื่นองค์ มีรัศมีโอภาส(๒๓๑)รุ่งเรืองยิ่งนัก เข้ามาหาข้าพระองค์ กระทำการอภิวาทน์โดยความเคารพแล้วถามข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าอนุรุทธ์ ทิพยจักษุ(๒๓๒)ของพระคุณจักมีทัศนวิสัย(๒๓๓)เพียงไรหนอ ?”
ข้าพระองค์จึงตอบไปว่า “ท่านผู้เจริญ เราทัศนาพุทธเกษตรองค์สมเด็จพระศากยมุนีพุทธเจ้า พร้อมทั้งมหาตรีสหัสสโลกธาตุ ดุจเล็งดูผลมะขามป้อมในฝ่ามือ”
“สมัยนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามาพูดกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าอนุรุทธ์ ทัศนวิสัยแห่งทิพยจักษุของพระคุณนั้น พระคุณแลดูด้วยจิตปรุงแต่งในลักษณะฤาไม่ หรือว่าแลดูด้วยจิตอันปราศจากการปรุงแต่งในลักษณะ ? หากพระคุณแลดูด้วยจิตที่ปรุงแต่งในลักษณะ ก็ชื่อว่าเป็นสังขตธรรม(๒๓๔) ย่อมมีค่าเท่ากับอภิญญา ๕ ของพวกพาหิรลัทธิ หากพระคุณแลดูด้วยจิตไม่ปรุงแต่งในลักษณะ ก็ชื่อว่าเป็นอสังขตธรรม(๒๓๕) ย่อมไม่ควรที่จักมีการเห็นอะไรอีก”
“ข้าแต่พระสุคต เวลานั้นข้าพระองค์ต้องสงบนิ่งไป มิได้ตอบว่าอย่างไร แต่บรรดาพรหมเทพเหล่านั้น ครั้นได้สดับถ้อยคำนั้นแล้ว ต่างรู้สึกว่าเป็นถ้อยคำที่ตนไม่เคยฟังมาก่อน จึงพากันทำอภิวาทน์วิมลเกียรติคฤหบดี แล้วถามขึ้นว่า
“ข้าแต่ท่านวิมลเกียรติผู้เจริญ ในสากลโลกนี้ ผู้ใดเล่าที่ได้บรรลุทิพยจักษุอย่างแท้จริง ?”
คฤหบดีนั้นตอบว่า “มีอยู่ คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้บรรลุทิพยจักษุอย่างแท้จริง ทรงอยู่ในสมาธิโดยมิขาด เล็งแลเห็นสรรพพุทธเกษตรทั้งปวง มิได้เห็นโดยอาศัยจิตปรุงแต่งในลักษณะหรือเห็นโดยจิตไม่ปรุงแต่งในลักษณะ”
“พรหมราชอลังการวิสุทธิ พร้อมพรหมบริษัทอีก ๕๐๐ องค์ ได้สดับธรรมกถานี้แล้ว ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วพากันอภิวาทน์บาทของวิมลเกียรติคฤหบดี อันตรธานหายไปในบัดดลนั้น โดยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นพระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธบรรหารให้พระอุบาลีไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอุบาลีกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ของอุบาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์มาตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง มีภิกษุสองรูปประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติ(๒๓๖) เธอมีความสำนึกละอายในอาบัติ(๒๓๗)นั้น ไม่กล้าจักกราบทูลไต่ถามโทษแห่งอาบัติกับพระสุคตเจ้าได้ จึงได้มาไต่ถามข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่ท่านอุบาลีผู้เจริญ เราทั้งสองต้องอาบัติล่วงพระวินัยบัญญัติ มิอาจกราบทูลถามพระพุทธองค์ได้ ขอท่านผู้เจริญโปรดได้เมตตาช่วยตัดวิมติกังขา(๒๓๘) เพื่อเราทั้งสองจักได้พ้นอาบัติด้วยเถิด
“ข้าพระองค์จึงได้ชี้แจงโดยสมควรแก่พระธรรมวินัย ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดี ได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี ขอพระคุณอย่าได้เพิ่มโทษผิดให้กับพระภิกษุสองรูปนี้เลย พระคุณควรจะสอนให้ดับโทษที่สมุฏฐาน(๒๓๙)โดยตรงดีกว่า ไม่พึงก่อวิปฏิสารจิต(๒๔๐)แก่ท่านทั้งสองรูป ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าสภาวะแห่งอาบัติโทษนั้น มิได้อยู่ภายใน มิได้อยู่ภายนอก และมิได้อยู่ ณ ท่ามกลาง สมดั่งพระพุทธภาษิตที่ว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เศร้าหมอง เมื่อจิตผ่องแผ้ว สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ผ่องแผ้ว ก็ธรรมชาติแห่งจิตนั้น ไม่ตั้งอยู่ภายใน ไม่ตั้งอยู่ภายนอก และไม่ตั้งอยู่ ณ ท่ามกลาง ธรรมชาติแห่งจิตเป็นอย่างไร ธรรมชาติแห่งอาบัติโทษก็ย่อมมีอุปมาดุจเดียวกัน ธรรมทั้งปวงมีสภาพอย่างเดียวกัน เพราะสิ่งทั้งปวง ย่อมไม่พ้นจากความเป็น “ตถตา(๒๔๑)” เช่นเดียวกับพระคุณท่านอุบาลีเอง เมื่อสมัยที่จิตของพระคุณหลุดพ้นจากอาสวกิเลส จิตในสมัยนั้นจักมีความเศร้าหมองฤาไม่ ?”
ข้าพระองค์ตอบว่า “หามิได้”
วิมลเกียรติคฤหบดีจึงว่า “ธรรมชาติจิตของสรรพสัตว์ ก็ปราศจากความเศร้าหมองโดยนัยเดียวกัน
ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี วิกัลปสัญญา(๒๔๒)ชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากวิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ วิปลาสสัญญา(๒๔๓)ชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากวิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ ความยึดถือในตัวตนชื่อว่าธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากความยึดถือตัวตนชื่อว่าธรรมบริสุทธิ์ พระคุณท่านอุบาลีผู้เจริญ อันธรรมทั้งปวงนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปราศจากแก่นสาร ความดำรงมั่นเหมือนมายา เหมือนสายฟ้าแลบ ธรรมทั้งปวงไม่เป็นคู่ แม้เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งก็ไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ ธรรมทั้งปวงสำเร็จมาจากวิกัลปทิฏฐิ(๒๔๔)เหมือนความฝัน เหมือนพยับแดด เหมือนเงาดวงจันทร์ในน้ำ เหมือนเงาในกระจก ล้วยอุบัติมาจากวิกัลปสัญญา ผู้ที่เข้าถึงสถานะความจริงอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระวินัย และชื่อว่าเป็นผู้แตกฉานเจนจบในพระวินัยโดยแท้จริง.”
ภิกษุทั้งสองรูป ได้กล่าวสรรเสริญขึ้นว่า “ท่าน ผู้เจริญเป็นผู้มีปัญญาเยี่ยมยอดโดยแท้หนอ แม้แต่ท่านพระอุบาลีก็ยังไม่อาจเปรียบปานได้ ขนาดเป็นเอตทัคคะ(๒๔๕)ทางพระวินัยก็ยังไม่สามารถจักแสดงถึงเช่นนี้ได้.”
ข้าพระองค์จึงกล่าวตอบไปว่า “ยกพระผู้มีพระภาคเสียแล้วก็ไม่มีพระสาวกหรือพระโพธิสัตว์ได ๆ ที่จักมีสติปัญญาปฏิภาณโวหารสามารถแหลมลึกเช่นอุบาสกผู้นี้ได้”
สมัยนั้น พระภิกษุสองรูป มีวิมติกังขาไปปราศจากแล้ว ได้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมกับตั้งจิตปฎิธานว่า “ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีสติปัญญา ปฏิภาณสามารถอย่างเดียวกันนี้ทั่วหน้าเถิด.”
เพราะเหตุฉะนี้แล พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น.”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระราหุลเป็นผู้ไปเยี่ยมไข้ พระราหุลกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรไปเป็นผู้เยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง คฤหบดีทั้งหลายชาวเมืองเวสาลีได้เข้ามาหาพระองค์ กระทำอภิวาทน์ แล้วกล่าวขึ้นว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุลผู้เจริญ พระคุณเป็นโอรสผู้ประเสริฐของพระพุทธองค์ แต่พระคุณสละจักรพรรดิสมบัติออกบรรพชา(๒๔๖)บำเพ็ญวิราคธรรม(๒๔๗) ก็การประพฤติเนกขัมมจริยา(๒๔๘)ดังกล่าวนั้น จักมีคุณประโยชน์ประการใดบ้าง ?”
“ข้าพระองค์จึงได้แจกแจงเนกขัมมานิสงส์(๒๔๙) โดยนัยประการต่าง ๆ ให้ฟัง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุล ขอพระคุณโปรดอย่าได้แสดงถึงเนกขัมมานิสงส์ได ๆ เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ เพราะเมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์(๒๕๐)แล้ว ก็ไม่มีสภาวะใดที่จะพึงเรียกว่าคุณประโยชน์ หรือจักพึงเรียกว่าบุญญานิสงส์นั่นเอง และนั่นจึงเป็นอรรถรส(๒๕๑)อันแท้จริงของการออกบรรพชา โดยนัยแห่งสังขตธรรม จึงกล่าวบัญญัติได้ว่า มีสภาวะที่เป็นคุณประโยชน์ มีสภาวะที่เป็นบุญญานิสงส์ แต่การออกบรรพชาบำเพ็ญเนกขัมมจริยานั้น ก็เพื่อบรรลุถึงธรรมอันเป็นอสังขตะ(๒๕๒) ก็ในอสังขตธรรมนั้น ย่อมปราศจากสภาวะอันจักพึงบัญญัติเรียกได้ว่าเป็นคุณประโยชน์ฤๅเป็นบุญญานิ สงส์ ข้าแต่ท่านราหุลผู้เจริญ ผู้ที่ออกบรรพชาโดยแท้จริงนั้นย่อมไม่ยึดถือว่า มีนั่น มีนี่ หรือยึดถือในท่ามกลาง เขาย่อมห่างไกลจากทิฏฐิ ๖๒(๒๕๓) ตั้งอยู่ในนิพพาน อันเป็นธรรมซึ่งบัณฑิตผู้มีปัญญาจักพึงบรรลุเป็นธรรมซึ่งพระอริยเจ้าทั้ง หลายดำเนินตามอยู่ เขาย่อมอาจสามารถทำลายเหล่ามารทั้งหลาย ข้ามพ้นจากปัญจคติ(๒๕๔) เป็นผู้มีปัญจจักษุ(๒๕๕)อันหมดจด ถึงพร้อมด้วยปัญจพละ(๒๕๖)ตั้งอยู่ในปัญจินทรีย์(๒๕๗) ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายพ้นจากสรรพอกุศลธรรม ข่มรอนพวกพาหิรลัทธิได้ เป็นผู้พ้นจากข่ายแห่งสมมติบัญญัติ(๒๕๘) ดังอุบล(๒๕๙)ซึ่งบานพ้นจากเปือกตม เป็นผู้ปราศจากสังโยชน์เครื่องร้อยรัด ไม่มีอหังการ(๒๖๐)และมมังการ ไม่มีอนุภูตธรรม(๒๖๑) ไม่มีความฟุ้งซ่านวิปฏิสาร(๒๖๒)ใด ๆ ภายในจิต มีแต่ความปีติสุข เป็นผู้แผ่ธรรมคุ้มครองสรรพสัตว์ ให้ได้เข้าถึงสภาพธรรมดุจเดียวกับตนด้วย มีปกติอยู่ในฌานสมาธิ ห่างไกลจากปวงบาปโทษทั้งผองหากผู้ใดทำได้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ออกบรรพชาที่แท้จริง.”
ครั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดี จึงหันมากล่าวกับบุตรคฤหบดีทั้งหลายว่า “ท่านผู้เจริญ สมควรจักอุทิศตนพรรพชาในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ก็เพราะว่าการที่จักได้เกิดร่วมยุคร่วมสมัย มีโอกาสเห็นพระพุทธองค์เป็นการยากยิ่งนัก จึงไม่ควรพลาดโอกาสนี้เสีย.”
บุตรคฤหบดีทั้งหลายต่างพูดขึ้นว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี พวกเราได้สดับพระพุทธพจน์ว่า เมื่อบิดามารดาไม่ยินยอมอนุญาต จักออกบรรพชาอุปสมบทมิได้.”
วิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายพึงตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักขื่อว่าได้ออกบรรพชาอุปสมบทโดยสมบูรณ์แล้ว.”
“ครั้งนั้น บุตรคฤหบดี ๓๒ คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธฎีกาให้พระอานนท์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอานนท์กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่าสมัยหนึ่ง พระสุคตเจ้าประชวร(๒๖๓)ด้วยอาพาธเล็กน้อยจำต้องใช้น้ำนมโคมาบำบัด ข้าพระองค์ได้ถือบาตรจาริกไปยืนอยู่หน้าบ้านของมหาพราหมณ์ผู้หนึ่ง เพื่อบิณฑบาตน้ำนมโค ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ มาถือบาตรยืนอยู่ ณ ที่นี้แต่เช้าเพื่ออะไรหรือ ?”
“ข้าพระองค์ตอบไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคประชวร อาพาธเล็กน้อย จำเป็นต้องใช้น้ำนคโคไปบำบัด อาตมภาพจึงมายืนอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อสิ่งประสงค์นั้น.”
“วิมลเกียรติคฤหบดีพูดว่า “หยุดเถอะ ! หยุดเถอะ ! พระคุณเจ้าอานนท์ อย่าได้กล่าววาจาอย่างนี้อีกเลย อันพระวรกาย(๒๖๔)ของพระพุทธองค์นั้น ย่อมสำเร็จเป็นวัชรกายสิทธิ(๒๖๕) มีสรรพบาปโทษละได้ขาดแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นที่ประชุมแห่งสรรพกุศลธรรมทั้งปวง ที่ไหนจักมีอาพาธมาเบียดเบียนได้ที่ไหนจักต้องเดือนร้อนเพราะความเบียดเบียนนั้นเล่า ? โปรดเงียบเสียเถิดพระคุณอย่าได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์นักเลย อย่าได้ให้พวกพาหิรชนได้สดับถ้อยคำอันหยาบช้านี้ อย่าได้ให้บรรดาทวยเทพผู้มีมหิทธิฤทธิ์(๒๖๖)กับทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในวิสุทธิพุทธเกษตรต่าง ๆ ซึ่งมาเฝ้าพระพุทธองค์สดับถ้อยคำนี้ได้ ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ แม้แต่พระเจ้าจักรพรรดิ(๒๖๗)ซึ่งอาศัยบุญญาธิการ(๒๖๘)แต่เพียงเล็กน้อย ก็ยังเป็นผู้ปราศจากพยาธิภัย(๒๖๙) จักกล่าวไปไยกับพระตถาคตเจ้าซึ่งทรงสมบูรณ์ ประชุมพร้อมด้วยบุญญาธิการอันไม่มีประมาณประเสริฐเลิศกว่าเล่า กลับไปเสียเถิดพระคุณเจ้าอย่ากระทำให้พวกเราต้องได้รับความอับอายเลย พวกพาหิรชนสมณพราหมณ์ภายนอก หากได้สดับถ้อยคำของพระคุณเจ้าแล้ว ก็จักเกิดความตรึกคิดขึ้นว่า ก็นี่จักชื่อว่าพระบรมศาสดาได้อย่างไรกัน เพราะแม้แต่โรคของตนเองยังบำบัดช่วยตนเองไม่ได้ ที่ไหนจักสามารถช่วยบำบัดโรคภัยของผู้อื่นเล่า ? ฉะนั้น พระคุณจงรีบกลับไปเงียบ ๆ อย่ากระโตกกระตากให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ยินเป็นอันขาดเทียวหนา พระคุณเจ้าอานนท์พึงทราบไว้เถอะว่า พระวรกายที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายก็คือพระธรรมกายนั้นเอง มิได้เป็นกายเกิดจากกิเลสตัณหา พระพุทธองค์เป็นพระผู้ควรบูชา ประเสริฐเลิศกว่าผู้หนึ่งผู้ใดในไตรโลก พระสรีระของพระองค์เป็นอนาสวะ(๒๗๐) มีอาสวธรรม(๒๗๑)เป็นมูลเฉท(๒๗๒)สิ้นเชิงแล้ว พระสรีระของพระองค์เป็นอสังขตะ ปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ ไม่ตกไปในข่ายแห่งการนับประมาณได้ ก็เมื่อพระวรกายของพระองค์มีสภาพดังกล่าวมานี้ จักมีโรคาพาธ(๒๗๓)เกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า ?
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้บังเกิดความละอายเกรงกลัวในตนเองขึ้นว่า เราเป็นผู้อุปัฏฐาก(๒๗๔)ใกล้ชิดพระบรมศาสดาจักฟังพระพุทธดำรัส โดยฟังผิดไปกระนั้นฤๅ ? ทันใดนั้น ข้าพระองค์ก็ได้ยินเสียงในอากาศดังขึ้นมาว่า(พระสุรเสียงของพระองค์) ”
“อานนท์ ! ถูกต้องแล้วตามที่คฤหบดีผู้นั้นกล่าว แต่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าทรงถืออุบัติมาในปัญจสหาโลกธาตุ(๒๗๕) ซึ่งมีความเสื่อม ๕ ประการจึงทรงสำแดงให้เห็นไปต่าง ๆ (มีอาพาธ) เป็นต้น เพื่อเป็นอุบายโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ จงปฏิบัติต่อไปเถิดอานนท์ บิณฑบาตน้ำนมโคต่อไปได้ โดยอย่ามีความหวั่นเกรงเลย.”
“ข้าแต่พระสุคต ดูเถิด ! สติปัญญาปฏิภาณความสามารถของวิมลเกียรติคฤหบดีมีอยู่เห็นปานฉะนี้ โดยเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้เขา พระพุทธเจ้าข้า.”
ด้วยประการดั่งบรรยายมานี้ พระสาวกทั้ง ๕๐๐ องค์ ต่างก็กราบทูลแถลงยุบล(๒๗๖)ความเป็นมาแห่งเรื่องราวของแต่ละองค์กับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกล่าวสดุดียกย่องชมเชยในพจนาท(๒๗๗)ของวิมลเกียรติคฤหบดี แต่ต่างก็ทูลด้วยเสียงอันเดียวกันว่า ตนเองไม่เหมาะสมแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกา(๒๗๘)ให้พระเมตไตรยโพธิสัตว์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้วิมลเกียรติคฤหบดี พระเมตไตรยโพธิสัตว์กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของอุบาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่าสมัยหนึ่งข้าพระองค์กำลังแสดงธรรมว่าด้วยปฏิปทาแห่งอนิวรรตนิยภูมิ(๒๗๙)แก่ดุสิตเทวราช(๒๘๐)พร้อมทั้งเทวบริษัทอยู่ ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าเมตไตรยผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พระคุณว่า พระคุณยังเกี่ยวเนื่องกับชาติอีกชาติเดียว ก็จักได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระคุณจักเอาชาติใดในการรับลัทธยาเทสพุทธพยากรณ์(๒๘๑)เล่า จักเอาอดีตชาติฤๅ ? อนาคตชาติฤๅ ? หรือจักเอาปัจจุบันชาติฤๅ ? ถ้าเป็นอดีตชาติไซร้ อดีตก็ชื่อว่าล่วงลับไปแล้ว หากเป็นอนาคตชาติเล่า อนาคตก็ยังเป็นธรรมที่ยังไม่มาถึง หรือจักเป็นปัจจุบันชาติ ปัจจุบันชาติก็ปราศจากสภาวะความดำรงตั้งมั่นอยู่ได้ สมดังพระพุทธวจนะที่ว่า ดูก่อนภิกษุ ในกาลใดที่ชาติของเธอบังเกิดขึ้นในกาลนั้น ก็ชื่อว่าชรา เป็นภังคะ(๒๘๒)ด้วย ถ้าพระคุณจักเอาอนุตปาทะ(๒๘๓) ความไม่มีชาติรับลัทธยาเทสพุทธพากรณ์ไซร้ ความไม่มีชาติเป็นอนุตปาทธรรม(๒๘๔)นั้น แท้จริงก็คือ ตัตตวสัตยธรรม(๒๘๕) ก็ในตัตตวสัตยธรรมนั้น ย่อมไม่มีการให้พยากรณ์ และไม่มีการบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อเป็นดังนี้พระคุณเจ้าเมตไตรยจักรับพุทธพยากรณ์ว่าพระคุณเป็นเอกชาติปฏิพัทธะ(๒๘๖)ยังเกี่ยวเนื่องกับชาติอีกเพียงชาติเดียว ก็จักตรัสรู้อย่างไรได้เล่า ? หรือจักกล่าวว่าได้รับพุทธพยากรณ์ในความเกิดขึ้นแห่งตถตาฤๅ ? หรือจักกล่าวว่าได้รับพุทธพยากรณ์ในความดับไปแห่งตถตาฤๅ ? ถ้าเป็นการรับพุทธพยากรณ์ในความเกิดขึ้นแห่ง ตถตาไซร้ โดยความจริงแล้ว ตถตา ย่อมไม่มีความเกิดขึ้น ถ้าเป็นการรับพุทธพยากรณ์ในความดับไปแห่ง ตถตาไซร้ โดยความจริงแล้ว ตถตา ย่อมไม่มีความดับไป สรรพสัตว์ย่อมเป็น ตถตา นี้ แม้พระคุณท่านเมตไตรยเองก็เป็น ตถตา นี้ด้วย ฉะนั้น ถ้าพระคุณได้รับพุทธพยากรณ์ สรรพสัตว์ก็สมควรจักได้รับพุทธพยากรณ์ด้วยข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าอันธรรมชาติแห่ง ตถตา นั้น ย่อมไม่มีความเป็นหนึ่งหรือความเป็นสองนั้นเอง หากพระคุณได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สรรพสัตว์ก็สมควรจะต้องบรรลุ ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ทั้งนี้เพราะธรรมชาติแห่งสรรพสัตว์นั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็คือธรรมชาติแห่งโพธินั่นเอง และถ้าพระคุณดับขันธปรินิพพาน(๒๘๗)ลง สรรพสัตว์ก็สมควรจักต้องดับขันธปรินิพพานด้วย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรู้ชัดว่าธรรมชาติของสรรพสัตว์นั้น มีความดับรอบเป็นสภาพ คือพระนิพพานธาตุนั่นเอง มิจำเป็นต้องมีอะไรมาดับรอบกันอีก เพราะฉะนั้นแล ข้าแต่ะพระคุณเจ้าเมตไตรยผู้เจริญ พระคุณโปรดอย่าได้แสดงธรรมอย่างนี้ (คือแสดงปฏปทาแห่งอนิวรรตรนิยภูมิ) ลวงเทวบริษัทเลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า โดยประมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีผู้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเลย พระคุณควรเทศนาสอนให้เทพยดาเหล่านี้ละวิกัลปทิฏฐิ(ความคิดเห็นจากการชักนำของกิเลส)ในโพธิเสีย ด้วยเหตุเป็นไฉน ? เพราะ ธรรมชาติแห่งโพธินั้น จักบรรลุด้วยกายก็มิได้ ฤๅจักบรรลุด้วยจิตก็หามิได้ ธรรมชาติที่ดับรอบสนิทโดยไม่มีเศษเหลือนั่นแลคือโพธิ(๒๘๘) เพราะดับเสียซึ่งปวงลักษณะเสียได้ ฯลฯ
“ข้าแต่พระสุคต เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมนี้จบลง มีเทพยดา ๒๐๐ องค์ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ ด้วยเหตุประการฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของเขา พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระประภาลังการกุมารไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระประภาลังการกุมารกราบทูลว่า
“ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของเขาพระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้า พระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่าสมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เดินทางออกจากเมืองเวสาลี ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีก็กำลังเดินทางเข้ามาสู่นครเวสาลี เมื่อพบกัน ข้าพระองค์ได้แสดงคารวะแล้วถามท่านว่า “ท่านคฤหบดีมาแต่ไหนเทียว ?”
