22 ธันวาคม 2552 22:04 น.
คนกุลา
กาพย์ราชิกา ๗ หรือ กาพย์ราชิกา คือ กาพย์ ชนิดหนึ่ง ที่ผม
พัฒนาขึ้น มีคำ ๗ คำในหนึ่งบาท จึงเรียกว่า กาพย์ราชิกา ๗ พัฒนามา
จากบทขับ ชมนาง ของบทขับหนังตะลุง ในภาคใต้ ที่ใช้ในการชมนาง
เพียงอย่างเดียว มาเป็น การใช้เขียนเล่าเรื่อง ในโอกาส ต่างๆ ที่แล้วๆมา
ผมและบางท่าน นำไปประพันธ์ ร่วมกับกาพย์ชนิดอื่นๆ และโคลง จน
กระทั่ง ประพันธ์ ร่วมกับกลอนแปด ก็เคย ครับ
กาพย์ราชิกา เนื่องจากคำในแต่ละวรรค จะสั้น จึงแต่งได้ง่าย
กาพย์ราชิกา มีลักษณะบังคับ หรือโครงสร้างของ ฉันทลักษณ์
ดังนี้คือ
๑ คณะ
๒ สัมผัส
๓ ลักษณะอื่นๆ
๔ การอ่านกาพย์ราชิกา
๕ ตัวอย่างบทร้อยกรอง
๑. คณะ
ใน ๑ บท มี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรค รวมเป็น ๔ วรรค
ใน ๑ บาท มี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๓ คำ วรรคหลังมี ๔ คำ รวม
เป็น ๗ คำ ได้ชื่อว่ากาพย์ราชิกา ๗ เพราะ จำนวน
คำใน ๒ วรรค หรือ ๑ บรรทัดรวมได้ ๗ คำ
๒. สัมผัส
สัมผัสระหว่างวรรค มีสัมผัส ๓ คู่ คือ
คู่แรก คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับ คำที่สองของวรรคหลัง
แทน ด้วย อักษร ก. (ดังในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง)
คู่ที่ สอง คำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรค
ที่สาม แทนด้วยอักษร ข.(ดังในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง)
คู่ที่ สาม คำสุดท้ายของวรรคที่สาม สัมผัสกับ คำที่สองของวรรค
สุดท้าย แทนด้วยอักษร ข. (ดังในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง)
สัมผัสระหว่างบท มี ๑ คู่ คือ
คำสุดท้ายของแต่ละบท สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สองของ
บทที่ตามมา แทนด้วยอักษร ง. (ดังในแผนภาพโครงสร้าง
ด้านล่าง)
(คำสัมผัส ในที่นี้คือสัมผัสสระ )
แผนภาพโครงสร้าง ของกาพย์ราชิกา ๗
๐ ๐ ก ๐ ก ๐ ข
๐ ๐ ข ๐ ข ๐ ง
๐ ๐ ค ๐ ค ๐ ง
๐ ๐ ง ๐ ง ๐ ๐
ตัวอย่างสัมผัสภายในบท
๐ ขวัญเอย(ขวัญ) รำ(พัน)หมอง((หมาง))
อยากปลอบ((นาง)) พี่((ร้าง))เพียงคราว
ตัวอย่างสัมผัสระหว่างบท
พยางค์สุดท้ายของบทต้น สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของ
บทถัดไป
๐ ขวัญเอยขวัญ รำพันหมองหมาง
