26 เมษายน 2552 11:13 น.
คนกุลา
หลังเสร็จงานแต่งงานหลานชาย พวกเราซึ่งเป็นญาติเจ้าบ่าว ก็แยกย้ายกันกลับ
บางกลุ่มก็กลับเลย บางกลุ่มก็จะไปเที่ยวต่อ ไหนๆก็มาแล้ว กลุ่มของผมตัดสิน
ใจที่จะพักอยู่ที่บ้านแม่ทา อีกหนึ่งคืน กะว่าวันรุ่งขึ้นก็จะเข้าไปเที่ยวในตัวเมือง
แม่ฮ่องสอน ก่อนจะตีกลับ กรุงเทพฯรวดเดียว
เช้าขึ้นมา ทานอาหารเช้าเสร็จ เราก็ขับรถออกมาจากหมู่บ้าน พอมาถึงเส้นทาง
แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน เราก็เลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางแม่ฮ่องสอน ขับรถเลี้ยวลด คด
เคี้ยวไปเรื่อยๆผ่านน้ำพุร้อน เล็กๆที่พัฒนาโดย อบต.ในพื้นที่ เราก็แวะเข้าไป
ชมดู ได้พบกับคณะทัวร์รถมอร์เตอร์ไซค์กลุ่มหนึ่งประมาณ ๓๐ คนตั้งแคมป์พัก
อยู่ที่นั่น พวกเขากำลังเก็บของเดินทางต่อ จากการเข้าไปสอบถามได้ความว่าเขา
เดินทางกันมาจากจังหวัดตาก เป็นเด็กหนุ่มๆในวัยเรียน แล้วตั้งเป็นชมรม สำหรับ
ออกทัวร์เป็นคณะ ในช่วงหยุดยาว รู้สึกว่าคนริเริ่มจะอาวุโสกว่าคนอื่นๆ เพราะ
อายุอาจจะราวๆเกือบ ๔๐ ปีได้ ช่วงที่พวกเราเดินทางออกมาจากแหล่งน้ำพุร้อน
รถของเราก็แซงรถของคณะมอเตอร์ไซค์กลุ่มนี้อีกครั้ง เขาขับเป็นกลุ่มๆ แต่ขับ
ไม่เร็ว ไม่เหมือนกลุ่มรถซิ่งในกทม. หรอกครับพวกเราตั้งใจว่าไหนๆก็มาแล้ว
ก็จะแวะดูทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ เสียหน่อย แม้จะรู้ว่า คงจะไม่ได้เห็นบัวตองบานแล้วหละ เพราะทุ่งบัวตองจะบานสะพรั่งเต็มที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น แต่ตอนที่ไปนั้น มันหลังปีใหม่มาได้ สองวันแล้ว บัวตองคงไม่มามัวรอเราอยู่หรอก
เมื่อไปถึง....ก็เป็นจริงตามที่คาดการณ์ไว้ ทุ่งบัวตองส่วนใหญ่แห้งเป็นสี
น้ำตาลไหม้ไปหมดแล้วอาจจะมีอยู่บ้างที่เป็นจุดเหลืองประปราย แต่ก็มีอีกที่หนึ่ง
ที่ไม่ได้เป็นทุ่งแต่เป็นแปลงบัวตอง ที่พ่อค้าแม่ค้าขายผักผลไม้ที่ นั่น เขา ปลูกไว้
โดยรดน้ำทุกวัน บัวตองแปลงนั้นก็จะขึ้นสวยงามออกดอกเหลืองอร่าม เอาไว้ให้
นักเดินทางท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปและซื้อของจากเขา อย่างน้อยก็ไม่ให้เสียเที่ยวจนเกินไป
ด้วยอารมณ์ และจินตนาการ ท่ามกลางม่านเมฆหมอก และทะเลภูเขา สุดสายตา
ก็บรรยายมาเป็นภาษา สำหรับคนชอบเขียนกลอนไม่ได้...ก็มันเห็น..
