26 มกราคม 2553 07:21 น.
ครูกระดาษทราย
ยังมีกบน้อยน้อย
ตัวกระจ้อยจัดแข่งขัน
ปีนเสาไฟฟ้ากัน
ใครปีนถึงจึงรางวัล
ประชาชนชาวกบ
ต่างนัดพบดูแข่งขัน
ไม่มีใครเชื่อมั่น
ว่ากบนั้นจะสมใจ
ผู้ชมตะโกนว่า
สุดปัญญาจะขึ้นไหว
มันยากลำบากไป
ไม่สำเร็จเสร็จแน่เทียว
กบน้อยต่างเหนื่อยล้า
ตกลงมาตัวช้ำเขียว
แต่มีกบตัวเดียว
ที่อุตส่าห์พยายาม
ขึ้นได้ดังใจหวัง
เต็มพลังสิ้นคำหยาม
รางวัลอันงดงาม
นั่นคือความภาคภูมิใจ
ทุกตัวอยากรู้ว่า
เขาฝันฝ่าได้ไฉน
กบน้อยไม่ฟังใคร
เพราะหูหนวกบวกความเพียร
เรื่องนี้บอกให้รู้ว่า
อย่าฟังคำพูดในด้านลบ หรือการมองในแง่ลบจากคนอื่น
เพราะเขาเหล่านั้นจะดึงความฝัน ความปรารถนาในหัวใจคุณออกไป
ให้ระวังในพลังของคำพูดเสมอ เพราะทุกสิ่งที่คุณได้ยิน
และได้อ่านมันจะส่งผลต่อการกระทำของคุณ
เพราะฉะนั้น ตลอดเวลาขอให้เป็นคนคิดบวก
และเหนือจากนั้น จงทำเป็นหูหนวกต่อคำพูดที่บอกว่า คุณไม่สามารถทำความฝันของคุณให้เป็นจริงได้
24 มกราคม 2553 10:33 น.
ครูกระดาษทราย
ณ แดนแคว้นกาสี
มีเศรษฐีร่ำรวยหลาย
ฝังเงินไว้มากมาย
สี่สิบโกฏิมิหมดไป
ต่อมาท่านเศรษฐี
สิ้นชีวีไปตามขัย
ภรรยาสิ้นหทัย
เกิดเป็นหนูผู้แสนดี
นิทานขานหยิบยก
เล่าชาดกแสนสุขี
พระพุทธเจ้านี้
เป็นช่างหินผู้เมตตา
นางหนูได้พบพาน
จึงสมานไมตรีหา
ตรงเข้าสนทนา
ว่าเงินตราเธอมากมาย
แต่ไม่เป็นประโยชน์
ขอช่างโปรดตามใจหมาย
นำเงินมาให้นาย
ช่างซื้อเนื้อเผื่อฉันกิน
นายช่างฟังหนูกล่าว
ทราบเรื่องราวถ้อยถวิล
ช่วยเหลือเอื้อตามจินต์
ซื้อเนื้อส่งตรงสัญญา
นางหนูแบ่งเงินให้
ต่างอาศัยสุขหรรษา
วันหนึ่งจึงวิฬาร์
มาพบหนูขู่ขบเธอ
หนูขอชีวิตตน
จะเปรอปรนพร้อมเสนอ
แบ่งเนื้อให้แมวเกลอ
แมวอิ่มหนำแสนสำราญ
มันจึงไปบอกเพื่อน
แมวมาเยือนถึงถิ่นฐาน
นิสัยไอ้แมวพาล
หนูแบ่งกินจำยินยอม
นายช่างนั่งสังเกต
เกิดอาเพศหนูผ่ายผอม
นางหนูผู้ตรมตรอม
บอกนายช่างดังความจริง
นายช่างฟังหนูว่า
อย่ากลัวหนาแม่ยอดหญิง
แก้ไขไม่ประวิง
นำหินแก้วสร้างถ้ำมา
หนูกินนอนในนั้น
มินานวันสุขหรรษา
อ้วนท้วนตามเวลา
เจ้าแมวนั้นมันแค้นเคือง
โดดเข้าผนังถ้ำ
หมายขย้ำกลับคางเหลือง
ดับดิ้นหมดสิ้นเปลือง
ช่างกับหนูอยู่ร่มเย็น
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีได้เพราะความเข้าใจกัน
และต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เหมือนช่างหินกับนางหนู ฉะนั้น
22 มกราคม 2553 22:35 น.
