4 เมษายน 2550 17:06 น.
ก่อพงษ์ พงษพรชาญวิชช์
::กะหล่ำปลีเดือนเมษายน::
ก่อพงษ์ พงษพรชาญวิชช์
4 เมษายน 2550
เผยแพร่ครั้งแรกใน Praphansarn.com
ผมได้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบไทมาจากชาวบ้านคนหนึ่งในงานกาชาดของจังหวัดสกลนคร ความจริงได้แนวคิดอีกหลายเรื่องครับเกี่ยวกับการพึ่งตนเองของคนเล็ก ๆ ในสังคมคนกินคนสังคมใหญ่ ขอสารภาพครับว่าผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าชาวบ้านธรรมดาเขาจะคิดเรื่องเศรษฐกิจมหภาคได้เป็นระบบแบบนั้น หลังจากที่ได้ฟังชาวบ้านพูดวันนั้นผมย้อนกลับมาคิดต่อ แต่ก็คิดไม่ตก ในเรื่องทางเลือกเศรษฐกิจของประเทศของเรา แต่เอาเถอะครับ ถึงแม้จะยังนึกทางเลือกไม่ออก ผมก็บอกได้ว่า ผมชอบวิถีไทครับ
วิถีไท ตรงกันข้ามกับวิถีทาสนะครับ วิถีทาสนี่อธิบายได้ว่าเป็นรูปแบบของการคิด การสืบชีวิตแบบขึ้นอยู่กับคนอื่น คนอื่นมีอิทธิพลอยู่เหนือทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย กับทั้งไม่อยากออกไปจากวิถีนั้นด้วย
ชาวบ้านคนนั้นเล่าว่า ในหมู่บ้านของเขา ทุกคนปลูกผักอย่างน้อย 44 รายการ พืชผักทั้งหมดนี้จะครอบคลุมการกินอยู่ทั้งปีโดยไม่ต้องถามหาผักเร่งฮอร์โมนและรอนชีพแมลงจากแม่ฮ่องสอน ผมถึงบางอ้อเลยนะครับ เพราะเคยไปแม่ฮ่องสอน ตลอดเส้นทางบนภูเขาผมได้กลิ่นยาฆ่าแมลงตลอดเส้นทาง ได้เห็นพืชผักจากที่โน่นล่องลงใต้มายังตลาดสี่มุมเมืองแล้วแยกกระจายแปดทิศไปยังจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้านต่าง ๆ เกือบทั่วไทย กับทั้งผมได้เห็นด้วยว่าคนปลูกผักที่โน่นประสบกับโรคภัยไข้เจ็บอันชวนสนเท่ห์มากว่าในเมื่อรู้อย่างนั้นอย่างนั้นว่ายารอนชีพแมลงและฮอร์โมนเร่งขนาดผักคือสาเหตุของการเจ็บป่วย ทำไมพวกเขาจึงหยุดใช้มันไม่ได้
แรงจูงใจที่จะปลูกผักกินหนนั้นเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ช่วงปลายฤดูหนาวที่ควรจะเก็บผักหน้าหนาวกินได้แล้วผมกลับเพิ่งเริ่มเพาะกล้าพืชผัก ดังนั้นช่วงที่ผักของผมจะโตพอที่เก็บกินได้ ฤดูหนาวก็ต้องวาย*ไปแล้วอย่างแน่นอน ผมคิดได้แต่ไม่สนใจครับ ลงมือเพาะปลูกทันที เมล็ดผักทุกอย่างเท่าที่จะหาได้จากตลาด บ้านข้างเคียง ญาติ ๆ คนอื่นๆ หรือแม้แต่ในห้างใหญ่ ๆ ข้ามชาติผมก็เตร็ดเตร่ดูว่ามีพืชผักอันใดที่จะเอาไปปลูกได้หรือไม่ด้วย ผมได้พืชผักแค่ 10 รายการเท่านั้นเองครับ
กะหล่ำปลีเป็นผักที่ผมชื่นชอบ ชอบที่ขนาดของมันครับ เมื่อเทียบกับผักอื่น ๆ ด้วยเวลาและปริมาณน้ำที่รดเท่ากัน กะหล่ำปลีให้น้ำหนักมากที่สุด ผมได้เมล็ดพันธุ์กะหล่ำมาจากเพื่อนคนหนึ่งที่ไปอยู่ภาคเหนือ เขาบอกว่าเป็นพันธุ์หนักที่คนทางเหนือปลูกขายทั่วประเทศนั่นแล ไม่นานนักกล้ากะหล่ำก็โตพอที่จะย้ายแปลงปลูก นับจำนวนกะหล่ำทั้งหมดที่ผมปลูกไปหนนั้น 220 ต้นครับ เออนี่นะแรงฮึดของคนเรา ความคิดปลูกกะหล่ำขายไม่ได้อยู่ในหัวสมองเลยนะครับ ผมรู้ดีว่าสินค้าเกษตรไม่เคยทำให้เกษตรกรรุ่งเรืองได้ นายกคนก่อนที่เคยปลูกสับปะรดขาย ก็เลิกแล้วหันมาปลูกเสาโทรศัพท์ขายคลื่นมือถือแทนก่อนที่จะเอาไปแลกเงินดอลล่าร์จากประเทศพี่ลอดช่องเพื่อเดินทางท่องเที่ยวประเทศต่างๆในบั้นปลายชีวิต
