2 ตุลาคม 2553 20:15 น.

นิทานเซ็น ตอน ...บ้าน...

กระบี่ใบไม้

บ้านแท้ของฉันอยู่ที่นี่

อยู่ในห้วงดวงฤดีที่มีค่า

เป็นบ้านที่ไม่จำกัดด้วยเวลา

ไม่แบ่งผืนดินหญ้าหรือชาติพันธุ์


บ้านหลังนี้ไม่มี เรา เป็นเจ้าของ

ทั้งไร้สิทธิ์ผู้ครอบครองทั้ง เธอ  ฉัน

เป็นบ้านของทุก สรรพชีวัน

เพื่อนบ้านฉันนั้นคือ สรรพชีวิต






บางส่วนจากคำสอนของท่าน ติช นัท ฮันห์

ทึก ญอท หั่ญ หรือ ติช นัท ฮันห์ (อังกฤษ:Thich Nhat Hanh,เวียดนาม:Thích Nhất Hạnh) เป็นพระเวียดนามในพุทธศาสนานิกายเซนชื่อติช นัท ฮันห์ เป็นฉายา "ติช" เป็นคำใช้เรียกพระ ส่วน "นัท ฮันห์" เป็นนามทางธรรมที่มีความหมายว่า "การกระทำเพียงหนึ่ง(One Action)" ท่านเป็นพระมหาเถระนิกายเซน กวี และผู้สนับสนุนในเรื่องสันติภาพ ท่านมีงานเขียนเผยแผ่ตีพิมพ์ภาษาต่างๆ มากมาย และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติธรรมชาวตะวันตก

เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกวงสี ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า พ.ศ. 2485 อายุได้ 16 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดตื่อฮิ้ว และได้อุปสมบทเป็นพระในเวลาต่อมา ช่วงแรกที่อยู่ในเวียดนาม ท่านได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยการเขียบบทความ แต่กลับได้รับการต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ท่านได้ศึกษาที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี แม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ แต่ท่านก็ตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อต่อตั้ง รร.ยุวชนรับใช้สังคม และทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนาม ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการรับใช้สังคม เพื่อรักษาความเสียหายจากสงคราม ท่านพยายามพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูง ภารกิจที่สำคัญของท่านคือ ก่อตั้ง "คณะเทียบหิน" ในปี พ.ศ. 2509 ในปี พ.ศ. 2510 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้เสนอชื่อของท่านให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีกที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกเหนือไปจากพระผู้มีเมตตาจากเวียดนามผู้นี้"

แต่การรณรงค์เพื่อหยุดการสนับสนุนสงครามของท่านทำให้รัฐบาลเวียดนาม ที่ถึงแม้จะรวมประเทศได้แล้วก็ตาม ไม่ยอมรับท่าน และปฏิเสธการเข้าประเทศของท่าน ทำให้ท่านต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการที่ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้ง "หมู่บ้านพลัม" เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชุมชนสังฆะของท่าน ขึ้นที่เมืองเบอร์โดซ ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2525 ในระยะแรกเป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัย ก่อนจะเริ่มมีนักบวชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 หมู่บ้านพลัมปัจจุบันได้จัดการอบรมภาวนาเกี่ยวกับการเจริญสติทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือให้แก่บุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีนักบวชกว่าห้าร้อยคน จากกว่ายี่สิบประเทศทั่วโลก

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%8A_%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%97_%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B9%8C				
26 กันยายน 2553 22:36 น.

นิทานเซ็น ตอน งั้นก็จงพักดื่มชาสักหนึ่งถ้วย

กระบี่ใบไม้

เจ้าโจวถามพระรูปหนึ่งซึ่งบวชใหม่

เจ้าเคยมาที่นี่ไหมกุฏิข้า

พระใหม่ตอบ ตรงนี้เลยข้าเคยมา

แวะดื่มชาสักถ้วยก่อนผ่อนกมล


วันเวลาผันผ่านไปไม่ช้านาน

พระใหม่มาเยี่ยมอาจารย์อีกหนึ่งหน

ถามเคยมาที่นี่ไหมในบัดดล

พระใหม่ตอบมั่นใจล้น ...ไม่เคยมา...


งั้น เจ้าจงพักดื่มชาสักหนึ่งถ้วย

พระ อินชู นั่งอยู่ด้วยสะกิดว่า

ผู้นี้ตอบไม่เหมือนกันสักครั้งครา

ใยอาจารย์เอื้อเฟื้อชาแก่เขาไป


เสียงตอบอาจารย์...เจ้าโจว... โอ...อินชู...

