29 ตุลาคม 2553 21:41 น.
กระต่ายใต้เงาจันทร์
เคล็ดไม่ลับ...คู่มือบุญ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ทุกคนทำได้ ง่ายนิดเดียว... ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองมากมาย
:
พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีทำบุญ คือ วิธีทำความดี ทำสิ่งที่ทำแล้วได้ชำระความเศร้าหมองเร่าร้อน
ทำแล้วได้ผลเป็นความดี ทำแล้วเป็นบุญเป็นกุศลรวมทั้งเป็นการประพฤติดีประพฤติชอบ
ทางกายวาจาไว้สิบวิธี ทำได้เสมอโดยไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของเงินทองเสมอไปก็ทำบุญได้
และเป็นบุญได้ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นเคล็ดไม่ลับที่มีคุณค่าหาประมาณมิได้
ให้เราสามารถสะสมบุญได้มากมายมหาศาลในชีวิตประจำวันนี้เอง
โดยไม่ต้องมีเงินทองมากหรือไม่มีเลยก็ยังได้
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
(๑) ทาน
คือ ทำบุญด้วยการให้ จะใส่บาตร ให้สิ่งของ ให้ขนม ปันเงินทอง ก็เป็นทาน
นอกจากนั้น ให้ใบหน้ายิ้มแย้ม ให้ความเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ
ให้หูที่รับฟังความทุกข์เดือดร้อน ให้ที่นั่ง ให้ความรู้ ให้ธรรมะ ฯลฯ ก็เป็นทาน
(จะเห็นว่าข้อ ทาน นี้ ยังมีคนจำนวนมากเข้าใจว่าต้องให้เงินให้ทองให้สิ่งของเท่านั้น
จึงจะเป็นทานที่ทำแล้วได้บุญ แต่ที่จริงแล้ว การทำทานให้เกิดบุญนั้น
ทำได้กว้างขวางกว่าการให้สิ่งของเงินทองมากมายนัก
อะไรๆ ก็สามารถฉลาดหยิบยกมาทำให้เกิด ทาน ได้ไปแทบจะทั้งหมด)
(๒) ศีล
คือ ทำบุญด้วยการตั้งใจระงับ เว้นและงดสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งทางกายและวาจา
เช่น ไม่ทำร้ายใคร ไม่พูดปด ไม่พูดร้าย ไม่ส่อเสียด ไปทำงานตรงเวลาไม่อู้
ไม่ทำอะไรที่จะเดือดร้อนตนเดือดร้อนคนอื่น ล้วนเป็นศีลทั้งสิ้น
(๓) ภาวนา
คือ ทำบุญด้วยการพัฒนาฝึกอบรมทางด้านจิตใจ
เช่น การศึกษาเล่าเรียนหรือใคร่ครวญข้อธรรมะ การสวดมนต์ไหว้พระ
การทำสมาธิ การเจริญสติ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
(๔) อปจายนะ
คือ ทำบุญด้วยการมีใจเคารพอ่อนน้อม อ่อนน้อมถ่อมตนกับมารดาบิดา
ผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ กราบพระ ไหว้พระเจดีย์พระวิหารด้วยใจเคารพ เป็นต้น
(๕) เวยยาวัจจะ
คือ ทำบุญด้วยการเอาใจใส่ช่วยเหลือมารดาบิดาและผู้อื่นอย่างเต็มกำลัง
ให้บุคคลเหล่านั้นทั้งหลายไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องทางโลกที่ไม่มีโทษและเรื่องทางธรรม
เช่น ช่วยดูแลเรื่องการงาน ดูแลผู้ป่วยไข้ ช่วยทำความสะอาดบ้านช่อง
ช่วยงานปฏิสังขรณ์วัด ช่วยงานบุญงานกุศล งานปริยัติปฏิบัติต่างๆ
(๖) ปัตติทาน
คือ ทำบุญด้วยการแบ่งความดีที่ตนทำแล้วให้ผู้อื่นพลอยปลาบปลื้ม
และได้รับความดีนั้นไปด้วย เช่น การแผ่และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล
หรือเมื่อทำบุญหรือความดีใดๆ ก็บอกให้ผู้อื่นได้พลอยปีติยินดี
และอนุโมทนาบุญนั้นๆ ไปด้วยกัน
(๗) ปัตตานุโมทนาทาน
คือ ทำบุญด้วยการอนุโมทนาบุญ กุศลหรือความดีที่ผู้อื่นทำและบอกเล่า
ให้ร่วมอนุโมทนาด้วยจิตใจที่พลอยแช่มชื่นเบิกบานและปีติยินดีไปด้วย
(๘) ธัมมะสวนะ
คือ ทำบุญด้วยการฟังธรรม อ่าน ศึกษาธรรมะ ด้วยจิตใจอ่อนโยนชุ่มชื่น
เบิกบานแจ่มใส โดยมุ่งให้เข้าใจและรู้จักบาปบุญคุณโทษ
ให้รู้ในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ตั้งใจเพิ่มพูน
และพัฒนาสติปัญญาของตน
(๙) ธรรมเทศนา
คือ ทำบุญด้วยการบอก แนะนำ ให้ธรรมะ อย่างบริสุทธิ์ใจ
ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน แต่มุ่งให้ผู้ฟังได้สติ เกิดศรัทธาและปัญญา
รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้ทางโลกที่ไม่มีโทษให้กับผู้อื่น
เช่น สอนความรู้ทางการแพทย์ การเกษตร
(๑๐) ทิฏฐุชุกัมมะ
คือ ทำบุญด้วยการตั้งใจทำความคิดเห็นของตนให้ตรงให้ถูกต้องตามธรรม
ตั้งใจพัฒนาสติปัญญาให้ตนเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจตรงต่อ
ความเป็นจริงของธรรมชาติ ตั้งใจไม่ให้ตนเป็นคนมีความคิดเห็นที่ผิด
หรือเบี่ยงเบนออกไปจากความเป็นจริง
ทว่า บุคคลจะสร้างบุญกุศลทั้งสิบข้อดังกล่าวให้เพิ่มพูนได้อย่างดีมีประสิทธิภาพเต็มที่นั้น
พึงเริ่มต้นจากการชำระตนเองคือทำตนเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวงก่อน
กล่าวคือ บุคคลพึงเว้นจากการกระทำไม่ดีทั้งทางกาย วาจาและใจ ก่อน
รวมทั้งเพียรพยายามเสาะแสวงหาวิธีทำตนให้เป็นคนที่มีความคิดเห็นถูกต้อง
สั้นๆ คือ ทำตัวให้มีศีลและมีปัญญาก่อนเป็นลำดับแรกที่สำคัญ
เมื่อมีตนเป็นผู้มีศีลแล้วและยังมีปัญญารู้เหตุรู้ผลควรไม่ควรต่างๆ ด้วย
การจะเพิ่มพูนความดีในตนให้มากขึ้นด้วยบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ วีธี
ก็จะเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดายขึ้น ทำให้ยิ่งสามารถทำความดีทั้งสิบ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐)
ได้อย่างมั่นใจ เข้าใจ ทำได้ถูกและตามที่ควรจะทำได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ทำให้ ฉลาดในบุญ ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้บุญมากหนักแน่นและเต็มที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
การตั้งใจและเว้นจากการไม่ทำความชั่วทั้งปวงนี้เรียกว่า
กุศลกรรมบถ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๑๐ ประการต่อไปนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐
(๑)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย
ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน
(ปาณาติปาตา เวรมณี)
(๒)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย
ด้วยการไม่ลักทรัพย์ ถือเอาของที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมย
(อทินนาทานา เวรมณี)
(๓)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย
ด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม
(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี)
(๔)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา
ด้วยการไม่พูดเท็จ
(มุสาวาทา เวรมณี)
(๕)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา
ด้วยการไม่พูดจายุยงส่อเสียด
(ปิสุณาวาจา เวรมณี)
(๖)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา
ด้วยการไม่พูดจาร้าย หยาบคายด่าทอ
(ผรุสวาจา เวรมณี)
(๗)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา
ด้วยการไม่พูดเพ้อเจ้อ กล่าววาจาไม่เป็นประโยชน์
หรือกล่าววาจาโปรยประโยชน์
(สัมผัปปลาปา เวรมณี)
(๘)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ
ด้วยการไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น
(อนภิชฌา)
(๙)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ
ด้วยการไม่คิดไม่ดี คิดไม่พอใจ โกรธ คิดร้าย
คิดพยาบาทอาฆาตจองเวรผู้อื่น
(อพยาบาท)
(๑๐)
ตั้งใจและเพียรพัฒนาใจของตนเอง
ด้วยการพยายามศึกษาหาความรู้เพื่อให้ตนเป็นผู้มีปัญญา มีความเห็นชอบ
คิดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
(สัมมาทิฏฐิ)
กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงเป็นจุดเริ่มต้น และบุญจึงไม่ใช่เฉพาะต้องมีวัตถุเงินทองถึงจะทำได้
บุญอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา การทำบุญด้วยวัตถุเงินทอง (ในข้อทานมัย) นั้น
ก็เป็นเพียงส่วนเดียว แท้ที่จริงแล้วบุญนั้นสามารถเพิ่มพูนได้ตลอดในแทบทุกอย่าง
ในชีวิตประจำวัน บุญอยู่ที่ความเข้าใจ รู้ว่าอะไรอย่างไรคือบุญ ทุกครั้งที่มีโอกาส
โดยไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องมีเงินทองวัตถุข้าวของมากมายเสมอไป
ก็สามารถสะสมเพิ่มพูน บุญ ได้มากมายมหาศาลเท่าเทียมกันทุกคน
+ + + + + + + + + + + + + + + + +
รวบรวมและเรียบเรียงจาก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ ๕ เล่ม ๒
กัมมจตุกกะ มรณุปัตติจตุกกะ
รจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
๖๐ คำถามที่ต้องการคำตอบ เล่มที่ ๒
โดย คนเดินทาง ชมรมอนุรักษ์ธรรม
http://www.dhammajak.net/
http://www.raksa-dhamma.com
โดยคุณ : deedi - อีเมล์ deedi.deedi@gmail.com - 07/05/2008 22:32
24 ตุลาคม 2553 21:31 น.
