http://www.thaipoem.com/forever/ipage/song420.html ทิพย์ทอง...นั่งจ้องมอง ต้นโพธิเงินโพธิ์ทองในดวงใจ ต้นไม้แห่งทิพยศรัทธา ที่... ทิพย์ทองทราบดีว่า มีประวัติความเป็นมา ที่แสนตราตรึงในคารวะใจพุทธศาสนิกชนทุกคนไป ที่มีลำต้นอวบใหญ่ เป็นพูพอนโพรงอย่างนิ่งงันเงียบงาม และ นั่งสังเกตสังกาต้นโพธิ์ใหญ่ ที่มีก้านกิ่งแตกสาขาออกไป ดั่งคำพังเพยนำมาเปรียบเปรยไว้ว่า *ดั่งร่มโพธิ์ร่มไทร* ที่เป็นดั่งรวงรักแห่งรัก ให้นกกาได้อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบไป...ชั่วกาล... ใบโพธิ์นั้นเกลี้ยงเกลาเป็นมันวะวาววับ เนื้อใบ ค่อนข้างหนา คล้ายแผ่นหนัง ใบจะห้อยลง และ รูปใบจะป้อมๆหรือรูปไข่ โคนใบเว้าเข้าเล็กน้อย ดอกออกบนฐานดอก ที่โค้งกลม แล้วเจริญเป็นผลต่อไป ผลกลมติดอยู่ตอนปลาย ๆ กิ่งเล็ก พอแก่ออกสีแดงคล้ำ ๆ จักเป็นอาหารของพวกนกได้เป็นอย่างดี และ.. แสนแปลกดี ที่ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งจะงามอ่อนช้อยอ่อนโยน ปลายสุด จะมีหูใบเป็นปลอกแหลม ๆ หุ้ม เมื่อหูใบหลุดไปแล้ว จะทิ้งรอยแผลใบเป็นขวั้น ๆ ไว้ที่กิ่งเห็นได้ชัด บางทีตามกิ่ง จะมีรากอากาศให้เห็นบ้าง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แผ่กว้าง ยอดอ่อนผลิสล้างซ่อนซ้อนสลับ ด้วยเขียวไพลยามผลัดใบ ผลิยอดละอออ่อนใส รับสายแสงแดดสีทองสะท้อนกระทบใบแก่กลาย ที่หมายจะร่วงพลีพรมห่มพื้นพสุธา ที่พากันเปลี่ยนสี เป็นเหลืองทองผ่องพร่างแสนงาม ยามลมพัดพรายมาส่ายเสียด เบียดให้กิ่งก้านไกวไหวกรีดหวีดหวิว...อย่างน่าฟังยิ่งนัก และ พาให้จิตดวงใส ได้รำลึกรู้นึกถึงบทกวีบทหนึ่งขึ้นมาเสียมิได้ ที่เธอเคยร่ายรจนาเอาไว้... *เห็นโพธิ์ทองสะท้อนแดดวะวิบวับ งามระยับจับตาในแสนใสหวาน ภาพพระพุทธองค์ทรงประทับราวบัวบาน เหนืออาสนะทิพยพิมานในม่านโพธิ์...* .......... ทิพย์ทอง ... ชอบนั่งมองต้นไม้ได้โดยไม่รู้เบื่อ และ... จำได้ว่า... ที่วัดบ้านเกิดของทิพย์ทองเอง ก็มีชื่อว่า*วัดโพธิ์* ค่าที่มีต้นโพธิ์ทองต้นใหญ่ ที่ลำต้นอวบงามให้สามคนโอบแทบไม่รอบ ให้เราเด็กๆชอบมาอาศัยนั่งนอนเล่นภายใต้ร่มเงาใบงาม และ ได้.. ฟังเสียงใบระกาตรงชายคาโบสถ์ ร้องกรุ๋งกริ๊งๆแสนไพเราะยามที่ลมพัดผ่านมา... ให้ความรู้สึกที่ดำดื่มล้ำลึก ที่ยังตราตรึงตามมาจนถึงนาทีนี้ ไหนจะยังต้นพิกุลใบหนา พากันเรียงหอมกรายให้หอมกรุ่นละมุนใจ ที่โปรยดอกพราวไสวลงบนพื้นหญ้า ให้.. ทิพย์ทอง ไปเก็บดวงดอก มาห่อหอมไว้ในผ้าเช็ดหน้า เพื่อนำมาใช้ร้อยมาลัยเส้นยาว ราวสายสร้อยพร้อยเพชรพราวอีกด้วยเล่า... และ ทิพย์ทองยังจำได้อย่างแม่นยำ เมื่อพยายามโยงใยเรื่องราว เกี่ยวกับต้นไม้แห่งรักแห่งศรัทธานี้ ที่หน้าบ้านทิพย์ทองนั้น มีคุณครูท่านหนึ่ง ที่เป็นคุณพ่อของเพื่อนทิพย์ทอง ที่มีฝืมือการวาดภาพพุทธประวัติมาก ภาพที่ชินตาเราเด็กๆ คือ ภาพแสนงามยิ่งใหญ่ในผืนผ้าใบ เกี่ยวกับพระบรมศาสดา ตั้งแต่ปลงพระเกศาออกบวช และ ที่ตราจำไว้ในดวงจิตคือ ภาพอันแสนวิจิตรมลังเมลืองใจมาก คือภาพที่ เจ้าชายสิทธัตถะกุมาร ในระหว่างบำเพ็ญพรต เพื่อหาสัจธรรมนั้น ได้ทรงเลือกนั่งประทับที่โคน ต้นโพธิ์ และ ที่มีใบระยิบระยับงามจับตาจับใจมาก ราวอาบด้วยสายแสงทองทอกระทบ ดั่งมีชีวิต... ภาพที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ พระสัมมาสัมโพธิญาน คือ อริยสัตย์ 4 อัน ประกอบด้วย ทุกข์ สมุห์ทัย นิโรธ มรรค เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 และ แม้พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังต้องทรงใช้พลังจิตรบกับพวกมาร (การเอาชนะกิเลสฝ่ายต่ำ) ก็โดยประทับอยู่ใต้โคนต้นโพธิ์อีก เช่นกัน เพราะ โพธิ์มีร่มเงาเหมาะแก่การพักพิง และบำเพ็ญพรตเป็นอย่างยิ่ง และ กล่าวกันว่า ต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ประทับ เพื่อรวบรวม พระหฤทัย ให้บรรลุถึงสัจธรรมนั้น ได้ถูกประชาชนผู้นับถือศาสนาอื่น โค่นทำลายไปแล้ว แต่... ด้วยบุญญาภินิหารเมื่อได้นำนมโคไปรดที่ราก จึงมีแขนงแตกขึ้นมา และ มีชีวิตอยู่มาอีกนานก็ตายไปอีกแล้วกลับแตกหน่อใหม่... นั่นคือ... ตราจำที่ย้ำไสว ให้นวลใจทิพย์ทองยิ่งพร่างใสแสนงาม ยามทอดทัศนาต้นโพธิ์เงินโพธิทอง ที่ใบวะวาววับนี้ ราวกับเห็นภาพพระพุทธองค์ ทรงประทับณ..ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ภายในป่า สาละ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ในคลองตาคลองใจตลอดมา และพาให้ ทิพย์ทองรักแสนรัก ศรัทธาแสนยิ่งใหญ่นักในทุกยามนึก ถึง *ร่มโพธิ์พฤกษ์ โพธิ์ไพร* ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าได้ประทับ ณ ภายใต้ร่มเงา ในคราวตรัสรู้, จนได้ โพธิญาณ อันคือปัญญาตรัสรู้, ในมรรคญาณทั้งสี่ มีโสตาปัตติมัคคญาณ เป็นต้น ให้หัวใจทิพย์ทอง ยิ่งพรายฉายฉันท์ราวเพชรดวงในรวงใจ เสมือนฝันไป... ในราตรี... ที่ดารารายเลิศโสภานภานวลผ่อง... ในวัน*เดือนพูนดวง* ควงหวานแจ่มจรัสในวันเพ็ญเดือนหกขึ้น15ค่ำ พร้อมกับหวานแว่ว......... บทกวีแสนงามจากดวงใจมิ่งมิตรแสนดี คนที่ชื่อลำน้ำน่าน*บุรุษแห่งสายธาร* .................... จากริมฝั่งเนรัญชราสู่ธาราธรรม พรมธารายามอรุณด้วยกรุ่นกลิ่น พรมผืนดินด้วยเกสรละอองป่า จากดื่นดึกลึกหลับกับดารา ภาวนาอยู่ท่ามกลางวิมานพฤกษ์ ณ ปลายฝั่งสายธารนิมมานรดี รัชนีสว่างสรวงแม้นห้วงดึก ร่วมบรรเลงมนต์ธรรมอันล้ำลึก ผลผลึกอภิญญาณฌานภิญโญ เมื่ออาทิตย์อุทัยแรกแตกดอกวับ พร้อมบทเพลงวิหคขับจับกิ่งโผ บัลลังก์อาสน์ใต้ร่มบรมโพธิ์ มนต์พุทธโทแว่วผ่านวิมานไพร ราตรีวันวิสาขปุณณมี มะลุลีผลิรับจากหลับใหล หยาดน้ำค้างหยดเย็นค่อยเป็นไป เทวดามาลาไพรร่ายรำพร ณ ริมธารสายน้ำต้นยามเช้า ใต้ร่มเงาพนาวัลย์บรรจถรณ์ โพธิสัตว์แสงประดับจับจีวร พนันดรก็บรรสารทุกธารพราย มธุปายาสข้าวทิพย์วิจิตรสรรค์ อวลสุคันธ์สุชาดาน้อมถวาย เครื่องพลีกรรมหอมกลิ่นมิสิ้นวาย โลกบาลเรียงรายร่วมพิธี รัตนบัลลังก์นั่งภาวนา อาทิตย์ทองส่องหล้าพระโพธิ์ศรี ทินกรร่อนเริงเวิ้งนที บารมีคลี่อาบทาบไพรวัลย์ สัตยาอธิษฐานลงธารน้ำ อรุณยามฤกษ์ดวงสรวงสวรรค์ ถาดทองทวนไหลทบอรรณพพลัน สู่ห้วงน้ำเนรัญฯ พุทธมรรคา ปฐมยามราตรีค่อยหรี่ล่วง ยามโสมสรวงเสวยแสงแพร่งเวหา สมาบัติสำเร็จแจ้งแห่งวิญญาญ์ ซึ่งปุพเพนิวาสานุสสติญาณ มัชฌิมาล่วงผ่านทวารสอง องค์สัมมาลุครรลองกรรมฐาน ล่วงจักษุทิพยจักขุญาณ สรรพสัตว์ก่อนกาลเหตุจุติ ปัจฉิมยามกาลสมัยใกล้รุ่งฤทธิ์ หยั่งพินิจปัจจยาการนานสติ อริยสัจรู้แจ้งแรงสมาธิ ในปฏิจจสมุปบาทอวิชชา เมื่อแสงทองทอรับจับระบัด โพธิสัตว์สดับแจ้งแรงตัณหา ตรัสรู้ลุพระสัพพัญญุตา ดับสูญสิ้นกิเลสาธรรมาญาณ มหัศจรรย์อุบัติซ้องมรรคผล ปฐพีดลลั่นธาตุปราชญ์สถาน ทศพลเปล่งสีหนาทปฐมทาน ใต้ร่มโพธิญาณอุรุเวฬาฯ ทิพย์ดนตรีบรรเลงเพลงอภิวาท อเนกชาติสังสารังองค์คาถา สัพบุรุษเพี้ยงพ้นองค์สัมมาฯ พุทธาดาโลกนาถทุกชาติภพ...... .................................. อรุโณทัย ณ ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา เมื่อเดือนต่ำย่ำรุ่งคลุ้งสายหยุด แว่วโพธิ์พุทธไกวกราวราวสวดเสียง วิหคอุ่นรุ่งแล้วแจ้วสำเนียง น้ำค้างเรียงรินหยดซบบัวใบ ดวงดาวเลื่อนเคลื่อนลงตรงเหลี่ยมโลก กลีบดอกโศกแต้มหมอกดอกหม่นไหว กาลอรุณหมุนเวียนเปลี่ยนความนัย ปลุกตื่นแล้วดวงใจแห่งท้องนา หวานสำเนียงเสียงไก่ได้รู้สึก คล้ายสำนึกลึกล้ำพร่ำเพรียกหา ราวบทเพลงระฆังแก้วแว่วยินมา ให้สดับรับค่าอรุโณทัย เมื่อน้ำค้างพร่างหล่นบนพรมพฤกษ์ เพียงค่อนดึกลึกล่วงจากสรวงใส บ่มวิญญาณตำนานทุ่งจรุงใจ ราวเกล็ดเพชรเจียระไนด้วยตำนาน หอมกลิ่นเอยหอมหวลมวลดอกไม้ เมื่อลมไล้ลอยล่องท้องนาผ่าน แตะดวงจิตปลุกฟื้นขึ้นจับงาน อีกช้านานเส้นทาง..สว่างรับ ตะโพนน้อยคล้อยเสียงยินเพียงแว่ว เมื่อเดือนปีคลี่แนวแคล้วจันทร์จับ ห้วงพรรษาเปลี่ยนวันเหมันต์ลับ ยังสงบรำงับกับพุทธา แสงสีทองรุ่งลางทางทิศนั่น เหลืองอำพรรณเปรื่องปราดศาสนา ฉายอรุณอุ่นทอขึ้นคลอตา ส่องมรรคาหนทางสว่างแล้ว ตื่นขึ้นจากภวังค์ขังดวงจิต เมื่อไฟติดฟืนลุกทุกทิวแถว เพียงควันไฟพุ่งยาวขาวเป็นแนว ข้าวสารแก้วหุงนึ่งเต็มซึ้งนัก เดินตามพระมาไกลในรอยพุทธ บรรจงหยุดรับบาตรถาดข้าวตัก ดอกบัวบานแย้มอยู่คู่พระพักตร์ แผ่เมตตาทอดรัก...