ครับ อาจารย์ศิษย์ฟังอยู่ให้สงสัย

เมื่อฟังแล้วก็อย่าจงสงสัยใจ

พักดื่มชาสักถ้วยไหม...เล่าอินชู!!!






ในบรรดาลูกศิษย์ทั้งหมดของท่านอาจารย์หนานเฉียนผู่เหยียน เจ้าโจวฉงเซิน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เจ้าโจว (ญี่ปุ่นเรียกว่า โจชู) เป็นศิษย์ที่โดดเด่นที่สุด และภายหลังได้ต่อสายธรรมจากท่าน มีบันทึกและตำนานเกี่ยวกับเจ้าโจวมากมาย ด้วยเป็นพระเซ็นที่มีสีสันที่สุดในประวัติศาสตร์เซ็น โดยเฉพาะวาจาที่คมกริบและแทงตรงจนเข้าข่ายกวนประสาทของท่าน(อ้างอิงจาก มังกรเซ็น ของ วินทร์  เลียววาริณ หน้า 185)				
25 กันยายน 2553 15:56 น.

นิทานเซ็น ตอน ผิดบาปที่ใคร

กระบี่ใบไม้

ศิษย์อาจารย์เดินผ่านริมชายหาด

มองเห็นคลื่นคอยซัดสาดสะท้อนไหว

หวังขึ้นเรือข้ามทะเลที่เห่ไกว

ลูกศิษย์ก็แสนเศร้าใจสอบถามคำ


อาจารย์ครับผมมีเหตุสังเกตว่า

ขณะที่เรือเทียบท่าย่อมบดย่ำ

ทับกุ้งหอยปูปลาตาดำดำ

ข้าอยากรู้ว่าผลกรรมตกแก่ใคร


เป็นความผิดของชาวเรือทุกเมื่อผ่าน

หรือเป็นกรรมผู้โดยสารต้องแบกไว้

ขออาจารย์ช่วยตอบตรง - สงสัยใจ

ผลกรรมตกใส่ผู้ใดข้าอยากรู้


กรรมนั้นเคยตกแก่ใครที่ไหนเล่า

แต่มันเกิดตกที่เจ้ารับรู้อยู่

เรือกดทับใส่กุ้งหอยและปลาปู

คนบนเรือล้วนไร้ผู้จะรู้รับ


สิ่งบนโลกมีอะไรที่ชัดแจ้ง

ย่อมหมุนวนเปลี่ยนแปลงและแตกดับ

หอยปูปลาน่าอนาถอาจถูกทับ

แต่เจ้ากลับนำเรือแตกแบกใส่ใจ


คนบนเรือทั้งกุ้งหอยและปูปลา

ล้วนหามีเจตนากระทบไม่

บาปเกิดขึ้นจากดวงจิตมีพิษภัย

จิตไม่มีกรรมที่ไหน...คอยติดตาม				
23 กันยายน 2553 21:22 น.

นิทานเซ็น ตอน มีตัวเราไว้ทำไม

กระบี่ใบไม้

อาจารย์คนหนึ่งเข้าถึงฌาน     ลึกซึ้งยาวนาน

ร่างกายหยุดนิ่งไม่ติงไหว


ลูกศิษย์สุดแสนเศร้าใจ     เผาร่างอาจารย์ไป

ขอท่านสู่ภพที่ดี


จิตเดิมกลับร่างเดิมนี้     หวนคืนสู่ที่

...ตอนนี้ร่างข้าอยู่ที่ไหน...


เฝ้าตามถามหาใครใคร     ร่างข้าหายไป

วิญญาณเวียนวนติดตาม


เหล่าศิษย์พากันครั่นคร้าม     หวาดกลัวทุกยาม

แว่วเสียงหาร่างหลอกหลอน


หลบลี้เสียงผีร้าวรอน     พาใจเร่าร้อน

ถามหาอาจารย์ จิ้งคง


พระอาจารย์จึงบอกเจ้าจง     เอาถ่านไฟลง

เตรียมพร้อมตั้งเตาเผาไฟ


อีกคนจงเตรียมถังไว้     เติมน้ำลงไป

ข้าจักเป่าภัยให้เอง


ในคืนเมฆคลึ้มวังเวง     แว่วเสียงที่เกรง

...ร่างข้าอยู่ไหนใครพบ...


