ค่างแว่นถิ่นใต้
นกตะวัน
ใกล้เวลาอาหารเช้าแล้ว แต่เรายังโอ้เอ้อยู่ตรงจุดที่ห้วยสองตัดกับถนน ริมตลิ่งมีหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการถ่ายภาพผีเสื้อที่มาลงกินโป่ง แต่ผมไม่ได้สนใจผีเสื้อมากนัก เพราะมัวแต่ยืนมอง ค่างแว่นถิ่นใต้ (Dusky Langur) หลายตัวที่นั่งเซื่องซึมอยู่ที่คาคบบนยอดไม้สูงเหนือห้วยสอง แต่ละตัวหันหน้าลงมามองดูเราด้วยความแปลกใจ ราวกับสงสัยว่าหนุ่มสาวสองคนนั่นกำลังทำอะไรอยู่ และพวกเราเข้ามาทำอะไรในป่า
มองขึ้นไปในต้นบนยอดสูง
เหล่าค่างจูงใจฉันให้พลันแหงน
เขานั่งเจ่าเซาซบคาคบแดน
ดูข้นแค้นขาดใครให้เวทนา
ตัวดำเทาเท่าชะนีมีหน้าเด่น
รอบตาเน้นนวลขาวราวแว่นหนา
ปากแต้มขาวพราวเด่นเห็นเตะตา
แต่แข้งขาขาวเทาเข้าท่าจริง
หางเทาขาวยาวมากลากไปเรื่อย
ยามนั่งเฉื่อยเฉลงตั้งตรงดิ่ง
ดุจท่อนไม้ใช้ยันพลันห้อยทิ้ง
เมื่อไต่วิ่งวกไปใช้ทรงตัว
เที่ยวเก็บสิ้นกินใบมีในต้น
อยู่สูงท้นแทบยอดแดดลอดสลัว
เคลื่อนแคล่วคล่องว่องไวไม่มีกลัว
หากินทั่วทั้งต้นหากล้นใบ
เราส่องกล้องดูค่างแว่นถิ่นใต้ฝูงนั้นสักพักจึงเดินกลับ ระหว่างทางเราไม่พบนกหรือผีเสื้ออะไรมากนัก แต่มีเสียงร้องของ นกปรอดเหลืองหัวจุก (Black-crested Bulbul) นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo) และ นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล (Ochraceous Bulbul) ดังให้ได้ยินอยู่ไม่ขาดระยะแทบตลอดทาง แต่เราไม่สนใจที่จะยกกล้องขึ้นส่องหา เพราะเป็นนกธรรมดาที่เราพบเห็นบ่อยมากสองข้างทางกลางป่าแห่งนี้
ท่องไพร ในเมืองเพชร (21)
2 พฤษภาคม 2547