กระต่ายใต้เงาจันทร์
ทุกอย่างในความเป็นไปในโลกนี้ มีทั้งความเป็นไปได้และไม่ได้พอๆกัน ในความคิดกระต่ายเองคิดว่า ถ้าเรามีศรัทธามากพอมีความจริงใจและแสดงให้เห็นในความจริงใจนั้น โอกาสและจังหวะช่วงเวลาดีๆของชีวิตมักเกิดขึ้นได้เสมอขอเพียงเรามุ่งมั่นและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ตาม
เมื่อตัวเองได้เดินทางมาอยู่ที่เชียงรายพร้อมดร.ฤทธิชัย คู่ชีวิต ท่านได้พากระต่ายไปกราบมนัสการ เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว คือ พระธรรมราชานุวัตร ท่านได้พูดมาประโยคหนึ่งกับกระต่ายว่ามาเป็นคนเชียงรายน่ะ
ซึ่งประโยคนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความเมตตาและคิดเสมอมาว่า การมาเป็นคนเชียงรายนั้น เราจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ทำตัวมีประโยชน์อย่างไร ให้สมกับที่ท่านเมตตา และ พระอาจารย์อีกรูปที่จะต้องกล่าวถึงในความเมตตาและมีบุญคุณต่อตัวกระต่ายและคู่ชีวิต คือ พระครูวิมลศิลปกิจ ที่คอยช่วยเหลือดูแลไม่ว่าเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
ในสมัยเด็กๆจนกระทั่งเติบโตพ่อจะปลูกฝังและสั่งสอนในเรื่องศรัทธาในพระพุทธศาสนา อยู่ไหนต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ จากไปต้องให้คนยกย่องกล่าวขวัญถึง ต้องทำทุกอย่างออกมาจากหัวใจและคิดว่าดีที่สุดแล้ว ผลออกมาอย่างไร กระต่ายน้อยจงภูมิใจและยอมรับในสิ่งนั่น
ในการให้มีผ้าป่าหนังสือในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและคิดว่าตัวเองไม่น่าจะทำได้ เพราะ เป็นจุดกำเนิดจากการคุยเอ็มในอินเตอร์เน็ตกับคุณลุงไพโรจน์ซึ่งเรื่องที่คุยเป็นเรื่องการนั่งสมาธิ จนกระต่ายเองได้บอกคุณลุงไปว่า ที่ มจร.วัดพระแก้ว มีการนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมทุกวันเสาร์โดยเป็นนโยบายเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว ให้มีขึ้นทุกวัดในจังหวัดเชียงรายมุ่งเน้นพัฒนาด้านจิตใจเพื่อส่งเสริมศีล สติ สมาธิ ปัญญา โดยการนำของ พระสุธีสุตสุนทร(พระมหาดร.สมพงษ์ ) ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการ มจร.ห้องเรียนวัดพระแก้ว และในส่วนของตัวกระต่ายเองได้ไปช่วยงานห้องสมุดโดยเป็นอาสาสมัครและเต็มใจเพราะตัวเองรู้สึกว่า ตัวหนังสือ ตัวอักษรมีคุณค่าและมีชีวิตและได้ช่วยชีวิตตัวเองไว้เมื่อเมื่อครั้งอดีตที่เราคิด คิดฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเรากลับมาในเรื่องของงานเขียนและมีเวลาอ่านหนังสืออีกครั้งตัวเองมีความสุขทำให้ได้ข้อคิดหลายอย่างสำหรับชีวิตนี่คือ บุญคุณยิ่งใหญ่เราต้องตอบแทนดูแลและรักษาตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือ
จึงคุยกับคุณลุงไพโรจน์ทางเอ็มว่า อยากได้หนังสือเข้าห้องสมุด เพราะหลายเล่มที่พระนิสิตและนิสิตฆราวาสมาถามหาในห้องสมุดไม่มีคุณลุงได้ทำบุญโดยบริจาคหนังสือส่วนตัวมาหนึ่งลังมาที่ห้องสมุดและได้ให้ส่งรายชื่อหนังสือไปทางอีเมล์ ซึ่งกระต่ายเองก็ขอรายชื่อหนังสือที่ต้องการมาจากพระอาจารย์ อาจารย์ ผู้สอน พระนิสิตและนิสิตฆราวาสเขียนและต้องการที่จะใช้ในการเรียนการสอนส่งให้ไปเป็นเวลาเกือบหกเดือนซึ่งมีรายชื่อหนังสือเป็นร้อยเล่มโดยให้หม่อมหลวงศรันสุข สุขสวัสดิ์ ซึ่งกระต่ายเรียกสั้นๆว่า คุณอาหน่อย ซึงเป็นกัปตันสายการบินที่เชียงรายมาเก็บข้อมูลและไปนำเสนอที่รุ่น
คุณลุงไพโรจน์และคุณอาหน่อยได้กรุณา นำเรื่องนี้ ไปปรึกษารุ่นของคุณลุงคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นที่ 5 มหาวิทยาลัยขอนแก่นและได้นำมาเป็นหนังสือที่ซื้อให้ตามรายชื่อจำนวน ๓๙๐ เล่ม นอกจากนี้ยังมีหนังสือทางวิชาการมือสองแต่ยังมีสภาพใหม่อีกจำนวนหนึ่งและยังมี สมาชิกรุ่นคุณลุงบริจาคส่วนตัวมาอีกเป็นลังๆ ไม่ว่า จะเป็น ท่านองอาจ พร้อมจรรยากุล รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ประธานรุ่น 5 และท่านอื่นๆรวมหนังสือที่นำมาบริจาคให้ห้องเรียนวัดพระแก้วในครั้งนี้ จำนวน ๕๐๐ เล่มและยอดเงินบริจาคอีก 39019 บาทรวมทั้งสิ้นยอดเงินบริจาคทั้งหมด 99999 บาท
นอกจากนี้ส่วนที่กระต่ายขอไปจาก สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรซึ่งผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรม ศิลปากรได้เมตตาบริจาคมากว่าร้อยเล่มเข้าห้องสมุดครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้ ก็ได้ร่วมบริจาคเพิ่มเติมมาอีกครั้งหนึ่ง โดยคุณ ประสิทธิ์ แสงทับ เป็นผู้ประสานให้
กระต่ายจึงอยากขอบคุณหลายท่านที่ตั้งใจมาในครั้งนี้ซึ่งมาจากกรุงเทพ เป็นจำนวน 25คน และท่านที่ไม่ได้มาในครั้งนี้ เหนืออื่นใด บุคคลที่กระต่ายต้องกราบขอบพระคุณคือ คุณลุงไพโรจน์ที่ได้สืบสานโครงการครั้งนี้จนเป็นผลสำเร็จไปตระเวนหาซื้อหนังสือให้หลายรอบและกราบขอบพระคุณอาหน่อยที่คอยประสานงานและไปนำเสนอ เรื่องนี้จนประสบผลสำเร็จพร้อมทั้งที่ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือร่วมใจต่อสะพานบุญจนทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีคะ
ขอบคุณจากหัวใจ
กระต่ายใต้เงาจันทร์
17 ตุลาคม 2553 23:50 น.
กระต่ายใต้เงาจันทร์
คำคมความหมายดีๆในความคิด
ความไม่หวาดหวั่นอุปสรรคในชีวิตคือพลังในการใช้ชีวิตที่เข้มแข็ง
ในตอนเช้าของตื่นขึ้นมาถ้าเราบอกกับตัวเองว่า ชีวิตยังมีอะไรที่เราไม่ได้ทำและอยากจะทำอีกมาย ยิ้มรับและมองโลกธรรมชาติสิ่งรอบตัวด้วยความสุขชีวิตเราก็จะเป็นวันที่มีความสุขอีกวันหนึ่ง แต่ถ้าเราตื่นขึ้นมาด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยวกับชีวิตประวันเดิมๆเราก็จะเบื่อหน่าย เราต้องดูเองว่า เราจะเลือกวิธีการคิดแบบใดให้เป็นนิสัยในชีวิตประจำวัน
การที่เรายังต้องการ การยกย่องให้เกียรติ คนอื่นก็ต้องการเช่นกัน
ทำตัวให้มีเกียรติ เหมือนกับเกียรติที่ได้รับ
หากเรารู้ว่า ตัวเราคือใคร ต้องการอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร และมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งเหล่านั้น เราจะประสบความสำเร็จครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลืออีกครึ่งคือการได้ลงมือทำ
จุดเทียนกี่ร้อยกี่พันเล่ม ก็เทียบไม่ได้กับการจุดเทียนเพียงเล่มเดียวสำหรับส่องส่ว่างให้ตัวเอง
อธิษฐานขอทั้งชีวิตแต่ไม่คิดที่จะทำ จะสำเร็จได้อย่างไร
จังหวะและโอกาสไม่ได้มาหาเราบ่อยๆ จงรู้จักไขว่คว้าเอาไว้
ปราบใดที่คุณเดินไม่พ้นประตูบ้านสักที คุณจะไม่มีวันรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร
ถ้าคุณก้าวออกมาและถอยกลับที่เดิมโดยหาเหตุผลให้ตัวเองทุกครั้ง ชีวิตคุณก็จะเหมือนเดิม
ความจริงแล้วรักที่หาง่ายและจริงใจกับเรามากที่สุดคือรักตัวเอง แต่เรามักชอบเรียกร้องหาจากคนอื่น
บุคลิกเราอาจก่อตัวได้จากการสะสมประสบการณ์และการเรียนรู้ แต่ความสามารถพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับการฝึกฝน
ถ้าเราคิดว่าเราทำที่สุดทุกวันแล้ว เมื่อเราเหลียวหลังมองกลับไปเราจะไม่เสียใจ
การเป็นคนที่ฉลาดที่จะคิด แต่สื่อสารไม่เข้าใจ ก็เท่านั้น เราต้องรู้จักสื่อสารภาษาให้เข้าใจง่ายเพราะเป็นช่องเชื่อมความสัมพันธ์ในความคิดให้ตรงกัน
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความคิด จงระวังเพราะมันเหมือนของแหลมคมที่พร้อมจะบาดให้เราเจ็บหรือแหลมคมจนเราได้ความรู้จากความคิด และสามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้
คำพูดการสื่อสารไม่ใช่ขึ้นกับว่าเราสื่อสารได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าเข้าใจเราดีแค่ไหน
ทำความสะะอาดของใช้รอบตัวมากมาย แต่จงอย่าลืมทำความสะอาดหัวใจตนเอง
ความเงียบบางทีก็เป็นวิธีที่แก้ปัญหาดีที่สุด
ถ้าเรามีชีวิตอยู่กับการเรียกร้องเราก็จะรู้จักแต่เรียกร้องไม่รู้จักใช้
การจะได้อะไรมาสักอย่างคุณต้องศรัทธาและจริงใจที่จะทำมันโดยปราศจากเงื่อนไขคุณถึงจะมีความสุข
1 ตุลาคม 2553 19:13 น.