อาจารย์ จิ้งคงฟังจบ     ทบทวนหวนทบ

บ่งชี้ไปที่ปฐพินทร์


สงสัยร่างท่านลงดิน     กล่าวจบดวงวิญ-

ญาณก็จมภพจบหาย


ที่นี้ไม่มีร่างกาย     ดวงใจสลาย

...บอกทางบ่งร่างข้ามา...


ร่างท่านคงอยู่ในนภา     วิญญาณค้นฟ้า

ร่ำหาถึงทั่วจักรวาล


ไม่มีร่างที่ต้องการ     ทั่วทั้งคัคนานต์

ไร้ร่าง ข้าให้ไขว่คว้า


ร่างท่านคงอยู่ตรงหน้า     กลางไฟเผาจ้า

วิญญาณก็มุดลงไฟ


ร่างท่านอยู่ตรงนั้นไง     ในถังน้ำใส

วิญญาณดำมุดผุดลง


ท่านหลอกลวงข้ามั่นคง     บ่งชี้ทางหลง

ให้ข้าหลงคิดติดตาม


ทั่วทั้งแผ่นฟ้าผืนน้ำ     กองไฟลุกลาม

ใต้ดินไม่มีร่างกาย


อาจารย์ถาม ท่านงมงาย     ตามหาร่างกาย

ผุพังร่างนี้ทำไม


ทั่วทั้งผืนภพจบไตร     แม้แต่เพลิงไฟ

สายน้ำท่านยังก้าวเดิน


ข้าอิจฉาท่านนี้เหลือเกิน     แบกร่างเผชิญ

โหดร้ายสารพัดโรคา...


..........................................


ในคืนเมฆคว้างพลางฟ้า     สาดแสงจันทรา

ส่องผ่านหนทางมืดมน


ไม่มีเสียงที่ดิ้นรน  วิญญาณเลิกวน

หยุดการเวียนว่ายถามทาง


สิ้นแล้วซึ่งเสียงครวญคราง  ดิ้นรนค้นร่าง

...เลิกหาตัว ข้าแล้วหนอ...				
21 กันยายน 2553 21:49 น.

นิทานเซ็น ตอน ขัดกระเบื้องให้เป็นกระจกเงา

กระบี่ใบไม้

ลูกศิษย์นั่งสมาธิอย่างเคร่งเครียด

ฝ่าค่ำคืนยาวเหยียดอย่างมุ่งมั่น

อาจารย์ถาม เจ้าต้องการสิ่งใดกัน

สิ่งที่ศิษย์ต้องการนั้น...เป็นพุทธะ


พระอาจารย์จึงนั่งลงอย่างเงียบเชียบ

ขัดกระเบื้องที่เย็นเฉียบไม่แล้วผละ

ลูกศิษย์ถาม ท่านจะขัดทำไมนะ

ข้าหวังจะขัดให้เป็น...กระจกเงา


สิ่งที่ศิษย์มองเห็นแท้...เป็นแค่กระเบื้อง

อาจารย์คงเสียแรงเปลืองอย่างโง่เขลา

ต่อให้ท่านขัดสีแท้แต่วัยเยาว์

คงไม่เปลี่ยนกระเบื้องเบาให้กลับกลาย


แล้วที่เจ้านั่งหลับตาเป็นบ้าหลัง

หรืออาจเปลี่ยนเป็นพุทธังดังหวังได้

ผู้รู้แจ้ง ในปัญญาฝ่างมงาย

นั่นแหละผู้...รู้ความหมาย...แห่งพุทธะ






ศิษย์และอาจารย์ที่เขียนถึงทั้งคู่นี้ต่อมาล้วนเป็นปรมาจารย์เซ็นผู้ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งวางรากฐานแห่ง เซ็น ให้แผ่ขยายกว้างไกลไปทั่วโลก
คนเป็นศิษย์เรียกว่า หม่าจู่เต้าอี้(ญี่ปุ่นเรียกว่า บะโซ) และคนเป็นอาจารย์ก็คือ หนานหยิวฮ่วยรั่ง แห่งหนานซานนั่นเอง...				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกระบี่ใบไม้
Lovings  กระบี่ใบไม้ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกระบี่ใบไม้
Lovings  กระบี่ใบไม้ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟกระบี่ใบไม้
Lovings  กระบี่ใบไม้ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงกระบี่ใบไม้