30 พฤษภาคม 2547 20:53 น.
กุ้งหนามแดง
น้ำตาร่วงร้าวรอนอุทรแม่
นับตั้งแต่ลืมตาร้องจ้าขอ
โอกาสรักครั้งแรกเข้าแทรกกอ
นับวันรอเก้าเดือนเพื่อเคลื่อนมา
ตั้งแต่อยู่ในครรภ์สัมพันธ์แรก
มิได้แตกต่างอื่นล้วนชื่นหนา
แต่พอคลอดออกมาเห็นกายา
ชะงักชาหน้าแตกด้วยแปลกพันธ์
ตีหน้ายักษ์หนักข้อชลอรัก
ข้อหาหนักมีชู้ช่างตู่สรร
พยาบาลหยิบผิดผลิตภัณฑ์
พิสูจน์ฉันตรวจทีดีเอ็นเอ
ไม่รักฉันแล้วใยให้ฉันเกิด
รักประเสริฐขาดพลันวันหันเห
ฟ้องเอาผิดกับแม่แท้เกเร
เคยขี้เหร่หลอกลวงติดบ่วงใจ
แม่เคยไปศัลยกรรมทำหน้าสวย
หลงสำรวยงามเลิศจึงเกิดได้
แล้วตัวฉันไร้สิทธิ์ผิดอย่างไร
ให้อภัยที่ฉันแค่เหมือนแม่เอย..
30 พฤษภาคม 2547 20:39 น.
กุ้งหนามแดง
ตะวันพลบหลบฟ้าจันทรารับ
ดาววิบวับจับตาพนาไหว
แว่วยินเสียงจักจั่นสนั่นไพร
คืนยาวไกลหมายวอนมิร้อนรน
ก่อกองไฟไม้ดุนรุนกระดาษ
ไม้ขีดพาดเป็นประกายขยายผล
นำส่งเปลวร้อนแรงแสดงตน
ควันปะปนคละคลุ้งพวยพุ่งไป
ลมโชยพัดเพียงเบาเคล้าปะทุ
เปลวไฟคุลุกโร่โผล่แนวไผ่
คอยหยอกเย้ายั่วเล่นเป็นนัยนัย
ดังดวงใจเคยล้อเคล้าคลอกัน
หมอกคลุมครอบระบับดังกับม่าน
เงาพาดผ่านซึมซาบดังอาบฝัน
ใยเจ้าจึงแอบแฝงใต้แสงจันทร์
แกล้งขบขันยิ้มย่องประลองใจ
เพลิงลุกลามยามลาถึงครามอด
อยากสวมกอดกานดาอัชฌาสัย
ควันสีขาวเบาบางเจ้าพรางใคร
บดบังไปทุกอย่างมิพร่างพราย
เสียงกรอบแกรบเพียงเบากระเซ้าหลบ
ออกมาพบหน้ากันน่ะจันทร์ฉาย
อย่าปล่อยให้สับสนทุรนทุราย
เยื้องย่างกรายเคียงใกล้คนใจเดิม
บรรยากาศรอบตัวอาจมัวนัก
แต่ความรักสว่างกระจ่างเสริม
มีแต่ใจภักดีที่เพิ่มเติม
ตั้งแต่เริ่มรู้จักประจักษ์จริง
เธอคนดีคนนี้วจีเรียก
หัวใจเพรียกร่ำร้องหาน้องหญิง
เป็นเงาใจเคียงแนบหวังแอบอิง
อย่าได้ทิ้งให้หนาวแสนร้าวใจ..
..
28 พฤษภาคม 2547 10:39 น.
กุ้งหนามแดง
รองเท้าแก้วหลุดหล่นร้อนรนรีบ
ชุดอัดกลีบรถฟักทองตระกองหาย
เวลาแห่งความสุขสนุกคลาย
หันหลังบ่ายหลบเลี่ยงไม่เสี่ยงรอ
คือนิทานตอนเด็กยังเล็กอ่าน
จากหลักฐานนำสืบคืบหน้าขอ
พบนางซินเดอเรลล่าเบอร์ห้ารอ
พอดีหนอลองใส่ก็ใช่เธอ
เห็นรองเท้าริมถนนระคนคิด
หนังชีวิตมิเหมือนเงื่อนเสนอ
โชคชะตาไม่ประสบพบเลิศเลอ
เรื่องเผลอเรอประมาทพลาดถึงตาย
ไม่เห็นใครนำส่งตรงเจ้าทรัพย์
รองเท้ากับลมปรานสะท้านหลาย
ใช้ชีวิตคู่สติมิงมงาย
มิวอดวายก่อนวันอันสมควร..
..
27 พฤษภาคม 2547 17:07 น.
กุ้งหนามแดง
..