วิมลเกียรติคฤหบดีตอบว่า “ผมมาแต่ธรรมมณฑล(๒๘๙).”
ข้าพระองค์จึงถามต่อไปว่า “ธรรมมณฑลไหน ?”
“ท่านตอบว่า จิตที่ตั้งไว้ตรงนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากความล่อลวง การปฏิบัติธรรมนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังให้ลุแก่ปฏิเวธ(๒๙๐) จิตที่ลึกซึ้งนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งกุศลธรรมอันสมบูรณ์พร้อม โพธิจิตนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากความหลงผิดใด ๆ ทานบริจาคนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ สีลสังวรนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังปฎิธานให้สำเร็จ ขันตินั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะจิตไม่บังเกิดความเบียดเบียนเป็นอุปสรรคในสรรพสัตว์ วิริยะนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑลเพราะปราศจากโกสัชชะ ฌานสมาธินั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะมีจิตอันฝึกฝนอ่อนโยนเป็นกรรมนียะ(๒๙๑)แล้ว ปัญญานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะอรรถว่ารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวงโดยประจักษ์เมตตานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังความสุขให้เกิดแก่สรรพสัตว์โดยเสมอภาพกรุณานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะสามารถทำให้อดกลั้นต่อความทุกข์ในการโปรดสัตว์ได้ มุทิตานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะทำให้ชื่นชมยินดีในธรรม อุเบกขานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นธรรมซึ่งยังความชัง ความรักให้สมุจเฉทไป อภินิหาร(๒๙๒)นั่นแลชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังฉฬภิญญาให้สำเร็จไพบูลย์(๒๙๓)ได้ วิมุตตินั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑลเพราะสละเสียซึ่งสรรพธรรมได้ อุปายนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นเหตุให้สั่งสอนโปรดสรรพสัตว์ได้ สังคหวัตถุ ๔(๒๙๔) นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นธรรมซึ่งสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย พหูสูตนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นเหตุชักจูงให้ปฏิบัติตามที่ได้สดับศึกษามา การควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะนำมาซึ่งยถาภูตญาณทัสสนะ(๒๙๕)ได้โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะนำให้ปล่อยวางสังขารธรรม(๒๙๖)ได้ จตุราริยสัจนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นสภาพจริงไม่ล่อลวงโลก ปฏิจจสมุปบาท(๒๙๗)นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑลเพราะอวิชชา(๒๙๘) ฯลฯ ชรามรณะนั้นล้วนเป็นอนัตตธรรม(๒๙๙) กิเลสาสวะ(๓๐๐)ทั้งปวงนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะความรู้แจ้งตามสภาพของมัน* สรรพสัตว์นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะรู้แจ้งในหลักอนัตตา ธรรมทั้งปวงนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะทราบชัดว่าธรรมทั้งปวงนั้นเป็นสุญญตา มารวิชัยนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะทำให้ไม่หวั่นไหวกำเริบ ภพทั้ง ๓ นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะไม่ยึดเอาคติแห่งภพนั้น สิงหนาท(๓๐๑)นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากความหวั่นหวาดจากภัย พละ อุภยะ(๓๐๒) อเวณิกธรรมนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากอกุศลโทษทั้งหลาย ไตรวิชชา(๓๐๓)นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะไม่มีอาวรณธรรม(๓๐๔)ใด ๆ อื่น ความที่ชั่วขณะจิตเดียวก็สามารถรู้แจ้งสรรพธรรมได้นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังสัพพัญญุตญาณ(๓๐๕)ให้สำเร็จด้วยประการดังที่พรรณนามานี้ ดูก่อนกุลบุตร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อโปรดสรรพสัตว์ การกระทำของพระองค์ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด จะเดิน จะเหิน จะไป จะมา ท่านพึงกำหนดรู้ไว้เถอะว่า พระโพธิสัตว์นั่นชื่อว่ามาจากธรรมมณฑลตั้งอยู่ในธรรมของพระพุทธองค์แล.”
“เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมกถานี้จบลง มีเทพยดา ๕๐๐ องค์ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุประการฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีผู้นั้นพระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระวสุธาธรโพธิสัตว์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระวสุธาธรโพธิสัตว์กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีผู้นั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์อาศัยอยู่ใจเคหะอันสงัดวิเวก ครั้งนั้น พญามารสวัตดีมีทิพยลักษณ์(๓๐๖)ดุจท้าวศักรินทรเทวราช มีนางเทพธิดา ๑๒,๐๐๐ แวดล้อมเป็นบริวาร บำเรอด้วยทิพยสังคีต(๓๐๗) พากันมาอภิวาทน์บาทของข้าพระองค์ กระทำอัญชลีกรรม(๓๐๘)ด้วยความเคารพแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ข้าพระองค์สำคัญผิดว่า เป็นท้าวศักรินทร์เทวราชจริง ๆ จึงได้กล่าวปฏิสันถาร(๓๐๙)ว่า
“ดูก่อนท้าวโกสีย์ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว พระองค์ได้เสวยวิบาก(๓๑๐)แห่งบุญเห็นปานนี้ ขอพระองค์อย่าได้ประมาทพึงพอใจแต่เพียงเท่านี้เลย พึงพิจารณาเบญจพิธกามคุณ ๕(๓๑๑) ว่าเป็นสิ่งอนิจจัง เพื่อเจริญกุศลธรรมไว้เป็นรากฐานยิ่งขึ้นไปอีก พระองค์พึงอาศัยสรีระ ชีวิต และโภคสมบัตินี้แสวงหาธรรมอันมีสาระเถิด.”
พญามารได้ตอบข้าพระองค์ว่า “ข้าแต่ท่านมุนี ข้าพเจ้าขอถวายเทพธิดา ๑๒,๐๐๐ นี้แกท่าน เพื่อเอาไว้ใช้งานมีการปัดกวาดเสนาสนะ(๓๑๒)เป็นต้น.”
ข้าพระองค์ได้ปฏิเสธว่า “ดูก่อนท้าวโกสีย์ พระองค์อย่าได้ปรารถนาให้สิ่งอันไม่ชอบธรรมแก่อาตมภาพ ซึ่งเป็นสมณศากยบุตร(๓๑๓)เลย สิ่งนี้ไม่สมควรแก่สมณวิสัย(๓๑๔).”
ข้าพระองค์ไม่ทันจะพูดจบ วิมลเกียรติคฤหบดีก็ตรงมากล่าวกับข้าพระองค์ว่า
“นั่นไม่ใช่ท้าวศักรินทร์หรอก เป็นมารจำแลงมาผจญทำลายตบะ(๓๑๕)ท่านต่างหากเล่า.”
แล้วคฤหบดีนั้นก็หันมาปราศรัยกับมารว่า “บรรดาเทพธิดาเหล่านี้จงยกให้แก่เราได้ เพราะตัวเรานี้แหละ เป็นผู้เหมาะควรแก่การรับของของท่านนี้.”
สมัยนั้น พญามารมีความหวาดกลัว เกิดความปริวิตกว่า วิมลเกียรติคฤหบดี จักเล่นงานเราหรืออย่างไร จึงจักอันตรธานหายไปจากที่นั้นแต่ก็ไม่บังเกิดผล แม้จักบันดาลด้วยมหิทธิฤทธิ์นานัปการก็ไปจากที่นั้นหาได้ไม่ ทันใดนั้น มีเสียงนฤโฆษ(๓๑๖)ดังมาจากอากาศว่า(เป็นเสียงของท่านวิมลเกียรติสำแดงขึ้น)
“วสวัตดีเอ๋ย เจ้าจงมอบเทพธิดาเหล่านี้ให้เขาเสียเถิด แล้วเจ้าจึงกลับไปได้.”
“พญามารมีความกลัวนัก จึงยอมมอบเทพธิดาบริวารให้แก่วิมลเกียรติคฤหบดีไปตามคำบัญชานั้น.”
ครั้งนั้นท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้สอนเทพธิดาทั้งปวงว่า พญามารได้มอบเธอทั้งหลายแก่เราแล้ว บัดนี้เธอทั้งปวงจงตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเทอญ” แล้วพร่ำสอนโอวาทานุศาสน์(๓๑๗)เป็นอันมาก ยังเทพธิดาทั้งนั้นให้มีจิตตั้งมั่นอยู่ใจธรรมานุธรรมปฏิบัติ(๓๑๘) ในที่สุดคฤหบดีนั้นกล่าวว่า
“บัดนี้ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็มีจิตตั้งมั่นอยู่ในธรรมานุธรรมปฏิบัติแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมสุขเป็นที่ยินดีโดยตนเอง ฉะนั้น อย่าพึงยินดีในเบญจพิธกามคุณ ๕ อีกต่อไป”
เทพธิดาเหล่านั้นจึงถามขึ้นว่า “อะไรชื่อว่ามีธรรมสุขเป็นที่ยินดี ?”
ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีตอบว่า “ยินดี ที่มีศรัทธาปสาทะ(๓๑๙)ในพระพุทธองค์เป็นนิตย์ ยินดีในการสดับพระสัทธรรมเป็นนิตย์ ยินดีในการได้บูชาสักการะพระสงฆเจ้าเป็นนิตย์ ยินดีในการพ้นจากเบญจพิธกามคุณเป็นนิตย์ ยินดีในการพิจารณาเห็นปัญจขันธทั้ง ๕ มีอุปมาดุจโรคร้าย ยินดีในการพิจารณาเห็นมหาภูตรูปทั้ง ๔(๓๒๐) มีอุปมาดุจงูพิษ ยินดีในการพิจารณาเห็นสฬายตนะภายใน(๓๒๑)มีอุปมาดุจเรือนร้าง ยินดีในการคุ้มครองรักษาจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมานุธรรมปฏิบัติ ยินดีในการบำเพ็ญอัตถประโยชน์(๓๒๒)ต่อสรรพสัตว์ ยินดีในการเคารพบูชาคุณครูบาอาจารย์ ยินดีในการบริจาคมหาทาน ยินดีในการมีสีลสังวรเคร่งครัด ยินดีในการมีขันติโสรัจจะ ยินดีในการยังกุศลสโมธาน(๓๒๓)ให้บังเกิดโดยมิย่นย่อ ยินดีในฌานสมาธิอันไม่ฟุ้งซ่าน ยินดีในปัญญาอันบริสุทธิ์สะอาด ยินดีในการมุ่งจิตต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ยินดีในการบำราบเหล่ามาร ยินดีในการยังสรรพกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉท ยินดีในการยังพุทธเกษตรให้บริสุทธิ์หมดจด ยินดีในการยังมหาปุริสลักษณะ(๓๒๔)ให้สำเร็จจึงสร้างปวงกุศลสมภาร(๓๒๕) ยินดีในกิจอลังการธรรมมณฑล(๓๒๖) ยินดีในการสดับพระสัทธรรมอันเป็นส่วนลึกซึ้ง ก็ไม่พึงบังเกิดความท้อถอยเหนื่อยหน่ายหวั่นเกรง ยินดีในการบรรลุวิโมกข์ ฯลฯ นี้แลชื่อว่าพระโพธิสัตว์มีธรรมสุขเป็นที่ยินดี.”
ในลำดับนั้น พญามารวสวัตดีได้กล่าวแก่บรรดาเทพธิดาว่า “เราปรารถนาจักกลับคืนสู่เทพมณเฑียร(๓๒๗)พร้อมกับท่านทั้งหลาย.”
เทพธิดาบริษัทตอบสนองว่า “พวกหม่อมฉันพร้อมด้วยท่านคฤหบดีผู้นี้มีธรรมสุขด้วยกันอยู่ พวกหม่อมฉันได้เสวยสุขอันประณีตอย่างยิ่ง มิได้ยินดีปรารถนาต่อเบญจพิธกามสุขอีกต่อไปแล้ว.”
พญามารจึงหันมาร้องขอกับวิมลเกียรติคฤหบดีว่า
“ข้าแต่ท่านคฤหบดี ขอท่านโปรดสละเทพธิดาทั้งปวงนี้เถิดบุคคลผู้อาจจะสละสิ่งที่เห็นปานนี้ได้ ย่อมมีชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์โดยแท้.”
ท่านวิมลเกียรติกล่าวว่า “เราน่ะสละให้แล้วละท่านจงกลับคืนไปเสียเถอะ จงยังสรรพสัตว์ให้เข้าถึงความสมบูรณ์แห่งธรรมปณิธิ(๓๒๘)โดยทั่วหน้าเทอญ.”
สำดับนั้นเทพธิดาบริษัทก็ถามขึ้นว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี พวกเราทั้งหมดนี้ จักพึงอาศัยอยู่ในมารมณเฑียรด้วยฐานะอย่างไรหนอแล ?”
วิมลเกียรติคฤหบดีจึงอธิบายว่า “ดูก่อนภคินี(๓๒๙)ทั้งหลาย” มีธรรมบทอันหนึ่งเรียกว่า อนันตาประทีป(๓๓๐) ท่านทั้งปวงพึงศึกษากำหนดไว้ ที่ชื่อว่าอนันตประทีปนั้นอุปมาว่า ประทีปดวงหนึ่งสามารถเป็นสมุฏฐานจุดประทีปให้ลุกโพลง ขึ้นอีกหลายร้อยหลายพันดวง ยังผู้ตกอยู่ในความมืดให้ได้รับแสงสว่าง และแสงสว่างนี้ก็มิรู้จักขาดสิ้นไปได้ โดยประการฉะนี้แลภคินี้ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ๆ ย่อมเป็นผู้กล่าวแนะนำชี้ทางแก่สรรพสัตว์อีกหลายร้อยหลายพัน ยังสัตว์เหล่านั้นให้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีจิตที่มุ่งในธรรมานุธรรมปฏิบัติไม่รู้จักขาดสิ้น แสดงพระสัทธรรมตามฐานะอันควร ยังสรรพกุศลสมภารของตนเองให้ทวีไพบูลย์ขึ้น นี้แลชื่อว่า อนันตประทีป ท่านทั้งปวงมาตรว่าจักอาศัยอยู่ในวิมานมาร ก็จงอาศัยอนันตประทีปนี้ ยังเทพยดาเทพธิดาจำนวนมากเป็นอประไมย(๓๓๑)เหล่านี้ ให้เกิดจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณการกระทำดังนี้ ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้สนองพระคุณของพระพุทธองค์ กับทั้งชื่อว่าได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์สุขให้เกิดแก่สรรพสัตว์ด้วย.”
“ครั้งนั้น เทพธิดาบริษัท ได้อภิวาทน์บาทของท่านวิมลเกียรติด้วยเศียรเกล้า แล้วติดตามพญามารคืนสู่สรวงสวรรค์ ได้หายไปในบัดดลนั้นเอง ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค วิมลเกียรติคฤหบดีอุดมด้วยมหิทธานุภาพ(๓๓๒)อันเป็นอิสระ ประกอบทั้งปัญญาปฏิภาณโกศลเห็นปานฉะนี้ ข้าพระองค์จึงไม่หมาะสมควรที่จักไปเยี่ยมไข้ของเขา พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธบรรหารให้บุตรคฤหบดี ผู้ชื่อว่าสุทัตตะเป็นผู้ไปเยี่ยมไข้ สุทัตตะกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์ได้จัดงานกุศลบำเพ็ญมหาทานบริจาค ณ คฤหาสน์ของท่านบิดา บริจาคทำบุญสักการะในสมณะทั้งหลาย ในพราหมณ์ทั้งหลาย กับทั้งบรรดานักบวชภายนอกศาสนาอื่น ๆ คนทุคตะเข็ญใจ พวกวรรณะต่ำ คนปราศจากญาติมิตรไร้ที่พึ่งและยาจก มีกำหนดครบถ้วน ๗ วัน ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มาในท่ามกลางงานโอยทานนี้ และกล่าวกะข้าพระองค์ว่า
“ดูก่อนบุตรคฤหบดี อันมหาทานสันนิบาต(๓๓๓)นี้ เขาไม่จัดทำกันอย่างเช่นที่ท่านทำอยู่นี้หรอก ท่านพึงบำเพ็ญธรรมทานสันนิบาต(๓๓๔)เป็นนิตย์ วัตถุทานเหล่านี้จักทำไปทำไม ?”
ข้าพระองค์จึงถามว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี อะไรเล่าชื่อว่าธรรมทานสันนิบาต ?”
ท่านตอบว่า “อันธรรมทานสันนิบาตนั้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ในกาลเดียวบูชาสักการะในสรรพสัตว์ได้ทั่วถึงนี้แลชื่อว่าธรรมทานสันนิบาต.”
ข้าพระองค์ถามอีกว่า “นั่นคืออะไร ?”
ท่านตอบว่า “เพราะมีความตรัสรู้เป็นที่ตั้ง พึงยังเมตตาจิตให้เกิดขึ้น เพราะจักโปรดสรรพสัตว์เป็นที่ตั้ง พึงยังพระมหากรุณาจิตให้เกิดขึ้น เพราะจักธำรงพระศาสนาให้ยั่งยืนนาน พึงยังมุทิตาจิตให้เกิดขึ้น เพราะจักสงเคราะห์ปัญญาให้เกิดขึ้น พึงปฏิบัติในอุเบกขา เพราะจักสงเคราะห์ คนมัจฉริยะ(๓๓๕)โลภมาก พึงยังทานบารมีให้เกิดขึ้น เพราะจักสั่งสอนคนทุศีล พึงยังศีลบารมีให้เกิดขึ้น เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พึงยังขันติบารมีให้เกิดขึ้น เพราะการหลุดพ้นจากลักษณะแห่งกายและจิต พึงยังวิริยะบารมีให้เกิดขึ้น เพราะการบรรลุความตรัสรู้ พึงยังฌานบารมีให้เกิดขึ้น เพราะการสำเร็จในสัพพัญญุตญาณ พึงยังปัญญาบารมีให้เกิดขึ้น แสดงธรรมสั่งสอนปวงสัตว์ แต่ก็มีสุญญตสัญญาเกิดอยู่เป็นปกติ ไม่ต้องสละสังขตธรรม แต่ก็ยังอนิมิตตธรรม(๓๓๖)ให้เกิดได้ แม้จักแสดงให้เห็นว่าต้องเสวยภพชาติอยู่ แต่ก็ไม่ยึดถือว่าเป็นกรรม เพราะธำรงรักษาพระศาสนา พึงยังอุปายพละให้เกิดขึ้น เพราะทำการโปรดสรรพสัตว์ พึงยังสังคหวัตถุธรรมให้เกิด ฯลฯ ปฏิบัติตามกุศลธรรมานุธรรมวิถี พึงยังอาชีวะให้บริสุทธิ์ มีจิตหมดจด หฤหรรษ์อยู่ พึงเข้าไกล้บัณฑิตแลไม่รังเกียจพาลชน พึงควบคุมรักษาจิตไว้ให้อยู่ในอำนาจ ฯลฯ ละสรรพกิเลสให้เป็นสมุจเฉทพร้อมทั้งสรรพอาวรณธรรมและสรรพอกุศลธรรมให้หมดไป ยังสรรพกุศลธรรมให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุสัพพัญญุตญาณ ยังสรรพกุศลธรรมและโพธิปักขิยธรรม อันเกื้อกูลแก่ความตรัสรู้ให้อุบัติขึ้น ด้วยประการดังนี้แลกุลบุตร ! จึงชื่อว่าธรรมทานสันนิบาต พระโพธิสัตว์องค์ใด ซึ่งสถิตอยู่ในธรรมทานสันนิบาตนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นมหาทานบดี(๓๓๗) และชื่อว่าเป็นบุญเขตอันประเสริฐของโลกทั้งปวงด้วย.”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมจบลงในพราหมณบริษัท มีพราหมณ์ ๒๐๐ คน ต่างมุ่งจิตต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จิตของข้าพระองค์เองในสมัยนั้น ก็หมดจดสะอาด ได้สรรเสริญธรรมของท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีแล้วได้มีขึ้น ได้กระทำอภิวาทน์บาทของคฤหบดีนั้นด้วยเศียรเกล้าแล้ว ข้าพระองค์จึงแก้เอาสร้อยสังวาล(๓๓๘)เครื่องประดับมีราคามากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ(๓๓๙)ออกจากตัว น้อมไปบูชาท่านวิมลเกียรติ ท่านไม่รับของบูชานั้น ข้าพระองค์จึงกล่าวว่า”
“ข้าแต่ท่านคฤหบดี โปรดรับสิ่งบูชานี้เถิด สิ่งนี้สุดแล้วแต่ท่านจักจัดการ.”
