13 กุมภาพันธ์ 2554 18:59 น.
กระบี่ใบไม้
กุหลาบน้อยยิ้มรับคืนสะอื้นเช้า
มองเห็นแสงแห่งจันทร์พราวสว่างไสว
ความคิดถึงติดลมบนหนอคนไกล
ยังมองเห็นกันหรือไม่หนอจันทรา
จันทร์คงมีกระต่ายน้อยคู่กลอยใจ
ปล่อยกุหลาบหนึ่งช่อไว้ให้เหว่ว้า
สายลมหนาวที่เคยเยือนเดือนกุมภาฯ
ใกล้สิบสี่แล้วหนาเจ้าจันทร
พิงม่านเมฆอ้อยสร้อยล่องลอยซึ้ง
หวังวันหนึ่งลอยเคียงดินกลิ่นเกสร
คู่เคียงจันทร์ขวัญฟ้าสถาพร
ต่อความฝันนิรันดรกุหลาบดง
จันทร์ห่างไกลไม่เกินใจจะคิดถึง
รู้ไหมดอกไม้ช่อหนึ่งคอยลุ่มหลง
แม้อาจเกิดที่กลางป่าพนาพง
ยังหยิบยื่นความจำนงคิดถึงจันทร์
แม้ไม่อาจเป็นกระต่ายที่ปลายฟ้า
ขอยืนอยู่ข้างจันทราคอยคู่ขวัญ
แง้มเหลี่ยมเมฆได้ตราตรึงคิดถึงกัน
กุหลาบน้อยหนึ่งช่อนั้น...ก็เบ่งบาน
บทกวีบทนี้บรรจงเขียนขึ้นด้วยความร้องขอของมิ่งมิตรที่สุดแสนสำคัญยิ่งของกระบี่ใบไม้ นู๋Zam,Cicada หรือ มะขิ่น
และบทกวีบทนี้ก็บรรจงเขียนขึ้นด้วยความเต็มใจยิ่งของกระบี่ใบไม้ ให้กับนู๋Zam,Cicada หรือ มะขิ่น
ขอให้นู๋Zam,Cicada หรือ มะขิ่น มีความสุขตลอดวันวาเลนไทน์และตลอดไปนะจ๊ะ
11 กุมภาพันธ์ 2554 18:11 น.
กระบี่ใบไม้
กาลครั้ง...หนึ่งนานมา
กุหลาบทั่วทั้งดินฟ้ามีสีขาว
ไนติงเกลเจ้านกน้อย - คอยแสงดาว
เฝ้าบอกกล่าวชายคนรักเป็นเสียงเพลง
ไฟรักดังเพลิงรุมถึงหนุ่มน้อย
เฝ้ารอคอยด้วยหัวใจอันบานเบ่ง
...แต่หนุ่มนั้น... 'มีคนรัก'...ของเขาเอง
ไม่เคยยินเสียงบรรเลงของนกไพร
หวีดหวิว ลมหนาว ใต้ดาว-จันทร์
บอกเล่า ความฝัน วูบหวานไหว
ความรัก...นั้นหรือ คือสิ่งใด
...จึงคิดถึง...จึงห่วงใย...ทุกคืนวัน...
.........................................
ได้ยินเสียงกระซิบนี้ที่แสนเบา
ถ่ายทอดจากคำสาวเจ้านั้นชวนฝัน
ฉันจะแต่งงานกับเธอ...ใต้แสงจันทร์
กุหลาบน้อยเธอมอบนั้นเป็นสีแดง
หัวใจของชายหนุ่มนั้นพลันสลาย
กุหลาบขาวอยู่เรียงรายทุกหนแห่ง
สิ้นหวังแล้วดังเข็มคมมาทิ่มแทง
...เสียงนกน้อยร้องไห้แข่งกับเสียงคน
เจ้านกน้อยบินไปถามกุหลาบขาว
ใจคนรักข้ารานร้าวจนปี้ป่น
มองเห็นชายหนุ่มยืนเหงาเศร้ากังวล
กุหลาบเอ๋ย...ได้โปรดดลช่วยเขาที
ดูก่อน...เจ้านกน้อย
ความรักเจ้าช่างเลิศลอยล้ำเหลือที่
เจ้าจะรักเขาได้ไหมเท่าชีวี
...ขอถามเลือดของเจ้านี้...สีอะไร...