ความร้าวราน..มาเยือนสะเทือนหล้า
ความแกล้วกล้า..หมดแรงจะแข็งขืน
ความอ่อนแอ..ถาถมล้มทั้งยืน
ความขมขื่น..ครอบงำระกำรัก
ความเชื่อมั่น..ในตนแทบป่นปี้
ความเซ้าซี้..แยกทางร้างจมปลัก
ความจำยอม..ทำไปอาลัยนัก
ความประจักษ์..แก่ใจไม่รักกัน
ความหดหู่..ตามต้อยคอยกระทบ
ความเศร้าซบ..สิงสู่เป็นคู่ฉัน
ความมัวเมา..ห่างหายมลายพลัน
ความใฝ่ฝัน..ล้มครืนสะอื้นครวญ
ความแตกแยก..ทำใจให้อ้างว้าง
ความเหินห่าง..ทำใจให้กำสรวญ
ความมืดมิด..ปกคลุมดังหลุมมวล
ความเรรวน..มาเกี่ยวจึงเดียวดาย
..
26 พฤษภาคม 2547 15:20 น.
กุ้งหนามแดง
ตอนที่หนึ่ง: ประวัติ
บางระจันตำนานที่ขานกล่าว
เป็นเรื่องราววีรชนคนกล้าหาญ
ร่วมรักษาแดนไทยมีให้ราน
ศัตรูผลาญฤๅสยบร่วมรบรา
ปีสองพันสามร้อยแปดเป็นเบื้องต้น
รวบรวมพลเสบียงเวียงหงสา*
เจ้ามังระคิดตีกรุงศรีอยุธยา
จึงส่งมาเนเมียว*เพื่อเกี่ยวการ
มังมหานรธาเป็นแม่ทัพ
มุ่งเข้าขับลุกไล่ไฟเผาผลาญ
เริ่มเข้าตีที่เขตวิเศษชัยชาญ
ผู้กล้าหาญหกท่านเล่าขานคือ
มีนายอินนายโชติและนายแท่น
ล้วนแนบแน่นช่วยกันมั่นยึดถือ
อีกนายเมืองนายดอกที่เลื่องลือ
ร่วมรับมือโดยทองแก้วเป็นแนวตรึง
เร่งฆ่าฟันพวกมันบรรลัยลิบ
ล่วงยี่สิบจึงถอยร่นมาจนถึง
บางระจันสิงห์บุรีเป็นที่พึ่ง
นิมนต์ซึ่งพระสงฆ์จงคุ้มครอง
นามท่านนั้นพระอาจารย์ธรรมโชติ
ท่านได้โปรดลงอาคมระดมสมอง
ช่วยชาวบ้านคุ้มกันตามครรลอง
นับทั้งผองก็มีสี่ร้อยคน
อันผู้นำหกท่านเมืองวิเศษฯ
ได้แจ้งเจตน์ขุนสรรค์พันเรืองสน
ทองแสงใหญ่จันทร์หนวดเขี้ยวร่วมปะปน
และอีกคนนายทองเหม็นล้วนเป็นชาย
ร่วมปะทะดุเด็ดถึงเจ็ดครั้ง
มันก็ยังไม่ห่างวางสลาย
อีกยังมีสุกี้ที่ลวดลาย
มันมุ่งร้ายลอบอาศัยไทยเพื่อลวง
ชาวบ้านเริ่มอ่อนแรงแถลงถ้อย
จึงเรียงร้อยขอปืนใหญ่ในเมืองหลวง
ไม่อาจฝืนโชคชะตาหรือว่าดวง
ความฝันกลวงส่งเลี่ยงเพียงนายกอง
ได้รวบรวมเศษทองเหลืองประเทืองนัก
ปัญญาชักหล่อปืนสะอื้นสอง
มันแตกร้าวเกินรับถึงกับมอง
บ้านนี้ต้องถึงคราวก็คราวนี้
สุกี้เห็นดังนั้นมันเริ่มซ้อน
อุบายร้อนขุดอุโมงค์โกงศักดิ์ศรี
เข้ามาใกล้ค่ายข่มล่มราวี
ปืนใหญ่ที่เตรียมมามันกล้าทำ
ต้องสูญเสียความเป็นไทในครั้งนั้น
เป็นวันจันทร์เดือนแปดแรมสองค่ำ
ปีสองพันสามร้อยเก้าเราจดจำ
คุณค่าคำหน้าที่พลีเพื่อไทย
ตอนที่สอง: หน้าที่ไทย
ยอมเสียเลือดเสียเนื้อก็เพื่อชาติ
เอกราชดำรงไทยคงอยู่
ไม่ก้มหัวอ่อนข้อต่อศัตรู
ท่านต่อสู้เต็มกำลังทั้งหญิงชาย
สละสิ้นทรัพย์สินประทินโฉม
เข้าจู่โจมประจันบานประสานสาย
รักษาบ้านเมืองรอดไม่วอดวาย
ชีพสลายชื่อเสียงเคียงแผ่นดิน
อนุสรณ์สถานงานที่ก่อ
ปู่ทวดพ่อท่านเล่าเศร้ากองหิน
ปกป้องแท้แม้ต้นหญ้ามิราคิน
เหลือเพียงวิญญ์สิ้นร่างละวางไป
น้อมดวงจิตสักการะนฤโฆษ
น้อมเกล้าโปรดจักรีศรีสมัย
ทศพิธราชธรรมนำจิตใจ
ปกครองไทยไพร่ฟ้าประชาชี