“ลำดับนั้น วิมลเกียรติคฤหบดี จึงรับสร้อยสังวาลเครื่องประดับดังกล่าว แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน นำส่วนหนึ่งไปบริจาคให้แก่ยาจกผู้มีวรรณะต่ำที่สุดในสมาคมนั้น อีกส่วนหนึ่งนำไปน้อมถวายบูชาพระอปราชิตถาคตเจ้า(๓๔๐) ซึ่งประทับอยู่ในรัศมีประภาพุทธเกษตร(๓๔๑).”
ครั้งนั้น บริษัทชนทั้งปวงต่างก็ได้ยลเห็นพระอปราชิตตถาคตเจ้าพระองค์ผู้ประทับอยู่ ณ รัศมีประภาโลกธาตุนั้น ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวว่า
“หากผู้บริจาคทานมีจิตสม่ำเสมอ ไม่แบ่งแยกบริจาคให้แก่ยาจกผู้อยู่ในวรรณะต่ำที่สุด ดุจเดียวกับว่าได้ถวายแก่พระตถาคตเจ้าอันเป็นบุญเขตที่เลิศ มีจิตกอปรด้วยมหากรุณา ไม่หวังปรารถนาต่อผลตอบแทนใด ๆ ไซร้ การบริจาคนั้นถึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมทานอันสมบูรณ์.”
“ครั้งนั้น ในนครมียาจกผู้อยู่ในวรรณะต่ำที่สุด ได้ทัศนาอิทธิปาฏิหาริย์อันมหัสจรรย์ และได้สดับธรรมกถาของคฤหบดีผู้นั้น ก็ตั้งจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะเหตุฉะนี้แลข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บรรดาพระโพธิสัตว์ต่างก็กราบทูลเล่ายุบลถึงสาเหตุของตน และต่างสดุดีความเป็นไปของวิมลเกียรติคฤหบดีพร้อมทั้งทูลเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ตนเองไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น.
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีพุทธบรรหาร(๓๔๒)ให้พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้วิมลเกียรติคฤหบดี พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระสุคตเจ้า อันอุดมบุรุษ(๓๔๓)ผู้นั้นหนอ ยากที่จักมีใครโต้ตอบปุจฉาวิสัชนา(๓๔๔)ด้วย เหตุด้วยท่านเป็นผู้เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในยถาภูตสัตยธรรม(๓๔๕)มีความเชี่ยวชาญเจนจบในการแสดงธรรม มีปฏิภาณโกศลปราศจากที่ขัดข้อง อีกทั้งปรัชญาญาณอันแหลมลึกทะลุปรุโปร่งไม่มีที่กีดขวาง และเป็นผู้แตกฉานรู้รอบในสรรพโพธิสัตว์ธรรม ทั้งยังเป็นผู้เข้าถึงระหัสยครรภ์(๓๔๖)อันสุขุมลุ่มลึก แห่งปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกโสดหนึ่ง คฤหบดีนั้น เป็นผู้ชนะมาร บริบูรณ์ด้วยอภิญญากรีฑา(๓๔๗) มีปรัชญาอุบายให้สำเร็จกิจในการโปรดสรรพสัตว์ แต่ถึงแม้กระนั้น ข้าพระองค์ก็ขอรับพระพุทธบัญชา จักไปเยี่ยมไต่ถามอาการไข้ของคฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”
ครั้งนั้นแล ในธรรมมหาสันนิบาต(๓๔๘) อันมีปวงพระโพธิสัตว์ พระมหาสาวก ท้าวพรหมราช ท้าวศักรินทร์ ท้าวจาตุมมหาราช ต่างก็เกิดมนสิการ(๓๔๙)ในใจว่า บัดนี้มหาบุรุษทั้งสองคือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์กับท่านวิมลเกียรติคฤหบดีจักร่วมสนทนาปราศรัยกัน จักต้องมีการแสดงคัมภีรธรรมอันลึกซึ้งต่อกันเป็นแม่นมั่น ครั้นแล้วจึงพระโพธิสัตว์ ๘,๐๐๐ องค์ พระอรหันตสาวก ๕๐๐ องค์ และเทวบริษัทนับด้วยร้อยเป็นอเนกนับด้วยพันเป็นอเนก ต่างพากันมีสมานฉันท์(๓๕๐)ในอันจักติดตามไปด้วย ลำดับนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พร้อมด้วยหมู่แห่งพระโพธิสัตว์ พระมหาสาวกและทวยเทพนิกร(๓๕๑)แวดล้อมติดตามแล้วก็พากันยาตรา(๓๕๒)เข้าไปสู่นครเวสาลี.
อ่านตอนต่อไปได้ที่
http://fws.cc/leavesofeden/index.php?action=printpage;topic=195.0
คำศัพท์(เรียงตามลำดับตัวเลขที่ใส่ไว้ข้างต้น)
๑) พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
๒) มหาปรัชญา “ ปัญญาที่ยิ่งใหญ่
๓) มูลจริยา “ ความประพฤติพื้นฐาน
๔) ขันติ “ ความอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ ,ความอดทน
๕) วิริยะ “ ความเพียร, ความบากบั่น
๖) ฌาน “ ภาวะจิตที่สงบแน่วแน่ป็นสมาธิ จัดเป็น ๔ ชั้น คือ ๑ ปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา ๒ ทุตยฌาน มีองค์ ๓ คือ ละวิตกวิจารเสียได้ คงอยู่แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิกับเอกัคตา ๓ ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุขกับเอกัคตา ๔ จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขาคือเฉยๆ กับเอกัคตา
๗) อุปายะ “ วิธีการอันแยบคาย
๘) พละ “ กำลัง ๕ ประการ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
๙) สังโยชนธรรม “ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์มี ๑๐ อย่างคือ ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต ๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต ๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม ๘. มานะความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง
๑๐) พระสัทธรรม “ คำสอนของพระพุทธเจ้า, ธรรมของสัตบุรุษหรือคนดี
๑๑) กินนร “ อมนุษย์ในนิยาย มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหน ก็ใส่ปีกใส่หางบินไป
๑๒) มโหรค “ บางทีเรียก มโหราค เป็นอมนุษย์ชั้นต่ำต้อยที่สุด บ้างมีลำตัวเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นงู บ้างมีลำตัวเป็นงู ศีรษะเป็นมนุษย์ มีฤทธิ์มาก แต่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วยนัก
๑๓) พุทธบริษัท ๔ “ ภุกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
๑๔) คฤหบดี “ ชายที่เป็นเจ้าบ้าน, ผู้มีอันจะกินซึ่งเป็นเจ้าบ้าน
๑๕) ฉัตร “ เครื่องสูงชนิดหนึ่งมีรูปคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่า ชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลำดับ สำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ
๑๖) สัปตรัตนะ “ รัตนะ ๗ ประการ คือ ๑. เงิน ๒. ทอง ๓.แก้วมณี ๔. แก้วประพาฬ ๕. แก้วมุกดา ๖. แก้วผนึก ๗. แก้วไพฑูรย์
๑๗) อภิวาทน์ “ การกราบไหว้
๑๘) อิทธาภิสังขาร “ การปรุงแต่งฤทธิ์ขึ้นทันใด, การบันดาล ด้วยฤทธิ์
๑๙) มหาตรีสหัสสโลกธาตุ “ เอกภพ ที่เกิดจากจักรวาลย่อยๆอีกมากรวมกัน , โลกทั้ง ๓ มีบาดาล มนุษย์ และสวรรค์
๒๐) พุทธเกษตร “ เขตที่อยู่ในอำนาจของพระพุทธเจ้า, แดนที่มีพระพุทธเจ้า (พระฌานีพุทธเจ้า) ประทับเป็นประธาน (หรือผู้ปกครองแดน) อยู่และปวงพระโพธิสัตว์ ที่มีชื่อเสียงมากและเป็นที่ปรารถนาจะได้ไปเกิดกันมากใน หมู่ชาวพุทธมหายานก็คือ สุขาวดีพุทธเกษตร
๒๑) สดุดีกถา “ การกล่าวคำยกย่อง, คำสรรเสริญ
๒๒) พระพุทธคุณ “ คุณของพระพุทธเจ้าอย่างย่อที่สุด มี ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ
๒๓) พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ “ พระปัญญาสูงสุดที่ทำให้ตรัสรู้ชอบเป็นพระพุทธเจ้า,พระญาณเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม, ศาสนาคริตส์เรียกว่า พระเจ้า ศาสนาเต๋าเรียกว่า เต๋า เป็นต้น
๒๔) วิสุทธิพุทธเกษตร “ พุทธเกษตรอันบริสุทธิ์
๒๕) วิสุทธิภูมิ “ พุทธเกษตร, เป็นหลักการสำคัญของมหายาน โดยนับเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะยังสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ด้วยวิธีตั้งจิตประณิธานพึ่งอำนาจพุทธบารมีแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อไปอุบัติยังแดนพุทธเกษตรเหล่านั้น หากสรรพสัตว์มีศรัทธาเชื่อมั่นในพุทธบารมีย่อมสามารถไปอุบัติ ณ พุทธเกษตร เมื่อได้สดับธรรมะต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ณ ดินแดนนั้นแล้ว ย่อมบรรลุนิรวาณอันสงบ
๒๖) จริยา “ ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ
๒๗) ตถาคต “ พระนามของพระพุทธเจ้า, การไม่มาและก็ไม่ไปไหน, พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เอง
๒๘) สำเหนียก “ การฟัง คอยเอาใจใส่ กำหนดจดจำ
๒๙) โยนิโสมนสิการ “ การพิจารณาโดยแยบคาย, เข้าใจตั้งแต่ต้น, เข้าใจโดยตลอด
๓๐) วิสุทธิเกษตร “ ดินแดนบริสุทธิ์(พุทธเกษตร)
๓๑) หิตานุหิตประโยชน์ “ ประโยชน์เกื้อกูลน้อยใหญ่
๓๒) พุทธภูมิ “ ระดับภูมิปัญญา ของพระพุทธเจ้า,คนที่ปราถนาและบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเพื่อทำหน้าที่ประกาศพุทธศาสนาและเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อให้สัตว์ได้มีความสุขและจุดสุดยอด(วิสุทธิภูมิ)
๓๓) โพธิจิต “ จิตที่ตื่นรู้ เห็นความจริงแจ่มแจ้ง เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน หรือจิตที่ตั้งตรงต่อการตรัสรู้ คือจิตที่ปรารถนาต่อการตรัสรู้
๓๔) มหายานิกบุคคล “ บุคคลผู้เป็นฝ่ายมหายาน, บุคคลผู้ปฏิบัติตามมหายานธรรม
๓๕) จาคธรรม “ ธรรมแห่งการเสียสละ ,การบริจาค, การให้
๓๖) กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ “ ทางแห่งกรรมดี,ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญหรือสุคติเป็นธรรมส่วนสุจริต ๑๐ ประการ จึงเรียกชื่อว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ที่เป็นกายกรรม มี ๓ อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ที่เป็นวจีกรรม มี ๔ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ที่เป็นมโนกรรม มี ๓ คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามคลองธรรม(สัมมาทิฐิ)
๓๗) ทวัตติงสาลังการ “ ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๓๒ อย่าง ในสังขารร่างกาย ที่แท้จริงแล้วล้วนปฏิกูล ไม่งาม อันมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ, อาการ ๓๒
๓๘) ฌานสมาธิ “ การเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วนิ่งเป็นสมาธิ
๓๙) อินทรีย์ “ ร่างกายและจิตใจ
๔๐) พระโพธิญาณ “ พระปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
๔๑) อเนกประการ “ หลายประการ, หลายอย่าง
๔๒) พุทธานุภาพ “ อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า,อำนาจแห่งพระพุทธเจ้า, ฤทธิ์เดชแห่งพระพุทธเจ้า, ความยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธเจ้า
๔๓) ปริวิตก “ นึกเป็นทุกข์หนักใจ, การตรึกตรอง
๔๔) พระดำรัส “ คำพูดของเจ้านาย ,พูด(แผลงมาจากตรัส)
๔๕) พระสุคต “ ผู้ไปดีแล้ว, พระนามของพระพุทธเจ้า
๔๖) ทิพยมณเฑียร “ เรือนอันเป็นทิพย์, การปกครองในสวรรค์, เมืองแมนแดนสวรรค์
๔๗) พระอิศวรเทพ “ ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์
๔๘) พุทธปัญญา “ ความหยั่งรู้และความเพียรพยายามในการทำให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ,ปัญญาการตรัสรู้ถึงหนทางแห่งนิพพานของพระพุทธเจ้า
๔๙) สมภาพ “ ความเสมอกันของสิ่งที่สามารถเทียบเคียงกันได้ ทำให้เท่ากันได้
๕๐) รัตนอลังการ “ การประดับประดาด้วยแก้วมณี
๕๑) โกฏิ “ ชื่อมาตรานับ เท่ากับ ๑๐ ล้าน
๕๒) ปทุมรัตน์ “ บัวอันเป็นแก้วมณี, บัวแก้ว
๕๓) วิสุทธิคุณาลังการ “ การประดับตกแต่งด้วยคุณงามความดีอันบริสุทธิ์
๕๔) สุทธาโภชน์ “ อาหารที่สะอาดหมดจด(ในสวรรค์)
๕๕) ทิพยภาชน์ “ ภาชนะอันเป็นทิพย์(ใช้ในสวรรค์)
๕๖) บุญสมภาร “ บุญที่ได้สั่งสมเอาไว้
๕๗) ทิพยโภชน์ “ อาหารอันเป็นทิพย์(ในสวรรค์)
๕๘) คุณาลังการ “ การประดับประดาด้วยความดี
๕๙) ธรรมกษานติ “ ความสงบสันติ ไม่หวั่นไหวแห่งธรรม
๖๐) สาวกภูมิ “ ระดับภูมิปัญญาของสาวก,คนที่ปราถนาและบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระอรหันต์ในอนาคตกาลเพื่อทำหน้าที่สืบอายุพุทธศาสนา,บุคคลที่ดำเนินตามแนวทางของสาวก(ศิษย์ของศาสดา),พระสาวก ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า, นักบวชในพุทธศาสนา(ภิกษุ,ภิกษุณี)
๖๑) สังขาร “ สิ่งที่ประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายและจิตใจรวมกัน
๖๒) ธุลี “ ฝุ่น
๖๓) ธรรมจักษุ “ ดวงตาแห่งธรรม, ดวงตาคือปัญญาที่รู้เห็นธรรม, ดวงตาเห็นธรรม
๖๔) อาสวกิเลส “ กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่องทับถมอยู่ในจิต ชุบย้อมจิตให้เศร้าหมอง ให้ขุ่นมัว ให้ชุ่มอยู่เสมอ เรียกย่อว่า อาสวะ ก็ได้ มี ๔ อย่าง คือ ๑ กาม ได้แก่ ความติดใจรักใคร่อยู่ในกามคุณ ๒ ภพ ได้แก่ ความติดอยู่ในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ๓ ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นผิด ความหัวดื้อหัวรั้น ๔ อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้จริง ความลุ่มหลงมัวเมา
๖๕) อนุตปาทธรรมกษานติ “ ภูมิที่จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
๖๖) ปฏิภาณ “ เชาวน์ไวในการกล่าวแก้หรือโต้ตอบเป็นต้นได้ฉับพลันทันทีและแยบคาย
๖๗) อภิญญา “ ความรู้ยิ่ง มี ๖ อย่าง คือ ๑ อิทธิวิธี การแสดงฤทธิ์ได้ ๒ ทิพโสต หูทิพย์ ๓ เจโตปริยญาณ ญาณรู้จักกำหนดใจผู้อื่น ๔ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติได้ ๕ ทิพจักขุ ตาทิพย์ ๖ อาสวักขยญาณ ญาณรู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป
๖๘) ธรรมอรรถ “ เนื้อความแห่งธรรม
๖๙) บำราบ “ ปราบ, ทำให้ราบ, ทำให้กลัว
๗๐) คัมภีรธรรม “ ถ้อยคำแห่งธรรม, ธรรมอันลึกซึ้ง
๗๑) คุณชาติ “ ชาติอันดี
๗๒) อุปายโกศล “ วิธีการอันฉลาดแยบคาย
๗๓) มหาปณิธาน “ การตั้งความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่
๗๔) ญาณ “ ปรีชาหยั่งรู้หรือกำหนดรู้ที่เกิดจากอำนาจสมาธิ, ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ
๗๕) อธิมุตติ “ อัชฌาสัย, ความพอใจ,ความตั้งใจ
๗๖) มหายานปฏิปทา “ การดำเนินตามแนวมหายาน(พาหนะที่ใหญ่), อาจริยวาท หรือ มหายาน เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ประเทศแถบตอนเหนือของอินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม มองโกเลีย ไปจนถึงบางส่วนของรัสเซีย จุดเด่นของนิกายนี้อยู่ที่แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกไปสู่พระนิพพาน ด้วยเหตุที่มีผู้นับถืออยู่มากในประเทศแถบเหนือจึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า อุตตรนิกาย ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของโลกเป็นผู้นับถือนิกายมหายาน คำว่ามหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่และสูงสุดเท่านั้น หากเป็นยานที่รื้อขนสรรพสัตว์ได้ทุกประเภททุกวัย รวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนาม เพื่อไปสู่พระนิพพาน และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีเรียก อนุตรยาน (ยานอันสูงสุด) , โพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) , พุทธยาน (ยานของพระพุทธเจ้า) , เอกยาน (ยานอันเอก) เป็นต้น
๗๗) พุทธวัตรสมาจาร “ การประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ที่ดีที่ชอบแห่งพระพุทธเจ้า, การดำเนินตามแนวทางวิถีพุทธอันดีงาม(ชาวพุทธ)
๗๘) มหาสาคร “ แม่น้ำใหญ่, ทะเล
๗๙) อนุโมทนาสาธุการ “ การเปล่งว่าจาว่าชอบแล้วเมื่อเวลาเห็นควรหรือยกย่องสรรเสริญ, คำกล่าวแสดงความยินดีด้วยหรือยินดีตามหรือพลอยยินดี
๘๐) ท้าวศักรินทร์ “ พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๘๑) ท้าวมหาพรหมปชาบดี “ เจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งพรหม, หัวหน้าเหล่าพรหม
๘๒) เคหสถาน “ บ้านเรือน, ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และหมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
๘๓) ทุคตะ “ ยากจน ,เข็ญใจ
๘๔) ทุศีล “ ล่วงระเมิดศีลหรือวินัย(มักใช้แก่นักบวชนักพรต)
๘๕) โกสัชชะ “ ความเกียจคร้าน
๘๖) อุบาสก “ คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
๘๗) ภพ ๓ “ ๑. กามภพ-ภพที่เป็นกามาวจร ได้แก่ อบาย ๔ มนุษย์โลก และกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ๒. รูปภพ-ภพที่เป็นรูปาวจร ได้แก่ รูปพรหม ๑๖ ๓. อรูปภพ-ภพที่เป็นอรูปาวจร ได้แก่ อรูปพรหม ๔