กระต่ายใต้เงาจันทร์
ที่ ๒๒ บัณฑิตสามเณร
ในกาลอันล่วงมาแล้วช้านาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป มีพระขีณาสพ ๒ หมื่นรูปเป็นบริวาร ได้เสด็จไปสู่กรุงสาวัตถี มนุษย์ชาวกรุงสาวัตถีก็ได้ถวายอาคันตุกทาน รวมกัน ๘ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง
ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อเสร็จจากภัตตกิจแล้ว พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาว่า อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้คิดว่า เราให้ของ ๆ ตนเองเท่านั้น ประโยชน์อะไรด้วยการชักชวนผู้อื่น จึงให้ทานด้วยตนเองเท่านั้น เขาย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว
บางคนชักชวนคนอื่น ไม่ให้ด้วยตนเอง เขาย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว
บางคนไม่ให้ด้วยตนเอง ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้บริวารสมบัติ ทั้งไม่ได้โภคสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว
บางคนให้ด้วยตนเองบ้าง ทั้งชักชวนผู้อื่นบ้าง เขาย่อมได้ทั้งบริวารสมบัติ ได้ทั้งโภคสมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว
ชายบัณฑิตคนหนึ่งซึ่งยืนฟังอยู่ในที่นั้น มีความประสงค์อยากได้ทั้ง ๒ อย่าง จึงกราบทูลแก่พระพุทธเจ้าว่าพรุ่งนี้ขอนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยบริวาร ๒ หมื่นรูป รับภิกษาในเรือนของข้าพระองค์ เมื่อรู้ว่าพระศาสดาทรงรับแล้ว จึงเข้าไปสู่บ้านป่าวประกาศให้ชาวบ้านมาทำบุญร่วมกันตามกำลังศรัทธาเท่าที่จะสามารถ พวกชาวบ้านก็มีความยินดี จึงได้รับเอาคำของชาวบ้านเหล่านั้นมาเขียนไว้ในบัญชี
ก็โดยสมัยนั้น ในกรุงนั้นมีชายที่ทุกข์ไร้เข็ญในอยู่คนหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า มหาทุคคตะ เมื่อชายบัณฑิตเห็นเขาแล้ว ก็ชักชวนว่า เพื่อนทุคคตะ พรุ่งนี้พวกเราชาวเมืองจะถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลาย แกจะถวายทานแก่ภิกษุกี่รูป ?
มหาทุคคตะ จึงกล่าวว่า โอ..... ไม่ไหวแล้วเพื่อนเอ๋ยการถวายทานนั้นเป็นหน้าที่ของคนมีทรัพย์ ส่วนเราสิ ข้าวจะกินเช้าเย็นก็ไม่มี แล้วเราจะเอาที่ไหนมาถวายแก่ภิกษุเล่าไม่เอาแล้วเพื่อนยาก
ธรรมดาผู้ชักชวนย่อมเป็นผู้ฉลาด ถึงชายทุคคตะจะบอกปฏิเสธเท่าไรก็หาทางชักชวนเอาจนได้ จึงกล่าวว่าเพื่อนยาก ชาวพระนครนี้เขานุ่งห่มเสื้อผ้าดี ๆ นอนบนที่นองสูง ๆ และบริโภคอาหารที่ประณีต เพราะเขาได้ทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน ส่วนเพื่อนซี้ หาเช้ากินค่ำก็ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง นั่นแหละขอให้เพื่อนรู้ไว้เถิด เพราะไม่ได้ทำบุญกุศลไว้แต่ชาติปางก่อนละ
ชายมหาทุคคตะ เมื่อได้ยินคำพูดเช่นนั้นก็เกิดความสังเวชสลดใจ จึงได้บอกชายบัณฑิตลงชื่อตนไว้ในบัญชีคนหนึ่ง แต่เขามีศรัทธาเลี้ยงอาหารแก่ภิกษุเพียงรูปเดียว ชายบัณฑิตเลยไม่ได้ใส่ใจ เลยไม่ได้เขียนใส่บัญชีไว้
ฝ่ายมหาทุคคตะไปสู่เรือนแล้ว พูดกับภรรยาว่า พรุ่งนี้ชาวเมืองเขาจะได้ถวายแก่พระสงฆ์ เราทั้ง ๒ คนก็จักถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่งด้วย ภรรยาของเขามีความยินดี โดยมิได้ว่ากล่าวสามีแต่ประการใด กลับพูดว่าเราทำดีแล้ว ชาตินี้เราทุกข์เข็ญใจ เห็นจะไม่ได้ทำบุญกุศลไว้แต่ปางก่อนกระมัง ? เราทั้ง ๒ คนไปทำงานจ้างแล้วเอารายได้นั้นมาซื้ออาหาร ถวายแก่ภิกษุสักรูปหนึ่ง
เมื่อเขาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงออกจากบ้านไปทำงานรับจ้างอยู่ในบ้านของเศรษฐี โดยไม่เลือกประเภทของงาน เศรษฐีจึงกล่าวว่า ดีแล้ว พรุ่งนี้เราจะเลี้ยงพระสองร้อยสามร้อยรูป ขอให้เธอมาผ่าฟืนให้แก่เราเถิด แล้วก็มอบมีดและขวานให้
มหาทุคคตะขะมักเขม้นอย่างแข็งขัน ถึงความอุตสาหะคว้ามีด วางขวาน ทิ้งขวาน ฉวยมีด ผ่าฟืนไป ส่วนภรรยาของเขาก็ไปทำงานรับจ้างในเรือนเดียวกัน และเขาได้ทำการตำข้าว และนางทำด้วยความร่าเริงยินดี ฝ่ายเศรษฐีและภรรยาเห็นความขยันขันแข็งของคนทั้งสอง จึงเพิ่มรางวัลให้เป็นพิเศษ และเลื่อมใสที่เธอจะทำบุญเลี้ยงพระ จึงให้สินจ้างแก่ผัวและเมียไปมากมาย ทั้ง ๒ เมื่อได้ค่าจ้างแล้วก็กลับมาสู่เรือน จักแจงทานไว้สำหรับภิกษุ พอรุ่งเช้า ชายทุคคตะจึงออกจากบ้านเพื่อเก็บผักตามประสาจนทั้งร้องรำทำเพลงไปตามทาง เมื่อชาวประมงได้ยินเสียงจำได้จึงเรียกเขาเข้าไปหาแล้วถามว่า คุณจะทำอะไรจึงได้ร่าเริงนัก แกตอบว่าพรุ่งนี้เราจะเลี้ยงพระหนึ่งรูป เออ ... ดีแล้วพระที่แกเลี้ยงจักอิ่มไปด้วยผัก โธ่...เพื่อนเอ๋ย จักทำอย่างไรได้ ก็เรามันจนนี่น่า ถ้าเช่นนั้นขอให้เพื่อนไปเอาปลากับเราก็แล้วกัน เพื่อทำอาหารเลี้ยงพระในวันพรุ่งนี้ แล้วก็ร้อยปลาตะเพียนมาจำนวน ๔ ตัวให้แก่เขาไป เขาก็รีบกลับบ้านเพราะได้เวลาที่ภิกษุจะเข้าไปบ้านแล้ว
ก็ในวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาเช้าตรู่ เห็นขายมหาทุคคตะเข้าไปในข่าย จึงทรงดำริว่าเหติอะไรจักเกิดขึ้นหนอ ? ทรงทราบว่าเธอจักเลี้ยงภิกษุรูปหนึ่ง แต่เว้นเราเสียมหาทุคคตะจักไม่ได้ภิกษุเลย เพราะผู้จัดส่งภิกษุก็ลืมเสียแล้ว เอาเถอะเราจักทำการสงเคราะห์ชายยากจนคนนี้แล้วจึงทรงประทับอยู่ในพระคันธกุฏินั่นเอง
ศิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน ท้าวเธอทรงดำริว่า เหตุอะไรหนอจักเกิดขึ้นในวันนี้ ทรงทราบว่าโอ .... วันนี้มหาทุคคตะ จักทำการเลี้ยงภิกษุรูปหนึ่ง แต่ภิกษุนั้นมิใช่ใครอื่นเป็นสมเด็จพระบรมศาสดา จึงจำแลงเพศไม่ให้ใครรู้จัก เสด็จไปสู่เรือนของมหาทุคคตะ ขอเข้าทำงานในหน้าที่เป็นพ่อครัว ฝ่ายมหาทุคคตะก็มิได้ขัดข้อง จังเสด็จเข้าไปในเรือน แล้วให้นำข้าวเป็นต้นมา ทรงส่งมหาทุคคตะไปรับภิกษุที่ถึงแก่ตนมา
ฝ่ายผู้จัดการทาน ก็ได้จักภิกษุส่งไปสู่เรือนของพวกชนเหล่านั้น ๆ ตามความประสงค์ พอถูกมหาทุคคตะทวงก็ได้สติขึ้นมาในขณะนั้นว่า โธ่... ตาย อย่าให้ฉันฉิบหายเลยฉันลืมจริง ๆ ขณะนี้ภิกษุที่จะจัดแก่คุณก็หมดแล้ว ขอให้คุณจงไปกราบทูลพระศาสดาในวิหารเองเถิด เขารีบเดินดุ่มไปกุฏิโดยทันที เมื่อถึงแล้วก็ได้กราบบังคมทูลว่า พระเจ้าข้าขอพระองค์จงทำความสงเคราะห์แก่คนยากเถิด ฝ่ายพระราชาและยุพราช คอยแลทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระศาสดาทรงมอบบาตรให้แก่ชายทุคคตะนำไป เขาเป็นเหมือนบรรลุจักรพรรดิสิริทรงพระเจ้าแผ่นดิน และยุพราชเป็นต่างก็ทรงแลดูพักตร์กันและกัน
ชาวเมืองทั้งหลาย เมื่อเห็นมหาทุคคตะได้บาตรของพระศาสดาไป ก็คิดอิจฉา จึงเข้ารุมล้อมขอบาตรจากเขาต่างก็พูดว่า มหาทุคคตะ ขอให้ท่านจงรับเอาเงินแสนหนึ่งสองแสน สามแสน ฯ ล ฯ นี้เถิด เพราะท่านเป็นคนทุกข์ยากมหาทุคคตะกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ให้ จะถวายภัตตาหารแด่พระศาสดา ต่างฝ่ายต่างอ้อนวอน เมื่อไม่ได้จึงกลับไปด้วยความผิดหวัง
ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเห็นประชาชนประเล้าประโลมชายทุคคตะด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ไม่สำเร็จ จึงทรงดำริว่า เอาเถิดวันนี้เราจักไปดูไทยธรรมของมหาทุคคตะ ที่จัดถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ฉันแล้วจักนำมาถวายอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับตน จึงได้เสด็จไปพร้อมกับพระศาสดา
