องุ่นเปรี้ยว
กามนิต
นิทานอีสป "หมาจิ้งจอกกับพวงองุ่น" ที่มาของสำนวนเทศ "องุ่นเปรี้ยว"
๋๏ ณ คิมหันต์ วันหนึ่ง ซึ่งร้อนผ่าว
ปรากฏก้าว เจ้าสิคาล ผ่านในสวน
ถึงองุ่น พวงสุก ลูกเย้ายวน
ห้อยเถาล้วน กิ่งสูง จูงใจชิม
แหงนรำพึง "นี่แหละ แก้คอแห้ง"
จึงจัดแจง ถอยหลัง ยังกระหยิ่ม
ตั้งหลักดี แล้วกระโดด โลดหมายลิ้ม
แต่แค่ปริ่ม เกือบถึง จึงอดกิน
หมุนตัววน ตั้งท่า คว้าคำราม
หนึ่งสองสาม กระโดดพุ่ง มุ่งสุดดิ้น
กลับไม่สูง กว่าเดิม เพิ่มดั่งจินต์
พยายาม จวบสิ้น กำลังใจ
จึงล้มคิด แล้วจาก แม้นอยากหวาน
ก็ป่วยการ ด้วยเกิน จะคว้าไขว่
พลางแหงนหน้า สูดกลิ่น คำรามไกล
"องุ่นเขียว เปรี้ยวไป ไม่น่ากิน"
นิทาน เรื่องนี้สอน ให้รู้ว่า
คนชั่วช้า มักอ้าง อย่างติฉิน
โทษคนอื่น ไม่ดี มีมลทิน
แท้ตนสิ้น สามารถ ไม่อาจทำ ๚ะ๛
------------------------------
หมายเหตุ
คำศัพท์
คิมหันต์ = ฤดูร้อน
สิคาล = สุนัขจิ้งจอก
ที่ใช้ภาษาแขก ก็เพราะรู้สึกว่าเท่ดี 555+
สำนวน "องุ่นเปรี้ยว" มิใช่สำนวนไทย แต่เรารับเข้ามานานแล้ว ตามนิทานอีสป จนลืม ๆ เลือน ๆ ไป นึกว่าเป็นสำนวนไทย แล้วก็มีคนเติมเข้าไปด้วยว่า "องุ่นเปรี้ยว มะนาวหวาน" ก็ยิ่งเนียนกันไปใหญ่
ส่วนสำนวนไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกันก็คือ "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง" นั่นเอง
ขอขอบคุณ นิทานอีสปแปลไทยเทียบอังกฤษ(บรรทัดต่อบรรทัด)
http://www.si.mahidol.ac.th/Th/division/shcd/Aesop/004.html