ได้ยินเสียงกุหลาบนั้นพลันได้คิด
ขอรักเขาเท่าชีวิต...จะได้ไหม
เธอปักหนามกุหลาบบาง...ที่กลางใจ
กุหลาบขาวปนเลือดไหลปรี่ร้อนแรง
.........................................
ณ ที่แสงจันทร์พรายประกายส่อง
กุหลาบเลือดสีเรืองรองยามต้องแสง
ใครจะรู้ถึงคุณค่าราคาแพง
เมื่อเขาได้...กุหลาบแดง...สมดังใจ...
.........................................
สงสารชีพของนกน้อยพลอยไร้ค่า
ภาพสาวน้อยร้อยมารยาเคียงชู้ใหม่
...แค้นแสนแค้นย่ำกุหลาบหักราบไป...
มันแลกมาด้วยอะไร...ไม่เคยรู้!!!
ปล.ด้วยเหตุนี้...จึงมีกุหลาบแดงเกิดขึ้นในโลกตั้งแต่นั้นมา....
ดัดแปลงจาก เรื่องของกุหลาบแดงกับนกไนติงเกล ประพันธ์โดย Oscar Wilde
กระบี่ใบไม้
7 กุมภาพันธ์ 2554 20:56 น.
กระบี่ใบไม้
....คุณครูครับ....
ผมไม่อยากกินข้าวกับพวกนั้น
เพราะพวกเขาต่างเผ่าและต่างพันธุ์
ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันกับคนไทย...
....................................
ณ โรงเรียนชายฝั่งกัมพูชา
เด็กสองฝั่งล้วนไป-มา หากันได้
ครูจึงเอ่ยซึ่งคำสอนจากหัวใจ
พวกเธออยากรับฟังไหมเล่า...นิทาน
กาลครั้งหนึ่งนั้นเกิดมีเทวดา
มีฤทธิ์เดชเดชาแผ่ไพศาล
กระพริบตา...ก็สมหวังดังต้องการ
เนรมิตหมื่นแสนล้านได้ดังใจ
เทวดากระพริบตาสร้างเด็กน้อย
ล่องลอย...ไปตกยังฝั่งไกลใกล้
หลายคนตกเข้าในเขตประเทศไทย
หลายคนลอยข้ามฝั่งไปกัมพูชา
ครูถามว่าแล้วพวกเขา...เป็นคนไหม
เด็กล้วนตอบกันว่า ใช่ ทุกถ้วนหน้า
แล้วทำไมเธอไม่อยากร่วมชายคา
เมื่อทุก...คน...ล้วนเกิดมาเหมือนเหมือนกัน
พวกเธอเคยเห็นนกน้อยโผบินไหม
มันไม่เคยมีสิ่งใดมาขวางกั้น
ขีดเส้นแบ่งเขตพรมแดนสารพัน
ล้วนมนุษย์สร้างเสกสรร...ทั้งนั้นเลย
มองเห็นศิษย์ล้อมกินข้าวอย่างหรรษา
สุขในใจครูนั้นหนาเกินเอื้อนเอ่ย
ในห้องเรียนสว่างใสกว่าที่เคย
เมื่อความต่างนั้นระเหยจากหัวใจ
อยากส่งเสียงตะโกนร้องถึงขอบฟ้า
เห็นไหมเล่า...เทวดา...ท่านเห็นไหม
ลูกหลานท่านต่างพรมแดนแว่นแคว้นไกล
รู้จักรัก รู้จักให้ รู้แบ่งปัน
.....................................
มองไตรรงค์ที่ปลิวพัดสะบัดไหว
หวังวันหนึ่งหนูโตใหญ่กว่าวันนั้น
ไร้ทิฐิทางการเมืองขุ่นเคืองกัน
มิตรภาพสองชาติพันธุ์...ยั่งยืนนาน
บทประพันธ์บทนี้ ได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากบท สัมภาษณ์ ครูโยธิน อุ่นชื่น ผอ.โรงเรียนบ้านโคกสูง หมู่ 1 ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว
ขอขอบพระคุณมากครับ
ที่มาของบทประพันธ์
นิทานเทวดา หลอมใจไทยเขมร
16 มกราคม...วันครูปีนี้ ครูโยธิน อุ่นชื่น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสูง หมู่ 1 ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ฝากมุมมองผ่านประสบการณ์วัย 59 ปีเอาไว้น่าขบคิด
ครู โยธินเล่าถึงอดีตให้ฟังว่า ปี 2533...สมัยนั้นยังเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองจาน ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านหนองจาน ตำบลโนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ผมอยู่โรงเรียนหนองจาน 11 ปี...ระหว่างปี 2533-2543 บรรยากาศการเรียนการสอน ไม่เฉพาะเด็กไทยเท่านั้นที่เรียนหนังสือในชั้นเรียน
ด้วยความใกล้กันกับประเทศเพื่อนบ้าน...กัมพูชา โรงเรียนบ้านหนองจาน ยังมีเด็กเขมรเดินทางเข้ามาเรียนร่วมด้วย
ผอ.โยธิน บอกว่า การเรียนในห้องเรียนไม่มีปัญหา แต่ในช่วงแรกๆระยะเวลาหนึ่งเด็กไทยรู้สึกว่าจะเกลียดเด็กเขมรมาก เวลากินข้าวกลางวัน ให้กินด้วยกันเด็กไทยก็จะไม่กินร่วมวง เขาบอกว่าเขารังเกียจ
ครูผู้มีหัวใจให้เด็กไม่ว่าจะต่างชาติ ต่างศาสนา ก็ใช้จิตวิทยาเล่านิทานให้เด็กฟัง เรียกว่า "นิทานเทวดา"
เรียก เด็กไทยมาบอกว่า... "ลูกจ๋า...เขาเป็นคนไหมจ๊ะ" ... "เด็กก็ตอบว่าเป็นค่ะ เป็นครับ" ก็ถามต่อไปว่า..."แล้วเธอทำไมไม่กินข้าวร่วมกันล่ะลูก"
สมมติว่าพ่อเป็นเทวดา ลูกเอ้ย...คนเราเป็นเทวดากะพริบตาเม็ดถั่วเม็ดงาก็จะแตกไปทั่วๆ บังเอิญกะพริบตาปั๊บ...ให้เด็กเกิดมาพร้อมๆกัน
บังเอิญ เด็กคนหนึ่งถูกลมพัดไปตก...เกิดในฝั่งเขมร อีกคนมาตกฝั่งไทย แล้วเราเป็นคนเหมือนกัน ความต่างอยู่ที่เทวดาจะให้เกิด จะไปรังเกียจกันทำไม
"ข้าวก็ข้าวพ่อหลวงพาทำ แม่โพสพพาทำ น้ำก็มีให้กิน แล้วทำไมต้องให้คำว่าฝั่งเขมร...ฝั่งไทย มาทำให้เราต้องรังเกียจกัน"
"ฝั่งเขมร"... "ฝั่งไทย" เป็นข้อกำหนดของมนุษย์เท่านั้น พวกเธอเคยเห็น บ้างไหม นกที่บินไปไหนได้อย่างเสรี หากินได้ทั่วไปไม่มีใครขวางกั้นได้ ไม่เห็นใครจะมาจ้องยิง
"เขาก็ เป็นคน แต่อาจจะทุกข์ยากกว่าเรา เพราะสภาพแวดล้อมประเทศเขาเป็นอย่างนั้น แล้วเด็กเขมรถ้าเลือกได้ก็คงไม่อยากจะเกิดในที่ที่ลำบากเช่นนั้น...