อยากปลอบนาง พี่ร้างเพียง(คราว)
๐ รอคืนกลับ มารับขวัญ(สาว)
ส่งสร้อยดาว แพรวพราวให้((นวล))
๐ เฝ้าฝันถึง รำพึงใจ((หวล))
คืนเชยชวน แสนป่วนดวงใจ ฯ
๓.ลักษณะอื่นๆ
กาพย์ราชิกา ๗ อาจมีความยาวร้อยต่อกันกี่บทก็ได้ ไม่จำกัด
๔.การอ่านกาพย์ราชิกา ๗
การอ่านทำนองเสนาะสำหรับกาพย์ราชิกา อาจอ่านได้หลายแบบ เช่น
อ่านเป็นจังหวะ ๓ / ๒ ,๒ หรือ ๑ ,๒ / ๒,๒ ก็ได้
๕.ตัวอย่าง บทร้อยกรอง กาพย์ราชิกา ๗
จากบท "อาวรณ์" (คนกุลา)
๐ ใจถวิล ถึงถิ่นแดนฝัน
ทุกวารวัน ใฝ่ฝันนางเดียว
๐ ไกลหนักหนา เกินตาแลเหลียว
เกินทางเทียว ยิ่งเปลี่ยวดวงใจ
๐ กายหนาวเหน็บ แสนเจ็บเพียงไหน
แม้นยามใด หทัยร้าวราญ
หรือตัวอย่าง ของกาพย์ราชิกา ๗ จากบท"คำเปรย"ของคนกุลา
๐ บางใครหนอ บอกรอเคียงขวัญ
คนึงกัน ทุกวันมิวาย
๐ บางคำบอก มิหลอกลวงหมาย
วสันต์ปลาย ยิ่งคล้ายไคร่เจอ
๐ รับเหมันต์ ใจฝันพร่ำเพ้อ
ภักดิ์เพียงเธอ ละเมอใจปอง
๐ เพลาผ่าน ดวงมาลย์เราสอง
เคยเคียงครอง พี่น้องร่วมกัน
๐ รักมิเลือน ปีเดือนเปลี่ยนผัน
ท่ามวารวัน คู่ขวัญร่วมเรียง
๐ หนาวลมเอย รำเพยส่งเสียง
ร่ายเจรียง กล่อมเวียงวังเนาว์
๐ ห่วงน้องน้อย คงคอยใจเหงา
ปลอบนงเยาว์ คอยเฝ้าพี่คืน..ฯ
หรือตัวอย่าง ของกาพย์ราชิกา ๗ จากบท"จำจร"ของ คุณราชิกา
** จำใจจร อาวรณ์ห่วงหา
คอยพี่ยา กลับมาเคียงครอง.....
** หวังเพียงรัก ประจักษ์ใจสอง
สุขสมปอง เหม่อมองทุกครา....
** จำใจจาก ส่งฝากภูผา
ฝากรักพา แก้วตาดวงใจ....
** โอ้คนดี คราพี่หลับใหล
ส่งความนัย หทัยน้องเคียง....
** ลำนำถ้อย น้องน้อยฝากเสียง
รักร้อยเรียง ณ.เวียงวังเรา....
** แสนคำนึง รำพึงคราเหงา
รักแนบเนา ยอดเยาวมาลย์....
** อยู่หนใด สองใจประสาน
รักยืนนาน ร้อยกานท์เคียงครอง.....ฯ
และ บท"คราไกล"ของ คุณราชิกา
* ฟังคำเปรย มิเคยหม่นหมาง
โอบสองปราง มิจางห่างไกล
* ร่ายเรียงคำ ลำนำสดใส
ฝากลมไป ส่งใจให้เธอ
* เฝ้าคิดถึง รำพึงเสมอ
เพียงพบเจอ ละเมอมิวาย
* หวานวจี มิมีสลาย
รักมิคลาย ใจกายอาวรณ์
* หลับครั้งใด หทัยทอดถอน
เอื้ออาทร คราจรจำลา
* รักมิเลือน ย้ำเตือนห่วงหา
ขอแก้วตา สัญญาด้วยใจ
* รักร่วมฝัน มิพรั่นหวั่นไหว
สองหทัย ก้าวไปเคียงกัน....ฯ
เช่นนี้ เป็นต้น
.............
คนกุลา
ในเหมันต์
22 ธันวาคม 2552 20:26 น.
