๑ขีดเส้นเน้นหนักปักเขต กำหนดกฎเหตุสิ่งผล กระทำการณ์กร้าวคำรณ แทบท้นท่วมสรรพ์สวรรค์ยา ๒เหตุอาฆาตมาตรแต่ร้าย ก่อนปางกำเนิดกายจะใฝ่หา จึ่งลิขิตค่าแห่งชีวตา สังสาร์สืบมาว่าฉะนี้ ๓กรรมแห่งแต่งโสตสรรพสัตว์ ต่างเยี่ยงกำหนัดภูตผี หมองไหม้เผาแผดทุกราตรี จึ่งมีโทมนัสกลัดกมล ๔สุมเผาโมหาโทษาจริต ร้อนรุ่มสุมผิดคั่งข้น เลือดแค้นกลบแค่นค่อนคน จึ่งดลดาลเดือดเลือดร้อน ๕สรรพศาสตราอาวุธ เร่งรุดฉุดคร่าคราก่อน มาตรว่าจวบสิ้นถิ่นอุดร จึ่งผ่อนกลับกลายเมื่อปลายมือ ๖หัตถาแปดเปื้อนเดือนมืด กำพืดหืดหิ่งนิ่งหรือ กำดาบฟาดเลือดเดือดระบือ จึ่งคือเสือไฟใจโจร ๗โลดโผนโจนทะยานยุทธนา ปล้นแล้วจึ่งฆ่าครากระโน้น ห่อนห้ามทรามสุมซุ้มโจร ก่อนโพ้นผละไว้ไพรวนา ๘กระบี่เมืองขุนมือปราบ ภูตแห่งกำราบหิงสา สดับตรับทุกข์ผู้ประชา จึ่งมารอนร่ายพลายพล ๙เหวยเหวยอ้ายเองอั้งยี่ ปล้นฆาตคร่าสตรีมีผล กรรมก่อผู้ใดใคร่ค้น กรรมค้นผู้ใดใคร่ทำ ๑๐เหวยเหวยว่าอ้ายขุนเมือง ฉ้อฉลกลเขื่องเชื่องช้ำ ผู้คนมีชื่อเพราะคือกรรม ลบชื่อ ฤา กรรมกระทำเอา ๑๑อุหว่ะมึงนี่ปลิ้นปล้อน ยอกย้อนทุรชนกลเขลา เกลือกเพียงก่นอ้างสรรค์เอา อย่าเลยเร่งเร้าทั้งลี้พล ๑๒สกลสองข้างทั้งขวาซ้าย โหมทักถองท้ายย้ายย่น มีดจักแทงหอกจักซัดสู่ตัวคน ทั้งผู้พลคนตายก็คล้ายกัน ๑๓สะดุดเสือกเกลือกท่าจนแทบสิ้น เสือล้มฟาดแผ่นดินด้วยพลาดพรั่น ยามรักตัวกลัวตายจักวายวัน จึ่งนพกั้นสัปทนคนปราชัย ๑๔ขอท้าวเถิดท่านข้าสำเนียกผิด ด้วยโมหะห้อมจริตจนบิดใบ้ ทั้งลุ่มหลงโลภะอันจัญไร จึ่งเบียดบังพลั้งใจด้วยไม่มี ๑๕นาก็ล่มจมนาจนเจิ่งหนอง ยามแล้งก็แล้งร้อนจนแหนงหนี ปลาก็ตายหายหดหมดนที นกหรือ ฤา จักมีเพราะหนีฟ้า ๑๖ข้าวกล้าพอเท่าไรก็เสียเจ๊ก ตัดเบี้ยเยี่ยงเห็บในหูหมา เหลือแต่เพียงจานเปล่ารองน้ำตา เกลือกกินหญ้ายอดฟางอย่างงัวควาย ๑๗สงสารแต่มารดาที่แก่เฒ่า มองลูกเต้าเมียรักก็ใจหาย พ่อจ๋าพาข้าวยังเปล่าดาย เราจะกินอะไรในวันนี้ ๑๘ร้องราวป่าวทุกข์ทั้งแดนป่า ท่านขุนภักษาผู้เรืองศรี ท่านขุนเกษตราธิบดี ท่านขุนปรานีปรีชาชาญ ๑๙นรชนคนราษฎร์ต่างร่ำร้อง ฝนฟ้ามิตกต้องดังปีขาล เปรียบสุมไฟไหม้ขอนก็ไม่ปาน เพราะร้อนรุ่มดุ่มดาลปานนอนไฟ ๒๐ท่านขุนภักษาเบือนหน้าหนี ท่านขุนปรานียิ่งหนีหาย ท่านขุนเกษตรากระสาตาย จักร้องราวป่าวไปก็ไม่มี ๒๑จึ่งมาก่อกรรมอยู่ถ้ำเสือ ด้วยเบื่อสาบจนพ้นหนี กำดาบสาบเลือดในที พอมีที่พลั้งยังกาย ๒๒โปรดเมตาข้าเจ้าเถิดเจ้าข้า ด้วยลำเค็ญเข็ญว่าฟ้าหมาย หากเลือกทางได้ด้วยใจกาย จักไม่เลือกผิดพ่ายต่อผู้คน ๒๓นิทานของเองมันสิ้นแล้ว เป็นเสือก็เหมือนแมวหมดลายขน ต้องกุดหัวเสียบประจานสันดานโจร เป็นเยี่ยงอย่างผู้คนต่อต่อมา ๒๔..เจ้าเอกวิชัยชาญ ทั้งหมู่บริบาลจตุบาท์ คุมตัวอ้ายสัตวหิงสา บั่นคอเลือดทาทุรกรรม.. -----------------------------------------------------------
17 เมษายน 2549 01:38 น. - comment id 571945
จะตัดสินใคร..? เห็นว่าอย่างไร..?