เคย ถามเด็กเล่นๆ ใครอยากเกิดเมืองไทยบ้าง เด็กก็ยกมือกันพรึบ อยากเกิดบนแผ่นดินของในหลวง แต่เขาทำไม่ได้ เขาเกิดไม่ได้...แล้วในเมื่อเขาเกิดมาแล้ว ก็ต้องการความดูแล เมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่าทำไมเราไม่ดูแลเขาล่ะ"
ผอ.โยธิน บอกว่า หลังจากเล่านิทานเทวดาจบ น่าดีใจที่เด็กไทย...เด็กเขมร ก็กินข้าวร่วมวงกันได้อย่างไม่มีปัญหา
"กินข้าวร่วมกันแล้ว ยังช่วยกันเก็บกวาด ล้างถ้วยชาม ทำความสะอาด สามัคคีปรองดอง"
ที่ต้องยอมรับ...การเรียนการศึกษาเด็กเขมร ไม่ต่างกับเด็กไทย แถมอาจจะเก่งกว่าเพราะมีความตั้งใจสูง มารยาทก็ดี
เด็ก เขมรมาจากศูนย์บ้านหนองจาน กับโอไบเจือน... "โอ" แปลว่า...คลอง "ไบเจือน" แปลว่า...สามแพร่ง หมู่บ้านนี้ก็ไม่ไกลโรงเรียนมากนัก ขี่จักรยานมาได้ไม่ลำบากสักเท่าไหร่
"จะใกล้...จะไกลไม่สำคัญ เพราะความสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจในการมาเรียนของเด็กๆเขมร ซึ่งมีเข้ามาเรียนในทุกชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงหก"
การ เรียนถึงจะเรียนควบคู่ไปได้ด้วยดีกับเด็กไทย แต่ก็ยังมีปัญหาในหลักปฏิบัติ ว่าทำได้หรือไม่ได้ ครูโยธินซึ่งเป็นครูใหญ่ยุคนั้นมองภาพนี้อย่างเข้าใจ คิดว่า...การเรียน การศึกษาต้องดำเนินต่อไปอย่างไร้พรมแดน...
"ใช้ใบสมัครโรงเรียนรัฐบาล ปัญหามีแน่นอน ก็พยายามให้เด็กได้เรียน แต่พอถึงขั้นเรียนต่อชั้นมัธยม เด็กบางคนก็กลับบ้านโดยไม่แจ้ง เกิดปัญหาตกหล่น...
แต่กับเด็กจำนวน ไม่น้อยที่มุมานะเรียนต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งจบปริญญาตรี ก็มีวิชาติดตัวกลับไปอยู่กัมพูชาก็ทำงานเป็นล่าม นักแปลหนังสือ บางคนก็ไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำงานอยู่ในหลากหลายสาขาอาชีพก็ได้ดิบได้ดี เลี้ยงตัวเองรอดเสียเป็นส่วนใหญ่
"เรียนจบจากเมืองไทย แม้ว่ากลับไปทำงานในแผ่นดินเกิด แต่เด็กทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ลืมบุญคุณที่แผ่นดินไทยมอบให้"
หลายคนอาจจะสงสัย เด็กไทยเด็กเขมรเรียนร่วมกัน ภาษาที่ใช้ต่างกัน จะสื่อสารกันให้เข้าใจได้อย่างไร?
ผอ.โยธิน อธิบายว่า เวลาเรียนจะเรียนร่วมห้องเดียวกัน แต่จะมีชั่วโมงพิเศษให้ทั้งเด็กไทย เด็กเขมรเรียนรู้ภาษาซึ่งกันและกัน หมายความว่า เด็กไทยก็มีครูพิเศษสอนภาษาเขมร แล้วเด็กเขมรก็มีครูสอนภาษาไทยให้ด้วย...เรียนอาทิตย์ละอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
"การ สื่อสาร...ภาษา เด็กรู้ภาษาอย่างน้อยโตไปก็สามารถไปค้าขายได้ จะเห็นว่าคนกัมพูชาเข้ามาเมืองไทยเขารู้เข้าใจภาษาไทยหมด ดังนั้นคนไทยก็น่าจะรู้ภาษาเขมรด้วยเหมือนกัน เรียนกันตั้งแต่เด็กๆ"
สมัย ที่อยู่นั้น ผอ.โยธินสังเกตว่าเด็กเขมรที่มาเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ พ่อแม่พอจะมีเงิน อาจเป็นลูกพ่อค้าแม่ขาย ก็มองอนาคตให้ลูกมาเรียนหนังสือ ต่างกับปัจจุบันที่เป็นเด็กทั่วๆไป
"เด็กกลุ่มนี้มีความมุ่งหวังสูง อาจจะสูงกว่าเด็กไทยด้วยซ้ำ คือความตั้งใจสูงอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วก็มีความจริงใจ...พอได้เข้าระบบเรียนหนังสือกับเด็กไทยแล้ว เขาจะใช้เวลาเรียนอย่างเดียว ไม่เที่ยวเล่น เลิกเรียนก็กลับบ้าน ทำการบ้าน... เช้าก็มาโรงเรียนมีการบ้านส่งครูอย่างเคร่งครัด..."