ส่วนท้าวสักกะเทวราช ทำหน้าที่เป็นพ่อครัว ได้จัดแจงพระกระยาหารไว้หลายอย่าง เมื่อมหาทุคคตะนำพระศาสดามาแล้ว จัดทรงเปิดอาหารที่ตนจักเตรียมไว้ อาหารนั้นพอเปิดออกเท่านั้น มีกลิ่นตลบพระนครทั้งสิ้นตั้งอยู่ ฝ่ายพระราชา เมื่อเห็นอาหารเช่นนั้น จึงทูลพระศาสดาว่า ข้าพระองค์คิดว่าอาหารที่มหาทุคคตะจัดไว้เพื่อพระองค์จะไม่เป็นเช่นนี้ จึงได้ตามเสด็จมา จะนิมนต์ขอพระองค์ไปทรงฉันที่ตำหนักของข้าพระองค์ ที่เขาจัดแจงไว้สำหรับตน เอาละพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักกลับละ ในเมื่อข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ มหาทุคคตะจะลำบาก ถวายบังคมแล้วกหลีกไป
ท้าวสักกเทวราช ถวายยาคูเป็นต้นโดยเคารพ เมื่อพระศาสดาทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว พระองค์ได้ทรงทำอนุโมทนา เสด็จลุกจากทาสนะแล้วหลีกไป ท้าวสักกะได้ให้สัญญาแก่มหาทุคคตะเขารับบาตรและตามส่งพระศาสดา ฝ่ายท้าวสักกะก็ได้เหาะไปสู่สำนักของตน เมื่อมหาทุคคตะกลับมาสู่เรือนของตนแล้ว ก็เห็นเรือนเต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการและภรรยาก็ได้นำเด็กออกมายืนอยู่ข้างนอก เพราะในเรือนไม่มีช่องจะเข้าไป เขาจึงคิดว่า โอ ... ทานของเราให้ผลในวันนี้ จึงได้ไปสู่สำนักของพระราชาทูลว่า พระเจ้าข้า เรือนของข้าพระองค์เต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ขอให้พระองค์จงทรงถือเอาแก้วนั้นเถิด พระราชาทรงดำริว่า บุญที่บุคคลทำแล้วในวันนี้ย่อมให้ผลในวันนี้ แล้วจึงตรัสถามว่าท่านได้อะไรดี จึงกราบทูลว่า ได้เกวียนสักพันเล่มพระเจ้าข้า ได้ให้เกวียนแก่เขาอยู่ ได้มากองไว้ สูงประมาณชั่วลำตาล
พระราชาได้ประชุมชาวพระนคร แล้วตรัสว่า ในนครนี้มีใครบ้างมีทรัพย์มากอย่างนี้ ชาวเมือง ไม่มีพระเจ้าข้าพระราชา เราจะทำอย่างไรดี ชาวเมือง ตั้งให้เป็นเศรษฐีพระราชาทำสักการะเขาเป็นอันมากแล้ว ตั้งให้เป็นเศรษฐีท้าวเธอได้ตรัสบอกสถานที่ปลูกบ้านแก่เขา เศรษฐีพอปลูกบ้านเสร็จแล้ว ก็ตั้งหน้าทำบุญมาเรื่อย ๆ จนสิ้นอายุ เมื่อเขาจุติแล้วก็ไปบังเกิดในแดนสวรรค์ ท่องเที่ยงไป ๆ มา ๆ สิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากชาตินั้นจึงมาถือปฏิสนธิในท้างของตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระในกรุงสาวัตถี
ลำดับนั้น นางจึงเกิดแพ้ท้องขึ้น คิดอยากถวายทานแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระสารีบุตรเถระเป็นประมุข เมื่อนางได้ถวายทานแล้วความแพ้ท้องก็ระงับไป ในขณะที่เด็กอยู่ในท้องนางได้ทำการมงคลถึง ๗ ครั้ง เมื่อครบกำหนดแล้ว นางก็คลอดตามสบาย
ในวันตั้งชื่อ มารดาได้นิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูป มีธรรมเสนาบดีเป็นประมุข เมื่อเสร็จจากภัตตกิจแล้ว พระสารีบุตรจึงถามว่า เด็กนี้ชื่ออะไร หญิงนั้นตอบว่า เมื่อเด็กนี้เกิดแล้วในเรือนนี้คนตาบอด หูหนวก ได้หายหมดพระเจ้าข้า ฉะนั้นควรชื่อ บัณฑิต
พอเธอมีอายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น ญาติพี่น้องก็ได้เอาไปมอบไว้กับพระสารีบุตรเถระ เพื่อให้บวชในสำนักของท่านพระสารีบุตรก็ได้บวชให้ตามความประสงค์ เมื่อเธอบวชแล้วก็ได้ตั้งในบำเพ็ญความเพียร เธอได้บรรลุพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ปี แล้วในขณะที่เธอบำเพ็ญเพียรเพื่อจะบรรลุพระอรหันต์นั้น เทพเจ้าได้ให้การรักษาเป็นอย่างดี ภิกษุทั้งหลายจึงโพนทะนากันว่า พระอาทิตย์พึ่งบ่ายคล้อยไปเดี๋ยวนี้เอง นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ ? พระศาสดาทรงสดับคำนั้น ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดเรื่องอะไรกัน เรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย ในเวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ ท้าวสักกเทวราชเสด็จมายึดอารักขาที่สายยู ถึงเราผู้มีความขวนขวายน้อยด้วยนึกเสียว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เพื่อจะนั่งอยู่ได้ ก็ยังได้ยึดเอาอารักขาเพื่อบุตรของเราที่ซุ้มประตู พวกบัณฑิตเห็นคนไขน้ำกำลังไขไปจากเหมือง ช่างศรกำลังดัดลูกศรให้ตรง และช่างถากกำลังถากไม้แล้ว ถือเอาเหติเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ทรมานตนแล้วย่อมยึดเอาพระอรหันต์ไว้ได้ ดังนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า
อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดลูกศร ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
คติจากเรื่องนี้
พระบรมศาสดาทรงสอนว่า การฝึกฝนตนนั้น เป็นคุณธรรมอย่างสูงฉันนั้น ควรที่ทุกคนเริ่มฝึกฝนตนได้แล้วโดยวิธีการต่าง ๆ แล้วแต่ถนัดขอให้เป็นประโยชน์แก่ตน และคนอื่นเป็นให้ได้
เรื่องที่ ๒๓ บุรุษผู้ฆ่าโจรมีเคราแดง
ดังได้สดับมา โจร ๔๙๙ คน ทำกรรมมีการปล้นชาวบ้านเป็นต้นสำเร็จความเป็นอยู่แล้ว ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งมีตาเหลือกเหลือง มีเคราแดง ไปสู่สำนักของโจรเหล่านั้นกล่าวว่า แม้ผมจักอยู่กับพวกท่าน หัวหน้าโจรจึงกล่าวว่าบุรุษนี้กล้ายิ่งนัก สามารถตัดนมแม่ และนำเลือดในลำคอพ่อออกแล้วกินได้ จึงห้ามว่า เราไม่ต้องการให้อยู่ บุรุษนั้นถูกหัวหน้าโจรห้ามแล้วก็ไม่ไป บำรุงศิษย์ของหัวหน้าโจรคนหนึ่งให้พอในแล้ว โจรพาเขาเข้าไปหาหัวหน้าแล้วอ้อนวอนว่า นายผู้เป็นคนดี มีอุปการะจงสงเคราะห์เขาเถิด ให้หัวหน้ารับไว้
วันหนึ่งพวกชาวเมืองกับราชบุรุษจับโจรได้ จึงส่งไปให้พวกอำมาตย์วินิจฉัย อำมาตย์สั่งให้ตัดศีรษะโจร แต่ไม่มีใครสามารถตัดได้ แม้โจร ๔๙๙ คนก็ไม่มีความประสงค์จะฆ่า พวกชาวเมืองถึงถามนายตัมพทาฐิกะ อันดับสุดท้ายของโจรทั้งหมด เธอรับว่าดีละ แล้วฆ่าโจรทั้งหมดเธอได้ทั้งชีวิตและความนับถือ
พวกชาวเมืองนำโจรมาอีก ๕๐๐ คนส่งไปให้อำมาตย์ก็สั่งให้ฆ่าอีกเช่นเคยจึงได้มอบหน้าที่นี้ให้แก่นายตัมพทาฐิกะ ดำเนินตามเคย เธอฆ่าได้อย่างง่ายดาย เมื่อเสร็จแล้วเขาก็ได้ความนับถือ
ชาวเมืองจึงปรึกษากันว่า บุรุษคนนี้ดี พวกเราจักให้เขาเป็นคนฆ่าโจรประจำ จึงให้ตำแหน่งนั้นแก่เธอ กระทำความนับถือแล้ว
นายตัมพทาฐิกะโจรนั้นฆ่าโจรคราวละ ๕๐๐ ๆ ซึ่งชาวเมืองนำมาแต่ทิศานุทิศได้ ๒๐๐๐ คน จำเดิมแต่นั้นมาเขาฆ่าทีละ ๑-๒ คนทุก ๆ วัน จนกระทั่งถึง ๕๕ ปี ต่อเมื่อแก่เขาไม่สามารถฟันทีเดียวได้ต้องฟันถึง ๒-๓ ที ทำให้มนุษย์ได้รับความลำบาก พวกชาวเมืองจึงปรึกษากันว่า คนฆ่าโจรคนอื่นต้องมีแน่ พวกเราไม่ต้องการนายตัมพทาฐิกะนี้เพราะทำมนุษย์ลำบาก จึงถอนตำแหน่งของเขาเสีย
นายตัมพทาฐิกะทำโจรกรรม อยู่ในกาลก่อนจึงไม่ได้กิจ ๔ อย่างนี้ คือ ๑.การนุ่งผ้าใหม่ ๒.การดื่มยาคูเจือด้วยน้ำนมปรุงด้วยเนยใสใหม่ ๓.การประดับด้วยดอกมะลิ ๔.การทาด้วยของหอม ในวันออกจากตำแหน่ง เธอจึงให้นำกิจทั้ง ๔ นี้มา ทีนั้นชนก็ได้นำมาให้เขาตามความต้องการ