.
ม่านภูเขา ละลานตา วันผาหม่น
ดอกบัวตอง ยืนต้น แห้งหม่นไหม้
ทะเลฟ้า ล้อเมฆฝัน เหมือนควันไฟ
เยียบหัวใจ ถามหา ผู้มาเยือน
หมู่ทิวสน เรียงต้น เหมือนคนเหงา
ในใจเรา คงคล้าย แม้ไม่เหมือน
ดังจะรอ บัวตอง คืนครองเรือน
วนรอบเดือน พฤศจิกา กลับมาเนาว์
เพื่อระบาย สีเหลือง ให้เรืองรุ่ง
แต้มเป็นทุ่ง ตะวันหวัง ตั้งต้นหนาว
ระยิบยับ กับน้ำค้าง พรูพร่างพราว
ขับแสงดาว พรายฟ้า ในราตรี
แต่วันนี้ วันที่ ทุ่งยังร้าง
อาจมีบ้าง บางดอกไม้ ได้แย้มคลี่
ความสวยงาม บางครั้งหนอ ต้องพอดี
และก็มี อยู่บ้าง เพียงบางวัน
จึงจะหวัง วันที่ ฟ้าสีฟ้า
เมื่อบัวตอง พร่างตา ระบายฝัน
ฤดูกาล ผ่านไป ตามวัยวัน
มาเติมฝัน พร่องใจ ให้คนจร
.
บนดอยแม่อูคอ มีจุดชมวิว อยู่จุดหนึ่ง เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในแถบนั้น ยอดดอยขึ้นปกคลุมเต็มไปด้วยสนภูเขา ยามมองลงไปเบื้องล่าง จะเห็นทะเลภูเขาเรียงรายสลับกันไปจนสุดสายตา ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน อบต.เขาก็พัฒนาแหล่งชมวิว เพื่อให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เป็นอย่างดีมาก
การเดินทางมาแม่ฮ่องสอนคราวนี้ ดูถนนหนทางสะดวก สะบาย มากทีเดียว ผม..
อดนึกย้อน ไปเปรียบเทียบกับ หลายสิบปีก่อนไม่ได้ เมื่อครั้งสมัย ที่ยังมาตะลอนๆเดินข้ามเทือกเขาภูดอย ลูกแล้วลูกเล่า อย่างลำบากยากเย็น เพื่อมาสอนหนังสือเด็กน้อยๆแถวนี้ ผมสังเกตุว่าในขณะที่ถนนหนทางสะดวกสบายมากขึ้นในปัจจุบัน ภูเขาหัวโล้นก็มากขึ้นตามไปด้วย
ความสะดวกที่มีมาเหล่านี้ เพื่อชาวเขา หรือเพื่อชาวเมือง หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน บางทีผมเองก็ชักไม่แน่ ใจเหมือนกัน...ครับ
ดอยแม่อูคอ ขุนยวม แม่ฮ่องสอน, สอง มกราคม
.
.....................
หมายเหตุ ภาพนั้นเป็นภาพในช่วงที่ดอกบัวตองบานเต็มภูเขา เอามาลงให้ดูภาพงามๆเฉยๆ....ครับ
22 เมษายน 2552 20:33 น.
คนกุลา
.
เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ตอนเที่ยง ฟ้าเริ่มมืดเมื่อเราออกจาก
ตัวเมืองนครสวรรค์..หลังทานข้าวมื้อเย็น ...นั่งรถฝ่าความมืดมาถึง
หมู่บ้าน ประมาณตีหนึ่งของวันรุ่งขึ้น บางคนในคณะที่ไปด้วยกันก็
เข้านอน..เพื่อพักผ่อนเอาแรง...
.