17 เมษายน 2549 06:21 น. - comment id 571951
เสือสวย
17 เมษายน 2549 07:31 น. - comment id 571958
ไม่ควรมีผู้ใดได้อภิสิทธิ์ ใช่ว่า จะมีคำสมญาว่า เสือ แล้วจะทำได้ตามอำเภอใจ เสือ ย่อมมีเกียรติและศักดิ์ศรีเยี่ยงเสือ มีอาณาเขตแห่งเสือ เสียงคำรามของมันสะท้อนไปทั่วหุบเหวที่มันถือครอง เมื่อคืนเพิ่งอ่านหนังสือของเสกสรรค์ เป็นเรื่องสั้น คนกับเสือ บางคนอาจเทียบตนเองได้ว่ามีจิตวิญญาณเยี่ยงเสือ แต่ ก็มีบางคน ที่หลงคิดว่าตัวเองเป็นเสือ ทั้งที่ฐานแห่งจิตวิญญาณยังต่ำช้ากว่าสัตว์ที่มีชื่อว่าเสือ เสียอีก :) จะตัดสินใคร ? ... กรรมใดใครก่อ ผู้นั้นย่อมได้รับ เห็นว่าอย่างไร ? ... ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม
17 เมษายน 2549 11:10 น. - comment id 572030
17 เมษายน 2549 19:46 น. - comment id 572132
กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
17 เมษายน 2549 21:19 น. - comment id 572159
เขียนได้งดงามมากครับ แก้วประเสริฐ.
18 เมษายน 2549 19:53 น. - comment id 572384
.....
19 เมษายน 2549 06:29 น. - comment id 572459
ผมลองนั่งนึกๆ เสมอนะครับว่า.. ในความจำยอม จำเป็นจากเหตุผล การดิ้นรนเพื่ออยู่รอดในสังคมที่ไม่มีทางเลือกเป็นสิ่งที่ยากลำบากเสมอในทุกยุคทุกสมัย ความยุติธรรมมันไม่ควรจะมีฝ่าย เพราะความยุติธรรมควรจะเป็นสิ่งที่เท่าเทียมเสมอกัน จากสังคมที่นัยลักษณะกล่าวหา(และกฎหมายไทยที่มีลักษณะกล่าวหา) ทำให้เรามักจะมองผู้ที่ถูกนั้นถูกแล้ว ความยุติธรรมที่เริ่มต้นจากตรงนี้บนฝั่งของผู้ที่ถูกต้อง เสมอๆ ออกจะเป็นลักษณะธรรมชาตินัก.. แต่ทว่าสำหรับผู้ผิดนั้น ยากที่ความยุติธรรมจากสังคมจะเข้าถึง ผมเน้นนะครับว่าความยุติธรรมจากสังคม.. ไม่ใช่ความยุติธรรมจากความยุติธรรม.. การตัดสิน..แน่นอนเมื่อผิดต้องว่ากันตามผิด ส่วนโทษต้องดูกันอีกทีว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะความชั่วมันมีพัฒนาการของมัน คือเมื่อเลวแล้วมันมักจะมีธรรมชาติของการพัฒนาความเลวไปสู่ความเลวร้ายยิ่งๆ ขึ้นไป หากทว่ามันมาจากเหตุผลอันจำเป็นที่สังคมหยิบยื่นให้เป็นตัวตั้งต้น..เป็นเหตุจึงนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ควรหรือไม่ที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างยุติธรรม.. มีข้อสังเกตอีกอย่างนะครับ.. สถานะการบ้านเมืองที่อดอยากแร้นแค้น ในทุกยุคทุกสมัย ว่ากันมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ มักจะมีการปล้นสะดมภ์ ซ่องโจร โดยที่รัฐจะเล่นบทพระเอกแก้ปัญหาที่ปลายมือ ส่งกองทัพเข้าตะลุย ยิ่งปราบก็ยิ่งหนักข้อรอเชื้อประทุ หนักเข้าหน่อยก็ขบฏ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงระบอบระบบ ขบฏเลยมีชื่อใหม่ว่าผู้ปราบดาบ้าง ผู้ปฎิวัติบ้าง