ก็ในขณะนั้น พระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติพิจารณาว่า ใครหนอแลจักมีศรัทธาถวายยาคูแก่เราในวันนี้จึงเห็นนายตัมพทาฐิกะเป็นผู้มีศรัทธาจะถวายแก่ท่าน ก็แลครั้นเขาถวายแล้วจักได้สมบัติอย่างใหญ่หลวง จึงห่มจีวรถือบาตรไปอยู่ที่ประตูเรือนของนายตัมพทาฐิกะนั้น
นายตัมพทาฐิกะนั้น พอแลเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่าเราทำโจรกรรมมานาน ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเลยวันนี้ข้าวยาคูซึ่งเจือด้วยเนยใสก็มีอยู่ เราจักเอาของนั้นถวายจึงนิมนต์พระเถรให้เข้าไปนั่งภายในเรือน รับบาตรจากท่านแล้วเกลี่ยข้าวยาคูลงจนเต็มบาตร นิมนต์ให้ท่านนั่งฉันอยู่ ณ ที่นั้น ส่วนตนเองนั่งพักอยู่ข้าง ๆ และถูกความยากในข้าวยาคูรบกวนเป็นกำลัง เพราะไม่ได้ดื่มเสียนาน เขาจึงได้ดื่มยาคูตามความต้องการ พอพระเถระฉันเสร็จแล้วเริ่มทำอนุโมทนา เขาไม่สามารถทำจิตของตนให้ไปตามธรรมเทศนาได้ พระเถระสังเกตเห็นจึงถามว่า เพราะเหตุไรอุบาสกท่านจึงไม่อาจส่งจิตไปตามธรรมเทศนา
นายตัมพทาฐิกะตอบว่า เพราะกระผมได้ทำความชั่วมาช้านาน มนุษย์เป็นอันมากที่กระผมฆ่าตาย พระสารีบุตรก็ท่านทำตามชอบใจหรือมีใครบังคับ เขาตอบว่า พระราชาใช้ให้ทำขอรับ ถ้าเช่นนั้นบาปจักมีแก่ท่านได้อย่างไร
อุบาสดเป็นคนมีธาตุทึบ พอได้ฟังพระเถระกล่าวเช่นนั้น สำคัญว่าอกุศลไม่มีแก่ตน จึงตั้งในฟังธรรมเทศนายังขันติให้เป็นไปโดยอนุโลมได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว พระเถระทำอนุโมทนาแล้วก็หลีกไป
นางยักษิณีคนหนึ่งมาแล้วด้วยเพศแห่งแม่โคนม ได้ประหารอุบาสกผู้ตามส่งพระเถระให้ตาย อุบาสกทำกาละแล้วได้บังเกิดในดุสิตบุรี
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า บุรุษฆ่าโจรสิ้น ๕๕ ปี พ้นจากกรรมนั้นในวันนี้ ถวายภิกษาแก่พระเถระในวันนี้ กระทำกาละแล้วไปเกิดที่ไหนหนอ
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า พวกเธอประชุมเรื่องอะไรกันเมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า เรื่องนี้พระเจ้าข้าจึงตรัสว่า เขาบังเกิดในดุสิตบุรี พระเจ้าข้า เขาทำกรรมเห็นปานนี้จะไปเกิดได้อย่างไร แล้วตรัสว่า อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย นายตัมพทาฐิกะได้กัลยาณมิตรใหญ่ เขาฟังธรรมเทศนาของพระสารีบุตร ยังอนุโลมญาณให้เกิดแล้ว เคลื่อนจากโลกนี้แล้วบังเกิดในดุสิตบุรี
คติจากเรื่องนี้
บุรุษผู้ฆ่าโจรในเมือง ฟังคำเป็นสุภาษิตแล้ว ได้อนุโลมขันติ
ไปสู่เทพชั้นไตรทิพย์ ย่อมบันเทิงใจ
เรื่องที่ ๒๔ ปฎิกาชีวก
เล่ากันว่า หญิงคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ได้บำรุงปฏิกาชีวกเป็นนิตย์มา พวกมนุษย์ในเรือนใกล้เคียงของนางไปฟังเทศน์ของพระศาสดามาแล้ว ได้พรรณนาพระคุณของพระศาสดาต่าง ๆ นานา จนกระทั่งนายอยากไปเข้าบ้าง จึงนางจะตัดขาดจากตน
ฝ่ายนาง เมื่อได้ยินห้ามปรามของอาชีวกเช่นนั้น ก็ไม่ฟังเสียง กลับจะนิมนต์พระศาสดามาแสดงธรรมที่บ้านของตน จึงให้ลูกชายไปทูลนิมนต์พระศาสดา เพื่อเสด็จมาฉันในเรือนของนางฝ่ายลูกชายก่อนจะไปได้ไปหาอาชีวกนั้นจึงวางแผนเพื่อจะไม่ให้พระศาสดาเข้ามาในบ้านนั้น และลูกชายของนางว่า
เธอไปแล้ว อย่าบอกพระศาสดาว่า พระองค์พึงเสด็จไปเรือนของข้าพระองค์ที่เรือนโน้นถนนโน้น หรือทางโน้น ทำเป็นเหมือนยืนอยู่ในที่ใกล้ เหมือนจะไปโดยทางอื่น จนหนีมาเสีย
ลูกชายนางได้กระทำเช่นนั้น แล้วกลับมาบอกอาชีวกฝ่ายพระศาสดา พอรุ่งเข้า พระองค์ก็ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปสู่เรือนของอุบาสิกาแต่เช้าตรู่ แม้ว่า ลูกชายของนางจะไม่ได้ทูลถึงหนทางที่จะไปก็ตาม พระองค์ย่อมทรงทราบดี นางออกมาจากเรือน ถวายบังคมพระศาสดา ทูลอัญเชิญให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ให้ประทับนั่งเหนืออาสนะ แล้วถวายทักษิโณทก อังคาสด้วยขาทนียะ และโภชนียะอันประณีต พอพระศาสดาเสร็จภัตตกิจ ก็รับบาตรเพื่อให้พระองค์ทรงกระทำอนุโมทนา
พระศาสดาทรงเริ่มธรรมกถา ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ อุบาสิกาฟังธรรมพลางให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ อาชีวกนั่งในห้องหลัง ได้ยินเสียงนางให้สาธุการ ไม่อาจจะอดรนทนอยู่ได้ จึงพรวดพราดออกมา ด่าอุบาสิกาและพระศาสดาโดยประการต่าง ๆ แล้วหนีไป
อุบาสิกาได้ยินคำของอาชีวกนั้น ละอาย ไม่สามารถจะทำจิตให้ไปตามกระแสพระเทศนาได้
อุบาสิกา ท่านไม่สามารถทำจิตให้ไปตามแนวเทศนาได้หรือ พระศาสดาตรัสถาม
พระเจ้าข้า อุบาสิกาทูลตอบ เพราะถ้อยคำของอาชีวกนี้ จิตของหม่อมฉันจึงฟุ้งซ่าน
พระศาสดาจึงตรัสว่า ไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำที่ชนผู้ไม่เสมอภาคกันเห็นปานนี้กล่าว การไม่คำนึงถึงถ้อยคำเห็นปานนี้แล้ว ตรวจดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้นจึงควร แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่านั้นไว้ในใจ ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วของตนเท่านั้น
ในเวลาจบเทศนา อุบาสิกาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
คติจากเรื่องนี้
ความดี และความชั่ว ของคนอื่น มิใช่เรื่องที่เราจะเอาใจใส่ให้มาไปกว่าเรื่องความดี
และความชั่ว ของเรา
เรื่องที่ ๒๕ ปรินิพพานของพระโคธิกเถระ
มีเรื่องเล่าว่า พระเถระอยู่ใกล้ถ้ำกาลศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิเป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียรพยายามแต่ว่าท่านได้สำเร็จเพียงเจโตวิมุตติเท่านั้น ต่อมาไม่นานก็เสื่อมไปด้วยโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ท่านได้สำเร็จเช่นนี้ถึง ๖ ครั้ง พอถึงครั้งที่ ๗ ท่านคิดว่า เราเสื่อมจากฌานถึง ๖ ครั้งแล้ว ก็คติของผู้มีฌานเสื่อมย่อมไม่แน่นอนคราวนี้เราจักนำศัสตรามา จึงเอามีดโกนมานอนบนเตียงเพื่อจะตัดก้านคอ
ฝ่ายมารรู้วาระจิตของท่านแล้วคิดว่า ภิกษุนี้ใคร่นำศัสตรามา ก็แลภิกษุทั้งหลายนำศัสตรามา ย่อมเป็นผู้หมดความอาลัยในชีวิต ภิกษุเหล่านั้นเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว ย่อมบรรลุพระอรหันต์ได้ ถ้าเราจักห้ามภิกษุนั้น เราจักไม่ทำตามคำของเรา เราจักทูลพระศาสดาให้ห้ามเธอ จึงแปลงเพศเข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลถึงเรื่องนั้น
แต่พระศาสดาทรงทราบว่า มาณพผู้นั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า ปราชญ์ย่อมทำอย่างนั้น ย่อมหมดความอาลัยในชีวิต โคธิกะถอนตัวตัณหาพร้อมทั้งราก ปรินิพพานแล้ว
และขณะนั้น พระศาสดาเสด็จไปสู่ที่พระเถระนำศัสตรามานอนอยู่แล้ว พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ขณะนั้นมารคิดว่าปฏิสนธิวิญญาณของพระโคธิกะนี้ อยู่ที่ไหนหนอจึงเที่ยวแสวงหาวิญญาณของเถระในทิศทั้งปวง เมื่อไม่เห็นจึงแปลงเพศเป็นกุมาร ถือพิณสีเหลืองดุจผลมะตูม เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า
ข้าพระองค์เที่ยวแสวงหาอยู่ ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำเบื้องขวา ทิศใหญ่ ทิศน้อย ก็มิได้ประสบพระโคธิกะนั้นไปที่ไหน
พระศาสดาตรัสว่า