๘๘) สมณะ “ ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา
๘๙) ภริยา “ ภรรยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองชาย, คู่กับ สามี
๙๐) ปีติ “ ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ
๙๑) พาหิรลัทธิ “ ลิทธินอกศาสนา, พวกนอกรีต
๙๒) อุโฆษ “ กึกก้อง
๙๓) โลกุตตรปัญญา “ ความรู้ที่พ้นวิสัยของโลก, ปัญญาเหนือโลก,ความรู้ที่ช่วยคนให้พ้นโลก
๙๔) ฉกามาวจร “ สวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ ๑ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ๒ ดาวดึงส์ ๓ ยามา ๔ ดุสิต ๕ นิมมานรดี ๖ ปรนิมมิตวสวัตดี
๙๕) อนิจจัง “ ไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน, เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
๙๖) สังขารธรรม “ สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง, ธรรมที่มีสภาพปรุงแต่ง,สังขารธรรมคือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้นจึงเป็นสังขตธรรม จิตปรมัตถ์ เจตสิก ปรมัตถ์ รูปมัตถ์ เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม
๙๗) ท้าวจตุโลกบาลราชา “ หัวหน้าเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช มีหน้าที่รักษาโลกในทิศทั้ง ๔ เรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล คือ ๑ ท้าวธตรฐ จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์ รักษาโลกด้านทิศบูรพาหรือทิศตะวันออก ๒ ท้าววิรุฬหก จอมเทวดาหรือจอมกุมภัณฑ์ รักษาโลกด้านทิศทักษิณหรือทิศใต้ ๓ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค รักษาโลกด้านทิศประจิมหรือทิศตะวันตก ๔ ท้าวกุเวร จอมยักษ์ รักษาโลกด้านทิศอุดรหรือทิศเหนือ
๙๘) อุปายโกศลจริยา “ พฤติกรรมที่ใช้วิธีการอันฉลาดแยบคาย
๙๙) บำเพ็ญคุณานุคุณ “ การทำความดีให้เต็มบริบูรณ์, การเพิ่มพูนความดี
๑๐๐) หิตประโยชน์ “ ประโยชน์เกื้อกูล
๑๐๑) อาพาธ “ เจ็บป่วย(ใช้แก่ภิกษุสามเณร)
๑๐๒) สรีรกาย “ ร่างกาย
๑๐๓) ตัณหา “ ความทะยานอยาก , ความใคร่ในกาม
๑๐๔) วิปลาส “ คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ
๑๐๕) กรรมสมุฏฐาน “ กรรมที่เป็นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้รูปเกิด
๑๐๖) พระพุทธสรีระ “ ร่างกายของพระพุทธเจ้า, พระธรรมกาย
๑๐๗) พระธรรมกาย “ กายคือธรรม ได้แก่ พระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ, พระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ตามคติมหายานเชื่อว่า ได้แก่พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า
๑๐๘) วิมุตติ “ ความหลุดพ้น, ชื่อหนึ่งของพระนิพพาน ,วิมุติ ๒ คือ
๑. เจโตวิมุติ-ความหลุดพ้นแห่งจิต ๒. ปัญญาวิมุติ-ความหลุดพ้นด้วยปัญญา
๑๐๙) วิมุตติญาณทัสสนะ “ ปัญญาที่รู้แจ้งว่าหลุดพ้นแล้ว
๑๑๐) เมตตา “ ความรักและเอ็นดู, ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข
๑๑๑) กรุณา “ ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุก
๑๑๒) มุทิตา “ ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น
๑๑๓) อุเบกขา “ ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง, ความวางใจ
๑๑๔) โสรัจจะ “ ความสงบเสงี่ยม
๑๑๕) พหูสูต “ ผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก
๑๑๖) บารมีธรรม “ คุณความดีที่ควรบำเพ็ญมี ๑๐ อย่าง คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ(การออกจากกาม คือ บวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา เรียกว่าทศบารมี, คุณความดีที่ได้บำเพ็ญมา, คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่
๑๑๗) ฉฬภิญญา “ อภิญญา ๖
๑๑๘) เตวิชชา “ ความรู้แจ้ง วิชชา ๓ คือ ๑ บุพเพนิวาสนุสติญาณ(รู้จักระลึกชาติได้) ๒ จุตูปปาตญาณ(รู้จักกำหนดจุติและเกิด) ๓ อาสวักขยญาณ(รู้จักทำอาสวะให้สิ้น)
๑๑๙) โพธิปักขิยธรรม ๓๗ “ ธรรมที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ,ธรรมเกื้อกูลแก่ความตรัสรู้มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ ( ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน ๔ ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน) สัมมัปปธาน ๔ ( ๑ สังวรปทาน-เพียรระงับการกระทำอกุศล ไม่ให้เกิดขึ้น ๒ ปหานปทาน-เพียรละเลิกอกุศลที่กำลังกระทำอยู่ ๓ อนุรักขปทาน-เพียรรักษา กุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ๔ ภาวนาปทาน-เพียรฝึกฝนบำรุงกุศลธรรม ให้เจริญยิ่งขึ้น) อิทธิบาท ๔ ( ๑ ฉันทะ-ความพอใจ ๒ วิริยะ –ความเพียร ๓ จิตตะ-ความคิด ๔ วิมังสา-ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) อินทรีย์ ๕ ( ๑ สัทธินทรีย์-ความศรัทธา ในโพธิปักขิยธรรม ๒ วิริยินทรีย์-ความเพียร ในสัมมัปปธาน ๓ สตินทรีย์-ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน ๔ สมาธินทรีย์-ความตั้งมั่น ในญาณ ๕ ปัญญินทรีย์-ความเข้าใจ ในอริยสัจ) พละ ๕ ( ๑ ศรัทธาพละ-ความเชื่อ ๒ วิริยะพละ-ความเพียร ๓ สติพละ-ความระลึกได้ ๔ สมาธิพละ-ความตั้งใจมั่น ๕ ปัญญาพละ-ความรอบรู้) โพชฌงค์ ๗ ( ๑ สติ-ความระลึกได้ ๒ ธัมมวิจยะ-ความเฟ้นธรรม ๓ วิริยะ-ความเพียร ๔ ปีติ-ความอิ่มใจ ๕ ปัสสัท-ความสงบกายใจ ๖ สมาธิ-ความมีใจตั้งมั่น ๗ อุเบกขา-ความมีใจเป็นกลาง) มรรค ๘ ( ๑ สัมมาทิฏฐิ ๒ สัมมาสังกัปปะ ๓ สัมมาวาจา ๔ สัมมากัมมันตะ ๕ สัมมาอาชีวะ ๖ สัมมาวายามะ ๗ สัมมาสติ ๘ สัมมาสมาธิ)
๑๒๐) สมถวิปัสสนา “ สมถะและวิปัสสนา เป็นแบบปฏิบัติในการเจริญกรรมฐานทางพุทธศาสนา, ความเห็นแจ้งอันเรียบง่าย ,การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
๑๒๑) ทศพลญาณ “ ปรีชาหยั่งรู้ ๑๐ ประการของพระพุทธเจ้า ๑. ฐานาฐานญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ฐานะ และอฐานะ ๒. กรรมวิปากญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ผลแห่งกรรม ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง ๔. นานาธาตุญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก ๕. นานาธิมุตติกญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ อธิมุติ คือ อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่าง ๆ กัน ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย๗. ณานาทิสังกิเลสาทิญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งณานวิโมกข์สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย ๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ความระลึกถึงภพที่เคยอยู่อาศัยในหนหลังได้ ๙. จุตูปปาตญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ จุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม ๑๐. อาสวักขยญาณ-ปรีชาหยั่งรู้ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
๑๒๒) จตุเวสารัชชญาณ “ ปัญญาอันเป็นเหตุให้แกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม ๔ ประการ๑. สัมมาสัมพุทธาปฏิญญา-ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมเหล่านี้ ท่านก็ยังไม่รู้ ๒.ขีณาสวปฏิญญา-ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระขีณาสพอาสวะเหล่าของท่าน ยังไม่สิ้นไป ๓. อันตรายิกธรรมวาทะ-ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่า เป็นอันตรายธรรมเหล่านั้น ไม่อาจก่ออันตรายให้ได้จริง ๔. นิยยานิกธรรมเทศนา-ท่านแสดงธรรม เพื่อประโยชน์อย่างใดประโยชน์อย่างนั้น ไม่เป็นทางนำผู้ทำตาม ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง
๑๒๓) อเวณิกธรรม ๑๘ “ พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ
๑๒๔) อกุศลสมุจเฉทธรรม “ ธรรมอันเป็นเครื่องตัดขาดจากอกุศล
๑๒๕) กุศลภาวนาธรรม “ ธรรมอันยังให้เกิดกุศล
๑๒๖) ภูตตัตตวธรรม “ ธรรมแห่งความจริงที่เป็นอย่างนั้น ,ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
๑๒๗) อัปปมาทธรรม “ ธรรมแห่งความไม่ประมาท , ธรรมแห่งความไม่มึนเมา ,ความไม่เลินเล่อ
๑๒๘) วิสุทธิธรรม “ ธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
๑๒๙) พยาธิโรคันตราย “ อันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ, คามเจ็บป่วย
๑๓๐) ธรรมกถา “ การกล่าวธรรม, ถ้อยคำที่เป็นธรรม
๑๓๑) จิตปณิธาน “ การตั้งความปรารถนาของจิต
๑๓๒) นั่งคู้สมาธิบัลลังก์ “ นั่งขัดสมาธิ
๑๓๓) วนาสนฑ์ “ ราวป่า, แนวป่า, ทิวไม้, ป่าสูง, ป่าดง
๑๓๔) นิโรธสมาบัติ “ การเข้าสู่นิโรธ(ฌานขั้นที่ดับสัมปฤดีได้) เป็นวิธีพักผ่อนของพระอรหันต์, ความดับ,นิพพาน
๑๓๕) อิริยาบถ “ อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
๑๓๖) มรรคธรรม “ ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ สัมมาวาจา-การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ สัมมาอาชีวะ-การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ-ความพยายามชอบ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจชอบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง
๑๓๗) ทิฏฐิ “ ความเห็น, ความอวดดื้อถือดี
๑๓๘) นิพพาน “ ความว่างจากกิเลสและทุกข์, ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์
๑๓๙) จาริก “ ผู้ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น
๑๔๐) อาตมัน “ อัตตาหรือดวงวิญญาณซึ่งศาสนาและปรัชญาฮินดูถือว่าเที่ยงแท้ถาวร
๑๔๑) มรณะ “ ความตาย, การตาย
๑๔๒) สันติ “ ความสงบ
๑๔๓) บัญญัติ “ ข้อความที่ตราหรือกำหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย
๑๔๔) วจนะโวหาร “ คำพูดหรือถ้อยคำที่มีชั้นเชิง, ถ้อยคำที่เล่นเป็นสำบัดสำนวน
๑๔๕) วิตก “ เป็นทุกข์, ร้อนใจ, กังวล
๑๔๖) วิจาร “ ให้คำตัดสิน, ติชม
๑๔๗) สัณฐานนิมิต “ รูปทรงที่สร้างขึ้น, ลักษณะ
๑๔๘) ปปัญจธรรม “ ธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ, เสียเวลา
๑๔๙) สุญญตา “ ความว่างเปล่า
๑๕๐) มมังการ “ ความถือว่าเป็นของเรา
๑๕๑) วิกัลปะ “ จินตนาการ, การคิดภายใตการชักนําของกิเลสปปัญจะ คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ, จินตนาการที่มาจากการปรุงแต่งของจิต
๑๕๒) อายตนะ “ เครื่องรู้และสิ่งที่รู้ อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องติดต่อกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์
๑๕๓) ญาณทัสสนะ “ ความรู้ความเห็น
๑๕๔) พระไตรรัตน์ “ แก้ว ๓ ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
๑๕๕) อนุสรณ์ “ เครื่องระลึก, ที่ระลึก, ระลึก, คำนึงถึง
๑๕๖) สมธรรม “ ธรรมอันสม่ำเสมอ คือ สมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และ สมปัญญา
๑๕๗) ขันธ์ “ ส่วนหนึ่งๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ กอง ๕
๑๕๘) ภิกษา “ การขออาหาร, อาหารที่ขอมา
๑๕๙) สุญญตสัญญา “ ความจำอันว่างเปล่า, ความจำได้หมายรู้ที่ว่างเปล่า
๑๖๐) คามนิคม “ หมู่บ้าน
๑๖๑) รูปารมณ์ “ อารมณ์ คือ รูป ที่เกิดจากตามองเห็น
๑๖๒) สัททารมณ์ “ อารมณ์ คือ เสียง ที่เกิดจากหูได้ยิน
๑๖๓) คันธารมณ์ “ อารมณ์ คือ กลิ่น ที่เกิดจากจมูก
๑๖๔) วาโย “ ลม
๑๖๕) รสารมณ์ “ อารมณ์ คือ รส ที่เกิดจากลิ้น
๑๖๖) โผฏฐัพพารมณ์ “ อารมณ์ คือ กายสัมผัส ที่เกิดจากกาย
๑๖๗) ธรรมารมณ์ “ อารมณ์ คือ ความนึกคิดในใจ ที่เกิดจากใจ
๑๖๘) อัตตภาวะ “ ภาวะแห่งตัวตน, ความมีตัวมีตน, ความเป็นตัวตน
๑๖๙) ปรภาวะ “ ภาวะอื่นๆ
๑๗๐) มิจฉัตตธรรม ๘ “ ธรรมอันเป็นสิ่งผิดตามทำนองคลองธรรม ตรงข้ามมรรคองค์ ๘ คือมิจฉาทิฐิ-ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ-ความดำริผิด มิจฉาวาจา-การเจรจาผิด มิจฉากัมมันตะ-การงานผิด มิจฉาอาชีวะ-การเลี้ยงชีพผิด มิจฉาวายามะ-ความพยายามผิด มิจฉาสติ-ความระลึกผิด มิจฉาสมาธิ-ความตั้งใจผิด
๑๗๑) วิโมกข์ ๘ “ ความหลุดพ้น, ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น ๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่ ซึ่งเป็นไปในขั้นตอนต่างๆดังนี้ ๑ ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป ๒ ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปในภายนอก ๓ ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงาม ๔ ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง ๕ ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง ๖ ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง ๗ ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง ๘ ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง
๑๗๒) มิจฉาภาวะ “ ภาวะอันผิดจากทำนองคลองธรรม
๑๗๓) สัมมาธรรม “ ธรรมอันเป็นสิ่งที่ดีที่ชอบตามทำนองคลองธรรม
๑๗๔) พระอริยบริษัท “ หมู่คณะของผู้บรรลุคุณธรรมวิเศษในพุทธศาสนา คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์(บริษัท ๔)
๑๗๕) ทายกทายิกา “ ผู้ถวายจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร เพศชายเรียกทายก เพศหญิงเรียกทายิกา
๑๗๖) บุญญานิสงส์ “ อานิสงส์แห่งบุญ, ผลบุญ, ผลแห่งคุณงามความดี
๑๗๗) ปฏิภาณปัญญาโกศล “ ปัญญาอันเฉลียวฉลาดแตกฉานในปฎิภาณ คือ ความเข้าใจทำให้สามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ในเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือกล่าวโต้ตอบได้ทันท่วงที
๑๗๘) สาวกจริยา “ การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระสาวก(ศิษย์ของศาสดา), ผู้ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
๑๗๙) ปัจเจกโพธิจริยา “ การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระปัจเจกโพธิ , ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้, ความตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น คือ ความตัรสรู้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
๑๘๐) พุทธจริยา “ การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระพุทธเจ้า, โพธิสัตวยาน ซึ่งได้แก่ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม
๑๘๑) ภัตตาหาร “ อาหารสำหรับภิกษุสามเณรฉัน
๑๘๒) ราคะ “ ความกำหนัดยินดีในกามารมณ์, ความใคร่ในกามคุณ
๑๘๓) โทสะ “ ความโกรธ, ความฉุนเฉียว
๑๘๔) โมหะ “ ความหลง, ความเขลา, ความโง่
๑๘๕) สมุจเฉท “ การตัดขาด, ขาดสูญ
๑๘๖) สรีรขันธ์ “ ร่างกาย, รูปกาย, กายสังขาร(ธาตุ ๔)
๑๘๗) เอกีภาพ “ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน, ความสอดคล้องกลมกลืนกัน
๑๘๘) ปัญจานันตริยกรรม “ กรรมที่ให้ผลไม่เว้นระยะ คือ กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุดมี ๕ อย่าง คือ ๑ ฆ่าบิดา ๒ ฆ่ามารดา ๓ ฆ่าพระอรหันต์ ๔ ทำให้พระกายพุทธเจ้าห้อเลือด ๕ ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน
๑๘๙) จตุราริยสัจ “ ความจริงของพระอริยะ, ความจริงอันประเสริฐ มี ๔ ข้อ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค(อริยสัจ ๔)
๑๙๐) อริยผล “ ชื่อโลกุตรธรรมในพระพุทธศาสนา มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล
๑๙๑) พระอริยบุคคล “ บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น
๑๙๒) อนาริยบุคคล “ บุคคลผู้ที่ยังไม่เจริญ, คนป่าเถื่อน
๑๙๓) อุปาทาน “ การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ
๑๙๔) มิจฉาทิฏฐิ “ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
๑๙๕) อัฏฐอันตรายิกธรรม “ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอันตราย คือเหตุเครื่องขัดขวางต่างๆ เช่น เหตุขัดขวางการอุปสมบท ๘ อย่าง มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือเป็นโรคเรื้อน มีการเป็นโรคกุฏฐัง เป็นฝี เป็นต้น.