คนกุลา
กาพย์ฉบัง เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง จำพวกกาพย์ มักจะ
เขียนรวมอยู่ในหนังสือประเภทคำฉันท์ หรือคำกาพย์ มีลักษณะสั้น
กระชับ จึงมักจะใช้บรรยายความที่มีการเคลื่อนไหว กระชับ ฉับไว
แต่ก็มีบ้าง ที่ใช้กาพย์ฉบับบรรยายถึงความงดงาม นุ่มนวลก็มี
กาพย์ฉบัง 16 นั้น นิยมแต่งกันมากโดยนำไปแต่งบทชมความ
งาม บทไหว้ครู บทสรรเสริญพระพุทธเจ้า (บทสวดมนต์อ่านทำนอง
สรภัญญะ) บทพากย์ต่างๆ เช่น บทพากย์เอราวัณ เป็นต้น
นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน มีการแต่งกาพย์ฉบังในการ
พรรณนาธรรมชาติ ชมสัตว์ ชมสวนหรือแต่งสรรเสริญพระเกียรติก็ได้
กาพย์ฉบัง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาพย์ฉบัง 16 เนื่องจากมี
จำนวนคำ 16 คำ ในหนึ่งบท บ้างก็เรียกว่า กาพย์ 16 เฉยๆ ก็มี
๑. คณะ
กาพย์ฉบังบทหนึ่ง มีบาทเดียว บาทหนึ่งมี 3 วรรค คือ
วรรคต้น(รับ) มี ๖ คำ
วรรคกลาง (รอง) มี ๔ คำ
วรรคท้าย (ส่ง) มี ๖ คำ
บทหนึ่งจึงมีทั้งหมด ๑๖ คำ
การวางคณะให้สังเกตจากโครงสร้างแผนผังแผนผัง จะเห็น
บรรทัดที่หนึ่งมีสองวรรค และบรรทัดที่สองมี ๑ วรรค วางเช่นนี้
ต่อไปเรื่อย ๆ
๒. สัมผัส
กาพย์ฉบังมีลักษณะสัมผัสคล้ายกับกาพย์ยานี ๑๑ เพียงแต่มี
๓ วรรค การรับส่งสัมผัส เป็นดังนี้
คำท้ายวรรคต้น สัมผัสคำท้ายวรรคกลาง แทนด้วยอักษร ก.
ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
คำท้ายของวรรคกลาง อาจส่งสัมผัสสระไปยังคำแรกหรือคำที่สอง
ของวรรคท้ายก็ได้ แทนด้วยอักษร ก.เช่นเดียวกัน (ดังในแผนภาพ
โครงสร้างด้านล่าง)
ส่วนสัมผัสระหว่างบท เมื่อแต่งมากกว่า ๑ บทต้องมีสัมผัสสระ
ระหว่างบทคำท้ายวรรคท้าย ส่งสัมผัสไปยังคำท้ายวรรคต้น ของบทต่อไป
แทนด้วยอักษร ข.(ดังในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง)
กาพย์ฉบังอาจเขียนร้อยต่อไป ยาวเท่าใดก็ได้ ไม่จำกัด
แผนภาพโครงสร้างกาพย์ฉบัง ๑๖
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ก ๐ ๐ ๐ ก
ก ๐ ๐ ๐ ๐ ข
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ข ๐ ๐ ๐ ข
ข(หรือ)ข ๐ ๐ ๐ ค
๓.ลักษณะอื่นๆ
กาพย์ฉบัง ๑๖ นิยมใช้คำเป็นคู่ คือ
๐๐/๐๐/๐ก ๐๐/๐ก
ก๐/๐๐/๐ข
๐๐/๐๐/๐ข ๐๐/๐ข
ข(หรือ)ข/๐๐/๐ค
เช่น
กระเทือน / กระทบ / กระแทก ใช่ตก/ใช่แตก
แต่แทรก/รู้สึก/ในทรวง
(ศิวกานต์ ปทุมสูติ)
ตัวอย่างของกาพย์ฉบัง ๑๖ จากกาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่
มะม่วง/พวงพลอง/ช้องนาง หล่นเกลื่อน/เถื่อนทาง
กินพลาง/เดินพลาง/หว่างเนิน
เห็นกวาง/ย่างเยื้อง/ชำเลืองเดิน เหมือนอย่าง/นางเชิญ
พระแสง/สำอาง/ข้างเคียง
เขาสูง/ฝูงหงส์/ลงเรียง เริงร้อง/ซ้องเสียง
สำเนียง/น่าฟัง/วังเวง
กลางไพร/ไก่ขัน/บรรเลง ฟังเสียง/เพียงเพลง
ซอเจ้ง/จำเรียง/เวียงวัง ฯลฯ
หรือ อีกตัวอย่าง ของ อ.ภาทิพ ศรีสุทธิ์ ที่ว่า
ก ข /ก กา /ว่าเวียน หนูน้อย/ค่อยเพียร
อ่านเขียน/ผสม/กมเกย
ระวังตัว/กลัวคร/ูหนูเอ๋ย ไม้เรียว/เจียวเหวย
กูเคย/เข็ดหลาบ/ขวาบเขวียว
หันหวด/ปวดแสบ/แปลบเสียว หยิกซ้ำ/ซ้ำเขียว
อย่าเที่ยว/เล่นหลง/จงจำ
และ
หม้อแกง/ จัดแบ่ง/ ลงจาน รสมัน /หอมหวาน