ผมไม่ชอบกลิ่นของกะหล่ำ มันเหมือนบางอย่างที่ช้ำ ๆ เกือบเน่า ที่พอจะรับได้อย่างหนึ่งคือรสและความสดเมื่อเคี้ยวแนมไส้กรอกหรือลูกชิ้นปิ้ง หลายวันก่อนแฟนของผมทำผัดเปรี้ยวหวานกะหล่ำให้กิน ทั้งบ้านติดใจเลยครับ แม่ครัวของเราโดนรบเร้าให้ผลิตซ้ำอาหารชนิดนี้อีกเนือง ๆ ทั้งมื้อเช้าและเย็น ผมเองเคยทำหน้าที่กุ๊กผู้ช่วยอยู่หนหนึ่ง คราวนั้นผมให้ลูก ๆ มีส่วนร่วมคิดชื่ออาหารให้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเมนูนั้นไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน ได้ชื่ออาหารแปลกใหม่ดังที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้ สี่สหายย่ำดาวอังคาร( ผักสี่อย่างเน้นกะหล่ำ ผัดพริกกับเนื้อหมู) และริ้วฝันในคืนฝน(กะหล่ำใบเขียวหั่นเป็นริ้วยาวผัดอย่างผัดผักบุ้งไฟแดง) เป็นต้น รสชาติ ..ฮ่า ๆ คงเหมือนโฆษณา เคยไม่อร่อยอย่างไร ก็...ไม่อร่อยอย่างนั้น ลูก ๆ กินด้วยท่าทางเอร็ดอร่อยอย่างยิ่ง ก็แน่ล่ะครับ เพราะผมบอกลูกว่าผักนั้น เป็นฝีมือการรดน้ำดูแลของลูก กะหล่ำของคนอื่นอาจงดงามช่วงหนาวแต่ผักของเรางดงามหน้าแล้ง มองออกไปนอกบ้านตอนนี้กะหล่ำเฉาซะยิ่งกว่าเฉากลางแดดเปรี้ยงเลยครับ
ลูกคนเล็กถามว่า ทำไมผักของเราจึงไม่ค่อยมีแมลงกวนจนต้องพึ่งยาปลิดชีพแมลงแบบคนอื่น ลูกคนโตตอบแทนพ่อว่า เพราะพ่อปลูกผักแบบปนเป ผักมีกลิ่นก็หลายชนิด ดอกไม้กลิ่นแรงก็จัดแถวอยู่ในนั้นด้วย แมลงมันต้องงแน่ ๆ ว่า เอ๊ะ ผักพวกนี้มันจะกินได้ไหมนะ มัวแต่งงก็เลยไม่ได้กิน อดอาหารตายไปก่อน เราพากันฮาครับ เหตุผลนั้นน่าฟังครับ ผมเคยไปชมนิทรรศการของบริษัทขายผักยักษ์ที่กรุงเทพฯ เขาทำแปลงผักรวมกับพืชดอกกลิ่นแรง เขาโม้ว่าด้วยวิธีการเช่นนั้นเช่นนั้นแหละผักของเขาจึงเป็นผักปลอดจากสารพิษอย่างแท้จริง รู้ไหมครับ มีคนสมัครขายผักให้เขาเป็นการใหญ่ ทั้งหมอ ครู ชาวนาด้วยก็มี
เพื่อนผมที่ส่งเมล็ดกะหล่ำมาให้บอกว่า เจ้านี่ถ้าโตเต็มที่ขนาดของมันพอ ๆ กับหม้อหุงข้าวขนาดกินกันได้ 4 คน ผมนึกแล้วก็หันไปมองแปลงกะหล่ำกลางแดด มันโตมาก.. เท่าหัวเข่าเห็นจะได้ ฮา! ผมเด็ดใบแก่ไปโยนให้ปลาในบ่อปลาในทุ่งนาใกล้บ้าน ปลากินพืชพวกตะเพียนยี่สก ตอด ดึง ลาก รุมเป็นการใหญ่ ปลาตัวเล็ก ๆ ที่ผมปล่อยลงน้ำเมื่อพฤษภาคมที่แล้วตอนนี้โตเท่าฝ่ามือแล้วนะครับ พวกนั้นคงชื่นชมกะหล่ำเมษายน พอ ๆ กับนักปลูกผักมือใหม่อย่างผม
หลายวันก่อนลูกชายคนเล็กพูดคุยทางไกลกับปู่ย่า เขาบอกว่าจะเอากะหล่ำฝีมือของเขาไปฝากตอนกลางเดือนเมษายน เสียงปู่ย่าหัวเราะนึกว่าเขาพูดเล่น เมื่อแม่ของเด็กน้อยคุยโทรศัพท์บ้างว่าทำกับข้าวมื้อเย็นเป็นผัดเปรี้ยวหวานกะหล่ำจากแปลงผักของเด็กน้อย ปู่ย่าจึงยอมเชื่อว่ากะหล่ำเดือนเมษายนห่อเป็นหัวจริงๆ
แดดกล้าเวลาเที่ยงอาจจะทำให้กะหล่ำปลีเดือนเมษายนเหี่ยวเฉาลงไปบ้าง แต่เมื่อเย็นย่ำตลอดไปจนถึงรุ่งวันใหม่กะหล่ำนั้นก็กลับมาสดชื่นและสดใสได้อีกครั้ง
ในสังคมคนกินคนที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมใหญ่ครอบงำและแผดเผาการพึ่งตนเองของคนและสังคมเล็ก ๆ ผมมองเห็นความหวังนั้นครับ ความหวังที่จะอยู่อย่างเป็นไทได้จริง ๆ ของผู้คนผู้มีแรงฮึดบางอย่าง