๑๙๖) สหธรรม “ ธรรมอันเดียวกัน, กฎหรือความเชื่อถืออย่างเดียวกัน
๑๙๗) บุญเขต “ เนื้อนาบุญ
๑๙๘) อบายภูมิ “ ภูมิที่เกิดอันปราศจากความเจริญ มี ๔ คือ นรก เปรตวิสัย อสุรกายภูมิ และกำเนิดดิรัจฉาน
๑๙๙) บัญญัติโวหาร “ ถ้อยคำหรือคำพูดที่กำหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับ
๒๐๐) วิมุตติธรรม “ ธรรมแห่งความหลุดพ้น, พระนิพพาน
๒๐๑) จิตตัชฒาสัย “ อัชฌาสัยแห่งจิต, นิสัยใจคอ, จิตพิสัย
๒๐๒) รัตนภาชน์ “ ภาชนะทำจากแก้วมณี, ภาชนะอันสะอาดหมดจด
๒๐๓) ภูมิธรรม “ พื้นจิตใจที่มีคุณธรรม
๒๐๔) ไพฑูรย์ “ ชื่อรัตนะอย่างหนึ่งในจำพวกนพรัตน์ มีสีเหลืองแกมเขียวหรือน้ำตาลเทา
๒๐๕) หินยาน “ ชื่อนิกายพระพุทธะศาสนาฝ่ายใต้ที่ถือกันในลังกา พม่า และไทย เป็นต้น, หีนยานหรือเถรวาท
๒๐๖) มหามรรคจริยา “ การประพฤติปฏิบัติที่ดำเนินตามทางอันใหญ่ยิ่งหรือมหายาน
๒๐๗) หินมรรคจริยา “ การประพฤติปฏิบัติที่ดำเนินตามทางอันเล็กหรือหินยาน
๒๐๘) ทิวากร “ พระอาทิตย์, กลางวัน
๒๐๙) มหายานธรรม “ ธรรมแห่งมหายาน
๒๑๐) มโนปณิธาน “ จิตปณิธาน, การตั้งความปรารถนาของใจ
๒๑๑) หินยานธรรม “ ธรรมแห่งหินยาน
๒๑๒) สมาบัติ “ ภาวะที่จิตสงบประณีต, สมาบัติ ๘ คือ ๑. รูปฌาน ๔ ๒. อรูปฌาน ๔
๒๑๓) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ “ ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน, การระลึกชาติได้
๒๑๔) กุศลมูล “ กุศลเก่า,บุญเก่า
๒๑๕) สังเขปนัย “ ใจความสำคัญโดยย่อ
๒๑๖) อรรถาธิบาย “ การขยายความ, การอธิบายความ
๒๑๗) อนิจจกถา “ คำกล่าวเรื่องอนิจจัง(ไม่เที่ยง)
๒๑๘) ทุกขกถา “ คำกล่าวเรื่องทุกข์(ความยากลำบาก)
๒๑๙) สุญญตกถา “ คำกล่าวเรื่องสุญตา(ความว่างเปล่า)
๒๒๐) อนัตตกถา “ คำกล่าวเรื่องอนัตตา(ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน)
๒๒๑) นิโรธกถา “ คำกล่าวเรื่องนิโรธ(ความดับ)
๒๒๒) ภูตสัตยธรรม “ ธรรมอันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
๒๒๓) จิตจรรยา “ พฤติกรรมของจิต(ใจ)
๒๒๔) อนิจจตา “ ความไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน
๒๒๕) ปัญจขันธ์ “ ขันธ์ ๕
๒๒๖) ทุกขตา “ ความทุกข์, ความยากลำบาก
๒๒๗) อัตตา “ ตน
๒๒๘) อนัตตา “ ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
๒๒๙) นิโรธ “ ความดับ, นิพพาน
๒๓๐) อาสวะ “ กิเลส, อาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ
๒๓๑) รัศมีโอภาส “ แสงสว่างอันสุกใสที่พวยพุ่งออกมาจากจุดศูนย์กลาง
๒๓๒) ทิพยจักษุ “ ตาทิพย์
๒๓๓) ทัศนวิสัย “ ระยะทางไกลที่สุดซึ่งสามารถมองเห็นวัตถุด้วยตาเปล่าและบอกได้ว่าวัตถุนั้นเป็นอะไร
๒๓๔) สังขตธรรม “ สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
๒๓๕) อสังขตธรรม “ สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
๒๓๖) พระวินัยบัญญัติ “ การกำหนดระเบียบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติโดยพระพุทธเจ้าเพื่อปกครองคณะสงฆ์
๒๓๗) อาบัติ “ โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ
๒๓๘) วิมติกังขา “ ความสงสัยเคลือบแคลง
๒๓๙) สมุฏฐาน “ ที่เกิด, ที่ตั้ง, เหตุ
๒๔๐) วิปฏิสารจิต “ ความเดือดร้อน, ความร้อนใจ(ภายหลังที่ได้กระทำผิด หรือเนื่องด้วยการกระทำผิด)
๒๔๑) ตถตา “ ความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้, ซึ่งเป็นชื่อของจิตเดิมแท้หรือจิตพุทธะอีกชื่อหนึ่ง
๒๔๒) วิกัลปสัญญา “ ความจำได้หมายรู้ภายใตการชักนําของกิเลสปปัญจะ คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ
๒๔๓) วิปลาสสัญญา “ ความจำได้หมายรู้อันคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ
๒๔๔) วิกัลปทิฏฐิ “ ความคิดเห็นภายใต้การชักนำของกิเลสปปัญจะ คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ
๒๔๕) เอตทัคคะ “ ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ
๒๔๖) บรรพชา “ การบวชมักใช้กับการบวชเป็นสามเณร ส่วนการบวชเป็นภิกษุเรียกการอุปสมบท
๒๔๗) วิราคธรรม “ ธรรมแห่งความหน่าย, ความปราศจากราคะ, ความไม่ไยดี, พระนิพพาน
๒๔๘) เนกขัมมจริยา “ การออกบวช, การออกจากกาม
๒๔๙) เนกขัมมานิสงส์ “ อานิสงส์, ผลแห่งกุศลกรรม, ประโยชน์, ผลบุญจากการออกบวช
๒๕๐) ปรมัตถ์ “ ความจริงอันเป็นที่สุด, ลึกซึ้งยากที่ปุถุชนจะเข้าใจได้
๒๕๑) อรรถรส “ รสแห่งถ้อยคำ, ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความซาบซึ้ง, ถ้อยคำที่ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ
๒๕๒) อสังขตะ “ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
๒๕๓) ทิฏฐิ ๖๒ “ ทิฏฐิหรือมิจฉาทิฎฐิ ๖๒ ประกอบด้วย
๑.ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ คือ ความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต มี ๕ หมวด คือ
๑. สัสสตทิฏฐิ ๔ คือ เห็นว่าโลกเที่ยง, เป็นอัตตา
๑.๑. ระลึกชาติในอดีตหนหลังได้
๑.๒. ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้ ๑ - ๒ กัป
๑.๓. ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้ ๑๐ – ๒๐ กัปไปได้อีก
๑.๔. เชื่อมั่นว่าจุติแล้ว ถือปฎิสนธิใหม่ เที่ยงแท้อยู่อย่างนี้ตลอดไป
๒. เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔ คือ เห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
๒.๑ เมื่อโลกพินาศ สัตว์ไปเกิดในอาภัสรพรหม พอโลกเจริญขึ้นก็กลับจุติมา เกิดในโลกนี้ใหม่ วิมานพรหมก็ว่าง
๒.๒ พวกเทวดาชื่อขิฑฑาปโทสิกะเท่านั้นจุติ พวกอื่นไม่จุติ
๒.๓ พวกเทวดาชื่อมโนปโทสิกะ คอยเพ่องโทษกันและกันแล้วจึงจุติ
๒.๔ อัตตา เป็นของไม่เที่ยง แต่จิตหรือวิญญาณเป็นของเที่ยงคงทน
๓. อันตานันติกทิฏฐิ ๔ คือ เห็นว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้
๓.๑ โลกมีที่สุด
๓.๒ โลกไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้
๓.๓ โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้
๓.๔ โลกด้านบนมีที่สุด ด้านขวางหาที่สุดมิได้
๔ อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ คือ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างดิ้นได้ ไม่ตายตัว
๔.๑ ไม่รู้ชัดว่า โลกเป็นกุศลหรืออกุศล จึงไม่กล้าพยากรณ์
๔.๒ ความพอใจ ความติดใจ เป็นอุปาทาน จึงไม่กล้าพยากรณ์
๔.๓ โต้ตอบด้วยชำนาญการโต้ตอบ เมื่อตอบไม่ได้ จึงไม่กล้าพยากรณ์
๔.๔ โลกหน้ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช้ก็ไม่ใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่
๕. อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒ คือ เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเอง ไม่มีเหตุ
๕.๑ พวกเทวดาชื่อ อสัญญีสัตว์จุติมาแล้วก็ระลึกชาติได้ว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นลอย ๆ เบื้องหน้าแต่นั้นไประลึกไม่ได้
๕.๒ สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นลอย ๆ
๒. อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔ คือ ความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคตมี ๕ หมวด คือ
๑. สัญญีทิฏฐิ ๑๖ คือ อัตตาที่เหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา
๑.๑ อัตตา ที่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๒ อัตตา ที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๓ อัตตา ทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๔ อัตตา ที่มีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๕ อัตตา ที่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๖ อัตตา ทีไม่มีที่สุด ยั่นยืน มีสัญญา
๑.๗ อัตตา ทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๘ อัตตา ทั้งที่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ยั่นยืน มีสัญญา
๑.๙ อัตตา ที่มีสัญญาอย่างเดียว ยั่นยืน มีสัญญา
๑.๑๐ อัตตา ที่มีสัญญาต่างกัน ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๑๑ อัตตา ที่มีสัญญาย่อยเยา ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๑๒ อัตตา ที่มีสัญญาหาประมาณมิได้ ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๑๓ อัตตา ที่มีสุดอย่างเดียว ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๑๔ อัตตา ที่มีทุกข์อย่างเดียว ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๑๕ อัตตา ที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ยั่งยืน มีสัญญา
๑.๑๖ อัตตา ที่มีทุกข์ก็ไม่ใช่ สุขก็ไม่ใช่ ยั่งยืน มีสัญญา
๒. อสัญญีทิฏฐิ ๘ คือ อัตตาที่เหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา
๒.๑ อัตตา ที่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๒.๒ อัตตา ที่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๒.๓ อัตตา ที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๒.๔ อัตตา ทั้งที่มีรูปก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ ยั่งยืนไม่มีสัญญา
๒.๕ อัตตา ที่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๒.๖ อัตตา ที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๒.๗ อัตตา ทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๒.๘ อัตตา ทั้งที่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา
๓. เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ ๘ คือ อัตตาที่เหนือการตายมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๑ อัตตา ที่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๒ อัตตา ที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๓ อัตตา ทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ ไม่ใช่
๓.๔ อัตตา ทั้งที่มีรูปก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๕ อัตตา มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๖ อัตตา ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๗ อัตตา ทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั้งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๓.๘ อัตตา ทั้งที่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ยั่งยืน มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
๔. อุจเฉททิฏฐิ ๗ คือ เห็นว่าตายแล้วสูญ ได้แก่ ความเลิกเกิดของสัตว์
๔.๑ อัตตา ที่มีรูป บิดา มารดา ตายแล้วสูญ
๔.๒ อัตตา อื่นทีเป็นทิพย์ มีรูปเป็นกามาวจร บริโภคกพฬิงการาหารตายแล้วสูญ
๔.๓ อัตตา อื่นที่เป็นทิพย์ มีรูปสำเร็จด้วยใจ ตายแล้วสูญ
๔.๔ อัตตา ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ด้วยอากาศ หาที่สุดมิได้
๔.๕ อัตตา ที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายนะ มีอารมณ์ว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้
๔.๖ อัตตา ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ มีอารมณ์ว่า ไม่มีอะไร ๆ
๔.๗ อัตตา ที่เข้าถึงชั้นแนวสัญญานาสัญญายตนะ มีอารมณ์ว่าละเอียดประณีต
๕. ทิฏฐิธัมมนิพพานทิฏฐิ ๕ คือ เห็นว่านิพพานปัจจุบันเป็นธรรมดาอย่างยิ่ง ของสัตว์
๕.๑ อัตตา นี้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณก็บรรลุนิพพาน
๕.๒ อัตตา ที่สงัดจากกามจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานก็บรรลุนิพพาน
๕.๓ อัตตา ที่บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในจิตภายในก็บรรลุนิพพา
๕.๔ อัตตา ที่บรรลุตติยฌาน มีอุเบกขา มีสติก็บรรลุนิพพาน
๕.๕ อัตตา ที่บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขา มีสติ บริสุทธิ์ก็บรรลุนิพพาน
๒๕๔) ปัญจคติ “ ภูมิภพทั้ง ๕ ได้แก่ มนุษย์ภูมิ, เปรตภูมิ, นรกภูมิ,เดรัจฉานภูมิ, เทวภูมิ หรือ สวรรค์
๒๕๕) ปัญจจักษุ “ ๑. มังสจักษุ คือทรงมี (ตาเนื้อ) พระเนตรอันงดงาม มีอำนาจแจ่มใส ไว และเห็นได้ไกล ๒. ทิพยจักษุ คือทรงมีพระปรีชาชาญที่ล่วงรู้ความเป็นไปของสรรพสัตว์ด้วยอำนาจของกฎแห่งกรรม ๓.ปัญหาจักษุ คือทรงมีปรีชาสามารถล่วงรู้อัธยาศัยและพื้นฐานความถนัดของสรรพสัตว์ อันทำให้พระองค์ทรงสามารถที่จะเลือกวิธีการและคำสอนที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ (คน) นั้นๆ ได้เป้นอย่างดี ๔. พุทธจักษุ คือทรงมีพระปรีชาสามารถล่วงรู้อัธยาศัยและพื้นฐานความถนัดของสรรพสัตว์ (คน) นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ๕. สมัตจักษุ คือทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (ญาณหยั่งรู้ธรรมทั้งปวง)
๒๕๖) ปัญจพละ “ ธรรมแห่งพลัง ๕ ประการ สัทธาพละ วิระยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ(พละ ๕)
๒๕๗) ปัญจินทรีย์ “ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
๒๕๘) สมมติบัญญัติ “ กำหนดขึ้นโดยรู้สึกนึกเอาหรือโดยสมมุติ
๒๕๙) อุบล “ บัวสาย
๒๖๐) อหังการ “ การยึดว่าเป็นตัวเรา, ความเย่อหยิ่ง, จองหอง, ความทระนงตัว, ความก้าวร้าวด้วยการถือว่าตนเองสำคัญ
๒๖๑) อนุภูตธรรม “ ธรรมอันเกิดขึ้นแล้ว, ความจริงที่เกิดขึ้น
๒๖๒) วิปฏิสาร “ ความเดือดร้อน, ความร้อนใจ
๒๖๓) ประชวร “ เจ็บป่วย
๒๖๔) พระวรกาย “ ร่างกายอันประเสริฐ, เปี่ยมด้วยพร, เลิศ,ยอดเยี่ยม
๒๖๕) วัชรกายสิทธิ “ ร่างกายที่มีความแข็งเหมือนเพชรเปรียบปัญญาอันคมกล้าที่สามารถตัดอวิชาได้และมีฤทธิ์เดชต่างๆอยู่ในตัว(จึงไม่มีความเจ็บป่วย)
๒๖๖) มหิทธิฤทธิ์ “ มีฤทธิ์มาก
๒๖๗) พระเจ้าจักรพรรดิ “ มนุษย์ผู้มีบุญ เพราะได้ทำบุญมาดีแล้วแต่ชาติก่อน ด้วยการให้ทาน รักษาศีล
๒๖๘) บุญญาธิการ “ บุญที่ได้กระทำไว้มากยิ่ง
๒๖๙) พยาธิภัย “ อันตรายจากความเจ็บไข้
๒๗๐) อนาสวะ “ ปราศจากกองกิเลสเครื่องเศร้าหมอง, ไม่มีอาสวะ
๒๗๑) อาสวธรรม “ ธรรมแห่งกองกิเลส, กองกิเลสเครื่องเศร้าหมอง, ๑ กามาสวะ ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย ๒ ภวาสวะ ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ ความเพลิดเพลินในภพ สิเนหาในภพ ความเร่าร้อนในภพ ความสยบในภพ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย ๓ ทิฏฐาสวะความเห็นว่า โลกเที่ยงก็ดี ว่าโลกไม่เที่ยงก็ดี ว่าโลกมีที่สุดก็ดี ว่าโลกไม่มีที่สุดก็ดี ว่าชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นก็ดี ว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ไม่เป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็มีไม่เป็นอยู่ก็มี เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็ไม่ใช่ไม่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่เบื้องหน้าแต่มรณะก็ดี ทิฏฐิความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิดทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้(มิจฉาทิฏฐิ แม้ทั้งหมด จัดเป็นทิฏฐาสวะ) ๔ อวิชชาสวะความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกข-*นิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ มีลักษณะเช่นว่านี้ .
๒๗๒) มูลเฉท “ การตัดรากถอนโคน(กิเลส), การขาดจากเดิม
๒๗๓) โรคาพาธ “ ความเจ็บไข้ได้ป่วยจากโรค
๒๗๔) อุปัฏฐาก “ ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร
๒๗๕) ปัญจสหาโลกธาตุ “ โลกอันมีความเสื่อม ๕ ประการ คือ ความเสื่อมญาติ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคะ ๑ ความเสื่อมเพราะโรค ๑ ความเสื่อมศีล ๑ ความเสื่อมทิฐิ ๑
๒๗๖) ยุบล “ ข้อความ, เรื่องราว
๒๗๗) พจนารท “ เนื้อความของคพูด
๒๗๘) พุทธฎีกา “ ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า
๒๗๙) อนิวรรตนิยภูมิ “ ภูมิแห่งการไม่เวียนกลับ(ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก),ไม่เวียนกลับ, พระนิพพาน
๒๘๐) ดุสิตเทวราช “ เจ้าแห่งเทวดาสวรรค์ชั้นดุสิต
๒๘๑) ลัทธยาเทสพุทธพยากรณ์ “ การทำนายจากพระพุทธเจ้า(ว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใด)
๒๘๒) ภังคะ “ แตกดับ คือ ตาย
๒๘๓) อนุตปาทะ “ ไม่มีความอุบัติ ,ไม่มีการเกิด
๒๘๔) อนุตปาทธรรม “ ธรรมอันไม่มีความเวียนเกิด
๒๘๕) ตัตตวสัตยธรรม “ ธรรมแห่งความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นจริง
๒๘๖) เอกชาติปฏิพัทธะ “ เกี่ยวเนื่องกับชาติอีกเพียงชาติเดียว, เกิดอีกชาติเดียวก็จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า(อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ)
๒๘๗) ดับขันธปรินิพพาน “ ตาย, การดับรอบ, การดับสนิท, การดับรอบโดยไม่เหลือ เรียกอาการตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
๒๘๘) โพธิ “ ความตรัสรู้
๒๘๙) ธรรมมณฑล “ อาณาบริเวณแห่งธรรม, เขตแดนแห่งธรรม
๒๙๐) ปฏิเวธ “ เข้าใจตลอด, ตรัสรู้, ลุล่วงผลปฏิบัติ
๒๙๑) กรรมนียะ “ การให้ผลของกรรม, กรรมที่ได้กระทำแล้ว
๒๙๒) อภินิหาร “ อำนาจแห่งบารมี, อำนาจบุญที่สร้างสมไว้, อำนาจเหนือปกติธรรมดา
๒๙๓) ไพบูลย์ “ ความเต็มเปี่ยม, ความเต็มที่
๒๙๔) สังคหวัตถุ ๔ “ ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน, ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน มี ๔ ประการ คือ ๑ ทาน การให้ การเสียสละ การแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ช่วยปลูกฝังให้เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันกัน (แบ่งปันไปมา) ๒ ปิยะวาจา การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ พูดดีต่อกัน (พูดจาจับใจ) ๓ อัตถจริยา ช่วยเหลือกัน (ช่วยกิจกันไป) ๔ สมานัตตา การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ โดยประพฤติตัวให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวดีต่อกัน (นิสัยเป็นกันเอง)
๒๙๕) ยถาภูตญาณทัสสนะ “ ความรู้เห็นตามความเป็นจริง
๒๙๖) สังขารธรรม “ สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง
๒๙๗) ปฏิจจสมุปบาท “ การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์หรือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ กล่าวคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี เพราะอุปทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี
๒๙๘) อวิชชา “ ความไม่รู้แจ้ง ,อวิชชา ๘ ประกอบด้วย ๑. ทุกฺเข อญฺญาณํ-ไม่รู้ใน ทุกข์ ๒. ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ-ไม่รู้ใน ทุกขสมุทัย ๓. ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ-ไม่รู้ใน ทุกขนิโรธ ๔. ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย อญญาณ-ไม่รู้ใน ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๕. ปุพฺพนฺเต อญฺญาณํ-ไม่รู้ใน ส่วนอดีต ๖. อปรนฺเต อญฺญาณํ-ไม่รู้ใน ส่วนอนาคต ๗. ปุพฺพนฺตาปรนฺเต-ไม่รู้ทั้งส่วนอดีต ทั้งส่วนอนาคต ๘. อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญฺญาณํ-ไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันจึงเกิดมี ขึ้นตามหลัก อิทัปปัจจยตา
๒๙๙) อนัตตธรรม “ ธรรมอันไม่ใช่ตัวใช่ตน, ไม่มีตัวตน ,ไม่ใช่อัตตา
๓๐๐) กิเลสาสวะ “ กองกิเลส ,เครื่องทำใจให้หมองเศร้า(โลภ โกรธ หลง)
๓๐๑) สิงหนาท “ พระราชดำรัสอันเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั้งปวง เหมือนเสียงของราชสีห์เป็นที่น่าเกรงขามของสัตว์ทั้งปวง, เสียงตวาดของนักรบเพื่อให้เป็นที่เกรงขามของข้าศึก
๓๐๒) อุภยะ “ ทั้งสอง, ทั้งคู่, ธรรมที่เป็นคู่
