หัวตะกั่ว
นกตะวัน
เรายังคงทยอยเดินตามกันมาเรื่อยๆ เป็นกลุ่มบ้าง เป็นคู่บ้าง แต่บางคนเดินเดี่ยว ริมทางเดินมีคูน้ำยาวขนานไปทั้งสองฟาก แต่น้ำในคูสีน้ำตาลราวกับน้ำในพรุ เพราะมีใบไม้ร่วงหล่นทับถมกันอยู่ใต้น้ำ มีปูขนาดเล็กหลายตัวว่ายอยู่ในน้ำ บางตัวว่ายมาเกาะที่กิ่งไม้ในน้ำ คล้ายกับปูที่เอาไปตำใส่ในส้มตำ แต่ไม่ทราบว่าเป็นปูชนิดใด และแล้วความสนใจของผมได้เปลี่ยนไป เมื่อแลเห็น ปลาหัวตะกั่ว หลายตัวว่ายไปว่ายมาอยู่ที่ผิวน้ำ
มองลงไปในน้ำสีคล้ำขุ่น
เห็นปลาคุ้นค่อนยาวเทาขาวสี
กลางหัวยังฝังหมุดจุดเงินมี
เด่นเต็มที่ดุจตะกั่วสวยยั่วตา
พากันว่ายส่ายไหวไกวครีบหาง
มิเคยห่างเหินตลิ่งพิงพฤกษา
คอยไล่งับจับแมลงแห่งคงคา
ลูกกุ้งปลาตอดกินทุกถิ่นมี
ชอบไล่กัดซัดกันทุกวันไป
ต่อสู้ได้ดั่งปลากัดสารพัดสี
แต่ไม่เก่งนักเลงน้อยด้อยท่าที
แม้เกล็ดสีไม่สวยช่วยพ้นภัย
ปล่อยเขาดำฉ่ำไปน้ำในคู
ว่ายทนทู่ท่องธาราที่อาศัย
ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแหวกฝ่าไป
ชีวิตใสสดชื่นยั่งยืนนาน
ปลาหัวตะกั่ว (Blue Panchax; Aplocheilus panchax) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กในวงศ์ Cyprinodontidae ลำตัวค่อนข้างกลม ยาวเรียว สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลอมเทา หรือเหลืองอมเขียว ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละภูมิภาค อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย จึงพบบ่อยตั้งแต่ในลำคลองที่ติดต่อกับทะเล แหล่งน้ำด้านหลังป่าชายเลน พรุ หนอง บึง แม่น้ำ จนถึงลำธารบนภูเขาที่มีระดับน้ำตื้น พบมากในภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้
จากคลองน้ำเชี่ยว เลี้ยวมาเขาสอยดาว 10
16 ตุลาคม 2547