ผมพร้อมกับอีกบางคนซึ่งนอนมาในรถพอสมควรแล้วก็เลยนั่งผิงไฟ
กินกาแฟและคุยกันจนกระทั่งเช้า เมื่อฟ้าเริ่มสว่างขึ้นได้มามองเห็น
สภาพบ้านเรือนโดยทั่วไปของหมู่บ้านแม่ทา เป็นหมู่บ้านชาวปาเกอะญอ
มีชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ ๑๕๐ หลังคาเรือน ส่วนชื่อหมู่บ้านนั้น
ตั้งตามชื่อลำน้ำทาที่ไหลผ่าน เท่าที่ถามดูคร่าวๆ ก็ ทราบว่าได้มีการ
ตั้งบ้านเรือนมาไม่น้อยกว่า ๗๐ ปี หลังจากนั่งคุยกันอยู่ที่ที่พักจน
ตกตอนบ่าย หลานๆ และน้องชวนไปเที่ยวบ้านขุนแม่ทา คำว่าขุน
น่าจะหมายถึงต้นน้ำ ดังนั้นบ้านขุนแม่ทา หมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่
ต้นน้ำแม่ทานั่นเอง
.
การเดินทางไปยังหมู่บ้านดังกล่าวมีวิธีเดียวคือการขับรถลงไปตาม
ลำน้ำแม่ทา ซึ่งหน้านี้มีน้ำไม่มากนัก ระยะทางอยู่ในราว ๑๐
กิโลเมตร ดังนั้นจึงไม่กล้าคิดเลยว่าในหน้าน้ำมากๆ ชาวบ้านจะ
เดินทางกันอย่างไร บ้านขุนแม่ทา มีบ้านเรือนอยู่ ประมาณ ๓๐ หลังคา
ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าปาเกอะญอ เช่นเดียวกัน
.
ขณะขับรถขึ้นไปสองฝั่งลำน้ำมีสภาพเป็นไร่ นา สลับกับป่าไม้ หลาน
ชายเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่พยายามรักษาต้นไม้ไว้ โดยเฉพาะ
บริเวณต้นน้ำหรือขุนน้ำ บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาตัดไม้
โดยผิดกฎหมาย ก็จะถูกชาวบ้านล้อมจับ และแจ้งไปทางอำเภอ
ให้มารับตัวไปอีกทอดหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เวลาที่ชาวบ้านใน
หมู่บ้านไปตัดไม้มาทำบ้านเรือน ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม
เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่กำลังชักลากจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน
ก็ดูมีการถ่วงดุลย์กันดีนะ ผมเปรยขึ้นมาบ้าง ด้วยอคติเข้าข้าง
ชาวบ้านที่มักจะซ่อนไว้ไม่มิด
.
หลายชายคนที่ขับรถและเล่าเรื่องนี้ คือคนที่กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์
ในวันพรุ่งนี้กับเจ้าสาวชาวปาเกอะญอ เรือนหอผม ก็จ่ายค้าจ้าง
เลื่อยไม้ และจ้างลากไม้และค่าสร้างบ้าน รวมๆ แล้วตกสองแสนบาท
เขาเล่าอีก แต่ผมคะเนดูด้วยตาเบื้องต้นแล้วถ้าเป็นบ้านที่เราสร้าง
ในเมืองก็ตกไม่ต่ำกว่า สอง-สามล้านบาทขึ้นไป แม้จะไม่เห็นด้วย
กับการสร้างบ้านของเขานัก เพราะรู้สึกว่าจะเป็นการใช้ไม้มากเกิน
ความจำเป็น แต่ผมก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ
.