๓๐๓) ไตรวิชชา “ เตวิชชาหรือวิชชา ๓
๓๐๔) อาวรณธรรม “ ธรรมอันเป็นเครื่องกั้น, เครื่องกำบัง, ห่วงใย, อาลัย, คิดถึงกังวล
๓๐๕) สัพพัญญุตญาณ “ ความหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, ญาณรอบรู้ทุกสรรพสิ่ง
๓๐๖) ทิพยลักษณ์ “ ลักษณะอันเป็นทิพย์
๓๐๗) ทิพยสังคีต “ ดนตรีอันเป็นทิพย์, การร้องรำทำเพลงในสวรรค์
๓๐๘) อัญชลีกรรม “ การประนมมือ, การไหว้
๓๐๙) ปฏิสันถาร “ การทักทายปราศรัยแขกผู้มาหา, การต้อนรับแขก
๓๑๐) วิบาก “ ผล, ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทำไว้แต่อดีต
๓๑๑) เบญจพิธกามคุณ ๕ “ สิ่งที่น่าปรารถนามี ๕ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส(สิ่งที่ถูกต้องด้วยกาย),เครื่องผูกอันบุคคลพึงใคร่, ความปรารถนาในเมถุน
๓๑๒) เสนาสนะ “ หมู่ที่นั่ง,เครื่องปูรองนั่ง (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร)
๓๑๓) สมณศากยบุตร “ ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา
๓๑๔) สมณวิสัย. “ ขอบเขตความสามารถของสมณะที่จะทำได้(ตามพระวินัย)
๓๑๕) ตบะ “ พิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว, การบำเพ็ญเพื่อให้กิเลสเบาบาง, การข่มกิเลส, ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส
๓๑๖) นฤโฆษ “ ดังออก, กึกก้อง
๓๑๗) โอวาทานุศาสน์ “ การกล่าวสั่งสอนให้คำแนะนำ ชี้แจง ตักเตือน
๓๑๘) ธรรมานุธรรมปฏิบัติ “ การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม, การประพฤติความดีสมควรแก่ฐานะ
๓๑๙) ศรัทธาปสาทะ “ ศรัทธาเลื่อมใส, ศรัทธายินดี
๓๒๐) มหาภูตรูป ๔ “ ธาตุที่ประกอบเป็นรูป ปฐวีมหาภูต(ดิน) อาโปมหาภูติ(น้ำ) เตโชมหาภูติ(ไฟ) วาโยมหาภูติ(ลม) (ธาตุ ๔)
๓๒๑) สฬายตนะภายใน “ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓๒๒) อัตถประโยชน์ “ ประโยชน์ที่ต้องการ
๓๒๓) กุศลสโมธาน “ การรวบรวมหรือสะสมกุศล
๓๒๔) มหาปุริสลักษณะ “ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ(ของพระพุทธเจ้า) ประกอบด้วย
๑. ทรงมีพื้นพระบาทเรียบเสมอกัน
๒. ภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ มีลายกงจักรเกิดขึ้น ซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบด้วยรูปมงคลครบ ๑๐๘ ประการ
๓. ทรงมีส้นพระบาท ยื่นยาวออกไป ๑ ใน ๓ ส่วนของฝ่าเท้า
๔. ทรงมีพระองคุลี นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาท ยาวงามเรียวเสมอกัน
๕. ทรงมีพระหัตถ์ และพระบาท อ่อนนุ่มเสมอกัน
๖. พระหัตถ์ และฝ่าพระบาท มีเส้นที่ข้อพระองคุลีจรดกัน ดุจตาข่ายถักไว้ ในช่องบัญชร นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทชิดสนิทกันดี
๗. ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ข้อพระบาทลอยอยู่บนหลังเท้า
๘. ทรงมีพระชงฆ์รีเรียว ดุจแข้งเนื้อทราย และมีเนื้อเต็มเสมอกัน
๙. เมื่อทรงประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลง ก็ทรงเอาพระหัตถ์ลูบคลำพระชานุ ( หัวเข่า )ได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
๑๐. ทรงมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ไม่หย่อนยาน เปิดเผยเยี่ยงสามัญชน
๑๑. ทรงมีพระฉวีวรรณดุจทองคำ
๑๒. ทรงมีพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงไม่ติดพระวรกาย
๑๓. ทรงมีพระโลมชาติเดี่ยว และเส้นเสมอไปทุกขุมขน
๑๔. ทรงมีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น และขอดเป็นวง เวียนขวา มีสีครามเข้มเหมือนดอกอัญชัน
๑๕. ทรงมีพระวรกายตรงดุจ กายท้าวมหาพรหม
๑๖. ทรงมีพระมังสะเต็มบริบูรณ์ในที่ ๗ แห่ง คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จะงอยพระอังสาทั้งสอง และพระศอ
๑๗. ทรงมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์
๑๘. ทรงมีพระปฤษฎางค์ เต็มเสมอกัน ( แผ่นหลัง จากบั้นเอวถึงคอ มองไม่เห็นกระดูก)
๑๙. พระวรกายเป็นปริมณฑลดุจ ปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูง เท่ากับ ๑ วา (ประมาณ ๒ เมตร )
๒๐. ทรงมีพระศอ กลมเท่ากันตลอด
๒๑. ทรงมีเส้นปราสาท สำหรับรับรสพระกระยาหารได้ดี
๒๒. ทรงมีพระหนุ ดุจคางราชสีห์
๒๓. ทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ( บนและล่างอย่างละ ๒๐ ซี่ )
๒๔. ทรงมีพระทนต์เรียบเสมอกัน
๒๕. ทรงมีพระทนต์ไม่ห่าง
๒๖. ทรงมีพระทาฐะ ( เขี้ยวแก้ว ) อันขาวงาม
๒๗. ทรงมีพระชิวหา กว้างใหญ่ยาว ปกพระนลาฎมิด
๒๘. ทรงมีพระสุรเสียง ดุจเสียงพรหม ตรัสสำเนียงดุจเสียงของ นกการะเวก
๒๙. ทรงมีพระเนตร ดำสนิท
๓๐. ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใส ดุจตาลูกโค
๓๑. ทรงมีพระอุณาโลม ขาวละเอียดอ่อน ดังสำลี เกิดระหว่าง พระขนง และเวียนไปทางขวา
๓๒. ทรงมีพระเศียร เต็มบริบูรณ์เหมือนรูปไข่ ขอบพระกรรณซ้าย เสมอกับขวา ปลายพระกรรณทั้ง ๒ ยาวลงมาเสมอริมฝีพระโอษฐ์เบื้องบนพอดี
๓๒๕) กุศลสมภาร “ กุศลอันใหญ่ยิ่ง
๓๒๖) อลังการธรรมมณฑล “ การประดับตกแต่งแดนธรรม,บำเพ็ญเพียรในธรรม
๓๒๗) มณเฑียร “ เรือนหลวง, การปกครองในพระราชฐาน(เมืองสวรรค์)
๓๒๘) ธรรมปณิธิ “ การตั้งความปรารถนาแห่งธรรม
๓๒๙) ภคินี “ พี่หญิง, น้องหญิง
๓๓๐) อนันตาประทีป “ ไฟที่มีเปลวสว่างไม่สิ้นสุด, โคมหรือตะเกียงที่ส่องแสงสว่างไร้ขอบเขต
๓๓๑) อประไมย “ นับไม่ได้, ไม่จำกัด, มากมาย
๓๓๒) มหิทธานุภาพ “ อานุภาพอันยิ่งใหญ่, อำนาจอันยิ่งใหญ่,ฤทธิ์เดชอันยิ่งใหญ่
๓๓๓) มหาทานสันนิบาต “ การประชุมทานอันยิ่งใหญ่, การให้ที่ยิ่งใหญ่,ที่ประชุมทานอันยิ่งใหญ่
๓๓๔) ธรรมทานสันนิบาต “ การประชุมทานแห่งธรรม, การให้ธรรมเป็นทาน
๓๓๕) มัจฉริยะ “ ความตระหนี่
๓๓๖) อนิมิตตธรรม “ ธรรมอันปราศจากเค้ามูล ,เครื่องหมาย,เหตุ, ลาง
๓๓๗) มหาทานบดี “ เจ้าแห่งทานที่ยิ่งใหญ่
๓๓๘) สร้อยสังวาล “ สร้อยเครื่องประดับชนิดหนึ่งใช้คล้องเฉวียงบ่า
๓๓๙) กหาปณะ “ เงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๑ ตำลึง คือ ๔ บาท
๓๔๐) พระอปราชิตถาคตเจ้า “ ชื่อของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในพุทธเกษตรชื่อรัศมีประภาพุทธเกษตร
๓๔๑) รัศมีประภาพุทธเกษตร “ ชื่อพุทธเกษตรหนึ่ง
๓๔๒) พุทธบรรหาร “ คำตรัสสั่งของพระพุทธเจ้า
๓๔๓) อุดมบุรุษ “ ชายผู้บริบูรณ์หรือชายผู้เป็นเลิศ, สูงสุด, ยิ่ง, มากมาย
๓๔๔) ปุจฉาวิสัชนา “ ถาม-ตอบ
๓๔๕) ยถาภูตสัตยธรรม “ ธรรมอันเป็นไปตามความจริง, ที่เกิดขึ้น
๓๔๖) ระหัสยครรภ์ “ คลังแห่งสัญลักษณ์, ห้องหรือท้องแห่งความลับ
๓๔๗) อภิญญากรีฑา “ การเล่นอภิญญา, การประลองอภิญญา, การช่วงใช้อภิญญา
๓๔๘) ธรรมมหาสันนิบาต “ การประชุมอันยิ่งใหญ่แห่งธรรม
๓๔๙) มนสิการ “ การกำหนดไว้ในใจ
๓๕๐) สมานฉันท์ “ ความพอใจร่วมกัน, ความเห็นพ้องกัน
๓๕๑) ทวยเทพนิกร “ หมู่ทวยเทพ, เหล่าทวยเทพ
๓๕๒) ยาตรา “ เดิน, เดินเป็นกระบวน
หมายเหตุ : ธรรมวิถีที่พระพุทธเจ้า ปวงพระโพธิสัตว์ และเฉพาะผู้ได้รับการสืบทอดให้เป็นธรรมทายาทดำรงอายุพระศาสนาตลอดทุกยุคสมัยล้วนบำเพ็ญวิถีกวนอิม อันเป็นธรรมวิธีเร้นลับแต่โบราณ ถึงแม้ว่าธรรมวิถีนี้จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยก็ตาม แต่แก่นแท้ที่ใช้การถ่ายทอดธรรมมาจากจิตสู่จิต(ไม่เกี่ยวกับตำรา)หรือเรียกการประทับจิตซึ่งต้องได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากอาจารย์ระดับสูงเท่านั้น ศาสดาของ ๕ ศาสนาหลักของโลกล้วนบำเพ็ญวิธีนี้เพื่อบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณหรือพระเจ้าภายในหรือธรรมชาติแห่งพุทธะหรือเต๋า ฯลฯ บางครั้งเรียก”การรู้แจ้งแบบฉับพลัน” ท่านวิมลเกียรติเป็นฆารวาสผู้หนึ่งที่บำเพ็ญธรรมวิถีนี้ เช่นเดียวกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์และปวงพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธ สำหรับศาสนาพุทธ ภายหลังจากพระพุทธองค์ทรงมอบธรรมวิถีอันเป็นหัวใจของพระศาสนาอันนี้ให้กับพระมหากัสสปะแล้ว ก็มีการถ่ายทอดตามลำดับเรื่อยลงมาดังนี้ อานนท์ สันวส อุปคุปต ธริตก มิฉก สุมิตร พุทธนันทิ พุทธมิตร ปาสว ปุนยยสัส อัสวโฆส กปิมล นคารชุน คนเทว ราหุลต สังฆนันทิ สังฆยสัส กุมารต ขยต วสุพันธุ มนูร อักเลนยสัส สินห วสิอสิต ปุนยมิตร ปรัชญาตาระ โพธิธรม(พระสังฆนายกที่ ๑ ของประเทศจีนหรือตั๊กม้อ) เว่ยโห ซังซาน ตูชุน ฉวางยาน เว่ยหล่าง(ฮุ่ยหนิง).......ปัจจุบันมีธรรมาจารย์ไม่กี่ท่านที่รู้จักธรรมวิถีที่เกือบสาบสูญนี้ ท่านอนุตราจารย์ชิงไห่ก็เป็นท่านหนึ่งที่นำธรรมวิถีโบราณนี้กลับมาอีกครั้ง ท่านจะถ่ายทอดให้สำหรับผู้ที่มีความจริงใจในการแสวงหาสัจธรรมและปรารถนาหลุดพ้นในชาติเดียว ท่านจึงเรียกธรรมวิถีวิเศษพิศดารคัมภีรภาพนี้ว่า “ธรรมวิถีรู้แจ้งฉับพลัน ชาติเดียวหลุดพ้น” ก็หมายถึงธรรมวิธีกวนอิมนี้เอง(เรียกชื่อตามกวนอิมโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญจนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยธรรมวิถีนี้)....สำหรับท่านสนใจปฏิบัติธรรมวิถีกวนอิมสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
สมาคมนานาชาติอนุตราจารย์ชิงไห่
ศูนย์กรุงเทพ
537/191-192 ซอยสาธุประดิษฐ์ 37 ถนนสาธุประดิษฐ์
แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
โทรศัพท์ 02-682-0015 โทรสาร 02-682-0014
รถเมล์ที่ผ่านหน้าซอย สาย 35, 62, สองแถวแดง สาย 1279 (วัดดอกไม้)
15 ตุลาคม 2553 14:15 น.
คีตากะ
ครั้งหนึ่งเมื่อพระสังฆปริณายกองค์นี้ได้มาที่วัดเปาลัม ข้าหลวงไว่ แห่งเมืองชิวเจา กับข้าราชการอีกหลายคน ได้พากันไปที่วัดนั้นเพื่อขอให้ท่านกล่าวธรรมกถาแก่ประชาชนทั่วไป ณ ห้องโถง แห่งวิหารไทฟัน ในนครกวางตุ้ง
ในไม่ช้า มีผู้มาประชุมฟัง ณ โรงธรรมสภานั้น คือข้าหลวงไว่ แห่งชิวเจา, พวกข้าราชการและนักศึกษาฝ่ายขงจื้อ อย่างละประมาณ ๓๐ คน, ภิกษุ ภิกษุณี นักพรตแห่งลิทธิเต๋า และคฤหัสถ์ทั่วไป รวมเบ็ดเสร็จประมาณหนึ่งพันคน
ครั้นพระสังฆปริณายก ได้ขึ้นนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้ทำความเคารพ และอาราธนาขอให้ท่านแสดงธรรมว่าด้วยหลักสำคัญแห่งพุทธศาสนา ในอันดับนั้น ท่านสาธุคุณองค์นั้น ได้เริ่มแสดงมีข้อความดังต่อไปนี้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) ของเรา ซึ่งเป็นเมล็ดพืชหรือแก่นของการตรัสรู้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ (Pure by nature), และต้องอาศัย จิตเดิมแท้ นี้เท่านั้นมนุษย์เราจึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ อาตมาจะเล่าให้ฟังถึงประวัติของอาตมาเองบางตอน และเล่าถึงข้อที่ว่า อาตมาได้รับคำสอนอันเร้นลับ แห่งนิกายธยานะ (คือนิกายเซ็น) มาด้วยอาการอย่างไร
บิดาของอาตมาเป็นชาวเมืองฟันยาง ถูกถอดจากตำแหน่งราชการ ถูกเนรเทศไปอยู่อย่างราษฎรสามัญที่ซุนเจาในมณฑลกวางตุ้ง อาตมาโชคร้าย โดยที่บิดาได้ถึงแก่กรรมเสียแต่ในขณะที่อาตมายังเล็กเหลือเกินและละทิ้งมารดาไว้ในสภาพที่ยากจนทนทุกข์ เราสองคนจึงย้ายไปอยู่ทางกวางเจา (แคนตอน) และอยู่ที่นั่นด้วยความทุกข์ยากเรื่อยมา
วันหนึ่งอาตมากำลังนฟืนไปขายอยู่ที่ตลาดเพราะเจ้าจำนำคนหนึ่งเขาสั่งให้นำไปขายให้เขาถึงร้าน เมื่อส่งของและรับเงินเสร็จแล้ว อาตมาก็ออกจากร้าน ได้พบชายคนหนึ่ง กำลังบริกรรมสูตรๆ หนึ่งอยู่แถวหน้าร้านนั้นเอง พอได้ยินข้อความแห่งสูตรนั้นเท่านั้น ใจของอาตมาก็ลุกโพลงสว่างไสวในพุทธธรรม อาตมาจึงถามชื่อคัมภีร์ที่เขากำลังสวดอยู่ ก็ได้ความจากชายคนนั้นเองว่า สูตรนั้นชื่อ วัชรสูตร (สูตรอันกล่าวด้วยเพชรสำหรับตัดมายา) อาตมาจึงไล่เลียงต่อไปว่า เขามาจากไหน ทำไมเขาจึงจำเพาะมาท่องบ่นแต่สูตรนี้ ชายคนนั้นตอบว่าเขามาจากวัดตุงซั่น ตำบลวองมุย เมืองคีเจา เจ้าอาวาสในขณะนี้มีนามว่าหวางยั่น (ฮ่งยิ้ม) เป็นพระสังฆปริณายก (แห่งนิกายเซ็น) องค์ที่ห้า มีศิษย์รับการสั่งสอนอยู่ประมาณพันคน เมื่อเขาไปไหว้พระสังฆปริณายกที่วัดนั้น เขาได้ฟังเทศน์หลายครั้งเกี่ยวกับสูตรๆ นี้ เขาเล่าต่อไปว่า ท่านสาธุคุณองค์นั้นเคยรบเร้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตอยู่เสมอ ให้พากันบริกรรมสูตรๆ นี้ เผื่อว่าเมื่อเขาพากันบริกรรมอยู่เขาจะสามารถเห็น จิตเดิมแท้ ของตนเอง และจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ เพราะเหตุนั้น
คงเป็นด้วยกุศลที่อาตมาได้ทำไว้แต่ชาติก่อนๆ จึงเป็นเหตุให้อาตมาได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้ และอาตมายังได้รับเงินอีก ๑๐ ตำลึงจากชายอารีคนหนึ่งให้มาเพื่อมอบให้มารดาไว้ใช้สอย ในระหว่างที่อาตมาไม่อยู่, ทั้งเขาเองเป็นผู้แนะนำให้อาตมารีบไปยังตำบลวองมุยเพื่อพบพระสังฆปริณายกองค์นั้น เมื่อได้จัดแจงให้มีคนช่วยดูแลมารดาเสร็จแล้วอาตมาก็ได้ออกเดินทางไปยังวองมุย และถึงที่นั้นได้ในชั่วเวลาไม่ถึงสามสิบวัน
ครั้นถึงตำบลวองมุยแล้ว อาตมาได้ไปนมัสการพระสังฆปริณายก ท่านถามว่ามาจากไหน และต้องประสงค์อะไร อาตมาได้ตอบว่า “กระผมเป็นคนพื้นเมืองซุนเจา แห่งมณฑลกวางตุ้ง เดินทางมาแสนไกลเพื่อทำสักการะเคารพแด่คุณพ่อ และกระผมไม่ต้องการอะไร นอกจากธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ (Buddha-nature) อย่างเดียวเท่านั้น”
ท่านถามอาตมาว่า “เป็นชาวกวางตุ้งหรือ? เป็นคนป่าคนเยิงแล้วเธอจะหวังเป็นพุทธะได้อย่างไรกัน?”
อาตมาเรียนตอบท่านว่า “แม้ว่าจะมีคนชาวเหนือและคนชาวใต้ก็จริง แต่ทิศเหนือหรือทิศใต้นั้น หาได้ทำให้ความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่ในคนนั้นๆ แตกต่างกันได้ไม่ คนป่าคนเยิงจะแตกต่างจากคุณพ่อก็แต่ในทางร่างกายเท่านั้น, แต่ไม่มีความผิดแปลกแตกต่างกัน ในส่วนธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของเราทั้งหลาย” พระสังฆปริณายกทำท่าจะกล่าวกะอาตมาต่อไปอีก แต่เผอิญมีศิษย์ของท่านเข้ามาหลายคน ท่านจึงหยุดชะงัก และเลยสั่งให้อาตมาไปสมทบทำงานกับคนงานหมู่หนึ่ง
อาตมากล่าวขึ้นว่า “กระผมขอกราบเรียนคุณพ่อว่า วิปัสสนาปัญญา เกิดขึ้นในใจของกระผมเสมอๆ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้มีจิตเลื่อนลอยไปจาก จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) ของตนแล้ว ก็ควรจะเรียกเขาผู้นั้นว่า “ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก” เหมือนกัน กระผมจึงไม่ทราบว่างานอะไร ที่คุณพ่อจะให้กระผมทำ?”
พระสังฆปริณายกได้มีบัญชาว่า “เจ้าคนป่านี้เฉลียวฉลาดเกินตัวไปเสียแล้ว จงไปที่โรงนั่น แล้วอย่าพูดอะไรอีกเลย” อาตมาจึงถอยหลีกไปทางลานข้างหลัง มีคนวัดที่ไม่ใช่บรรพชิตคนหนึ่งมาบอกให้ผ่าฟืน และตำข้าว
ต่อมาไม่น้อยกว่าแปดเดือน วันหนึ่งพระสังฆปริณายกได้พบอาตมาและท่านได้กล่าวว่า “ ฉันทราบดีว่า ความรู้ในพุทธธรรมของเธอนั้นมั่นคงดีมาก แต่ฉันต้องคอยหลีกไม่พูดกับเธอ มิฉะนั้นจะมีคนทุศีล บางคนทำอันตรายเธอ, เธอเข้าใจไหม?” อาตมาตอบว่า “ขอรับคุณพ่อกระผมเข้าใจ เพื่อไม่ให้ใครสังเกตเห็นกระผมในข้อนี้กระผมก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้ๆ ห้องของคุณพ่อ”
อยู่มาวันหนึ่ง พระสังฆปริณายกเรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหมดแล้วประกาศว่า “ปัญหาแห่งการเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ วันแล้ววันเล่า แทนที่จะพยายามเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากทะเลแห่งการเกิดตายอันขื่นขม ดูเหมือนว่าพวกเธอกลับหมกมุ่นอยู่แต่ในบุญกุศลชนิดที่ถูกตัณหาลูบคลำเสียแล้วอย่างเดียวเท่านั้น (กล่าวคือบุญกุศลที่เป็นเหตุให้เกิดใหม่) ถ้าจิตเดิมแท้ ของพวกเธอยังมืดมัวอยู่ บุญกุศลทั้งหลายก็ยังจะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย จงตั้งหน้าค้นหาปรัชญา (ปัญญา) ในใจของเธอเองแล้วเขียนโศลก (คาถา) มาให้เราโศลกหนึ่ง ว่าด้วยเรื่อง จิตเดิมแท้ ผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า จิตเดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ (อันเป็นคำเครื่องหมายตำแหน่งพระสังฆปริณายก) พร้อมทั้งธรรมะ (อันเป็นคำสอนเร้นลับของนิกายธยานะ) และฉันจะสถาปนาผู้นั้นเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก (แห่งนิกายนี้) จงไปโดยเร็วอย่ารีรอในการเขียนโศลก การมัวตรึกตรองไม่จำเป็น, และไม่มีประโยชน์อะไร ผู้ที่รู้แจ้งชัดในจิตเดิมแท้จะพูดได้ทันทีที่มีใครมาชวนพูดด้วยเรื่องนั้น และมันจะไม่ละไปจากคลองแห่งญาณจักษุของเขา แม้ว่าเขาจะกำลังพุ่งชุลมุนอยู่กลางสนามรบก็ตามที”
เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น ศิษย์อื่นๆ (เว้นแต่ชินเชาหัวหน้าศิษย์) พากันถอยออกไปและกล่าวแก่กันและกันว่า “ไม่มีประโยชน์อะไร สำหรับคนชั้นพวกเราๆ ที่จะไปตั้งสมาธิเพ่งจิตเขียนโศลก ถวายคุณพ่อ เพราะว่าตำแหน่งสังฆปริณายกนั้น ใครๆ ก็เห็นว่าจะไม่พ้นมือท่านชินเชา ผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ไปได้ เมื่อเราเขียนใช้ไม่ได้ มันก็เป็นการลงแรงเสียเปล่าๆ “ เมื่อได้ปรับทุกข์กันดังนี้แล้ว ศิษย์เหล่านั้นทุกคนได้พากันเลิกล้มความตั้งใจในการเขียนและว่าแก่กันว่า “เราจะไปทำให้มันเหนื่อยทำไม? ต่อไปนี้ เราคอยติดตามหัวหน้าของเรา คือชินเชาเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ว่าเขาจะไปข้างไหน เราจะตามเขาในฐานะเป็นผู้นำ”
ในขณะเดียวกันนั้น ชินเชา ผู้เป็นเชฏฐอันเตวาสิก ก็หยั่งทราบความเรื่องนี้ได้ด้วยตนเอง, รำพึงว่า “เมื่อพิจารณาดูถึงข้อที่ว่าเราเป็นครูสั่งสอนเขาอยู่ คงไม่มีใครเข้ามาเป็นคู่แข่งขัน ในการเขียนโศลกกับเรา แต่เรายังฉงนอยู่ว่า เราจะเขียนโศลกถวายพระสังฆปริณายกดีหรือไม่ ถ้าเราไม่เขียน พระสังฆปริณายกจะทราบได้อย่างไรว่า ความรู้ของเราลึกซึ้งหรือผิวเผินเพียงไหน ถ้าวัตถุประสงค์ในการเขียนของเราในครั้งนี้ ได้แก่ความหวังจะได้รับธรรมะจากพระสังฆปริณายก ก็แปลว่าเจตนาของเราบริสุทธิ์ แต่ถ้าเราเขียนเพราะอยากได้ตำแหน่งสังฆปริณายก นั่นแปลว่ามันเป็นความมีเจตนาชั่วในกรณีดังกล่าว จิตของเราก็เป็นจิตที่ข้องอยู่ในโลก และการกระทำของเราก็คือ การปล้นยื้อแย่งบัลลังก์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระสังฆปริณายก แต่ถ้าเราจะไม่เขียนโศลกยื่นท่าน เราก็ไม่มีโอกาสจะได้รับทราบธรรมะนั้น มันช่างยากที่จะตัดสินใจเสียจริงๆ”
ที่หน้าหอสำนักของพระสังฆปริณายกนั้น มีช่องทางเดินตลอดสามช่วง, ที่ผนังของช่องเหล่านี้ โลชุน จิตรกรเอกแห่งราชสำนักได้เขียนภาพต่างๆ จาก “ลังกาวตารสูตร” แสดงถึงการกลับกลายร่างของผู้ที่เข้าประชุม และเขียนภาพอันแสดงถึงชาติวงศ์ ของพระสังฆปริณายกทั้งห้าองค์ เพื่อเป็นความรู้ของประชาชน และให้ประชาชนได้ทำสักการบูชา
เมื่อชินเชาแต่งโศลกเสร็จแล้ว ได้พยายามที่จะส่งต่อพระสังฆปริณายกตั้งหลายหน แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้จะถึงหอสำนักของพระสังฆปริณายกทีไร หัวใจเต้นเหงื่อกาฬแตกท่วมตัวทุกที เขาไม่สามารถที่จะแข็งใจเข้าไปส่งได้สำเร็จ ชั่วเวลาเพียง ๔ วัน เขาพายามถึง ๑๓ ครั้ง ในที่สุดเขาก็ตกลงใตว่า “เราจะเขียนมันไว้ที่ฝาผนังช่องทางเดินให้พระสังฆปริณายกท่านเห็นเองดีกว่า ถ้าถูกใจท่าน เราจึงค่อยออกมานมัสการท่าน และเรียนท่านว่าเราเป็นผู้เขียน, ถ้าท่านเห็นว่ามันผิดใช้ไม่ได้ ก็แปลว่าเราได้เสียเวลาไปหลายปีในการมาอยู่บนภูเขานี้ และทำให้ชาวบ้านหลงเคารพกราบไหว้เสียเป็นนาน โดยไม่คู่ควรกันเลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่าเราไม่ได้ก้าวหน้าในการศึกษาพระธรรมเลยแม้แต่น้อย มิใช่หรือ?”
ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนในวันนั้น ชินเชาถือตะเกียงลอบไปเขียนโศลกที่เขาแต่งขึ้นไว้ ที่ผนังช่องทางเดินทางทิศใต้ โดยหวังอยู่ว่าพระสังฆปริณายกจะได้เห็นและหยั่งทราบถึงวิปัสสนาญาณที่เขาได้บรรลุโศลกนั้นมีว่า :
“กายของเราคือต้นโพธิ์
ใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ”
พอเขียนเสร็จ เขาก็รีบกลับไปห้องของเขาทันที โดยไม่มีใครทราบการกระทำของเขา ครั้นไปถึงแล้วเขาวิตกต่อไปว่า “พรุ่งนี้ถ้าพระสังฆปริณายกเห็นโศลกของเรา และพอใจ ก็แปลว่าเราพร้อมที่จะได้รับธรรมะอันลึกซึ้งของท่าน แต่ถ้าท่านติว่าใช้ไม่ได้ มันก็แปลว่าเรายังไม่สมควรที่จะได้รับธรรมะอันนั้น เนื่องจากความชั่วที่เราทำไว้แต่ชาติก่อนๆ มาหุ้มห่อใจเราอย่างหนาแน่น มันเป็นการยากเย็นเหลือเกินในการที่จะทายว่า พระสังฆปริณายกจะมีความรู้สึกอย่างไรในโศลกอันนั้น” เขาได้คิดทบทวนอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งคืนยังรุ่ง นั่งก็ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่เป็นสุข
แต่พระสังฆปริณายกได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ชินเชาผู้นี้ยังไม่ได้ก้าวเข้าไปในประตูแห่งการตรัสรู้และเขายังไม่ซึมทราบในจิตเดิมแท้ (Essence of Mind)
พระสังฆปริณายก ได้กล่าวแก่โลชุนช่างเขียนว่า “เสียใจที่ได้รบกวนท่านให้มาถึงนี่ บัดนี้เห็นว่า ผนังเหล่านี้ไม่ต้องเขียนภาพเสียแล้ว เพราะสูตรๆ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ‘สรรพสิ่งที่มีรูป หรือมีความปรากฏกิริยาอาการ ย่อมเป็นอนิจจังและเป็นมายา’ ฉะนั้นควรปล่อยโศลกนั้นไว้บนผนังอย่างนั้นเพื่อให้มหาชนได้ศึกษาและท่องบ่น และถ้าเขาปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อความที่สอนไว้นั้น เขาก็จะพ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ อานิสงส์ที่ผู้ปฏิบัติตามจะพึงได้รับนั้นมีมากนัก”
ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว พระสังฆปริณายกได้สั่งให้นำเอาธูปเทียนมาจุดบูชาที่ตรงหน้าโศลกนั้น และสั่งให้ศิษย์ของท่านทุกคนทำความเคารพ แล้วจำเอาไปท่องบ่น เพื่อให้เขาสามารถพิจารณาเห็นจิตเดิมแท้ เมื่อศิษย์เหล่านั้นท่องได้แล้ว ทุกคนพากันออกอุทานว่า “สาธุ !”
ครั้นเวลาเที่ยงคืน พระสังฆปริณายกได้ให้คนไปตามตัวชินเชามาที่หอ แล้วถามว่าเขาเป็นผู้เขียนโศลกนั้นใช่หรือไม่ ชินเชาได้ตอบว่า “ใช่ขอรับ กระผมมิได้เห่อเหิมเพื่อตำแหน่งสังฆปริณายก, เพียงแต่หวังว่าคุณพ่อจะกรุณาบอกให้ทราบว่า โศลกนั้นแสดงว่ามีแววแห่งปัญญาอยู่ในนั้นบ้างสักเล็กน้อย หรือหาไม่”
พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า “โศลกของเจ้าแสดงว่าเจ้ายังไม่ได้รู้แจ้ง จิตเดิมแท้ เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้วเป็นนาน แต่เจ้ายังไม่ได้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป การแสวงหาความตรัสรู้อันสูงสุดด้วยความเข้าใจอย่างของเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ยากที่จะสำเร็จได้”
“การที่ใครจะบรรลุอนุตตรสัมโพธิได้นั้น ผู้นั้นจะต้องสามารถรู้แจ้งด้วยใจเอง ในธรรมชาติแท้ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้ ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้นทุกๆ สิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขังกล่าวคือจะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป ตถตา (คือความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้, ซึ่งเป็นชื่อของจิตเดิมแท้อีกชื่อหนึ่ง) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไร ใจของผู้นั้น ก็จะยังคงอยู่ในสภาพแห่ง “ความเป็นเช่นนั้น” สถานะเช่นนี้ ที่จิตได้ลุถึงนั่นแหละคือตัวสัจธรรมแท้ ถ้าเจ้าสามารถเห็นสิ่งทั้งปวง โดยลักษณะการเช่นนี้ เจ้าจะได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด”
“เจ้ากลับไปเสียก่อนดีกว่า ไปคิดมันอีกสักสองวัน แล้วเขียนโศลกอันใหม่มาให้ฉัน ถ้าโศลกของเจ้าแสดงว่า เจ้าข้ามพ้นประตูไปแล้ว ฉันจะมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรม(แห่งนิกายธยานะ)ให้แก่เจ้าสืบทอดไป”
ชินเชา กราบพระสังฆปริณายกแล้วหลีกไป เวลาล่วงเลยมาหลายวัน เขาก็ยังจนปัญญา ในการที่จะเขียนโศลกอันใหม่ มันทำให้ใจของเขาหกหัวกลับ ไม่รู้บนล่างเหมือนคนถูกผีอำ เป็นไข้ทั้งที่ตัวเย็นชืดเหมือนกับคนที่กำลังฝันร้ายจะนั่งหรือเดินอย่างไร ก็ไม่พบอิริยาบถที่ผาสุก
เวลาล่วงมาอีกสองวัน บังเอิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาทางห้องที่อาตมาตำข้าวอยู่ เด็กคนนั้น ได้เดินท่องโศลกของชินเชาที่จำมาจากฝาผนัง อย่างดังๆ พอได้ยินโศลกนั้น อาตมาก็ทราบได้ทันทีว่าผู้แต่งโศลกนั้นยังไม่ใช่ผู้เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้ แม้ว่าในเวลานั้นอาตมายังมิได้รับคำอธิบายอะไรเกี่ยวกับข้อความในโศลกนั้น อาตมาก็ยังเข้าใจในความหมายทั่วๆ ไปของมันได้เป็นอย่างดีอยู่เองแล้ว
อาตมาถามเด็กนั้นว่า “โศลกอะไรกันนี่?” เด็กเขาตอบว่า “ท่านคนป่าคนเยิง, ท่านไม่ทราบเรื่องโศลกนี้ดอกหรือ? พระสังฆปริณายกได้ประกาศแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า ปัญหาเรื่องการเกิดใหม่ไม่รู้สิ้นสุดนั้นเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของคนทั้งหลาย, และว่าผู้ใดปรารถนาจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์และธรรมะ (แห่งนิกายเซ็น) จะต้องเขียนโศลกให้ท่านโศลกหนึ่ง, และว่าผู้ที่รู้แจ้งจิตเดิมแท้ จะได้รับมอบของเหล่านั้นและจะถูกแต่งตั้งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านชินเชาศิษย์ผู้อาวุโสได้เขียนโศลกเรื่อง “ไม่มีรูป” โศลกนี้ไว้ที่ผนังทางเดินด้านทิศใต้ และพระสังฆปริณายกสั่งให้พวกเราท่องบ่นโศลกอันนี้ไว้ และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า ผู้ใดเก็บเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก จะพ้นจากทุกข์แห่งการเกิดในอบายภูมิ”
อาตมาได้บอกแก่เด็กหนุ่มคนนั้นว่าอาตมาก็ปรารถนาที่จะท่องบ่นโศลกนั้นเหมือนกัน เผื่อว่าในภพเบื้องหน้า จะได้พบคำสอนเช่นนั้นอีก อาตมาได้บอกเขาด้วยว่า แม้อาตมาจะได้ตำข้าวอยู่ที่นี่ตั้งแปดเดือนมาแล้ว ก็ไม่เคยเดินผ่านไปแถวช่องทางเดินเหล่านั้นเลย เขาจะต้องนำอาตมาไปถึงที่ที่โศลกนั้นเขียนไว้บนผนัง เพื่อให้อาตมาได้มีโอกาสทำการบูชาโศลกนั้น ด้วยตนเอง
เด็กหนุ่มนั้นนำอาตมาไปยังที่นั่นอาตมาขอร้องให้เขาช่วยอ่านให้ฟัง เพราะอาตมาไม่รู้หนังสือ เจ้าหน้าที่เสมียนพนักงานแห่งตำบลกองเจาคนหนึ่ง ชื่อ จางตัตยุง เผอิญมาอยู่ที่นั้นด้วย ได้ช่วยอ่านให้ฟัง เมื่อเขาอ่านจบ อาตมาได้บอกแก่เขาว่า อาตมาก็ได้แต่งโศลกไว้โศลกหนึ่งเหมือนกัน และขอให้เขาช่วยเขียนให้อาตมาด้วย เขาออกอุทานว่า “พิลึกกึกกือเหลือเกิน ที่ท่านก็มาแต่งโศลกกับเขาได้ด้วย”
อาตมาได้ตอบว่า “ถ้าท่านเป็นผู้ที่เสาะแสวงหาการบรรลุธรรมอันสูงสุดคนหนึ่งกะเขาด้วยละก็, ท่านอย่าดูถูกคนเพิ่งเริ่มต้น ท่านควรจะรู้ไว้ว่าคนที่ถูกจัดเป็นคนชั้นต่ำก็อาจมีปฏิภาณสูงได้เหมือนกันและคนชั้นสูง ก็ปรากฏว่ายังขาดสติปัญญาอยู่บ่อยๆ ถ้าท่านดูถูกคนก็ชื่อว่า ท่านทำบาปหนัก”
เขากล่าวว่า “ไหนเล่า จงบอกโศลกของท่านมาซี ฉันจะช่วยเขียนให้ท่าน แต่อย่าลืมช่วยฉันนะ ขอให้ท่านลุความสำเร็จในธรรมของท่านเถิด” โศลกของอาตมามีว่า :
“ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร?”
เมื่อเขาเขียนโศลกนี้ลงที่ผนังแล้ว ทั้งพวกศิษย์และคนนอกทุกคน ที่อยู่ที่นั่นต่างพากันประหลาดใจอย่างยิ่ง จิตใจเต็มตื้นไปด้วยความชื่นชม เขาพากันกล่าวแก่กันและกันว่า “น่าประหลาดเหลือเกิน ไม่ต้องสงสัยเลย เราไม่ควรตัดสินใครว่าเป็นอย่างไร ด้วยการเอารูปร่างภายนอกเป็นประมาณ มันเป็นไปได้อย่างไรกันหนอ ที่เราพากันใช้สอยโพธิสัตว์ผู้อวตาร ให้ทำงานหนักให้แก่เรา มานานถึงเพียงนี้?”
พระสังฆปริณายกเห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้นไปด้วยความอัศจรรย์ใจ ท่านจึงเอารองเท้าลบโศลก อันที่เป็นของอาตมาออกเสีย ถ้าไม่ทำดังนั้น พวกคนที่มักริษยาจะพากันทำร้ายอาตมา พระสังฆปริณายก แสดงความรู้สึกบางอย่างออกมา ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นพอใจที่จะคิดว่า แม้ผู้ที่เขียนโศลกอันนี้ ก็ยังไม่ใช่เป็นผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้เหมือนกัน!
วันรุ่งขึ้น พระสังฆปริณายกได้ลอบมาที่โรงตำข้าวอย่างเงียบๆ ครั้นเห็นอาตมาตำข้าวอยู่ด้วยสากหิน ท่านกล่าวแก่อาตมาว่า “ผู้ค้นหาหนทางต้องยอมเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อธรรมะ เขาควรทำเช่นนั้นมิใช่หรือ?” แล้วท่านถามอาตมาต่อไปว่า “ข้าวได้ที่แล้วหรือ?” อาตมาตอบท่านว่า “ได้ที่นานแล้ว ยังรอคอยอยู่ก็แต่ตะแกรงสำหรับร่อนเท่านั้น” ท่านเคาะครกตำข้าวด้วยไม้เท้า ๓ ครั้ง แล้วก็ออกเดินไป
อาตมาทราบดีว่า การบอกใบ้เช่นนั้น หมายความว่ากระไร ดังนั้นในเวลาสามยามแห่งคืนนั้น อาตมาจึงไปที่ห้องท่าน ท่านใช้จีวรขึ้นขึงบังมิให้ใครเห็นเราทั้งสอง แล้วท่านก็ได้อธิบายข้อความอันลึกซึ้งในวัชรสูตร (กิมกังเก็ง) ให้แก่อาตมา เมื่อท่านได้อธิบายมาถึงข้อความที่ว่า “คนเราควรจะใช้จิตของตน ในวิถีทางที่มันจะเป็นอิสระได้จากเครื่องข้องทั้งหลาย” ทันใดนั้น อาตมาก็ได้บรรลุการตรัสรู้ธรรมโดยสมบูรณ์และได้เห็นแจ้งชัดว่า “ที่แท้ทุกๆ สิ่งในสากลโลกนี้ก็คือตัว จิตเดิมแท้นั่นเอง มิใช่อื่นไกล”
อาตมาได้ร้องขึ้นในที่เฉพาะหน้าพระสังฆปริณายก ในที่นั้นว่า “แหม! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้นเป็นของบริสุทธิ์ อย่างบริสุทธิ์แท้จริง! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แท้จริง! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความปลี่ยนแปลง อ่างนอกเหนือแท้จริง! ใครจะไปคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากตัว จิตเดิมแท้!”
เมื่อพระสังฆปริณายก สังเกตเห็นว่า อาตมาได้เห็นแจ้งแล้วในจิตเดิมแท้ ท่านได้กล่าวว่า “สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักจิตใจของตัวเองว่าคืออะไร ก็ป่วยการที่ผู้นั้นจะศึกษาพุทธศาสนา ตรงกันข้าม, ถ้าผู้ใดรู้จักจิตใจของตนเองว่าเป็นอะไร และเห็นด้วยปัญญาอย่างซึมซาบว่าธรรมชาติแท้ของตนคืออะไรด้วยแล้ว ผู้นั้นคือวีรมนุษย์ (นายโรงโลก) คือ ครูของเทวดาและมนุษย์ คือพุทธะ”
ดังนั้น, ในฐานะที่ความรู้ย่อมไม่เป็นของบุคคลใดแต่ผู้เดียว ธรรมะอันนั้นจึงถูกมอบตกทอดมายังอาตมาในเที่ยงคืนวันนั้นเอง, ผลก็คืออาตมาเป็นทายาทผู้ได้รับมอบทอดช่วงคำสั่งสอนแห่งนิกาย “ฉับพลัน” (Sudden School) พร้อมทั้งจีวรและบาตร (อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งสังฆปริณายกแห่งนิกายนี้สืบลงตั้งแต่สังฆปริณายกองค์แรก)
พระสังฆปริณายกได้กล่าวสืบไปว่า “บัดนี้ ท่านเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านต้องคุ้มครองตัวของท่านให้ดี จงช่วยมนุษย์ให้มากพอที่จะช่วยได้ จงทำการเผยแพร่คำสอน และสืบอายุคำสอนไว้อย่าให้ขาดตอนลงได้” จงจำโศลกโคลงอันนี้ของเราไว้ :
“สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเราหว่านเมล็ดพืชพันธุ์แห่งการตรัสรู้
ลงในเนื้อนาแห่งความเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุผลแล้วจะเก็บเกี่ยวผลถึงพุทธภูมิ
วัตถุมิใช่สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นสิ่งว่างเปล่าจากธรรมชาติแห่งพุทธะ
ย่อมไม่หว่าน และไม่เก็บเกี่ยวเลย”
แล้วท่านได้กล่าวสืบไปว่า “เมื่อพระสังฆปริณายกนามว่าโพธิธรรมได้มาสู่ประเทศจีนนี้เป็นครั้งแรก ชาวจีนส่วนมากไม่ยอมเชื่อในท่าน, ดังนั้น ผ้ากาสาวพัสตร์นี้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมอบต่อๆ กันไป จากพระสังฆปริณายกองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่งในฐานะเป็นเครื่องหมาย สำหรับธรรมะนั้นเล่า ก็มอบทอดช่องกันไปตัวต่อตัวโดยทางใจ (จิตถึงจิต) ไม่เกี่ยวกับคัมภีร์และผู้รับมอบนั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นธรรมะนั้นแล้วอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยความพยายามของตนเองโดยเฉพาะนับตั้งแต่อดีตกาลอันกำหนดนับไม่ได้เป็นต้นมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันสำหรับสำหรับพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ก็จะมอบหัวใจคำสอนของพระองค์ให้แก่ผู้จะสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป, แม้สำหรับพระสังฆปริณายก หัวหน้าแห่งนิกายองค์หนึ่งๆ ก็เหมือนกัน ย่อมจะมอบคำสอนอันเร้นลับแห่งนิกายนั้นโดยตัวต่อตัวให้แก่พระสังฆปริณายกที่รองลำดับลงไปโดยความรู้ทางใจ (ไม่เกี่ยวกับตำรา) แต่สำหรับผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรนี้อาจเป็นต้นเหตุแห่งการยื้อแย่งเถียงสิทธิกันขึ้นก็ได้ ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับมอบในเวลานี้ ท่านควรมอบมันไปเสียแก่ผู้ที่จะรับสืบต่อจากท่านได้ ชีวิตของท่านกำลังล่อแหลมต่ออันตราย จงเดินทางไปเสียจากที่นี่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มิฉะนั้นจะมีคนทำอันตรายท่าน”
อาตมาถามท่านว่า ควรจะไปทางไหน ท่านตอบว่า “จงหยุดที่ตำบลเวย แล้วซ่อนอยู่ผู้เดียวที่ตำบลวุย”
เมื่อได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรในตอนเที่ยงคืนเสร็จแล้ว อาตมาได้กล่าวกะท่านว่า เนื่องจากตัวเป็นชาวใต้ จะรู้จักเดินทางไปตามภูเขาได้อย่างไร และไม่สามารถเดินไป (เพื่อลงเรือ) ที่ปากแม่น้ำได้ ท่านตอบว่า “อย่าร้อนใจ เราจะไปด้วย”
ท่านได้มาเป็นเพื่อนอาตมา จนถึงกิวเกียง, ณ ที่นั้นท่านได้บอกให้อาตมาลงเรือลำหนึ่ง ท่านแจวเรือนั้นด้วยตัวเอง อาตมาจึงขอร้องให้ท่านนั่งลงเสีย และอาตมาจะแจวเอง ท่านตอบว่า “มันเป็นสิทธิฝ่ายเราผู้เดียวเท่านั้นในการที่จะพาท่านข้ามไป (ในที่นี้หมายถึงทะเลแห่งการเกิดตาย ซึ่งคนเราจะต้องข้าม ก่อนแต่จะลุถึงฝั่งคือนิพพาน) “ อาตมาจึงตอบท่านว่า “เมื่อกระผมยังอยู่ภายใต้โมหะ ก็เป็นหน้าที่ที่คุณพ่อจะต้องพากระผมข้ามไป แต่เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นการตรัสรู้แล้ว กระผมก็ควรจะข้ามมันด้วยตนเอง (คำว่า ‘ข้าม’ ทั้งสองแห่งนั้น แม้เขียนเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน) โดยที่กระผมเกิดที่บ้านนอกชายแดน แม้การพูดจาของกระผมยังแปร่งไม่ถูกต้องในการออกเสียงก็ตาม แต่กระผมก็ได้รับเกียรติจากคุณพ่อในการที่ได้รับมอบธรรมะอันนั้นจากคุณพ่อ, ฉะนั้นก็แปลว่ากระผมได้บรรลุธรรมแล้ว มันควรจะเป็นสิทธิของกระผม ในการที่จะพาตัวเองข้ามทะเลแห่งความเกิดตายไปได้ด้วยการที่ตนเห็นแจ้ง จิตเดิมแท้ของตนเองแล้ว”
“ถูกแล้ว ถูกแล้ว,” ท่านรับรอง แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “นับจำเดิมแต่นี้เป็นต้นไป เพราะอาศัยท่านเป็นเหตุ พุทธศาสนา (หมายถึงนิกายธยานะ) จะแผ่กว้างขวางไพศาล, นับตั้งแต่จากกันวันนี้แล้วอีกสามปีเราก็จะลาจากโลกนี้ไป ท่านจงเริ่มต้นการจาริกของท่านตั้งแต่บัดนี้เถิด, จงลงไปทางใต้ให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้ อย่าด่วนทำการเผยแพร่ให้เร็วเกินไป เพราะว่าพุทธธรรมนี้ (หมายถึงนิกายธยานะ) ไม่เป็นของที่เผยแพร่ได้โดยง่ายเลย”
เมื่อได้กล่าวคำอำลาท่านแล้ว อาตมาก็จากท่านเดินทางลงมาทางทิศใต้ เป็นเวลาประมาณสองเดือน อาตมาก็มาถึงภูเขาไต้ยู ณ ที่นี้ อาตมาได้สังเกตเห็นว่ามีคนหลายร้อยคนติดตามรอยอาตมามาด้วยหวังจะยื้อแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตร (เป็นปูชนียวัตถุของพระพุทธเจ้า)
ในจำพวกคนที่ติดตามมานั้นมีภิกษุอยู่ด้วยรูปหนึ่งชื่อไวมิง เมื่อเป็นฆราวาสใช้แซ่สกุลว่า เซ็น และมียศนายทหารเป็นนายพลจัตวา, มีกิริยาหยาบคายโทสะฉุนเฉียว ในบรรดาคนที่ติดตามอาตมามานั้นเขาเป็นคนที่สะกดรอยเก่งที่สุด ครั้นเขามาใกล้จวนจะถึงตัวอาตมา อาตมาก็วางผ้ากาสาวพัสตร์กับบาตรลงบนก้อนหิน ประกาศว่า “ผ้านี้ไม่เป็นอะไรอื่น นอกจากจะเป็นเครื่องหมายเท่านั้น จะมีประโยชน์อะไรในการที่จะยื้อแย่งเอาไปด้วยกำลัง” (แล้วอาตมาก็หลบไปซ่อนเสีย)
ครั้นภิกษุไวมิงมาถึงก้อนหินนั้นเขาพยายามที่จะหยิบมันขึ้น แต่กลับปรากฏว่าเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ แล้วเขาได้ตะโกนว่า “พ่อน้องชาย พ่อน้องชาย, ฉันมาเพื่อหาธรรมะ ไม่ใช่มาเพื่อเอาผ้า,” (พึงทราบว่าเวลานี้ พระสังฆปริณายกองค์ที่หกนี้ยังไม่ได้รับการอุปสมบทจึงถูกเรียกว่า พ่อน้องชาย, เหมือนที่ฆราวาสเขาเรียกกัน)
ต่อจากนั้น อาตมาก็ออกจากที่ซ่อน นั่งลงบนก้อนหินนั้น ภิกษุไวมิงทำความเคารพ แล้วกล่าวว่า “น้องชาย แสดงธรรมแก่ฉันเถิดช่วยที”
อาตมาได้กล่าวกะภิกษุไวมิงว่า “เมื่อความประสงค์แห่งการมาเป็นความประสงค์เพื่อจะฟังธรรมแล้ว ก็จงระงับใจไม่ให้คิดถึงสิ่งใดๆ แล้วทำใจของท่านให้ว่างเปล่า, เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะสอนท่าน” ครั้นเขาทำดังนั้นชั่วเวลาพอสมควรแล้ว อาตมาได้กล่าวว่า “เมื่อท่านทำในใจไม่คิดทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว (รู้จักสิ่งที่ไม่ดีและไม่ชั่ว) แล้วในเวลานั้นเป็นอะไร ท่านที่นับถือ, นั่นคือธรรมชาติแท้ของท่าน (ตามตัวหนังสือ, เรียก หน้าตาดั้งเดิมของท่าน) มิใช่หรือ?”