พระสยามเทวาธิราชล้ำ
เป็นเมืองธรรมยุตพิสุทธิ์ศรี
ไทยเป็นไทยสมัครสมานสามัคคี
วาระนี้ขอเชิดเพื่อเทิดทูน
วีรชนบางระจันท่านหาญกล้า
กอบกู้หล้าศักดิ์ศรีฤาหนีสูญ
เลือดที่หลั่งแลกดินถิ่นจำรูญ
ยังอาดูรทุกหนที่ยลยิน
สายเลือดเดียวสั่งสมอุดมคติ
ที่ได้ผลิบานแผ่กระแสสินธุ์
ต้องยืนหยัดสืบสานงานแผ่นดิน
สมดังจินต์คงไว้ในแดนทอง
วันที่สี่กุมภาพันธ์วันเล่าขาน
เป็นวันงานวีรชนคนทั้งผอง
ร่วมรำลึกวีรกรรมตามทำนอง
ร่วมแซ่ซ้องสรรเสริญเจริญรอย..
..
..
ที่มา:...
http://www.bandhit.com/History/History.html
ศึกบางระจัน วีรชนผู้รักชาติ ..... ในปีพศ.๒๓๐๘ พระเจ้ามังระคิดจะตีกรุงศรีฯให้ได้ จึงส่งกองทัพซึ่งมีเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ( ฝ่ายไทยพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชย์ต่อจาก พระอนุชา พระบิดาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ก่อนที่พระบิดาจะสวรรคตได้ทรง ดำรัสไว้ว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (พระเจ้าเอกทัศน์ หรือ ขุนหลวงขี้เรื่อน) นั้นโฉดเขรา ไร้สติปัญญา ถ้าได้ครองแผ่นดินจะทำให้แผ่นดินเกิดภัยพิบัติ จึงมีรับสั่งให้ไปบวชเสียอย่ามายุ่งราชการแผ่นดิน )
ที่เมืองวิเศษชัยชาญมีคนไทยชื่อ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก (บ้านกลับ) นายทองแก้ว(บ้านโพธิ์ทะเล) ได้ช่วยกันสู้กับพม่าและฆ่าพม่าตายไป ๒๐ คน แล้วหนีมาที่บ้านบางระจัน ได้ร่วมกับชาวบ้านบางระจันนิมนต์พระสงฆ์พระอาจารย์ธรรมโชติ(วัดเขานางบวช)มาปลุกเสกคาถาอาคมให้หนังเหนียวมีกำลังใจสู้ ศึกกับพม่า ชาวบ้านรวมกันได้ประมาณ ๔๐๐ คน มีหัวหน้าคือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่ พม่ายกทัพมาตีถึง ๗ ครั้งด้วยกันก็มิอาจเอาชนะชาวบ้านบางระจันได้ แต่บังเอิญมีชาวมอญชื่อสุกี้(เป็นมอญที่อาศัยอยู่ในไทย) ขันอาสารบกับไทย ใช้วิธีใจเย็นสู้กับชาวบ้านเพราะรู้ว่าชาวบ้านใจร้อน รบกันอยู่นานชาวบ้านก็มีใบบอกไปถึงกรุงศรีฯ เพื่อขอปืนใหญ่และกระสุนปืนแต่ได้รับการปฏิเสธ เพียงแต่ส่งนายกองมาช่วยดู ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษทองเหลืองที่เรี่ยไรมาได้มาหล่อปืนใหญ่ ๒ กระบอก แต่ว่าปืนร้าวใช้งานไม่ได้ สุกี้เห็นว่าไทยเริ่มอ่อนแอจึงให้ขุดอุโมงค์เข้าไปใก้ลค่ายบางระจันแล้วเอาปืนใหญ่ตั้งหอสูงระดมยิงใส่ค่ายจนค่ายแตก ทำให้ไทยต้องเสียค่ายบางระจันแก่พม่า ( พร้อมด้วยเลือดเนื้อของวีรชนชาวบางระจัน ) ค่ายบางระจันถูกพม่าตีแตกในวันจันทร์ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ พศ.๒๓๐๙ รวมระยะเวลาที่วีรชนชาวบางระจันต่อสู้นานถึง ๕ เดือน
ด้วยวีรกรรมนี้รัฐบาลไทย จึงกำหนดให้วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ เป็น วันวีรชนค่ายบางระจัน