29 กรกฎาคม 2552 20:35 น.
กิ่งโศก
ลานสางเสกซ่อนเชื้อ เลียโลม จินต์นา
ลานรัดรึงเร้าตะโบม แมกไม้
ลานแสงเรื่อเรืองโคม คลุมทาบ ห้วงแฮ
ลานดิ่งดื่มด่ำใต้ อดีตซึ้งตรึงหวน
@ลานสางเสกซ่อนเชื้อเลียโลม
ประหนึ่งโสมนำสู่อดีตหวาน
ผลุนหวนชวนซ่านอันตระการ
ณ.พิมานแมนสรวงห้วงหอไพร
@เริงวารีว่ายเล่นเช่นมัจฉา
ชะม้ายตาคราสบแล้วหลบไหว
พี่เด็ดเอื้องกลีบโรยโปรยวิไล
ละล่องไปเจ้าคว้าประดับแซม
@ร่ำสำเนียงเสียงโหมเห่กล่อมป่า
มวลปักษาขานร้องทำนองแฉล้ม
ระบำปีกฟ้อนฟ้าผีเสื้อแซม
ตะโพนแต้มกลองน้ำทำนองคลอ
@ขนิษฐาออดอ้อนในอกพี่
มนต์วลีเอ่ยย้ำไม่หยุดศอ
มธุรสพจน์ร้อยถ้อยพนอ
ค่อนคำพ้อพี่พ่ายเพ้อบนลาน
@หวนครานี้พี่เยือนยังลานสาง
สุดอ้างว้างนางหายไร้คำหวาน
เหลือเอื้องช่อกลีบช้ำคล้ำคาคาน
ลำสายธารรองรับดับกลีบลง
@ขอลาแล้วลานสางลานแสลง
ดุจถูกแทงหนามทิ่มลิ่มประสงค์
ลาสายน้ำทอดยาวจากพฤกษ์พง
ลานวลอนงค์หายลับไปกับลาน.
**แก้ไข.เมื่อ 30 ก.ค.2552 ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ชี้แนะและแวะมาอ่านครับ
"กิ่งโศก คนยาก.
..
น้ำตกลานสาง ..ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติลานสาง จังหวัดตาก อยู่ตอนบนของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ไม่ไกลจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพียง 150 เมตร เดินเลียบไปตามไหล่เขาแต่ต้องเดินด้วยความระมัดระวังเพราะทางเดินเท้าค่อนข้างแคบ สองข้างทางเดินในช่วงฤดูฝนจะพบกับพืชพื้นล่างเล็กๆ จำพวกเปราะ กระเจียวขาว และกล้าไม้ของต้นเสลาดำขึ้นอยู่ สักพักก็จะถึงน้ำตกลานสางโดยต้องเดินลงไปเบื้องล่าง น้ำตกลานสางมีความสูงประมาณ 40 เมตร สายน้ำจะไหลพุ่งออกจากซอกเขา แล้วหักเหลี่ยมลดหลั่นลงมา 3 ชั้น รวมตัวลงสู่แอ่งน้ำตกลานเลี้ยงม้า
เครดิตภาพ..จากบล็อคนักล่าน้ำตก
13 กรกฎาคม 2552 16:52 น.
กิ่งโศก
เด็ดมาลา มาร้อย สร้อยจับจีบ
กรุก้านกลีบ บีบเรียว เป็นเสี้ยวแหลม
สองมือสั่น หวั่นไหว ใต้จันทร์แรม
เด็ดดอกแซม แกมสอด รอดรัดรวง
โอ้มาลัย ไม้ฟ้า ปักษา.....สวรรค์
บรรจงกลั่น มงกุฎ ค่าสุดหวง
มงกุฏไพร ไร้ค่า ราคากลวง
หากล้ำค่า เกินห้วง ....คุณาใด
แลรอบกาย หมายสวม สร้อยบนเศียร
หมุนวนเวียน เจียนคลั่ง คล้ายบ้าใบ้
มงกุฏนี้ มีค่า กว่าเพชรใด
สร้างด้วยใจ....ใส่สาน บนลานดิน
ภาพสำแดง แสงเงา เสาศิลา
วงพักตรา เจ้าซ้อน บนก้อนหิน
แย้มสยาย พรายพร่าง กระจ่างจินต์
พอถวิล กลับหาย มลายคืน
มือที่ไหว ไร้แรง พยุงร่าง
จึ่งค่อยวาง มงกุฏ ด้วยสุดฝืน
สวมศิลา แทนเจ้า เฝ้ากล้ำกลืน
อกสะอื้น เอนทรุด ....มงกุฎไพร....
เครดิตภาพ : Google.
...................................................................