ภิกษุชื่อโคธิกะ เป็นปราชญ์สมบูรณ์ด้วยปัญญาทรงจำมีฌานยินดีในฌาน ในกาลทุกเมื่อ ประกอบความเพียรทั้งกลางวันกลางคืนไม่ใยดีชีวิต ชนะเสนามัจจุได้แล้ว ไม่กลับมาสู่ภพอีกถอนตัณหาพร้อมทั้งราก ปรินิพพานแล้ว
เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้น พิณได้พลัดตกจากรักแร้ของมารนั้น ถูกความโศกครอบงำได้หายไปในที่นั้นนั่นแล
แม้พระศาสดาตรัสว่า มารผู้ลามก เจ้าต้องการอะไรด้วยสถานที่กุลบุตรชื่อโคธิกะเกิด เพราะคนอย่างเจ้าตั้งร้อยตั้งพันก็ไม่อาจจะเห็นที่ที่โคธิกะนั้นเกิดได้ แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีล อยู่ด้วยความไม่ประมาทหลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบเหล่านั้นได้
คติจากเรื่องนี้
คนดีแม้จะตายแล้ว มารก็ย่อมเบียดเบียนวิญญาณไม่ได้เลย
เรื่องที่ ๒๖ ผู้ขวนขวายในปฐวีกถา
มีเรื่อเล่าว่า วันหนึ่งภิกษุ ๕๐๐ รูปเที่ยวจาริกไปตามชนบทกับพระผู้มีพระภาค มาถึงพระเชตะวันแล้วนั่งในหอฉันเวลาเย็นเล่าถึงสถานที่ซึ่งตนไปมาว่า ในสถานที่นั้นทางดีไม่ดีมีโคลน มีกรวด มีดินดำและดินแดง
พอดีพระศาสดาเสด็จมาถึงก็ตรัสถาม ทรงทราบเรื่องราวแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายนั้นเป็นเพียงแผ่นดินภายนอกเท่านั้นพวกเธอควรทำบริกรรม ในแผ่นดินภายในดีกว่าแล้วทรงตรัสพระคาถาว่า
ใครจักรู้ชัดแผ่นดินนี้ และยมโลกมนุสสโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกได้ใครจักเลือกบทธรรมที่เราแสดงดีแล้ว เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกดอกไม้ฉะนั้นพระเสขะจักรู้ชัดแผ่นดินและยมโลก มนุสสโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกได้ พระเสขะจักเลือกบทธรรมที่เราแสดงดีแล้ว เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกดอกไม้ได้ฉะนั้น
เวลาจบคาถา ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปบรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ฯ
คติจากเรื่องนี้
เรื่องภายในสำคัญกว่า เรื่องภายนอก คนที่รู้เพียงแต่เปลือก ย่อมสู้คนที่รู้แก่นได้เลย
เรื่องที่ ๒๗ พระจักขุบาลเถระ
ในกรุงสาวัตถี มีกุฎุมพีคนหนึ่งชื่อว่า มหาสุวรรณเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่มีบุตรจะสืบตระกูล
วันหนึ่ง ท่านกุฎุมพีไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ เสร็จแล้วกลับมา เห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งในระหว่างทาง จึงดำริในใจว่า ชะรอยต้นไม้นี้จะมีเทวดาผู้มีศักดิ์สูงสิงอยู่ จึงสั่งให้คนใช้ชำระส่วนภายใต้ต้นไม้นั้นสะอาดแล้ว ให้ทำรั้วล้อม ให้โรยทราย ยกธงชัย และธงแผ่นผ้าขึ้นประดับต้นไม้ใหญ่ต้นนั้นเสร็จแล้ว ตั้งจิตอธิฐานว่า ข้าพเจ้าได้บุตรหรือธิดา แล้ว จักถวายสักการะแก่ท่านมากมายกว่านี้ทีเดียว เสร็จแล้วก็กลับบ้าน อาจจะเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่งเช่นกัน อยู่มาไม่กี่วันภรรยาของกุฎุมพีคนนี้ก็ตั้งครรภ์ ฯ ท่านมหาสุวรรณดีใจเป็นอันมาก ให้ความประคับประคองเอาอกเอาใจเป็นอย่างดีและต่อมาภรรยาก็คลอดลูกชายผู้น่ารักคนหนึ่ง ท่านมหาสุวรรณก็ให้ชื่อว่า มหาบาล ต่อมาอีกไม่นาน ภรรยาก็คลอดลูกชายอีกคนหนึ่ง เลยได้ชื่อว่า จุลบาลเรียกง่าย ๆ ว่าบาลใหญ่ บาลน้อย เหตุที่ท่านเศรษฐีผู้นี้ได้ให้ชื่อลูกชายทั้งสองคนเช่นนี้ เพราะเหตุที่ท่านได้อาศัยต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น หากไม่ได้ต้นไม้นั้น ท่านก็คงไม่ได้บุตรที่น่ารักถึงสองคนเช่นนี้
เมื่อนายมหาบาลและจุลบาล เจริญเติบโตเป็นหนุ่มท่านก็จัดการสู่ขอผู้ที่มีฐานะตระกูลสมกันให้ และอีกไม่ช้านาน ท่านเศรษฐีและภรรยาก็อำลาจากบุตรทั้งสองไปโดยไม่มีวันกลับ เหลือไว้แต่ทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ซึ่งบรรดาญาติทั้งหลายก็ได้จัดการแบ่งให้สองพี่น้องนั้นเท่า ๆ กัน และทั้งสองคนก็มีความสุขสำราญเรื่อยมาตามวิสัยของคนมีเงินทองเหลือใช้
ย้อนกล่าวถึงพระพุทธเจ้า ขณะนั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และประทับอยู่ที่เชตะวันมหาวิหารในเมืองสาวัตถีนั่นเองตลอดเวลาพระองค์ได้สั่งสอนเผยแพร่ พุทธธรรมให้คนเป็นจำนวนมากได้ไปสู่สวรรค์นิพพานกันแทบทุกวัน อีกประการหนึ่งทุก ๆ วันทั้งเช้าและเย็น จะมีคนในเมืองสาวัตถีเป็นจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปสู่เชตะวันมหาวิหารนั้น เพื่อฟังธรรม ซึ่งตามปกติพระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำเป็นพุทธกิจทุก ๆ วัน แม้กระนั้นก็ตาม พี่น้องทั้งสองคน นายมหากาลและจุลกาล ก็ยังไม่ทราบเรื่องรายอะไรเลย มัวแต่เสวยสุขารมณ์จากความมั่งมีของตนอย่างเต็มที่ คืนแล้วคืนเล่า ทั้งวันทั้งคืน มิได้สร่างเมาวันแล้ววันเล่า จากความมัวเมาเหล่านี้ ซึ่งความจริงก็น่าเห็นใจ สำหรับผู้ที่มีเงินทองอย่างเหลือเฟือ ใช้สอยอย่างไม่รู้จักหมด เขาย่อมไม่คิดไปถึงอย่างอื่น นอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลิน และสุขารมณ์อย่างอิ่มเอมเปรมอุรา ยิ่งนายมหาบาลและจุลกาลทั้งสองพี่น้องนี้ ยังเป็นหนุ่มวัยที่กำลังลุ่มหลงอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันน่าเพลิดเพลินเจริญใจต่าง ๆ สิ่งใดที่เขายังไม่ได้รู้ สิ่งใดที่เขายังไม่ได้เห็น เขาก็ต้องให้รู้ ให้เห็นให้ได้ เงินตัวเดียวเท่านั้น คือสิ่งที่พาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาเหล่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม คนเราย่อมมีวันที่จะสร่างเมาได้บ้าง นี่ก็เป็นกฎธรรมดา ทุกข์สิ่งทุกข์อย่างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งเป็น จุดสลายตัว ของมันเอง วันหนึ่ง ขณะที่นายมหาบาลผู้พี่กำลังนั่งชมทิวทัศน์อันสวยงาม ในเวลาเย็น อยู่บนปราสาทชั้นที่เจ็ดของเขา พอดีมีคนเป็นจำนวนมากได้ผ่านสายตาของเขาไปหลาย ๆ พวก มิได้ทำให้เขาสนใจเท่ากับคนพวกหนึ่งที่พากันถือดอกไม้ธูปเทียน เดินไปทางวัด ซึ่งเขาไม่เคยทราบเลยว่า มีอะไรอยู่ที่นั่น ความสนใจของเขาได้กลายเป็นความประหลาดใจและสงสัยในเวลาต่อมา เขาจึงถามพวกคนใช่ว่า คนพวกนี้ไปไหนกันยิ่งได้ทราบว่า ไปฟังธรรมที่วัด ทำให้เขาคิดอยากจะไปบ้าง อยากจะรู้ว่าเขาฟังอะไรกันและได้รับประโยชน์อันใดบ้าง จากการผังธรรมนั้น
เร็วเท่าความคิด ความต้องการ เขาแต่งตัวออกไปจากบ้าน ตามคนเหล่านั้นไปทันที เมื่อเขาเข้าไปถึงวัด ก็นั่งอยู่ท้ายบริษัททั้งหมด รอฟังธรรมของพระพุทธเจ้า วันนั้นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้เลิศในการเล็งอุปนิสัยใจคน ได้ทรงตรวจดูอุปนิสัยใจคอของคนทุกคนที่มานั่งอยู่ในที่นั่นก่อนที่จะแสดงธรรมพระองค์ได้ทราบว่า นายมหาบาลเป็นคนเช่นไร จึงทรงแสดงอนุปุพพิกถา ซึ่งมีเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ ความชั่วช้า แห่งกามคุณ และคุณประโยชน์ในการบวช ให้นายมหาบาลฟัง ลงท้ายนายมหาบาลก็เกิดความเลื่อมใสปรารถนาจะบวชบ้าง เขาคิดว่า อย่างน้อยคงทำให้เขาได้พ้นจากทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้เป็นแน่ทีเดียง