เด็กรู้ว่านี่คือโอกาสเขา ต้องรีบคว้าไว้ ใช้โอกาสนั้นอย่างเต็มที่
การ เรียนร่วมกันระหว่างเด็กไทย...เด็กเขมร อย่างน้อยประเทศไทยยังเป็นที่ให้การศึกษาของเขา...ผูกหัวใจของเขาเอาไว้ จบไปแล้วถ้าจะลืมครู อาจารย์ที่ให้วิชาเขาก็ปล่อยเขาไป...จบไปแล้วเขาจะกลับมาหาครูหรือเปล่า ก็ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น
มุมคิดของครู บางที...เด็กตัวเล็กๆคนนั้นอาจจะได้เป็นนายกฯ อาจเป็นรัฐมนตรี แล้วก็อาจจะบอกอย่างเต็มปากว่าเรียนจบมาจากโรงเรียนนี้...ในประเทศไทย
เหล่า นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยที่เราก็ไม่ได้คาดหวัง ครูพร่ำสอนไม่ได้หวังจะพึ่งอะไรศิษย์ ครูมีแต่ให้...ให้ในฐานะครู ไม่ว่าจะปวดหัว ปวดเข่า เจ็บไข้ได้ป่วยครูก็ดูแลให้ มีปัญหาหันหน้ามาปรึกษาก็ช่วยแก้
สถานการณ์แนวชายแดนปัจจุบัน ปัญหาเขตแดนที่ดูจะร้อนแรงสำหรับคนนอกพื้นที่ การเรียนการสอนจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ทรรศนะส่วนตัว ผอ.โยธินมองว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่เด็กๆจะไม่มองให้มาเป็นปัญหา เพราะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องรัฐบาลของเขาไป
เด็กไม่ เกี่ยวข้อง เด็กกัมพูชาที่เรียนขยายโอกาสระดับมัธยมที่โรงเรียนบ้านโคกสูง 13 คนวันนี้...ก็ไม่เห็นมีใครกังวล เรียน...ใช้ชีวิตกันปกติ มาโรงเรียนกลับบ้านก็ปกติ
"เด็กๆบอกว่า เรื่องการเมืองไม่เกี่ยวกับการศึกษาของหนู ให้หนูได้เรียนต่ออีกหน่อยได้ไหม คนเป็นครูได้ฟังประโยคนี้รู้สึกซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก"
ความหมายก็คือ อย่าเอาเรื่องการเมืองมาฆ่าพวกเขาเลย เด็กๆจะไม่พูดเรื่องการเมือง
"การเมือง...ชายแดน เด็กไม่สนใจ บางครั้งข้อมูลข่าวที่ออกมาก็ไม่ใช่ จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับเด็ก อะไรที่เกิดเฉพาะกาลก็เกิดประจำ เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหา...ไม่นำมาคิดให้เป็นเรื่องหวาดระแวง"
ใครจะมองอย่างไร ก็ช่างเถอะลูก แค่เราสร้างให้มนุษย์มีความสุขก็พอ อย่าว่าเป็นเด็กเขมร หรือเด็กไทยเลย มาเรียนจะได้ ก.ไก่ หนึ่งตัวกลับบ้านก็ยังดี...
