อุ. อุฏฐานสัมปทา = หาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน อา. อารักขสัมปทา = จัดการรักษาคุ้มครองทรัพย์ที่หาได้ ก. กัลยาณมิตตตา = คบเพื่อนเป็นคนดีไม่คบคนชั่ว ส. สมชีวิตา = ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ (เศรษฐกิจพอเพียง) จตุคำนำใจให้ฉุกคิด ช่วยดึงจิตงมงายหายหลงใหล คลั่งวัตถุสารพันจรรโลงใจ ลืมหรือไรธรรมะพระพุทธองค์ จตุคำมีมาแต่นานเนิ่น ปฏิบัติแล้วเจริญอย่าลืมหลง มี " อุ " " อา " " กะ " " สะ " ตั้งดำรง ชีวิตย่อมมั่นคงตลอดไป หาเลี้ยงชีพด้วยขยันในการงาน คือคำ " อุ " ที่ขานอย่าสงสัย พร้อมรักษาคุ้มทรัพย์ที่หาไว้ เก็บออมให้เพิ่มพูนคือคำ " อา " คบเพื่อนดีมีศีลธรรมนำสำเร็จ นี่คือเคล็ดหนุนนำคำ " กะ " ว่า ใช้ชีวิตพอเพียงเงินหามา คำสุดท้าย " สะ " พาครบกระบวน จตุคำนำใจให้ชีวิต หยุดไตร่ตรองสักนิดความคิดหวน ย้อนมาสู่ธรรมะอย่างทบทวน คือความจริงล้วนล้วน " จตุคำ "
17 มิถุนายน 2550 15:37 น. - comment id 711090
คาถามหาเศรษฐี โดย พระมหาณรงค์ฤทธิ์ อคฺครตโน "อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา" พากเพียร เพิ่มพูน เพื่อนดี พอเพียง ความร่ำรวย ความมั่งมีหรือความเป็นเศรษฐีใครๆก็ชอบ เพราะคำตอบสุดท้ายในใจของทุกคนผู้กำลังดิ้นรนแสวงหาคือ ความสุขสบาย ผู้มีเงิน มีทรัพย์สมบัติมากมาย ย่อมมีโอกาสในการจัดสรรหาสิ่งอำนวยความสุขสบายให้แก่ตนได้ง่ายกว่าผู้มีทรัพย์สมบัติน้อย นอกจากนั้น หากใช้ความร่ำรวยไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติและพระศาสนา ก็จะยิ่งเพิ่มพูนคุณค่าของชีวิตให้แก่ผู้นั้นอย่างน่าชื่นชม ในทางพระพุทธศาสนา ความร่ำรวยนั้นเกิดได้ด้วยเหตุปัจจัย ๒ ประการ ได้แก่ ๑. เพราะอาศัยบุญเก่าในอดีตชาติหนุนนำหรือสร้างบุญกรรมในด้านทานบารมีมาเพียบพร้อม อย่างนี้เป็นลักษณะ "พรสวรรค์" คือ บุญกรรมในอดีตลิขิตให้ชีวิตเกิดมาร่ำรวย มีตระกูลดี ฐานะเลิศ ๒. เพราะอาศัยปัจจุบันกรรมหรือการกระทำในชาติปัจจุบันที่สมบูรณ์พร้อม มีหลักปฏิบัติ มีวิถีชีวิต มีสังคมที่เกื้อกูลต่อการสร้างฐานะให้เกิดความร่ำรวย อย่างนี้เป็นลักษณะ "พรแสวง" คือ การกระทำในปัจจุบันสร้างสรรค์ชีวิตให้ร่ำรวย มีฐานะดี สำหรับผู้รวยแล้วหรือมีบุญเก่าหนุนนำให้ร่ำรวยนั้น ในที่นี้ขอยกไว้ไม่ก้าวก่าย แต่จะขอบรรยายถึงช่องทางแห่งความร่ำรวยสำหรับผู้ที่กำลังอาศัย "พรแสวง" ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มีวิธีแสวงกันหลากหลาย บ้างก็อาศัยทางตรงในการแสวงหา ด้วยการบากบั่นพยายามเลือกหาการงานอาชีพที่สุจริตต่างๆ ทำ บ้างก็อาศัยทางลัดด้วยการทุจริตเป็นพวกมิจฉาชีพ หรือบ้างก็อาศัยการเสี่ยงโชค พึ่งพาเลขหวย พึ่งพาการพนัน ดีบ้าง ร้ายบ้าง สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้างตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน อย่างไรก็ดี ตามแนวธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การจะร่ำรวย หรือมีฐานะที่มั่นคงในปัจจุบันได้นั้น ทรงชี้แนะหลักธรรมไว้น่าสนใจ โบราณเรียกกันว่า "คาถาเศรษฐี" (อุ อา ก ส) แต่ตามบาลีเรียกว่า "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" หมายถึง หลักการแสวงหาประโยชน์สุขในชาติปัจจุบัน ๔ ประการ ได้แก่ "อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา" หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ แปลเป็นไทยได้ว่า "ถึงพร้อมด้วยความขยัน ถึงพร้อมด้วยการรักษา การมีมิตร การมีชีวิตเหมาะสม" แต่ในที่นี้ขอประยุกต์เป็นหลักปฏิบัติ ๔ พ. เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำว่า "พากเพียร เพิ่มพูน เพื่อนดี พอดี" ๑. พากเพียร หมายถึง มีความมุ่งมั่นขยันทำการงาน ไม่ย่อท้อต่อการทำงาน ดังคติที่ว่า "หนักเอาเบาสู้" คนที่ขยันทำการงานนั้นย่อมไม่ตกอับ ย่อมหาทรัพย์ได้มีขาดมือ ดังพุทธภาษิตที่ว่า "คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้" เบื้องหลังของผู้เป็นเศรษฐี มีฐานะดีมากมาย ที่เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เพราะอาศัยความขยันบากบั่น เอาจริงเอาจัง ตั้งใจสู้ไม่ย่อท้อ จนก่อร่างสร้างตัวได้และไต่เต้าสู่ความร่ำรวยในที่สุด ความพากเพียร มุ่งมั่นขยันทำการงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการไต่เต้าก้าวสู่ความเป็นเศรษฐี ตามหลักธรรมข้อที่ว่า "อุฏฐานสัมปทา" คือ ถึงพร้อมด้วยความขยัน ๒. เพิ่มพูน หมายถึง เมื่อทำการงานหาเงินมาได้ ก็รู้จักจัดการเก็บรักษา ปกป้องเงินทองให้คงอยู่ เพื่อจะได้ไม่สูญหายหรือลดน้อยถอยลง ค่อยๆ เพิ่มพูน พอกพูนขึ้น ดุจดังปลวกที่ค่อยๆ ก่อสร้างจอมปลวกให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเศษธุลีที่ละน้อยๆ ในยุคปัจจุบัน การเก็บรักษาเพิ่มพูนเงินทองสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ ฝากธนาคาร หรือการแปลงเงินเป็นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะที่ดิน เป็นต้น วิธีการเหล่านี้ นอกจากสามารถเก็บเงินทองให้คงอยู่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนค่าของเงินทองนั้นให้มากขึ้นด้วย หากรู้จักเก็บรักษาเงินทองที่หามาได้ให้คงอยู่ พยายามวางแผนจัดการหรือหาช่องทางที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดในการเก็บรักษาเพิ่มพูนเช่นนี้ ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามหลัก "อารักขสัมปทา" คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษา ๓. เพื่อนดี หมายถึง การมีมิตรหรือผู้ที่ผูกพันด้วย คบค้าสมาคมด้วยเป็นคนดี เพราะเพื่อนที่ดีหรือมิตรที่ดีนั้นย่อมไม่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย แต่ถ้ามีคบค้าสมาคม ผูกพันกับคนไม่ดี ย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของที่เรามีเสียหายได้ด้วยเหตุต่างๆ การสร้างตนสร้างฐานะก็ไม่อาจจะมั่นคงอยู่ได้ ในชีวิตคนเรานั้น แน่นอนว่าขาดเพื่อนไม่ได้ เพราะมนุษย์เรามีลักษณะความเป็นอยู่เป็นสังคม อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีผู้เป็นประดุจดังเพื่อนอยู่ในบ้าน เป็นเพื่อนกิน เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข เพื่อนร่วมบ้านเดียวกัน ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้องหรือญาติข้างเคียงอื่นๆ ส่วนนอกบ้านก็มีเพื่อนร่วมงาน มิตรสหายและบริวารทั้งหลาย ตลอดถึงเพื่อร่วมสังคมทั้งหลาย หากบุคคลทุกกลุ่มที่เราเกี่ยวข้องผูกพันด้วยเป็นคนดี มีศีลมีธรรม อายชั่วกลัวบาป ย่อมได้ชื่อว่ามีเพื่อนดี มีมิตรดี บุคคลเหล่านี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จและความมั่นคงด้านฐานะของเราเสมอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกคบค้าสมาคมกับคนดี เพราะนั่นคือมงคลชีวิต และเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฐานะให้มั่นคงที่เรียกว่า "กัลยาณมิตตตา" คือ การมีมิตรดี ๔. พอดี หมายถึง มีความเป็นอยู่เหมาะสม เลี้ยงชีวิตแต่พอดี