บ้านของชาวบ้านที่นี่ โดยทั่วๆ ไปเป็นทั้งบ้านและร้านขายไม้ คือเป็น
บ้านที่เขาใช้พักอาศัยและทำกิจกรรมอื่นๆ เหมือนกับบ้านของเราๆ
ท่านๆ โดยทั่วไป แต่ตัวบ้านของเขามีหน้าที่อีกอย่างคือฝาและพื้นบ้าน
ใช้เป็นที่เก็บไม้สำหรับขายไปในตัว โดยเขาจะกั้นฝาและพื้นใน
ลักษณะชั่วคราว เพื่อความพร้อมที่จะงัดออกมาขายหากต้องการใช้เงิน
ในราคาตกแผ่นละ ๑๕๐ บาท และหลังจากนั้นก็กลับเข้าป่าไปเลื่อย
ไม้แผ่นจำนวนเท่าเดิมมาทดแทนไว้ดังเดิม ภายในเวลาไม่เกิน
สองสัปดาห์ พูดตรงๆ ก็คือชาวบ้านที่นี้มีอาชีพรับจ้างและเลื่อยไม้ขาย
.
บ้านของชาวบ้านโดยทั่วไปจะสร้างโดยไม้สักทั้งหลัง หรือไม่ก็ใช้ไม้สักเป็นเสา พื้นและไม้เครื่องแล้วกั้นด้วยไม้ไผ่สานเป็นฟาก ส่วนไม้แดง หรือไม้ที่เราเห็นเป็นไม้มีค่าอื่นๆ เช่นไม้ตะเคียนทอง เขาใช้ทำฟืนกัน แต่ก็นับว่ายังดีกว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ผมมาร่อนเร่อยู่แถวนี้ ซึ่งจำได้ว่าเขาใช้ไม้สักมาทำฟืนกัน ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวปาเกอะญอแล้ว ไม้ทุกต้นมีเจ้าของ การเป็นเจ้าของนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในชุมชน แม้จะอยู่ในแปลงที่รัฐถือว่าเป็นที่ ป่าสงวน ก็ตามที ชาวบ้านที่นี่ก็เหมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ นอกจากมีการทำนาข้าวและปลูกกระเทียมซึ่งทำอย่างถาวรแล้วก็มีการทำไร่หมุนเวียน คือแต่ละครอบครัวจะมีที่จำนวน สี่-ห้าแปลงและทำไร่หมุนเวียนกันไปแปลงละหนึ่งปี จนครบปีที่สี่ ที่ ห้า ก็จะวนกลับมาสู่ที่เดิม นัยว่าจะเป็นการให้ที่ดินได้พักสาม สี่ ปี โดยถางและเผาต้นไม้ที่งอกขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นปุ๋ยให้ต้นพืชที่ปลูกต่อไป
.
ดูไปแล้วทัศนคติและความเชื่อหลายอย่างดูแปลกแปร่งสำหรับ คนในเมืองเช่นเราท่านทั้งหลาย ซึ่งนั่นก็ต้องนับรวมบรรดาท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ต้องรักษากฎหมายด้วย ความแตกต่างทางความคิด และความเชื่อเหล่านี้ นำไปสู่ความแปลกแยกและใช้กำลังจับกุมดังที่หลานได้กล่าวไปตอนต้น ดีที่ทั้งสองฝ่ายใช้กำลัง โดยที่อิงอยู่กับกฎหมาย โดยเฉพาะฝ่ายชาวบ้าน มิฉะนั้นก็อาจจะมีข้อหาการกระทำผิดอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน
ดีนะ ที่ที่นี่เป็นชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ใช่ชายแดนสามจังหวัดภาคใต้ มิฉะนั้น ปัญหาคงจะไม่สามารถจบลงแบบง่ายๆ อย่างที่เป็นอยู่ก็ได้ ผมกล่าวขึ้นเบาๆ และอดที่จะคิดและกังวลใจอยู่เงียบๆไม่ได้
.
เพราะถ้าจะว่าไปแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก คงเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นกระมังที่แตกต่างกัน และที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น
.