มหาเศรษฐีหนุ่มแห่งสาวัตถี เมื่อบรรดาบริษัทที่นั่งฟังธรรมทั้งหลายได้กลังไปแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบรรพชากับพระองค์
เธอไม่มีญาติพี่น้องที่จะต้องอำลาบอกกล่าวบ้างหรือพระองค์ตรัสถาม เมื่อเห็นมหาเศรษฐีหนุ่มทูลขอบรรพชากับพระองค์เช่นนั้น
มีครับ เขาตอบ น้องชายของกระผมมีอยู่ ถ้าอย่างนั้น เธอจงไปอำลาเขาเสียก่อน พระพุทธองค์ตรัสด้วยความกรุณาปรานี พระเนตรทั้งคู่ของพระองค์จับอยู่ที่ใบหน้าของมหาเศรษฐีหนุ่ม ครับ เขารับอย่างไม่ต้องคิด กระผมจะไปอำลาเขาเสียก่อน ว่าแล้วเขาก็ถวายบังคมพระองค์กลับบ้าน พอไปถึงบ้านก็เรียกน้องชายมาสั่งเสียทันที
น้องรัก เขาเอ่ยขึ้นช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น พี่ขอมอบทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่และเป็นสมบัติของตระกูลของเรา ให้น้องปกครองแต่คนเดียว ขอให้น้องจงพยายามรักษาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นให้ดีก็แล้วกัน
แล้วก็พี่เล่าครับ น้องชายถามอย่างงง ๆ พี่จะไปไหน พี่จะไปบวชในสำนักพระศาสดา
เอ๊ะ พี่ทำไมพูดอย่างนั้น นายจุลกาลร้องขึ้นอย่างตกใจ เมื่อพ่อแม่ตายก็มีพี่เท่านั้นที่เป็นพ่อแม่ของผม ให้ความคุ้มครองและความอบอุ่นแก่ผม แต่หากพี่ทำเช่นนี้ ผมก็จะขอพึ่งใครได้เล่า
น้องรัก เขามองหน้าน้องชายด้วยดวงตาที่เต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ไม่ยอมเปลี่ยนความตั้งใจอย่างเด็ดขาด พี่ได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว รู้สึกเลื่อมใสอย่างเหลือเกิน พี่ไม่สามารถจะเปลี่ยนความตั้งใจได้หรอก พี่ต้องบวชแน่นอน
ผมคิดว่า แม้ว่า พี่จะยังครอบครองเคหะสถานอยู่แม้ว่าพี่จะไม่ได้บวช พี่ก็ต้องได้ทำบุญอย่างเต็มที่ทีเดียว
แต่พี่เห็นว่า ไม่สะดวกโดยประการทั้งปวง เขาค้าน การอยู่ครองเรือนนั้นจะทำได้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ เท่านั้น พี่จะต้องบวช พี่ยังไม่แก่นะครับ น้องชายกล่าว เมื่อเห็นหมดหนทาง ขอให้พี่บวชในเวลาแก่เถอะครับ
มหาเศรษฐีหนุ่มหัวเราะ พร้อมกับพูดว่า น้องรักแม้แต่มือและเท้าของตนของคนแก่ ยังไม่เชื่อฟัง ไม่อยู่ในอำนาจของเรา นับประสาอะไรกับเหล่าญาติพี่น้อง พี่จะต้องบวชอย่างแน่นอน กล่าวจบแล้วเขาก็ลุกขึ้นไปสู่สำนักของพระศาสดา ทิ้งให้น้องชายพบกับความเสียใจอย่างใหญ่หลวงแต่เดียวดาย
เขาไปถึงสำนักของพระศาสดาแล้วทูลขอบรรพชา เขาได้บรรพชาพร้อมทั้งอุปสมบทจากพระศาสดา อยู่ในสำนักของพระอาจารย์ และพระอุปัชฌาย์ตลอดทั้งพรรษาแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง ทูลถามถึงกิจธุระที่จะต้องกระทำในพระพุทธศาสนา
มีสองอย่างภิกษุ พระศาสดาตรัสตอบ คือคันถธุระ กับวิปัสสนาธุระ ธุระทั้งสองนี้เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า
การเรียนพระไตรปิฎกพุทธวจนะ จนกระทั่งจบแล้วสั่งสอนคนอื่นต่อไปนี้ เป็นคันถธุระ ส่วนการเข้าป่าบำเพ็ญเพียรจะกระทั่งสำเร็จมรรคผล นี่เป็นวิปัสสนาธุระ
พระมหาบาลคิดว่า ตนเองก็อยู่ในวัยเกือบจะกลางคนอยู่แล้ว หากจะเรียนคันถธุระ คงไม่สามารถจะได้รับผลสำเร็จอย่างแน่นอน ควรจะเรียนวิปัสสนาธุระ เพื่อให้สำเร็จมรรคผลดีกว่า คิดเช่นนี้แล้วก็ทูลขอให้พระศาสดาตรัสบอกวิปัสสนาธุระ เสร็จแล้วก็ทูลลาพระศาสดาไปเที่ยวชวนภิกษุผู้จะเข้าป่าด้วยได้ ๖๐ รูป จึงออกไปพร้อมกับภิกษุเหล่านั้นเดินไปได้ ๒๐ โยชน์ ถึงบ้านปัจจันตคาม
( ชายแดน) แห่งหนึ่งจึงเข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้นพร้อมทั้งบริวาร
ชาวบ้านเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้วรู้สึกเลื่อมใส จึงช่วยกันปูลาดอาสนะ นิมนต์ให้เข้าไปนั่งภายในบ้าน ถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ฉันเสร็จแล้ว จึงถามว่า พระคุณเจ้าจะไปไหน
พวกอาตมภาพจะไปสู่ที่ตามสบาย พวกภิกษุเหล่านั้นตอบ ซึ่งคนที่ฉลาดก็ทราบได้ทันทีว่า ภิกษุเหล่านี้แสวงหาเสนาสนะที่จำพรรษา จึงกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย จะอยู่ในที่นี้ตลอดพรรษานี้พวกข้าพเจ้าก็จะตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานศีล และบำเพ็ญกุศลอย่างเต็มที่
พวกภิกษุเหล่านั้นคิดว่า หากพวกเราได้อาศัยสกุลเหล่านี้แล้ว จักหาทางออกจากภพได้อย่างแน่นอน จึงรับนิมนต์ พวกชาวบ้านรับปฏิญญาจากภิกษุเหล่านั้นแล้ว ปัดกวาดเสนาสนะ จัดแจงที่อยู่กลางคืน และที่พักกลางวันถวายภิกษุเหล่านั้นก็เข้าไปสู่บ้านนั้น เพื่อบิณฑบาตเสมอเป็นนิตย์
อยู่มาวันหนึ่ง มีหมอคนหนึ่งได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วปวารณาไว้ว่า หากว่าพวกท่านเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ก็ขอได้บอกแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะได้ทำยาถวาย เมื่อวันเข้าพรรษาได้มาถึง พระมหาบาลได้เรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้วถามว่า ท่านทั้งหลายจักให้ไตรมาสนี้ล่วงไปด้วยอิริยาบถเท่าไร
สี่ครับ ภิกษุเหล่านั้นตอบ
แต่พระมหาบาลบอกว่า ตัวท่านจะอยู่ด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอนตลอดสามเดือน ครั้นกาลเวลาได้ผ่านไป ๆ เมื่อพระเถระมหาบาลไม่ได้นอนหลับ พอเดือนต้นผ่านไปเท่านั้น โรคตาก็บังเกิดขึ้น ๆ สายน้ำตาหลั่งออกจากตาทั้งคู่ของท่าน ดุจสายน้ำหลั่งออกจากหม้อทะลุ แต่กระนั้น ท่านก็ยังไม่หยุดยั้งในเวลารุ่งอรุณ เวลาแห่งการบิณฑบาตเข้ามาถึง พวกภิกษุเข้าไปหาท่าน และเรียนกับท่าน พระเถระได้บอกให้พวกภิกษุถือบาตรจีวรของตนออกไป พอดีพวกภิกษุเหล่านั้นเห็นนัยน์ตาทั้งคู่ของท่าน ก็แปลกใจ จึงถามได้ความว่าลมเสียดแทงตาท่าน
หมอคนหนึ่งได้มาปวารณาเราไว้มิใช่หรือครับ พวกภิกษุ เหล่านั้นถามท่านเชิงปรึกษา ผมจะไปบอกเขา ให้เขาทำยาให้ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไปบอกหมอ ๆ ก็ส่งน้ำมันมาให้ แต่พระเถระหยอดน้ำมันทางจมูกอย่างเดียว ซ้ำยังนั่งหยอดด้วยมิได้นอนหยอด เสร็จแล้วก็ออกบิณฑบาต พอดีพบหมอ ๆ จึงถามท่านถึงอาการที่เป็นอยู่ ท่านก็บอกว่า ยังคงอยู่เช่นเดิมซึ่งคำพูดของท่านทำให้หมอต้องแปลกใจอย่างมากทีเดียว ที่ยาของตนส่งไปให้ท่านนั้น หาได้ทำเพื่อให้มีการซ้ำสองไม่เคยแน่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงได้ซักถามถึงอาการหยอดของท่าน
ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอดครับ พระเถระไม่ตอบประการใด ได้แต่นิ่ง ยิ่งทำให้หมอสงสัยเป็นอย่างมาก รีบเข้าไปดูที่วิหาร ตรวจดูที่อยู่ของท่านพบแต่ที่นั่ง ไม่ได้พบที่นอนของท่านเลย จึงแน่ใจว่า ท่านนั่งหยอด ไม่ได้นอนหยอดเลย เขาจึงกลับมาอ้อนวอนท่านให้ท่านนอนหยอดเพื่อจะได้หาย แล้วจะได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป จนกระทั่งสำเร็จ แต่พระเถระมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวเหลือเกิน ไม่สามารถจะลบล้างคำปณิธานของตนได้จนกระทั่งหมอต้องเลิกการรักษาพยาบาล ด้วยเห็นว่า ท่านไม่ยอมทำตามความประสงค์ของท่าน