จักเข้าใจ หยาดน้ำค้างอาบคลอกอรวงข้าว เมื่อลมหนาวพัดฟ่อนจีวรไหว เกล็ดหมอกหม่นสะท้อนพร่างกลางดวงใจ งามพระธรรมวินัยก็ฉายรับ เช้าวันใหม่ดรุณรุ่งตรงทุ่งนา เทียนพรรษาหรี่ลดหมดเปลวจับ ดอกบัวบานผลิแทนราวแสนนับ ผลิวิญญาณขานรับกับอรุณ คืออารยาแห่งกาลผ่านทุกครา วัฒนาก้าวตามยามโลกหมุน ให้สดับรับค่าพุทธาคุณ กฎธรรมชาติสมดุลลึกซึ้งแล้ว ----------------------- เช้าวันใหม่ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งที่ได้ไปเยือนในครั้งก่อน ความทรงจำสงบงามถูกจารึกไว้ในหัวใจดวงนี้ ณ ริมฝั่งน้ำโขงแม่น้ำของแผ่นดิน วิถีชาวลาวสงบนิ่งตามรอยพุทธ หลังออกพรรษาที่ชาวบ้านต่างพากันไปวัด ..ในหมู่บ้าน เส้นทางเดินทอดย่างไปกลางทุ่งนาเขียวขจี ริมบึงบัวดอกงาม ในเช้าวันใหม่ในปลายเหมันตฤดู ที่เห็นพระออกบิณฑบาตรแต่เช้าตรู่ จีวรเปียกพรมด้วยน้ำค้างริมใบข้าว ..หอมกรุ่นข้าวหุงใหม่ ที่ชาวบ้านเตรียมไว้ใส่บาตร.. ข้าพเจ้าสงบงันและสดับรับรู้ค่าในวิถีงามนี้ ดอกบัวงามวางนิ่งในถาด รอถวายเป็นพุทธบูชา ณ ผืนแผ่นดินนี้ร้างไร้ในเทคโนโลยี แต่สูงส่งด้วยจิตวิญญาณ มีวัฒนธรรมของแผ่นดินซ่อนเร้น เงียบงาม น่าหลงไหลในยิ่งนัก ริมฝั่งแม่น้ำโขง ข้าพเจ้าประหวัดจิตนาการไปถึงริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พุทธะไม่ได้สอนให้เราละวางอย่างโง่เขลา หากแต่สอนให้เราปรับตัว และใช้ชีวิตสงบงามท่ามกลางสังคมปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงเป็นเหตุ แม้นไม่ถึงพระนิพพาน หากแต่ได้ขึ้นชื่อว่า เดินไปอย่างผู้เพียรพยายาม เช้าวันใหม่ การกลับมาของอรุโณทัย และกฎสมดุลธรรมชาติ หวังให้ทุกดวงใจน้อมนำความสงบรำงับเข้าเป็นจุดเริ่มต้น มีสติและเข้าใจความเป็นไปแห่งสรรพสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า ปล่อยวางและรู้เท่าทัน สงบงามเงียบเฉกเช่นพุทธศาสนิกชน ............ .................. และ ด้วยจิตดวงใส ดั่งอัญมณี ของแม่ดวงดอกพุดไพร ขอกราบกรานตรงเบื้องบาทพระศาสดา.. *ผู้เปรียบประดุจดั่งพระมิ่งมงกุฎยอดรัตนมณี แห่งพุทธศาสนิกชน* ในฟ้าพุทธภูมิชมพูทวีป พุดขอพลีรจนาถวายเป็นพุทธบูชา ในวันเข้าพรรษานี้ ที่ดวงชีวีจำต้องร้างแรมเรือนไทยร่มรัก กลับบ้านเกาะบ้านเกิดไปหลายวันค่ะ ............... ในอดีตเราถือเอาวัน แรมหนึ่งค่ำเดือน 8 ของทุกปี เป็น วันเข้าจำพรรษา ตามประเพณีพุทธบัญญัติของพุทธศาสนา พระสงฆ์ต้องอธิษฐานอยู่จำพรรษาในวัดใด วัดหนึ่ง ตลอดสามเดือนที่เรียกว่า ไตรมาส นั่นเอง นี่เป็นเรื่องที่ภิกษุสงฆ์ต้องทำจะหลีกเลี่ยงเบี่ยงบ่ายไม่ได้ มีเรื่องราวปรากฎในพระวินัยปฎก วัสสูปนายิกะ ใจความย่อว่า : สมัยเมื่อผ่านปฐมโพธิกาลไปแล้ว มีกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุมากขึ้น พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติในภิกษุจำพรรษา ถึงฤดูฝนมีน้ำขังเต็มบริเวณไร่นาทั่วไป ชาวบ้านอาศัยพื้นที่เหล่านั้นประกอบอาชีพทาง กสิกรรม พวกพ่อค้าที่มิใช่ชาวกสิกรรม ต่างพักผ่อนหยุดสัญจรกันในฤดูฝนนี้ เพราะนอกจากไม่สะดวกแล้ว ยังเป็นอันตรายแก่พืชผลของชาวไร่ชาวนา แต่ภิกษุบางจำพวกในสมัยนี้ หาพักการจาริกไม่ บ้างพากันย่ำเหยียบหญ้าและสัตว์เล็กเป็นอันตราย ชาวบ้านพากันติเตียน พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษาในฤดูฝน 3 เดือน นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันที่ 15 ค่ำ เดือน 11 แล้วเหลือเวลาในท้ายฤดูฝนนี้ไว้ให้อีก 1 เดือน ไว้ให้เป็น จีวรกาล คือเวลาที่แสวงหาจีวรมาผัดเปลี่ยนของภิกษุ ยังมีข้อบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า ให้ภิกษุยึดเอาเสนาสนะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นที่จำพรรษาให้ได้ เช่น ถ้ำหรือกุฎี