จากตัวอย่างเรื่องที่กล่าวมา ฝ่ายรัฐหรือแม้แต่เราเองมองว่าชาวบ้านกำลังใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า และทำลายต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญๆ ในประเทศนี้ ขณะที่ชาวบ้านก็มองว่าเขาอยู่ที่นี่ ดำเนินวิถีชีวิตแบบนี้มานับหลายชั่วอายุคน เจ้าหน้าที่ของเราต่างหากที่เข้าไปพยายามเปลี่ยนแปลงเขาโดยที่เขาไม่ยินยอม โดยที่เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ
.
เขาจึงสรุปว่าเจ้าหน้าที่ต่างหากที่ข่มเหงรังแกเขา อีกทั้งเจ้าหน้าที่หลายส่วนที่ทำผิดกฎหมายเสียเอง โดยที่เข้าไปตัดไม้เพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมาย ความคิดและความเชื่อเหล่านี้ดูไปก็เหมือนเส้นขนานที่ยากจะหาจุดที่จะมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว
.
เมื่อขับรถไปถึงบ้านขุนแม่ทา หลังจากทักทายชาวบ้านที่รู้จักแล้ว หลานชายก็พาเราไปดูโรงเรียน ซึ่งมีป้ายบอกว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน มีครูเพียงคนเดียวซึ่งต้องสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปด้วย ดูๆ ไปก็คล้ายกับหมู่บ้านในพื้นราบ ที่เป็นไปในลักษณะนี้เมื่อประมาณ ๔๐ ๕๐ ปีก่อน
.
ตอนขับรถขากลับลงมาตามทางเดิม ที่จริงน่าจะพูดว่าตามทางน้ำสายเดิมมากกว่า เราสวนกับชาวปาเกอะญอชายหญิงคู่หนึ่งอายุราวๆ ๒๔-๒๕ ปี อุ้มลูกน้อยอายุราวขวบกว่าเดินสวนขึ้นมา ลูกเขาไม่สบาย เขาพาลูกไปหาหมอที่ตลาดแม่ลาน้อย ไปตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เพิ่งกลับ หลานชายเล่าเบาๆ เขาต้องเดินจากจุดนี้ไปอีกครึ่งวัน จึงจะถึงบ้านเขา หลานชายเล่าต่อ อ้าวแล้วเมื่อคืนเขาพักที่ไหนละ ผมถามอย่างงงๆ ก็คงพักกับญาติในหมู่บ้านห้วยแม่ทามั๊ง หลานชายตอบแบบไม่มีอารมณ์อะไร ขณะที่สำหรับผมเมื่อเจอเรื่องพวกนี้ก็อดคิดถึงความไม่ยุติธรรม ในการรับบริการจากรัฐของคนยากคนจนไม่ได้สักที อารมณ์นี้นี่เองที่ทำให้ตัวเองต้องลำบากใจ บ่อยครั้ง
.
อ้อ เขาไม่ได้อยู่ที่บ้านขุนแม่ทา หรอกเหรอ ผมถามขัดขึ้น อย่างแสดงความสนใจ
.
บ้านเขาอยู่ลึกเข้าไปในป่า เ ลยบ้านขุนแม่ทาเข้าไปอีก หลานชายขยายความเมื่อเห็นว่าเราอยากรู้
.
แวบหนึ่งของความรู้สึก อดไม่ได้ที่จะคิดไปถึงพวกเขาสามคนแม่ลูกที่สวนกันเมื่อสักครู่ เพราะตามมาตรฐานของเราแล้ว ชีวิตของเขาดูน่ารันทดในสายตาเราค่อนข้างมาก แต่ถ้ามาคิดให้ดี เขาเองก็อาจคิดรันทดต่อชีวิตของเราอยู่เช่นเดียวกันก็เป็นไปได้ ที่ต้องอยู่กับความจอมปลอมต่างๆ เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย หรือถ้าพูดให้ตรงที่สุดคือ ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวตนของตนเอง ขอเพียงได้เป็นทาสของความทันสมัยและเทคโนโลยีที่ต้องซื้อหามาด้วยราคาแสนแพง
.
