27 ธันวาคม 2551 13:37 น.
ก่อพงษ์ พงษพรชาญวิชช์
อากาศปลายเดือนธันวาคมหนาวเย็น จนควันไฟที่ลอยเรี่ยอยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านชนบทเคล้ากันแทบเป็นสายเดียวกับหมอกฟ้าที่เรี่ยพื้น ผู้เฒ่าและเด็กน้อยต่างละจากที่นอนและผ้าห่มผืนบางมานั่งล้อมกองไฟที่สุมขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่ให้ความอบอุ่นได้ต่อเนื่องและค่อนข้างนาน
หลายวันก่อนลมหนาวพัดแรงจนแนวไผ่ไหวเอน ลมอย่างนั้นทำไผ่สีกอระรัวฟังคล้ายกับใครบางคนสะอึกแกมสะอื้นในบางคราวที่เหงาและหมองหม่นยิ่ง
วานซืนอากาศก็ยังเป็นอย่างนั้นแต่วันนี้ท้องฟ้ากลับเปลี่ยนแปลงไป เมฆดำแกมหมองแผ่เป็นแนวบาง ๆ คลุมไปทั่วท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว แล้วฝนก็พรำลงมาจนแม้แต่คนหนุ่มบางคนยังถึงกับสะบัดหนาว
นั่นเองที่ทำให้กองไฟในที่โล่งหลายแห่งต้องเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ใต้เพิงหมาแหงนใกล้คอกวัวแทน
"อากาศมันเปลี่ยนไวอย่างนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ลำบากแย่เลย .. เอ้านี้ข้าวจี่สุกแล้ว"
"ขอบใจจ้ะ..เด็กก็เป็นหวัดเป็นไข้กันแยะมาก ใครไม่มีเสื้อหนาวยิ่งลำบาก"
"หลายปีก่อนแถวบ้านเรามีคนเอาเสื้อหนาวมือสองราคาถูกๆมาขายหาซื้อที่ไหนก็ได้"
"สองปีมานี้พวกพ่อค้าหันไปขายพวกของกินกันหมด..หนังเค็มคงจะสุกแล้วมั้ง"
"อืม..กลิ่นหอมเชียว เดี๋ยวฉันจะทุบหนังวัวเผานี้ให้เอง กินกะแจ่วปลาร้าอร่อยอย่าบอกใครเลยล่ะ เออมันเทศก็สุกแล้วด้วย ว่าแต่ว่ามีใครอยากจิบวิสกี้ข้าวเหนียวกะหนังเค็มไหม ฉันจะยกมาให้"
"ยกมาเลย "
วงสนทนาของคนวัยกลางคนสามคนดำเนินไปท่ามกลางกลิ่นควันไฟเคล้ากลิ่นหนังวัวเผา แจ่วปลาร้าและวิสกี้ข้าวเหนียว ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก
"พี่ไปทำงานที่ไหนต่อหลังจากแยกทางกับหน่วยงานเก่า"
"ก็ไปรับจ้างฝรั่งทำงานอยู่แถวใกล้เขื่อนน้ำงึมของลาว พอเขาหมดงบจ้างก็ไปทำงานกับหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ"
"แล้วพี่สะใภ้ล่ะ"
"เขาก็ยังทำงานอยู่ที่เก่า ลูกชายตอนนี้ก็แต่งงานไปแล้วและไปอยู่บ้านเมีย เหลือลูกสาวอีกคนอยู่กับแม่ของเขา"
"เราไม่ได้เจอกันสิบกว่าปีแล้วนี่เนาะ ผมกับแฟนดีใจมากเลยที่พี่แวะมาเยี่ยม"
"พี่ก็ดีใจ พอดีหน่วยงานใหม่ของพี่เขามาเปิดงานแถวนี้ก็เลยคิดถึงพวกเอง นี่ได้น้องกี่คนแล้วล่ะ"
"ยังไม่มีน้องเนิ้งซักคนเลยพี่"
"เออ..ว่าไปแล้วมันก็ดีอีกแบบหนึ่ง คือไม่ต้องพะวักหน้าพะวงหลังกับภาระแบบคนเป็นพ่อแม่"
"แต่บางทีมันก็เหงา เราคิดว่าถ้ามีลูกคงมีอะไรทำร่วมกันเยอะแยะ"
"เอ็งสองคนใครเป็นหมันล่ะ"
"คงเป็นหมันทั้งคู่ค่ะ"
"งั้นก็อย่าไปซีเรียสเรื่องลูกเลย มีอะไรให้ทำสนุกเยอะแยะไปอีกอย่างก็ไม่ต้องห่วงเรื่องลูกด้วย"
"อ้าว..ทำไมล่ะคะ"