ซึ่งมีที่มุงที่บังกันแดดกันฝนได้ดี และทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาในที่ต่อไปนี้ คือ ที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้ ในหลุม ในตุ่ม บนคาคบไม้ ซึ่งจะเป็นอันตรายในฤดูฝนเช่นนั้น การจำพรรษาด้วยการอธิษฐานจิต คือ การที่ภิกษุแต่ละรูปไปประชุมกันในอุโบสถ ทำวัตร สวดมนต์ ทำพิธีขอขมากัน แล้ว แต่ละรูปจะนั่งกระโหย่งแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะจำพรรษาในอารามนี้ครบ 3 เดือน นั้นก็คือ ในระยะเวลา 3 เดือน ภิกษุผู้จำพรรษาจะไม่ไปค้างแรม ณ ที่ใดเลย จะอยู่ประจำที่ในอาราม ที่ตนอธิษฐานจิตนี้ ผ้าอาบน้ำฝน .... หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัสสิกสาฎก คือผ้าสำหรับนุ่งในเวลาอาบน้ำฝน หรือใช้ในการอาบน้ำทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า นางวิสาขาเป็นผู้ขออนุญาตให้พระพุทธเจ้า ให้พระสงค์รับผ้าอาบน้ำฝน เพราะเธอใช้นางทาสีไปนิมนต์พระที่วัดขณะฝนตก พระสงฆ์แก้ผ้าอาบน้ำกันเต็มวัด ทาสีกลับมาบอกนางวิสาขาว่า ไม่มีพระมีแต่ชีเปลือยเต็มวัด วิสาขารู้ทันทีจึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ ให้ทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนดังกล่าวแล้ว การถวายเทียนพรรษา ..... ปกติประเพณีที่เกี่ยวกับเทียนหรือขี้ผึ้งนี้ ได้สืบกันมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเริ่มแต่สมัยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าสู่ป่า หนีความทะเลาะวิวาทของภิกษุสงฆ์เมืองโกสัมพี ที่ตั้งหน้าทะเลาะกันด้วยเรื่องวินัยอันเล็กน้อย โดยเข้าไปอยู่ในป่า มีลิงและช้างเป็นผู้อุปฐาก จนในที่สุดชาวเมืองต้องลงโทษภิกษุสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย แล้วจึงไปนิมนต์พระพุทธองค์ออกจากป่าต่อไป ในขณะที่เสด็จอยู่ในป่านั้น ลิงก็หาผลไม้และน้ำผึ้งมาถวาย ฉันน้ำผึ้งเสร็จแล้ว ก็จะนำขี้ผึ้งไปทำเทียนบูชาพระ จึงเห็นได้ว่าเทียนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ การถวายเทียนให้ภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระรัตนตรัยในวันเข้าพรรษา โดยการรวบรวมเทียนไว้ถวายวัดเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้จุดไปจนตลอดไตรมาส แต่ก่อนถวายกัน เพียงเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ ๆ ชาวบ้านทำเอง เอาขึ้ผึ้งมารีดกับเส้นด้าย แล้วตัดให้ได้อันยาวตามสมควร แล้วนำไปถวายวัด ปัจจุบันได้มีการนำเทียนขี้ผึ้งมาผสมกับสารเคมี ทำให้แข็งตัวและแปรสภาพเป็นเทียนสีชนิดต่าง ๆ จนบางแห่งถือเป็นประเพณีใหญ่โต เช่น *เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี* ปีนี้พรรษามาแล้ว ขอให้ชาวพุทธทุกคนทำใจให้มั่น รำลึกถึงวันสำคัญนี้ ผู้ใดจะอธิษฐานจิตอย่างไร ก็ตั้งใจให้แน่วแน่ ก็จะเกิดอานิสงส์กับตัวเองเป็นเอนกอนันต์ เช่นในพรรษาจะงดบุหรี่ จะงดเที่ยวเตร่ จะงดดื่มสุราเมรัย ตลอดจนงดการทำชั่วทั้งมวล ทำบุญเมตตากรุณา และ ชำระจิตที่มัวหมองมืดมน ให้เป็นจิตสะอาดสว่างไสวตลอดไป ก็จะเป็นกุศลแก่ตัวเองและครอบครัวยิ่ง *************** *จากหนังสือ มหาอุดม์ และออนซอนอีสาน ชุดที่ 1 โดย รศ.อุดม บัวศรี)* ..................... http://www.thaipoem.com/forever/ipage/song420.html รางวัลชีวิต พระพุทธองค์ ท่านทรงสอนเรื่องเวรกรรม คนไหนใครทำ กรรมเคยก่อเอาไว้อย่างไร ก่อน นั้น เคยทำกรรมไว้ชาติใด ชาตินี้ต้องได้ รับกรรมที่ทำก่อนนั้น ตัวฉันคงทำ แต่กรรมซ้ำอยู่เสมอ ชาตินี้จึงเจอ เวรกรรมเก่าเข้าย้อนผูกพัน ปวด ร้าว ตรอมตรมขื่นขมอนันต์ ทำดี สารพันรางวัลที่ได้ก็คือเคราะห์กรรม โธ่ เอ๋ย พระเจ้าไม่เคยปราณี ในชาตินี้ ทำดีไม่เคยก่อกรรม หวัง ให้ ผลบุญได้น้อมนำ ล้างเวรที่เคยทำ แต่ชาติ ปาง ก่อน สิบนิ้วประนม สวดมนต์พร่ำบ่นบูชา กุศลนำมา จงนำข้าสิ้นเวรดั่งวรณ์ หากแม้ ชีวีสิ้นลับดับมรณ์ เวรกรรม ทุกชาติก่อน บรรเทาผันผ่อน อย่าตามซ้ำเลย...