ปาลิตเอ๋ย เธอถูกหมอบอกเลิกเสียแล้ว ด้วยเขาระอาเบื่อหน่ายในการกระทำของเธอ บัดนี้เธอเป็นรู้เที่ยงต่อความตายแล้ว เธอจะยังประมาทอยู่กระนั้นหรือ ไม่รีบบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อความสำเร็จของเธอ ท่านบอกกับตนเองอย่างนี้แล้วลงมือกระทำสมณธรรมต่อไป พอสองยามผ่านไปท่านก็สำเร็จอรหันต์ผลพร้อมกับการสูญสิ้นแห่งนัยน์ตาทั้งคู่ของท่าน
พอรุ่งเช้าพวกภิกษุก็มาเรียนท่านถึงเวลาบิณฑบาตดังที่เคยปฏิบัติมาแต่วันก่อน แต่ว่าได้ทราบว่าพระเถระตาบอดเสียแล้ว ก็ปลอบใจท่านว่าอย่าเสียใจเลย พวกท่านทุกคนจะได้อยู่ปฏิบัติท่านต่อไป แล้วก็ออกบิณฑบาต พบพวกชาวบ้าน ซึ่งเมื่อไม่เห็นพระเถระก็ให้แปลกใจเป็นอย่างยิ่งทีเดียว จึงเข้าไปถาม พอได้ทราบเช่นนั้น ก็รู้สึกสงสารท่านเป็นอย่างยิ่งได้ส่งข้าวต้มข้าวสวยไปถวายท่านถึงวัดทีเดียว แม้พระเถระพอเสร็จธุระของตนแล้วก็ไม่ได้ละทิ้งภิกษุทั้งหมด ได้กล่าวสอนพวกภิกษุเหล่านั้นจนได้สำเร็จพระอรหันต์ พอออกพรรษาปวารณาแล้ว พวกภิกษุเหล่านั้นก็ปรารถนาจะไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อทูลผลแห่งการปฏิบัติของตนให้ทราบจึงบอกกับพระเถระ แต่ว่าพระเถระคิดว่าหากตนเองจะไปด้วย ภิกษุเหล่านั้นจะลำบากจึงส่งภิกษุเหล่านั้นไป พร้อมกับได้สั่งให้ไปบอกแก่น้องชายของตน นายจุลกาลให้ส่งคนมารับด้วย
ครั้นนายจุลกาลได้ทราบเรื่องราวจากภิกษุเหล่านั้นก็อดที่จะโศกเศร้าเสียใจมิได้ และส่งหลานชายของท่านชื่อว่าปาลิต ไปรับท่านกลับมาเมืองสาวัตถี แต่เพื่อความปลอดภัยจึงได้ให้บวชเป็นสามเณรเสียก่อนแล้วจึงส่งไป
สามเณรปาลิตได้เดินทางไปตามทางที่พวกภิกษุบอกจะกระทั่งถึงวัดของพระเถระ และได้นำพระเถระกลับมาจนกระทั่งถึงระหว่างทาง ซึ่งมีแต่ป่าไม้น่าวังเวงอย่างยิ่งทีเดียวพอดีได้ฟังเสียงเด็กสาวชาวป่า ร้องเพลงอยู่ไม่ไกลนัก กล่าวกันว่า เสียงของหญิงนั้น สามารถที่จะทำให้ใจของบุรุษวาบหวามได้ทีเดียว ดังนั้น สามเณรหนุ่มได้ยินเสียงอันวาบหวามใจเช่นนั้น ก็อดที่อยากจะพบเจ้าของเสียงไม่ได้
ผมจะไปทำธุระเดี๋ยวนะครับ สามเณรบอกกับพระเถระ เดี๋ยวผมกลับมา
ว่าแล้วก็วางไม้เท้าของพระเถระลง และก็วิ่งไปตามเสียงที่ตนได้ยินทันที ออกจะเป็นเรื่องที่ง่ายอยู่สักหน่อย สามเณรไปถึงเด็กสาวคนนั้น เสียงก็หยุด หลังจากที่ได้เกี้ยวพาราสีกันเล็กน้อย ทั้งสองก็ตกลงปลงใจร่วมหัวจมท้ายกัน พอเสร็จธุระแล้ว สามเณรก็กลับมาหาพระเถระ ความล่าช้าเกินกว่าเวลาที่ควรของสามเณร ทำให้พระเถระชักสงสัย พอสามเณรกลับมาถึงและบอกว่า ไปเถอะครับ ก็อดที่จะถามไม่ได้ว่า
ทำไมเธอล่าช้านักเล่า สามเณร ผมทำธุระยังไม่เสร็จครับ สามเณรตอบอย่างรวดเร็ว และหากตาทั้งคู่ของพระเถระเป็นปกติ คงจะเห็นความซีดเผือดอันปรากฏอยู่เต็มหน้าของสามเณรในขณะนั้น
เธอไปทำอะไร พระเถระซักถามต่อไป ฉันสงสัยว่า เธอจะเลวไปเสียแล้วใช่ไหม
สามเณรไม่ตอบ ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร จึงเปลื้องผ้าเหลืองออกพร้อมกับบอกท่านว่า ผมบวชเพื่อป้องกันอันตรายในระหว่างหนทางเท่านั้นบัดนี้ ผมได้ชั่วไปแล้วและเปลื้องผ้าเหลืองออกแล้ว โปรดไปกันเถิดครับ ฉันไม่ไป พระเถระตอบ ฉันไม่ต้องการไปกับคนชั่วอย่างเธอ
แต่บัดนี้ผมไม่ได้เป็นสามเณรแล้วนี่ครับ แม้ว่า เธอจะเป็นคฤหัสถ์ แต่เธอก็เป็นคฤหัสถ์ชั่วฉันไปกับเธอไม่ได้
แล้วท่านจะอยู่อย่างไรเล่าครับ เขาถามท่านอย่างหมดหวัง ที่นี่เป็นป่าไม้ใช่บ้านมีแต่อันตราย
แม้ฉันตายก็ช่างเถอะ พระเถระตอบ ขออย่าให้ฉันได้ชื่อว่าคบกับคนชั่วก็แล้วกัน ปล่อยฉันได้ เธอจะไปไหนก็ไป แต่ฉันไม่ไป
นายปาลิตน้อย ไม่ทราบจะพูดอ้อนวอนท่านอย่างไรต่อไป คงได้แต่นึกตำหนิตัวเองอย่างรุนแรง ก้มกราบพระเถระแล้วก็หนีไปในละแวกป่า ( ไม่ทราบว่าเขาไปไหนเพราะในคัมภีร์ไม่ได้ระบุไว้ )
เป็นธรรมดา ผู้ที่มีบุญกุศลแรง เมื่อได้รับความทุกข์ยากลำบาก มักจะทำให้อาสนะของพระอินทร์ผู้อยู่บนสรวงสวรรค์ร้อน รายนี้ก็เหมือนกัน เมื่อพระจักขุบาลเถระได้รับความทุกข์ยากลำบาก ไม่มีเพื่อนที่จำนำทางอยู่เช่นนั้น พระอินทร์ก็ร้อนอาสน์ต้องลงมาช่วยท่าน พาท่านไปสู่กรุงสาวัตถีโดยย่นหนทาง ๖๐ โยชน์ให้กลายเป็นระยะทางที่สั้น เดินเพียงชั่วอึดใจเดียวเท่านั้นเอง เมื่อถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ก็นำท่านไปพักอยู่ในวิหารแห่งหนึ่งใกล้บ้านน้องชายของท่าน แล้วไปบอกน้องชาย จุลกาลมหาเศรษฐี ในร่างแห่งสหายที่รักของเขา
พอได้ทราบ เช่นนั้น จุลกาลเศรษฐีก็รีบแต่งตัวออกไปหาท่าน พระเถระผู้เป็นพี่ชายทันที พอไปถึงก็ฟุบลงแทบเท้าของท่าน ร้องไห้ด้วยความสงสารต่าน พร้อมกับได้ปลอบโยนท่านว่าจะให้ความอุปการะแก่ท่านอย่างเต็มที่ ไม่ต้องให้ท่านได้รับความลำบากแต่ประการใดเลย
วันต่อมา มหาเศรษฐีได้เอาเด็กมาบวชเป็นสามเณรรับใช้ท่าน คอยปัดกวาดเสนาสนะ อุปัฏฐากท่านตลอดมาพระเถระได้อยู่อย่างผาสุกสบายตลอดมา ด้วยการบำเพ็ญเพียรเดินจงกรมในตอนเช้าโดยไม่ละเว้น
วันหนึ่ง มีภิกษุเดินทางมาจากต่างเมืองพวกหนึ่งเข้ามาพักอยู่ในกุฏิใกล้กับกุฏิของพระเถระ พอรุ่งเช้าก็ออกไปเฝ้าพระศาสดาแต่เช้า เดินผ่านทางจงกรมของพระเถระ พอดีเหลือบเห็นพวกมด ปลวก และแมลงต่าง ๆ ตายในหนทางที่จงกรมของพระเถระเป็นจำนวนมาก
นี่ที่จงกรมของใคร พวกภิกษุเหล่านั้นถามพวกอยู่ใกล้ ๆ
พระจักขุบาลเถระครับ
พระบาปหนัก พวกภิกษุเหล่านั้นอุทาน เดินไม่ดูตาม้าตาเรือเลย เหยียบสัตว์ตายมากมายยังไม่รู้ตัวว่าเป็นอาบัติเสียอีก
ท่านตาบอดครับ พวกภิกษุเหล่าอื่นบอก
ก็เวลาตาไม่บอดไปทำอะไรอยู่ พวกภิกษุเหล่านั้นยังไม่คลายความเกรี้ยวกราด ไม่ได้ต้องไปฟ้องพระศาสดา ว่าแล้วก็รีบไปเฝ้าพระศาสดา และทูลพระศาสดาถึงเรื่องนี้
พระศาสดาตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าโทษพระจักขุบาลเลย เธอไม่ได้มีเจตนา
ทำไมเธอถึงตาบอด พะย่ะค่ะ ภิกษุเหล่านั้นถาม
บุพพกรรม ภิกษุ พระศาสดาตรัสตอบ เมื่อก่อนนี้เธอเป็นหมอ และไปรักษาตาของหญิงแก่คนหนึ่ง ซึ่งตาบอด โดยสัญญาว่าจะได้รับค่าจ้างรางวัลอย่างงามทีเดียวแต่ว่า หญิงคนนั้นพอตาจะหาย ก็ชักจะโกง จะไม่ให้ค่าจ้างบำเหน็จรางวัล พอหมอมาถึงและถามอาการ ก็แกล้งบอกว่ายังอยู่อย่างเก่า
ยายคนนี้ต้องแกล้งฉันแน่ หมอคิดในใจ และกำลังจะโกงฉันด้วย ไม่ได้ฉันจะต้องแกล้งแกบ้างละ คิดแล้วก็เอายาขนานใหม่ ซึ่งเป็นยาดับจักษุทั้งคู่ให้ยายคนนั้นหยอดอีก ยายแก่ไม่ทราบว่าเป็นยาอะไร ก็หยอดเข้าไปพอดีตาทั้งคู่ดับ บอดลง และไม่มีโอกาสได้เห็นโลกอีกเลย
ภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาตรัสในที่สุด นี่แหละบุพพกรรมนี้ได้ติดตามพระจักขุบาลมาจนกระทั่งบัดนี้ เหมือนล้อตามรอยเท้าโคไปทุกหนทุกแห่งกระนั้น เรื่องของบาปกรรม หรือบุญทั้งหลายก็อยู่ที่ใจ ใจเราเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ หากใจเราชั่ว บาปก็ย่อมติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง ไม่มีละเว้น
จบเทศนาของพระศาสดา พวกภิกษุทั้งหมดได้สำเร็จพระอรหันต์ เสร็จกิจแห่งบรรพชิต
คติจากเรื่องนี้
ความอดทน ไม่ยอมท้อถอยต่ออุปสรรคไม่ยอมละทิ้งความตั้งใจ
คือความสำเร็จและแสงอาทิตย์อุทัยแห่งชีวิต
การจองเวรคนอื่น โดยการตอบแทนนั้นแม้นว่า มันจะเป็นสิ่งที่ให้
คุณความพอใจแก่ตนในปัจจุบันแต่ก็เป็น กรรม และ เชือก มัดให้เราดิ้นไม่ได้ในอนาคต