14 มกราคม 2550 22:52 น.
ครูใหญ่โรงเรียนเล็ก
เห็นซากเรือเหลือไว้ใกล้ใกล้ฝั่ง
ดูสิ้นหวังพังครืนคลื่นถล่ม
ที่เคยแกร่งแรงกล้าท้าแดดลม
ถึงคราล่มจมลับกับธารา
ครั้งหนึ่งเรือเคยงามมีความหมาย
ด้วยฝีพายโดดเด่นเป็นสง่า
ผู้โดยสารผ่านไปหลายเพลา
เรือชราลำเดิมเริ่มผุพัง
มิอาจทนฝนลมโหมกระหน่ำ
เคยลอยลำจำใจจอดใกล้ฝั่ง
พายุครืนคลื่นถล่มโหมประดัง
สิ้นพลังโรยแรงแห่งนาวา
เรือจึงสิ้นความงามหมดความหมาย
ตอนสุดท้ายให้เห็นเป็นปัญหา
เป็นเรือเก่าเอาไว้ไร้ราคา
เรือชราใครเห็นเป็นต้องเมิน
ได้โปรดเห็นคุณค่านาวาน้อย
สิ้นแรงลอยเรือจ้างจำห่างเหิน
หวนถึงวันลอยลำเรือดำเนิน
ส่งทางเดินชีวิตศิษย์หลายคน
ให้เห็นชัดสัจธรรมเรือลำเก่า
ที่ต้องจอดทอดเงาอย่างเศร้าหม่น
คิดถึงวันเคยพายกลางสายชล
ส่งเขาพ้นผ่านไปไร้คนมอง
11 มกราคม 2550 14:28 น.
ครูใหญ่โรงเรียนเล็ก
อย่าเพิ่งมอบรักใครได้ไหมน้อง
ให้มาลองรักพี่นี้น่าสน
แม้อาจต้องลำบากและยากจน
ความเป็นคนล้นเปี่ยมเตรียมไว้รอ
มีเถียงนาหลังน้อยไว้คอยน้อง
ไว้เป็นเรือนรับรองเป็นห้องหอ
สวนนาไร่ไม่มากหากเพียงพอ
ไว้เป็นข้อต่อรองหากน้องมา
พาหนะคู่ใจพอได้ขับ
ไว้รอรับกลับบ้านแสนหรรษา
แม้อาจเป็นได้เพียงแค่เถียงนา
แต่คุณค่ายอดเยี่ยมเทียมวิมาน
อย่าเรียกร้องทองหมั้นในวันแต่ง
เพราะมันแพงเกินไปให้คิดอ่าน
ต้องกู้เงินก้อนใหญ่ไว้จัดงาน
ดอกเบี้ยบานนานไปให้ตริตรอง
หนี้สินพี่มีอยู่พอกู้หน้า
แต่หากว่านานไปไม่หม่นหมอง
พี่เลิกกู้เลิกทำเรื่องจำนอง
เพราะฉะนั้นค่าดอง....ไม่ต้องเอา
คิดให้ดีนะน้องอย่างมองผ่าน
หากปล่อยนานตัวน้องต้องอับเฉา
ชายทั้งโลกหลายแสนแผ่นดินเรา
แต่ใครเล่าจะพลีตัวเป็นผอ...สระอัว...ดี
5 มกราคม 2550 10:39 น.
ครูใหญ่โรงเรียนเล็ก
กกกะโดนโพนกะเดาแสนเศร้าหมอง
ไร้คนครองเคียงข้างสร้างทุ่งฝัน
เถียงนาร้างกลางแจ้งแสงตาวัน
ทุยรำพันพร่ำเพ้อละเมอครวญ
พลิ้วลมพัดสะบัดใบไม้ไหวโยก
กะเดาโศกสลัดใบให้คิดหวล
แว่วเสียงแคนค่อนรุ่งทุ่งลำดวน
แปรขบวนหนุ่มสาวเข้าสู่กรุง
เคยขอเพลงให้กันวันเก็บเกี่ยว
มือกำเคียวเคียงคู่อยู่กลางทุ่ง
ทำนองแคนคลอรับกับเสียงซุง
เคยมั่นมุ่งผดุงถิ่นแผ่นดินทอง
จึงเรื้อรกกกกะโดนโพนนาเก่า
เมื่อไร้เงาผู้คนดูหม่นหมอง
ทั้งแอกคราดคันไถไร้คนมอง
กาเหว่าร้องรอรับเจ้ากลับมา
สวมชุดฟอร์มโรงงานลืมบ้านนอก
ฤาหลงเมืองบางกอกลืมดอกหญ้า
ฤาลืมกกกะโดนที่โพนนา
กาลเวลาล่วงไปเปลี่ยนใจคน
กกกะโดนโพนกะเดาดูเศร้าหมอง
จะกู่ร้องหาใครก็ไร้ผล
ล้วนทุ่งแล้งแห้งผากคนยากจน
จำดิ้นรนจากนามาขายแรง
กก หมายถึง ต้น
กะโดน หมายถึง ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ยอดอ่อนกินเป็นผักได้มีรสฝาด ภาษาไทยกลางเรียกต้นจิก
โพน หมายถึง เนินดินขนาดเล็ก
กะเดา หมายถึง ต้นสะเดา
เถียงนา หมายถึง กระท่อม
แดนลำดวน เป็นสมญานามของจังหวัดศรีสะเกษ
ซุง หมายถึง ซึงหรือพิณ
7 ธันวาคม 2549 18:47 น.