"ก็เด็กทุกวันนี้ ถ้าเราเลี้ยงเขาด้วยเงินอย่างเดียวโดยไม่มีเวลาดูแลอบรมนิสัยใจคอก็จะเสียผู้เสียคนได้ง่ายดาย อย่างที่พวกเราเห็นในข่าวทุกสื่ออยู่ทุกวัน"
"อ๋อ..เข้าใจค่ะ แถว ๆ ชนบทบ้านเราก็เป็นแบบในข่าวแล้วหลายราย เรียนยังไม่จบท้องป่องกันซะแล้ว เสร็จแล้วก็ไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก เดือดร้อนพ่อแม่ต้องรับกรรมจากความสนุกชั่วประเดี๋ยวประด๋าวของตัวเอง"
"พี่เคยเก็บข้อมูลวิจัยว่าทำไมเด็กจึงท้องในวัยเรียนกันมาก"
"ได้คำตอบว่ายังไงหรือครับ"
"เด็กเขาบอกว่า พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่ด้วย ไปหาเงินต่างถิ่น อยู่กับยาย ยายก็ไม่มีเวลาติดตามสอดส่องดูแล ครูก็ไม่มีเวลาอบรมนิสัยใจคอ ทุกคนไม่มีเวลาสำหรับเด็ก สื่อก็โฆษณาลงไปทำให้เด็กเห็นดีเห็นงามกับพฤติกรรมชวนให้ชิงสุกก่อนห่าม เด็กเลยเอาอย่าง"
"โอ..มันเหมือนทุกคนโดนตบหน้าฉาดใหญ่เลยนะคะเนี่ย"
"พี่ก็คิดอย่างนั้น แต่ดูเหมือนไม่มีใครกลับมาทบทวนตัวเองกันเลย มีแต่วิ่งไปข้างหน้า ตะกายฝันว่าจะร่ำรวย โดยที่ไม่คิดว่า วันนั้นคิอวันที่ได้สูญเสียคุณค่าของความสุขของครอบครัวไปแล้ว"
"มีคนเคยถามผมว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร"
"แล้วเอ็งตอบเขาว่าอย่างไร"
"ผมไม่มีคำตอบสำหรับเขา ผมมีแต่คำถาม ผมถามว่าทำไมพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยเงิน ทำไมพ่อแม่ต้องไปจากบ้าน ทำไมครูอาจารย์จึงสอนแต่หนังสือแต่ไม่สอนชีวิต สื่อสารมวลชนจึงคิดถึงแต่เงินไม่คิดถึงคุณภาพของสังคมไม่คิดถึงคุณธรรมจริยธรรมของสังคมและอีกหลายคำถาม"
"แล้วเขาตอบเองไหม"
"ไม่ครับ"
"นั่นไง ทุกคนก็เหมือนกันตรงที่เรียกร้องเอาคำตอบจากคนอื่น เรียกร้องคาดหวังให้คนอื่นเป็นฝ่ายแก้ โดยที่ตัวเองก็ไม่ลงมือทำ คำตอบมันง่ายนิดเดียว เริ่มตรงไหนก่อนก็ได้ เพราะมันกระทบกันไปหมด"
"งั้นอันแรก หยุดเลี้ยงลูกด้วยเงินนั้นก็ได้"
"ใช่..ก็ได้ ถ้าเราเลิกให้เงินมีคุณค่ากว่าความเป็นมนุษย์เราก็จะมองมันด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป เราจะมองคนรวยแต่ขี้โกงด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป เราจะมองการเลี้ยงลูกด้วยเงินของเราเองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป เราจะกลับมาสนใจคนในครอบครัวมากขึ้น เลี้ยงดูเขา เอาใจใส่ได้มากขึ้น"
"สังคมเลวร้ายไม่ใช่เราไม่มีส่วนทำให้มันเลวร้าย"
"ถูกต้อง... เราแห่ไปตาม ๆ กัน เห็นอ้ายหมอนั่นรวยก็อยากรวยอย่างมัน นับถือมันทั้งที่มันฉ้อฉลเอาจากคนอื่น ๆ ดิ้นรนสายตัวแทบขาดเพื่อที่จะรวยจนลืมถามลูกว่า จริง ๆ ลูกต้องการความรักความเอาใจใส่ดูแลหรือต้องการแค่เงิน"
"อา...ผมเห็นแจ้งแล้วจริง ๆ หนอ แต่ว่าสังคมของเราไปไกลมากเลยนะครับ"
"ใช่..มันไปไกลมาก จนไปเห็นทางตัน ไม่กลับก็ไปต่อไม่ได้"
"หนทางเดียวที่เหลืออยู่คือหันกลับมาทบทวน สถานการณ์มันบีบทุกคนเอง"
"ถูกต้อง...."