กระรอกปลายหางดำ
นกตะวัน
เวลา 16.30 น. บางคนแยกออกไปดูนกในบริเวณอื่นของป่า แต่หลายคนรวมทั้งผมยังคงปักหลักเฝ้าดูนกที่ทยอยกันลงมาเล่นน้ำอย่างไม่ขาดระยะ ราวกับว่าในป่าแห่งนี้ไม่มีลำห้วยใดวิเศษเท่าลำห้วยนี้อีกแล้ว จนกระทั่งแสงแดดเริ่มโรยราเพราะใกล้ค่ำเข้าไปทุกที ผม พี่หนูและเก่งจึงเดินออกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติมาสู่ถนนดินลูกรัง พอเดินมาถึงทางสามแพร่ง เราแลเห็น กระรอกปลายหางดำ (Grey-bellied Squirrel) ตัวหนึ่งไต่อยู่บนต้นไม้ข้างทาง
เจ้ากระรอกหยอกเย้าเอาแต่วิ่ง
ซุกซนจริงเจอเราเฝ้าคอยหนี
น้ำตาลเทาเข้าท่าหน้าเข้มดี
ใต้ท้องสีเงินแซมแกมตรงกลาง
ขนพองฟูชูหางกางบอกชื่อ
คนเขาลือสวยล้ำดำปลายหาง
ชอบกระโดดโลดไปไร้ลู่ทาง
ซุกซ่อนหว่างแวดวงดงไม้กอ
สีกลมกลืนผืนป่าพฤกษาใส
เคลื่อนว่องไววิ่งรุดมุดเร็วหนอ
หลบศัตรูคู่อาฆาตฉลาดพอ
มิย่อท้อทุกที่โดดหนีทัน
ยามหยุดนิ่งพิงพักบนหลักขอน
พาดตัวนอนแนวไม้ให้สุขสันต์
ตากแดดลมห่มป่าพฤกษาพรรณ
กระรอกนั้นน่ามองจ้องเรื่อยมา
กระรอกปลายหางดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Callosciurus caniceps มีขนาดกลาง ยาวจากปลายสุดของหัวถึงโคนหาง 21.5 ซม. และหางยาว 23 ซม. ขนทั่วทั้งตัวรวมทั้งหางสีน้ำตาลแกมเขียวหรือแกมเทา ด้านใต้ของลำตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกลางท้องสีเทาแกมสีเงิน และปลายหางสีดำ แลเห็นเด่นชัด ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ พบในป่าทุกประเภท แพร่กระจายอยู่แทบทุกภาค ยกเว้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต้อนรับปีใหม่ ทุ่งใหญ่นเรศวร 29
1 มกราคม 2548