ท้องพาล/ กู่ร้อง/ จ้องหา
เพียงเพื่อ/ ลิ้มรส/ โอชา เพียงสัก /ครั้งครา
ก็พา/ ติดพ้อง /ต้องใจ
กรเพชร แนะนำว่า การแต่งกาพย์ฉบัง ต้องระมัดระวังการหาคำ
มาลงจังหวะ 6/ 4 / 6 ให้ได้ อย่าฉีกคำ เช่น
มวลมิตร/บันทึก/เรียนรู้ เปิดอ่าน/ลองดู
โลกทัศน์/เปิดกว้าง/ยาวไกล
กรเพชร แนะนำว่าไม่ควรแต่งฉีกคำอย่างนี้ เพราะจะไม่ไพเราะ
อยากทำ/งานวัน/อาทิตย์ ที่ทำ/งานปิด
ไม่สา/มารถทำ/งานได้
ตัวอย่างกาพย์ฉบัง 16 ที่ไพเราะและมีชื่อเสียง มีดังนี้
บทสวดมนต์สรรเสริญพระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ(อ่าน
ทำนองสรภัญญะ)
*บทสรรเสริญพระธรรมคุณ*
ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน สว่างกระจ่างใจมล
ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล และเก้านับทั้งนฤพาน
สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
อีกธรรมต้นทางครรไล นามขนานขานไข ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
คือทางดำเนินดุจครอง ให้ล่วงลุปอง ยังโลกอุดรโดยตรง
ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง ด้วยจิตและกายวาจาฯ
*บทสรรเสริญพระสังฆคุณ*
สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา แต่องค์สมเด็จภควันต์
เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน ระงับและดับทุกข์ภัย
โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร ปัญญาผ่องใส สะอาดและปราศมัวหมอง
เหินห่างทางข้าศึกปอง บ มิลำพอง ด้วยกายและวาจาใจ
เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- ศาลแด่โลกัย และเกิดพิบูลย์พูนผล
สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์ อเนกจะนับเหลือตรา
ข้าขอนพหมู่พระศรา- พกทรงคุณา- นุคุณประดุจรำพัน
ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์ พระไตรรัตน์อัน อุดมดิเรกนิรัติศัย
จงช่วยขจัดโพยภัย อันตรายใดใด จงดับและกลับเสื่อมสูญ
*บทพากย์เอราวัณ*
อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อมรินทร์ ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่งเจ็ดงา ดังเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี สระหนึ่งย่อมมี เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์ ดอกหนึ่งแบ่งบาน มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์ ล้วนรูปนิรมิตมารยา
จับระบำรำร่ายส่ายหา ชำเลืองหางตา ทำทีดังเทพอัปสร
มีวิมานแก้วงามบวร ทุกเกศกุญชร ดังเวไชยันต์อมรินทร์
เครื่องประดับเก้าแก้วโกมิน ซองหางกระวิน สร้อยสายชนักถักทอง
ตาข่ายเพชรรัตน์ร้อยกรอง ผ้าทิพย์ปกตระพอง ห้อยพู่ทุกหูคชสาร
โลทันสารถีขุนมาร เป็นเทพบุตรควาญ ขับท้ายที่นั่งช้างทรง
บรรดาโยธาจัตุรงค์ เปลี่ยนแปลงกายคง เป็นเทพไทเทวัญ
ทัพหน้าอารักขไพรสัณฑ์ ทัพหลังสุบรรณ กินนรนาคนาคา
ปีกซ้ายฤาษิตวิทยา คนธรรพ์ปีกขวา ตั้งตามตำรับทัพชัย
ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร โตมรศรชัย พระขรรค์คทาถ้วนตน
ลอยฟ้ามาในเวหน รีบเร่งรี้พล มาถึงสมรภูมิชัย
ดังนี้เป็นต้น
...............