13 กรกฎาคม 2548 10:09 น. - comment id 491079
ต้นโพธิ์ หรือที่ชาวลังกา เรียกว่า Bohd tree และ ที่ชาวอินเดียเรียกว่า Pipal นี้นับได้ว่าเป็นต้นไม้ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งใน พระพุทธประวัติอีกชนิดหนึ่ง ต้นโพธิ์ เป็นพันธุ์ไม้พวกเดียวกันกับไทร มะเดื่อ และกร่าง คือ อยู่ในสกุล(Genus) มะเดื่อ (Ficus) และวงศ์ (Family) ไม้ไทร (Moraceae) พันธุ์ไม้วงศ์นี้แทบทั้งหมด จะมียางขาว ต้นโพธิ์เป็นพืชดั้งเดิมของอินเดีย ได้มีการนำไปปลูกทั่ว ๆ ไป ทั้งในประเทศลังกาและเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นต้นไม้ ที่ชาวพุทธและฮินดูให้ความนับถือ การแพร่พันธุ์ส่วนใหญ่ ใช้เมล็ดและสัตว์พวกนก สามารถช่วยแพร่พันธุ์ได้อย่างดี นอกจากเมล็ด ก็ใช้กิ่งชำหรือกระโดงจากราก ก็ใช้ได้ดีเช่นกัน ขึ้นได้ดีตามพื้นที่ธรรมดาทั่ว ๆ ไป ที่น้ำไม่ขังแฉะ แต่ต้องการความชุ่มชื้นพอควร ในประเทศไทย ก็เรียกต้นโพธิ์ในชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ต้นปู ต้นโพธิ์ ต้นศรีมหาโพธิ์ และสลี เป็นต้น และต้นโพธิ์ชนิดนี้ ใกล้เคียงกันกับ โพธิ์ขี้นก หรือโพธิ์ประสาท ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ ว่า Ficus rumphii Blume. ต้นโพธิ์นับว่า เป็นพืชที่มีอายุยืนมากชนิดหนึ่ง แต่เนื่องจาก มีกิ่งก้านแยกสาขาออกจากลำต้นมาก จึงทำให้เกิดเชื้อรา ที่อาศัยความชุ่มชื้น จากน้ำฝน ที่ขังอยู่ตามง่ามกิ่ง แผ่ขยายเข้าทำลายเนื้อไม้ จนเราจะเห็นได้ว่าต้นโพธิ์ ใหญ่ ๆ มักเป็นโพรงถ้าเป็นอย่างรุนแรง อาจทำ ให้ต้นโพธิ์ตายได้เหมือนกัน แต่โดยนิสัยการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ก็ได้ช่วยสร้างให้โพธิ์มีผลมาก และ มีรสชาดที่นกชอบกิน เมื่อนกไป เกาะและถ่ายมูลที่ไหน เมล็ดก็จะงอกเป็นต้นเจริญงอกงามได้ทันที และบางที ก็จะแทงกระโดงจากรากที่ยังสดอยู่ ดังเช่น ที่กล่าวอ้าง จากต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่นั้นได้เช่นกัน ในบ้านเรานิยมปลูกโพธิ์ไว้ ตามวัดวาอาราม และ มีมากทีเดียวที่นำต้นอ่อน มาจากอินเดียและลังกา ตามวาระและโอกาสต่าง ๆ กัน มาปลูกไว้เป็นที่ระลึกไว้ตามวัด และสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วประเทศ
13 กรกฎาคม 2548 10:32 น. - comment id 491081
ต้นไม้ สวน และป่า\" ต้นไม้ สวนและป่า ในสมัยพุทธกาล ที่มีความเกี่ยวพัน กับพุทธประวัติ ซึ่งนำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้ดังนี้ ๑. ปาริฉัตตก์ คือต้นทองหลาง... เป็นชื่อต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนนันทวัน ของพระอินทร์ หรือท้าวสักะจอมเทพ แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ ภายหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จประทับ ภายใต้ร่มไม้ปาริฉัตตก์ (หรือปาริฉัตร, ปาริชาต) ณ ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงธรรมโปรด พระพุทธมารดา ตลอดสามเดือน พระพุทธมารดา ได้ทรงบรรลุพระโสดาปัตติผล ส่วนเทพยดาในโลกธาตุ ที่มาประชุมฟังธรรมบรรลุผล สุดที่จะประมาณ ๒. พหุปุตตนิโครธ ต้นไทร ที่อยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์ กับเมืองนาลันทา ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้า และขอบวช ที่พหุปุตตนิโครธนี้ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต พระมหาสาวกมหากัสสปะ (เดิมชื่อ ปิปผลิมาณพ) ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางถือธุดงค์ ๓. ต้นพระศรีมหาโพธิ ต้นโพธิ ต้นโพธิ ที่พระพุทธเจ้าประทับ ภายใต้ร่มเงา ของต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ภายใต้ร่มเงา ของต้นพระศรีมหาโพธิแห่งนี้ นับเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ในรัชสมัยรัชการที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยได้พันธุ์ ต้นมหาโพธิ์จากต้นโพธิ์ตรัสรู้ ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งดินแดน ณ ที่นั้น ได้เปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร นับเป็นการได้พันธุ์ ต้นมหาโพธิ์ตรัสรู้โดยตรง ครั้งแรก นำมาปลูกไว้ ณ วัดเปญจมบพิตร และวัดอัษฏางนิมิตร ๔.ต้นมุจจลินทร์ หรือต้นจิก ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ถึงสัปดาห์ที่ ๖ ทรงประทับ ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้จิก อันมีชื่อว่า มุจจลินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ ๆ กับต้น พระศรีมหาโพธิ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ใต้ต้นมุจจลินทร์เป็นเวลา ๗ วัน โดยมีพญามุจจลินทร์นาคราช มาวางขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ จากสายลมและสายฝน พระพุทธองค์ ทรงเปล่งอุทานแสดง ความสุขที่แท้ อันเกิดจาการไม่เบียดเบียนกัน ๕. ต้นราชยตนะ หรือต้นไม้เกต ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึง สัปดาห์ที่ ๗ ทรงประทับ ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เกต อันมีชื่อว่า ราชายตนะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ใกล้ ๆ กับต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยสิทุตติสุข เป็นเวลา ๗ วัน นับเป็นสัปดาห์สุดท้าย แห่งการเสวยวิมุตติสุข ณ ที่นี้มีพ่อค้า ๒ คน นำกองเกวียนค้าขายจากแดนไกล คืออุกกลชนบท ได้ถวายเสบียงเดินทาง สัตตุผง สัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้า พ่อค้าทั้งสองคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้แสดงตน เป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ คือ ถึงพระพุทธและพระธรรม ๖. ต้นสาละ เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ในดินแดนชมพูทวี มิได้เป็นชนิดเดียวกับต้นรังหรือต้นสาละลังกา ที่ปลูกหรือพบในประเทศไทย แต่อย่างใด ต้นสาละเป็นต้นไม้ ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเข้า ตั้งแต่ประสูติ จนถึงปรินิพพาน พระพุทธองค์ ทรงประสูติภายใต้ต้นสาละใหญ่ ณ อุทยานลุมพินี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ยามนั้นแดดอ่อน ดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศรีษะ เป็นวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ยามนั้นอากาศโปร่ง ต้นไม้ในป่าสาละอุทยานลุมพินี กำลังผลิตดอกออกใบอ่อน ดอกไม้นานาพรรณ กำลังเบ่งบาน ส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ ครั้นยามสาม ของวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียร จนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่มเงาพระศรีมหาโพธิ ภายในป่า สาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ครั้น วันเพ็ญเดือน ๘ สองเดือนภายหลังจาก พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จมาถึง บริเวณป่าสาละอันร่มรื่น ณ อุทยานมฤคทายวัน หรืออิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือ ใกล้เมืองพาราณสีแคว้นกาสี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือ ธัมมจักกัปปวันสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ พระรัตนตรัย เกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อพระพุทธเจ้า มีพระชนมายุ ครบ ๘๐ พรรษา ได้เสด็จถึงสาลวโนทยาน หรือสวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เป็นเวลาใกล้ค้ำของวันเพ็ญ เดือน ๖ วันสุดท้าย ก่อนการกำเนิดพุทธศักราช พระพุทธเจ้าทรงรับสั่ง ให้พระอานนท์ปูลาด ที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ ๒ ต้น ทรงเอนพระวรกายลง โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยา เป็นอนุฏฐานไสยา คือเป็นการนอนครั้งสุดท้าย จนกระทั่งสังขารดับ ๗.อปชาลนิโครธ ต้นไทร.... ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่ง เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ ภายหลังทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับนั่ง ภายใต้ร่มเงาของอปชาลนิโครธ เป็นเวลา ๗ วัน ต้นอปชาลนิโครธ อยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ๘.อัสสัตถพฤกษ์ คือต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อันเป็นสถานที่ซึ่ง พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๙. อานันทมหาโพธิ... เป็นต้นโพธิ์ตรัสรู้ ที่เป็นหน่อของต้นเดิม ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง ใต้ร่มเงาได้ตรัสรู้ ได้นำเมล็ดไปปลูกเป็นต้นแรก ในสมัยพุทธกาล โดยพระอานนท์ เป็นผู้ดำเนินการปลูก ที่ประตูวัดพระเชตวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ต้นโพธิ์นั้น เรียกว่า อานันทมหาโพธิ์ ทุกวันนี้ยังปรากฏอยู่ ทั้งนี้ พระยาม ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษา ที่พระเชตวันมหาวิหารนั้น แต่ละปี พระพุทธเจ้าประทับเพียงปีละ ๓ เดือนในฤดูพรรษา ส่วนอีก ๙ เดือนนอกพรรษา พระพุทธเจ้า ต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นเสียปีละ ๙ เดือน ชาวนครสาวัตถี ก็เกิดวิปฏิสารร้อนใจ ใคร่ทูลให้ประทับอยู่ตลอดปี พระพุทธเจ้า ทรงทราบความทุกข์ของชาวเมือง จึงรับสั่งให้พระอานนท์ นำเมล็ดจากต้นศรีมหาโพธิ มาปลูกไว้ หน้าประตูมหาวิหารเชตวัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ เพื่อว่าสมัยใด ที่พระพุทธเจ้าไม่ประทับพักอยู่ มหาชนจะได้บูชาต้นโพธิ์นั้น แทนองค์พระพุทธเจ้า
13 กรกฎาคม 2548 10:42 น. - comment id 491086
สวนและป่า ๑.ชีวกัมพวัน คือ สวนมะม่วง ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ถวายเป็นสังฆาราม ด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า และ ปรารถนาจะเข้าเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง หมอชีวกโกมารภัจจ ซึ่งบรรลุธรรม เป็นพระโสดาบัน และ เป็นแพทย์ประจำประองค์พระพุทธเจ้า ได้สร้างวัดถวาย ในสวนมะม่วงแห่งนี้ ชีวกัมพวันอยู่ในพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ๒.ตโปทาราม สวนซึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อน ชื่อตโปทาอยู่ใกล้ภูเขาเวภารบรรพต ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ สถานที่แห่งนี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ ๓.ปาจีนวังสทายวัน ป่าปาจีนวังสทายวัน อยู่ในแคว้นเจตี เป็นที่ตั้งสำนักของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าพระอนุรุทธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เรียนกรรมฐานได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นี้ ๔. ปาวาริกัมพวัน เป็นสวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี อยู่ในเมืองนาลันทา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง ๕. เภสกลาวัน เป็นป่าไม้สีเสียด ใกล้เมืองสุงมารคีรีนครหลวงของแคว้นภัคคะ ในพรรษาที่ ๘ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาอยู่ที่เภสกลาวัน ๖.ป่ามหาวัน กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นป่าใหญ่ใกล้ครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปทรงพักผ่อนระหว่าประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งเป็นอารามที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้า ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์เช่นกัน พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๑๕ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ที่นิโครธาราม ๗. ป่ามหาวัน นครเวสาลี เป็นป่าใหญ่ ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในพรรษาที่ ๕ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้า ประทับจำพรรษาอยู่ที่กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวลาลี ณ ที่นี้ พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ๘. มัททกุจฉิมิคทายวัน มีความหมายถึง ป่าเป็นที่อภัยแก่เนื้อชื่อ มัททกุจฉิ อยู่ที่พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ ๙.