จะได้ 2 คูณ 4 ได้เท่าไหร่กลับบ้านก็ยังดี...แต่ถ้าเขามีโอกาสกลับมาเรียนได้อีก อาจจะเป็น 4 คูณ 8...คูณ 9...ก็ว่ากันไป
สร้างคนให้เข้าใจซึ่งคน ลดทิฐิมานะ แล้วสามัคคีจะเกิดขึ้น
ผอ.โยธิน ย้ำว่า มุ่งหลักนี้แล้วต้องไม่ลืมว่า ทุกคนก็เป็นคน ที่ว่าเขตแดนนั้นเขตแดนนี้ก็ไม่รู้ว่าใครที่กั้นขึ้นมา แต่ความเป็นคนเรามีด้วยกันทั้งนั้นใช่ไหม
วิถีชีวิตแนวชายแดน ไทย...กัมพูชาในอดีตเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันถึงโลกจะเปลี่ยนไปพัฒนาก้าวหน้าไปแค่ไหน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันก็ยังคงอยู่ เป็นสิ่งที่สั่งสม เก็บออมความสัมพันธ์กันเรื่อยมา จนยากที่จะแยกตัดออกจากกันได้.
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
12 มกราคม 2554, 10:20 น.
3 กุมภาพันธ์ 2554 21:34 น.
กระบี่ใบไม้
ดินเอย ดินสอ
ทำไมมียางลบหนอมาต่อด้าม
ใครคนหนึ่งเอ่ยยกขึ้นเป็นถ้อยความ
ทิ้งคำถามกับฉันไว้ให้งวยงง
สิ่งง่ายง่ายแต่ความหมายเกินนึกถึง
สุดลึกซึ้งสะท้อนจิตพิศวง
เห็นฉันไม่อาจตอบได้ดังใจจง
สุดท้ายลงเขาก็เอ่ยเฉลยมา
เพราะทุกคนนั้นล้วนทำผิดกันได้
เขาเอ่ยคำตอบสุดท้ายก่อนยิ้มร่า
ฉันแอบเก็บคำเฉลยเอ่ยวาจา
ขบคิดเป็นปริศนาไปทั้งวัน
แค่ใครใครล้วนเคยทำผิดกันได้
เหตุผลมันช่างดูง่ายจนน่าขัน
แต่ใครเล่าจะรู้จักอภัยกัน
...รู้จักเก็บยางลบนั้นมาใส่ใจ...
ดินสอต้องมียางลบไว้ต่อด้าม
เพื่อลบความผิดที่เพิ่มเพื่อเริ่มใหม่
คล้ายสอดแทรกอุทาหรณ์ซ้อนความนัย
มีผู้ใดไม่เคยพลั้งในชีวิต
ทุกชีวิตย่อมหมายมาด...กระดาษขาว
เขียนเรื่องราวความเป็นไปไร้คำผิด
แต่ว่าความเป็นจริงล้วนชวนฉุกคิด
ใครจักเป็นพิชิตทุกรูปนาม
.................................................
ดินเอย ดินสอ
ทำไมมียางลบหนอมาต่อด้าม
ฉันถามไถ่ใครหลายคนเป็นถ้อยความ
จะตอบหรือไม่ก็ตาม...ไม่อยากรู้!!!
พอดีแอบไปอ่านบทกลอน ...เด็กหญิง ดินสอ... http://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem139058.html ของมะขิ่น(หมายถึงคุณแซม/ cicada) แล้วนึกถึงฟอเวิร์ดเมลเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ เลยเก็บมาเล่าให้ฟังครับ
26 มกราคม 2554 14:48 น.
กระบี่ใบไม้
หลิวต้นหนึ่งขึ้นยังหลังบ้านใหญ่
แตกกิ่งใบเขียวชอุ่มแพพุ่มหนา
เคยผ่านการประคบประหงมแต่ก่อนมา
วันเวลาผันผ่านไปยิ่งใหญ่ยืน
หลิวต้นหนึ่งขึ้นยังหลังป่าเขา
แคระแกรน...ผอมเศร้าเคียงไม้อื่น
ดิ้นรนเติบโตทุกวันคืน
ผ่านหิมะ,ขมขื่น,ชื้น,เดียวดาย
พายุใหญ่พัดมาหลายวันก่อน
หลิวหลังบ้านขุดรากถอนก่อนล้มหงาย
หลิวริมเขายังยืนหยัดอย่างท้าทาย
...อายุของ...สองต้นไม้...นั้นเท่ากัน...