ผมนั่งคิดอะไรคนเดียวเงียบๆ มาจน ใกล้ถึงหมู่บ้านแม่ทาราวๆ ๑-๒ กิโลเมตร จึงเอ่ยบอกหลานขึ้นว่า เดี๋ยวจอดส่งอาว์ที่นี่แหละ อาว์จะเดินเล่นสักพัก และเดี๋ยวจะเดินเข้าไปในหมู่บ้านเอง ผมบอกหลานชาย แต่จุดประสงค์ที่แท้ก็คือ ต้องการลงเดินก็เพราะเห็นมีก้อนหินสวยเรียงรายอยู่ในลำน้ำแม่ทาที่กำลังไหลเอื่อยริน จึงอยากเก็บเพื่อไปฝากเพื่อนคนหนึ่งที่รู้ว่าเธอชอบสะสมหินสวยๆ แวบแรกก็ไม่มั่นใจว่าเราจะเก็บก้อนหินไปฝากได้สวยถูกใจเธอหรือเปล่า แต่หลังจากเริ่มเลือกเก็บก้อนหินอยู่สักพักหนึ่ง ก็พบว่าตนเองเกิดความสุขสงบอย่างประหลาด เป็นความรู้สึกที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางความเร่งรีบของเมืองใหญ่ คิดแล้วก็รู้สึกขอบคุณเพื่อนคนนั้น ที่แนะนำให้เราได้มาพบแง่มุมของความสงบเช่นนี้
.
จากการทบทวนเรื่องที่ผ่านเข้ามาในความคิดคำนึงในช่วงสองสามวันนี้ หรือว่าแท้ที่จริงแล้วพวกเราทุกๆ คนก็กำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจุดมุ่งหมายส่วนตัวอยู่ด้วยกันโดยถ้วนทั่ว......จะต่างกันก็แต่ที่แต่ละคนก็มีเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการใช้ของตนเอง อาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หากแต่เราแต่ละคนเคยหยุดคิดบ้างสักนิดไหมว่า เหตุผลของผู้อื่นที่กำลังทำในสิ่งที่แตกต่างและเราไม่เห็นด้วย จริงๆ นั้นคืออะไร และเขาทำเพราะอะไร ในขณะเดียวกันเราเองมีบ้างไหมที่กำลังทำสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่แทบจะนับได้ว่าเป็นการกระทำในระนาบเดียวกันกับการกระทำของผู้อื่นที่เรากำลังประนามเขาอยู่
.
เพราะหากทุกคนทำได้ดังนั้นผมคิดว่า โลกเรานี้คงจะสงบและน่าอยู่ขึ้นอีกมาก หรือท่านละครับ...ว่าอย่างไร..กันบ้าง..เอ่ย
""""""""""""""""""""""
20 เมษายน 2552 10:58 น.
คนกุลา
.