ครูกระดาษทราย
ชายชาวอินเดียแบกหม้อดินไว้บนบ่า
สะดุดตาสองใบช่างต่างสัณฐาน
หม้อใบหนึ่งสวยงามวาวแวววาว
อีกใบกลับมีร้อนร้าวราวราคี
หม้อใบดีบรรจุน้ำเต็มถึงบ้าน
แสนสำราญภูมิใจในศักดิ์ศรี
หม้อใบร้าวเติมเท่าไรไหลทุกที
กลับถึงที่เหลือเพียงครึ่งจึงเศร้าใจ
หม้อใบร้าวร้าวราญรำคาญจิต
รู้สึกผิดกล่าวขอโทษโกรธฉันไหม
ทำให้ท่านแบกหม้อน้ำไกลแสนไกล
แต่กลับได้น้ำน้อยนิดผิดพลาดจัง
ชายผู้แบกหม้อน้ำย้ำสอนว่า
อย่าโศกาน้อยจิตคิดผิดหวัง
สังเกตไหมดอกไม้ข้างทางงามจัง
เฉพาะฝั่งที่ฉันนั้นแบกเธอ
มวลมาลีสีสดใสจึงได้ผล
เก็บไปให้นายยลอยู่เสมอ
เพราะวารีที่รินไหลไปจากเธอ
ดอกไม้จึงเลิศเลอและตระการ
ฟังหม้อดินใบร้าวแล้วน้องพี่
ค่ำคืนนี้นิทราพาฝันหวาน
มีความสุขสวัสดีราตรีกาล
ให้สำราญยามตื่นสดชื่นเอย
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เราเองมีคุณค่าในตัวดีพอ ถ้าไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นมากเกินไป ถ้าคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีก็พยายามแก้ไขทำให้มันดีขึ้น มันอยู่ที่ความตั้งใจต่างหาก ผลที่ออกมาไม่ใช่คำตอบแห่งชัยชนะของชีวิต
จุดมุ่งหมายและความตั้งใจของเราต่างหาก คือคำตอบที่แท้จริง
21 มกราคม 2553 07:15 น.
ครูกระดาษทราย
โหมโรงคลื่นกระทบฝั่งจังหวะเร้า
สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์ยลคลื่นรัว
กระทบทั่วหาดทรายชายทะเล
ปีสองพันสี่ร้อยเจ็ดสิบสี่
หลังราตรีประดับดาวก้าวหักเห
เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องรวนเร
จึงจบเห่ไร้เนื้อร้องทำนองคง
นับเป็นเพลงสุดท้ายเสียดายนัก
ธ ทรงรักการดนตรีมีประสงค์
จะดำรงคงเพลงไทยให้ยืนยง
โปรดให้วงในวังร่วมบรรเลง
ทั้งจังหวะจะโคนโยนล้อรับ
ยามสดับครืนซ่ากระฉับกระเฉง
ระรอกคลื่นน้อยใหญ่คล้ายเสียงเพลง
ต่างกระทบฝั่งเร่งกระชั้นมา
ณ วันนี้ใช้บรรเลงเป็นเพลงเพราะ
ฟังเสนาะพี่น้องต้องรักษา
งานมงคลดลฤดีภิรมยา
สุขสดชื่นหรรษาหาใดปาน
20 มกราคม 2553 07:24 น.
ครูกระดาษทราย
ภาษาคือสื่อสร้าง ศาสตร์ศิลป์
จารแจ่มแจ้งเจตจินต์ ทราบไซร้
โสตสดับตรับยลยิน จับจิต
เลอค่าสืบสานไว้ คู่ด้าวแดนไทย
ภาษาคือสื่อสร้าง
สานแบบอย่างทั้งศาสตร์ศิลป์
จารแจ้งแจ่มเจตจินต์
จึงทราบไซร้ใจจำนง
สดับยามขับขาน
ทั้งเขียนอ่านสาส์นประสงค์
เลิศล้ำร่วมดำรง
คงคุณค่าภาษาไทย
เพลงภิรมย์สุรางค์