http://gotoknow.org/blog/phetroong/137940
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.radompon.com/resourcecenter/?q=node/36
http://www.st.ac.th/bhatips/
http://www.kusolsuksa.com/webboard/index.php?topic=451.0
.............
คนกุลา (เรียบเรียง)
ในเหมันต์
22 ธันวาคม 2552 19:25 น.
คนกุลา
กาพย์ยานี ๑๑ หรือ กาพย์ยานี คือ กาพย์ ชนิดหนึ่ง มีคำ ๑๑ คำ
ในหนึ่งบาท จึงเรียกว่า กาพย์ยานี ๑๑ นิยมใช้ในการเล่าเรื่อง ใน
หนังสือประเภทคำกาพย์ ร่วมกับกาพย์ชนิดอื่นๆ หรือในหนังสือ
ประเภทคำฉันท์ ร่วมกับกาพย์และฉันท์ชนิดอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน นิยม
แต่งกาพย์ยานีเป็นบทสั้นๆ โดยไม่ได้ร้อยกับฉันทลักษณ์ประเภทอื่นๆ
กาพย์ยานี มีลักษณะบังคับ หรือโครงสร้างของ ฉันทลักษณ์ ดังนี้
คือ
๑ คณะ
๒ สัมผัส
๓ ลักษณะอื่นๆ
๔ การอ่านกาพย์ยานี
๕ ตัวอย่างบทร้อยกรอง
๑. คณะ
ใน ๑ บาท มี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ รวม
เป็น ๑๑ คำกาพย์ยานี ได้ชื่อว่ากาพย์ยานี ๑๑ เพราะ จำนวน
พยางค์ใน ๒ วรรค หรือ ๑ บรรทัดรวมได้ ๑๑ พยางค์
ใน ๑ บท มี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรค รวมเป็น ๔ วรรค
ใน ๑ บาท มี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ รวม
เป็น ๑๑ คำ
๒. สัมผัส
สัมผัสระหว่างวรรค มีสัมผัส ๒ คู่ คือ
คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับ คำที่สามของวรรคหลัง แทน
ด้วย อักษร ก. ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สาม
แทนด้วยอักษร ข. ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
สัมผัสระหว่างบท มี ๑ คู่ คือ
คำสุดท้ายของแต่ละบท สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สองของ
บทที่ตามมา แทนด้วยอักษร ง. ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
สัมผัสระหว่างวรรค
ใน ๑ บท มีสัมผัส ๒ คู่ สังเกตจากแผนผังและตัวอย่าง (คำสัมผัส
ในที่นี้คือสัมผัสสระ )
แผนภาพโครงสร้าง ของกาพย์ยานี ๑๑
๐ ๐ ๐ ๐ ก ๐ ๐ ก ๐ ๐ ข
๐ ๐ ๐ ๐ ข ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ง
๐ ๐ ๐ ๐ ค ๐ ๐ ค ๐ ๐ ง
๐ ๐ ๐ ๐ ง ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
ตัวอย่างสัมผัสภายในบท
๏ เพราะครูผู้นำ(ทาง) ใช่เรือ(จ้าง)รับเงิน((ตรา))
พุ่มพานจึงนำ((มา)) กราบบูชาพระคุณครู
ตัวอย่างสัมผัสระหว่างบท
พยางค์สุดท้ายของบทต้น สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ ๒ของบท
ถัดไป
๐ เพราะครูผู้นำทาง ใช่เรือจ้างรับเงินตรา