เรื่องราวบรุษหนึ่ง จำหนีนางมาอยู่กลางไพร....ความรักโหยหา
จึงนำดอก ปักษาสววรค์ มาทำเป็นมงกุฏ....เขาเรียกว่า มงกุฏไพร..
มงกุฎนี้..ทำขึ้นเพื่อเธอ ยอดรักของเขา...แต่ตอนนี้..ยอดรักของเขาไม่ได้อยู่ที่นี่..
...มาจากนวนิยายเรื่องหนึ่ง....
ดอกปักษาสวรรค์
8 กรกฎาคม 2552 16:42 น.
กิ่งโศก
วิหกฟ้า ปักษา...สรวงสวรรค์
เสพแต่ลม ชมจันทร์ ชั้นเวหน
ขานบรรเลง เพลงน้าว นภดล
คล้ายต้องมนต์ ยลล่วง ห้วงนิทรา
ไร้แม้ตัว หัวหาง หาใครเห็น
ครั้งเดือนเพ็ญ เด่นเงา เคล้าเวิ้งฟ้า
ระบำบวง ดวงโสม โลมอาภา
แล้วอำลา หายลับ เหนือเมฆิน
เพียงปีกขน หล่นลู่ สู่แหล่งหล้า
ฤาเทวา ประทาน ให้ถวิล
ปีติปลื้ม ดื่มด่ำ ต่อชาวดิน
จึงร่ำกลิ่น ผกา ขจรไกล
โอ้นกฟ้า "การเวก" แดนสวรรค์
โปรดพิศฉัน ผู้โศก วิโยคไหว
เบิ่งตาคอย ขนปีก ปลดแผลใจ
เพียงสบัด พัดไกว ให้บรรเทา
ยามแหงนหน้า ฟ้าบน ใยหม่นสิ้น
ไร้ปีกบิน สิ้นหวัง ประดังเร้า
แสงเดือนดับ อับฉาย ไร้ซึ่งเงา
กี่ปีเล่า เราจึง จะสมปอง
..............................................................................................................
.....ที่มา..ครับ ..
นกการเวก หรือนกกรวิก เป็นชื่อนกที่เป็นสัตว์หิมพานต์ บินสูงเหนือ
เมฆ จึงไม่ใคร่มีใครเห็นตัว กินลมเป็นอาหาร มีเสียงหวานไพเราะมาก ใครได้
ยินเสียงร้องจะหยุดชะงักด้วยความจับใจในเสียงร้องนั้น นกการเวกเป็นนกที่มี
ขนงาม ขนนกการเวกเป็นของวิเศษ ผู้ที่ต้องการขนนกการเวกจะต้องทำร้านไว้
บนยอดไม้ เอาขันใส่น้ำไปวางไว้ นกการเวกจะมาอาบน้ำในขันแล้วสลัดขนไว้
ให้ ขนนั้นเก็บไว้ก็จะกลายเป็นทอง พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายว่า นก
การเวก มีภาพวาดอยู่ในสมุดภาพสัตว์หิมพานต์ ที่หอสมุดวชิรญาณ ว่าเป็นนกที่มี
หัว มือ และเท้าเหมือนครุฑ ปีกอยู่ที่สองข้างตะโพก ขนหางยาวอย่างขนนกยูง
ลักษณะขนหางคล้ายใบมะขาม แต่บางแห่งวาดเป็นนกคอยาว หัวเหมือนนก
กระทุง ขนหางเป็นพวงเหมือนไก่ ขายาวเหมือนนกกระเรียน...ลักษณะที่ต่างกัน
ไปก็แล้วแต่ว่าจิตรกรผู้วาดรูปนกจะจินตนาการไปอย่างไร และมีคำอธิบายใน
คัมภีร์ปัญจสูทนี ภาค ๓ ว่านกการเวก กินมะม่วงสุกชนิดที่มีรสหวานเป็นอาหาร
โดยใช้จะงอยปากเจาะจิบน้ำให้ไหลออกมา นกการเวกถ้าอยู่ลำพังตัวเดียวจะไม่
ร้อง ต่อเมื่อเห็นพวกพ้องจึงจะส่งเสียงร้องที่ไพเราะ ขนนกการเวกซึ่งใช้เสียบ
พระมาลาพระมหากษัตริย์ไทยนั้น สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรง
กล่าวว่า เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้ตัวจริงเป็นนกยัดไส้ มีขนติดบริบูรณ์เข้ามาคือ
Paradise Bird นั่นเอง Paradise Bird หรือ Bird of Paradise เป็นนกในตระกูล
Paradiseidae มีถิ่นกำเนิดที่นิวกินี ขนมีสีสันงดงามมากที่มา:
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?
stcolumnid=2666&stissueid=2570&stcolcatid=2&stauthorid=19