ครูใหญ่โรงเรียนเล็ก
นี่คือเมืองคน อยู่บนผืนหล้า
มักใช้เงินตรา ตีค่าของตน
แบ่งแยกศักดิ์ศรี ว่ามีค่าล้น
กีดกันชั้นชน ยากจนมั่งมี
ร่ำรวยเงินทอง พวกพ้องน้องพี่
ยกยอว่าดี เป็นที่ถูกใจ
คนจนคนยาก อดอยากยากไร้
จึงไม่มีใคร เยื่อใยไมตรี
คนรวยข่มเหง ให้เกรงศักดิ์ศรี
เหยียดหยามย่ำยี กดขี่บีฑา
อำนาจของเงิน สูงเกินปัญญา
มือยาวสาวมา ไขว่คว้าครอบครอง
มีไหมเมืองพอ ใคร่ขอจับจอง
ไปอยู่คู่สอง กับน้องนางเดียว
ไผสิไปนำข้อย ยกมือขึ้น
4 ธันวาคม 2549 22:44 น.
ครูใหญ่โรงเรียนเล็ก
หนาวแล้ว
ทั่วทุกแนวแถวถิ่นดินอีสาน
หลังจากวันร้อนแห้งแล้งมานาน
ฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนอีกคราว
หลังภูเม็งคืนนี้......
ทุกเวลานาทีที่เหน็บหนาว
ท่ามกลางความมืดอันยืดยาว
มีเพียงดาวพราวฟ้าเหนือป่าภู
หนาวเอย....หนาวเหน็บ
หนาวจนเจ็บขั้วใจไปทุกผู้
หวีดหวิวใบมะม่วงร่วงพรู
คือที่เห็นและเป็นอยู่คู่แผ่นดิน
ปีนี้เหมือนฟ้าแกล้งมันแล้งหนัก
ทั้งพืชผักวัวควายตายเสียสิ้น
ข้าวในเล้าน้ำในบ่อไม่พอกิน
ต้องทิ้งถิ่นนาไร่ไปเมืองกาญจน์
จักจั่นบรรเลงเพลงเงียบเหงา
ทิ้งคนแก่คนเฒ่าไว้เฝ้าบ้าน
นั่งทบทวนความจำเป็นตำนาน
เล่าสู่ลูกสู่หลานที่ลานวัด
ว่า...กาลครั้งหนึ่ง...
ในคืนซึ่งลมแรงและแล้งจัด
หนาวน้ำค้างพร่างพรมหนาวลมพัด
ดึกสงัดมีแม่เฒ่านอนหนาวตาย
ดึกสงัดมีแม่เฒ่านอนหนาวตาย
ดึกสงัดมีแม่เฒ่านอนหนาวตาย
เหล่าน้อย เป็นชื่อหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเขตอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ เราไปออกค่ายอาสาพัฒนาที่นั่นทุกเสาร์อาทิตย์ เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ม.ขอนแก่น
ภูเม็งเป็นชื่อภูเขาที่กั้นระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับจังหวัดชัยภูมิ
เล้าคือยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก
ไปเมืองกาญจน์คือการอพยพแรงงานของคนอีสาน(ไปตัดอ้อยทางภาคกลาง) มักจะไปในช่วงฤดูหนาวและไปกันทั้งครอบครัวเหลือไว้เฉพาะคนแก่และเด็ก