พุ่มพานจึงนำมา กราบบูชาพระคุณ(ครู )
๐ หญ้าแพรกแทรกดอกไม้ พร้อมมาลัยอันงาม(หรู)
เข็มดอกออกช่อชู จากจิตหนูผู้รู้คุณ
ลักษณะอื่นๆ
กาพย์ยานี ๑๑ อาจมีความยาวร้อยต่อกันกี่บทก็ได้ ไม่จำกัด
บาทที่สองของแต่ละวรรค อาจไม่ต้องมีสัมผัส จากคำท้ายวรรคหน้า
ไปยังคำที่สามของวรรคหลังก็ได้
การอ่านกาพย์ยานี ๑๑
การอ่านทำนองเสนาะสำหรับกาพย์ยานี อาจอ่านได้หลายแบบ เช่น
อ่านเป็นทำนองสวด เป็นต้น โดยนิยมอ่านเว้น 2,3 / 3,3
ตัวอย่าง บทร้อยกรอง กาพย์ยานี ๑๑
๏ วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา
๏ จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
๏ นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นเสบียง
๏ สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้างคงคา
๏ ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
๏ ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำรายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป
๏ จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิศมัย
จงหมั้นมั่นหายใจ อย่าได้คร้านการวิชาฯ
หรือตัวอย่าง ของกาพย์ยานี ๑๑ ของ อ.ภาทิพ ศรีสุทธิ์
ตัวอย่างที่ ๑
๏ เสียงดังมาแต่ไกล เสียงนี้ไซร้นั้นคือแมว
ร้องดังเสียงแจ้วแจ้ว เสียงนี้แท้ไม่ใช่ใคร
๏ ตัวฉันนั้นชอบแมว เลี้ยงมาแล้วแต่ใส่ใจ
แมวนั้นเสียงหวานใส มีใครใครชอบเอ็นดู
๏ แมวฉันเกลียดน้ำฝน มันมีขนขึ้นฟูฟู
ตั้งชื่อว่าตุ๊ดตู่ ฟังชื่อดูน่ารักดี
ตัวอย่างที่ ๒
๏ สิบเอ็ดบอกความนัย หนึ่งบาทไซร้ของพยางค์
วรรคหน้าอย่าเลือนราง จำนวนห้าพาจดจำ
๏ หกพยางค์ในวรรคหลัง ตามแบบตั้งเจ้าลองทำ
สัมผัสตามชี้นำ โยงเส้นหมายให้เจ้าดู
๏ สุดท้ายของวรรคหนึ่ง สัมผัสตรึงสามนะหนู
หกห้าโยงเป็นคู่ เร่งเรียนรู้สร้างผลงาน
ตัวอย่างที่ ๓
คลื่นใจอาลัยคลื่นชีวิต
๏ คลื่นคลั่งทะเลโถม กระหน่ำโหมทะเลคน
คลื่นซัดระบัดชล เฉกจะล้างฤๅอย่างไร
๏ ยิ้มแย้มแต้มเกลื่อนอยู่ มินึกรู้เหตุการณ์ใด
ธรณีพิโรธไย จึงเข่นฆ่าประชากร
๏ ฟ้าดินดาวเดือนดับ คณานับขจายขจร
เสียงร่ำด้วยร้าวรอน ร้องหวีดหวาดทะเลตรม
๏ สายตาที่แตะต้อง ทุกที่ท้องล้วนทุกข์ถม
ซากศพกลางเลนตม สู้แดดลมอย่างเดียวดาย
๏ ฟ้าพรากจากอกฟ้า ปวงประชาพาขวัญหาย
คุณ"พุ่ม"ฉกรรจ์กาย ลาลับหมายกรายเยี่ยมฟ้า
๏ คลื่นใจจึงรวมจิต ร่วมอุทิศคลื่นศรัทธา
สยบคลื่นยักษา ร่วมเยียวยาด้วยคลื่นใจ
ดังนี้ เป็นต้น
...........
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.radompon.com/resourcecenter/?q=node/36
http://www.st.ac.th/bhatips/gabpglon11.htm
.............