กุลา ระหว่างเรียนกับงานคุณเลือกอย่างไหน..??? ประภพ ถามผม หลังจากที่เราทักทายกันเรียบร้อยแล้ว และนั่งลงคนละฟากของโต๊ะนั่งเอนกประสงค์ ที่บริเวณใต้ตึกนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในราวๆต้นปี 2519
เราทั้งสองเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาที่จัดตั้งขึ้นและเรียกตัวเองว่า สหพันธ์นักศึกษาเสรี ผู้ริเริ่มและก่อตั้งคือ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่ระยะหลังๆก็ถอยๆออกไปนัยว่าเพื่อให้รุ่นหลังๆขึ้นมารับผิดชอบแทน
สหพันธ์นักศึกษาเสรี จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมกลุ่มนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัย เพื่อทำงานกับกรรมกรในโรงงานและชาวนาในชนบท ในระยะแรกก็มีการทำงานการเคลื่อนไหวทั้งด้านกว้างและด้านลึกทั้งในเมืองและในชนบทผมเองนั้นรับผิดชอบการทำงานอยู่ใน อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ การทำงานที่นั่นก็เป็นการจัดตั้งและขยายการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย โดยอาศัยการรวมตัวกันคัดค้านการสร้างเขื่อนชีบน เป็นสาระในการให้การศึกษาและปลุกระดมให้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าของพวกเขา และเมื่อชาวนาได้ลุกขึ้นมากล้าต่อสู้กับอำนาจรัฐในปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว จึงมีการจัดกลุ่มให้การศึกษาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขาจัดตั้งกันเป็นขบวนการชาวนาที่เข้มแข็งเพื่อต่อสู้ทางการเมืองละชนชั้นต่อไป
ในปลายปี 2518 เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทั้งสองฝ่าย ซ้ายและขวา สังคมนิยม และเผด็จการ เริ่มเข้มข้นขึ้น การข่มขู่คุกคามจากฝ่ายอำนาจรัฐ และมวลชนจัดตั้งของกองกำลังฝ่ายขวาจัดก็ค่อนข้างแรงขึ้น พวกเราเองซึ่งถูกจัดอยู่ในฝ่ายซ้ายก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้โดยตรง เพราะที่ตั้งของสหพันธ์นักศึกษาเสรีตอนนั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะต้องมาประชุมกันแทบจะทุกเดือน เพื่อประชุมร่วมกับสมาชิกที่ทำงานอยู่ในจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ เช่นอุดรธานี พิษณุโลก รวมทั้งกลุ่มที่ทำงานอยู่ตามโรงงาน หลังจากประชุมเสร็จก็จะแยกย้ายกลับไปทำงานที่รับผิดชอบอยู่กันตามปกติต่อไป สำหรับพวกผมก็ต้องกลับเข้าไปทำงานเกาะติดกันอยู่ในหมู่บ้านในอำเภอหนองบัวแดง ชัยภูมิ ดังที่เล่ามาข้างต้น แต่การเข้าหมู่บ้านพวกเราพักหลังๆมักจะถูกดักกลุ้มรุมทำร้ายกันซึ่งหน้าเมื่อลงรถที่ตัวอำเภอ จากบุคคลที่เป็น อส. ซึ่งเป็นกำลังติดอาวุธของทางการในระดับอำเภอในยุคนั้น จนพวกเราไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้อีกเลย
.
ในระยะต้นปี 2519 จึงมีการตัดสินใจถอนกำลังทั้งหมดกลับเข้าเมือง และเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ในเขตุป่าเขา ต่อไป ผมทราบว่าสหพันธ์นักศึกษาเสรีได้มีการส่งคนบุกขึ้นไปเจรจากับฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บริเวณเทือกเขารอยต่อสามจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์และเลย เพื่อให้ส่งคนมานำการต่อสู้ต่อไป เพราะพวกเราทั้งหมดทั้งที่เป็นนักศึกษาและกรรมกร ไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาเลยแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้ผมมาทราบภายหลังว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ตัดสินใจเปิดเขตุการต่อสู้เขตุนี้เป็นพิเศษ โดยส่งกำลังมาเพียงสามคน แต่ให้กำลังส่วนใหญ่ที่จะทำงานต่อไปเป็นกลุ่มสหพันธ์นักศึกษาเสรี ที่ทำงานอยู่เดิมเป็นกำลังสำคัญ และคำถามของคุณประภพ ที่ถามผมนั้นคือภาพต่อขยาย จากการที่สหพันธ์นักศึกษาเสรีได้ตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่กล่าวมานั่นเอง
เราต้องการคนจำนวนหนึ่งไปทำงานฝังตัวแบบปิดลับ ในหมู่บ้านรอบภูเขียว ไปอยู่ในหมู่บ้านไม่ต้องเข้าป่า...ใช้ชีวิตแบบชาวบ้านไปก่อน!!! ประภพ กล่าวทิ้งท้าย ด้วยเสียงเข้มๆ
ก็พวกเราสอนอยู่เสมอ ไม่ใช่เหรอว่า ให้ส่วนตัว ขึ้นกับส่วนรวม ผมกล่าวตอบไป หลังจากนิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ ด้วยน้ำเสียงแบบที่ไม่ค่อยมั่นใจนัก
ตกลงว่าคุณเลือกงาน ใช่ใหม..??? ประภพ ถามรุกย้ำ มาอีก เพื่อความมั่นใจ
ครับ..!!! ผมย้ำคำตอบเดิม
เรามีเวลาให้คุณ สองสัปดาห์ เพื่อจัดการเคลียร์เรื่องส่วนตัวทุกอย่าง ให้เรียบร้อย แล้วเรามานัดพบกับอีกครั้ง เพื่อรับมอบภารกิจที่จะต้องทำประภพสรุป
.