พอภิกษุไวมิงได้ฟังดังนั้น ท่านก็บรรลุธรรมทันที แต่ท่านได้ถามต่อไปว่า “นอกจากคำสอนและข้อคิดอันเร้นลับ ที่พระสังฆปริณายกท่านมอบต่อๆ กันลงไป หลายชั่วพระสังฆปริณายกมากันแล้วนั้น ยังมีคำสอนเร้นลับอะไรอีกบ้างไหม?” อาตมาตอบว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้านำมาสอนให้ท่านได้นั้น ไม่ใช่ข้อเร้นลับอะไร คือถ้าท่านมองย้อนเข้าข้างใน ท่านจะเห็นสิ่งซึ่งเร้นลับมีอยู่ในตัวท่านแล้ว”
ภิกษุไวมิงได้กล่าวขึ้นว่า “แม้ฉันจะอยู่ที่วองมุยมานมนาน ฉันก็ไม่ได้เห็นแจ้งตัวธรรมชาติแท้ของจิตฉันเลย บัดนี้รู้สึกขอบคุณเหลือเกินในการชี้ทางของท่าน ฉันรู้สิ่งนั้นชัดเจน เหมือนที่คนดื่มน้ำเขารู้แจ้งชัดว่า น้ำที่เขาดื่มนั้นร้อนหรือเย็นอย่างไร พ่อน้องชายเอ๋ย บัดนี้ท่านเป็นครูของฉันแล้ว”
อาตมาตอบว่า “ถ้าเป็นดังนั้นจริงแล้ว ท่านกับข้าพเจ้า ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า ท่านจงคุ้มครองตัวของท่านให้ดีเถิด” เมื่อเขาถามอาตมาว่าต่อจากนี้ไปเขาควรจะไปทางไหน อาตมาก็ตอบแก่เขาว่า ให้เขาหยุดที่ตำบลย็วนแล้วตั้งพำนักอาศัยที่ตำบลม็อง เขาก็ทำความเคารพแล้วจากกันไป”
ต่อมาไม่นาน อาตมาก็ไปถึงตำบลโซกาย, ณ ที่นั้น พวกใจบาปได้ตามจองล้างจองผลาญอาตมาอีก ทำให้อาตมาต้องหลบซ่อนอยู่ที่ซีวุยอันเป็นที่ซึ่งอาตมาได้อาศัยอยู่กับพวกพรานป่าตลอดเวลาถึง ๑๕ ปี ในบางโอกาส อาตมาก็หาทางสั่งสอนเขาตามที่เขาพอจะเข้าใจได้บ้าง เขาเคยใช้อาตมาให้นั่งเฝ้าข่ายดักจับสัตว์ของเขา, เมื่ออาตมาเห็นสัตว์มาติดที่ข่ายนั้น ก็ปลดปล่อยให้รอดชีวิตไป ในเวลาหุงต้มอาหาร อาตมานำผักมาใส่ลงไปในหม้อที่เขากำลังต้มหรือแกงเนื้อ บางคนสงสัยก็ถามอาตมา อาตมาตอบให้ฟังว่า แม้เนื้อนั้นแกงรวมกันอยู่กับผัก อาตมาก็จะคัดเลือกรับประทานแต่ผักอย่างเดียวเท่านั้น
วันหนึ่ง อาตมารำพึงในใจตนเองว่า อาตมาไม่ควรจะเก็บตัวซ่อนอยู่เช่นนี้ตลอดไป มันถึงเวลาแล้ว ที่อาตมาจะทำการประกาศธรรม ดังนั้นอาตมาจึงออกจากที่นั้น และได้ไปสู่อาวาสฟัดฉิ่นในนครกวางตุ้ง
ในขณะนั้น ภิกษุเยนซุง ผู้เป็นธรรมาจารย์มีชื่อองค์หนึ่งกำลังเทศนาว่าด้วยมหาปรินิรวาณสูตร อยู่ในอาวาสนั้น มันเป็นการบังเอิญในวันนั้น เมื่อธงริ้วกำลังถูกลมพัดสะบัดพริ้วๆ อยู่ในสายลม ภิกษุสองรูปเกิดโต้เถียงกันขึ้นว่าสิ่งที่กำลังไหวสั่นระรัวอยู่นั้นได้แก่ลมหรือได้แก่ธงนั้นเล่า, เมื่อไม่มีทางที่จะตกลงกันได้ อาตมาจึงเสนอข้อตัดสินให้แก่ภิกษุสองรูปนั้นว่า ไม่ใช่ลมหรือธงทั้งสองอย่าง ที่แท้จริงที่หวั่นไหวจริงๆ นั้นได้แก่จิตของภิกษุทั้งสองรูปนั้นเองต่างหาก ที่ประชุมที่กำลังประชุมกันอยู่ในที่นั้น พากันตื่นตะลึงในถ้อยคำที่อาตมาได้กล่าวออกไป และภิกษุเยนชุง ได้อาราธนาอาตมาให้ขึ้นนั่งบนอาสนะอันสูง แล้วได้ซักถามปัญหาที่เป็นปมยุ่งต่างๆ ในพระสูตรที่สำคัญๆ หลายสูตร
เมื่อได้เห็นว่า คำตอบของอาตมาชัดเจนแจ่มแจ้งและมั่นคงและเห็นว่าเป็นคำตอบที่มีอะไรสูงยิ่งไปกว่าความรู้ที่จะหาได้จากตำราแล้วภิกษุเยนชุงได้กล่าวแก่อาตมาว่า “น้องชาย, ท่านต้องเป็นบุคคลพิเศษเหนือธรรมดาเป็นแน่ เราได้ฟังข่าวมานานแล้วว่าบุคคลผู้ได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรมะจากพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้านั้น บัดนี้ได้เดินทางลงมาทางทิศใต้แล้ว ท่านต้องเป็นบุคคลผู้นั้น เสียแน่แล้ว”
อาตมา ได้แสดงกิริยายอมรับโดยอ่อนน้อม ทันใดนั้น ภิกษุเยนชุงได้ทำความเคารพ และขอให้อาตมานำผ้าและบาตร ซึ่งได้รับมอบ ออกมาให้ที่ประชุมดูด้วย แล้วได้ถามอาตมาสืบไปว่า เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้ามอบธรรมอันเร้นลับสำหรับสังฆปริณายกให้แก่อาตมานั้น อาตมารับคำสั่งสอนอะไรอย่างใดบ้าง
อาตมาตอบว่า “นอกจากการคุ้ยเขี่ยด้วยเรื่องการเห็นแจ้งชัดในจิตเดิมแท้แล้ว ท่านไม่ได้ให้คำสอนอะไรอีกเลย ท่านไม่ได้เอ่ยถึงแม้เต่เรื่องธยานะ (คือฌาน) และวิมุติ” ภิกษุเยนชุงสงสัย จึงถามอาตมาว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาตมาตอบว่า เพราะว่ามันจะทำให้เกิดความหมายว่า มีหนทางขึ้นถึงสองทาง ก็ทางในพุทธธรรมนี้จะมีถึงสองทางไม่ได้ มันมีแต่ทางเดียวเท่านั้น
ภิกษุเยนชุง ถามอาตมาต่อไปว่าที่ว่ามีแต่ทางเดียวนั้นคืออะไร อาตมาตอบว่า “ก็มหาปรินิรวาณสูตรซึ่งท่านนำออกเทศนาอยู่นั่นเองย่อมชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ (ซึ่งมีอยู่ในคนทุกคน) นั่นแหละคือทางทางเดียว ยกตัวอย่างตอนหนึ่งในสูตรนั้นมีว่า พระเจ้าโกไกวตั่ก ซึ่งเป็นโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า บุคคลที่ล่วงปาราชิกสี่อย่างก็ดี หรือทำอนันตริยกรรมห้าอย่างก็ดี และพวกอัจฉันติกะ (คือมิจฉาทิฏฐินอกศาสนา) ก็ดี ฯลฯ คนเหล่านี้ จะได้ชื่อว่าถอนรากเง่าแห่งความมืด และทำลายธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตนเองเสียแล้ว โดยสิ้นเชิงหรือหาไม่? พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า รากเง่าของความดีนั้น มีอยู่สองชนิดคือ ชนิดที่ถาวรตลอดอนันตกาล กับไม่ถาวร (Eternal, and Non-eternal) เพราะเหตุที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้น จะเป็นของถาวรตลอดอนันตการก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ถาวรก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นรากเง่าแห่งความดีของเขา จึงไม่ถูกถอนขึ้นโดยสิ้นเชิง” ในบัดนี้ก็เป็นที่ปรากฏแล้วว่า พุทธธรรมมิได้มีทางสองทาง ที่ว่าทางฝ่ายดีก็มี ทางฝ่ายชั่วก็มี นั้นจริงอยู่ แต่เพราะเหตุที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้น เป็นของไม่ดี ไม่ชั่ว เพราะฉะนั้น พุทธธรรมจึงเป็นที่ปรากฏว่าไม่มีทางถึงสองทาง ตามความคิดของคนธรรมดาทั่วไปนั้นเข้าใจว่า ส่วนย่อยๆ ของขันธ์และธาตุทั้งหลายนั้น เป็นของที่แบ่งแยกออกได้เป็นสองอย่าง แต่ผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านั้นตามธรรมชาติไม่ได้เป็นของคู่เลย พุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นไม่ใช่เป็นของคู่”
ภิกษุเยนชุงพอใจในคำตอบของอาตมาเป็นอย่างสูง ได้ประนมมือทั้งสองขึ้นเป็นการแสดงความเคารพแล้วท่านได้กล่าวแก่อาตมาว่า “คำอธิบายความในพระสูตรที่ข้าพเจ้าเองอธิบายไปแล้วนั้น ไร้มูลค่าเช่นเดียวกับกองขยะมูลฝอยอันระเกะระกะไปหมด ส่วนคำอธิบายของท่านนั้น เต็มไปด้วยคุณค่าเปรียบเทียบเหมือนทองคำเนื้อบริสุทธิ์” ครั้นแล้วท่านได้จัดการให้อาตมาได้รับการประกอบพิธีปลงผม และรับการบรรพชาอุปสมบท เป็นภิกษุในพุทธศาสนา และได้ขอร้องให้อาตมารับท่านไว้ในฐานะเป็นศิษย์คนหนึ่งด้วย
จำเดิมแต่นั้นมา อาตมาก็ได้ทำการเผยแพร่คำสอนแห่งสำนักตุงคือสำนักแห่งพระสังฆปริณายกองค์ที่สี่ และองค์ที่ห้า (ซึ่งอยู่ในวัดตุงซั่น) ตลอดมาภายใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์
นับตั้งแต่อาตมาได้รับมอบพระธรรมมาจากสำนักตุงซั่นแล้ว อาตมาต้องตกระกำลำบากหลายครั้งหลายหน ชีวิตปิ่มจะออกจากร่างอยู่บ่อยๆ วันนี้อาตมาได้มีเกียรติมาพบกับท่านทั้งหลาย ในที่ประชุมนี้ ทั้งนี้ อาตมาต้องถือว่า เป็นเพราะเราได้เคยติดต่อสัมพันธ์กันมาเป็นอย่างดีแล้วแต่ในกัลป์ก่อนๆ รวมทั้งอานิสงส์แห่งบุญกุศลที่เราได้สะสมกันไว้ ในการถวายไทยธรรมร่วมกันมาแด่พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ในชาติก่อนๆ ของเรานั่นเอง มิฉะนั้นแลวไฉนเราจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำสอนแห่ง “สำนักบรรลุฉับพลัน” (Sudden School) อันเป็นรากฐานที่ทำให้เราเข้าใจพระธรรมได้แจ่มแจ้งในอนาคตนั้นเล่า
คำสอนอันนี้ เป็นคำสอนที่ “ได้มอบสืบทอดต่อๆ กันลงมาจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อนๆ หาใช่เป็นคำสอนที่อาตมาประดิษฐ์คิดขึ้นด้วยตนเองไม่ ผู้ที่ปรารถนาจะสดับพระธรรมนั้น ในขั้นแรกควรจะชำระใจของตนให้บริสุทธิ์เสียก่อน ครั้นได้ฟังแล้ว ก็ควรจะชะล้างความสงสัยของตน ให้เกลี้ยงเกลาไปเฉพาะตนๆ โดยทำนองที่พระมุนีทั้งหลายในกาลก่อนได้เคยกระทำกันมา จงทุกคนเถิด”
ครั้นจบพระธรรมเทศนา ผู้ฟังพากันปลาบปลื้มด้วยปีติ ทำความเคารพแล้วลาไป
สิ่งทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือน่าเกลียด
ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน
แม้ในขณะที่โต้เถียงและทะเลาะวิวาท
เราควรประพฤติต่อเพื่อนและต่อศัตรูของเรา อย่างเดียวกัน
และไม่มีการนึกถึงการแก้เผ็ด ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง
จงปล่อยให้อดีตเป็นอดีต ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเรา
ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาจับติดต่อกัน เป็นห่วงโซ่แล้ว
ก็หมายว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง
ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเรา
ข้องติดอยู่ในสิ่งใดๆ เราจะลุถึงความหลุดพ้น
เพื่อผลอันนี้ เราจึงถือเอา “ความไม่ข้องติด”
ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ อันเป็นประธานสำคัญ
ผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแน่วไปตามทางที่ถูกต้องนั้น
ย่อมไม่มองเห็นความผิดต่างๆ ในโลกนี้
ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น
เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกันฯ
เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำต้องเอาใจใส่
เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง
ในการที่จะไปรื้อหาความผิด ฯ
โดยการสลัดนิสัยที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่น
ออกไปเสียจากสันดาน
เราย่อมตัดวิถีทางการมาของกิเลส ได้เป็นอย่างดี ฯ
ผู้มีใจเที่ยงธรรม
การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น
ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว
การปฏิบัติในทางณานมันจะมีมาเอง (แม้จะไม่ตั้งใจทำ)
สิ่งที่มีรสขม ย่อมถูกใช้เป็นยาที่ดี
สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหู
นั้นคือคำตักเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง
จากการแก้ไขความผิดให้กลับเป็นของถูก เราย่อมได้รับสติปัญญา
โดยการต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวไว้
เราแสดงนิมิตแห่งความมีจิตผิดปรกติออกมา
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, สมาธิและปรัชญานั้น
ควรจะเปรียบกับอะไรเล่า? ธรรมะสองชื่อนี้
ควรจะเปรียบกันกับตะเกียง และแสงของมันเอง
มีตะเกียง ก็มีแสง, ไม่มีตะเกียง มันก็มืด
ตะเกียงนั่นแหละคือตัวการแท้ของแสงสว่าง
และแสงสว่างเป็นแต่สิ่งซึ่งแสดงออกของตะเกียง
โดยชื่อฟังดูเป็นสองอย่าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว
มันเป็นของอย่างเดียว และเป็นทั้งของอย่างเดียวกันด้วย
กรณีเช่นนี้แหละได้แก่สมาธิและปรัชญา
การน้อมใจของเรา
ให้ถือเอา “ความรู้แจ้ง” เป็นที่พึ่งได้
จนถึงกับความรู้สึกที่ชั่วร้าย และผิดธรรม
ไม่อาจเกิดขึ้นได้
ตัณหาห่างจากไป, ความตึงเครียดไม่ปรากฏ
ราคะและโลภะไม่รึงรัดอีกต่อไป
นั่นแหละคือยอดสุดทั้งของบุญและปัญญา
การน้อมใจของเรา ให้ถือเอา “ความบริสุทธิ์” เป็นที่พึ่งได้
จนถึงกับไม่ว่าสถานการณ์อันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ
ก็ไม่ถูกทำให้เปื้อนด้วยวัตถุกามารมณ์ อันน่าขยะแขยง,
ด้วยความทะเยอทะยานและตัณหา
นั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริฐสุดของการได้เกิดมาเป็นคน
ความลึกซึ้งแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ย่อมไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับภาษาที่เขียนด้วยตัวหนังสือ
จงทำใจของท่าน
ให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่างอันหาขอบเขตไม่ได้
แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฏฐิว่า ‘ดับสูญ’
จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ
ไม่ว่าท่านจะกำลังทำงานหรือหยุดพัก
จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด
จงอย่าไปรู้สึกว่า
มีความแตกต่างระหว่างอริยบุคคล กับบุคคลธรรมดา
อย่าไปคิดว่า
มีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำ กับสิ่งที่ถูกกระทำ
จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง
ไว้ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น
แล้วท่านก็จะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา
การทำจิตให้เป็นอิสระจากมลทินทั้งปวง
คือ ศีลของภาวะที่แท้แห่งจิต
การทำจิตให้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลาย
คือ สมาธิของภาวะที่แท้แห่งจิต
สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง นั้นแหละคือ วัชร
(วัชร หมายถึง ภาวะที่แท้แห่งจิตหรือปัญญา)
การมาและการไป เป็นสมาธิในขั้นต่างๆ
ความเป็นตัวตนนั้นไม่ใช่อะไร
นอกจากเป็นภาพลวงอันเกิดจากการประชุมกันของขันธ์ห้า
และภาพลวงนี้ก็ไม่มีอะไรที่นะเกี่ยวข้องกับความจริงแท้
การยึดมั่นว่า
มีตถตาสำหรับเราที่จะยึดหมาย หรือมุ่งไปสู่
ย่อมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง
หลักธรรมนั้นได้หมายถึงแสงสว่างหรือความมืด
แสงสว่างและความมืด หมายถึงความคิดที่อาจสับเปลี่ยนกันได้
ฉะนั้นการกล่าวว่า
แสงสว่างก่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปโดยไม่สิ้นสุด จึงผิด
เพราะว่ามันมีความจบสิ้น
เนื่องจากความสว่างและความมืด
เป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม
ในวิมลกีรตินิเทศสูตร กล่าวว่า
หลักธรรมนั้นไม่มีข้ออุปมา
เพราะว่าไม่ใช่เป็นคำที่อาจเทียบเคียงกันได้
ในคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ
คำว่า ‘ไม่มีอยู่’
หมายถึงการสิ้นสุดของคำว่า ‘มีอยู่’
ส่วนคำว่า ‘มีอยู่’
ก็ใช้เปรียบเทียบในทางตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ไม่มีอยู่’
สิ่งที่เขาหมายถึงความไม่มีอยู่
ไม่ใช่หมายถึงการทำลายล้างโดยแท้จริง
และสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘มีอยู่’ ก็ไม่ได้หมายถึงความมีอยู่อย่างแท้จริง
สิ่งที่ฉันหมายถึงเหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่
ก็คือโดยเนื้อแท้แล้วย่อมไม่มีอยู่
แต่ในขณะปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกทำลายล้างไป
นี่แหละเป็นความต่างกัน
ระหว่างคำสอนของฉันกับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ
สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนไหว
วัตถุทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง
ใครฝึกตนให้เป็นผู้ไร้ความเคลื่อนไหว
ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากทำตนให้แน่นิ่งอย่างวัตถุ
ถ้าท่านจะหาความสงบนิ่งที่ถูกแบบ
ก็ควรเป็นความสงบนิ่งภายในการเคลื่อนไหว
ความสงบนิ่ง (เหมือนอย่างวัตถุ)
ก็เป็นเพียงความสงบนิ่ง (ไม่ใช่ธยานะ)
ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย
บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี
ด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นตัวของตัวเอง
ท่านไม่ต้องกระทำบาป
ด้วยความสงบและสงัด
ท่านเพิกเฉยการดูและการฟัง
ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง
จิตของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด
สูตรของเว่ยหล่าง
หมวดที่ 1 ว่าด้วยชีวประวัติที่ท่านเล่าเอง
ท่านพุทธทาสภิกขุ แปล