คนกุลา
ในเหมันต์
22 ธันวาคม 2552 18:48 น.
คนกุลา
กาพย์ ตามความหมายเดิมนั้นมีความหมายอย่างกว้างกว่า
ที่เข้าใจกันในภาษาไทยปัจจุบัน ความหมายเดิมหมายความ
ครอบคลุมถึง บรรดาบทนิพนธ์ที่กวีได้ร้อยกรองขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน หรือ ร่าย นับว่าเป็นกาพย์ทั้งนั้น แต่
เมื่อนำมาใช้ของไทย เราให้หมายความแคบลง โดย หมายความถึง
คำประพันธ์ชนิดหนึ่งของกวีเท่านั้นเอง
กาพย์ หรือ คำกาพย์ หมายถึง คำประพันธ์ หรือบทร้อยกรอง
ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีกำหนดคณะมีลักษณะวรรค พยางค์ และสัมผัสที่
ค่อนข้างเคร่งครัด คล้ายกับฉันท์ วรรคหนึ่งของกาพย์มีคำค่อนข้าง
น้อย(3-6 คำ) แต่เดิมนิยมใช้แต่งร่วมกันระหว่างกาพย์หลาย
ชนิดหรือแต่งร่วมกับ โคลงและฉันท์ก็ได้
กาพย์ มีกำเนิดมาจากคัมภีร์วุตโตทัยของบาลีและสันสกฤตเช่น
เดียวกับฉันท์ แต่ไม่บังคับ ครุ ลหุ จึงได้รับความนิยมในการใช้แต่ง
เป็นอย่างมาก ใช้แต่งวรรณคดีทั้งเรื่อง บางครั้งแต่งร่วมกับฉันท์
หรือแต่งกับโคลงสี่สุภาพ เป็น กาพย์ห่อโคลง และ กาพย์เห่เรือ หรือ
ใช้แต่งกล่อมช้าง เรียกว่า กาพย์ขับไม้
กาพย์เป็นคำประพันธ์ที่ปรากฏมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา มีทั้งที่
แต่งเป็นหนังสืออ่านเล่น แต่งเป็นหนังสือสวด หรือเป็นนิทาน กระทั่ง
เป็นตำราสอนก็มี
คำว่า" กาพย์ " แปลตามรูปศัพท์ว่า เหล่ากอแห่งกวี หรือ
ประกอบด้วยคุณแห่งกวี หรือ คำที่กวีได้ร้อยกรองเอาไว้ กาพย์ มา
จากคำว่า กาวฺย หรือ กาพฺย ซึ่งมาจากคำว่า " กวี " กวีออกมา
จากคำเดิมในภาษาบาลีและสันกฤต ว่า " กวิ " แปลว่า ผู้คงแก่
เรียน ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีปัญญาเปรื่องปราด ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน
และแปลอย่าอื่นได้อีก
คำว่า " กวิ " หรือ " กวี " มาจากรากศัพท์เดิมคือ
" กุธาตุ " ซึ่งแปลว่าเสียง ทําให้เกิดเสียงร้อง เสียงร้องระงม
เสียงคราง การร้องเสียงเหมือนนก หรือ เสียงแมลงผึ้ง
กาพย์มีลักษณะผิดกับกลอนธรรมดา คือ
๑. วางคณะ พยางค์ และสัมผัสคล้ายกับฉันท์
๒. ใช้แต่งปนกับฉันท์ได้ และคงเรียกว่า คำฉันท์ เหมือนกัน
กาพย์มีด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน
กาพย์ที่นิยมใช้อยู่ในภาษาไทย มี ๕ ชนิด คือ
๑. กาพย์ยานี ๑๑
๒. กาพย์ฉบัง ที่นิยมกันมี กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์ฉบังนาคบริพันธ์
๑๖
๓. กาพย์สุรางคนางค์ มีอยู่ ๒ ชนิด คือ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
สุรางคนางค์พิเศษ (กากคติ)
๔. กาพย์ธนัญชยางค์ ๓๒
๕. กาพย์ขับไม้ หรือ กาพย์สุรางคนาง ๓๖
สำหรับกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนาง นั้นใช้
เทียบเคียงแต่งปนกับฉันท์ได้ เพราะเหตุที่มีลักษณะคล้ายกันกับ
ฉันท์และสามารถแต่ปนกับฉันท์ได้ จึงเรียกว่าบทกวีนั้นว่าคำฉันท์ด้วย
หมายเหตุ:
ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ)
และสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา
และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น
ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ที่
ไม่มีตัวสะกด
""""""""""""""""""""""
แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.radompon.com/resourcecenter/?q=node/36
http://www.st.ac.th/bhatips/gabpglon11.htm
http://board.dserver.org/n/natshen/00000020.html
http://www.sk.ac.th/club/Web%20T.Chutima%20New/8.htm
http://www.dekgeng.com/thai/poem/grap.html
.............