มิคจิรวัน ป่ารักขิตวันอยู่ในแดนบ้านปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ ในพรรษาที่ ๑๐ ภายหลังจากทรงตรัสรู้พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวัน ด้วยทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ผู้แตกกัน ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี พญาช้างปาริเลยกะคอยเฝ้าปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์ ในป่ารักขิตวัน ๑๑.ไร่ฝ้าย ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง คณะสหาย๓๐ คน ชื่อคณะภัททวัคคีย์ได้พากันเข้ามาที่ไร่ฝ้ายแห่งนี้ เพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไปเมื่อได้พบพระพุทธเจ้าและได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถา (เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ) จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาอริยสัจ ๔ (คือความจริงอย่างประเสริฐมี ๔ อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) คณะภัททวัคคีย์ ทั้ง ๓๐ คนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท ๑๒. ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม อยู่ทางทิศตะวันตดเฉียงใต้ของพระนครราชคฤห์ เชิงภูเขาปัพภาระ แคว้นมคธ ณ กาลนั้นเป็นตอนปลายของพรรษาที่ ๑ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธพร้อมด้วยราชบริพาร ๑๑ นหุต (๑ นหุต = ๑๐,๐๐๐ จึงเป็นจำนวนหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคน) เสด็จต้องรับพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสาวกซึ่งเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวันบรรดาราชบริพารเหล่านี้ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จึงแสดงอาการกริยาต่าง ๆกัน บางพวกถวายบังคม บางพวกประนมมือ บางพวกกล่าววาจาปราศรัย บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกนิ่งอยู่พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามนำพระอุรุเวลากัสสปะ ผู้เคยเป็นคณาจารย์ใหญ่หัวหน้าชฏิลสามพี่น้อง เป็นผู้ที่ชาวนครราชคฤห์นับถือมากพระพุทธองค์ทรงถามว่า ทำไมจึงเลิกบูชาไฟ พระอุรุเวลกัสสปะกราบทูลประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเดิม บรรดาราชบริพารทราบแล้วก็เชื่อถือ จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์แสดงพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพารจำนวนมาก เมื่อสดับพระธรรมเทศนาได้ธรรมจักษุ พระเจ้าพิมพิสารประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ที่นี้ ๑๓. ลุมพินีวัน เป็นสวนที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ภายใต้ต้นสาละใหญ่ ในเวลาใกล้เที่ยง เมือวันเพ็ญเดือน ๖ วันศุกร์ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เป็นสังเวชนียสถาน ๑ ใน ๔ แห่ง ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ (ปัจจุบันนี้ อยู่ในตำบลลุมมินเด แขวงเปชวาร์ ในเขตประเทศเนปาล ห่างจากเขตแดนประเทศอินเดีย ไปทางเหนือประมาณ ๖ กิโลเมตร ครึ่ง บัดนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสิทธารถนคร ๑๔. เวฬุวัน เป็นป่าไผ่ สวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ เป็นที่ร่มรื่นสงบเงียบ มีทางไปมาสะดวก ภายหลังจากพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ได้ธรรมจักษุประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระราชดำริหาที่ประทับให้พระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าพระราชอุทยานเวฬุวันสวนไม่ไผ่เหมาะสม จึงถวายเป็นสังฆาราม พระพุทธเจ้าทรงรับและประทานพุทธานุญาตให้ภิกษุรับอารามที่ทายกถวายได้ การถวายอารมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ที่นี้ นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ๑๕.สักกะ เป็นดงไม้ที่อยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ แถบเทือกเขาหิมาลัยในเขตป่าหิมพานต์ ๑๖.สาลวโนทยาน สวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ราชาผู้ครองแคว้นมัลละ ตั้งอยู่ใกล้เมืองกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานภายใต้ร่มไม้ต้นสาละใหญ่ ๒ ต้นในสาลวโนยาน ในยามค้ำของวันเพ็ญเดือน ๖ ปีมะเส็ง วันสุดท้ายก่อนเริ่มพุทธศักราช ๑๗. หิมพานต์ ป่าหิมพานต์เป็นป่าใหญ่เชิงเขาหิมพานต์ ซึ่งเป็นภูเขาสูงใหญ่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป พระนาลกะ หนึ่งในพระมหาสาวก หลานชายของอสิตดาบสออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ณ ป่าหิมพานต์ ครั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏปทา (ข้อปฏิบัติธรรมที่ทำให้เป็นปราชญ์) และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพานในป่าแห่งนี้ ๑๘. อนุปิยอัมพวัน สวนป้าไม้มะม่วง อนุปิยอัมพวัน อยธในเขตอนุปิยนิคม แขวง มัลลชนบท พระมหาบุรุษเสด็จพักแรม ณ ที่นี้ ๗ วัน ครั้ง วันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น พวกราชบุรุษนำความที่ได้พบเห็นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิศาร มีรับสั่งให้สะกดรอยติดตามเพื่อทราบความเท็จจริงของพรรพชิตเศษรูปนี้ ครั้นทรงสดับความจริงแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงพระประสงค์ จะได้พบกับพระมหาบุรุษ ต่อมาเจ้าชายศากยวงศ์ทั้ง ๖ คือพระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พรกิมพิละ พระเทวทัต และมีอบาลีอำมาตย์ ช่างกัลบก รวมเป็น ๗ พร้อมใจออกบรรพชา ได้ออกบวช ณ สวนป่าไม้ มะม่วงอนุปิยอัมพวันแห่งนี้ ๑๙.อัมพปาลีวัน สวนที่หญิงแพศยาชื่อ อัมพปาลี ถวายเป็นสังฆาราม ไม่นานก่อนพุทธปรินิพพาน อยู่ในเขตเมือเวสาลี แคว้นวัชชี (แพศยา หมายถึง หญิงหาเงินในทางร่วมประเวณี หรือ โสเภณีในปัจจุบัน) ๒๐. อิสิปตนมฤคทายวัน คือป่าที่ให้อภัยแก่เนื้อชื่อ อิสิปตนะอยู่ใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ป่าแห่งนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร (พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป)ประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ รูป ในวันเพ็ญ เดือน ๘ พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้เกิดขึ้นบริบูรณ์ในกาลนั้น ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