เรา..ผมและประภพ เด็กหนุ่มสองคนในวัยที่ห่างจากการครบเบญจเพสอีกหลายปี จบการสนทนาลงและแยกย้ายกัน เพียงแค่นั้น เพื่อเตรียมตัวไปรับภาระที่หนักอึ้ง สำหรับเด็กหนุ่มวัยเพียงแค่นั้น ภาระในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติประเทศไทย
อยากกอบดาวราวดวงในห้วงฟ้า
เก็บเอามาเรียงร้อยเป็นสร้อยขวัญ
แล้วเก็บแสงแรงกล้าแห่งตาวัน
ล้อมด้วยจันทร์เพ็ญพร่างกลางสายลม
.
บางเหตุการณ์เลยผ่านไม่นานนัก
ยังทอถักใยฝันไม่ทันสม
ปล่อยหัวใจไหวว่างอย่างตรอมตรม
เงียบระงมมาทวนซ้ำ..เหยียบย้ำรอย
.
ผมและเขาและผู้คนอีกจำนวนมาก ได้เข้าร่วมภาระกิจการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ต้องเสียเลือดเนื้อของพี่น้องคนไทยทั้งสองฝ่าย เป็นเวลาต่อมาอีกหลายๆปี เคยมีคนถามผมว่า เมื่อโตขึ้นมาขนาดนี้ หากผมเลือกได้ผมจะตัดสินใจแบบนั้นอีกหรือไม่ ผมมักตอบว่าด้วยสถานการณ์แบบนั้น เมืองการปกครองแบบนั้น การคุกคามทำร้ายแบบนั้น ผมคงเลือกตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้ยาก และชีวิตเราทุกคนบางครั้งการตัดสินใจ เลือกทางเดินชีวิตที่มีผลต่อเนื่องกับชีวิตทั้งชีวิตของเรา ก็มักจะเกิดขึ้นในวัยก่อนเบญจเพส ทั้งนั้น ใช่หรือ..ไม่..???
ด้วยวัยและวุฒิภาวะ ที่ยังไม่พร้อม กับการตัดสินใจขนาดนั้น แต่ต้องอย่าลืมว่า คนในวัยนั้น ขนาดของหัวใจ ของเขามักจะใหญ่เกินกว่า วัยและวุฒิภาวะ อย่างแทบจะเทียบกันไม่ได้
ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพราะเมื่อวานผมนั่งคุยกับน้องๆเรื่องปัญหาในภาคใต้ และการปลุกระดมเยาวชนหนุ่มสาวให้เข้าไปต่อสู้ด้วยอาวุธ ในป่าเขา ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นมีความเหมือนกันอย่างยิ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
หรือแท้ที่จริงแล้วสังคมไทยไม่ได้โตขึ้นเลย ทางการเมือง.เพราะสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ เหมือนย้ำกับผมว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลง.ไปนั้น เป็นเพียงแค่สถานที่ ผู้คน และวันเวลา เท่านั้น แต่สาระของปัญหานั้นแทบจะยังคงเหมือนเดิม..
..