คนกุลา
ในเหมันต์
9 ธันวาคม 2552 21:39 น.
คนกุลา
๖. สร้อยโคลง หรือ คำสร้อย
คำสร้อยซึ่งใช้ต่อท้ายโคลงสี่สุภาพในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 นั้น
จะใช้ต่อเมื่อความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้ว
ไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้ "รกสร้อย"
สร้อยโคลง มักนิยมใช้คำที่มีความหมายได้เพียงคำเดียว ส่วน
อีกคำจะเป็นสร้อยที่ไม่มีความหมาย เช่น นางเอย ใจแฮ นุชเฮย
เปรียบนา ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สร้อยโคลง ที่ ใช้คำ ที่มีความหมาย
ทั้งสองคำ ซึ่งเรียกกันว่า "สร้อยเจตนัง" คือสร้อยที่ใช้ตามใจ ซึ่ง
ไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ ตลอดจนไม่นิยมกันใน
การแต่งโคลงโดยทั่วไป
คำสร้อยที่นิยมใช้กันเป็นแบบแผนมีทั้งหมด 18 คำ
1. พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
2. แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
3. พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่
2 ก็ได้
4. เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
5. เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
6. นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
7. นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
8. บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
9. รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
10. ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
11. เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
12. ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
13. แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
14. ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
15. แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
16. อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์
เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตก
กังวล
17. เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือ
วางไว้ให้คำครบตามบังคับ
18. เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มา
จากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า เป็นเช่น
นั้นแล้ว ได้เช่นกัน
คำสร้อยนั้น จะต้องเป็น คำเป็น เท่านั้น ห้ามใช้ คำตาย
กล่าวโดยสรุป ข้อบังคับของโคลงสี่สุภาพ (สังเกตจากแผนผัง) ได้ดังนี้
๑. บทหนึ่งมี ๔ บาท หรือ ๔ บรรทัด
๒. วรรคหน้าของทุกบรรทัด มี ๕ พยางค์ วรรคหลังของบรรทัดที่ ๑ - ๓ มี ๒ พยางค์
บรรทัดที่ ๔ มี ๔ พยางค์ สามารถท่องจำนวนพยางค์ได้ดังนี้
ห้า - สอง (สร้อย ๒ พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ )
ห้า - สอง
ห้า - สอง (สร้อย ๒ พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ )
ห้า - สี่ (คำสุดท้ายหากจะให้เกิดความไพเราะในการอ่านนิยมลงเสียงจัตวา)
๓. มีตำแหน่งสัมผัสตาม สัญลักษณ์ (ส) และ (ท)
๔. บังคับรูปวรรณยุกต์ เอก ๗ โท ๔ ตามตำแหน่งในแผนผัง
๏ กากากาก่าก้า กากา(ส) กากา
กาก่ากากากา(ส) ก่าก้า(ท)
กากาก่ากากา(ส) กาก่า กากา
กาก่ากากาก้า(ท) ก่าก้ากากาฯ
......................
คนกุลา (เรียบเรียง)
ในเหมันต์
ขอบคุณที่มา :
http://www.st.ac.th/thaidepart/poemt2.php#chan6
http://www.st.ac.th/bhatips/klong.htm
http://th.wikipedia.org/wiki
..............