13 กรกฎาคม 2548 10:57 น. - comment id 491090
มาอ่านงานงามของพุดพัดชาแล้วจิตใจเบิกบาน แม่ชีที่ถูกจับตามข่าวหนังสือพิมพ์ ถ้ามีความรู้สักกระผีกของพุดพัดชาคงไม่ถูกจับแน่ นึกถึงเข้าพรรษา ตอนเด็ก ๆ ครอบครัวเรายากจนไม่ค่อยมีเงินซื้อหาเครื่องเข้าพรรษาไปทำบุญที่วัด เราต้องตรียมทำต้นไม้ดอกไม้ไว้ล่วงหน้าเป็นปี เก็บใบโพธิ์ล่วง ๆ จากวัดมาใส่โอ่งดินแช่น้ำไว้จนใบเน่าหลุดเหลือแต่แกนใบเป็นตาข่ายรูปใบคงเดิม ตากแห้งเอามาย้อมสีเขียวเอาเส้นลวดแป้งเปียกติดกระดาษทำเป็นใบไม้ เอากระดาษสีแดงสีชมภูมาตัดเป็นกลีบดอกไม้ดัดแล้วติดก้านลวดเป็นดอกกุหลาบเอามาพันกับใบที่ทำไว้ก็จะๆได้ต้นไม้งดงามประกอบเครื่องของใช้ต่าง ๆ ไปวัดได้แล้ว เราชอบไปวัดในวันเข้าพรรษามากครับ
13 กรกฎาคม 2548 12:16 น. - comment id 491100
ฤกษ์คะ นาทีนี้ฝนกำลังปรายโปรยค่ะ ฟ้ามัวหม่น หาก พุดไพร..หวังว่า หัวใจเราทุกคน ทุกดวงใจในร่มรักเรือนไทยเรือนทอง เรือนริมบึงฝันสวรรค์หวาน คงดั่งบัวบานเหนือน้ำ.. ที่กำลังชูช่อใจ รอสายแสงอาทิตย์อุทัยสีทองมาทาบทา พาให้เกสรไสวใจดั่งอัญมณี ได้พลีรับดวงดอกแดด อย่างมิยอมแพ้พ่ายแพ้ ถอดถอนใจ ไม่ว่าจะแผดเผาใจเราสักเพียงใดค่ะ พุด..เคยลงจากรถริมทาง เมื่อสายตาเห็นพร่างไหวของบัวสีขาว พราวผ่องผุดพิสุทธิงาม ในท่ามกลางคูเมืองน้ำเน่าค่ะ พุดไปยืนพินิจดู และ รู้ทันเท่าสัจจธรรม ธรรมชาติอันพิไลล้ำ ในเมืองอันแสนวายวุ่นนี้ ที่ แม้นบัวแสนงามดอกบริสุทธิ ดั่งหยาดน้ำค้างณ กลางหาวนี้ ยังมีสิทธิที่จะโผล่พ้นน้ำท่ามโคลนตมน้ำเน่า ราวไม่หวั่นต่อสิ่งใด ไม่กลัวปฎิกูลใด ยังรอไสวรับสายแสงธรรม จากธรรมชาติ อย่างเพียรมิขลาดกลัว พุดซึ้งใจค่ะฤกษ์ที่งานรจนาพุด ที่พุดเฝ้าเพียรเททุ่มใจ ให้จิตพุดได้ไสวดั่งบัวพ้นน้ำ ในทุกยามที่พุดได้พลีทำ เพื่อพัฒนาจิตตนเอง และทั้งเพื่อคนอื่น เพียงแค่ให้ชื่นฉ่ำใจใสเย็น ดั่งบัวบานพร้อมตระการในบึงใจ ได้ไหวรอยเดิน ก้าวตามบาทองค์พระบรมศาสดา ที่พระองค์ท่านทรงเสียสละ ด้วยพระเมตตาบารมี เพียรภาวนาค้นหา เส้นทางทองสายธารธรรม แผ้วถางทางไว้ให้รองรับหอมใจ เราให้ใสว่างกระจ่างเเย็น นับพันพันปีแล้วค่ะ อย่ามัวรอท่านะคะ วันเวลาแห่งดวงชีวาชีวิต ช่างสถิตในโลกหล้าพสุธานี้ แสนสั้นเป็นยิ่งนัก จงผ่อนพักกาย ฝากจิตฝากวิถีชีวิตไว้ในอ้อมหัตถ์ ในร่มพระรัตนตรัยนะคะ ที่ดั่งน้ำใสไหลเย็นน้ำอมฤตธรรม นะทุกดวงใจทุกคนดี พุด..ขอให้ ทุกที่รัก จักโชติช่วง ดั่งดวงเทียนไสวใจสว่างพร่าง ด้วยแสงธรรมแสงทอง ส่องนำทางใจในวันเข้าพรรษานี้นะคะ
13 กรกฎาคม 2548 12:25 น. - comment id 491104
ฤกษ์คะ วิถีชีวีที่ฤกษ์เล่ามาในวันบุญนั้น คงสถิตกรุ่นงาม ในทุกดวงใจ ยามได้อ่านด้วยดวงตาเห็นธรรม แล้วนะคะ ที่จักฝากฝังทรงจำให้ ทุกดวงใจไท ดวงใจทอง ได้รัก*วิถีพุทธพิสุทธิปัญญาธรรม* ที่สุดแสนงามแสนดี พร้อมพลีรอรับ ทุกคนดี ที่จะเข้าไปพักพิง ในร่มเงางามแห่งพระรัตนตรัยค่ะ และ อยากมากระซิบค่ะ ให้*บุรุษแห่งสายธาร*ได้ภาคภูมิปิติใจนะคะ เนื่องจากในวันวิสาขะที่ผ่านมา พุดได้นำบทกวีนี้ไปที่วัดค่ะ และ ได้รับเกียรติ อ่านออกอากาศให้ญาติโยมนับพัน ได้พลันปิติเกษมบุญ จากพระเมตตาของพระสงฆ์องค์งามค่ะ ที่ท่านเทศน์ได้จับจิตจับใจมากค่ะ ทันที ที่ท่านเห็นและอ่านบทกวี ท่านบอกว่านี่คือ สุดยอดงามแห่งกวีธรรมค่ะ พุด..หวังว่า นี่คงเป็นขวัญพลังใจอันแสนเกษมสุงสุดนะ *บุรุษแห่งสายธรรม บุรุษแห่งไพร* ด้วยใจดวงศรัทธารัก
13 กรกฎาคม 2548 15:08 น. - comment id 491173
งานของพี่พุดยังงามเสมอเลย.........สุขใจทุกครั้งที่ได้เข้ามาอ่านค่ะพี่พุด...... แก้วนีดาหายไปหลายวันแต่ก็คิดถึงงานงามๆๆของพี่พุดพี่สวาคนงามคนนี้เสมอมิเคยลืม........
13 กรกฎาคม 2548 20:07 น. - comment id 491292
อ่านงานงามของคุณแล้วประดับด้วยของลำน้ำน่านสหายทางธรรม บอกตรงๆจิตใจผ่องแผ้วมากเสียจริงๆ เพราะยิ่งปีนี้ผมเองอาทิตย์หน้าจะเดินทางไปทำบุญ เข้าพรรษา ณ.ดินแดนอีสานด้วย ซึ่งเป็นดินแดน ที่มากด้วยศรัทธาต่อบวรพุทธศาสนายิ่งกว่าดินแดน อื่นใดในประเทศนี้ครับ ขอร่วมอนุโมทนาด้วยคนครับ คิดถึงสาวงามแห่งพงไพรเสมอครับ แก้วประเสริฐ.
13 กรกฎาคม 2548 21:02 น. - comment id 491299
ขอเข้ามานั่งพักใต้ร่มโพธิฯครับ
13 กรกฎาคม 2548 22:05 น. - comment id 491327
...ผมขอพักสักนิดนะครับ...ใต้ร่มโพธิ์... สวัสดีครับ
14 กรกฎาคม 2548 01:29 น. - comment id 491389
. ภาพ.. งดงามมากเลยนะคะ .... สื่อ..ความรู้สึก .. ได้อ่อนโยน..มากเลยคะ ..
14 กรกฎาคม 2548 02:55 น. - comment id 491397
แวะอ่านครับ.... ยิ่งไม้ในธรรมที่พรรณนามา บางต้นไม่เคยเห็น อยากเห็น...
14 กรกฎาคม 2548 08:59 น. - comment id 491417
คุณแน่มาก
14 กรกฎาคม 2548 20:36 น. - comment id 491619
น้องสาวไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวาเลยค่ะพี่ อาจเพราะไม่สวยพอไปวัดไปวากับเค้า อาศัยอ่านกลอนพี่สาวเนี้ยแหละ เลยพอซึมซับได้ งามล้ำ พระธรรม คำสอน ทุกบท จังหวะ วรรคตอน งามแท้...
15 พฤศจิกายน 2548 14:15 น. - comment id 537632
แวะมาอ่านงานครับ คิดว่าคงจะได้แลกเปลี่ยนงานเขียนกันนะครับ