ผู้กระทำการรัฐประหารบ้าง เขียนประวัติศาสตร์กันเองใหม่ สวยงามเลิศหรู เพราะมันไม่ใช่ซ่องโจรขบฏเสือไฟอีกต่อไปแล้ว ประวัติศาสตร์ที่เขียนจึงมีข้อขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ที่เป็น ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่นิ่ง มีการแก้ใขเสมอๆ ยกตัวอย่างเสียหน่อย อย่างการเปลี่ยนวันกองทัพไทย ก็เพิ่งได้หลักฐานกันมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้ อันนี้เพียงยกตัวอย่างความไม่นิ่งของมันนะครับ.. แล้วประวัติศาสตรที่เราเรียนกันล่ะมีความเป็นจริงมากแค่ไหน..? ผมไม่ทราบ.. กลับมาสู่ยุคสมัยข้าวยากหมากแพง.. เกิดชุมนุมซ่องโจร มันสะท้อนอะไร.. มันสะท้อนเรื่องความยุติธรรม การแก้ปัญหา การใช้อำนาจของรัฐหรือไม่..? ทั้งในส่วนของรัฐเอง ในส่วนของเจ้าขุนมูลนาย หรือข้าราชการ ก็ตามแต่ ว่ามีระบบการบริหารกันอย่างไรจึงเกิดปัญหา.. หากทว่าประชาชนอยู่ดีกินดี มีความยุติธรรมในสังคม มีหรือโจรเสือไฟจะเกิด..? มาสู่ยุคปัจจุบัน.. ถามว่าหมดไปหรือไม่ที่อำนาจรัฐข่มเหงประชาชน..? ถามว่าหมดไปหรือไม่ความไม่ยุติธรรมในสังคม..? ผมคิดว่ายังไม่หมดไป มีแน่นอนครับ มันเป็นเรื่องที่ยืนหยัดอยู่คู่กับคน.. เพียงแต่แสดงออกมาในรูปแบบใหม่ ตามเงื่อนใขใหม่ๆ ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน.. อ้อ..ลืมอีกเรื่องนึง กรรมย่อมกระทำผลตามสมควรแก่เหตุแห่งมัน กฎเกณฑ์เรื่องนี้ ผมจะมองได้ไหมครับว่าออกจะไสยศาสตร์ไปหน่อยสำหรับเรื่องนี้และเหตุผลทั้งหมดที่ยกมาอ้าง แน่นอนครับว่า กฎแห่งกรรมเป็นสากล เป็นกฎตายตัวแห่งจักรวาล เราไม่ต้องมาพิสูจน์กันเพราะมันเป็นสัจจะนิรันดร์ แต่มีหลักธรรมอีกข้อที่เราต้องนำมา ประกบ เรื่องนี้ บุพเพกตบุญตา อัตสัมมาปนิธิติ(ถ้าให้ความหมายหรือเขียนผิดไปโปรดให้อภัยด้วยนะครับ) คือ..รวมความแล้วว่าเหตุที่เป็นไปเกิดจากวัน เวลา และสถานที่ หรือบริบทแวดล้อม คนจะดีเลวได้ส่วนนึงมาจากสิ่งแวดล้อม.. บางทีข้ออ้างในอำนาจและการตัดสิน หรือบริหาร มักจะอิงปรัชญาอะไรซักเรื่อง หรืออำนาจครอบงำทางศาสนาที่มองไม่เห็น มาเป็นข้ออ้างอันชอบธรรม ผู้ปกครองในทุกยุคสมัยจะไม่มองข้ามในหลักการนี้ หากใคร.. ผู้ใด.. กุมศรัทธาและความเชื่อ อำนาจมักจะตามมาอย่างชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเกื้อหนุนอุปถัมภ์ต่อศาสนาในทางอ้อม หรือ เป็นศาสนาเสียเอง อย่างกบฏโจรโพกผ้าเหลืองในเรื่องสามก๊ก(คล้ายๆกับใครสักคนในยุคบ้านเมืองปัจจุบัน) ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่ยกคุณธรรมในศาสนาหรือยกศาสนามาอธิบายความชอบธรรมในอำนาจแทบทั้งสิ้น ไม่มีผู้นำรัฐคนใดที่จะมองข้ามอำนาจมืดข้อนี้แล้วจะไปรอด เพราะอำนาจบวกบุญเท่ากับบารมี เป็นอำนาจที่มีความชอบธรรมในการใช้ แต่จะเป็นอำนาจที่บริสุทธิ์หรือไม่..? ไม่รู้.. มาสู่.. การพิจารณาในเรื่องกฎแห่งกรรม สมควรครับที่จะยึดถือ โดยไม่ละเว้นในทุกสถานะการณ์ ทุกเหตุการณ์(เน้นนะครับว่าในทุกเหตุการณ์สถานะการณ์) แต่ความหนักเบา อันจะยึดถือเป็นตัวบทที่สำคัญนั้น เราน่าจะมองเหตุการณ์ออกไปให้ไกลถึงปลายสุด ที่มองออกยาก หรือมองไม่เห็น คาดการณ์อย่างมองไม่เห็น แล้วพิจารณาให้น้ำหนักความหนักเบาแก่มัน สิ่งที่มองไม่เห็นไม่ใช่ว่าจะไม่มีน้ำหนักของเหตุผล แต่มันมีน้ำหนักเท่าใดล่ะ หรือควรให้น้ำหนักแก่มันมากเท่าไรถึงจะสมเหตุสมผล.. .. สงครามการต่อสู้ดิ้นรนครั้งในนี้ เปรียบมวยก็เหมือนมวยแพ้ มวยแพ้ไม่มีทางจะได้รางวัลปลอบใจไปมากกว่าผู้ชนะแน่นอน หากว่าเราเป็นฝ่ายชนะในเกมส์ เราจะมีน้ำใจนักกีฬาแบ่งส่วนเงินค่าเย็บแผลหรือไม่.. หรือเปิดทางเลือกถอยหนีให้แก่เสือผู้แข็งข้อ จะได้มีที่ยืนเสียมั่ง ปรับเปลี่ยนการบริหารรัฐเสียบ้าง อภัยโทษ หรือลดโทษลงเสียบ้าง เสือตัวต่อไปจะได้ไม่มี ความยุ่งยากในการปกครองจะได้ไม่เกิดซ้ำซาก.. อย่าลืมนะครับว่า.. เขาเพียงแต่เป็นฝ่ายแพ้ จากโจรกระจอกลักเล็กขโมยน้อย กลายเป็นโจรปล้นฆ่า จากเสือตัวเดียวเป็นหัวหน้าถ้ำเสือซ่องโจร กองกำลังโจรถ้าใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการเลี้ยงดูกำลังพลจะตามมา จากที่เคยบุกปล้นกันงานต่องานหรือวันต่อวัน จะกลายมาเป็นการเรียกส่วยเก็บค่าคุ้มครอง มีระบบการบริหารเก็บรายได้เลี้ยงกองกำลังเป็นสัดเป็นส่วนตายตัวแน่นอน ควบคุมพื้นที่ มวลชนสัมพันธ์แย่งชิงประชาชน จนกระทั่งจัดสรรค์ก่อตั้งหน่วยงานปกครองลงมาทับซ้อนแทนที่หน่วยงานอำนาจของรัฐ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้ารูปแบบไปเสียสิ้นเชิงจนคาดไม่ถึง จากโจรปล้นคนจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปล้นชาติ จัดตั้งกองกำลังกบฏติดอาวุธ มีระบบกำลังพล กองประจำการ กองหนุน การรบจะเปลี่ยนจากจรยุทธไปเป็นการรบเป็นแนวอย่างมีแบบแผน เป้าหมายสุดท้าย คือล้มรัฐบาลกลาง เปลี่ยนแปลงการปกครอง จัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงจะสลายกองกำลัง.. ชุมโจรขบฏกลายเป็นฝ่ายปฏิวัติ.. หน้าประวัติศาสตร์จะพลิกด้านอย่างพลิกฝ่ามือ ประวัติศาสตร์จะถูกเขียนขึ้นใหม่โดยกลุ่มผู้มีอุดมการณ์แนวร่วมปฏิวัติ(ให้สังเกตว่าเปลี่ยนจากโจรไปเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์) สังคมจะกลับคำตัดสินประณามรัฐบาลเดิมว่างี่เง่า คดโกง ช่อราษฎร์บังหลวง ที่นี้.. เราจะมาเริ่มตัดสินกันใหม่ไหมล่ะครับว่า.. โจรเสือไฟมีความผิดเช่นไร และควรจะใช้บทลงโทษอย่างไรจึงจะยุติธรรม.. (จะตั้งเป็นกระทู้หรือเรื่องสั้นให้แสดงความคิดโต้แย้งกันอีกครั้ง) หมายเหตุ|เป็นความคิดเห็น ที่ไม่ได้มีเจตนามุ่งกล่าวหา โต้แย้ง ลบหลู่ บุคคล องค์กร หรือสถาบันใดๆ