พอเหมาะกับฐานะและความจำเป็น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่อยากมีอยากเป็นเกินความจำเป็น รู้จักสถานภาพทางการเงินของตนเองและจัดแบ่งสำหรับใช้จ่ายและเก็บออมอย่างลงตัว หลายผู้หลายคนในสังคมปัจจุบัน ถูกค่านิยมด้านวัตถุชักลากจนต้องตกลงหลุมแห่งการขาดความพอดี คือ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย มีรายจ่ายเหนือรายได้ ไม่มีรายเก็บออมรักษา เพราะอยากมีอยากเป็นอย่างเขา อยากเอาอย่างผู้อื่นที่มีที่เป็น ผลสุดท้ายก็ได้เป็นได้มี คือ เป็นหนี้มีหนี้ ไม่รวยซักที นี่คือ ผลของความไม่รู้จักพอดีในชีวิต การรู้จักเลี้ยงชีวิตให้พอดีหรือมีชีวิตที่พอเพียง จึงเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสร้างฐานะ สร้างความร่ำรวยให้แก่ตน ความพอดีจะช่วยเสริมและปรับให้การหา การจ่าย การเก็บออมเป็นไปอย่างเหมาะสม อย่างนี้ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามหลัก "สมชีวิตา" คือ การมีชีวิตเหมาะสม โดยสรุปหลักทั้ง ๔ พ. นั้นก็ได้แก่ "พากเพียร คือ ขยันทำงาน เพิ่มพูน คือ ชำนาญเก็บออม เพื่อนดี คือ พรั่งพร้อมมิตรดี และ พอดี คือ มีชีวิตพอเพียง" เป็นแนวทางสร้างฐานะ ให้มีความร่ำรวยมั่นคงในปัจจุบัน หากยึดถือปฏิบัติได้ดังนี้ชื่อว่ามี "คาถามหาเศรษฐี" อยู่ในหัวใจ ย่อมเกิดผลดีแก่ฐานะของตนแน่นอน ไม่ต้องไปหาหลวงพ่อเฮง รวยพ่อรวยที่ไหนมาคล้องคอ ไม่ต้องไปเสกเป่าหรืออาศัยเครื่องรางของขลังใดๆ อีกแล้ว แต่อย่าลืมน่ะว่า ตามคติทางพุทธศาสนานั้น ความร่ำรวยอยู่ที่รู้จักพอ หากไม่รู้จักพอก็ไม่มีทางรวย ทรัพย์ที่เลิศที่สุด คือ ความพอเพียงหรือความสันโดษนั่นเอง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า "สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ ความสันโดษ(พอใจตามมียินดีตามได้) เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง" สาธุ... พากเพียร ไม่เกียจคร้าน การงานมี เพิ่มพูน รักษาดี เงินที่หา เพื่อนดี มีพรั่งพร้อม ล้อมหน้าตา พอดี ใช้ชีวา อย่าฟูมฟาย หลักทั้งสี่ มีติดตน ไม่จนยาก เป็นสิ่งฝาก อันสูงค่า น่าขวนขวาย พุทธองค์ ทรงสอนสั่ง เราทั้งหลาย เป็นทางสาย เศรษฐี ดีนักแล ฯ
17 มิถุนายน 2550 16:57 น. - comment id 711111
ดีจ้า พี่มอมแมม............. หายไปนานกลับมามีจตุคำมาฝากน้องๆด้วย หุหุ ไม่เสียแรงรอนะเนี่ย สาธุด้วยคนจ้า......อะไรจะดีเท่ากับสิ่งที่เราได้ทำในทุกวันหล่ะเนอะ....ทำงัยก้อได้งั้นอ่ะ อิอิ
17 มิถุนายน 2550 17:24 น. - comment id 711116
17 มิถุนายน 2550 18:21 น. - comment id 711137
สาธุ
17 มิถุนายน 2550 20:14 น. - comment id 711175
สาธุนะ อาเฮีย ... จตุคำ พอดีคำ ว่างจะไปเที่ยววัดเขาอ้อ พัทลุง แหล่งจตุคามฯ สักหน่อย มีไรน่าสนใจเยอะ ถ้าได้ไปเมื่อไหร่จะมาเม้าท์ให้เฮียฟังนะ
17 มิถุนายน 2550 21:08 น. - comment id 711191
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ใน มีพระเครื่องมูลค่าเป็นล้าน การกระทำที่ชั่วช้า พระใหนเล่าจะคุ้มครอง.....
18 มิถุนายน 2550 08:35 น. - comment id 711278
Mr.MMS ขอคำนึง...ได้ป่าว
18 มิถุนายน 2550 09:22 น. - comment id 711289
สาธุ
18 มิถุนายน 2550 15:11 น. - comment id 711435
ขอจักคำแหน่ เอาแบบคำโป่ม ๆ เป็นตาแซบ
20 มิถุนายน 2550 10:43 น. - comment id 712266
ซาหวัดดีของับกาป๋ม ขอบคุณทุกๆท่านมั่กๆงับที่แวะมาเยี่ยมกัน ใครอยากเป็นเศรษฐีก้อยึดถือปฏิบัติตามคาถาน้างับ ไม่ต้องห้อยไม่ต้องแขวนอะไรให้หนักคอ แต่ที่สำคัญคนเราจะรวยได้ก้อคือต้องรู้จักพอน้าของับ สาธุ